วันเลือกตั้งเทศบาล 2564 ล่าสุด

การเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 พ.ย. นี้ แม้ถูกมองว่าเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุด แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นชี้ว่าแทบไม่มีอำนาจ เพราะถูกรัฐราชการส่วนกลางและภูมิภาคกดทับ และใช้การเลือกตั้งสถาปนาระบอบ "ภูมิภาคอำนาจนิยม"

อบต. ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบที่ 3 ที่รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้ง หลังจากประชาชน 76 จังหวัดเข้าสู่คูหาเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปเมื่อ 20 ธ.ค. 2563 ตามด้วยการเลือกตั้งระดับเทศบาล เมื่อ 28 มี.ค. 2564

การเลือกตั้ง อบต. หนนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี เพื่อเลือกนายก อบต. 5,300 คน และสมาชิกสภา อบต. 56,641 คน หลังครบวาระดำรงตำแหน่งไปตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งเป้าหมายมีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 70%

ขณะที่นักวิชาการผู้ติดตามการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ รศ.ดร. อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม เห็นว่า บรรยากาศการเลือกตั้ง อบจ. "คึกคักที่สุด" ขณะที่ อบต. เป็นการเลือกตั้งที่ "เงียบเหงาที่สุด" ทั้งที่ในแวดวงวิชาการชอบคุยกันนักหนาว่า อบต. เป็นท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนที่สุด แต่กลับได้รับความสนใจน้อยที่สุด

เขาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะ อบต. "ไกลสื่อ" ไม่รู้จะไปจับตรงไหน สัมภาษณ์ใคร มันแตกกระจาย เป็นเบี้ยหัวแตก แต่สาเหตุสำคัญเป็นเพราะโครงสร้างรัฐไทยไม่เอื้อให้ท้องถิ่นแสดงบทบาทได้

ที่มาของภาพ, ภาณุเมศ ตันรักษา

คำบรรยายภาพ,

กกต.เชียงใหม่ ให้ บัวขาว บัญชาเมฆ ช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย. นี้

"เก็บขยะ จับหมา ดูดส้วม รดน้ำต้นไม้" คือหน้าที่หลักของ อบต. ที่อาจารย์ อลงกรณ์สรุปเอาไว้

เวลาสอนหนังสือ รศ.ดร. อลงกรณ์มักบอกลูกศิษย์ว่า อบต. "กระจอกมาก" แต่ยืนยันว่าการพูดเช่นนี้ไม่ได้มีเจตนาด้อยค่าท้องถิ่น เพราะส่วนตัวรัก อบต. และรักท้องถิ่นมาก แต่พูดเพื่อให้เห็นภาพว่าที่ตำราบอกว่าท้องถิ่นมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะให้ประชาชนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ในความเป็นจริง หาได้เป็นเช่นนั้นไม่

จากนั้นนักวิชาการ ม.มหาสารคาม ทดลองไล่เรียงชื่อสถานที่ที่เขาต้องไปติดต่อใช้บริการ ตั้งแต่เกิดที่ รพ. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข... เข้าเรียนที่ รร. สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ... เดินทางใช้ถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท อาจมีของท้องถิ่นบ้าง... ใช้น้ำของการประปาส่วนภูมิภาค... ใช้ไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค... ใช้โทรศัพท์ของบริษัทเอกชน... ไปทำงานที่มหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของส่วนกลาง... ถ้ามีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งก็ไปแจ้งตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับนายกฯ... ซื้อบ้านไปสำนักงานที่ดิน... เจ็บป่วยไป รพ. ของ สธ. อีก และเวลาตายก็ไปเผาในวัดซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมกำกับดูแล

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวกับท้องถิ่นเลย พวกเขาจึงไม่จำเป็นต้องตื่นตัวหรือสนใจท้องถิ่น ใครจะมาก็ได้ไม่ต่างกัน เพราะมีอำนาจจำกัด ขออย่างเดียวคือ "เรียกใช้ง่าย" และ "ชาวบ้านเห็นหน้า" หากใครไม่ค่อยปรากฏตัว ไม่ไปงานศพ งานบุญ ชาวบ้านก็พร้อมที่จะเปลี่ยน

ที่มาของภาพ, สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี

คำบรรยายภาพ,

ป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ อบต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตาก

ในระหว่างร่วมงานเสวนาออนไลน์ "อบต. ขอเลือก" จัดโดยศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อ 22 พ.ย. รศ.ดร. อลงกรณ์กล่าวว่า อำนาจหน้าที่อันจำกัดของ อบต. เกิดจากการต้องอยู่ในวงล้อมของระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ อบต. มีลักษณะไม่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง และไม่สามารถจัดทำบริการสาธารณะได้แท้จริง

เขาสะท้อนปัญหาของ อบต. ในห้วงที่ผ่านมาไว้ ดังนี้

หนึ่ง การทำให้แต่ละพื้นที่มีหน่วยงาน 2 ประเภทที่มีอำนาจไม่เท่ากัน กล่าวคือ รัฐไทยทำให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาคเข้มแข็งมาก จนไปกดทับและขี่ท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นไม่แข็งแรงและไม่เติบโต

สอง การใช้กระบวนการทำให้ท้องถิ่นอ่อนกำลังลง โดยแสร้งว่าเป็นประชาธิปไตย แต่จริง ๆ เป็น "ระบอบผสม" (hybrid regime) เป็น "เผด็จการที่ใส่เสื้อคลุมประชาธิปไตย" โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งเพื่อสถาปนาระบอบ "ภูมิภาคอำนาจนิยม" ทำให้การเลือกตั้ง อปท. ไม่ต่อเนื่อง จนชาวบ้านรู้สึกไม่ผูกพันหรือยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย จะมีหรือไม่มีเลือกตั้งก็ได้ ถ้าไม่เลือก ก็แต่งตั้งปลัดขึ้นมารักษาการ หรือให้นายก/สมาชิกที่อยู่ภายใต้การสยบยอมของผู้แต่งตั้ง อยู่ในตำแหน่งต่อไป

"คนเหล่านั้นก็ยินดีนะครับ ผมได้ยินข่าวว่ามีนายกและสมาชิกจำนวนมากแฮปปี้ คุณอยู่ 8 ปีโดยไม่ต้องหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ต้องลงพื้นที่ กินเงินเดือนสบาย ๆ" ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่นกล่าว

ที่มาของภาพ, ภาณุเมศ ตันรักษา

สาม ระบอบ "ภูมิภาคอำนาจนิยม" มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงหลายสิบปีมานี้ พบว่ากฎหมายที่ตราขึ้นมาใหม่ราว 95% มีเนื้อหาเพิ่มอำนาจให้ราชการส่วนกลางและภูมิภาค ทำให้ อบต. กลายเป็นแขนขาของรัฐราชการรวมศูนย์

รศ.ดร. อลงกรณ์ชี้ว่า แม้มีการเลือกตั้ง อบต. แต่สุดท้ายท้องถิ่นต้องอยู่ใต้กรอบกติกาที่ส่วนกลางขีดให้เดิน เช่น แผนพัฒนาท้องถิ่น, วิธีการลาราชการ วิธีการงบประมาณ วิธีการประชุมสภา การฝึกอบรม ต้องเป็นไปตามกติกาที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย กำหนด แม้กระทั่งการซื้อรถของ อบต. กำหนดไว้เลยว่า 2 ข้างของรถต้องมีตราของท้องถิ่นติดอยู่ และมีขนาดกว้าง 18 เซนติเมตร มีตัวหนังสือขนาดไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร มันไปกำหนดขนาดนั้น นี่คือสิ่งที่ทำให้ดูเหมือนเป็นประชาธิปไตย แต่นายกและสมาชิกสภา อบต. ที่จะได้มาหลังเลือกตั้ง 28 พ.ย. ต้องอยู่ภายใต้กติกาหยุมหยิม ทำให้ อบต. ทำอะไรไม่ได้

ข้อเสนอของ รศ.ดร. อลงกรณ์เพื่อลดปัญหา "แสร้งว่าเป็นประชาธิปไตย" มีหลากหลาย อาทิ ทดลองให้นิยามการกระจายอำนาจในแบบใหม่ นอกเหนือจากการมุ่งถ่ายโอนอำนาจไปให้ อปท. เพียงอย่างเดียว แต่อาจคิดถึงการโอนอำนาจไปให้ภาคประชาสังคม/ภาคเอกชนทำในบางกิจการ และการสร้างกลไกให้ประชาชนมีส่วนในการร่วมปกครองอย่างแท้จริง ให้ อบจ. มีอำนาจในการตรวจสอบการจัดทำบริการสาธารณะภายในจังหวัด ซึ่งมาจากราชการส่วนกลาง โดย อบจ. เป็นเจ้าภาพ และประสานงานกับ อบต. และเทศบาล และต้องเลิกเกรงใจผู้ว่าฯ ที่มาแล้วก็ไป แต่ให้เกรงใจประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้มาก

"ตราสัญลักษณ์ของการกระจายอำนาจ"

ด้าน ผศ. ยอดชาย ชุติกาโม ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง ม.สวนดุสิต ที่เห็นว่าไทยอาจติดกับดักเรื่องการกระจายอำนาจ นับจากเกิด อบต. เมื่อ 27 ปีก่อน คนรู้ว่า อบต. คืออะไร แต่มองว่าการทำงานของ อบต. มากกว่าครึ่งยังไม่มีประสิทธิภาพ จนมีข่าวเล่าลือในบางช่วงว่าจะยุบเลิก อบต. แล้วให้เป็นเทศบาล

"ผมไม่แน่ใจว่ามีความจริงใจหรือไม่จริงใจของรัฐบาลยุคก่อน ๆ ที่ตั้ง อบต. ขึ้นมา หรืออาจจะมีไว้เพื่อเป็นตราสัญลักษณ์ของการกระจายอำนาจเท่านั้น" เขาตั้งคำถาม ก่อนขยายความถึงอำนาจที่จำกัดของ อบต. ทั้งการแต่งตั้งบุคลากรและงบประมาณที่ถูกส่วนกลางโดย สถ. กำกับควบคุมโดยรับนโยบายมาจากกระทรวงมหาดไทย

ที่มาของภาพ, ภาณุเมศ ตันรักษา

ขณะเดียวกัน ผศ. ยอดชายมองเห็นความขัดแย้งระหว่างภูมิภาคกับท้องถิ่น ซึ่งเดิมบทบาทการพัฒนาพื้นที่ห่างไกลเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยผ่านกลไกนายอำเภอ และผู้ว่าฯ มาถึงวันนี้ "โครงสร้างแบบภูมิภาคก็ยังครอบงำ อบต. อยู่" และชาวบ้านเองก็รู้สึกว่าสามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ดีกว่า อย่าลืมว่าส่วนกลางก็มีโครงการให้ชาวบ้านรวมตัวกัน สร้างการมีส่วนร่วม แทนที่จะเป็นบทบาทของท้องถิ่น

นอกจากนี้การเชื่อมโยงระหว่าง อปท. เองก็เป็นอีกจุดที่นักวิชาการจาก ม.สวนดุสิตเห็นว่าเป็นปัญหา อย่างการเขียนโครงการ อบต. ต้องไปขอความเห็น หรือขออนุมัติจาก อบจ. ทำให้ไม่คล่องตัว หาก อบจ. กับ อบต. เป็นคนละกลุ่ม ก็จะเกิดผลกระทบตามมา แก้ปัญหาให้ชาวบ้านไม่ทัน เพราะคนใกล้ชิดชาวบ้านคือ อบต. แต่คนถือเงินคือ อบจ.

9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ อบต. ก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง

ข้อมูลพื้นฐานว่าด้วย อบต.: เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดเล็กที่สุด แต่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เนื่องจากมีภารกิจสำคัญคือการจัดบริการสาธารณะให้แก่คนในท้องที่ ทั้งการรักษาความสะอาดถนน ทางน้ำ ทางเดิน ที่สาธารณะ, กำจัดขยะมูลฝอย, ป้องกันและระงับโรคติดต่อ, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม, ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ, คุ้มครองดูแลบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ที่มาของภาพ, สมจิต รุ่งจำรัสรัศมี

ความแตกต่างระหว่าง อบต. กับเทศบาลคือ หากพื้นที่ใดมีความเป็นชุมชนเมืองมากขึ้น (พิจารณาตามเกณฑ์ความหนาแน่นของประชากร และความสามารถในการจัดหารายได้) กระทรวงมหาดไทยจะออกประกาศยกฐานะ อบต. ขึ้นเป็นเทศบาลตำบล (ทต.) หรือเทศบาลเมือง (ทม.) โดยอาจครอบคลุมพื้นที่ยกตำบล หรือกินพื้นที่ของตำบลใกล้เคียงก็ได้ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นจะยังอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ อบต. ซึ่งมีความเป็นชนบทกว่า นั่นหมายความว่าในตำบลเดียวกัน อาจมีทั้ง อบต. และ ทต./ทม. ปกครองพื้นที่

การได้มาซึ่งนายก/สมาชิกสภา อบต.: มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.) แต่ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองอย่างในการเลือกตั้ง ส.ส.

จำนวน: ในแต่ละ อบต. ให้มีนายก อบต. 1 คน และ สมาชิกสภา อบต. 6 คน

อำนาจหน้าที่: นายก อบต. กับ ส.อบต. แบ่งบทการเมืองกัน โดยนายกฯ รับหน้าที่ฝ่ายบริหาร กำหนดนโยบายและบริหารท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย แผนพัฒนา ข้อบัญญัติ และระเบียบต่าง ๆ สั่ง อนุญาต และอนุมัติราชการของ อบต. ขณะที่ สมาชิกสภา อบต. ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ตั้งแต่การเลือกประธานสภา รองประธานสภา และเลขานุการสภา อบต., ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนา อบต. ข้อบัญญัติ อบต. ข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี และยังมีอำนาจตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บริหาร อบต. ผ่านการตั้งกระทู้ถามต่อนายก/รองนายก อบต. และขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ

วาระ: นายก อบต. อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

งบประมาณ: รายได้ของ อบต. มาจาก 4 แหล่งสำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้, รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้, รายได้ที่รัฐจัดเก็บแล้วแบ่งให้ และภาษีที่ อบต. จัดเก็บได้เอง ซึ่งแหล่งรายได้หลังเป็นมุมที่นักวิชาการมองว่าก่อให้เกิดความลักลั่นกันระหว่าง อบต. ที่จัดเก็บภาษีที่ดิน โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้างได้ เช่น อบต. ในพื้นที่ที่เป็นเขตอุตสาหกรรม กับ อบต. ในชนบท

ที่มาของภาพ, องค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่/Facebook

คำบรรยายภาพ,

สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลบางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ

ผศ. ยอดชาย ชุติกาโม กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา อบต. ที่มีรายได้มากที่สุดของประเทศคือ อบต.บางพลีใหญ่ จ.สมุทรปราการ มีรายได้ 638 ล้านบาท ขณะที่ อบต.แหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช มีรายได้ต่ำที่สุดของประเทศ 15.91 ล้านบาท นั่นหมายความว่า 2 อบต. นี้มีรายได้ต่างกันกว่า 40 เท่า

นักวิชาการรายนี้ยังทดลองคำนวณหารายได้เฉลี่ยของ อบต. ทั้ง 5,300 แห่ง พบว่าอยู่ที่ 45.70 ล้านบาท ซึ่งห่างจาก อบต. ที่มีรายได้สูงสุดมหาศาล และเชื่อว่ารายได้ของท้องถิ่นจะลดลงไปกว่านี้อีก เนื่องจากรัฐบาลประกาศลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% เป็นเวลา 3 ปีติดกัน เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สถิติน่าสนใจในการเลือกตั้ง 2564: ในการเปิดสมัครรับเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบต. ระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค. ปรากฏว่ามีผู้สมัครสูงถึง 136,250 คน ตามรายงานสรุปผลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อ 18 ต.ค. แบ่งเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. 12,309 คน และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภา อบต. 123,941 คน

จังหวัดที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

  • นครราชสีมา 7,333 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายก อบต. 554 คน และผู้สมัครสมาชิก อบต. 6,779 คน
  • ศรีสะเกษ 5,621 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายก อบต. 479 คน และผู้สมัครสมาชิก อบต. 5,142 คน
  • สุรินทร์ 5,062 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายก อบต. 371 คน และผู้สมัครสมาชิก อบต. 4,691 คน
  • อุบลราชธานี 4,823 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายก อบต. 415 คน และผู้สมัครสมาชิก อบต. 4,408 คน
  • บุรีรัมย์ 4,445 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายก อบต. 349 คน และผู้สมัครสมาชิก อบต. 4,096 คน

จังหวัดที่มีผู้สมัครน้อยที่สุดคือ ภูเก็ต จำนวน 121 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครนายก อบต. 17 คน และผู้สมัครสมาชิก อบต. 104 คน

ขณะที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยข้อมูลว่า ในจำนวนผู้สมัครชิงเก้าอี้นายก อบต. 12,309 คน เป็นนายกฯ เดิม 2,811 คน หรือคิดเป็น 22.84% ของผู้สมัครทั้งหมด แต่ถ้าเทียบกับจำนวน อบต. ที่มีทั้งหมด 5,300 แห่ง จะคิดเป็นจำนวน 53.03% ส่วนผู้สมัครหน้าใหม่มีทั้งสิ้น 9,498 คน หรือคิดเป็น 77.16% ของผู้สมัครทั้งหมด

ที่มาของภาพ, ภาณุเมศ ตันรักษา

คำบรรยายภาพ,

เจ้าหน้าที่ให้ความรู้ในการลงคะแนนในเลือกตั้งแก่บรรดาผู้สูงอายุที่ อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

ข้อควรรู้สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง: การเลือกตั้งเทศบาลจะเกิดขึ้นใน 76 จังหวัด แต่ไม่ใช่คนไทยทุกคนที่ต้องออกไปใช้สิทธิ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่ในเขต อบต. เท่านั้นที่ได้ออกไปใช้สิทธิ ทั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่นี่ และมีข้อควรรู้ ดังนี้

  • คูหาเลือกตั้งเปิดตั้งแต่ 08.00-17.00 น. ของวันที่ 28 พ.ย.
  • ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งต้องผ่านการตรวจคัดกรองโควิดก่อน หากตรวจอุณหภูมิร่างกายแล้วเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะถูกแยกให้ไปใช้สิทธิที่คูหาพิเศษ
  • เมื่อเดินเข้าหน่วยเลือกตั้งคูหา ให้ยื่นหลักฐานบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ราชการออกให้แล้วมีหมายเลขประจำตัวประชาชน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบแรกสีแดง กากบาทเลือกนายก อบต. ได้ 1 คน และอีกใบสีน้ำเงิน กากบาทเลือกสมาชิกสภา อบต. ได้ 6 คน โดยจะเลือก "ยกทีม" หรือ "รายบุคคล" ก็ได้ และจะเลือกน้อยกว่า 6 คนก็ได้ แต่ห้ามมากกว่า 6 คน เพราะจะกลายเป็นบัตรเสีย
  • ไม่เปิดให้มีการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า หรือการเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด
  • หากไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ต้องแจ้งเหตุจำเป็นต่อนายทะเบียนอำเภอ/นายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ภายใน 7 วัน (ก่อนหรือหลังวันเลือกตั้งก็ได้) หรือแจ้งเหตุผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ stat.bora.dopa.go.th และ ect.go.th หรือผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote ก็ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง 2 ปี ห้ามสมัครรับเลือกตั้งทุกระดับทั้ง ส.ส. ส.ว. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน, ห้ามเป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา หรือดำรงตำแหน่งบริหารท้องถิ่น และยังหมดสิทธิเข้าชื่อถอดถอนสมาชิก/ผู้บริหารท้องถิ่นด้วย

การประกาศผลการเลือกตั้ง: ตามปฏิทินการเลือกตั้ง อบต. การประกาศผลการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 ธ.ค. กรณีไม่มีเรื่องร้องเรียน แต่ถ้ามีกรณีร้องเรียน กกต. ก็ต้องสืบสวนไต่สวน ทำให้การประกาศผลล่าช้าออกไปอีกเดือน หรือประกาศผลภายในวันที่ 27 ม.ค. 2565