การปรับโครงสร้างหนี้เสียประวัติไหม

ปัญหาหนี้เสีย ถือเป็นปัญหาใหญ่ในยุคปัจจุบัน ซึ่งหนี้เสีย คือ หนี้ที่ไม่ได้รับการชำระคืนตามสัญญาหรือข้อตกลง โดยถือเป็นสถานะทางการเงินที่ทางสถาบันการเงินจะเป็นผู้รายงานว่า ผู้ที่ขอสินเชื่อนั้นปฏิเสธการชำระเงินหรือไม่ชำระหนี้นานเกินกว่าช่วงวันที่กำหนดนั่นเอง การปรับโครงสร้างหนี้ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยให้เราสามารถ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ การชำระเงินต้น การลดอัตราดอกเบี้ย การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียน หรือการผ่อนปรนดอกเบี้ยการผิดนัดชำระหนี้ 

การปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร?

การปรับโครงสร้างหนี้ คือ การยืดและขยายเวลาในการชำระหนี้ ทั้งเจ้าหนี้รายใหม่หรือเจ้าหนี้รายเก่า ซึ่งทำได้ 2 รูปแบบด้วยกัน คือ การแปลงหนี้ใหม่โดยที่หนี้เดิมจะถูกระงับ และมีสัญญาตามหนี้ใหม่ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับหนี้ที่เกิดขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนประเภทหนี้ 
การปรับโครงสร้างหนี้อีกหนึ่งรูปแบบ ไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ คือ การที่หนี้เดิมไม่ระงับ มีการเปลี่ยนแปลงการชำระหนี้ ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย 

เริ่มต้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหนี้แบบไหนดี ก่อนจะเกิดเป็นหนี้เสีย 

  • ไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสียก่อน เพราะหากคุณรู้ตัวเองว่าเริ่มผ่อนสินเชื่อหรือหนี้สินไม่ไหว ให้รีบติดต่อทางสถาบันการเงินการเงินก่อน จะช่วยให้คุณไม่เสียประวัติข้อมูลเกี่ยวกับเครดิตในการกู้ยืมของคุณ 
  • เตรียมความพร้อมของตัวเองโดยการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ว่ารูปแบบไหนที่จะเหมาะกับเรามากที่สุด สำหรับการไปเจรจากับธนาคารหรือสถาบันการเงิน 
  • ถ้าหากเกิดเป็นหนี้เสียแล้ว ก็สามารถติดต่อธนาคารเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ได้เช่นกัน เพื่อให้โครงสร้างหนี้เหมาะสมและเราสามารถผ่อนได้ไหว

ข้อควรรู้ก่อน ปรับโครงสร้างหนี้ 2564

การปรับโครงสร้างหนี้เสียประวัติไหม

วิธีปรับโครงสร้างหนี้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ มี 8 วิธีปรับโครงสร้างหนี้คือ ยืด, พัก, ลด, ยก, เพิ่ม, เปลี่ยน, ปิด, รี ดังนี้ 

ยืดหนี้ 

การยืดหรือการขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ ที่เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพื่อช่วยให้ภาระในการผ่อนชำระสอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง หากเริ่มรู้สึกว่าผ่อนไม่ไหว นอกจากจะเป็นการยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไปแล้วนั้น ยังช่วยให้ยอดผ่อนชำระต่อเดือนปรับลดลงด้วยเช่นกัน 

พักชำระเงินต้น

การพักชำระเงินต้น จะเป็นการช่วยลดภาระในการผ่อนได้แบบชั่วคราว ซึ่งปกติค่างวดที่ผ่อนชำระโดยทั่วไปแล้วจะมีในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย แต่การเลือกพักชำระเงินต้นจะไม่ทำให้ยอดเงินต้นนั้นลดลงในช่วงที่ขอพัก ซึ่งเท่ากับว่าเราจ่ายแค่ค่าดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว อีกทั้งอาจทำให้ลูกหนี้จ่ายเงินก้อนใหญ่เพิ่มขึ้นในช่วงท้ายสัญญา สถาบันการเงินอาจพิจารณาพักชำระเงินต้น เป็นเวลา 3–6 เดือน แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ลูกหนี้อาจนำเงินก้อนมา “โปะ” เพื่อลดหนี้ก่อนถึงกำหนดตามสัญญาได้เช่นกัน

ลดอัตราดอกเบี้ย

ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลง เพื่อให้ยอดเงินที่ชำระในแต่ละงวดนั้นแบ่งไปตัดลดเงินต้นได้มากยิ่งขึ้น เมื่อเงินต้นลด ดอกเบี้ยก็จะถูกลดลงตามเช่นกัน

ยกหรือผ่อนปรนดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมาแบงก์ชาติได้มีการประกาศให้ สถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยปรับบนฐานของงวดที่ผิดนัดชำระจริงเท่านั้น เพื่อให้ความสำคัญกับความสามารถในการชำระของลูกหนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นธรรมมากขึ้น โดยสถาบันการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยปรับได้ แต่ต้องไม่เป็นภาระแก่ลูกหนี้จนเกินสมควร   

เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน

การเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนถือเป็นปัจจัยสำหรับที่จะช่วยหล่อเลี้ยงธุรกิจของคุณในยามลำบาก ให้ได้มีโอกาสฟื้นตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในภายหลัง ซึ่งผู้กู้ควรเตรียมเหตุผลและประมาณการรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นในระยะ 6–12 เดือนข้างหน้าเพื่อให้สถาบันการเงินใช้ประกอบการพิจารณาวงเงิน และ สถาบันการเงินจะพิจารณาจากประวัติการผ่อนชำระ สำหรับการเพิ่มวงเงินให้นั่นเอง 

เปลี่ยนประเภทหนี้

หนี้ที่อัตราดอกเบี้ยแพงควรถูกเปลี่ยนเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง อาทิ ลูกหนี้ SMEs ใช้บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนอัตราดอกเบี้ยสูง 18% และ 28% โดยสถาบันการเงินอาจพิจารณาเปลี่ยนจากสินเชื่อหมุนเวียนที่อัตราดอกเบี้ยแพงเหล่านี้ ไปเป็นสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลาชำระที่ดอกเบี้ยถูกลง

ปิดจบด้วยเงินก้อน

หากมีความสามารถหาเงินก้อน ก็สามารถเจรจาขอส่วนลดให้เพียงพอต่อการปิดหนี้จบทั้งบัญชีได้ สถาบันการเงินอาจกำหนดให้ชำระเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้น ๆ 6 เดือน หรือเพียง 1–2 งวด

รีไฟแนนซ์ (Refinance)

การปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิมและย้ายไปใช้สินเชื่อของเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง หรือ การปรับยอดชำระที่ถูกลง ซึ่งมีทั้งรูปแบบของการใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลในการค้ำประกันหรือไม่ต้องใช้ โดยทางแบงก์ชาติได้เริ่มสนับสนุนให้เกิดตลาดรีไฟแนนซ์สำหรับหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ด้วยเช่นกัน 

การปรับโครงสร้างหนี้เสียประวัติไหม

สรุป

โดยการปรับโครงสร้างหนี้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้เราสามารถปรับในเรื่องของรูปแบบหนี้ และการใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะในยุคสถานการณ์โควิดที่หลายคนต้องฟื้นฟูสภาพหนี้และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อเลี่ยงการเกิดหนี้เสียที่อาจเป็นปัญหาตามมาภายหลัง ปรับโครงสร้างหนี้เสียประวัติไหม ธนาคารแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ผู้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงนี้ สามารถทำได้ทุกคน ไม่เฉพาะคนที่เป็นหนี้เสีย คนที่เป็นหนี้ดี จ่ายมาครบทุกงวด แต่ประสบปัญหาในช่วงนี้ ก็ทำได้เช่นกัน ที่สำคัญคือ การปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อข้อมูลเครดิต ไม่ทำให้ผู้กู้เสียประวัติแต่อย่างใด