ชวนคิดพินิจคุณค่า ม.6 เฉลย ไตรภูมิพระร่วง

เผยแพร่เมื่อ 15/07/2018 00:13

แก้ไขเมื่อ 25/09/2022 18:09

[ข้อสอบ]ไตรภูมิพระร่วง

ข้อมูล

ชวนคิดพินิจคุณค่า ม.6 เฉลย ไตรภูมิพระร่วง

AG💕

สรุปไตรภูมิพระร่วง ตอน มนุสสภูมิ ม.6
-ผู้เเต่ง
-โลกทั้ง 3 กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ
-จุดมุ่งหมายการเเต่ง
-4ทวีป
-คุณค่าของไตรภูมิพระร่วง
-การใช้ภาษา
-การเกิด การคลอด
-กาลทั้ง 3

ถ้าคิดว่าโน้ตนี้มีประโยชน์ ก็กดติดตามผู้เขียนเพื่อรับแจ้งเตือนเมื่อมีโน้ตใหม่ ๆ มาได้เลย!

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น

ชวนคิดพินิจคุณค่า ม.6 เฉลย ไตรภูมิพระร่วง

สมุดโน้ตแนะนำ

คำถามที่เกี่ยวข้องกับโน้ตสรุปนี้

ไตรภูมิพระร่วง มีหลายชื่อเรียกได้แก่ “ไตรภูมิพระร่วง” “เตภูมิกถา” “ไตรภูมิกถา” “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” และ “เตภูมิโลกวินิจฉัย”

เป็นวรรณคดีพุทธศาสนาที่แต่งในสมัยสุโขทัยประมาณ พ.ศ. 1882 โดยพระราชดำริในพญาลิไท รวบรวมจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาเกี่ยวกับโลกสันฐาน ที่แบ่งเป็น 3 ส่วน หรือ ไตรภูมิ ได้แก่ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ

วรรณคดีเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ คติความเชื่อของชาวไทย เป็นจำนวนมาก เช่น นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิด ทวีปทั้งสี่ (เช่น ชมพูทวีป ฯลฯ) ระยะเวลากัปป์กัลป์ กลียุค การล้างโลก พระศรีอาริย์ มหาจักรพรรดิราช แก้วเจ็ดประการ ฯลฯ

ประวัติ

ไตรภูมิพระร่วง เป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่  1  หรือ พญาลิไทย  ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ปีระกา ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 1864(ปีเก่า) จ.ศ.683 ม.ศ.1243 เป็นปีครองราชย์ที่ 6 โดยมีพระประสงค์ที่จะเทศนาโปรดพระมารดา และเพื่อจำเริญพระอภิธรรม ไตรภูมิพระร่วงเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถอย่างลึกซึ้ง ในด้านพุทธศาสนาของพระมหาธรรมราชาลิไทที่ทรงรวบรวมข้อความต่างๆ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา นับแต่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และปกรณ์พิเศษต่างๆ มาเรียบเรียงขึ้นเป็นวรรณคดีโลกศาสตร์เล่มแรกที่แต่งเป็นภาษาไทยเท่าทีมีหลักฐานอยู่ในปัจจุบันนี้ เหตุผลการแต่งไตรภูมิพระร่วงของพระมหาธรรมราชาลิไท ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองด้วย  เนื่องจากไตรภูมิเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนรก–สวรรค์ สอนให้คนรู้จักการทำความดีเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ หากแต่ใครทำชั่วประพฤติตนผิดศีลก็จะต้องตกนรก กล่าวคือ ประชากรในสมัยที่พระมหาธรรมราชาลิไทปกครองนั้นเริ่มมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้การปกครองบ้านเมืองให้สงบสุขปราศจากโจรผู้ร้ายเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น การดูแลของรัฐก็ไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง พระมหาธรรมราชาลิไทจึงได้คิดนิพนธ์วรรณกรรมทางศาสนาเรื่องไตรภูมิพระร่วงขึ้นมาเพื่อที่ต้องการสอนให้ประชาชนของพระองค์ทำความดี เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์มีชีวิตที่สุขสบาย และหากทำความชั่วก็จะต้องตกนรก ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมเรื่องไตรภูมิจึงเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมทางสังคมได้เป็นอย่างดียิ่ง เพราะสามารถเข้าถึงจิตใจทุกคนได้โดยมิต้องมีออกกฎบังคับกันแต่อย่างไร

จุดมุ่งหมายในการแต่ง

                    มี  ๒ ประการ  เพื่อเทศนาโปรดพระมารดา เป็นการเจริญธรรมกตัญญูประการหนึ่ง  อีกประการหนึ่ง เพื่อใช้สั่งสอนประชาชนให้มีคุณธรรม เข้าใจพุทธศาสนา และช่วยกันดำรงพุทธศาสนาไว้ให้มั่นคง

ลักษณะคำประพันธ์

ร้อยแก้ว ประเภทความเรียงสำนวนพรรณนา

คุณค่าของหนังสือ

๑.  ด้านภาษาและสำนวนโวหาร  

เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เรียบเรียงในลักษณะการค้นคว้าจากคัมภีร์ต่าง ๆ ถึง ๓๐คัมภีร์   จึงมีศัพท์ทางศาสนาและภาษาไทยโบราณอยู่มาก  สามารถนำมาศึกษาการใช้ภาษาในสมัยกรุงสุโขทัย  ตลอดจนสำนวนโวหารต่าง ๆ ไตรภูมิพระร่วงมีสำนวนหนักไปในทางศาสนาโวหารและพรรณนาโวหาร  ผูกประโยคยาว และใช้ถ้อยคำพรรณนาดีเด่น สละสลวยไพเราะ  ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านอารมณ์สะเทือนใจและให้

จินตภาพหรือภาพในใจอย่างเด่นชัด  เช่น  ” บ้างเต้นบ้างรำบ้างฟ้อน ระบำบันลือเพลงดุริยดนตรี  บ้างดีดบ้างสีบ้างตีบ้างเป่า  บ้างขับศัพท์สำเนียง  หมู่นักคุณจุณกันไปเดียรดาษพื้น  ฆ้องกลองแตรสังข์ระฆังกังสดาลมโหระทึกกึกก้องทำสนุกดี  ที่มีดอกไม้อันตระการต่าง ๆ สิ่ง มีจวงจันทน์กฤษณาคันธาทำนอง  ลบองดังเทพยดาในเมืองฟ้า  สนุกนี้ทุกเมื่อบำเรอกันบมิวาย ”

๒.  ด้านความรู้

๒.๑  ด้านวรรณคดี ทำให้คนชั้นหลังได้รับความรู้ทางวรรณคดี อันเป็นความคิดของคนโบราณ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของวรรณคดีไทย เช่น พระอินทร์ แท่นบัณพุกัมพล ช้างเอราวัณ เขาพระสุเมรุ ป่าหิมพานต์ต้นปาริชาติ ต้นนารีผล นรก สวรรค์ เป็นต้น

๒.๒  ด้านภูมิศาสตร์  เป็นความรู้ทางภูมิศาสตร์ของคนโบราณโดยเชื่อว่าโลกมีอยู่ ๔ ทวีป  ได้แก่  ชมพูทวีป  บุรพวิเทหทวีป อุตตรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป  โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลาง

๓.  ด้านสังคมและวัฒนธรรม

        ๓.๑  คำสอนทางศาสนา  ไตรภูมิพระร่วงสอนให้คนทำบุญละบาป  เช่น  การทำบุญรักษาศีล  สมาธิภาวนาจะได้ขึ้นสวรรค์การทำบาปจะตกนรก  แนวความคิดนี้มีอิทธิพลเหนือนจิตใจของคนไทยมาช้านาน เป็นเสมือนแนวการสอนศีลธรรมของสังคม ให้คนปฏิบัติชอบซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม

        ๓.๒  ค่านิยมเชิงสังคม  อิทธิพลของหนังสือเล่มนี้ให้ค่านิยมเชิงสังคมต่อคนไทย  ให้ตั้งมั่นและยึดมั่นในการเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา รักษาศีล บำเพ็ญทาน รู้จักเสียสละ เชื่อมั่นในผล  แห่งกรรม

        ๓.๓  ศิลปกรรม  จิตรกรนิยมนำเรื่องราวและความคิดในไตรภูมิพระร่วงไปเขียนภาพสีไว้ในโบสถ์วิหาร  โดยจะเขียนภาพนรกกไว้ที่ผนังด้านล่างหรือหลังองค์พระประธาน  และเขียนภาพสวรรค์ไว้ที่ผนังเบื้องบนรอบโบสถ์วิหาร

๔.  ด้านอิทธิพลต่อวรรณคดีอื่น

มีหนังสืออ้างอิงทำนองไตรภูมิพระร่วง ที่มีผู้แต่งเลียนแบบอีกหลายเล่ม เช่น จักรวาลทีปนี ของ พระสิริมังคลาจารย์แห่งเชียงใหม่ไตรภูมิโลกวินิจฉัย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และเล่าเรื่องไตรภูมิ  เป็นต้น

ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลสำคัญต่อแนวคิดของกวีรุ่นหลัง  โดยนำความคิดในไตรภูมิพระร่วงสอดแทรกในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น  ลิลิตโองการแช่งน้ำ  มหาเวสสันดรชาดก  รามเกียรติ์  กากีคำกลอนขุนช้างขุนแผน  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ลิลิตโองการแช่งน้ำ   กล่าวถึงไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก

” นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์                จักร่ำจักรพาฬหเมื่อไหม้
   กล่าวถึงตะวันเจ็ดอันพลุ่ง             น้ำแล้งไข้ขอดหาย “

รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑  กล่าวถึงทวีปทั้ง  ๔  ว่า

” สำแดงแผลงฤทธิ์ฮีกฮัก                 ขุนยักษ์ไล่ม้วนแผ่นดิน
   ชมพูอุดรกาโร                               อมรโคยานีก็ได้สิ้น “

รามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  กล่าวถึงปลาอานนท์

” เขาสุเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน   อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน “

กากีคำกลอน  กล่าวถึงแม่น้ำสีทันดร

” …………………………………              ในสาครลึกกว้างกลางวิถี
 แม้จะขว้างหางแววมยุรี                  ก็จมลงถึงที่แผ่นดินดาน
 อันน้ำนั้นสุขุมละเอียดอ่อน             จึงชื่อสีทันดรอันใสสาร
ประกอบด้วยมัจฉากุมภาพาล          คชสารเงือกน้ำและนาคิน “

ขุนช้างขุนแผน  กล่าวถึงป่าหิมพานต์

” ม่านนี้ฝีมือวันทองทำ                    จำได้ไม่ผิดนัยน์ตาพี่
  เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี       สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว
  เจ้าปักเป็นป่าพนาเวศ                     ขอบเขตเขาคลุ้มชอุ่มเขียว
 รุกขชาติดาดใบระบัดเรียว               พริ้งเพรียวดอกดกระดะดวง
 ปักเป็นมยุราลงรำร่อน                     ฟ่ายฟ้อนอยู่บนยอดภูเขาหลวง
 แผ่หางกางปีกเป็นพุ่มพวง               ชะนีหน่วงเหนี่ยวไม้ชะม้อยตา
 ปักเป็นหิมพานต์ตระหง่านงาม        อร่ามรูปพระสุเมรุภูผา
 วินันตกอัสกรรณเป็นหลั่นมา           การวิกอิสินธรยุคุนธร ”

เนื้อหา

ไตรภูมิพระร่วงเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่กล่าวถึงภูมิ (แดน) ทั้ง 31 คือ กามภูมิ11, รูปภูมิ16 และอรูปภูมิ4 ซึ่งมีเนื้อหาพรรณนาถึงที่อยู่ ที่ตั้ง และการเกิดของมนุษย์ สัตว์นรก เปรต อสุรกาย และเทวดา ที่ตั้งเหล่านี้มีเขาพระสุเมรุเป็นหลัก เขาพระสุเมรุนั้นตั้งอยู่ท่ามกลางจักรวาล มีทิวเขาและทะเลล้อม ทิวเขามีชื่อต่างๆดังนี้ 1. ยุคนธร 2. อิสินธร 3. กรวิก 4. สุทัศน์ 5. เนมินธร 6. วินันตก และ7.อัศกรรณ ซึ่งเป็นเขารอบนอกสุด ทิวเขาเหล่านี้รวมเรียกว่าเขาสัตตบริภัณฑ์ ส่วนทะเลที่รายล้อมอยู่ 7 ชั้น เรียกว่า มหานทีสีทันดร ถัดจากทิวเขาอัศกรรณออกมาเป็นมหาสมุทรอยู่ทั่วทุกด้าน แล้วจะมีภูเขาเหล็กกั้นทะเลนี้ไว้รอบเรียกว่า ขอบจักรวาล พ้นไปนอกนั้นเป็นนอกขอบจักรวาล

ภูมิทั้ง 31 เรียงลำดับจากทุกข์ไปสุขได้ดังนี้

กามภูมิ 11

1.นรกภูมิ   นรกภูมิ เป็นภูมิต่ำที่สุด ประกอบด้วย มหานรก 8 ขุม, นรกบ่าว 128 ขุม และยมโลกนรก 320 ขุม

1.1.มหานรก มี 8 ขุม มีกำแพงเหล็กแดงลุกเป็นไฟอยู่เสมอล้อมเป็นสี่เหลี่ยม พื้นบนและพื้นล่างก็เป็นเหล็กแดงที่ลุกเป็นไฟ กำแพงทั้ง 4 ด้าน ยาวด้านละ 1,000 โยชน์ หนา 9 โยชน์ มีประตูเข้า 4 ประตู ส่วนพื้นบนและพื้นล่างมีความหนา 9 โยชน์ มหานรกทั้ง 8 มีดังนี้

1.1.1.มหาอเวจีนรก หรือ นรกที่ทุกข์ทรมานมิเคยหยุดพัก เป็นนรกขุมที่ลึกที่สุด มีความทุกข์มากที่สุดในจักรวาลไตรภูมิ ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ในชาติก่อนนั้นได้ทำใน อนันตริยกรรม หรือบาปหนัก 5 ประการคือ ฆ่าบิดา, ฆ่ามารดา, ฆ่าพระอรหันต์, ทำให้พระพุทธเจ้าห้อพระโลหิต, ยุยงให้สงฆ์แตกแยกกัน ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่จะถูกตรึงศีรษะ แขน ในอิริยาบถที่เป็นในขณะทำบาป(นั่ง ยืน นอน ฯลฯ) มีหลาวเหล็กแทงทะลุลำตัว มีไฟนรกคลอกตลอดเวลา แต่จะไม่เสียชีวิต ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ ต้องอาศัยอยู่จนกว่าจะครบวาระ 1 กัลป์

1.1.2.มหาตาปนรก หรือ นรกที่มีแต่ความเร่าร้อนเหลือประมาณ ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ ชาติก่อนได้ฆ่าชีวิตสัตว์และคนเป็นหมู่มากโดยไม่รู้สึกผิด ผู้อยู่อาศัยจะถูกทำให้ตกจากภูเขาสูงลงมาที่พื้นที่เต็มไปด้วยเหล็กแหลมยาว ถูกเหล็กเสียบทะลุลำตัว มีไฟนรกคลอกตลอดเวลา แต่ก็จะไม่เสียชีวิต ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ต้องอาศัยไปจนกวลาจะครบวาระ ครึ่งกัลป์

1.1.3.ตาปนรก หรือ นรกแห่งความเร่าร้อน ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่จะถูกไล่ให้ขึ้นไปที่ปลายหลาว ที่มีไฟนรกลุกโชน ผู้อยู่อาศัยจะถูกไฟคลอกจนพองสุก และจะกลายเป็นอาหารของสุนัขนรก หลังจากนั้น จะมี “ลมกรรม” พัดมาให้ร่างกายฟื้นขึ้นมา และก็ถูกไล่ขึ้นไปที่ปลายหลาว ถูกไปนรกคลอก วนเวียนเช่นนี้จนกว่าจะครบวาระ 16,000 ปี โดยที่ 1 วัน 1 คืนในตาปนรก เทียบเท่า 9,216 ล้านปีมนุษย์

1.1.4.มหาโรรุวนรก หรือ นรกที่เต็มไปด้วยเสียงครวญคราง ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ ชาติก่อนได้ปล้นขโมยของจากผู้ที่อยู่สูง เช่น สมณะ ครู บุพการี ฯลฯ ผู้ที่อาศัยจะต้องยืนบนบัวเหล็กที่กลีบคม มีไฟนรกแผดเผา มียมบาลใช้กระบองกระหน่ำตีร่าง แต่จะไม่เสียชีวิต ต้องอาศัยอยู่เช่นนี้ไปจนกว่าจะครบวาระ 7,000 ปี โดยที่ 1 วัน 1 คืนในมหาโรรุวนรก เทียบเท่า 2,305 ล้านปีมนุษย์

1.1.5.โรรุวนรก หรือ นรกที่เต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ ชาติก่อนเคยเผาสัตว์ทั้งเป็นบ่อยๆ หรือเป็นข้าราชการทุจริต ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่จะถูกไฟนรกคลอกในบัวเหล็กในอิริยาบถนอนคว่ำ การอาศัยที่นี่ 1 วาระ จะต้องอาศัยอยู่นาน 4,000 ปีนรก โดยที่ 1 วัน 1 คืนในโรรุวนรก เทียบเท่า 576 ล้านปีมนุษย์

1.1.6.สังฆาฏนรก หรือ นรกบดขยี้สัตว์ ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ ชาติก่อนได้กระทำทารุณสัตว์ เมื่ออาศัยอยู่ที่นี่ ยมบาลจะผูกล่ามผู้อาศัยหลายๆ คนเข้าด้วยกัน และใช้ค้อนเหล็กยักษ์ทุบร่างกายจนแหลกไป และ “ลมกรรม”ก็จะพัดให้ฟื้นชีวิตมารับโทษใหม่ วนเวีบยเช่นนี้จนกว่าจะครบวาระ 2,000 ปีนรก โดยที่ 1 วัน 1 คืนในสังฆาฏนรก เทียบเท่า 145 ล้านปีมนุษย์

1.1.7.กาฬสุตตนรก หรือ นรกที่ลงโทษด้วยด้ายดำ ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่จะถูกยมบาลฟาดด้วยด้ายนรก ซึ่งมีขนาดและความแข็งเท่าเหล็กเส้นโตๆ เส้นหนึ่ง แล้วใช้เลื่อยนรกเลื่อยให้ขาดเป็นท่อนๆ ผู้ที่หนีจะถูกเหล็กนรกปลิวออกมาตัดร่างกาย แล้วลมกรรม ก็จะพัดโชยให้ฟื้นคืนอีกครั้ง จนกว่าจะครบวาระ 1,000 ปีนรก โดย 1 วัน 1 คืนในกาฬสุตตนรก เทียบเท่า 36 ล้านปีมนุษย์ ผู้ที่อาศัยอยู่ที่นี่ ชาติปางก่อนได้ทรมาณสัตว์เล่นๆ ทำร้ายบุพการี อาจารย์ สมณะ หรือผู้มีพระคุณ

1.1.8.สัญชีวนรก หรือ นรกที่ไม่มีวันตาย ผู้ที่อาศัยจะถูกยมบาลจับนอนบนแผ่นเหล็กร้อนแดง และถูกยมบาลฟันร่างขาดเป็นท่อนๆ เฉีอนเนื้อหนังจนเหลือแต่กระดูก แล้วลมกรรมก็จะพัดมาให้ฟื้นมารับโทษต่อจนกว่าจะครบวาระ 500 ปีนรก โดยที่ 1 วัน 1 คืนในสัญชีวนรก เทียบเท่า 9 ล้านปีมนุษย์

1.2.นรกบ่าว จะล้อมรอบมหานรก 4 ด้าน ด้านละ 4 ขุม รวมแล้ว มหานรก 1 ขุม จะมีนรกบ่าวล้อมรอบอยู่ 16 ขุม รวมจำนวนนรกบ่าวทั้งหมดจึงได้ 128 ขุม เป็นโลกของผู้ที่ทำบาป(หรือ เหลือเศษบาป)อยู่น้อย น้อยเกินกว่าที่จะไปเกิดในมหานรก แต่มากเกินกว่าที่จะเกิดในภูมิที่สูงกว่า เป็นขุมที่มีความทุกข์ทรมานน้อยกว่ามหานรก แต่ก็ยังห่างไกลความสุขอยู่อย่างยิ่งยวด

1.3.ยมโลกนรก จะล้อมรอบมหานรก 4 ด้าน ด้านละ 10 ขุม รวมแล้ว มหานรก 1 ขุม จะมียมโลกนรกล้อมรอบ 40 ขุม รวมจำนวนยมโลกนรกทั้งหมดได้ 320 ขุม เป็นโลกของผู้ที่มีเศษบาปเหลือน้อยเกินกว่าที่จะไปเกิดในนรกบ่าว แต่ก็มากเกินกว่าที่จะไปเกิดในภูมิที่สูงกว่านี้ การลงโทษเบากว่านรกบ่าว แต่ก็ยังห่างไกลความสุขอย่างยิ่งยวดเช่นกัน

ยมบาล หรือ นายนิรยบาล หรือผู้ดูแลนรกเฝ้าประตูนรกไว้ มีพระยายมราชเป็นผู้ทรงธรรมเที่ยงตรงเป็นใหญ่เหนือยมบาลทั้งหลาย หน้าที่ของพระยายมราชคือสอบสวนบุญบาปของมนุษย์ที่ตายไป หากทำบุญก็จะได้ขึ้นสวรรค์ทำบาปก็จะตกนรก

2.เปรตวิสัยภูมิ

เปรตเป็นผีเลวชนิดหนึ่ง ในไตรภูมิบรรยายรูปร่างของเปรตไว้ว่า เปรตบางชนิดมีตัวใหญ่ ปากเท่ารูเข็ม เปรตบางชนิดก็ตัวผอมไม่มีเนื้อหนังมังสา ตาลึกกลวง และร้องไห้ตลอดเวลา แต่ก็มีเปรตบางชนิดที่ตัวงามเป็นทอง แต่ปากเป็นหมูและเหม็นมาก มนุษย์ที่ทำบาปกับบุพการี เช่น ด่าทอบุพการีและทุบตีบุพการีจะเกิดเป็นเปรต สรุปรวมๆแล้วก็คือเมื่อตอนเป็นคนแล้วทำบาปอย่างใดเมื่อตายไปก็จะเป็นเปรตตามที่ทำบาปไว้

เปรตนั้นมีโอกาสดีกว่าสัตว์นรก เนื่องจากสามารถออกมาขอบุญกุศลจากการทำบุญของมนุษย์ได้

3.อสุรกายภูมิ

อสูร แปลตรงตัวว่า ผู้ไม่ใช่สุระหรือไม่ใช่พวกเทวดาที่มีพระอินทร์เป็นหัวหน้า เดิมพวกอสูรมีเมืองอยู่บนเขาพระสุเมรุหรือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั่นเอง ภายหลังพวกเทวดาคิดอุบายมอมเหล้าพวกอสูรเมาจนไม่ได้สติ แล้วพวกเทวดาก็ช่วยกันถีบอสูรให้ตกเขาพระสุเมรุดิ่งจมลงใต้ดิน เมื่ออสูรสร่างเมาได้สติแล้วก็สำนึกตัวได้ว่า เป็นเพราะกินเหล้ามากจนเมามายจึงต้องเสียบ้านเมืองให้กับพวกเทวดาจึงเลิกกินเหล้าแล้วไปสร้างเมืองใหม่ใต้บาดาลเรียกว่า อสูรภพ

พวกอสูรกายมีบ้านเมืองเป็นของตนเอง เรียกว่าอสูรภพ อยู่ลึกใต้ดินไป 84,000 โยชน์ เป็นบ้านเมืองงดงามมากเต็มไปด้วยแผ่นทองคำ คือบ้านเมืองของอสูรนี้จะมีเหมือนสวรรค์ของเทวดา เช่น กลางสวรรค์มีต้นปาริชาติ กลางเมืองอสูรก็มีต้นแคฝอย เมืองอสูรมีเมืองใหญ่อยู่ 4 เมืองโดยมีพระยาอสูรปกครองอยู่ทุกเมือง ในบรรดาอสูรมีอยู่ตนหนึ่งมีอำนาจมากชื่อว่า ราหู

อสูรราหูมีหน้าตาหัวหูที่ใหญ่โตมากกว่าเหล่าเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ ราหูมีความเกลียดชังพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก ในวันพระจันทร์เต็มดวงหรือวันเดือนงามและวันเดือนดับ ราหูจะขึ้นไปนั่งอยู่บนเขายุคนธรอันเป็นทิวเขาทิวแรกที่ล้อมเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นที่อยู่ของเทวดา ราหูจะคอยให้พระอาทิตย์หรือพระจันทร์ผ่านมา เพื่อที่จะคอยอ้าปากอันกว้างใหญ่อมเอาพระจันทร์หรือพระอาทิตย์หายลับไป บางครั้งก็เอานิ้วมือบังไว้บ้าง เอาไว้ใต้คางบ้าง เหตุการณ์เหล่านี้เรียกกันว่า สุริยคราสและจันทรคราส

เรื่องราวที่เป็นเหตุทำให้ราหูมีความเกลียดชังพระอาทิตย์และพระจันทร์ก็คือ มีการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าบรรดาเทวดาและอสูรเพื่อทำน้ำอมฤต เมื่อกวนสำเร็จแล้วเทวดาก็ไม่ยอมให้เหล่าอสูรกิน แต่ราหูปลอมเป็นเทวดาเข้าไปกินน้ำอมฤตกับเทวดาด้วย พระอาทิตย์และพระจันทร์เห็นจึงไปฟ้องพระวิษณุว่าราหูปลอมตัวเป็นเทวดามากินน้ำอมฤต พระวิษณุทรงขว้างจักรแก้วไปตัดตัวราหูออกเป็นสองท่อนแต่ราหูไม่ตายเพราะได้กินน้ำอมฤตไปแล้ว ครึ่งตัวท่อนบนจึงเป็นราหูอยู่ แต่ครึ่งตัวท่อนล่างกลายเป็นอสูรอีกตัวหนึ่งชื่อเกตุ

4.ติรัจฉานภูมิ

ติรัจฉานติภูมิ หรือเดรัจฉานติภูมิ คือแดนของเดียรฉาน แปลว่าตามขวางหรือตามเส้นนอนตรงกันข้ามกับคนซึ่งไปตัวตรง ดังนั้นสัตว์เดรัจฉานก็หมายถึงสัตว์ที่ไปไหนมาไหนต้องคว่ำอก

ในหนังสือไตรภูมิตอนนี้เริ่มต้นกล่าวถึงสัตว์อันเกิดมาในแดนเดรัจฉานว่า มีเกิดจากไข่ (อัณฑชะ) จากมีรกอันห่อหุ้ม(ชลาพุชะ) จากใบไม้และเหงื่อไคล(สังเสทชะ) เกิดเป็นตัวขึ้นเองและโตทันที(อุปปาติกะ) สัตว์เดรัจฉานนั้นมีความเป็นอยู่ 3 ประการ คือ รู้สืบพันธุ์ รู้กิน รู้ตาย เรียกเป็นศัพท์ว่า กามสัญญา อาหารสัญญา และมรณสัญญา ส่วนคนนั้นเพิ่มอีกสัญญาหนึ่งคือ ธธมสัญญา คือรู้จักการทำมาหากิน รู้บาปบุญ หรือตรงกับคำว่าวัฒนธรรมนั้นเอง สัตว์ที่กล่าวในแดนเดรัจฉานหลักๆก็มีดังนี้

-ราชสีห์ เป็นสัตว์จำพวกเดียวกับสิงโต ไม่มีตัวตนจริงอยู่ในโลกนี้แต่เป็นสัตว์ที่อยู่ในวรรณคดีเท่านั้น

-ช้างแก้ว อาศัยอยู่ที่ถ้ำทองว่ากันว่าพระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเคยไปเกิดเป็นช้างนี้อยู่หนึ่งชาติ

-ปลา ในแดนเดรัจฉานนี้ปลาที่อาศัยอยู่ที่นี้จะมีขนาดใหญ่มาก ตัวที่เล็กสุดก็ยังยาวถึง 75 โยชน์ ตัวที่ใหญ่ก็ยาวถึง 5,000 โยชน์ ปลาที่รู้จักกันดีคือ พญาปลาอานนท์ ซึ่งหนุนชมพูทวีปอยู่

ครุฑ อาศัยอยู่ที่ตามฝั่งสระใหญ่ชื่อสิมพลีสระที่ตีนเขาพระสุเมรุหรือสระต้นงิ้ว กว้างได้ 500 โยชน์ พระยาครุฑที่เป็นหัวหน้าตัวโต 50 โยชน์ ปีกยาวอีก 50 โยชน์ ปากยาว 9 โยชน์ ตีนทั้งสองยาว 12 โยชน์ ครุฑกินนาคเป็นอาหาร และเป็นพาหนะของพระนารายณ์

นาค หรืองูมีหงอนและมีตีน นาคมีสองชนิด คือ ถลชะ หรือนาคที่เกิดบนบก และ ชลชะ หรือนาคที่เกิดในน้ำ นาคถลชะจะเนรมิตตนเป็นคนหรือเทวดานางฟ้าได้แต่บนบก นาคชลชะจะเนรมิตตนเป็นคนหรือเทวดานางฟ้าได้แต่ในน้ำเท่านั้น เรื่องนาคเป็นที่รู้จักกันดีในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือเป็นบรรพบุรุษของชนชาติต่างๆ เช่น เขมร ลาว มอญ

หงส์ อาศัยอยู่ที่ถ้ำทองบนเขาคิชฌกูฏหรือเขายอดนกแร้ง หงส์เป็นพาหนะของพระพรหม

5.มนุสสาภูมิ

กล่าวถึงฝูงสัตว์อันเกิดในมนุสสาภูมิ มีกำเนิดดังนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิสนธิในครรภ์มารดาก็เริ่มก่อตัวเป็นกัลละ กัลละมีรูปร่างโปร่งเหลวเหมือนน้ำหรือเหมือนเมือกตม เป็นคำที่ใช้เฉพาะสิ่งที่ห่อหุ้มก่อกำเนิดเป็นคนเท่านั้น กัลละที่ก่อเป็นตัวเด็กขึ้นมานี้ตามวิทยาศาสตร์กล่าวเรียกว่า ‘cell’ เมื่อเวลาผ่านไปก็เกิดกลายเป็นตัวเด็กขึ้นนั่งกลางท้องแม่และเอาหลังมาชนท้องแม่ มีสายสะดือเป็นตัวส่งอาหารที่แม่กินเข้าไปให้แก่เด็ก เด็กที่นั่งอยู่กลางท้องแม่นั้นจะนั่งอยู่เวลาประมาณ 8-10 เดือน แล้วจึงคลอดจากท้องแม่

บุตรที่เกิดมาในไตรภูมิแบ่งได้เป็น 3 สิ่ง คือ

-อภิชาตบุตร เป็นคนเฉลียวฉลาดมีรูปงามหรือมั่งมียศยิ่งกว่าพ่อแม่

-อนุชาตบุตร มีเพียงพ่อแม่

-อวชาตบุตร ด้อยกว่าพ่อแม่

คนทั้งหลายก็แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ

-ผู้ที่ทำบาปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และบาปนั้นตามทันต้องถูกตัดตีนสินมือและทุกข์โศกเวทนานักหนา พวกนี้เรียกว่า “คนนรก”

-ผู้หาบุญจะกระทำบ่มิได้ และเมื่อแต่ก่อนและเกิดมาเป็นคนเข็ญใจยากจนนักหนา อดอยากไม่มีกิน รูปโฉมก็ขี้เหร่ พวกนี้เรียกว่า “คนเปรต”

-คนที่ไม่รู้จักบาปและบุญ ไม่มีความเมตตากรุณา ไม่มีความยำเกรงผู้ใหญ่ ไม่รู้จักปฏิบัติพ่อแม่ครูอาจารย์ ไม่รักพี่รักน้อง กระทำบาปอยู่ร่ำไป พวกนี้ท่านเรียกว่า “คนเดรัจฉาน”

-คนที่รู้จักบาปและบุญ รู้กลัวรู้ละอายแก่บาป รู้รักพี่รักน้อง รู้กรุณาคนยากจนเข็ญใจ และรู้จักยำเกรงพ่อแม่ผู้เฒ่าผู้แก่ครูอาจารย์ และรู้จักคุณแก้ว 3 ประการ คือ พระรัตนตรัย พวกนี้ท่านเรียกว่า “มนุษย์”

ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า มนุสสาภูมิประกอบด้วย 4 ทวีป ดังนี้

ชมพูทวีป ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ มีสัณฐานเป็นรูปไข่ดุจดังดุมเกวียน คนมีรูปหน้ากลมดุจดังดุมเกวียน อายุของคนในชมพูทวีปนั้น หากเป็นผู้ที่เป็นคนดีมีศีลธรรมอายุก็จะยืน หากมีลักษณะตรงกันข้ามก็จะอายุสั้น เป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า (ซึ่งก็คือโลกที่เราๆ ท่านๆ อาศัยอยู่)

บุรพวิเทหทวีป ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุ เป็นแผ่นดินกว้างได้ 7,000 โยชน์ มีสัณฐานเป็นรูปแว่นที่กลม มีเกาะล้อมรอบเป็นบริวาร 400 เกาะ มีแม่น้ำเล็กใหญ่ มีเมืองใหญ่เมืองน้อย คนในทวีปนี้หน้ากลมดังเดือนเพ็ญ มีรูปกะโหลกสั้น ทุกคนไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำชั่ว เมื่อตายแล้วจึงขึ้นสวรรค์แน่นอน ทำให้คนในทวีปนี้ไม่กลัวตาย และผู้ที่อาศัยในทวีปนี้ มีอายุ 100 ปีเท่ากันทุกคน

อมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุ เป็นแผ่นดินกว้างได้ 9,000 โยชน์ มีสัณฐานเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งดวง มีเกาะเล็กเกาะน้อยเป็นบริวารอยู่โดยรอบ คนในทวีปนี้มีรูปหน้าดังพระจันทร์ครึ่งดวง ทุกคนไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำชั่ว เมื่อตายแล้วจึงขึ้นสวรรค์แน่นอน ทำให้คนในทวีปนี้ไม่กลัวตาย และผู้ที่อาศัยในทวีปนี้ มีอายุ 400 ปีเท่ากันทุกคน

อุตตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ในมหาสมุทรทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุ เป็นแผ่นดินกว้างได้ 8,000 โยชน์ มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีภูเขาทองล้อมรอบ มีเกาะล้อมรอบเป็นบริวาร 500 เกาะ คนในทวีปนี้หน้าเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีรูปร่างสมประกอบไม่สูงไม่ต่ำดูงดงาม กล่าวกันว่าคนที่อยู่ทวีปนี้เป็นคนรักษาศีล จึงทำให้แผ่นดินราบเรียบ ต้นไม้ต่างก็ออกดอดงดงามส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่ว และเป็นแผ่นดินที่ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ในแผ่นดินอุตตรกุรุทวีปนี้มีต้นกัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง สูง 100 โยชน์ กว้าง 100 โยชน์ ผู้ใดปรารถนาจะได้แก้วแหวนเงินทองหรือสิ่งใดๆ ก็ให้ไปยืนนึกอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์นี้ ผู้หญิงชาวอุตตรกุรุทวีปนั้นมีความงดงามมาก ส่วนผู้ชายก็เช่นกันมีความงามดังเช่นหนุ่มอายุ 20 ปีกันทุกคน ทุกคนไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำชั่ว เมื่อตายแล้วจึงขึ้นสวรรค์แน่นอน ทำให้คนในทวีปนี้ไม่กลัวตาย และผู้ที่อาศัยในทวีปนี้ มีอายุ 1,000 ปีเท่ากันทุกคน

พระยาจักรพรรดิราช

พระยาจักรพรรดิราช เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าพระราชาทั้งปวง คือเป็นพระราชาผู้มีจักรหรือล้อแห่งรถเลื่อนแล่นไปได้รอบโลกโดยปราศจากการขัดขวางหรือปราบปรามทั่วโลก พระยาจักรพรรดิราชนั้นเมื่อชาติก่อนเป็นคนแต่ทำบุญไว้มากเมื่อตายไปจึงไปเกิดในสวรรค์ ในบางครั้งก็มาเกิดเป็นพระยาที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ได้รับพระนามว่า พระยาจักรพรรดิราช เป็นพระยาที่ทรงคุณธรรมทุกประการเป็นเจ้านายคนทั้งหลายพระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิศราชธรรม พระยาจักรพรรดิราชมีแก้ว 7 ประการเกิดคู่บารมีมาด้วย ได้แก่

  1. จักรแก้ว คือแก้วอย่างที่หนึ่ง จักรแก้วหรือจักรรัตน์จมอยู่ใต้ท้องทะเลลึกได้ 84,000 โยชน์ เมื่อเกิดจักรพรรดิราชขึ้นในโลก จักรแก้วซึ่งเป็นคู่บุญบารมีและจมอยู่ในมหาสมุทรก็จะผุดขึ้นมาจากท้องทะเลพุ่งขึ้นไปในอากาศเกิดเป็นแสงส่องอันงดงามมาน้อมนบ เมื่อพระยาผู้ครองเมืองนั้นทราบว่าพระองค์จะได้เป็นพระยาจักรพรรดิราชปราบทั่วจักรวาลเพราะมีจักรแก้วมาสู่พระองค์ พระยาจักรพรรดิราชก็จะเสด็จปราบทวีปทั้งสี่ แล้วประทานโอวาทให้ชาวทวีปเหล่านั้นประพฤติและตั้งอยู่ในคุณงามความดีแล้วจึงเสด็จกลับพระนคร
  2. ช้างแก้ว (หัสดีรัตน์) คือแก้วอย่างที่สอง ซึ่งเป็นช้างที่มีความงดงาม ตัวเป็นสีขาว ตีนและงวงสีแดง เหาะได้รวดเร็ว
  3. ม้าแก้ว (อัศวรัตน์) คือแก้วอย่างที่สาม เป็นม้าที่มีขนงามดังสีเมฆหมอก กีบเท้าและหน้าผากแดงดั่งน้ำครั่ง เหาะได้รวดเร็วเช่นเดียวกับช้างแก้ว
  4. แก้วดวง (มณีรัตน์) คือแก้วอย่างที่สี่ เป็นแก้วที่มีขนาดยาวได้ 4 ศอก ใหญ่เท่าดุมเกวียนใหญ่ สองหัวแก้วมีดอกบัวทอง เมื่อมีความมืดแก้วนี้จะส่องสว่างให้เห็นทุกหนแห่งดังเช่นเวลากลางวัน แก้วนี้จะอยู่กับพระยาจักรพรรดิราชจนตราบเท่าเสด็จสวรรคาลัย จึงจะคืนไปอยู่ยอดเขาพิปูลบรรพตตามเดิม
  5. นางแก้ว (อิตถีรัตน์) คือแก้วอย่างที่ห้า เป็นหญิงที่จะมาเป็นมเหสีคู่บารมีของพระยาจักรพรรดิราช นางแก้วนี้จะต้องเป็นหญิงที่ได้ทำบุญมาแต่ชาติก่อน และมาเกิดในแผ่นดินของพระยาจักรพรรดิราชในตระกูลกษัตริย์ นางแก้วนี้จะเป็นหญิงที่มีลักษณะงดงามไปทุกส่วน จะทำหน้าที่เป็นภรรยาที่ดีของพระยาจักรพรรดิราช
  6. ขุนคลังแก้ว คือแก้วอย่างที่หก เกิดขึ้นเพื่อบุญแห่งพระยาจักรพรรดิราช และจะเป็นมหาเศรษฐี ขุนคลังแก้วจะสามารถกระทำได้ทุกอย่างที่พระยาจักรพรรดิราชต้องการเพราะขุนคลังแก้วมีหูทิพย์ตาทิพย์ดังเทวดาในสวรรค์ หากว่าพระยาจักรพรรดิราชต้องการทรัพย์สินสิ่งใดขุนคลังก็จะสามารถนำมาถวายได้
  7. ขุนพลแก้ว คือแก้วประการสุดท้ายของพระยาจักรพรรดิราช หรือโอรสของพระยาจักรพรรดิราช มีรูปโฉมอันงดงาม กล้าหาญ เฉลียวฉลาด สามารถบริหารกิจการบ้านเมืองได้ทุกประการ บางตำราก็ว่าเป็นขุนพลแก้ว

6.จาตุมหาราชิกาภูมิ

สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นแรก สูงจากพื้นโลกได้ 46,000 โยชน์เป็นดินแดนของผู้มีจิตใจสูงส่ง แต่ยังเกี่ยวข้องในกามคุณ จาตุมหาราชิกภูมิ แปลว่าแดนแห่ง 4 มหาราช สวรรค์ชั้นนี้ตั้งอยู่เหนือเทือกเขายุคนธรอันเป็นเทือกเขาแรกที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ บนเทือกเขายุคนธรทั้ง 4 ทิศ มีเมืองใหญ่ 4 เมือง เมืองที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุมีท้าวธตรฐเป็นเจ้าเมือง เป็นใหญ่เหนือคนธรรพ์ (เป็นอมนุษย์จำพวกหนึ่ง ครึ่งเทวดาครึ่งมนุษย์ เป็นนักดนตรีและชอบผู้หญิง) เมืองที่อยู่ทางทิศตะวันตกของเขาพระสุเมรุมีท้าววิรูปักษ์เป็นเจ้าเมือง เป็นใหญ่เหนือนาค เมืองที่อยู่ทางทิศใต้ของเขาพระสุเมรุมีท้าววิรุฬหกเป็นเจ้าเมือง เป็นใหญ่เหนือพวกกุมภัณฑ์ (เป็นยักษ์จำพวกหนึ่ง มีท้องใหญ่และมีอัณฑะเหมือนหม้อ) เมืองที่อยู่ทางทิศเหนือของเขาพระสุเมรุมีท้าวไพศรพเป็นเจ้าเมือง เป็นใหญ่เหนือพวกยักษ์ ท้าวมหาราชทั้ง 4 นี้เรียกรวมๆว่า จตุโลกบาลทั้ง 4 คือผู้ดูแลรักษาโลกทั้ง 4 ทิศ

7.ดาวดึงสภูมิ เป็นสวรรค์ชั้นที่อยู่เหนือจาตุมหาราชิกาภูมิขึ้นไปอีก 46000 โยชน์ มีพระอินทร์เป็นเจ้าแก่พระยาเทพยดาทั้งหลาย ที่รายล้อมออกไปทั้ง 4 ทิศ รวม 32 พระองค์ เหล่าเทพยดามี 2 จำพวก คือ
– สมมุติเทวดาคือฝูงท้าวและพระยาในแผ่นดิน ผู้รู้หลักแห่งบุญธรรม และกระทำโดยทศพิศราชธรรมทั้ง 10 ประการ
– อุปปัติเทวดาคือเหล่าเทพยดาในพรหมโลก
– วิสุทธิเทวดาคือพระพุทธปัจเจกโพธิเจ้า และพระอรหันตสาวกเจ้า ผู้เสด็จเข้าสู่นิพพาน

 8.ยามาภูมิ

สวรรค์ชั้นยามา เป็นสวรรค์ชั้นที่ 3 อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 84,000 โยชน์ มีพระยาสยามเทวราชครองอยู่ สวรรค์ชั้นนี้สูงกว่าวิถีการโคจรของพระอาทิตย์ แต่ก็ไม่มืดเนื่องจากรัศมีแก้วและรัศมีตัวเทวดาส่องสว่างอยู่เสมอ

9.ดุสิตาภูมิ

สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นที่ 4 อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นยามา 168,000 โยชน์ มีพระยาสันดุสิตเทวราช พระโพธิสัตว์ซึ่งจะเสด็จลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มีพระศรีอาริย์โพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า

10.นิมมานรดีภูมิ

สวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นสวรรค์ชั้นที่ 5 อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นดุสิต 336,000 โยชน์

11.ปรนิมิตวสวัตติภูมิ

สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสวรรค์ชั้นที่ 6 อยู่สูงจากสวรรค์ชั้นนิมมานรดี 672,000 โยชน์ มีพระยาปรนิมมิตวสวัตตีครองอยู่

รูปภูมิ 16

อยู่เหนือสวรรค์ชั้นสูงสุด

12.พรหมปาริสัชชาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จปฐมฌาณขั้นต้น

12.พรหมปุโรหิตาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จปฐมฌาณขั้นกลาง

14.มหาพรหมาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จปฐมฌาณขั้นสูง

15.ปริตตาภาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จทุติยฌาณขั้นต้น

16.อัปปมาณาภาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จทุติยฌาณขั้นกลาง

17.อาภัสสราภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จทุติยฌาณขั้นสูง

18.ปริตตสุภาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จตติยฌาณขั้นต้น

19.อัปปมาณสุภาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จตติยฌาณขั้นกลาง

20.สุภกิณหาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จตติยฌาณขั้นสูง

21.เวหัปปผลาภูมิ  ดินแดนของผู้สำเร็จจตุตฌาณ มีผลไพบูลย์ พ้นจากการทำลายของน้ำ ลม ไฟ

22.อสัญญีสัตตาภูมิ  ดินแดนของพรหมไร้นาม มีร่างกายสง่างาม

23.อวิหาภูมิ  ดินแดนของพระอรหันต์ขั้นอนาคามี เคยเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า

24.อตัปปาภูมิ  ดินแดนของพรหมผู้ไม่เดือดร้อนทั้งกาย วาจา ใจ เพราะสามารถระงับนิวรณ์ได้

25.สุทัสสาภูมิ  แดนของผู้เห็นสภาวธรรมแจ้งชัด

26.สุทัสสีภูมิ  แดนของพรหมผู้เห็นธรรมแจ่มแจ้ง

27.อกนิฎฐาภูมิ  แดนของพรหมที่มีคุณสมบัติมากพอจะนิพพานได้

อรูปภูมิ 4

แดนของพรหมที่มีแต่จิต ด้วยไม่พอใจที่รูปกายเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์นานัปการ

28.อากาสานัญจายตนภูมิ  แดนของพรหมที่มีแต่จิต เข้าถึง ภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด

29.วิญญาณัญจายตนภูมิ  แดนของผู้ที่เข้าถึง ภาวะวิญญาณไม่มีที่สุด

30.อากิญจัญญายตนภูมิ  แดนของผู้ที่เข้าถึง ภาวะไม่มีอะไร

31.เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ  แดนของผู้ที่เข้าถึง ภาวะไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ มีสัญญาก็ไม่ใช่

นิพพาน

ความสุขใดๆ ในเทวโลกหรือพรหมโลก จะเทียบเท่านิพพานสุขนั้นหาไม่ เปรียบได้ดั่งแสงหิ่งห้อยหรือจะสู้แสงตะวัน หยดน้ำอันติดอยู่ปลายผม หรือจะเท่าน้ำในมหาสมุทร เพราะหยุดเหตุแห่งการเกิดและดับ นิพพานมี 2 จำพวกคือ
            กิเลสปรินิพพาน นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังเสวยอารมณ์ที่ น่าชอบใจและไม่น่าชอบใจทางอินทรีย์ 5 รับรู้สุขทุกข์ คือดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ
           ขันธปรินิพพาน ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือนิพพานของพระอรหันต์ ผู้ระงับการเสวยอารมณ์ทั้งปวงแล้ว ในไตรภูมิกถานี้แสดงให้เห็นว่า แม้จะได้มรรคผลจนสูงถึงที่สุดแห่งภูมิ คือเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ในอรูปภูมิ แต่จิตนั้นยังมีสัญญาอยู่ในสภาวะที่ยังไม่แน่นอน จึงมีดับและเกิด แต่ถ้าได้พิจารณาอริยะสัจ 4 สามารถดับเบญจขันธ์คือ ขันธ์ 5 ( รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ) เท่ากับได้ดับกิเลสและกองทุกข์ เข้าสู่สภาวะที่เป็นสุขสูงสุด คือ นิพพาน เพราะไร้กิเลสไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพอันสมบูรณ์

สรุปไตรภูมิพระร่วง  31  ภูมิ

1. กามภูมิ 11

1.1 นรกภูมิ

1.มหาอเวจีนรก           2.มหาตาปนรก                    3.ตาปนรก                            4.มหาโรรุวนรก

5.โรรุวนรก                  6.สังฆาฏนรก                      7.กาฬสุตตนรก                   8.สัญชีวนรก

1.2 เปรตวิสัยภูมิ                                          1.3 อสุรกายภูมิ

1.4 ติรัจฉานภูมิ                                           1.5 มนุสสาภูมิ       1.5.1 พระยาจักรพรรดิราช

1.6 จาตุมหาราชิกาภูมิ                               1.7 ดาวดึงส์

1.8 ยามาภูมิ                                                 1.9 ดุสิตาภูมิ

1.10 นิมมานรดีภูมิ                              1.11 ปรนิมิตวสวัตติภูมิ

2. รูปภูมิ 16

2.1 พรหมปาริสัชชาภูมิ                            2.2 พรหมปุโรหิตาภูมิ

2.3 มหาพรหมาภูมิ                                    2.4 ปริตตาภาภูมิ

2.5 อัปปมาณาภาภูมิ                                  2.6 อาภัสสราภูมิ

2.7 ปริตตสุภาภูมิ                                        2.2.8 อัปปมาณสุภาภูมิ

2.9 สุภกิณหาภูมิ                                         2.10 เวหัปปผลาภูมิ

2.11 อสัญญีสัตตาภูมิ                                 2.12 อวิหาภูมิ

2.2.13 อตัปปาภูมิ                                       2.14 สุทัสสาภูมิ

2.15 สุทัสสีภูมิ                                             2.16 อกนิฎฐาภูมิ

3. อรูปภูมิ 4

3.1 อากาสานัญจายตนภูมิ

3.2 วิญญาณัญจายตนภูมิ

3.3 อากิญจัญญายตนภูมิ

3.4 เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ