ตัวอย่าง ร่ายยาวมหา เวสสันดร ชาดก กัณฑ์ มั ท รี

เรื่องมหาเวสสันดรชาดกมีที่มาจากเหตุการณ์ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพุทธบิดาและพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ บรรดาพระประยูรญาติไม่ปรารถนาจะทำความเคารพพระพุทธเจ้า ด้วยทรงคิดว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุน้อยกว่า พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของเหล่าพระประยูรญาติ จังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ โดยเสด็จขึ้นสู่นภากาศ แล้วปล่อยให้ฝุ่ละอองธุลีพระบาทตกลงสู่เศียรของพระญาติทั้งหลาย พระประยูรญาติจึงได้ละทิฐิแล้วถวายบังคมพระพุทธเจ้า ขณะนั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษ พระภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์จึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า ฝนชนิดนี้เคนตกต้องพระประยูรญาติของพระองค์มาครั้งหนึ่งแล้วในอดีต แล้วทรงแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดกหรือเรื่องมหาชาติแก่พระภิกษุเหล่านั้น

ร่ายยาวมหาเสสันดรชาดก เป็นเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก หรือที่เรียกว่า พระเจ้าสิบชาติชาดก แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้

๑. นิบาตชาดก เป็นชาดกที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฏกมีจำนวน ๕๕๐ เรื่อง ที่เรียกว่านิบาตชาดก เพราะจัดไว้เป็นหมวดหมู่ตามจำนวนคาถา แบ่งเป็น ๒๒ นิบาต มีตั้งแต่คาถาเดียว จนถึง ๘๐ คาถา เรียกชื่อตามจำนวนคาถา เช่น ชาดกที่มีคาถาเดียว เรียกว่า เอกนิบาตชาดก ชาดกที่มี ๒ คาถา เรียกว่า ทุกนิบาตชาดก ชาดกที่มีคาถามากเกิน ๘๐ คาถาขึ้นไป มีจำนวน ๑๐ ชาดก เรียกว่า พระเจ้า ๑๐ ชาติ ทศชาติชาดก หรือ มหานิบาตชาดก

๒. ปัญญาสชาดก คือ นิทานสุภาษิตหรือนิทานอิงธรรมที่ภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งไว้เป็นภาษาบาลีประมาณปี พ.ศ. ๒๐๐๐ – ๒๒๐๐ เป็นนิทานเก่าแก่ที่เล่าต่อกันมา ถือเป็นชาดกนอกคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีจำนวน ๕๐ เรื่อง

แต่งเป็นร่ายยาว คำประพันธ์ประเภทร่ายยาว หนึ่งบทจะมีกี่วรรคก็ได้ แต่ส่วนมากมี ๕ วรรคขึ้นไป วรรคหนึ่ง ๆ มีตั้งแต่ ๖ คำขึ้นไป ถึง ๑๐ คำหรือมากกว่า มีบังคับเฉพาะระหว่างวรรค คือ คำสุดท้ายของวรรคจะส่งสัมผัสไปที่คำที่ ๑ ถึง ๕ ของวรรคต่อไป เมื่อจบตอนมักมีคำสร้อย เช่น “นั้นแล” “นี้แล”

ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก เป็นร่ายยาวสำหรับเทศน์ จะมีคำศัพท์บาลีขึ้นก่อน แล้วแปลเป็นภาษาไทย แล้วจึงมีร่ายตาม ในระหว่างการดำเนินเรื่องจะมีคำบาลีคั่นเป็นระยะ ๆ คำบาลีนั้นมีความหมายเกี่ยวเนื่องกับข้อความที่ตามมา

การอ่านคำประพันธ์ประเภทร่าย

การอ่านออกเสียงบทร้อยกรองประเภทร่าย นิยมอ่านหลบเสียงสูงให้ต่ำลงในระดับของเสียงที่ใช้อยู่ ส่วนเสียงตรีที่หลบต่ำลงนั้นอาจเพี้ยนไปบ้าง เช่น น้อยน้อย เป็น นอยนอย แต่เสียงจัตวา แม้จะหลบเสียงต่ำลงมักจะไม่เพี้ยน

การอ่านร่ายทุกชนิดจะอ่านทำนองเหมือนกัน คือ ทำนองสูงด้วยเสียงระดับเดียวกัน และการลงจะหวะจะอยู่ที่ท้ายวรรคของทุกวรรค ส่วนจะอ่านด้วยลีลาใดนั้นขึ้นอยู่กับอารมณ์ตามเนื้อความ ดังนี้

เนื้อความแสดงอารมณ์เศร้า ใช้น้ำเสียงเบาลง สั่นเครือ และทอดเสียงให้ช้าลงกว่าปกติ

เนื้อความแสดงอารมณ์โกรธ ใช้น้ำเสียงหนักแน่น เน้นเสียงดังกว่าปกติ กระชับ สั้น

เนื้อความแสดงอารมณ์ขบขัน ผู้อ่านต้องพยายามทำเสียงให้แสดงถึงความขบขัน โดยที่ ตัวเองต้องไม่หัวเราะขณะอ่าน

เนื้อความบรรยายหรือพรรณนา ต้องอ่านตามอารมณ์ของเนื้อความนั้น เช่น บรรยายหรือพรรณนาความงาม ใช้น้ำเสียงแจ่มใส ไม่ดัง หรือไม่เบาเกินไป

เนื้อความแสดงความศักดิ์สิทธิ์หรือยิ่งใหญ่ ใช้น้ำเสียงหนักแน่น เน้น แต่ไม่ห้วน

เนื้อความสั่งสอน ใช้น้ำเสียงไม่ดังหรือเบาเกินไป เน้นคำที่สั่งสอน แต่ไม่ห้วน

เนื้อความบรรยายการต่อสู้ ใช้น้ำเสียงดัง หนักแน่น ห้วน กระชับ

เนื้อความแสดงความตกใจ ใช้น้ำเสียงหนักเบา เสียงสั่นตามเนื้อความ

เนื้อความตัดพ้อต่อว่า ใช้น้ำเสียงหนักบ้าง เน้นบ้าง สะบัดเสียงบ้าง

การอ่านร่ายพยายามอ่านให้จบวรรค เพราะจังหวะหลักของร่ายทุกชนิดจะอยู่ที่ปลายวรรค ซึ่งเป็นคำส่งสัมผัส ส่วนจังหวะเสริมจะอยู่ที่คำรับ ดังนั้นเมื่ออ่านถึงคำรับสัมผัสจะต้องเน้นเสียงหรือทอดเสียง ซึ่งเป็นเสมือนการแบ่งวรรคไปในตัว เช่น ลูกรักเจ้าแม่เอย เจ้าเคยมาอาศัยนั่งนอน จังหวะหลักอยู่ที่คำส่งสัมผัส คือ เอย จังหวะเสริมอยู่ที่คำรับสัมผัส คือ เคย

การอ่านตอนจบผู้อ่านจะต้องทอดเสียงให้ยาวกว่าการทอดเสียงท้ายวรรคอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าเรื่องที่ฟังกำลังจะจบแล้ว และเป็นการสร้างความประทับใจให้ผู้ฟังต้องการฟังอีก

ความรู้เกี่ยวกับร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

เทศน์คาถาพัน เรื่องมหาเวสสันดรชาดกเดิมแต่งเป็นฉันท์ภาษาบาลี สันนิษฐานว่านักปราชญ์ชาวอินเดียฝ่ายใต้เป็นผู้แต่ง ชาดกเรื่องนี้มี ๑๓ กัณฑ์ แต่งจบด้วยคาถา ๑,๐๐๐ คาถา เรียกว่า “คาถาพัน” ในตอนแรกนำเรื่องมหาเวสสันดรชาดกมาเทศน์สั่งสอนประชาชน โดยเทศน์เป็นภาษาบาลีล้วน ๆ ถือกันว่าผู้ใดฟังครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ จะได้บุญมาก แต่การฟังเทศน์เป็นภาษาบาลีนั้นทำให้ผู้ฟังไม่รู้เรื่องจึงมีการแปลมหาเวสสันดรเป็นภาษาไทย

เทศน์มหาชาติ เรื่องมหาเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า ตอนเสวยชาติเป็นพระเวสสันดรซึ่งเป็นชาติสุดท้าย ที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีอย่างยอดยิ่ง คือ บุตรทารทานบารมี ได้แก่การบริจาคโอรส ธิดา และมเหสีให้เป็นทาน จึงถือว่าชาดกนี้สำคัญกว่าชาดกอื่น ๆ จึงเรียกว่า “เทศน์มหาชาติ” แปลว่า ชาติที่ยิ่งใหญ่สำคัญ เพราะเป็นชาติสุดท้าย จากนั้นพระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรี ( ร้อยกรอง )

แนวคิดสำคัญ

๑. ความรักของแม่ที่มีต่อลูกนั้นยิ่งใหญ่นัก

ด้วยความรักที่พระนางมัทรีมีต่อกัณหาและชาลี นางทุ่มเทกำลังกาย สติปัญญาที่นางมีเพื่อที่จะค้นหาจนหมดสิ้น ทั้งสิ้นเรี่ยวแรงและเสียงที่เรียกร้องหา ดังว่า

“สมเด็จอรไทเธอเที่ยวตะโกนกู่กู๋ก้อง พระพักตร์เธอฟูมฟองนองไปด้วยน้ำพระเนตร เธออโศกา จึ่งตรัสว่า โอ้โอ๋เวลาปานฉะนี้เอ่ยจะมิดึกดื่น จวนจะสิ้นคืนค่อนรุ่งไปเสียแล้วหรือกระไรไม่รู้เลย พระพายรำเพยพัดมารี่เรื่อยอยู่เฉื่อยฉิว อกแม่นี้ให้อ่อนหิวสุดละห้อย ทั้งดาวเดือนก็เคลื่อนคล้อยลงลับไม้ สุดที่แม่จะติดตามเจ้าไปในยามนี้ ฝูงลิงค่างบ่างชะนีที่นอนหลับ ก็กลิ้งกลับเกลือกตัวอยู่ยั้วเยี้ย ทั้งนกหกก็งัวเงียเหงาเงียบทุกรวงรัง แต่แม่เที่ยวเซซังเสาะแสวงทุกแห่งห้องหิมเวศทั่วประเทศทุกราวป่า สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟังสำเนียง สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื้องย่องยกย่างลงเหยียบดิน ก็สุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด…”

“เมื่อแม่จะเข้าไปสู่ป่า พ่อชาลีแม่กัณหายังทูลสั่งแม่ยังกลับหลังมาโลมลูบจูบกระหม่อมจอมเกล้าทั้งสองรา กลิ่นยังจับนาสาอยู่รวยรื่น โอ้พระลูกข้านี้จะไม่คืนเสียแล้วกระมังในครั้งนี้ กัณหาชาลีลูกรักแม่นับวันแต่ว่าจะแลลับล่วงไปเสียแล้วละหนใครจะกอดพระศอเสวยนมผทมด้วยแม่เล่า ยามเมื่อแม่เข้าที่บรรจถรณ์ เจ้าเคยเคียงเรียงหมอนนอนแนบข้างทุกราตรี แต่นี้แม่จะกล่อมให้ใครนิทรา โอ้แม่อุ้มท้องประคองเคียงเลี้ยงเจ้ามาก็หมายมั่น สำคัญว่าจะได้อยู่เป็นเพื่อนยากจะฝากผีพึ่งลูกทั้งสองคน มิรู้ว่าจะกลับวิบัติพลัดพรากไม่เป็นผลให้อาเพศผิดประมาณเจ้าเอาแต่ห่วงสงสารนี่หรือมาสวมคล้องให้แม่นี้ติดข้องอยู่ด้วยอาลัย เจ้าทิ้งชื่อและโฉมไว้ให้เปล่าอกในวิญญาณ์ เมื่อเช้าแม่จะเข้าไปสู่ป่ายังได้เห็นหน้าเจ้าอยู่หลัดๆ ควรและหรือมาสลัดแม่นี้ไว้ เหมือนจะเตือนให้แม่นี้บรรลัยเสียจริงแล้ว”

พระนางมัทรีเที่ยวค้นหากัณหาและชาลีในป่าถึงสามรอบจนกระทั่งหมดกำลังและและสิ้นสติ แสดงให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่นางมีต่อลูก

๒. ผู้ที่จะปรารถนาสิ่งต่างๆ อันยิ่งใหญ่จะต้องทำด้วยความอดทนและเสียสละอันยิ่งใหญ่

พระเวสสันดรทรงปรารถนาโพธิญาณต้องทรงบำเพ็ญทานบารมีซึ่งถือเป็นทานอันสูงส่ง พระองค์จำต้องตัดความอาลัยที่มีต่อกัณหาชาลีและพระนางมัทรีลง แม้ว่าในพระทัยของพระองค์นั้นจะเจ็บปวดและเป็นห่วงลูก จึงต้องอดทนแสร้งทำเป็นตัดพ้อคร่ำครวญต่อพระนางมัทรี

…(นนุ มทฺทิ) ดูกรนางนาฏ พระน้องรัก (ภทฺเท) เจ้าผู้มีพักตร์อันผุดผ่องเสมือนหนึ่งเอาน้ำทองเข้ามาทาบทับประเทืองผิว ราวกะว่าจะลอยลิ่วเลื่อนลงจากฟ้า ใครได้เห็นเป็นขวัญตาเต็มหลงละลายทุกข์ ปลุกเปลื้องอารมณ์ชายให้เชยชื่น จะนั่งนอนเดินยืนก็ต้องอย่าง (วราโรหา) พร้อมด้วยเบญจางคจริตรูปจำเริญโฉมประโลมโลกล่อแหลมวิไลลักษณ์ (ราชปุตฺตี) ประกอบไปด้วยเชื้อศักดิ์สมมุติวงศ์พงศ์กษัตรา เออเมื่อเช้าจะเข้าป่าน่า สงสารปานประหนึ่งว่าจะไปมิได้ ทำร้องไห้ฝากลูกมิรู้แล้ว ครั้นคลาดแคล้วเคลื่อนคล้อยเข้าสู่ดง ปานประหนึ่งว่าจะหลงลืมลูกสละผัวต่อมัวมืดจึ่งกลับมา ทำเป็นบีบน้ำตาตีอกว่าลูกหาย ใครจะไม่รู้แยบคายความคิดหญิง ถ้าแม้นเจ้าอาลัยอยู่ด้วยลูกจริงๆ เหมือนวาจาก็จะรีบกลับมาแต่วี่วันไม่ทันรอน เออ…นี่เที่ยวพเนจรนอนตามสนุกใจ ชมนกชมไม้ในไพรวันสารพันที่จะมี ทั้งฤๅษีสิทธิ์วิทยาธรคนธรรพ์เทพารักษ์ผู้มีพักตร์อันเจริญ เห็นแล้วก็น่าเพลิดเพลินไม่เมินได้ หรือเจ้าปะผลไม้ประหลาดรสสดสุกทรามเสวยไม่เคยกิน เจ้าฉวยชิมชอบลิ้นก็หลงอยู่จึงช้า…

๓. ความซื่อสัตย์ของสามีภรรยาทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุข

พระนางมัทรีมีความจงรักภักดีต่อพระเวสสันดรมาก พระเวสสันดรแสร้งกล่าวบริภาษว่าพระนางลอบคบชายอื่นทำให้พระนางน้อยพระทัยแต่ก็ไม่ถือโกรธและยังได้ชี้แจงสาเหตุที่กลับมาช้า ดังว่า

…พระคุณเอ่ยจะคิดดูมั่งเป็นไรเล่า ว่ามัทรีนี้เป็นข้าเก่าแต่ก่อนมา ดั่งเงาตามพระบาทาก็เหมือนกัน นอกกว่านั้นที่แน่นอนคือนางไหนอันสนิทชิดใช้แต่ก่อนกาล ยังจะติดตามพระราชสมภารมาบ้างละหรือ ได้แต่มัทรีที่แสนดื้อผู้เดียวดอก ไม้รู้จักปลิ้นปลอกพลิกไพล่เอาตัวหนี มัทรีสัตยาสวามิภักดิ์รักผัวเพียงบิดาก็ว่าได้ถึงจะยากเย็นเข็ญใจก็ตามกรรม (วนมูลผล หาริยา) อุตสาหะตระตรากตระตรำเตร็ดเตร่หาผลาผลไม้ ถึงที่ไหนจะรกเรี้ยวก็ซอกซอนอุตส่าห์เที่ยวไม่ถอยหลังจนเนื้อหนังข่วนขาดเป็นริ้วรอยโลหิตไหลย้อยทุกหย่อมหนาม อารามจะใคร่ได้ผลาผลไม้มาปฏิบัติลูกบำรุงผัว ถึงกระไรจะคุ้มตัวก็ทั้งยากน่าหลากใจ อกของใครจะอาภัพยับพิกลเหมือนอกของมัทรีไม่มีเนตร น่าที่จะสงสารสังเวชโปรดปรานีว่ามัทรีนี้เป็นเพื่อนยากอยู่จริงๆ ช่างค้อนติงปริภาษณาได้ลงคอไม่คิดเลย…

นอกจากนี้นางได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระเวสสันดรแม้ว่าจะมีความทุกข์หมดอาลัยตายอยากในชีวิตที่ไม่พบกัณหาและชาลีก็ตาม ดังว่า

…ครั้นลูกหายทั้งสองคนก็สิ้นคิด บังคมทูลสามีก็มิได้ตรัสปรานีแต่สักนิดสักหน่อยหนึ่ง ท้าวเธอก็ขังขึงตึงพระองค์ ดูเหมือนทรงพระขัดเคืองเต็มเดือดด้วยอันใด นางก็เศร้าสร้อยสลดพระทัยดั่งเอาเหล็กแดงมาแทงใจให้เจ็บจิตนี่เหลือทน อุปมาเหมือนคนไข้หนักแล้วมิหนำยังแพทย์เอายาพิษมาวางซ้ำให้เวทนา เห็นชีวานี้คงจะไม่รอดไปสักกี่วัน พระคุณเอ่ยเมื่อแกจากไอศวรรย์มาอยู่ดงก็ปลงจิตมิได้คิดจิตเป็นสอง หวังว่าจะเป็นเกือกทองฉลองบาทยุคลทั้งคู่แห่งพระคุณผัว กว่าจะ สิ้นบุญตัวตายตามไปเมืองผี อนิจจาเอ่ยวาสนามัทรีไม่สมคะเนแล้ว พระทูลกระหม่อมแก้วจึ่งชิงชังไม่พูดจา ทั้งลูกรักดั่งแก้วตาก็หายไป อกเอ๋ยจะอยู่ไปไยให้ทนเวทนา อุปมาเสมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ย่อมจะอาสัญลงเพราะลูกเป็นแท้เที่ยง ถ้าแม้นพระองค์ไม่ทรงเลี้ยงมัทรีไว้ จะนิ่งมัธยัสถ์ตัดเยื่อใยไม่โปรดบ้าง ก็จะเห็นแต่เลวระร่างซากศพของมัทรี อันโทรมตายกลายกลิ้งอยู่กลางดง เสียเป็นมั่นคงนี้แล้วแล…

๔. ผู้มีปัญญาย่อมแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ดี

พระเวสสันดรทรงมีปฏิภาณไหวพริบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีมาก เมื่อทรงเห็นว่าพระนางมัทรีมีความโศกเศร้าลูกทั้งสองที่หายไปจึงคิดเบี่ยงเบนความคิดและอารมณ์ทุกข์โศกนั้นด้วยการทำเป็นตัดพ้อและหึงหวงนางที่กลับมาถึงอาศรมในเวลาค่ำ ถ้อยคำที่ตัดพ้อและตำหนิพระนางว่า มีมารยาแกล้งทำเป็นไม่อยากจากพระกุมาร ครั้นไปแล้วเที่ยวอ้อยอิ่งแสวงหาความสุขอยู่ในป่า เมื่อได้ฟังคำบริภาษของพระเวสสันดร ความทุกข์โศกของนางก็ลดหายไปทันที ดังที่กวีบรรยายว่า “ที่ความโศกก็เสื่อมสว่างสงบจิตเพราะเจ็บใจ” นับว่าพระเวสสันดรทรงมีสติปัญญาไหวพริบดี รู้วิธีที่จะดับทุกข์ของพระนางมัทรีและสามารถทำได้สำเร็จงดงามเมื่อนางสร่างโศกแล้ว พระเวสสันดรก็ทรงปลอบว่า

…อันสองกุมารนี้พี่ให้ไปเป็นทานแก่พราหมณ์แต่วันวานแล้ว พระน้องแก้วเจ้าอย่าโศกศัลย์ จงตั้งจิตของเจ้านั้นให้โสมนัสศรัทธา ในทางอันก่อกฤดาภินิหารทานบารมี (ลจฺฉาม ปุตฺเต ชีวนฺตา) ถ้าเราทั้งสองนี้ยังมีชีวิตอยู่สืบไป อันสองกุมารนี้ไซร้ก็คงจะได้พบกันเป็นแม่นมั่น…

๕. การบริจาคบุตรทานบารมีเป็นสิ่งที่ยากจะกระทำได้

พระเวสสันดรได้บำเพ็ญบุตรทานบารมีเป็นสิ่งที่ยากที่จะกระทำได้แต่พระองค์มีน้ำพระทัยอันแน่วแน่ที่จะกระทำ พระนางมัทรีเมื่อทราบว่าพระเวสสันดรได้บำเพ็ญทานดังกล่าวนางก็อนุโมทนาด้วย ดังนี้

…มัทรีเอ่ย อันอริยสัตบุรุษเห็นปานดั่งตัวพี่ฉะนี้ ถึงจะมีข้าวสักเท่าใดๆ (ทิสฺวา ยาจกมาคเต) ถ้าเห็นยาจกเข้ามาใกล้ ไหว้วอนขอไม่ย่อท้อในทางทาน จนแต่ชั้นลูกรักยอดสงสารพี่ยังนกให้เป็นทานได้ อันสองกุมารนี้ไซร้เป็นทานพาหิรกะภายนอกไม่อิ่มหนำ พี่จะใคร่ให้อัชฌัติกทานอีกนะเจ้ามัทรี ถ้าแม้นมีบุคคลผู้ใดปรารถนาเนื้อหนังมังสังโลหิตดวงหทัยนัยน์เนตรทั้งซ้ายขวาพี่ก็จะแหวะผ่าให้เป็นทานไม่ย่อท้อถึงเพียงนี้ มัทรีเอ่ย … จงศรัทธาด้วยช่วยอนุโมทนาทานในกาลบัดนี้เถิด…

สมเด็จพระมัทรีทูลสนองพระโองการว่า …พระพุทธเจ้าข้า แต่วันวานนี้เหตุไฉนจึงไม่แจ้ง ยุบลสารให้ทราบเกล้า ท้าวเธอจึ่งตรัสเล่าว่าพระน้องเอ่ย พี่จะเล่าให้เจ้าฟังก็สุดใจ ด้วยเจ้ามาแต่ป่า ไกล ยังเหนื่อยนัก พี่เห็นว่าความร้อนความรักจะรุกอก ด้วยสองดรุณทารกเป็นเพื่อนไร้เจ้ามัทรีเอ่ย…จงผ่องใสอย่าสอดแคล้ว อันสองพระลูกแก้วไปไกลเนตร พระนางจึ่งตรัสว่า พระพุทธเจ้าข้าอันสองกุมารนี้ เกล้ากระหม่อมฉานได้อุตส่าห์ถนอม ย่อมพยาบาลบำรุงมา ขออนุโมทนาด้วยปิยบุตรทานบารมี ขอให้น้ำพระหฤทัยพระองค์จงผ่องแผ้ว อย่ามีมัจฉริยธรรมอกุศล อย่ามาปะปนในน้ำพระทัยของพระองค์เลย ท้าวเธอจึ่งตรัสว่าพระน้องเอ่ย ถ้าพี่มิได้ให้ด้วยเลื่อมใสศรัทธาแล้ว ที่ไหนเลยแผ่นดินจะกัมปนาทหวาดหวั่นไหวจลาจล ท้าวเธอเล่านุสนธิ์มหัศจรรย์ อันมีอยู่ในกัณฑ์กุมารบรรพกลับมาเล่าให้พระมัทรีฟังแต่ในกาลหนหลังนี้แล้วแล…

(สา มทฺที) ส่วนสมเด็จพระมัทรีศรีสุนทรบวรราชธิดามหาสมมุติวงศ์วิสุทธิสืบสันดานมา (วราโรหา) ทรงพระพักตร์ผิวผ่องดุจเนื้อทองไม่เทียมสี (ยสสฺสินี) มีเกียรติยศอันโอฬารล้ำเลิศวิไลลักษณ์ยอดกษัตริย์อันทรงพระศรัทธาโสมนัสนบนิ้วประนมน้อมพระเศียรเคารพทานท้าวเธอก็ชื่นบานบริสุทธิ์ด้วยปิยบุตรมิ่งมกุฎทานอันพิเศษ ฝ่ายฝูงอมรเทเวศทุกวิมานมาศมนเทียรทุกหมู่ไม้ ก็ยิ้มแย้มพระโอษฐ์ตบพระหัตถ์อยู่ฉาดฉาน ร้องสาธุการสรรเสริญเจริญทานบารมี ทั้งสมเด็จอมรินทร์เจ้าฟ้าสุราลัยอันเป็นใหญ่ดาวดึงส์สวรรค์ ก็มาโปรยปรายทิพยบุปผากรอง ทั้งพวงแก้วและพวงทองก็โรยร่วง จากกลีบเมฆกระทำสักการบูชาแก่สมเด็จนางพระยามัทรี ท้าวเธอทรงกระทำอนุโมทนาทาน (เวสฺสนฺตรสฺส) แห่งพระเวสสันดรราชฤๅษีผู้เป็นภัสดา (อิติ เมาะ อิมินา ปกาเรน) ด้วยประการดังนี้แล้วแล… 

ตัวอย่าง ร่ายยาวมหา เวสสันดร ชาดก กัณฑ์ มั ท รี

คุณค่าด้านวรรณศิลป์ที่ปรากฏในร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี

๑. การใช้ธรรมชาติเปรียบกับความทุกข์โศกของพระนางมัทรี

เนื้อหากัณฑ์มัทรีนี้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับพระนางมัทรีอย่างชัดเจน สภาพธรรมชาติที่แตกต่างไปจากปกติ แสดงให้เห็นว่าเป็นลางบอกเหตุแก่พระนางมัทรีว่าจะเกิดเรื่องร้ายๆ ขึ้น ดังว่า

“…เหตุไฉนไม้ที่มีผลเป็นพุ่มพวง ก็กลับกลายเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร แถวโน้มก็แก้วเกดพิกุลแกมกับกาหลง ถัดนั่นก็สายหยุดประยงค์และยมโดย พระพายก็พัดร่วงโรยรายดอกลงมูนมอง แม่ยังได้เก็บเอาดอกมาร้อยกรองไปฝากลูกเมื่อวันวาน ก็เพี้ยนผิดพิสดารเป็นพวงผลผิดวิกลแต่ก่อนมา (สพฺพามุยฺหนฺติ เม ทิสา) ทั้งแปดทิศก็มืดมนทุกหนแห่ง ทั้งขอบฟ้าก็ดาษแดงเป็นสายเลือดไม่วนนวายหายเหือดเป็นลางร้ายไปรอบข้าง…” และ

“…โอ พระอาศรมเจ้าเอ๋ยน่าอัศจรรย์ใจ แต่ก่อนดูนี่สุกใสด้วยสีทอง เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขัน ทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร โอ…เหตุไฉนเหงาเงียบเมื่อยามนี้ ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสหมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก เออ ชะรอยว่าพระเจ้าลูกจะวิโยคพลัดพรากไปจากอกพระมารดาเสียจริงแล้วกระมังในครั้งนี้…”

ลักษณะธรรมชาติมีอารมณ์ร่วมทุกข์ในตัวละครมักปรากฏในวรรณคดีไทยถือเป็นกลวิธีการแต่งประการหนึ่งที่เน้นย้ำความทุกข์และความเศร้าโศรกของตัวละครหรืออการที่ตัวละครใช้ธรรมชาติเป็นที่ระบายความทุกข์ เช่น

“…จึ่งตรัสว่าน้ำเอ๋ยเคยมาเปี่ยมขอบเป็นไรจึ่งขอดข้นลงขุ่นหมองพระพายเจ้าเอ๋ยเคยมาพัดต้องกลีบอุบล พากกลิ่นสุคนธ์ขจรรสมารวยรื่นเป็นไรจึ่งเสื่อมหอมหายชื่นไม่เฉื่อยฉ่ำฝูงปลาเอ๋ยเคยมาผุดคล่ำดำแฝงฟองบ้างก็ขึ้นล่องว่ายเลื่อนชมแสงเดือนอยู่พราย ๆ เป็นไรจึ่งไม่ว่ายเวียน นกเจ้าเอ๋ยเคยบินลงไล่จิกเหยื่อทุกเวลา วันนี้แปลกเปล่าตาแม่แลไม่เห็น…”

. การเล่นเสียง

๒.๑ การเล่นเสียงสัมผัสพยัญชนะเสียงเดียวกันต่อๆ กันหลายคำ เช่น

“ ก็กลายเป็นดอกดวงเดียรดาษอนาถเนตร”

“ สะดุ้งพระทัยไหวหวาดวะหวีดวิ่งวนแวะเข้าข้างทาง พระทรวงนางสั่นระรัวริกเต้นดั่งตีปลา”

“ พระองค์เห็นพิรุธร่องรอยร้าวรานที่ตรงไหน ทอดพระเนตรสังเกตไว้แต่ปางก่อนจึงเคือง ค่อนด้วยคำหยาบยอกใจเจ็บจิตเหลือกำลัง”

“ พระพายรำเพยพัดมาฉิวเฉื่อย เรไรระรี่เรื่อยร้องอยู่หริ่งๆ”

“ ครั้นจะลีลาหลีกตัดเดาไปทางใดก็เหลือเดิน ทั้งสองข้างเป็นโขดเขินขอบคันขึ้นกั้นไว้”

๒.๒ การเล่นเสียงสัมผัสสระ ที่เป็นเสียงเสนาะอันเกิดจากการเล่นเสียงสระ เช่น

“ นางก็ถึงวิสัญญีสลบลงตรงหน้าฉาน ปานประหนึ่งว่าพุ่มฉัตรทองอันต้องสายอัสนีฟาดระเนนเอนก็ล้มลงตรงหน้าพระที่นั่งเจ้า นั้นแล”

๒.๓ การเล่นทั้งเสียงสัมผัสพยัญชนะและสระ เช่น

“ แม่ยังกลับหลังมาโลมลูบจูบกระหม่อมจอมเกล้าทั้งสองเรา”

“ เจ้าเคยเคียงเรียงเคียงหมอนนอนแนบข้างทุกราตรี”

“ โอ้แม่อุ้มท้องประคองเคียงเลี้ยงเจ้ามาก็หมายมั่น”

๓. การเล่นคำ

มีการเล่นคำที่เรียกว่า “สะบัดสะบิ้ง” ซึ่งจะคำแบ่งคำออกเป็นสองกลุ่มเท่าๆ กัน แล้วซ้ำคำเดียวกันที่มีเสียงสระสั้นในพยางค์หน้า ส่วนพยางค์หลังเล่นเสียงพยัญชนะเดียวกันแต่ต่างเสียงสระกัน ก่อให้เกิดจังหวะคำที่ไพเราะ เช่น คำว่า“สะอึกสะอื้น” ในข้อความว่า “พระนางยิ่งหมองศรีโศกกำสรดสะอึกสะอื้น” และคำว่า “ตระตรากตระตรำ” ในข้อความว่า “อุตสาหะตระตรากตระตรำเตร็ดเตร่หาผลาผลไม้” และการเล่นคำซ้ำดังนี้

“…ควรจะสงสารเอ่ยด้วยต้นหว้าใหญ่ใกล้อาราม งามด้วยกิ่งก้านประกวดกัน ใบชอุ่มเป็นชุ่มช่อเป็นฉัตรชั้นดั่งฉัตรทอง แสงพระจันทร์ดิ้นส่องต้องน้ำค้างที่ขังให้ไหลลงหยดย้อย เหมือนหนึ่งน้ำพลอยพร้อยๆ อยู่พรายๆ … พระพายรำเพยพัดมาฉิวเรื่อย เรไรระรี่เรื่อยร้องอยู่หริ่งๆ”

๔. การใช้ภาพพจน์

ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์มัทรีเป็นกัณฑ์ที่มีความไพเราะเป็นอย่างยิ่งอีกทั้งการใช้ถ้อยคำสละสลวยทำให้ผู้อ่านเกิดจินตภาพด้วยการเลือกสรรความเรียงลักษณะต่างๆ โดยสื่อผ่านภาพพจน์ในหลายลักษณะ คือ

๔.๑ การใช้ภาพพจน์แบบอุปมา เป็นการเปรียบเทียบสิ่งหนึ่งว่าเหมือนอีกสิ่งหนึ่ง เช่น

เปรียบเทียบพระทัยเต้นระทึกของพระนางมัทรีกับกายอันสั่นรัวของปลาที่ถูกตี ดังปรากฏในเนื้อความว่า “พระทรวงนางสั่นระริกดั่งตีปลา” เปรียบความเจ็บปวดพระทัยของนางมัทรีที่พระเวสสันดรไม่ยอมตรัสตอบว่าราวกับถูกแทงด้วยเหล็กเผาไห หรือมิเช่นนั้นก็ราวกับแพทย์เอายาพิษให้คนไข้ที่มีอาการหนักอยู่แล้วกิน ทำให้อาการทรุดเพียบหนักลงไปอีก ซึ่งคงจะรอดชีวิตได้ยาก ดังปรากฏในเนื้อความว่า “นางก็เศร้าสร้อยสลดพระทัยดั่งเอาเหล็กแดงมาแทงใจให้เจ็บจิตนี่เหลือทน อุปมาเหมือนคนไข้หนักมิหนำยังแพทย์เอายาพิษมาวางซ้ำให้เวทนา เห็นชีวานี้คงจะไปไม่รอดสักกี่วัน”

“…พ่อชาลีเจ้าเลือกเอาผลไม้ แม่กัณหาฉะอ้อนวอนไหว้จะเสวยนม ผทมเหนือพระเพลาพลางฉอเลาะแม่นี้ต่างๆ ตามประสาทารกเจริญใจ (วจฺฉา พาลาว มาตรํ) มีอุปไมยเสมือนหนึ่งลูกทรายทรามคะนอง”

“…โหยสำเนียงดั่งเสียงสังคีตขับประโคมไพร โอ เหตุไฉนเหงาเงียบเมื่อยามนี้ ทั้งอาศรมก็หมองศรีเสมือนหนึ่งว่าจะเศร้าโศก”

“…ทั้งลูกรักดั่งแก้วตาก็หายไป อกเอ๋ยจะอยู่ไปไยให้ทนเวทนา อุปมาเสมือนหนึ่งพฤกษาลดาวัลย์ย่อมจะอาสัญลงเพราะลูกเป็นเที่ยงแท้…”

๔.๒ การใช้ภาพพจน์แบบอุปลักษณ์เป็นการเปรียบว่าอีกสิ่งหนึ่ง “เป็น” หรือ “คือ” อีกสิ่งหนึ่ง เช่น

“หวังว่าจะเป็นเกือกทองฉลองบาทยุคลทั้งคู่แห่งพระคุณผัว”

“ก็น้ำใจของมัทรีนี้กตเวทีเป็นไม้เท้าก้าวเข้าสู่ทางทดแทน”

๔.๓ การใช้ภาพพจน์แบบสัทพจน์เป็นการเลียนเสียง

นอกจากนี้ยังมีการใช้สัทพจน์หรือคำเลียนเสียง ทำให้ข้อความมีชีวิตชีวานิ่งขึ้น เช่น

“แต่ย่างเหยียบเกรียบกรอบก็เหลียวหลัง”

“สมเด็จอรไทเธอเที่ยวตะโกนกู่กู๋ก้อง”

“เสียงนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขันทั้งจักจั่นพรรณลองไนเรไรร้องอยู่หริ่งๆ ระเรื่อยโรย”

๔.๔ การใช้ภาพพจน์แบบบุคลวัต เป็นการใช้ภาพพจน์ที่มีชีวิตที่มิใช่มนุษย์และสิ่งไม่มีชีวิต ทำกิริยาอาการเลียนแบบมนุษย์ เช่น

“ได้ยินแต่เสียงดุเหว่าละเมอร้องก้องพนาเวศ”

“ทั้งพื้นป่าพระหิมพานต์ก็ผิดผันหวั่นไหวอยู่วิงเวียน”

“เสียงเนื้อนกนี่ร่ำร้องสำราญรังเรียกคู่คูขยับขัน”

บทเพลงที่ใช้ประกอบการเทศน์มหาชาติแต่ละกัณฑ์

๑. จบกัณฑ์ทศพร บรรเลงเพลงสาธุการ ประกอบกิริยาน้อมรับพรของพระนางผุสดี

๒. จบกัณฑ์หิมพานต์ บรรเลงเพลงตวงพระธาตุ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ เพื่อมุ่งประกอบกิริยาที่พระเวสสันดรทรงบริจาคทานตามเนื้อเรื่อง

๓. จบทานกัณฑ์ บรรเลงเพลงพญาโศก เพื่อประกอบกิริยาโศกสลดรันทดใจที่พระเวสสันดรถูกเนรเทศออกจากเมือง

๔. จบกัณฑ์วนปเวสน์ บรรเลงเพลงพระยาเดิน ประกอบกิริยาเดินของพระเวสสันดร พระนางมัทรีและพระกัณหาชาลี

๕. จบกัณฑ์ชูชก บรรเลงเพลงเซ่นเหล้า ประกอบกิริยากินอันตะกละตะกลามของชูชก บางวงใช้เพลงค้างคาวกินกล้วยประกอบความทุพพลภาพของชูชก

๖. จบกัณฑ์จุลพน บรรเลงเพลงรัวสามลา ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์แสดงการขู่ขวัญของนายาพรานเจตบุตรที่แสดงแก่ชูชก บางวงใช้แพลงคุกพาทย์ ประกอบกิริยาเช่นเดียวกัน แต่เป็นเพลงระดับชั้นสูงกว่า

๗. จบกัณฑ์มหาพน บรรเลงเพลงเชิดกลอง ประกอบกิริยาเดินอย่างเร่งรีบของชูชก

๘. จบกัณฑ์กุมาร บรรเลงเพลงโอด เชิดฉิ่ง คือบรรเลงเพลงโอดสลับกับเพลงเชิดฉิ่ง ประกอบกิริยาที่ชูชกเฆี่ยนตีกัณหาชาลีขณะเดินทางไป

๙. จบกัณฑ์มัทรี บรรเลงเพลงทยอยโอด ประกอบกิริยาคร่ำครวญของพระนางมัทรี

๑๐. จบกัณฑ์สักกบรรพ บรรเลงเพลงเหาะ หรืออาจเป็นเพลงกลม ซึ่งอาจเป็นเพลงกลม ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ทั้งสองเพลง ประกอบกิริยาเหาะลงมาของพระอินทร์ บางวงบรรเลงเพลงกระบองกัน ประกอบการแปลงตังของพระอินทร์

๑๑. จบกัณฑ์มหาราช บรรเลงเพลงกราวนอก ประกอบการยกพลของพระเจ้ากรุงสญชัย บางวงบรรเลงเพลง เรื่องทำขวัญ ประกบตอนทำขวัญพระกัณหาชาลี

๑๒. จบกัณฑ์ฉกษัตริย์ บรรเลงเพลงตระนอน ประกอบเรื่องกษัตริย์ทั้งหก ประทับแรมบริเวณอาศรม

๑๓. จบกัณฑ์นครกัณฑ์ บรรเลงเพลงกลองโยน ประกอบการยกขบวนพยุหยาตราอัญเชิญพระเวสสันดรกลับพระนคร

การตกแต่งสถานที่ที่จะมีเทศน์มหาชาติทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานศิลปะหลายสาขา อาทิ งานหัตถศิลป์และงานจิตรกรรม การตกแต่งศาลาที่จะมีการเทศน์มหาชาตินั้นมักทำให้มีบรรยากาศครึกครื้น มีการประดับประดาด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และราชวัตรฉัตรธง ให้มีบรรยากาศเหมือนเขาวงกต มีการตกแต่งบูชาด้วยเครื่องแกวลายคราม โลหะเงินทอง ดอกไม้เครื่องผูก ตามประทีปโคมไฟ และที่สำคัญมีฉากประจำกัณฑ์ เขียนเป็นรูปภาพแสดงเรื่องในกัณฑ์นั้นๆ แขวนไว้ด้วย

การเทศน์มหาชาติ

เทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้นๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐินผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูเหมันต์ นิยมจัดเป็นงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกอันวันหนึ่ง

วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควรแล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดกตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด ๑๓ กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปี่พาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่งๆ ตลอดทั้ง ๑๓ กัณฑ์ด้วย

วันรุ่งขึ้น ทำบุญเลี้ยงพระอีก แล้วมีเทศน์จตุราริยสัจจกถาในระหว่งเพล จบแล้วเลี้ยงพระเพลเป็นอันเสร็จพิธี

ระเบียบพิธีในการเทศน์มหาชาติ นิยมกันเป็นหลักใหญ่ๆ ดังนี้

๑) ตกแต่งบริเวณพิธีให้มีบรรยากาศคล้ายอยู่ในบริเวณป่า ตามท้องเรื่องเวสสันดรชาดกโดยนำเอาต้นกล้วย ต้นอ้อย และกิ่งไม้มาผูกตามเสาและบริเวณรอบๆ ธรรมมาสน์ ประดับธงทิว และราชวัติ ฉัตร ตามสมควร

๒) ตั้งขันสาครใหญ่ หรือจะอ่างใหญ่ที่สมควรก็ได้ใส่สะอาดเต็ม สำหรับปักธูปเทียนประจำกัณฑ์ ในระหว่างที่พระเทศน์ น้ำในภาชนะที่ตั้งนี้เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ถือว่าเป็นน้ำพุทธมนต์ที่สำคัญ ภาชนะใส่น่ำนี้ตั้งหน้าธรรมมาสน์ กลางบริเวณพิธี

๓) เตรียมเทียนเล็กๆ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม แล้วนับแยกจำนวนเป็นมัด มัดหนึ่งมีจำนวนเท่าคาถาของกัณฑ์หนึ่ง แล้วทำเครื่องหมายให้ทราบว่าเป็นมัดไหนสำหรับบูชาคาถากัณฑ์ใด เมื่อถึงคราวเทศน์กัณฑ์นั้นก็จะเอาเทียนมัดนั้นมาจุดบูชาติรอบๆ ภาชนะน้ำต่อกันไปจนจบฑ์ให้หมดพอดี ครบ ๑๓ กัณฑ์ถ้วนจำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เท่าจำนวนคาถา บางแหงนิยมทำธงเล็กๆ ๑,๐๐๐ คัน แบ่งจำนวนเท่าคาถาประจำกัณฑ์ แบ่งจำนวนเท่าคาถาประจำกัณฑ์เช่นเทียนอย่า แล้วปักธงบูชาระหว่างกัณฑ์บนหยวกกล้วยเทียน แต่การใช้ธงไม่นิยม เช่น เทียน การจุดเทียนหรือปักธงบูชากัณฑ์ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพผู้รับกัณฑ์นั้นๆ

การเทศน์กัณฑ์เวสสันดร มีวิธีเทศเป็นทำนองโดยเฉพาะ จะต้องได้รับการฝึกอบรมศึกษาจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางนี้เป็นพิเศษ ส่วนการเทศน์จตุราริยสัจจกถา มีระเบียบพิธีอย่างเทศน์ในงานดังกล่าวแล้วข้างต้น

ประเพณีงานเทศน์มหาชาติ

งานเทศน์มหาชาตินี้ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินไปแล้ว อาจทำทำในวันขึ้น ๘ ค่ำ กลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริงแต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า งานบุญผะเหวด ซึ่งที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๘ ก็มี งานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัด บางแห่งนิยมทำกันในเดือน ๑๐ การเทศน์มหาชาตินั้น มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๑๓ กัณฑ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรอันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและออกผนวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประเพณีงานบุญผะเหวดฟังเทศน์มหาชาติ อันเป็นประเพณีอันเก่าแก่ที่มีเรื่องราวเล่าขานและปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณ ยังธำรงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม และประเพณีอันดีงามของชาวอีสานอย่างเช่น จังหวัดร้องเอ็ดหรือสาเกตนครอันยิ่งใหญ่ในอดีต ได้จัดงานบุญผะเหวดให้เป็นงานประเพณีประจำของจังหวัดทุกๆปี

เรื่องการเทศน์มหาชาติที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย

การเทศน์มหาชาติ เป็นประเพณีของไทยมาตั้งแต่โบราณ คือ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนกสินทร์ การเทศน์มหาชาติมีการจัดเป็นประจำทุกปี ในระหว่างเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ หรือเดือน ๑ (เดือนอ้าย) ในปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม มหาชาติหรืเวสสันดรชาดกประกอบด้วยพระคาถาภาษาบาลี จำนวน ๑,๐๐๐ พระคาถา ลักษณะการเทศน์เรียกว่า เทศน์คาถาพัน หรือ เทศน์มหาชาติ

มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ได้มีการแต่งเป็นร่ายยาวด้วยท้วงทำนองอันเพระพริ้ง และการเทศน์แต่ละกัณฑ์ ก็จะมีท่วงทำนองที่แตกต่างกันออกไป เมื่อการเทศน์มหาชาติแต่ละกัณฑ์จบลงก็จะมีปี่พาทย์ประโคมเพลงประจำกัณฑ์รับกัณฑ์เทศน์ด้วย

การเทศน์มหาชาตินั้นเป็นการสั่งสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ รู้จักให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และเป็นการสรรเสริญพระเกียรติคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระนามว่า เวสสันดร ในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ โดยที่พระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา กล่าวคือ ทรงบำเพ็ญทาน พระเวสสันดรทรงรักษาศีล รักษาคำสัตย์ คือ เมื่อพระองค์ตรัสว่าจะพระราชทานสิ่งใดแล้ว พระองค์ก็จะพระราชทานสิ่งนั้นดังที่ตรัสไว้ พระเวสสันดรได้เจริญภาวนาด้วยการเสด็จออกผนวช เจริญภาวนาอยู่ ณ เขาวงกต ทรงสละความเป็นอยู่อย่างกษัตริย์แล้วดำรงพระชนม์ชีพอย่างนักบวช จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่ได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วมีอุปนิสัยจิตใจอ่อนโยน มีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา ยินดีในการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ตามพระจริยาวัตรของพระเวสสันดร นั่นคือ สามารถทำให้ความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นถือมั่น “นั่นเรา นั่นของเรา” ค่อย ๆ เบาบางลง จนกระทั่งหมดสิ้นไปในที่สุด

การเทศน์มหาชาติมีอิทธิพลต่อสังคมไทย ในด้านความเชื่อ คือ เชื่อว่าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จบภายในวันเดียว ผู้นั้นก็จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ

๑. จะเกิดได้ในศาสนาของพระศรีอริเมตไตรยซึ่งจะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

๒. จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ เสวยทิพย์สมบัติอันโอฬาร

๓. จะไม่ไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต

๔. จะเป็นผู้มีลาภ ยศ ไมตรี และความสุข

๕. จำได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน เป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลต่อสังคมไทยในด้านต่าง ๆ เช่น ศีลธรรม จริยธรรม การศึกษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วรรณกรรม จิตรกรรม ตลอดถึงการเมืองการปกครองของไทยอีกด้วย

ตัวอย่าง ร่ายยาวมหา เวสสันดร ชาดก กัณฑ์ มั ท รี

มหาชาติสำนวนต่าง ๆ

เรื่องมหาชาติมีผู้แต่งกันมากและมีหลายสำนวนในแต่ละภาค ทุกสำนวนมีเนื้อหาตรงกัน ต่างกันบ้างเพียงรายละเอียด ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะบางสำนวนที่ดีเด่นของแต่ละภาคโดยใช้ต้ยฉบับต่อไปนี้

มหาชาติสำนวนภาคกลาง ได้แก่ “มหาเวสสันดรชาดกฉบับกระทรวงศึกษาธิการ” สำนวนภาคเหนือ ได้แก่ “มหาชาติสำนวนสร้อยสังกร” สำนวนภาคอสาน ได้แก่ “มหาชาติฉบับอีสานฉบับพิมพ์ของ ส.ธรรมภักดี” ส่วนสำนวนภาคใต้ ได้แก่ “พระมหาชาดก ฉบับวัดมัชฌิมาวาส” จังหวัดสงขลา

คำศัพท์

คำศัพท์

คำอธิบายศัพท์

กระลี เหตุร้าย
กเลวระ ซากศพ
ชี นักบวช ในที่นี้หมายถึงพระเวสสันดร
เต็มเดือด เดือดเต็มที่ หมายถึง โกรธจัด
เถื่อน ป่า
ทรามคะนอง กำลังคะนอง หมายถึง กำลังซน
ทุเรศ ไกล ในความว่า “จากบุรีทุเรศมา”
น่าหลากใจ น่าประหลาดใจ
นิ่งมัธยัสถ์ ประหยัดถ้อยคำ ไม่ยอมพูด
บริจาริกาการ ผู้ที่ทำหน้าที่หญิงรับใช้ ผู้ที่ทำหน้าที่ภรรยา ในที่นี้หมายถึง พระนางมัทรี
ปริภาษณา บริภาษ กล่าวโทษ
พญาพาฬมฤคราช ราชาแห่งสัตว์ร้าย ราชาแห่งสัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร หมายถึง สัตว์ร้ายทั้งสมอันเป็นร่างแปลงของเทพยดาสามองค์ที่แปลงร่างตามคำสั่งของพระอินทร์ที่ให้มาสกัดกั้นพระนางมัทรีไม่ให้ขัดขวางการบำเพ็ญบุตรทานบารมีของพระเวสสันดร สัตว์ร้ายทั้งสาม ได้แก่ พญาไกรสรราชสีห์ พญาเสือโคร่งและพญาเสือเหลือง
พระราชสมการ พระราชาผู้ออกบวช เป็นคำที่พะนางมัทรีเรียกพระเวสสันดร
พร้า มีดขนาดใหญ่
พฤกษาลดาวัลย์ ไม้เลื้อยหรือไม้เถา แต่ในที่นี้หมายถึงไม้ผล ซึ่งอาจหมายถึง ต้นไม้ที่ออกลูกออกผลแล้วตาย เช่น กล้วย หรือหมายถึง ต้นไม้ในป่าที่มักถูกคนเดินทางเอามีดตัดกิ่งหรือรานกิ่งที่มีผลไม้ไป เป็นการทำร้ายต้นไม้นั้น ๆ ทำให้ตายได้ง่าย
พื้นปริมณฑล พื้นที่โดยรอบ ในที่นี้หมายถึง อาณาบริเวณ
มังสัง มังสะ เนื้อ
มัจฉริยธรรม ความตระหนี่
มาเลศ มาลี ดอกไม้
มุจลินท์ สระใหญ่ในป่าหิมพานต์ เป็นที่ที่หงส์อาศัยอยู่ “ปราศจากมุจลินท์” หมายความว่าไปจากสระมุจลินท์
มูนมอง มากมาย
เมิล มองดู
ไม่มีเนตร ไม่มีตา ในที่นี้หมายความว่า ไม่เห็นหนทาง หาทางออกไม่ได้
ยับ พังทลาย ในความว่า “อกของใครจะอาภัพยับพิกลเหมือนอกของมัทรี”
ยุบลสาร ข่าว
ระแนง เรียงราย ในความว่า “ดั่งบุคคลเอาแก้วมาระแนง”
ศิโรเพฐน์ ผ้าโพกศีรษะ ในที่นี้หมายถึงศีรษะ “บ่ายศิโรเพฐน์” คือ เอนศีรษะลง
สองรา สองคน คำว่า “รา” เป็นภาษาถิ่นล้านนา แปลว่า เราทั้งคู่
สัตพิธรัตน์ แก้ว ๗ ประการ ได้แก่ ทอง เงิน มุกดาหาร ทับทิม ไพฑูรย์ เพชร และแก้วประพาฬ
แสรกคาน สาแหรกและคาน ซึ่งเป็นเครื่องหาบ สาแหรกคือเครื่องใส่ของสำหรับหาบ ปกติทำด้วยหวาย ส่วนคานคือไม้คานซึ่งใช้คอนสาแหรกตรงปลายไม้ทั้งสองข้าง
หน่อกษัตริย์ เชื้อสายกษัตริย์ ในที่นี้หมายถึงพระนางมัทรีผู้เป็นพระธิดาของกษัตริย์มัททราช
หน้าฉาน หน้าที่นั่ง ในที่นี้หมายถึงตรงหน้าพระอาศรมที่พระเวสสันดรประทับอยู่
อุฏฐาการ ลุกขึ้น