รีเฟล็กซ์ต่อเนื่อง ตัวอย่าง

พฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด (Inherited behavior ):: เป็นพฤติกรรมแบบง่ายๆ เป็นลักษณะเฉพาะที่ใช้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น แสง เสียง แรงโน้มถ่วงของโลก สารเคมี หรือเหตุการณ์ที่เกิดเป็นช่วงเวลาที่สม่ำสมอ เช่น กลางวัน กลางคืน น้ำขึ้นน้ำลง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงฤดูกาล ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวเพื่อปรับตำแหน่งที่เหมาะสม ความสามารถในการแสดงพฤติกรรมได้มาจากพันธุกรรมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้มาก่อน มีแบบแผนที่แน่นอนเฉพาะตัว สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันจะแสดงลักษณะเหมือนกันหมด

สรุปลักษณะของพฤติกรรมที่มีแต่กำเนิด ได้แก่
1. เป็นนพฤติกรรมง่ายๆที่ตอบบสนองต่อสิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่ง
2. การแสดงพฤติกรรมได้มาจากพันธุกรรมเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้มาก่อน
3. มีแบบแผนที่แน่นอนเฉพาะตัว สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันจะแสดงลักษณะเหมือนกันหมด

ชนิดของพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิด
1. รีเฟล็กซ์ (Reflex)
2. พฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ต่อเนื่อง (Chain of Reflexes) หรือ สัญชาตญาณ (Instinct)
3. ไคนีซีส (Kinesis)
4. แทกซีส (Taxis)

รีเฟล็กซ์ (Reflex)
พฤติกรรมแบบรีเฟลกซ์ ( Reflex ) เป็นพฤติกรรมที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นอย่างรวดเร็วทันทีทันใด พฤติกรรมแบบนี้มีความสำคัญ เพราะช่วยให้สิ่งมีชีวิตรอดพ้นจากอันตรายได้ เช่น
- การกระพริบตาเมื่อผงเข้าตา
- การยกเท้าหนีทันทีเมื่อเหยียบหนาม ของแหลม หรือของร้อน
- การไอ การจาม เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในทางเดินหายใจ

พฤติกรรมแบบรีเฟล็กซ์ต่อเนื่อง (Chain of Reflexes)
เป็นพฤติกรรมที่ประกอบด้วยพฤติกรรมย่อยๆ หลายพฤติกรรมที่เป็นปฏิกิริยารีเฟลกซ์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกัน แต่เดิมใช้คำว่า สัญชาตญาณ ( Instinct ) แต่ในปัจจุบันคำนี้ใช้กันน้อยมากในทางพฤติกรรมเพราะมีความหมายกว้างเกินไป ซึ่งอาจรวมไปถึงพฤติกรรมที่มีมาแต่กำเนิดทุกๆแบบด้วย สัตว์พวกแมลง สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ปีก จะมีพฤติกรรมแบบเด่นชัด เช่น

- การดูดนมของทารก
- การสร้างรังของนกและแมลง
- การชักใยของแมงมุม
- การกินอาหารของสัตว์แต่ละชนิด เช่น การแทะมะพร้าวของกระรอก
- การเกี้ยวพาราสีของสัตว์ต่างๆ
- การฟักไข่และเลี้ยงลูกอ่อนของสัตว์
- การจำศีลและการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์

พฤติกรรมแบบไคนีซิส ( Kinesis ) ::
เป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าด้วยการเคลื่อนที่ทั้งตัวแบบมีทิศทางไม่แน่นอน คือ มีทิศทางที่ไม่สัมพันธ์กับทิศทางของสิ่งเร้า พฤติกรรมแบบนี้มักพบในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ และพวกโพรติสต์ ซึ่งมีหน่วยรับความรู้สึกที่มีประสิทธิภาพไม่ดีพอ เช่น
- การเคลื่อนที่ออกจากบริเวณที่อุณหภูมิสูงของพารามีเซียม
- การเคลื่อนที่หนีฟองแก๊ส CO2 ของพารามีเซียม
- การเคลื่อนที่ของตัวกุ้งเต้นเมื่ออยู่ในความชื้นที่แตกต่างกัน

พฤติกรรมแบบแทกซิส ( Taxis )::
เป็นพฤติกรรมการเคลื่อนที่เข้าหาหรือหนีจากสิ่งเร้าอย่างมีทิศทางที่แน่นอน พฤติกรรมแบบนี้มักพบในสิ่งมีชีวิตที่มีหน่วยรับความรู้สึกที่มีประสิทธิภาพดีพอจะสามารถรับรู้และเปรียบเทียบสิ่งเร้าได้ เช่น
- การเคลื่อนที่เข้าหาแสงสว่างของพลานาเรีย
- การเคลื่อนที่ของหนอนแมลงวันหนีแสง
- การเคลื่อนที่ของแมลงเม่าเข้าหาแสง
- การเคลื่อนที่ของค้างคาวเข้าหาแหล่งอาหารตามเสียงสะท้อน
- การบินเข้าหาผลไม้สุกของแมลงหวี่

พฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ (Learned behavior) เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้โดยอาศัยประสบการณ์หรือการเรียนรู้ของสัตว์ พฤติกรรมแบบส่วนนี้ส่วนใหญ่พบในสัตว์ชั้นสูงที่มีระบบประสาทที่เจริญดี แต่ในสัตว์ชั้นต่ำบางชนิดก็สามารถแสงดพฤติกรรมประเภทนี้ได้ พฤติกรรมประเภทนี้สามารถแบ่งย่อยออกเป็นแบบต่างๆได้ดังนี้

พฤติกรรมการเรียนรู้แบบแฮบบิชูเอชัน ( Habituation ) เป็นพฤติกรรมที่สัตว์หยุดตอบสนองต่อสิ่งเร้าเดิม แม้จะยังได้รับการกระตุ้นอยู่ เนื่องจากสัตว์เรียนรู้แล้วว่าสิ่งเร้านั้นไม่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของตัวเอง เช่น
- การที่นกลดอัตราการบินหนีหุ่นไล่กา
- การเลิกแหงนมองตามเสียงเครื่องบินของสุนัขที่อาศัยอยู่แถวสนามบิน

พฤติกรรมการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข ( Conditioning )
เป็นพฤติกรรมการตอบสนองสิ่งเร้าที่ไม่แท้จริงได้เช่นเดียวกับสิ่งเร้าที่แท้จริง เช่น
- การทดลองของ อีวาน พาฟลอฟ ( Ivan Pavlov ) นักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย เป็นการทดลองว่า สุนัขหลั่งน้ำลายเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่ง (สิ่งเร้าที่ไม่แท้จริง)
1. ก่อนการเรียนรู้ ให้อาหาร (สิ่งเร้าที่แท้จริง) สุนัขน้ำลายไหล
2. ระหว่างการเรียนรู้ ให้อาหาร (สิ่งเร้าที่แท้จริง) สุนัขน้ำลายไหล พร้อมสั่นกระดิ่ง (สิ่งเร้าที่ไม่แท้จริง)
3. หลังการเรียนรู้ สั่นกระดิ่ง (สิ่งเร้าที่ไม่แท้จริง) สุนัขน้ำลายไหล
- การฝึกสัตว์เลี้ยงที่บ้านให้แสนรู้ ฝึกสัตว์ไว้ใช้งาน ฝึกสัตว์แสดงละคร ล้วนมีพื้นฐานมาจากพฤติกรรมการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไขทั้งสิ้น

พฤติกรรมการเรียนรู้แบบฝังใจ ( Imprinting ) เป็นพฤติกรรมที่ตอบสนองสิ่งเร้าในช่วงแรกของชีวิตด้วยการจดจำสิ่งเร้าต่างๆได้ เช่น
- การที่สัตว์ต่างๆ เดินตามแม่ เพราะเป็นสิ่งแรกที่เห็นเมื่อเกิดมาคือแม่
- ตัวอ่อนของแมลงหวี่ที่ฟักออกมาจากไข่จะผูกพักกับกลิ่นของพืชที่แม่แมลงหวี่วางไข่ไว้ และเมื่อโตขึ้นเต็มวัยก็จะมาวางไข่บนพืชชนิดนั้น
- ปลาแซลมอนจะฝังใจต่อกลิ่นที่ได้สัมผัสเมื่อออกจากไข่ เมื่อโตขึ้นถึงช่วงวางไข่ก็จะว่ายทวนน้ำกลับไปวางไข่ยังบริเวณแหล่งน้ำจืดที่เคยฟักออกจากไข่

พฤติกรรมการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก ( Trial and Error )
เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกโดยการให้สัตว์มีการทดลองก่อน โดยไม่รู้ว่าผลดีหรือไม่ ผลของการตอบสนองจะทำให้สัตว์เกิดการเรียนรู้ที่เลือกตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นผลดีหรือพอใจเท่านั้น
- การเดินในทางวกวนไปหาอาหารของหนู และหนูสามารถเดินทางไปหาอาหารและหาทางออกได้ในระยะเวลาอันสั้น หลังจากที่ได้ทดลองเดินมาก่อน
- การเลือกทางเดินของไส้เดือนที่อยู่ในกล่องรูปตัว T โดยมีด้านหนึ่งที่มืดและชื้น กับอีกด้านหนึ่งที่มีกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ซึ่งไส้เดือนที่ผ่านการฝึกมาแล้ว จะสามารถเลือกทางที่ถูกต้องได้ถึงประมาณร้อยละ 90
- เด็กเอามือไปจับยากันยุงที่ร้อน เมื่อเกิดการเรียนรู้จะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก


พฤติกรรมการเรียนรู้แบบใช้เหตุผล ( Reasoning ) เป็นพฤติกรรมที่แสงดออกโดยใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาต่างๆ โดยไม่ต้องทดลองทำ ซึ่งเป็นการใช้ประสบการณ์หลายอย่างในอดีตมาช่วยในการแก้ปัญหาสถานการณ์ใหม่ในครั้งแรก เช่น
- การทดลองของโคเลอร์ ( W. Kohler ) เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของลิงชิมแพนซี
- การใช้เหตุผลของคนในการแก้ปัญหาต่างๆ