การอนุรักษ์พลังงานและ สิ่งแวดล้อม สรุป

เมื่อทุกอย่างบนโลกล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังงาน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากพลังงานหมดโลก? ทุกคนรู้ว่าปัญหาเกี่ยวกับพลังงานสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย แต่เราตระหนักปัญหานี้จริงๆ แล้วหรือยัง?

การอนุรักษ์พลังงานและ สิ่งแวดล้อม สรุป

ปัญหาด้านพลังงานของไทย คือ ผลิตพลังงานได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราจึงต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ส่งผลให้งบประมาณด้านพลังงานสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับมลพิษที่เกิดจากการบริหารจัดการผลิตไม่ถูกวิธี และอีกมากมายที่อยู่รอบตัว ซึ่งส่งสัญญาณเตือนให้เราแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา

พลังงานเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกชีวิต การอนุรักษ์พลังงานจึงเป็นทางหนึ่งที่ “ทุกคน” ควรจะทำ ถึงแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อมีหนึ่งคนทำ ขยายไปเป็นระดับองค์กร ย่อมส่งผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศอย่างแน่นอน

3 เหตุผลที่ต้องใส่ใจการอนุรักษ์พลังงาน

1. ในอนาคตการใช้พลังงานจะมีแต่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ

จำนวนประชากรในประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศปรับตัวดีขึ้นอ้างอิงจากรายงานสถานการณ์พลังงานไทยปี 2561 ทำให้การใช้ การผลิต การนำเข้าพลังงานเกือบทุกประเภทเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากแหล่งน้ำมันสำเร็จรูปและไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานหลัก

การอนุรักษ์พลังงานและ สิ่งแวดล้อม สรุป

จากตารางจะเห็นได้เลยว่าการใช้ การผลิต การนำเข้าพลังงานในขั้นต้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อการใช้พลังงานสูงขึ้นจนไม่เพียงกับความต้องการ จึงต้องนำเข้าเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น นั่นหมายความว่าภาระค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้นตามไปด้วย

ในอนาคตการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่รีบใส่ใจการอนุรักษ์พลังงานในวันนี้ แล้วจะเริ่มต้นวันไหนล่ะ? ​

2. ลดผลกระทบเชิงลบต่อโลก

โลกพัฒนาไปข้างหน้าอย่างมาก แต่สภาพสิ่งแวดล้อมกลับแย่ลง มนุษย์ใช้พลังงานเพื่อความสะดวกสบาย ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นี่คือตัวอย่างผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับโลก

โลกร้อน
อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ทำให้เกิดก๊าซต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เป็นต้น จนกลายเป็นภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) เก็บกักรังสีความร้อนที่สะท้อนออกจากผิวโลก

อากาศเป็นพิษ
การเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของก๊าซพิษในอากาศ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ฝนกรด
ฝนกรดเกิดจากการการเผาไหม้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ ก๊าซหุงต้ม ทำให้เกิดออกไซด์ของไนโตรเจนและกำมะถันกระจายอยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งออกไซด์เหล่านี้สามารถรวมตัวกับไอน้ำในบรรยากาศจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดไนตริกและกรดกำมะถันได้ จึงทำให้ไอน้ำในบรรยากาศมีสภาพเป็นกรดมากกว่าที่ควรจะเป็น

…และยังมีอีกหลายผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เราใส่ใจกับโลกมากขึ้น

3. เพื่อความยั่งยืนในอนาคต ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและผู้คน

ปัญหาขาดแคลนพลังงานดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่จากแนวโน้มการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นทุกปีตามการเติบโตของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ภาวะขาดแคลนพลังงานอาจจะใกล้เข้ามามากกว่าที่คิด เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ที่เราใช้อยู่กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยอัตราการใช้พลังงานแบบทุกวันนี้ อาจจะทำให้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยหมดในอีก 10 ปีข้างหน้า

การอนุรักษ์พลังงานและ สิ่งแวดล้อม สรุป

ปัญหาของทุกคนที่ควรช่วยกันแก้ไขไม่ใช่แค่เรื่องพลังงานที่ลดน้อยลง หรือมลพิษต่างๆ แต่เราควรมองไปข้างหน้าอีกหลายสิบปีว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้คนรุ่นใหม่มีพลังงานใช้ และได้อาศัยอยู่ในโลกที่น่าอยู่ต่อไป

แนวทางการใช้เทคโนโลยีในการอนุรักษ์พลังงาน

เมื่อเราเข้าใจสถานการณ์พลังงาน รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อมาคือ “เราจะทำอย่างไรดีเพื่ออนุรักษ์พลังงาน?” และนี่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน

“การอนุรักษ์พลังงาน” หมายถึง การผลิตและการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยลดปริมาณการใช้พลังงาน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลง นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงได้ด้วย

เราไปดูแนวทางกันว่า ถ้าวันนี้เราอยากช่วยโลกอนุรักษ์พลังงานแล้ว ควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี?

1. ประหยัดการใช้พลังงาน

สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ทันทีคือประหยัดการใช้พลังงาน โดยเริ่มจากความตั้งใจของตนเองก่อน และขยายไปในระดับครัวเรือนและองค์กร ดังนี้

วิธีประหยัดพลังงานสำหรับใช้ในครัวเรือน
1. การออกแบบที่อยู่อาศัย มีผลต่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างมาก บ้านที่ถูกออกแบบให้มีการระบายถ่ายเทอากาศดี และใช้วัสดุที่เหมาะสม ก่อสร้างอย่างประณีต จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานได้ดี
2. เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน สังเกตฉลากเหล่านี้: ฉลากประสิทธิภาพสูง, ฉลากเขียว (Green Label), ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5, Energy star
3. ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือเปลี่ยนกรณีที่ไม่มีประสิทธิภาพ
4. ลดนิสัยที่ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน เราอาจจะไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมบางอย่างที่ทำจนเป็นนิสัยนั้นทำให้เกิดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองไปมากกว่าที่คิด เริ่มต้นเปลี่ยนนิสัยจากลดการเปิดไฟและเครื่องปรับอากาศเมื่อไม่มีคนอยู่ หรือเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ ปิดโทรทัศน์ทุกครั้งโดยไม่ใช้รีโมทปิด และอีกมากมาย
5. ปลูกต้นไม้ ประเภทผลัดใบให้ร่มในบริเวณบ้าน
6. เปรียบเทียบค่าไฟในแต่ละเดือน เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของคนในบ้าน

วิธีประหยัดพลังงานในระดับองค์กร
1. จำกัดการใช้ไฟฟ้าที่ฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นลง เช่น ไฟโฆษณาสินค้า
2. ปิดเครื่องปรับอากาศก่อนเวลาเลิกงาน
3. ลดชั่วโมงการทำงานเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องทำน้ำเย็น พัดลมระบายอากาศ เป็นต้น และหมั่นบำรุงอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ
4. ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม การปรับอุณหภูมิเพิ่มทุกๆ 1 องศาเซลเซียสจะช่วยประหยัดพลังงานประมาณ 10% ของเครื่องปรับอากาศ
5. ปิดไฟในเวลาพักเที่ยงหรือเมื่อเลิกใช้งาน
6. ถอดหลอดไฟบริเวณที่มีความสว่างมากเกินความจำเป็น และตรวจสอบการทำงานทุกๆ 3-6 เดือน

2. เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน

พลังงานทดแทน หมายถึง พลังงานที่สามารถใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิง แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

พลังงานสิ้นเปลือง คือ พลังงานทดแทนที่ใช้แล้วหมดไป ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ นิวเคลียร์ หินน้ำมัน และทรายน้ำมัน เป็นต้น

พลังงานหมุนเวียน คือ พลังงานทดแทนที่ใช้แล้วสามารถหมุนเวียนมาใช้ได้อีก ได้แก่ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล น้ำ และไฮโดรเจน เป็นต้น

จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 1,200 เมกะวัตต์ นอกจากการพัฒนาโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักแล้ว การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่ด้วยก็เป็นอีกทางเลือกที่ควรทำ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อยู่ในกลุ่มแหล่งพลังงานที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วสูงสุด ซึ่งช่วยให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าลดลง

สำหรับการใช้พลังงานทดแทนในระดับครัวเรือนในปัจจุบันอาจทำได้ไม่เต็มที่นัก แต่ยังมีการแก้ไขข้อกฎหมายลายประการเพื่อช่วยเหลือในจุดนี้อยู่ เช่น การเปิดให้ประชาชนใช้งานโซลาร์เซลล์และสามารถขายไฟฟ้าได้ รวมถึงการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วม เป็นต้น

3. ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยจัดการพลังงาน

พลังงานทดแทน อย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม เป็นพลังงานสะอาด และเป็นทางออกที่น่าสนใจเพื่อแก้ปัญหาด้านพลังงาน แต่ข้อเสียของพลังงานทดแทนคือมีราคาสูงและไม่ค่อยมีเสถียรภาพ จึงไม่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานหลักได้อย่างแพร่หลายมากนัก

ทีม ExpresSo จาก ปตท. ซึ่งเป็นทีมที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน เราเข้าใจข้อดีและข้อเสียของพลังงานทดแทน จึงได้เข้าร่วมกับองค์กรด้านพลังงานระดับโลกอย่าง Energy Web Foundation (EWF) อีกทั้งจับมือกับบริษัทเซอร์ทิส (Setris) และ Startup ด้านพลังงาน เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มช่วยบริหารจัดการข้อมูลพลังงาน (Energy Management) ด้วยแนวทางและระบบรูปแบบใหม่ อาทิ เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้ผู้ใช้สามารถประเมินทิศทางการใช้ไฟฟ้าในอนาคตได้อย่างแม่นยำ และรองรับการพัฒนา Smart City ต่อไป

สรุป

พลังงานมีจำกัด ในขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับความต้องการของคนที่ไม่สิ้นสุด สภาวะขาดแคลนพลังงานจึงไม่ใช่เรื่องที่ดูห่างไกลอีกต่อไป

กลับไปที่คำถามแรก “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพลังงานหมดโลก?” แทนที่จะตอบคำถาม ExpresSo เลือกที่จะตั้งคำถามต่อไป “แล้วจะทำอย่างไรให้เรามีพลังงานใช้ในอนาคตอย่างยั่งยืนล่ะ?” และหน้าที่ของเราก็คือค้นหาวิธีการเพื่อแก้ไขปัญหา

“การอนุรักษ์พลังงานคือหน้าที่ของทุกคน”

การที่เราแต่ละคนช่วยกันอนุรักษ์พลังงานอาจจะเหมือนเป็นแค่หยดน้ำเล็กๆ แต่เมื่อหยดน้ำรวมตัวกันสุดท้ายก็สามารถกลายเป็นมหาสมุทรได้ แทนที่จะรอให้ปัญหาพลังงานทวีความรุนแรงขึ้น…จะดีกว่าไหมถ้าวันนี้เราเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา?