ข้อใดเป็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียน

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนมีหัวใจสำคัญ คือ ความมุ่งมั่นยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่านกิจกรรมความร่วมมือที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมุ่งไปสู่การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนขับเคลื่อนโดยการดำเนินการตาม (1) วิสัยทัศน์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปี ค.ศ. 2025 (ASEAN Socio-Cultural Community Vision 2025) ซึ่งมุ่งให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนและประชาชนได้รับประโยชน์ รวมทั้งทุกคนมีส่วนร่วม มีความยั่งยืน แข็งแกร่ง และพลวัตภายในปี ค.ศ. 2025 และ (2) แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปี ค.ศ. 2016-2025 (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint 2016-2025) ซึ่งเป็นทั้งยุทธศาสตร์และกลไกการวางแผนการทำงานของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มีคุณลักษณะ 5 ข้อ ได้แก่ (1) มีปฏิสัมพันธ์และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน (2) ความครอบคลุม (3) ความยั่งยืน (4) ภูมิคุ้มกัน และ (5) มีพลวัต

กรอบความร่วมมือภายใต้เสาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประกอบด้วย 15 สาขา ดังนี้ การศึกษา กีฬา วัฒนธรรมและศิลปะ สารสนเทศ แรงงาน เยาวชน สตรี เด็ก ราชการพลเรือน สวัสดิการสังคมและการพัฒนา การพัฒนาชนบทและการขจัดความยากชน สาธารณสุข การจัดการภัยพิบัติ มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และสิ่งแวดล้อม

ความคืบหน้าในการดำเนินการของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในด้านต่าง ๆ อาทิ

(1) การศึกษา

ความร่วมมือด้านการศึกษามีความคืบหน้าในประเด็นที่สำคัญ อาทิ การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่ตกหล่น ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28-29 ระหว่างวันที่ 6-8 กันยายน ค.ศ. 2016 ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว ได้ให้การรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยเรื่องดังกล่าว (ASEAN Declaration on Strengthening Education for Out-of-School Children and Youth) มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระดับภูมิภาค โดยการพัฒนาโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกันทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งไทยจะผลักดันการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนดังกล่าวในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2562 ต่อไป โดยมีแผนที่จะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว เช่น การประชุมคณะทำงาน และการประชุมนานาชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ อาเซียนได้จัดทำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework: AQRF) ซึ่งเป็นกรอบคุณวุฒิที่เป็นแกนกลางหรือใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงเพื่อการเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิของประเทศสมาชิกหนึ่งกับกรอบคุณวุฒิของอีกประเทศสมาชิกหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนในการเทียบเคียงคุณวุฒิระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติเดิม ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการรับรองคุณวุฒิการศึกษาและคุณวุฒิวิชาชีพของประเทศสมาชิกอาเซียนและเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้เรียน/แรงงานระหว่างประเทศสมาชิก โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศนำร่องตามโครงการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำ นำเสนอ และปรับแก้ข้อมูลของไทยตามเกณฑ์การเทียบเคียงของ AQRF

เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในอาเซียน อาเซียนได้จัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network: AUN) ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีกิจกรรมหลัก อาทิ การให้ทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การเสริมสร้างทักษะและประสบการณ์ตรงให้กับเยาวชน นิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสมาชิก การเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาและระบบการถ่ายโอนหน่วยกิจของอาเซียน โดยไทยจะผลักดันการยกระดับเครือข่ายดังกล่าวให้เป็นกลไกสำคัญของอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2562 ด้วย

(2) วัฒนธรรมและศิลปะ

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศิลปะ และมีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและศิลปะในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในอาเซียนและการส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียน โดยได้มีการจัดทำปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านมรดกทางวัฒนธรรมในอาเซียน (Vientiane Declaration on Reinforcing Cultural Heritage Cooperation in ASEAN) ปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยวัฒนธรรมและศิลปะเพื่อการส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียนสู่ประชาคมอาเซียนที่มีพลวัตและปรองดอง (Bandar Seri Begawan Declaration on Culture and the Arts to Promote ASEAN’s Identity towards a Dynamic and Harmonious ASEAN Community) และล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (AMCA) ครั้งที่ 8 ที่เมืองยอกยาการ์ตา อินโดนีเซีย ได้ให้การรับรองปฏิญญายอกยาการ์ตาว่าด้วยการน้อมรับหลักการวัฒนธรรมแห่งการป้องกันเพื่อเสริมสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (Yokyakarta Declaration on Embracing the Culture of Prevention to Enrich the ASEAN Identity)

นอกจากนี้ ที่ประชุม AMCA ครั้งที่ 8 รับรองข้อเสนอของไทยในการกำหนดให้ปี 2562 เป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Year 2019) และเห็นชอบเอกสารแนวคิดเรื่องปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเสนอให้มีการจัดกิจกรรมเผยแพร่วัฒนธรรมอาเซียนทั้งในประเทศสมาชิกอาเซียนและทั่วโลก ตลอดปี 2562

(3) แรงงาน

ความร่วมมือด้านแรงงานในกรอบอาเซียนมีความคืบหน้าในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน โดยมีการจัดทำเอกสารแนวทางอาเซียนเพื่อความรับผิดชอบทางสังคมด้านแรงงาน (ASEAN Guidelines for Corporate Social Responsibility (CSR) on Labour) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย เพื่อส่งเสริมบทบาทของภาครัฐ วิสาหกิจ ผู้ประกอบการ องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง ในการใช้แนวทาง CSR

สำหรับการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบ มีการทำงานที่มีคุณค่า ได้รับการคุ้มครองแรงงานและสิทธิอันพึงมีพึงได้ของแรงงานอาเซียน มีโอกาสสร้างหลักประกันที่มั่นคงในการดำรงชีวิต นั้น ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28-29 ได้ให้การรับรองปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบเพื่อมุ่งสู่การส่งเสริมงานที่มีคุณค่าในอาเซียน (Vientiane Declaration on Transition from Informal Employment to Formal Employment towards Decent Work Promotion in ASEAN) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการภูมิภาคเพื่อการอนุวัติปฏิญญาดังกล่าว ซึ่งผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนรับทราบในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 27-28 เมษายน ค.ศ. 2018 ที่สิงคโปร์

นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการปรับปรุงชีวอนามัยและความปลอดภัย (occupational safety and health – OSH) ในสถานที่ทำงานในภูมิภาคอาเซียน อาเซียนได้จัดทำเอกสาร ASEAN-OSHNET Initiatives to Implement the ASEAN Labour Ministers’ Statement on Improving Occupational Safety and Health for Sustainable Economic Growth

ในส่วนของการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานต่างด้าว ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในฉันทามติอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิแรงงานต่างด้าว (ASEAN Consensus on the Protection and Promotion of the Rights of Migrant Workers) ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ และต่อมาได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการอนุวัติฉันมามติดังกล่าวด้วย

(4) สวัสดิการสังคมและการพัฒนา

อาเซียนให้ความสำคัญกับการปกป้อง คุ้มครองสิทธิ และการพัฒนาศักยภาพของเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยได้มีการจัดทำดัชนีการพัฒนาเยาวชนอาเซียน ฉบับที่หนึ่ง (First ASEAN Youth Development Index) และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการรับรองดัชนีการพัฒนาเยาวชนอาเซียน (ASEAN Declaration on the Adoption of the ASEAN Youth Development Index) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงมิติหญิงชาย (ASEAN Declaration on the Gender-Responsive Implementation of the ASEAN Community Vision 2025 and Sustainable Development Goals) และถ้อยแถลงร่วมด้านการส่งเสริมสตรี สันติภาพ และความมั่นคงในอาเซียน (Joint Statement on Promoting Women, Peace and Security in ASEAN) เป็นต้น

ล่าสุด ผู้นำประเทศอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 ระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ที่สิงคโปร์ ได้รับรองแผนแม่บทอาเซียน พ.ศ. 2568 เพื่อบูรณาการสิทธิคนพิการ (ASEAN Enabling Master Plan 2025: Mainstreaming the Rights of Persons with Disabilities) เพื่อส่งเสริมการอนุวัติอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการในระดับภูมิภาค เสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีส่วนร่วมสำหรับทุกคน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2562 ไทยมีแผนที่จะจัดตั้งศูนย์อบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ASEAN Traning Centre for Social Work and Social Welfare) ด้วย

(5) สาธารณสุข

สาธารณสุขเป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือที่อาเซียนและไทยให้ความสำคัญ โดยมีความคืบหน้าในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคติดต่อ อาทิ เอดส์ และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 28-29 รับรองแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยความมุ่งมั่นในการยุติเอชไอวีและเอดส์ การตอบสนองต่อเอชไอวีและเอดส์อย่างรวดเร็วและยั่งยืนในการยุติการระบาดของเอดส์ภายในปี 2030 (ASEAN Declaration of Commitment on HIV and AIDS: Fast-Tracking and Sustaining HIV and AIDS Responses To End the AIDS Epidemic by 2030) นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 2016 ไทยริเริ่มจัดการประชุม ASEAN Health Minister’s Special VDO Conference on the Threat of Zika virus in the Region โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ตลอดจนแบ่งปันแนวทางการจัดการกับโรคดังกล่าว ประกอบด้วยการเฝ้าระวัง การป้องกัน การควบคุม และการเตือนภัยระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมและการรับมือในภูมิภาค และได้รับรองแถลงการณ์ร่วม ASEAN Health Minister’s Special Video Conference on the Threat of Zika Virus in the Region ซึ่งระบุแนวทางความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับโรคดังกล่าว

อาเซียนยังมีความร่วมมือด้านสาธารณสุขในประเด็นอื่น ๆ เช่น ภาวะทุพโภชนาการ การดื้อยาต้านจุลชีพ และการจัดการด้านสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ เป็นต้น ซึ่งในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 31 เมื่อวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ณ กรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนรับรองปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ (ASEAN Leaders’ Declaration on Ending all Forms of Malnutrition) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ: การต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้กรอบแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (ASEAN Leaders’ Declaration on Antimicrobial Resistance (AMR): Combating AMR through One Health Approach) และปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการจัดการด้านสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (ASEAN Leaders’ Declaration on Disaster Health Management)

นอกจากนี้ เพื่อรับมือกับการก้าวสู่สังคมสูงวัย ไทยริเริ่มผลักดันความร่วมมือในอาเซียนด้านการสูงวัยอย่างมีศักยภาพ (Active Ageing) โดยเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม (ASEAN Centre for Active Ageing and Innovation: ACAI) ที่กรุงเทพฯ ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ปี 2562

(6) การจัดการภัยพิบัติ

ภูมิภาคอาเซียนเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติจากธรรมชาติมากที่สุดในโลก ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว อาเซียนตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติ โดยได้มีการจัดทำความตกลงอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Diaster Management and Emergency Response: ADDMER) ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค (ASEAN Declaration on ONE ASEAN, ONE RESPONSE: ASEAN Responding to Disasters as One in The Region and Outside The Region) ลงนามโดยผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนในการผนึกกำลังระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการตอบโต้ภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค นอกจากนี้ มีการจัดตั้งกลไกในระดับภูมิภาคเพื่อให้ความช่วยเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยดำเนินการผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Centre)

ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือของอาเซียน ภายใต้โครงการระบบการส่งกำลังบำรุงหรือโลจิสติกส์ของปฏิบัติการด้านการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติของอาเซียน ระยะที่ 2 ที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งจะเป็นหนึ่งในศูนย์อาเซียนที่จะเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนด้วย

(7) สิ่งแวดล้อม

ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในประเด็นที่อาเซียนและไทยให้ความสำคัญ โดยอาเซียนมีความร่วมมือในสาขาย่อยเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง การจัดการสารเคมีและของเสีย สิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน การจัดการทรัพยากรน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสิ่งแวดล้อมศึกษา โดยที่ผ่านมามีความคืบหน้าของความร่วมมือฯ อาทิ การแสดงท่าทีร่วมกันของผู้นำอาเซียนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านการออกแถลงการณ์ร่วมอาเซียนต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการประชุม Special ASEAN Ministerial Meeting on Climate Action (SAMCA) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 2018 ที่สิงคโปร์ เพื่อเป็นเวทีการแบ่งปันแผนปฏิบัติการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป้าหมาย และวิธีการบรรลุเป้าหมาย และการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน การพัฒนาตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอากาศ ด้านน้ำ ด้านขยะและพื้นที่สีเขียว รวมถึงการจัดทำแผนงาน เป็นต้น

ปัจจุบันไทยพยายามผลักดันให้มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการขยะทะเลในกรอบอาเซียนมากยิ่งขึ้น โดยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในเรื่องดังกล่าว เช่น การประชุมเรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Conference on Reducing Marine Debris in ASEAN Region 2017) ระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2017 ที่จังหวัดภูเก็ต และการประชุมเชิงปฏิบัติการอาเซียน-จีนว่าด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลในทะเลจีนใต้ (ASEAN-China Workshop on Marine Environmental Protection in South China Sea) ระหว่างวันที่ 11-13 สิงหาคม ค.ศ. 2018 ที่จังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ ในปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ไทยมีแผนที่จะจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเลที่กรุงเทพฯ ด้วย

(8) เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน

นอกเหนือจากความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมข้างต้นแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) ขึ้น เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือสำหรับเมืองต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอาเซียน โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืนและการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางต่อไป ซึ่งประเทศไทยจะสานต่อเรื่องนี้ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASCN ครั้งที่ 2 และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่ประเทศไทย ในปี 2562