ปัญหาผู้สูงอายุในประเทศไทย 2564

Highlight

  • ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุราวร้อยละ 20-30 และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 28 ในปี 2574
  • ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้สูงอายุราว 1,000 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 โดยในภูมิภาคอาเซียนมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 11 และ 7 ประเทศได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว สิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20
  • การขยายอายุเกษียณช่วยแก้ปัญหาผู้สูงอายุได้ในระยะสั้น และช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้ เช่น สิงคโปร์เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 เป็น 67 ปี เกาหลีใต้จะขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปี ญี่ปุ่นจากเดิมจะให้ผู้สูงอายุทำงานได้ถึง 62 ปี จะขยายถึงอายุ 65 ปี ภายในปี 2568 ขณะที่ไทยอยู่ระหว่างการเพิจารณาขยายอายุเกษียณของแรงงานจาก 55 เป็น 60 ปี

รู้กันแล้วหรือยังว่า … วันนี้เรามีชีวิตอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ และในปี 2565 นี้ ประเทศไทยกำลังย่างก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เปรียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีคนเดินมา 5 คน ในจำนวนนั้นจะเป็นผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 คน และภายในทศวรรษนี้เราจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด !

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ถ้าหากสังคมใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 14 ก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) และสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society) คือ สังคม หรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้สูงอายุราว 1,000 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 โดยในภูมิภาคอาเซียนนั้นพบว่า มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 11 และ 7 ประเทศได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีผู้อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20

ขณะที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาหลายปีแล้ว ข้อมูลประจำปี 2561 พบว่า มีประชากรทั้งหมด 66.4 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10.6 ล้านคน นับเป็นร้อยละ 16.06 (1) ในปี 2562 ประชากรผู้สูงอายุมีมากถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมดจำนวน 69.3 ล้านคน (2)

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยจำนวนผู้สูงอายุจะอยู่ราวร้อยละ 20-30 และที่สำคัญกว่านั้น ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 28 ในปี 2574

ปัญหาผู้สูงอายุในประเทศไทย 2564

การเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับหลายชาติในโลก สาเหตุเพราะคนไทยมีอัตราการเกิดน้อย คุมกำเนิดได้ดี และอายุคนยืนยาวขึ้น กลุ่มคนที่เกิดในช่วง 2506 – 2526 ซึ่งมีอัตราการเกิดมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี เรียกได้ว่า เป็นคลื่นสึนามิประชากรลูกใหญ่ที่จะส่งผลให้ภายใน 20 กว่าปีข้างหน้าผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็นราว 21 ล้านคน (3)

สูงวัย … แล้วยังไง ?

ภาวะสูงวัยนั้นจะมาพร้อมกับความเปราะบางทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ และสังคม ผู้สูงวัยจึงต้องพึ่งพาคนอื่นมากขึ้นในหลายด้าน การที่ครอบครัว คนรอบข้าง สังคม รวมไปถึงรัฐต้องเข้ามาประคับประคองผู้สูงวัยจำเป็นต้องใช้เวลา เงินทอง และทรัพยากรต่าง ๆ มากตามจำนวนผู้สูงวัย ถ้ายิ่งมากก็อาจจะกระทบต่อทั้งด้านส่วนตัวและองค์รวมทางเศรษฐกิจ สังคม และระบบโครงสร้างต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบในระดับบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยแรงงานที่มีภาระดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประเทศไทยมีสัดส่วนของกำลังแรงงาน : ผู้สูงอายุ : เด็ก อยู่ที่ 4 : 1 : 1 คาดว่าในปี 2579 จะปรับลงไปอยู่ที่ 2 : 1 : 1 ผู้สูงอายุที่มีสภาวะขาดเงินออม มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณ และใช้จ่ายในช่วงบั้นปลายชีวิต เป็นข้อจำกัดของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี (4)

เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ขณะที่วัยทำงานเท่าเดิม หรือลดลง ส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น หรือขาดแคลนแรงงานทำให้ต้องพึ่งเครื่องมือเครื่องจักร หรือนำเทคโนโลยี หรืออาจต้องนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

มีการประเมินว่า ครอบครัวผู้สูงอายุจำเป็นต้องประหยัดมากขึ้น ทำให้มีการใช้จ่ายต่ำกว่าปกติ กำลังซื้อในอนาคตจึงลดลง เมื่อวัยสูงอายุ หรือวัยเกษียณขาดรายได้ หรือมีรายได้น้อยลงทำให้มีการออมลดลง วัยทำงานที่ต้องรับภาระมากขึ้นทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ส่งผลให้มีเงินออมน้อยลงเช่นกัน ส่วนรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการมากขึ้นเพื่อบริการสังคม ทางด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ทำให้การลงทุน และการออมของประเทศลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) หรือรายได้ประชาชาติน้อยลง รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลลดลง รวมถึงคุณภาพการผลิตลดลง

เมื่อภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ บริการสังคมแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น ต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้ รวมทั้งยังเก็บภาษีรายได้น้อยลง เพราะผู้สูงอายุซึ่งไม่มีรายได้มีสัดส่วนที่มากขึ้น

สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้อยู่ในวัยทำงานต้องทำงานมากขึ้น และต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจึงอาจขาดความอบอุ่น หรือถูกทอดทิ้ง เกิดปัญหาทางด้านสภาพจิตใจ รวมไปถึงรู้สึกเหงาเมื่อไม่ได้ทำงาน ยิ่งต้องกลายเป็นภาระให้กับลูกหลาน ยิ่งรู้สึกไม่ภูมิใจในตัวเอง น้อยใจ ซึมเศร้า ฯลฯ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุมักมีปัญหาสุขภาพจึงต้องเตรียมสะสมเงินออม หรือวางแผนการลงทุนเพื่อจะได้มีรายได้ หรือเงินสะสมไว้ใช้ในช่วงที่สูงอายุ หรือสามารถนำเงินออมที่สะสมไว้มาใช้ในช่วงบั้นปลายชีวิตได้ (5)

ปัญหาผู้สูงอายุในประเทศไทย 2564

บทเรียนสังคมสูงอายุในต่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศในแถบยุโรปส่วนใหญ่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตามมาด้วยประเทศในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงไทย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นชาติแรก ๆ และมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่มากกว่าร้อยละ 20 และเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยญี่ปุ่นได้เตรียมตัวรับมือมาก่อนแล้ว ขณะที่สิงคโปร์แม้จะเตรียมแผนรับมือไว้ แต่ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการมีบุตรน้อยลง และผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังมากขึ้น ส่วนเกาหลีใต้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่มีแผนรองรับที่เป็นรูปธรรม และผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีฐานะยากจน

การรับมือส่วนหนึ่งคือ การขยายอายุเกษียณซึ่งทำได้ในระยะสั้น อาจไม่แก้ปัญหาถาวร แต่ใช้เพิ่มจำนวนคนวัยทำงานเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจได้ สิงคโปร์เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 เป็น 67 ปี เกาหลีใต้จะขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปี ญี่ปุ่นจากเดิมที่ให้ผู้สูงอายุทำงานได้ถึง 62 ปี จะขยายไปถึงอายุ 65 ปี ภายในปี 2568 ขณะที่ไทยอยู่ระหว่างการเสนอพิจารณาขยายอายุเกษียณของแรงงานในสถานประกอบการจาก 55 เป็น 60 ปี

รัฐบาลสิงคโปร์ให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุให้ทำงานต่อ โดยลูกจ้างต้องเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งไม่ครอบคลุมกลุ่มคนอาชีพอิสระ รัฐยังให้เงินสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เอื้อต่อผู้สูงอายุ ญี่ปุ่นสนับสนุนให้จ้างงานผู้สูงอายุ ช่วยผู้สูงอายุทำงานในช่วงเวลาสั้น ทำงานเบา และง่าย ประเทศไทยเองมีการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

สิ่งที่ควรสนับสนุนคือ ให้มีการนำทักษะ และประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การเพิ่มทักษะและจัดหางานให้เหมาะสม ช่วยเพิ่มความสามารถการหารายได้ และยกระดับผลิตภาพของแรงงานในระยะยาว ซึ่งทั้งญี่ปุ่น และสิงคโปร์ทำทั้งการศึกษาในระบบ และนอกระบบ โดยความร่วมมือจากภาครัฐ และเอกชนตั้งศูนย์พัฒนาทักษะเพิ่มเติมคู่ไปกับการจัดหางานที่เหมาะสมให้ ประเทศไทยเองมีโครงการฝึกอบรมแรงงานสูงอายุเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น และมีการคุ้มครองทางสังคมให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้

นอกจากการวางแผนยกระดับคุณภาพชีวิตโดยภาครัฐวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม โดยเฉพาะรายได้หลังวัยเกษียณ ผ่านการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภาคเอกชนยังมีส่วนช่วยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมีการคิดค้นหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ผู้ดูแลในวัยทำงานได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกวัยใช้ร่วมกันได้ ขณะที่ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างจำกัด ทั้งความห่างไกลของโรงพยาบาล หรือศูนย์บริการทางการแพทย์ การขนส่งเดินทางไม่สะดวก ทำให้เข้าถึงสวัสดิการจากส่วนกลางอย่างลำบาก

สิงคโปร์เริ่มมีแผนนโยบายแห่งชาติรองรับสังคมผู้สูงอายุมานานกว่า 50 ปี มีผู้รับผิดชอบขับเคลื่อนนโยบายระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ให้สอดคล้อง สิ่งที่ไทยต้องพัฒนาต่อคือ ระบบบำนาญที่ยืดหยุ่น และสอดคล้องนโยบายด้านแรงงาน ซึ่งมีผลต่อเนื่องกับการดูแลสวัสดิการ และรักษาพยาบาล แม้ไทยมีนโยบายรองรับบ้างแล้ว แต่ถ้ามีหน่วยงานรับผิดชอบแผน และการดำเนินนโยบายโดยตรงจะช่วยรับมืออย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น (6)

เตรียมรับสึนามิผู้สูงอายุวิถีไทย

ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนจะต้องตั้งรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรสูงอายุ นับเป็นความท้าทายในการจัดสวัสดิการสังคมให้กับผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างที่พึงได้รับ โดยสิ่งที่ภาครัฐต้องเตรียมรองรับคือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ส่งเสริมการแผนการเงิน และสุขภาพหลังเกษียณ สร้างความมั่นคงทางรายได้ไม่ให้เหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างสังคมสูงวัยที่เป็นธรรม และเท่าเทียม จัดสวัสดิการถ้วนหน้า และส่งเสริมอาชีพ

การขยายอายุเกษียณเพื่อเพิ่มจำนวนคนวัยทำงานช่วยบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนให้บริษัทจ้างงานผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุ สนับสนุนให้มีการนำทักษะ และประสบการณ์ของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มทักษะและการจัดหางานให้เหมาะสมกับแรงงาน ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี ดูแล และช่วยเหลือตนเองได้ ส่งเสริมให้มีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เตรียมตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น กรมกิจการผู้สูงอายุก่อตั้งขึ้นในปี 2558 เพื่อดูแลเรื่องสังคมผู้สูงอายุโดยเฉพาะมีพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เพื่อช่วยเหลือ และรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทย (7) มีแนวทางการขยายอายุการทำงาน ตามแผนการกำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเกษียณอายุราชการที่ 63 ปี ในปี 2567

กระทรวงแรงงานได้จัดทำแนวปฏิบัติสำหรับสถานประกอบการที่จ้างงานผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะต้องให้ค่าตอบแทนขั้นต่ำ 45 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาการทำงานต่อวันไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และลักษณะงานต้องปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้สูงอายุ สถานประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายจ้างงานผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และบริษัทเอกชนที่มีนโยบายจ้างงานผู้สูงอายุจะต้องปรับเปลี่ยนลักษณะงาน และระยะเวลาการทำงานให้เหมาะสม (8)

ภาคสังคมและเอกชนอื่น ๆ ก็ขยับตัวที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุถูกก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือจากหลายองค์กร เพื่อให้ความรู้ และช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ และการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น หลายหน่วยงานเอกชนมีนโยบายรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน เพื่อช่วยแก้การขาดแคลนแรงงานจากปัญหาจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

สำหรับการบริหารจัดการบุคลากรผู้สูงอายุในองค์กร รวมถึงการขยายอายุการทำงานโดยการทำสัญญาจ้างพิเศษ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ครบกำหนดอายุงานยังสามารถทำงานต่อไปได้ หรือบางองค์กรอาจจัดการเป็นรายบุคคลด้วยการทำสัญญาจ้างพิเศษเพื่อจัดจ้างพนักงานสูงอายุที่องค์กรอยากให้ร่วมงานกันต่อ

นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะเพิ่มเติมสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีความสามารถหลากหลายด้านจะช่วยเหลืองานบริษัทได้มากขึ้น หรือฝึกทักษะใหม่ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพื่อให้ทำงานอีกส่วนที่เป็นประโยชน์กับองค์กร และเหมาะสมกับแรงงานสูงอายุ รวมทั้งเพิ่มตำแหน่งงานใหม่รองรับพนักงานสูงอายุที่ช่วยเหลือองค์กรมาโดยตลอด การเพิ่มตำแหน่งงานใหม่นี้อาจเพิ่มให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เช่น ให้ผู้สูงอายุกลุ่มที่ใช้แรงงานเปลี่ยนไปทำงานด้านบริการ

การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ และผู้ที่กำลังจะเข้าสู่วัยสูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากแนวคิดพฤฒพลัง (Active Ageing) คือ การมีสุขภาพดี มีหลักประกัน และความมั่นคงในชีวิต รวมถึงมีส่วนร่วม และมีคุณค่าทางสังคม นำไปสู่การเป็นผู้สูงอายุที่ยังคุณประโยชน์ มีความมั่นคงทางรายได้ แก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานของประเทศ และลดภาระพึ่งพิงสวัสดิการจากรัฐได้ (6)

ในแง่การเตรียมตัวจะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทั้งด้านสุขภาพร่างกาย และสุขภาพทางการเงิน โดยไม่ลืมที่จะส่งเสริมการพัฒนาคุณค่าทางสังคม และสร้างกระบวนการการเรียนรู้อย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชากรให้สามารถสร้างรายได้ รวมทั้งให้เกิดการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (9)

สำหรับผู้ที่เตรียมตัวก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต และดูแลสุขภาพของตัวเองมากขึ้น เพราะในอนาคตการไปโรงพยาบาลอาจจะไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยอีกแล้ว (10)

“เกษียณคลาส” สูงวัยสุขภาวะดี

เพื่อเตรียมความพร้อมชีวิต สร้างเสริมสุขภาวะ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้อายุยุคดิจิทัลให้สามารถรับมือสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอนาคต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายยังแฮปปี้ (Young Happy) จัดทำหลักสูตรออนไลน์ “เกษียณคลาส” ซึ่งออกแบบมาให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ได้ตลอดเวลา มอบความรู้ใหม่ ๆ ให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

กษียณคลาสเป็นหลักสูตรที่สนุก เข้าใจง่าย และใช้ได้จริง ประกอบด้วยบทเรียนที่ต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้ เพื่อวางแผนชีวิต 4 มิติ ทั้งการดูแลสุขภาพ การเก็บออมเงิน การมีสังคม และการมีสภาพแวดล้อม รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทักษะการรู้เท่าทันเทคโนโลยี การออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อความปลอดภัย การกิน และออกกำลังกายที่เหมาะสม มีเป้าหมายทำให้ผู้สูงอายุสนุก มีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้

ทุกบทเรียนสอนโดยวิทยากรที่มีประสบการณ์ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยอุปกรณ์มือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ หลังเรียนจบหลักสูตรจะมีใบประกาศนียบัตรมอบให้ สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก “ยังแฮปปี้ YoungHappy” และลงทะเบียนเรียนในเว็บไซต์ learn.younghappy.com (11)

ปัญหาผู้สูงอายุในประเทศไทย 2564

นั่นเพราะไม่มีใครแก่เกินเรียน … และโปรดเข้าใจว่า การย่างก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยไม่เตรียมตัวให้พร้อมนั้น อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงเกินกว่าคาด โดยเฉพาะต่อตัวผู้สูงวัยเอง และผู้ดูแล

อ้างอิง :

(1) (3) (10) https://workpointtoday.com/thai-agingsociety-65/

(2) https://thaitgri.org/?p=39457

(4) https://www.nxpo.or.th/th/8078/ 

(5) https://moneyduck.com/th/articles/535-สังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและเศรษฐกิจในประเทศไทย/

(6) https://themomentum.co/happy-life-aging-society/

(7) https://th.hrnote.asia/tips/190613-aging-society-working/

(8) https://www.nxpo.or.th/th/8078/ 

(9) https://www.thaihealth.or.th/Content/54932-เตรียมพร้อมก้าวสู่สังคมสูงวัย%20อย่างเต็มตัว.html

(11) https://www.thaihealth.or.th/Content/54400-เกษียณคลาส%20ห้องเรียนออนไลน์%20หนุนสูงวัยสุขภาวะดี.html