ข้อใดคือโครงการจัดการปัญหาน้ำท่วม

โครงการแก้ปัญหาอุทกภัยแบบยั่งยืน

            จากวิกฤติน้ำท่วมประเทศไทย ปี 2554 ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากภัยธรรมชาติ หรือสาธารณภัยทุกหน่วยงานต้องหันไปมองที่ต้นเหตุของปัญหา และคำนึงถึงทิศทางในการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันป่าไม้ลดเหลือน้อยลงโดยสาเหตุจากการบุกรุกป่าไม้ การเจริญเติบโตของท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็น อบต.หรือเทศบาล เมื่อมีความเจริญเกิดขึ้นที่ไหนก็จะมีการถมที่ดิน การก่อสร้างอาคารบ้านเรือนโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพธรรมชาติ ทำให้แม่น้ำลำคลอง หนองบึงหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนสภาพ ดังนั้น ผลจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้ทุกจังหวัดเริ่มมีการบูรณาการทำงานแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง มีการขุดลอกลำคลอง หนองบึง ฯลฯ การป้องกันน้ำท่วมจึงกลายเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เริ่มตั้งแต่ภาคประชาชนที่จะต้องช่วยกันปลูกป่า การไม่บุกรุกธรรมชาติ หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำก็ต้องบูรณาการทำงานให้สอดคล้องกัน
            พื้นที่เขตเทศบาลนครยะลา มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่านเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร ทำให้ในอดีตจึงมีน้ำท่วมแทบทุกปี แต่จากการวางแผนและทำการแก้ปัญหาน้ำท่วมของเทศบาลนครยะลามาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาประมาณ 30 ปี ทำให้เรามีคันดินกั้นแม่น้ำปัตตานีตลอดแนวเขตเทศบาล พร้อมกับมีประตูระบายน้ำตามจุดต่างๆ นอกจากนี้ ระบบระบายน้ำที่เป็นคูคลอง ท่อระบายน้ำ รางระบายน้ำ ท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่ใต้ พื้นถนน ก็สามารถเชื่อมต่อกันหมด ส่งผลให้การระบายน้ำในเมืองยะลาเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ยกเว้นกรณีฝนตกหนักมากจริงๆ อาจจะมีน้ำท่วมขังบ้าง แต่ไม่นานนักก็สามารถระบายได้
นับตั้งแต่ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา เข้ามาบริหารงานเทศบาลนครยะลา เป็นเวลากว่า 8 ปี ได้มุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างครบวงจร โดยมีโครงการต่างๆ มากมายเพื่อต่อยอดจากเดิมดังต่อไปนี้
            1. โครงการเสริมคันป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปัตตานี
เพื่อให้มีความคงทนแข็งแรง พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดแนว จากวิทยาลัยอาชีวศึกษายะลา จนถึง บ้านจารู (ตลาดเก่า) โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการตั้งแต่สะพานท่าสาป จนถึงชุมชนจารูพัฒนา (ตลาดเก่า) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในปีนี้ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จะมีการดำเนินการเพิ่มเติม โดยเริ่มจากบริเวณใกล้วิทยาลัยอาชีวศึกษายาวไปจนถึงหลังเรือนจำกลางยะลา และในอนาคตก็จะทำการของบประมาณ จากรัฐบาล เพื่อดำเนินการจากช่วงสามแยกบ้านทนายพงศ์ไปจนถึงสะพานท่าสาปต่อไป เนื่องจากคันดินบริเวณดังกล่าวก่อสร้างมานานแล้วอาจจะทำให้เกิดการรั่วซึม ซึ่งที่ผ่านมาเทศบาลนครยะลาใช้วิธีการสำรวจตรวจสอบตลิ่งทุกปี เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในส่วนที่ถูกกัดเซาะ ดังนั้น หากได้รับงบประมาณมาดำเนินการตลอดแนวก็จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในเขตเทศบาลได้มากขึ้น

            2. โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ
เพื่อระบายน้ำจากเขตเมืองลงสู่แม่น้ำปัตตานี ผ่านประตูระบายน้ำหลัก 3 จุด คือ ปั๊ม A ที่สะพานท่าสาป รองรับน้ำจากคลองอุเทน ปั๊ม B ใกล้ตลาดเมืองใหม่ รองรับน้ำจากคลองตาย และปั๊ม C ที่ตลาดเก่า (บริเวณ บ้านจารู) รองรับน้ำจากคลองแบเมาะ นอกจากนี้ ยังมีประตูน้ำขนาดเล็กเสริมตามจุดต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่จุด C จะเป็นพื้นที่รับน้ำมากที่สุด เพราะนอกจากเป็นจุดรับน้ำในตัวเมืองแล้ว ยังรับน้ำในเขต เทศบาลเมืองสะเตงนอก และเทศบาลตำบลบุดี ซึ่งไหลมาสมทบอีกด้วย ที่ปั้ม C มีประตูระบายน้ำ จำนวน 6 บาน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในจุดนี้ ก็คือ หากน้ำในแม่น้ำปัตตานีมีระดับสูงกว่าระดับน้ำในบึงแบเมาะ ก็จำเป็นจะต้อง ปิดประตูระบายน้ำ แล้วอาศัยเครื่องสูบน้ำแทน ซึ่งเดิมมีเครื่องสูบน้ำอยู่เพียง 4 เครื่องเท่านั้น ประสิทธิภาพในการระบายน้ำเครื่องละ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เวลาใช้งานจริงจะสลับพัก 1 เครื่อง ทำงาน 3 เครื่อง ดังนั้น จึงสามารถระบายน้ำได้เพียง 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในปีนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการติดตั้งเพิ่ม อีก 6 เครื่อง โดยประสิทธิภาพของเครื่องใหม่ จะระบายน้ำได้เครื่องละ 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดเป็น 18 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือได้มากขึ้นกว่าเดิมถึง 6 เท่าตัว คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดีกว่าในอดีตอย่างแน่นอน และก่อนฤดูฝนของทุกปีจะมีการตรวจสอบความพร้อมของประตูระบายน้ำทุกแห่ง และซ่อมแซมอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ
           3. โครงการขุดแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำ
เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการป้องกันน้ำท่วม โดยต้องหาพื้นที่เพื่อเป็นจุดรองรับน้ำก่อนที่จะระบายลงสู่แม่น้ำปัตตานี ซึ่งในปี 2555 ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการขุดลอกแก้มลิงขนาดใหญ่ พื้นที่ 213 ไร่ บริเวณบึงแบเมาะ (ตลาดเก่า) โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ เดือน พฤษภาคม 2555 ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาทในการขุดลอก เพื่อให้ทันกับหน้าฝนและสามารถรองรับน้ำจำนวนมากก่อนที่จะระบายลงสู่แม่น้ำปัตตานีที่บ้านจารูต่อไป และในอนาคตเทศบาลนครยะลาจะทำการของบประมาณเพื่อปรับภูมิทัศน์ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของเมืองยะลา
           4. โครงการก่อสร้างท่อลำเลียงน้ำ (ขนาดใหญ่ใต้พื้นถนน)
เทศบาลนครยะลาได้ดำเนินการก่อสร้างท่อลำเลียงน้ำมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เส้นแรก จากหน้าโรงเรียนรัชตะผ่านถนนเทศบาล 2 ไปออกคลองตายบริเวณท้ายซอยยิ้มจินดา เส้นที่ 2 จากบริเวณถนนผังเมือง 4 ถึงคลองรัชตะ เส้นที่ 3 จากถนนผังเมือง 3 หลังมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา สถาบันการพลศึกษา และถนนธนวิถี เส้นที่ 4 รับน้ำจาก หน้าวัดพุทธภูมิไปยังโรงแรมแกรนด์พาเลซ เส้นที่ 5 จากโรงเรียนคณะราษฎร์ฯ ผ่านถนนพิพิธภักดี ถนนรถไฟออกหลังตลาดสดรถไฟ เส้นที่ 6 จากถนนวิภากุลถึงถนนภูมาชีพ ซึ่งท่อลำเลียงน้ำขนาดใหญ่ จะช่วยไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังตามถนนสายต่างๆ รวมทั้งทำหน้าที่รวมน้ำและแบ่งน้ำไประบายตามจุดต่างๆ ที่เทศบาลเห็นว่าเหมาะสม ในปี 2555 นี้ ได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอีก 18 ล้านบาทเศษ เพื่อก่อสร้างท่อลำเลียงน้ำบริเวณวัดยะลาธรรมาราม และบริเวณตลาดนัดต้นมะพร้าว เพื่อแก้ปัญหาการระบายน้ำบริเวณชุมชนหลังวัดยะลาธรรมารามและพื้นที่ใกล้เคียง จะเห็นได้ว่า ประสิทธิภาพของท่อลำเลียงน้ำผสมผสานกับระบบท่อระบายน้ำ รางระบายน้ำในเขตเทศบาลนครยะลา ตามถนนทุกสาย จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี และตลอดทั้งปีจะมีการขุดลอกทำความสะอาดหมุนเวียนทุกจุด เพื่อไม่ให้มีการอุดตันอีกด้วย
           5. โครงการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือช่วยเหลือกรณีเกิดน้ำท่วม
เทศบาลได้มีการจัดเตรียมหินคลุก กระสอบบรรจุทราย เรือไฟเบอร์ เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ อุปกรณ์เครื่องครัวสำหรับทำอาหารบริการประชาชนในพื้นที่ถูกน้ำท่วม จัดเตรียมอาคารเรียนเพื่อเป็นสถานที่รองรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม มีการจัดซื้อเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่สะสมอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งปัจจุบันมี เครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว จำนวน 7 เครื่อง เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว จำนวน 4 เครื่อง และเครื่องปั่นไฟเคลื่อนที่ รวมทั้งมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหา น้ำท่วมทุกหน่วย
            แต่สิ่งที่เทศบาลนครยะลากังวล และคิดว่าเป็นอุปสรรคอย่างมากในปีนี้ คือ เส้นทางไหลของน้ำจากบริเวณวัดตรีมิตร ชุมชนหมู่บ้านเมืองทอง พื้นที่เขตมัรกัส หลังวัดยะลาธรรมาราม หลังโรงเรียนจีน และชุมชน วิฑูรอุทิศสัมพันธ์ ไปถึงบึงแบเมาะ ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเขตเทศบาลนครยะลา และเทศบาลเมืองสะเตงนอก ซึ่งได้มีการซื้อขาย ถมที่ดิน ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เป็นจำนวนมาก ทำให้การระบายน้ำช่วงดังกล่าวเพื่อลงสู่ บึงแบเมาะเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงได้เชิญพี่น้องประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ร่วมปรึกษาหารือ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว และได้ออกไปสำรวจพื้นที่จริงเพื่อขอเจรจากับเจ้าของที่ดินและ สำรวจแนวลำคลองสาธารณะ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันจะนำมาซึ่ง ความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่