องค์การทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธนาคารโลก

ข้อตกลงของระบบเบรตตัน วูดส์ และกลไกสำคัญ

• ธนาคารโลก

ธนาคารโลกหรือธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรับบทบาทในการบูรณะฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปและญี่ปุ่น ที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก การดำเนินงานในระยะแรกคือปล่อยเงินกู้ให้แก่ประเทศฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์กและลักแซมเบิร์ค โดยนำไปใช้ในการบูรณะสิ่งก่อสร้างที่ถูกทำลาย อันเนื่องมาจากสงคราม นอกจากนี้ยังมีภารกิจในการบูรณะฟื้นฟูประเทศที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น จากภัยธรรมชาติ หรือจากความขัดแย้งในประเทศ ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของธนาคารโลกในระยะแรกของการก่อตั้ง ในระยะต่อมา ธนาคารโลกหันความสนใจไปยังประเทศที่กำลังพัฒนาในปี 1948 นั้น ชิลีเป็นประเทศนอกยุโรปประเทศแรกที่ได้รับเงินกู้จากธนาคารโลก ภารกิจของธนาคารโลกได้รับคือการปรับเปลี่ยนให้มุ่งเป้าหมายไปที่การแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศด้อยพัฒนาด้วย ต่อมาธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา ได้ขยายกิจการในรูปของเครือ เรียกว่า “เครือธนาคารโลก” หรือ World Bank Group เครือธนาคารโลกนับเป็นสถาบันการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นแหล่งเงินกู้และการช่วยเหลือทางเทคนิคที่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ในปี 2010 ธนาคารโลกให้เงินกู้แก่ประเทศสมาชิกต่างๆ นับแต่ก่อตั้งรวมทั้ง 787 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐ

เครือธนาคารโลกหรือ World Bank Group ประกอบไปด้วย

1. ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development : IBRD) ก่อตั้งในปี 1944 ซึ่งมีหน้าที่จัดการด้านธนาคารเกี่ยวกับงานด้านฟื้นฟูและพัฒนา ตลอดจนให้กู้ยืมและให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศยากจนและมีรายได้ปานกลาง

2. บรรษัทเงินลงทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation : IFC) ก่อตั้งในปี 1956 ทำหน้าที่ให้บริการเงินลงทุนแก่ภาคเอกชนและให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการเพื่อส่งเสริมให้มีการลดความยากจนและ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป

3. สมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association : IDA) จัดตั้งในปี 1960 ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สินของประเทศยากจน โดยการให้กู้ชนิดปลอดดอกเบี้ยรวมทั้งบริการอื่น ๆ

4. ศูนย์ระหว่างประเทศเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการลงทุน (International Center for Settlement of Investment Dispute : ICSID) จัดตั้งในปี 1966 ทำหน้าที่ระงับและไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทด้านการลงทุนระหว่างนักลงทุนต่างประเทศกับประเทศที่เข้าไปลงทุน

5. สถาบันค้ำประกับการลงทุนแบบพหุพาคี (Multilateral Investment Guarantee Agency : MIGA) จัดตั้งในปี 1988 ทำหน้าที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศกำลังพัฒนาโดยการให้ประกันแก่ผู้ลงทุนชาวต่างประเทศ รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการด้านข้อมูลและโอกาสการลงทุน 1

องค์การทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธนาคารโลก

1 ทั้ง IFC และ MIGA ไม่ให้กู้ยืมให้กับรัฐบาล แต่ให้กู้ยืมกับเอกชน โดยเฉพาะบรรษัทซึ่งมีธุรกิจอยู่ในประเทศโลกที่สาม ซึ่งรวมไปถึงบริษัทขนาดใหญ่ เช่น เชลล์และโคคา โคลา MIGA ให้เงินกู้เพื่อประกันความเสี่ยงแก่เอกชนที่เกิดขึ้นจากการเมือง ซึ่งอาจจะถูกยึดโดยรัฐบาลประเทศเหล่านั้น หรือถูกยึดจากภาวะสงครามต่างๆ

27 พฤศจิกายน 2561 กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. - คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกได้ให้การรับรองกรอบความร่วมมือระดับประเทศฉบับใหม่สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์สำหรับบทบาทของกลุ่มธนาคารโลกที่จะทำงานร่วมกับประเทศไทยในช่วงปี 2562 - 2565 ซึ่งกรอบความร่วมมือนี้จะสนับสนุนการปฏิรูปของประเทศไทยให้พัฒนาเป็นเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรม เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีส่วนร่วมและมีความยั่งยืน

กรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือร่วมกันระหว่างองค์กรในเครือของกลุ่มธนาคารโลก อาทิ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการ (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) และสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคี (The Multilateral Investment Guarantee Agency: MIGA) กับรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา การเกษตร การสื่อสารโทรคมนาคม โครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาภาครัฐ และการสาธารณสุข

"ในช่วงเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารโลกได้รับเกียรติอย่างสูงในการเป็นพันธมิตรกับประเทศไทย โดยในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมานี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดระดับความยากจน" นางมารา วาร์วิคผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเท ศบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยกล่าว "ความร่วมมือระหว่างเรากับประเทศไทยในช่วงต่อไปนี้จะเน้นความร่วมมือทางด้านความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะคำนึงถึงพลวัตการพัฒนาของประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง โดยประเทศไทยนั้นสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างดีในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีประเด็นท้าทายในระยะต่อไป"

กรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย (2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของประเทศไทย

กลุ่มธนาคารโลกจะให้ความสำคัญกับการให้บริการด้านคำปรึกษาและการวิเคราะห์ที่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายคืนได้หรือสามารถขอรับการสนับสนุนจากกองทุนที่เกี่ยวข้อง และจะยังคงเปิดช่องทางในการให้ความช่วยเหลือด้านการจัดหาเงินทุนในอนาคตหากรัฐบาลไทยมีความต้องการ

"ความร่าวมมือระหว่างประเทศไทยและกลุ่มธนาคารโลกในระยะต่อไปจะเป็นการวางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีส่วนร่วมและมีความยั่งยืน" นางเบอร์กิท ฮานสล์ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยกล่าว “โดยเราจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ด้วยการสร้างงานที่ดี การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อให้เยาชนมีความพร้อมในการทำงานในอนาคต และเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนจนและคนชายขอบจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของประเทศไทย "

บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศจะให้บริการจัดหาเงินทุนและให้คำปรึกษากับภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างมีส่วนร่วมต่อไป โดยสถาบันประกันการลงทุนพหุภาคีจะให้การสนับสนุนการลงทุนที่เป็นไปตามเงื่อนไขด้วยการเพิ่มความน่าเชื่อถือของตราสารและการรับทำประกันความเสี่ยงทางการเมือง

 “บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่งยั่งยืน การสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการมีบทบาทของประเทศไทยในการลงทุนในต่างประเทศและการแบ่งปันความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้กับประเทศและภาคส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือ” นายวิครัม คูมาร์ผู้จัดการบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศประจำประเทศไทยและเมียนมาร์กล่าว “ภายใต้กรอบความร่วมมือใหม่นี้ เราจะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างๆ ในการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาสในประเทศไทยในการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลและลดต้นทุนการให้บริการของภาครัฐ”

กรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้จะเกี่ยวข้องกับการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาในด้านการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม ความมีภูมิคุ้นกัน และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้:

  • การพัฒนาสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจด้วยการส่งเสริมการแข่งขันและใช้นวัตกรรม
  • เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรทางการเงินและการคลัง
  • การเพิ่มคุณภาพของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในภาคการขนส่งทางราง
  • การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากรน้ำ
  • ส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพ
  • สนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเปราะบางและความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

ทั้งนี้ การจัดทำกรอบความร่วมมือระดับประเทศได้มีการการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ และได้แจ้งเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการพัฒนาแล้ว

อัพเดทครั้งล่าสุด: วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561