หมอให้ยุติการตั้งครรภ์ 6 เดือน

จนกระทั่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 หรือวันประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 ฉบับแก้ไขมาตรา 301 และ 305 ที่อนุญาตให้ผู้ตั้งครรภ์เข้ารับบริการทำแท้งที่ปลอดภัยได้โดยไม่มีความผิดภายใต้อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ นับเป็นวันประกาศ ‘ปลดแอก’ สำหรับผู้ครอบครองอวัยวะสืบพันธุ์หญิงชาวไทยทั้งหลาย เมื่อท้ายที่สุดกฎหมายก็อนุญาตให้เราตัดสินใจได้เองว่าจะทำอย่างไรต่อไปในวันที่ร่างกายเกิดตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ขึ้นมา

ในแง่กฎหมาย เสียงของเราเริ่มถูกรับฟัง แม้จะมีข้อกังวลอยู่บ้าง เช่นว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ยัง ‘ไปไม่สุดขอบ’ ที่ยืนยันว่าไม่เห็นชอบให้ยืดอายุครรภ์เป็นไม่เกิน 24 สัปดาห์อย่างที่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีหลายคนพยายามเสนอ และในแง่ความเห็นของมหาชน ก็ยังสัมผัสได้ถึงความคลางแคลงที่จะกำหนดให้การทำแท้งกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย สะท้อนว่าเสียงของผู้ตั้งครรภ์ยังไม่ถูกรับฟังมากพอ

เพื่อยืนยันว่าเสียงของผู้ตั้งครรภ์ควรเป็นเสียงที่มีอำนาจตัดสินใจดังที่สุด เราอยากชวนคุณมาคุยกับ ‘เสียง’ ของผู้หญิงสองคนที่เคยผ่านประสบการณ์ทำแท้ง ทั้งชนิดไม่ปลอดภัยใต้หลืบเงากฎหมายของรัฐ และชนิดปลอดภัยแต่ก็สะบักสะบอมไปกับทัศนคติของบุคคลที่สาม เพื่อยืนยันว่าการทำแท้งปลอดภัยเป็นไปได้ เราเลือกได้ และเราควรค่าที่จะได้รับการเคารพในความเป็นมนุษย์ไม่ต่างไปจากคนอื่นๆ

 

เมื่อฉันเกิดเร็วเกินกว่าประเทศไทยจะมีบริการทำแท้งปลอดภัย

ปัจจุบันจิ๊บ (นามสมมติ) ย่างเข้าวัยเลข 4 ด้วยหน้าที่การงานที่มั่นคงและลูกชายวัยรุ่นอีก 1 คน แต่ย้อนไปเมื่อราว 10-20 ปีที่แล้ว เธอคือเด็กวัยรุ่นที่หัวใจเปี่ยมไปด้วยความรัก จิ๊บตั้งท้องกับแฟนคนแรกเมื่ออายุได้ราว 16 ปี เธอให้เราจินตนาการถึงบริบทสมัยนั้นว่า ‘ไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีสื่อให้ความรู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ไม่มีอะไรเลย มีแต่เด็กอายุ 16 ปีคนหนึ่งที่พยายามจะแก้ปัญหาไปตามแต่จะนึกออก’

“ตอนท้องแรก เด็กที่ไม่เคยท้องมาก่อนมักไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองท้อง

และเมื่อรู้แล้ว พี่ก็ทำทุกอย่างเท่าที่เด็กอายุ 16-17 ปีคนหนึ่ง

จะทำได้เพื่อยุติการตั้งครรภ์”

จิ๊บรู้ตัวว่าตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์เข้าเดือนที่ 7 เธอเล่าว่าตัวเองพยายามซื้อยาสตรีมาดื่ม ต้มยาแผนจีนกิน ซื้อยาทำแท้งเถื่อน ไปติดต่อโรงพยาบาล ขึ้นขาหยั่งบนคลินิกทำเลเปลี่ยว ทำทุกอย่างเท่าที่เคยได้ยินมาว่าจะได้ผล สุดท้ายก็ไม่สามารถทำแท้งได้เนื่องจากอายุครรภ์ขณะนั้นอาจทำให้การยุติการตั้งครรภ์เกิดอันตราย ท้องแรกเธอจึงปล่อยเลยตามเลย และเลิกรากับแฟนคนแรกไป

ผ่านไปหลายปี จิ๊บเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่อย่างระมัดระวัง เธอใช้บทเรียนจากท้องแรกคุมกำเนิดอยู่ฝ่ายเดียวอย่างเคร่งครัด แต่ก็เกิดความผิดพลาดขึ้นอีกหน เธอทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ครั้งที่สองเมื่ออายุ 25 ปี

“ก่อนนี้พี่เคยท้องแล้ว แถมยังเคยอยู่ในสถานที่ที่กำลังจะไปดูดเด็กออกอยู่แล้ว เรามีความรู้สึกของเหตุการณ์แบบนั้นแล้ว อันที่จริงผู้หญิงทุกคนไม่ได้อยากไปอยู่ตรงนั้น ครั้งนี้พี่เลยคุมทุกวิธี ไปซื้อยาคุมมากิน ส่วนผู้ชายไม่ได้คุมหรอก ทีนี้มันท้องขึ้นมา”

ความผิดพลาดจากการคุมกำเนิดทำให้จิ๊บตั้งครรภ์กับเพื่อนสนิทชายรายหนึ่งที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันและมีความสัมพันธ์กันมาหลายปี

“พอพี่บอกว่าท้อง คำแรกที่เขาพูดกับพี่คืออะไรรู้ไหม เขาบอกว่า ‘มีอะไรกันขนาดนี้ยังปล่อยท้องได้อีก’ แค่คำนี้เราก็รู้แล้วว่าพี่ไปต่อไม่ได้ พี่เลยตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์”

 

เราอยากนอนบนเตียงรอคลอด มากกว่านอนตกเลือด

ราวปี 2547 ประเทศไทยยังไม่รับรองการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย แต่อินเทอร์เน็ตก็เริ่มมีอิทธิพลแพร่หลายพอสมควร รวมถึงจิ๊บเองก็ประกอบอาชีพเป็นนักเขียนที่คอยสัมภาษณ์เก็บรวบรวมข้อมูลประเด็นการทำแท้งอยู่พอดี ครั้งนี้เธอจึงมีข้อมูลในมือมากกว่าครั้งแรก

“พี่รู้จักคลินิกแห่งหนึ่ง เป็นคลินิกทั่วไปนี่แหละ เราหาข้อมูลเรื่องการทำแท้งจากอินเทอร์เน็ตบ้าง ในตอนนั้นเริ่มมีโซเชียลกันแล้ว ที่มาของคลินิกนี้ก็มาจากเว็บบอร์ดหนึ่งที่รวบรวมคนที่ต้องการทำแท้งมาคุยกัน ซึ่งมันยังคงเป็นการทำแท้งเถื่อนอยู่ สรุปจ่ายไป 5,000 บาท เขาก็เพียงแต่จ่ายยามาให้เรายัดที่บ้าน”

จิ๊บรับยากลับมาที่บ้านด้วยความรู้สึกว่าแพทย์ไม่ต้องการรับผิดชอบชีวิตเธอมากไปกว่าการยื่นยาให้ทั้งหมด 4 เม็ด เธอกังวลว่าตัวเองอาจตกเลือดหรือเป็นอันตรายเมื่อต้องกลับไปใช้ยาที่บ้านตามลำพัง เพราะแพทย์ไม่ได้อธิบายอะไรกับเธอมากนัก เพียงแต่ให้เธอกินยาเม็ดแรกที่คลินิก และกลับบ้านไปพร้อมยาอีก 3 เม็ดที่เหลือสำหรับสอดในช่องคลอด

ปัจจุบัน แพทย์ผู้จ่ายยาทำแท้งต้องแนะนำคนไข้อย่างเคร่งครัดว่าหากมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดออกมากในระยะเวลาสั้นๆ ให้ติดต่อโรงพยาบาลทันทีเพื่อให้ผู้ทำแท้งปลอดภัยที่สุด แต่ขณะนั้นหมอเพียงบอกกับเธอในวัย 25 ปีว่า เมื่อกลับบ้านให้สอดยา จากนั้นจะมี ‘อาการปวดท้องนิดหน่อย รอให้ซากหลุดออกมาก็เก็บไปทิ้ง’ หมอผู้จ่ายยาไม่ได้บอกอะไรกับเธอมากกว่านี้ เธอจึงวางใจว่าการทำแท้งครั้งแรกในชีวิตคงไม่น่ากลัวเหมือนที่เห็นในละคร จิ๊บสอดยา Cytotec (Misoprostol) เม็ดแรกแล้วออกไปกินข้าวกับเพื่อน

“พอเราไปกินข้าวที่ตลาด โอ้โห เราปวดท้องมากเลย พี่เคยคลอดลูกแล้ว พี่รู้สึกว่าอาการปวดครั้งนี้มากกว่าตอนคลอดอีก ปวดจนเดินไม่ไหวทรุดนั่งกับพื้น เพื่อนต้องหิ้วปีกกลับมาคอนโด มีคนเสนอจะพาเราไปหาหมอ แต่ด้วยความที่เราในขณะนั้นได้รับอิทธิพลจากมายาคติเรื่องการทำแท้ง พี่ไม่อยากบอกใครว่าท้องกับเพื่อนผู้ชายคนนั้น และไม่อยากให้ใครรู้ว่าเราไปทำแท้งมา เลยบอกว่าไม่เป็นไร แค่ปวดท้องเมนส์ธรรมดา เดี๋ยวก็หาย”

เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เพียงพอ

จิ๊บจึงปวดเบ่งและตกเลือดตามลำพังในห้อง

สุดท้ายซากที่สมบูรณ์ราว 24 สัปดาห์ก็หลุดออก

เสียงของจิ๊บขาดห้วงเมื่อระบายความทรงจำครั้งนั้นออกมาถึงสาเหตุที่ตัดสินใจทำแท้ง เธอบอกว่าแม้ในใจจะแน่วแน่ว่าไม่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ แต่การทำแท้งก็ไม่ใช่ประสบการณ์ที่ง่ายสำหรับเธอ เธอทบทวนอยู่คนเดียวว่าพร้อมเลี้ยงเด็กอีกหนึ่งชีวิตหรือไม่ มีเงินพอไหม จะทำงานเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวได้ไหม เมื่อยอมรับว่าตัวเองยังไม่สามารถทำได้ ก็ต้องตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ แต่เมื่อยุติการตั้งครรภ์ เธอก็เข้าไม่ถึงกระบวนการที่ปลอดภัยและโอบรับเธอมากพออยู่ดี

“เราได้รับการปลูกฝังจากหนังสือ ละคร และสื่อต่างๆ ว่าการทำแท้งน่ากลัว และมันจะสร้างความฉิบหายให้ชีวิตเรา ผีเด็กจะมาตามหลอกหลอน ผู้หญิงที่ทำแท้งจะถูกสังคมรังเกียจเหมือนไปฆ่าใครมา ที่บ้านจะด่าเป็นตัวกาลกิณี ณ วันนั้นการทำแท้งยังไม่ถูกกฎหมาย ไม่มีการโปรโมตเรื่องการทำแท้งที่ปลอดภัยหรือถูกวิธี จนถึงวันนี้เราก็ยังสังเกตว่าแทบไม่มีการโปรโมตให้ผู้หญิงทราบเพื่อเข้าถึงสิทธินี้เหมือนเดิม”

 

คีรี 66xx เมื่อร่างกายไม่ใช่ของเรา (คนเดียว) อีกต่อไป

คีรีไม่ใช่ชื่อของเธอ แต่เป็นชื่อสมมติพร้อมรหัสตัวเลขอีก 4 หลักที่เจ้าหน้าที่สายด่วนของรัฐตั้งให้ตามมาตรการปกปิดตัวตนเพื่อความเป็นส่วนตัว

ในปี พ.ศ.2563 คีรีอายุ 24 ปี เธอเพิ่งเรียนจบและเข้าทำงานเป็นปีแรกที่กรุงเทพ คีรีย้ายไปอยู่แฟลตเล็กๆ ร่วมกับแฟนหนุ่มในขณะนั้นได้ราวครึ่งปี ก่อนที่แท่งตรวจปัสสาวะทั้งสองอันจะบอกให้รู้ตรงกันว่าเธอตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

“เรากับแฟนมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีนัก เราทั้งคู่มีปัญหาเรื่องความไว้ใจกันมาก่อนหน้านี้ เราจึงไม่ได้ว่าอะไรเมื่อเขายืนยันทุกครั้งว่าไม่ต้องการป้องกัน ส่วนเรามีอาการข้างเคียงจากการกินยาคุม สุดท้ายเลยเลิกกินไป ใช้วิธีนับวันปลอดภัยตามแอปพลิเคชันนับรอบเดือนแทน มารู้ทีหลังว่าเขาไม่อยากใช้ถุงยางแค่เพราะ ‘ไม่ใช้แล้วรู้สึกดีกว่า’ แต่ก็เป็นการรู้หลังจากเราผ่านการทำแท้งมาแล้ว”

ประจำเดือนของคีรีขาดไปราวหนึ่งเดือน น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาในระยะเวลาสั้นๆ เกือบ 7 กิโลกรัม อาการหิวบ่อยบวกด้วยอาการปวดหลังและปวดเสียดท้องน้อยเป็นระยะ คือสัญญาณแรกที่ทำให้คีรีรู้สึกคล้ายกับว่าตัวเองค่อยๆ สูญเสียร่างกายของตัวเองในยามปกติ รวมถึงสูญเสียอำนาจในการควบคุมร่างกายตัวเองอย่างช้าๆ เธอจึงตัดสินใจตรวจครรภ์

“ประโยคแรกที่แฟนเราตอบกลับมา คือ

แน่ใจแล้วหรือว่าเป็นลูกของเขา จากนั้นพอตั้งสติได้

เขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้เราเก็บเด็กไว้เพราะเขาอายุมากกว่าเรา

“เขาบอกว่าเขาถึงวัยมีครอบครัวแล้ว แต่เมื่อเราทบทวนถึงอายุของเรา หน้าที่การงานเรา รายได้ของเรา หนี้สินของเขา ปฏิกิริยาครอบครัวของเรา เรายืนยันว่าทางที่ดีที่สุดคือการทำแท้งไปก่อน เมื่อพร้อมเราค่อยมาลองกันใหม่อีกครั้ง แต่พอบอกแบบนั้นเขาก็ไม่พอใจมาก”

ต่างจากจิ๊บ คีรีตั้งครรภ์ในวันที่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ไม่ยาก เธอติดต่อกลุ่มรณรงค์สิทธิการทำแท้งเพื่อขอคำปรึกษาจนได้ชื่อโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมา แต่เมื่อติดต่อกลับไป พยาบาลปลายสายกลับบอกว่าเธอไม่เข้าเงื่อนไขที่จะทำได้ เธอติดต่อสายด่วนปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อม 1663 อีกครั้ง สุดท้ายสายด่วนให้ตัวเลือกมาว่าเธอสามารถเข้ารับบริการคลินิกเอกชนในกรุงเทพตามราคาของคลินิกราว 3,000-5,000 บาท หรือเข้ารับบริการจากโรงพยาบาลรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียน้อยมาก แต่อุปสรรคคือ โรงพยาบาลรัฐในกรุงเทพที่เข้าเงื่อนไขนั้นไม่มี ที่ใกล้ที่สุดอยู่ในจังหวัดสิงห์บุรี

 

เราโชคดีที่เข้าถึงบริการปลอดภัย แต่บริการต่างๆ ยังดีได้มากกว่านี้

ปลายปี 2563 คีรี 66xx ฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 1 ปีกับแฟนด้วยการเลือกเดินทางไปยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลสิงห์บุรี ที่นั่น พยาบาลยื่นแบบฟอร์มฉบับหนึ่งให้เธอกรอก อธิบายสั้นๆ ว่าในแบบประเมินคำถาม 9 ข้อ จะเป็นตัวชี้วัดว่าเธอจะได้ทำแท้งหรือไม่ เนื่องจากเธอกำลังใช้ข้อยกเว้นในมาตรา 305 (ฉบับเดิมก่อนแก้ไขและประกาศใช้ในปี 2564) และข้อบังคับแพทยสภาที่อนุญาตให้หญิงมีครรภ์ยุติการตั้งครรภ์ได้หากการตั้งครรภ์นั้นกระทบกับสุขภาพจิตใจเจ้าของครรภ์

“พยาบาลบอกเราสั้นๆ ว่า กรอกแบบประเมินยังไงก็ได้ให้ดูเป็นซึมเศร้า ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแต่อยากทำให้จบปัญหาตรงหน้าไปก่อน แต่ในวันนี้หลังผ่านความทรงจำตอนทำแท้งเรากลับมาทบทวนว่า ถ้าเราได้ทำแท้งเพราะข้อยกเว้นเรื่องสภาพจิตใจ ทำไมไม่มีบริการประเมินอย่างถี่ถ้วนกว่านี้ อย่างน้อยก็ให้เราได้พูดคุยสั้นๆ กับหมอ หรือจัดประเมินติดตามสภาพจิตใจของเราหลังทำแท้ง เพราะไม่ใช่แค่สภาพร่างกายเท่านั้นที่หมอควรดู สภาพจิตใจของเราหลังผ่านเหตุการณ์นั้นก็เปราะบางไม่แพ้กัน”

คีรีกรอกแบบประเมินคืน บรรยากาศในโรงพยาบาลดูพลุกพล่านและน่ากลัวสำหรับคนไม่คุ้นชิน สุดท้ายเธอถูกเรียกเข้าไปในห้องอัลตราซาวด์ ซึ่งหมอหญิงสั่งให้เธอถกเสื้อขึ้นและปลดกระดุมกระโปรงลงต่ำเพื่อเตรียมตรวจสภาพครรภ์โดยไม่ปิดประตูก่อน คีรีพยายามชำเลืองไปทางบุคลากรทางการแพทย์ชายที่ยืนเฉยๆ ในห้องแทนการถามว่าขอให้เขาออกไปก่อนได้หรือไม่ แต่หมอกลับดุให้เธอรีบนอนลงทันทีและช่วยดึงกระโปรงเธอลง

“เรารู้สึกแย่อยู่แล้วเมื่อต้องมาทำแท้ง

และยิ่งรู้สึกแย่ยิ่งกว่าเมื่อสภาพในห้องไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย”

“เราต้องขอร้องให้หมอปิดประตูให้ก่อนตรวจ ทีแรกเราคิดว่าตัวเองคงเรื่องมากไปเอง ที่ไหนก็คงเป็นแบบนี้ทั้งนั้น แต่หลังจากเราทำแท้งแล้วเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เลยไปตรวจเพิ่มเติมที่คลินิกเล็กๆ ใกล้บ้าน โดยไม่ได้บอกว่าเราทำแท้งด้วยยามาก่อน เขาปฏิบัติกับเราอย่างนุ่มนวลมาก ให้เกียรติมากกว่าที่โรงพยาบาลรัฐตรวจเราตอนแรก”

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจเสร็จและหมอลงความเห็นให้ทำแท้งได้ พยาบาลเรียกเธอไปอธิบายวิธีการใช้ยาอย่างถี่ถ้วน มีเอกสารพร้อมเบอร์โทรส่วนตัวของพยาบาลหากฉุกเฉิน เธอถูกกำชับว่าให้กินยาต่อเมื่อมีคนอื่นอยู่ด้วย หรืออยู่ใกล้พอที่จะไปโรงพยาบาลได้หากเกิดตกเลือด และสั่งให้เธอกินยา Mifepristone เม็ดแรกที่โรงพยาบาล ก่อนจะปล่อยเธอกลับไปพร้อมกล่อง Misoprostol อีก 4 เม็ด

คืนถัดมา คีรีแกะยา 4 เม็ดที่เหลือมาอมใต้ลิ้น ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย และเลือดออกทางช่องคลอดเฉียบพลันจากอาการที่ร่างกายบีบขับตัวอ่อนออก (อันเป็นผลข้างเคียงปกติจากการใช้ยา) เธอก็เปลี่ยนจากผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่มีอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ มาเป็นผู้ผ่านประสบการณ์ทำแท้งปลอดภัยด้วยยาจากความช่วยเหลือของโรงพยาบาลรัฐ

“อย่างน้อยเราโชคดีที่รู้ว่าควรทำอย่างไรต่อเมื่อตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เรามีข้อมูลอยู่ในมือ ได้ตัดสินใจอย่างถี่ถ้วนด้วยตัวเอง และเราเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เราได้เข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยโดยไม่ต้องเข้าคลินิกเถื่อน หรือซื้อยากินเอง หรือเสียค่าใช้จ่ายมากนัก เพียงแต่เราก็ยังมองเห็นจุดบกพร่องของการให้บริการอยู่ดีว่าไม่ใช่แค่จ่ายยาแล้วก็จบ แต่รัฐและโรงพยาบาลควรปฏิบัติกับผู้ทำแท้งอย่างเป็นมนุษย์มากกว่านี้”

 

โปรดปฏิบัติกับผู้ทำแท้งด้วยความเป็นมนุษย์

ปัจจุบัน จิ๊บและคีรีคือผู้หญิงธรรมดาสามัญคนหนึ่งในสังคม เธอยังร่าเริง ยิ้มและหัวเราะให้กับวันดีๆ ในชีวิต และพร้อมสบถก่นด่าในวันที่รัฐบาลไม่เคยเห็นหัวประชาชนในรัฐไร้สวัสดิการ วันเวลาที่เพิ่มพูนพิสูจน์แล้วว่าการทำแท้งไม่ได้พรากคุณค่าใดๆ ในตัวเธอออกไป

หลังผ่านประสบการณ์ทำแท้ง จิ๊บพยายามแบ่งปันประสบการณ์ของเธอด้วยการจัดอบรมความรู้ให้กับกลุ่มผู้หญิง ปัจจุบันจิ๊บเป็นอาสาสมัครของกลุ่มทำทาง องค์กรรับฟัง แก้ไขปัญหา และผลักดันนโยบายให้เกิดสิทธิทำแท้งปลอดภัย (ไม่ใช่ ‘ทำแท้งเสรี’) ให้กับผู้ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในประเทศไทย ส่วนคีรีเป็นสมาชิกของกลุ่มเครือข่ายสตรีแห่งหนึ่ง ทั้งสองพยายามส่งเสียงในฐานะผู้เคยผ่านการทำแท้งด้วยประสบการณ์ที่ต่างกัน เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือ ต้องการส่งเสริมให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์สามารถตัดสินใจกำหนดชีวิตตัวเองได้ และสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัย เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ทำแท้ง

“เราเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 301 หรือการขยายอายุครรภ์ที่ทำได้จาก 12 เป็น 24 สัปดาห์ เพราะเราเคยผ่านช่วงเวลาการทำแท้งที่อายุครรภ์ประมาณนั้นเช่นกัน”

“ผู้หญิงที่ต้องการทำแท้งควรได้เลือกวิธีที่มีความปลอดภัยสูงสุด

ให้กับชีวิตของเขาเอง อย่าไปมองแต่ศีลธรรมที่กดทับผู้หญิง

จนมีคนตาย” จิ๊บว่า

“เพราะจากประสบการณ์ที่เราเข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัยโดยรัฐ มันทำเราเกือบตาย วันนี้เราถึงอยากให้มีการทำแท้งที่ปลอดภัยให้ผู้หญิงที่เขาต้องการยุติการตั้งครรภ์ได้เลือกทางออกที่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตของเขา” จิ๊บเสริม

ส่วนคีรียุติการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังไม่มาก เธอยกประโยชน์ให้กับสิทธิพิเศษของตัวเองในการเข้าถึงความรู้และการช่วยเหลือบนอินเทอร์เน็ตได้เร็วกว่าคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เธอทราบดีว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะ ‘รู้ตัวเร็ว’ ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการให้บริการอย่างปราศจากอคติก็เป็นการช่วยให้ผู้หญิงกลุ่มดังกล่าวสามารถตั้งตัวสร้างชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง

“ดีกว่าการบอกว่าอย่าทำแท้งเลย มันบาป แล้วสุดท้ายพอปล่อยให้ผู้หญิงคนนั้นคลอดลูกออกมาในสภาพที่ไม่พร้อมทั้งกายและใจ ในสภาพสังคมที่ไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดีให้แม่และเด็ก หากเด็กโตขึ้นมาในทางร้าย อย่างไรสังคมก็พร้อมจะหันหลังและทอดทิ้งเขาไปอยู่ดี”

คีรีย้ำว่า ไม่ใช่เพียงแต่ต้องรณรงค์ให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมสามารถเข้าถึงสิทธิที่จะทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ต้องสามารถเข้าถึงบริการทำแท้งโดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนไข้ รวมถึงอยากให้สังคมมองคนทำแท้งอย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น เพราะไม่มีใครที่ไหนจงใจทำให้ตัวเองท้องเพื่อมาลองทำแท้งดูเล่นๆ

“คนที่ผ่านประสบการณ์ทำแท้งในสังคมที่เคยกดทับพวกเขามาตลอดย่อมมีความเจ็บปวดในการพยายามก้าวผ่านความทรงจำครั้งนั้นไปอยู่แล้ว” คีรีว่า “อย่าให้ปฏิกิริยาของบุคลากรทางการแพทย์หรือความคิดเห็นของคนแปลกหน้าบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มความเจ็บปวดให้พวกเธออีกเลย”

ทั้งนี้ การทำแท้งถูกกำหนดไว้ว่าเป็น ‘สิทธิมนุษยชน’ ในสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนหลายประเทศ ซึ่งรัฐต้องรับประกันให้มีบริการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย มีคุณภาพ เข้าถึงได้สะดวกทั้งในแง่ขั้นตอนและค่าใช้จ่าย โดยต้องขจัดอุปสรรคต่างๆ ในการให้บริการออกไป เช่น การให้มีบุคคลที่สามเซ็นรับรองในเอกสาร (ปัจจุบันของไทยยังให้บุคคลที่สามเซ็นเป็นพยานรับรอง) หรือการให้คำปรึกษาอย่างมีอคติ เนื่องจากการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยจะช่วยลดเปอร์เซ็นต์เสียชีวิตของผู้หญิงอีกมาก เช่น ผู้ที่ทดลองซื้อยาทางอินเทอร์เน็ตมากินเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ผู้ที่ไปใช้บริการคลินิกเถื่อน เป็นต้น*