สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

'ส่องสมรรถนะ' ผู้บริหาร ร.ร. "ล้าสมัย ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงยุค 4.0"

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

เสวนากับบรรณาธิการ 11 กันยายน 2564

มูลนิธิเอเชีย 'ส่องสมรรถนะ' ผู้บริหารสถานศึกษา

เชิงพฤติกรรม! ล้าสมัย ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงยุค 4.0

วิชเทพ ฦาชาฤทธิ์ : บรรณาธิการ

EDUNEWSsiam.com

[email protected]

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

 

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

   ❝...เราจะเห็นว่าทุกวันนี้ สื่อและช่องทางข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และการที่ระบบการศึกษาที่มีผู้บริหารไม่ปรับตัว เท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาตนเอง ทับถมบ่มสร้างความเสียเปรียบและความด้อยทางสติปัญญาให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ ซึ่งประเมินค่าไม่ได้กับความเสียเปรียบในด้านต่าง ๆ รวมทั้งโอกาสที่สูญเสียไป...❞

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

ย้อนพลิกไปดูแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ หน้า ๓๐๕-๓๐๘ ระบุชัดเจนถึง การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องรับไปดำเนินการเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ 

สอดรับกับบทสรุปของการศึกษาและวิจัย ที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ที่มี ศ.กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา เป็นประธาน ได้เสนอรายงานผล แนะแนวคิดและแนวทางในการปฏิรูปหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน โดยวางน้ำหนักไปที่การมุ่งเน้นพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นของผู้เรียนทุกระดับ ให้เป็นผู้มีความรู้ ทักษะและใฝ่เรียนรู้ มีทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่

ปักหมุดหมายชัด ก็เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก มุ่งสู่เป้าหมายไทยแลนด์ ๔.๐  รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป็นพลเมีองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ

แน่นอนจะเห็นว่า บทสรุป กอปศ.ได้วางน้ำหนักสำคัญโยงไปถึงความคิดที่จะสร้างฐานสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ของครู/อาจารย์ ให้ครบเครื่องในเรื่องการออกแบบการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จิตวิทยาการเรียนรู้ สื่อ และการใช้เทคโนโลยีสื่อ เพื่อให้มีการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยผ่านการพัฒนาการคิดชั้นสูงเชิงระบบตามสภาพจริง ที่เข้าไปเกาะเกี่ยวกับวิชาชีพและความเป็นครูอีกด้วย

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

ยิ่งไปกว่านั้น ยังลงไปถึงผู้บริหารสถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษา อาทิ ศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ ต้องเข้าสู่การพัฒนา เพื่อให้ได้รับการยอมรับถึงภาวะผู้นำทางวิชาการอย่างแท้จริง ทั้งในการบริหาร งานวิชาการ และการนิเทศการจัดการเรียนรู้ด้านหลักสูตร การจัดกิจกรรม สื่อและเทคโนโลยี มีจิตวิทยาในการสร้างขวัญกำลังใจและมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการร่วมมีอกับบุคคล หน่วยงานและชุมชน

เนื่องจาก มีหลายงานวิจัยระบุว่า ระบบการจัดการศึกษาในช่วงที่ผ่านมาโดยรวม ตัวผู้เรียนมีคุณภาพในระดับตํ่า โดยเฉพาะการด้อยความสามารถเชิงสมรรถนะ

คือ ผู้เรียนไม่สามารถนำความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่มีไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

สิ่งที่ประจักษ์ คือ ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน 0-NET โดย สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ระบุ ผู้เรียนมีผลการทดสอบตํ่ามาก ตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยในทุกสาระการเรียนรู้ มีแนวโน้มตํ่าลงทุกปี

แม้ผลการสอบ PISA ก็ยังตํ่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ๑๕ ปี ไม่ได้มาตรฐานสากล ระดับความสามารถของนักเรียนเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ อยู่ในระดับตํ่ามาก เมื่อเทียบกับนานาชาติ พบว่า นักเรียนไทยร้อยละ ๔๖.๗๕: ที่มีผลการศึกษาตํ่า และมีเพียงร้อยละ ๐.๔๖ เท่านั้นที่มีผลการศึกษาในระดับสูง

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

จนมีการค่อนแคะเปรียบเปรยให้ได้ยินได้ฟังกันในทำนอง ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หัวโต ตัวลีบ คือ มีการเรียนรู้ที่ขาดความสมดุล เน้นทางด้านสติปัญญาความรู้ แต่ขาดการพัฒนาในด้านอื่น ๆ  รู้ธรรมะ แต่ไม่มีธรรมะ ปฏิบัติตามสิ่งที่รู้ไม่ได้  เรียนแบบนกแก้วนกขุนทอง จดจำความรู้ เข้าใจในระดับผิวเผิน ไม่รู้ลึก ไม่รู้จริง ทำให้ ไม่สามารถนำความรู้ใปประยุกต์ใช้ในการทำงานและการแก้ปัญหาต่าง ๆ 

ประชดประชันกันแบบสุด ๆ ที่ว่า เก่งแบบเป็ด คือ ไม่เก่ง ไม่เชี่ยวชาญอะไรสักอย่าง ไม่รู้จักตนเอง เรียนเพื่อสอบ คือ เรียนเพื่อให้ได้เกรดหรือให้สอบผ่าน ๆ ไป  เรียนแบบตัวใครตัวมัน ไม่แคร์ไม่สนที่จะเรียนรู้ในระบบ เพราะไม่เห็นคุณค่าของการเรียน การเรียนไม่มีความหมายต่อตนเอง ต่อชีวิตของตน

ซึ่งความจริงแล้ว ความด้อยคุณภาพของนักเรียนในภาพรวมจนเป็นที่มีของคำเรียบเปรย ดังกล่าว จะไปโยนให้เป็นความรับผิดชอบของครูเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ต้องพิจารณาถึงตัวแปรอื่น ๆ ที่มีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อทั้งครูและผู้เรียนอีกจำนวนมากด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีสัญญาณรบกวนมาถึงปัญหาผู้บริหาร อันควรถูกกล่าวถึงมิใช่น้อย ในฐานะบุคลสำคัญสูงสุดในสถานศึกษานั้น ๆ

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

อ้างอิงจาก ผลงานวิจัยของมูลนิธิเอเชีย (The Asia Foundation) เรื่อง ความท้าทายสู่คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย จากกลุ่มตัวอย่างที่เก็บจาก ผอ.ร.ร.ในกรุงเทพมหานคร และในภูมิภาค ยืนยันชัดว่า ผอ.โรงเรียน หรือผู้บริหาร ร.ร.ของ สพฐ. แม้จะมีหลักการ มีแนวคิด แต่ยังขาดความเป็นผู้นำทางวิชาการที่ชัดเจน

หากหยิบยกผลการวิจัยจำนวนมากที่พบได้ทั่วไป ส่วนใหญ่บ่งชี้ตรงกันว่า คุณลักษณะตลอดสมรรถนะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา คือ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียนมากที่สุด คือ การยอมรับทั้งในเชิงวิชาการและเชิงบริหารจัดการ ความโดดเด่น บุคลิกภาพความน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่เพียงให้กับครูผู้สอนและบุคลากรทุกฝ่ายในสถานศึกษาหรือนักเรียนเท่านั้น ชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการสถานศึกษาก็เช่นกัน

การวิเคราะห์ทบทวนภารกิจในการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก จากผู้บริหารสถานศึกษาวันนี้ ยังต้องพิจารณาถึงสมรรถนะและความสามารถใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ เป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมได้อย่างสร้างสรรค์

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

โดยหัวใจหลัก คือ การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดในการพัฒนาคุณภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะในระดับที่สามารถผลิตงานได้ในที่สุด

แต่น่าเสียดายว่า จากแนวปฏิบัติที่ผ่านมาพบว่า ไม่เพียงหลักสูตรการพัฒนาคุณลักษณะของผู้บริหารค่อนข้างล้าสมัย ไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังละเลยต่อการสร้างเสริมสมรรถนะให้ผู้บริหารมีขีดความสามารถตามมาตรฐานที่ควรเป็น

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

 ❝ เนื่องจากกิจกรรมการพัฒนาผู้บริหารศธ.หรือหน่วยงานราชการจัดขึ้น ส่วนมากให้น้ำหนักของการสังสรรค์เชิงสังคม มากกว่าการพัฒนาศักยภาพบุคคลให้มีขีดสมรรถนะในการจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เนื่องจากไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการติดตามผลแล้ว ยังละเลยต่อการคิดสร้างเครื่องมือในการประเมินคุณลักษณะที่บ่งชี้ถึงระดับประสิทธิภาพของผู้บริหารนั้นอีกด้วย ❞

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564
  

ว่าไปแล้ว คงจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษามิใช่น้อยที่ผ่านกระบวนการพัฒนาในระบบเดิม จะมีคุณลักษณะที่เหมาะสม สามารถบริหารจัดการสถานศึกษาให้อยู่ในระดับแนวหน้าได้ หากยังปล่อยให้ดำรงสภาพเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เท่ากับเป็นการหยุดนิ่งท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ มิติ

จึงไม่แปลก ที่การศึกษาไทยในปัจจุบันแม้จะผ่านปฏิรูปการศึกษามาถึง 3 ทศวรรษแล้ว ยังคงพบว่า การศึกษายังมุ่งเน้นการฝึกพัฒนาด้านความรู้ให้กับผู้เรียนเป็นส่วนใหญ่ และระบบการศึกษาที่ยังให้ความสำคัญต่อความรู้และรายวิชาที่ล้าสมัย นักเรียนต่างถูกยัดเยียดให้เรียนรู้ในชุดความรู้เดิม ๆ ที่สั่งสมสืบต่อกันมา ส่งผลให้นักเรียนต้องแบกตำรา เรียนรู้และจดจำมากกว่าการแสวงหาวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

ทั้งนี้อาจเนื่องจากความคุ้นชินกับปฏิบัติการขานรับ ตอบสนองอำนาจสั่งการจากส่วนกลาง ส่งผลให้ขาดวิสัยทัศน์ ไร้ ภาวะผู้นำ ไม่ได้คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลง หรือคิดอ่านรับมือกับแนวโน้มทางเทคโนโลยี ที่กำลังส่งผลโดยตรงต่อโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่กำลังคืบคลานเข้ามาสู่วิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้ในชั่วข้ามคืน

เห็นได้ชัดเจนว่าการเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า-19 กำลังส่งผลกระทบโดยตรงครั้งใหญ่ต่อการจัดการศึกษาขณะนี้ ทั้งการเปลี่ยนจุดเน้นต่อการสอนเพื่อรู้ เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต การใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ทุกเวลาทุกสถานที่  สร้างในการเป็นผู้ผลิตจนถึงกระบวนการคิดสร้างนวัตกรรม

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกวันนี้ สื่อและช่องทางข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน และการที่ระบบการศึกษาที่มีผู้บริหารไม่ปรับตัว ไม่เปิดรับความคิดต่าง เท่ากับเป็นการปิดหูปิดตาตนเอง ทับถมบ่มสร้างความเสียเปรียบและความด้อยทางสติปัญญาให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติ ซึ่งประเมินค่าไม่ได้กับความเสียเปรียบในด้านต่าง ๆ รวมทั้งโอกาสที่สูญเสียไป 

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

 ❝...อาจกล่าวได้ว่า ทรัพยากรของ ศธ.ทุกวันนี้ถูกใช้อย่างไม่มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลข่าวสารไม่คมชัด ไร้เอกภาพ สร้างความสับสนแก่ผู้รับสาร ...❞

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

เนื่องจากขาดระบบการจัดการผลผลิต ผู้บริหารระดับสูงใน ศธ.และในพื้นที่การศึกษาที่เน้นแต่การออกประเมินภารกิจตามนโยบายส่วนกลาง แต่ขาดมิติของการทบทวนผลการปฏิบัติงานเชิงพื้นที่ ย่อมส่งผลให้การบริหารราชการ รวมทั้งระบบการศึกษา ขาดประสิทธิภาพและพัฒนากำลังคนที่ไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

และหากพิจารณาบริบทของประเทศในภาพรวมจะพบว่า ประเทศไทยมีปัญหาหลายประการ ที่ทำให้ไม่เกิดความสุขสงบในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ การละเลยและการไม่สนใจปฏิบัติตามกฎหมาย การแสวงหาอำนาจในทางที่ไม่ชอบ

ดังนั้น หากประเทศมี ครู อาจารย์ ที่มีสมรรถนะในด้านการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับผู้เรียนและบริบทของท้องถิ่น และมีผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษาที่มีสมรรถนะในการบริหารงานการจัดการเรียนรู้ การนิเทศ การสร้างระบบนิเวศ การเรียนรู้ที่ปลอดภัยและส่งเสริมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถกำหนดเส้นทางและจังหวะก้าวการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อพัฒนาสมรรถนะแบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง ย่อมเรียนรู้อย่างมีความสุขและพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ 

ก็เห็นจะต้องเป็นงานหนักของ ศธ.ที่ต้องปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารยุคใหม่ให้มีสมรรถนะในการบริหารทางวิชาการ ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้บริหารที่ยังมีประสบการณ์ไม่ถึง หรือยังไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง จะทำอย่างไรให้เหมาะสมและสามารถบริหารโรงเรียนได้  

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่า มีผู้บริหารสถานศึกษาส่วนหนึ่งยังมีความเข้าใจว่า คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และเข้าใจว่าการที่นักเรียนไปประกวดได้รับรางวัลนั้น คือ ผลงานทางวิชาการของโรงเรียน  ซึ่งทาง กอปศ.ระบุว่า ความจริงแล้วผลงานทางวิชาการไม่ใช่เรื่องของโอเน็ต หรือการได้รางวัลหรือประกาศ แต่เป็นเรื่องของการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาสภาพแวดล้อมบางอย่างเท่านั้น

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

สุดท้าย สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันผลิตครูทั้งหลาย จะต้องปรับบทบาทการผลิตครูและผู้บริหารที่มีสมรรถนะสูงให้เหมาะกับสังคมยุคใหม่ ครูต้องได้รับการฝึกหัด และ ได้รับการพัฒนา ครูประจำการจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีทักษะการใช้หลักสูตร การจัดการ เรียนรู้ การวัดประเมินผลและการใช้สื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ เช่นกัน

การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมายทั้งใน “เชิงโครงสร้าง” และ “เชิงพฤติกรรม” ดังนั้น การจัดการศึกษาในโลกยุคใหม่ จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องและพร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคต

สมรรถนะผู้บริหารสถานศึกษา 2564

ดังนั้น อย่าพึงคาดหวังว่า จะได้เห็นผลงานในเร็ววันจากคณะกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช....(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ที่นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศธ. ได้ลงนามแต่งตั้งไป เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อให้การปฏิรูปหลักสูตรแกนกลางฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

ตราบใดที่ยังไม่คิดอ่านพัฒนาครู และผู้บริหารสถานศึกษา ให้มีสมรรถนะที่ควรจะเป็นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการเรียนรู้ในยุค 4.0