ปิดหนี้บัตรเครดิต ก่อนขึ้นศาล

สรุปสาระสำคัญจากรายการถามทุกข์ ตอบสุข Special: “รู้กฎหมาย ไร้ปัญหาหนี้” ทำอย่างไรดีเมื่อผิดนัดชำระ โดนฟ้อง และได้รับหมายศาล

จัดโดย noburo Wealth-Being ร่วมกับ ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนับสนุนโดย มูลนิธิสะสางและสร้างสรรค์
วันจันทร์ที่ 18  เมษายน 2565 เวลา 19.00-20.00 น. ทาง Facebook Page : noburo Wealth-Being

วิทยากรโดยทนายความศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– คุณณัฐ จินตพิทักษ์กุล
– คุณพรปวีณ์ อุดมรัตนศิลป์
– คุณณัฐพงศ์ รงค์ทอง

ผู้ดำเนินรายการ คุณธิษณา ธิติศักดิ์สกุล noburo Wealth-Being

 

โครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยศูนย์นิติศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิสะสางและสร้างสรรค์ เนื่องด้วยในสถานการณ์โควิดทำให้หลายคนมีปัญหาเรื่องหนี้สิน โดยไม่รู้ว่าตนมีสิทธิและหน้าที่อย่างไรทั้งก่อนและภายหลังถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาล โดยโครงการนี้เป็นการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำแก่บุคคลทั่วไป และรวมไปถึงนิติบุคคลด้วยซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายนิติกรรมและสัญญา

1. การบวนการดำเนินคดีหลังผิดนัดชำระหนี้ หากหนี้ถึงกำหนดเวลาชำระแล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ จะต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเลยหรือไม่?

เมื่อเกิดหนี้ขึ้น เราซึ่งเป็นลูกหนี้ต้องชำระหนี้ แต่หากเกิดปัญหาว่าภายหลังลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ คือ ไม่มีเงินไปจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว เจ้าหนี้จะยังไม่ฟ้องเป็นคดี เนื่องจากการดำเนินคดีมีค่าใช้จ่ายทั้งค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ตลอดจนต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ

ในทางปฏิบัติแล้ว เมื่อหนี้ถึงกำหนดแล้วลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะส่งหนังสือทวงถามหนี้ (Notice) ไปเตือนลูกหนี้ที่บ้านเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ให้เรียบร้อย โดยหากลูกหนี้ยังดื้อดึงไม่ยอมชำระหนี้อีก เจ้าหนี้ก็จะดำเนินการทางศาลเพื่อบังคับชำระหนี้ต่อไป

ในกรณีที่ลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามหนี้ แต่ก็ไม่มีเงินหรือไม่พร้อมที่จะชำระหนี้อยู่ดี  ลูกหนี้ต้องอย่าเพิกเฉยแต่ให้ติดต่อไปยังเจ้าหนี้ก่อนเพื่อไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ก่อน เช่น ขอผ่อนชำระจากหนี้ 1 แสนบาทพร้อมดอกเบี้ย แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีทำให้ในเวลานี้ลูกหนี้ไม่อาจชำระหนี้ทั้งหมดในงวดเดียวได้ ลูกหนี้อาจร้องขอให้เจ้าหนี้ยินยอมตกลง ให้ลูกหนี้ผ่อนชำระอาจเป็นงวดละ 1 หมื่นบาท พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวน  10 งวดแทน ในทางกฎหมายจะเรียกกระบวนการนี้ว่า “การประนีประนอมยอมความ” เป็นการที่คู่กรณีตกลงยอมผ่อนผันให้กันและกัน

การประนีประนอมยอมความตกลงกันภายหลังที่หนี้ถึงกำหนดจะเป็นผลดีทั้งในแง่เจ้าหนี้ที่จะมีโอกาสได้รับชำระหนี้คืนมากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการบังคับชำระหนี้และในแง่ลูกหนี้ที่ไม่ต้องรับภาระทางการเงินมากเกินไปตลอดจนดอกเบี้ยผิดนัดที่จะตามมาจากการไม่ชำระหนี้ด้วย

2. หากลูกหนี้เพิกเฉยต่อหนังสือทวงถามจนเกิดการฟ้องบังคับคดีสู่ศาลจะทำอย่างไร?

การถูกฟ้องคดีขึ้นสู่ศาล จะมีหมายศาลมายังลูกหนี้ตามที่อยู่ตามบัตรประชาชน หากที่อยู่ของเราในความเป็นจริงไม่ตรงตามที่อยู่ตามบัตรประชาชน จะต้องระมัดระวังจะอ้างความไม่รู้ไม่ได้แม้ว่าตัวผู้รับจะไม่ใช่ตัวของลูกหนี้เองซึ่งอาจเป็นญาติของเราซึ่งรับไว้แทนก็นับว่าเป็นการส่งหมายศาลโดยชอบเช่นกัน

เมื่อลูกหนี้ได้ทำทราบแล้วว่าตนถูกฟ้องคดี จะต้องพิจารณาดังต่อไปนี้

พิจารณาว่าได้ก่อหนี้ขึ้นจริงตามที่ระบุในหมายศาลหรือไม่

ในกรณีทั่วไปที่เราเป็นผู้ก่อหนี้ขึ้นจริง ก็ให้ดูว่าถูกฟ้องที่ศาลไหน เป็นหนี้อะไร

แต่ในกรณีที่ไม่ใช่หนี้ที่เราก่อขึ้นย่อมสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ หรือเรียกให้บุคคลอื่นเข้ามารับผิดร่วมกันได้ เช่น หนี้ที่เกิดจากบัตรเครดิตซึ่งเราได้ทำขึ้นแต่ให้บุคคลอื่น เป็นต้นว่า เพื่อน แฟน นำบัตรนี้ไปใช้และได้รูดบัตรเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ

พิจารณาว่าต้องมีทนายหรือไม่

ถ้าเป็นหนี้เงินทั่วไปที่มีจำนวนเงินแน่นอน เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้กู้ยืมเงิน อาจไม่จำเป็นต้องมีทนายความในนัดแรกของศาล

ในนัดแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยระหว่างคู่ความซึ่งศาลจะทำหน้าที่เป็นคนกลางที่จะช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้คดีระงับไปเร็วที่สุดด้วยความยินยอมให้กันระหว่างคู่ความ แต่ทั้งนี้เราซึ่งเป็นลูกหนี้จะต้องมีแนวทางไว้สำหรับเจ้าหนี้ว่าจะดำเนินการเกี่ยวกับหนี้อย่างไร ไม่ใช่ไปเพื่อให้เจ้าหนี้พอใจ เจ้าหนี้จะมีข้อเสนอหรือให้ลงลายมือชื่อในเอกสารอะไรก็ยอมทำไปทั้งหมด กล่าวคือ ประเมินศักยภาพที่จะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ว่าจะกระทำได้เท่าไร ในระยะเวลาเพียงใด เช่น ช่วงแรกอาจผ่อนชำระให้เจ้าหนี้จำนวนหนึ่งต่อเดือน และจะเพิ่มขึ้นให้เรื่อย ๆ ในงวดถัด ๆ ไป โดยจะครบจำนวนภายในระยะเวลาที่ไม่นานเกินสมควร

ทั้งนี้หากลูกหนี้มีข้อต่อสู้เพื่อปฏิเสธไม่ชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนอย่างไร สามารถยกอ้างได้ในชั้นนี้ซึ่งควรเตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อสู้นั้น ๆ ไปยื่นให้ศาลด้วย

ข้อต่อสู้ว่าได้มีการชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน ถ้ายอดหนี้ที่เจ้าหนี้เรียกร้องมาไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากลูกหนี้ได้มีการชำระหนี้ไปแล้วบางส่วนบ้าง ในชั้นนี้เราซึ่งเป็นลูกหนี้ก็ต้องยกขึ้นต่อสู้ด้วย อย่างไรก็ดี หากลูกหนี้รู้ว่ามีข้อต่อสู้เรื่องว่าได้มีการชำระหนี้ไปแล้วบางส่วน ก็ต้องมีหลักฐานเพื่อยื่นให้ศาลด้วย เช่น สลิปการโอนเงิน ในเสร็จการรับเงิน เป็นต้น

ข้อต่อสู้เรื่องอายุความ คดีที่เป็นการฟ้องตามสิทธิเรียกร้องซึ่งเป็นหนี้ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้องชำระหนี้ก็ได้ ซึ่งสามารถยกอ้างเพื่อปฏิเสธเจ้าหนี้ได้ อย่างไรก็ดี ลักษณะคดีหรือมูลหนี้อาจมีอายุความที่แตกต่างกันไปแล้วแต่กฎหมายกำหนด เช่น หนี้บัตรเครดิต รวมถึงบัตรเครดิตที่กดเงินสดได้ อายุความ 2 ปี  บัตรกดเงินสดโดยมีเงื่อนไขชำระคืนเป็นงวด ๆ อายุความ 5 ปี ละเมิดอายุความ 1 ปี ดังนั้น ลูกหนี้จะต้องตรวจสอบอายุความในคดีที่ตนถูกฟ้องให้ดีด้วย นอกจากนี้ข้อต่อสู้เรื่องอายุความ ลูกหนี้จะต้องยกอ้างขึ้นเอง แม้ศาลเห็นว่าคดีขาดอายุความแต่ศาลก็จะยกขึ้นเองไม่ได้

3. เมื่อได้รับหมายศาลแล้วจำเป็นที่จะต้องไปศาลหรือไม่

การที่ลูกหนี้ไม่ไปศาลจะทำให้เจ้าหนี้สามารถขอให้ศาลพิจารณาคดีต่อไปฝ่ายเดียวได้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้เสียโอกาสที่จะยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ เพื่อปฏิเสธการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน เปรียบเทียบเหมือนมวยที่ฝ่ายหนึ่งต่อยอยู่ข้างเดียวโดยคู่แข่งไม่มีโอกาสตอบโต้หรือป้องกัน โดยการละเลยไม่ไปศาลจะส่งผลให้ลูกหนี้อาจต้องรับผิดในหนี้ที่เกินกว่าส่วนหรือจำนวนที่ตนควรต้องชำระก็เป็นได้

ในกรณีที่ว่าลูกหนี้ไม่เหตุขัดข้องหรือมีธุระไม่สะดวกไปศาลในวันนัด ให้ยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานให้ศาลเลื่อนวันนัดได้ หรืออาจทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นที่ไว้วางใจ (ไม่จำเป็นต้องเป็นทนาย) ไปศาลแทนตัวลูกหนี้ก็ได้

ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ได้จงใจขาดนัด อาจด้วยเหตุผลว่าลูกหนี้ไม่รู้จริง ๆ ว่าตนเองถูกฟ้องหรือมีเหตุสุดวิสัยใด ๆ ทำให้ลูกหนี้ขาดนัด ก็ยังมีช่องทางแก้ไขได้ด้วยการยื่นคำร้องขอต่อเพื่อขอยื่นคำให้การล่าช้าหรือขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่แล้วแต่กรณีได้ ภายใน 6 เดือนนับแต่มีคำพิพากษา แต่ทั้งนี้ต้องแสดงเหตุผลให้ศาลเห็นด้วย อย่างไรก็ดี เป็นดุลพินิจของศาลที่จะอนุญาตหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการขาดนัดและมาศาลตามนัดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

4. กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้

เจ้าหนี้จะส่งหมายบังคับให้ลูกหนี้ไปชำระหนี้ตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน หากไม่ยอมชำระหนี้อีกเจ้าหนี้จะไปขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อมาเอาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้

5. กรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินให้ยึดอายัดจะเป็นอย่างไร จะเป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่

เจ้าหนี้มีสิทธิยึดอายัดทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นระยะเวลา 10 นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้ว่าในวันที่ศาลมีคำพิพากษา ลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินใดจะให้ยึดอายัด แต่ถ้าภายหลังในระยะเวลาดังกล่าว ลูกหนี้ได้ทรัพย์สินมาก็อาจถูกเจ้าหนี้บังคับได้ เช่น การได้รับมรดก การถูกรางวัลลอตเตอรี รวมถึงเงินที่จะได้ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตด้วย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีคำพิพากษามาแล้ว การไกล่เกลี่ยประนีประนอมก็ยังคงทำได้อยู่ในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติลูกหนี้อาจจะต้องทำให้เจ้าหนี้เห็นถึงความจริงใจที่ลูกหนี้มีความประสงค์จะชำระหนี้ยิ่งกว่าก่อนมีคำพิพากษา บรรดาทรัพย์สินที่ลูกหนี้ได้มาหลังจากมีคำพิพากษาแล้ว หากเจ้าหนี้ยังไม่ได้ยึดอายัด ลูกหนี้ก็ควรรีบนำไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้โดยไม่ต้องรอให้เจ้าหนี้ยึดอายัดเพื่อขายทอดตลาดจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า

การจะตกเป็นบุคคลล้มละลายต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว คือ มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยมีมูลหนี้อาจโดยเจ้าหนี้รายเดียวหรือหลายรายรวมกันมากกว่า 1 ล้านบาทสำหรับบุคคลธรรมดา หรือมากกว่า 2 ล้านบาทสำหรับนิติบุคคล

การตกเป็นบุคคลล้มละลาย จะทำให้ลูกหนี้ไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินใด ๆ ของตน การจัดการทรัพย์สินจะอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

6. กรณีเจ้าหนี้ได้โอน/ขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้คนใหม่ เจ้าหนี้คนใหม่จะฟ้องได้หรือไม่ อย่างไร

การโอน/ขายหนี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยความยินยอมของลูกหนี้ เจ้าหนี้คนใหม่ที่ได้รับโอนหรือซื้อหนี้ไป มีสิทธิฟ้องลูกหนี้ได้ภายในกำหนดอายุความเดิม  แต่การโอนหรือขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้คนใหม่ ไม่มีผลต่อข้อต่อสู้ของลูกหนี้ ลูกหนี้ก็ยังสามารถยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่เคยมีขึ้นสู้กับเจ้าหนี้คนใหม่ได้เสมือนกับเป็นเจ้าหนี้คนเดิม

เมื่อเราได้ก่อหนี้ขึ้นแล้วย่อมมีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ให้ครบ หากไม่พร้อมที่จะชำระหนี้ในวันนี้ก็จะต้องพยายามให้สามารถชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ในวันหน้า หากถึงกำหนดเวลาชำระหนี้แล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ การเจรจาไกล่เกลี่ยเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอไม่ว่ากระบวนการในทางกฎหมายจะอยู่ในชั้นใด จะมีการฟ้องคดีหรือยัง หรือมีการฟ้องคดีไปแล้ว หรือมีคำพิพากษามาแล้วก็ตาม ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะแท้จริงแล้วในมุมเจ้าหนี้ก็ไม่ได้อยากฟ้องลูกหนี้ การฟ้องคดีต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย  ในมุมลูกหนี้ หากไม่ชำระหนี้ย่อมทำให้เสียเครดิต หนักยิ่งกว่านั้นคืออยู่ภายใต้การบังคับคดีหรืออาจไปถึงขั้นถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายที่จะทำให้ไม่จัดการทรัพย์สินได้ การได้ทรัพย์สินมาภายหลังก็อาจถูกยึดอายัดเพื่อนำไปชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้อยู่ดี