สัมภาษณ์งานผู้ช่วย ผู้จัดการ ร้านอาหาร

อื่นๆ

สัมภาษณ์งานผู้ช่วย ผู้จัดการ ร้านอาหาร

ต้องขอบอกก่อนเลยนะคะว่าอันนี้เป็นประสบการณ์การทำงานแรกของเราเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น รายละเอียดของงานอาจจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้วก็ได้ เราก็ไม่แน่ใจ แต่เนื่องจากเรามักชอบเห็นกระทู้ของเด็กจบใหม่หลายๆ กระทู้ ชอบมาตั้งคำถามเกี่ยวกับตำแหน่ง “ผู้ช่วยผู้จัดการฝึกหัด” เราเลยอยากมาแชร์ประสบการณ์ให้ฟังว่า ตำแหน่งนี้ของร้าน MK สุกี้ เขาทำอะไรกันบ้าง

เริ่มแรกสุด การรับสมัคร ผู้ช่วยผู้จัดการฝึกหัด (ขอเรียกสั้นๆ ว่า เทรนนี) ของที่นี่ จะรับคนค่อนข้างเยอะ และรับมาเพื่อฝึกฝนก่อนโดยใช้เวลาฝึกประมาณ 4 เดือน แบ่งออกเป็น เดือนแรก ฝึกหน้าครัว (ส่วนหลังร้าน) เดือนที่ 2 ฝึกหน้าบ้าน (ส่วนหน้าร้าน) สองเดือนแรกจะไปฝึกกับเพื่อนๆ ในรุ่นเดียวกัน โดยจะมีทั้งฝึกภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ กับครูที่คอยสอนแต่ละวิชา (ใช่ค่ะ MK มีตำแหน่งครูนะคะ) และเดือนที่ 3 กับ 4 จะเป็นการฝึกเรื่องงานบริหารและงานระบบโดยตรงกับผู้จัดการของแต่ละสาขานั่นเอง ซึ่งสองเดือนหลังนี้ เทรนนีจะไม่ได้เรียนรวมกันแล้วค่ะ แต่จะได้กระจายกันไปตามสาขาแล้ว ซึ่งก็อาจจะเป็นสาขาประจำของแต่ละคนเลยก็ได้

เดือนแรกกับการฝึกหลังบ้าน

สัมภาษณ์งานผู้ช่วย ผู้จัดการ ร้านอาหาร
ที่ MK จะมีบางสาขาที่เป็น “ร้านโรงเรียน” กระจายๆ กันตามโซนกรุงเทพฯ - นนทบุรีค่ะ ตอนนั้นเราได้มาฝึกอยู่กับเพื่อนๆ อีกประมาณ 9 – 10 คน การฝึกหลังบ้านจะแบ่งออกเป็น 6 สเตชั่น หรือ 6 วิชา นั่นเองค่ะ (ถ้าจำไม่ผิดนะ) คือ ครัวสุกี้ ครัวขนม ครัวเป็ด ครัวล้าง Home Delivery และสโตร์ แต่ละสเตชั่นก็จะใช้เวลาในการเรียนต่างๆ กัน เช่น สโตร์ หรือการจัดการสต็อกสินค้าต่างๆ ใช้เวลา 2 วันค่ะ วันแรกเรียนทฤษฎี วันต่อมาสอบปฏิบัติ และสอบข้อเขียน (มีสอบด้วยนะ ถ้าสอบตกก็ต้องซ่อมค่ะ) ส่วนครัวเป็ด ครัวสุกี้ ครัวขนม และ Home Delivery จะยากหน่อยเพราะรายละเอียดเยอะ ต้องจำสูตรอาหาร ส่วนผสม น้ำหนักของผักแต่ละคอนโด น้ำจิ้ม ของสด หรือกระทั่งปริมาตรต่างๆ ให้ได้ภายใน 2 – 3 วัน แล้วค่อยมาสอบค่ะ แต่สเตขั่นที่ได้รับการโอดครวญมากที่สุด คือ ครัวล้างค่ะ อาจจะฟังดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่ายนะคะ เพราะต้องขัดๆ กระชอนตักซุป เข่งติ่มซำ หม้อสุกี้ และอื่นๆ จนมั่นใจว่าสะอาดดี แล้วจึงเอาเข้าเครื่องล้างจานได้ค่ะ นอกจากนี้ยังต้องจำปริมาณของน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ด้วย และที่โหดที่สุด คือตอนปิดร้าน จะต้องทำความสะอาด บ่อดักไขมัน ทุกวัน จำได้ว่าช่วงนั้นใครที่เรียนครัวล้างนี่ เรียกว่าล้างจนมือลอกกันเลยล่ะค่ะ


เดือนที่ 2 กับการฝึกหน้าบ้าน

สัมภาษณ์งานผู้ช่วย ผู้จัดการ ร้านอาหาร
พอครบเดือนแรก ก็ได้เวลามูฟไป “ร้านโรงเรียน” สาขาใหม่ กับเพื่อนๆ กลุ่มเดิมค่ะ เพื่อไปฝึกงานหน้าบ้านกันต่อ ตรงนี้จะคล้ายๆ กับเดือนแรกเพราะมีประมาณ 7 สเตชั่น เหมือนกัน คือ เสิร์ฟ จดบิล (รับออเดอร์) ต้อนรับ แคชเชียร์ แม่บ้าน น้ำจิ้ม และน้ำชา ส่วนที่ยุ่งยากที่สุดจะเป็นเสิร์ฟ กับ จดบิล ค่ะ เพราะแค่เฉพาะการเสิร์ฟ ที่ MK มีขั้นตอนถึง 12 ขั้นตอนเลยค่ะ เวลาสอบจึงต้องเป๊ะมากๆ แถมการเรียงอาหารบนถาด หรือการถือถาดของเขายังต้องมีขั้นตอนนะคะ ส่วนจดบิลจะยุ่งยากกว่านิดหน่อย เพราะเวลารับออเดอร์ก็มีขั้นตอนเช่นเดียวกัน และนอกจากการรับออเดอร์พนักงานจดบิลยังต้องมีหน้าที่คอยต้มน้ำซุปด้วยค่ะ และที่น่าสนใจคือ สเตชั่นแคชเชียร์ ที่ทุกคนเหมือนจะดีใจที่ได้ทำ เพราะเป็นตำแหน่งเดียวที่ได้นั่งค่ะ (พนักงาน MK ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้นั่งนะคะ ถึงแม้จะอยู่หน้าครัว ไม่เจอลูกค้าก็ตาม) แคชเชียร์ก็จะได้เรียนการนับเงินแบบมืออาชีพ การรับบัตรเครดิต ทำบัตรสมาชิกต่างๆ นานา เรียกได้ว่าสนุกนะ แต่ก็แอบเสียวๆ เหมือนกันเวลาเงินขาดหรือเงินเกิน


เดือนที่ 3 และ 4 เริ่มเข้าสู่การฝึกของจริง

สัมภาษณ์งานผู้ช่วย ผู้จัดการ ร้านอาหาร
พอหมดจากความสนุกของการฝึก 2 เดือนแรกแล้ว ช่วงท้ายเดือนที่ 2 ก็จะมีประกาศมาค่ะ ว่าให้แต่ละคนไปอยู่ที่สาขาไหน ตรงนี้จะกระจายคนไปไกลกันแล้วค่ะ บางคนโชคดีได้ไปกับเพื่อน 2 คน บางคนก็อาจจะได้ไปฝึกแค่คนเดียว และผู้จัดการของแต่ละสาขานั้นก็จะเป็นคนสอนงานเราด้วยตัวเอง ในส่วนของเราโชคดีตรงที่ได้ไปสาขาไม่ใหญ่มาก แต่อยู่ในแหล่งช้อปปิ้งของคนกรุงเทพฯ ค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาลูกค้าไม่เยอะก็จะมีเวลาได้เรียนบ้าง ซึ่งจะไม่ได้มีทฤษฎีกับปฏิบัติเหมือนเดือนก่อนๆ แล้วค่ะ แต่เป็นการ “เรียนรู้จากการทำจริง” เลยล่ะ เช่น การจัดกำลังคนในสาขา การตรวจงานต่างๆ ที่พนักงานในสาขาทำ ว่าได้ตามมาตรฐานหรือเปล่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเคสลูกค้าต่างๆ ที่เกิดในสาขา รวมไปถึงงานระบบ ไฟฟ้า น้ำประปา ตู้เย็น สิ่งของต่างๆ ที่เสียหาย ใช้ไม่ได้ เทรนนีก็จะต้องเป็นคนที่แก้ปัญหานี้ค่ะ นอกจากนี้ยังมีงานยิบย่อยต่างๆ อีกมากมาย เช่น การอัปเดตข่าวสารของส่วนกลางให้พนักงานในสาขา การสร้างยอดขายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ การสร้างมาตรฐานให้สาขาได้คะแนนดีๆ เพราะ MK จะมี QA มาคอยตรวจมาตรฐานทุกเดือนค่ะ รวมไปถึง “ลูกค้าลึกลับ” ที่หนึ่งเดือนจะมากินหนึ่งครั้งโดยไม่แสดงตัวว่ามาตรวจ จากนั้นจะมีการประเมินคะแนนและส่งมาให้หลังจากนั้นค่ะ เรียกได้ว่าเป็นงานที่ยิบย่อยและรายละเอียดเยอะมากจริงๆ ค่ะ ถ้าใครที่สามารถผ่าน 2 เดือนนี้ไปได้ ก็เรียกได้ว่า พร้อมที่จะถูกโปรโมทเป็น “ผู้ช่วยผู้จัดการ” จริงๆ แล้วล่ะค่ะ


ถ้าถามว่า งานที่ค่อนข้างละเอียดและเยอะขนาดนี้ มีคนยอมแพ้กลางทางไหม? ขอบอกเลยค่ะว่ามีเยอะมาก นั่นเป็นอีกสาเหตุที่ว่า ทำไมถึงรับคนในตำแหน่งนี้เยอะ แต่ถ้าผ่านไปได้แล้วเป็นงานที่ชอบ ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ ก็ค่อนข้างคุ้มค่าเลยนะคะ (ในกรณีที่ได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการจริงๆ แล้ว) ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เราก็ยังมีเพื่อนที่ยังคงทำงานอยู่ที่นั่นค่ะ และตอนนี้ก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาเรียบร้อยแล้วด้วยนะ และถึงแม้ว่า ตอนนี้เราจะไม่ได้ทำงานที่นั่นแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกว่า MK เป็นงานแรกที่ทำให้เราได้ประสบการณ์ที่หลากหลายและความทรงจำดีๆ มากมายเลยล่ะค่ะ หวังว่าเรื่องราวที่ได้แชร์ไปจะเป็นข้อมูลให้กับคนที่สนใจตำแหน่งงานนี้ได้บ้างนะคะ

ภาพประกอบโดยนักเขียน

ความคิดเห็น

สัมภาษณ์งานผู้ช่วย ผู้จัดการ ร้านอาหาร

กรุณาเข้าสู่ระบบเพื่อทำการคอมเม้นต์