การสังเคราะห์ข้อมูลมีกี่ขั้นตอน

– หมายถึง การปรับโครงสร้างหรือบรรจุข้อมูลในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากเดิม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งาน การสังเคราะห์เป็นกระบวนการที่ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่การถ่ายทอดความจริงส่วนที่เฉพาะเจาะจงตามความต้องการใช้ ขณะเดียวกันการสังเคราะห์จะเป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อต้องกระทำกับข้อมูลลักษณะต่างๆ ได้แก่ ข้อมูลที่มาจากหลายแหล่งข้อมูล ความหลากหลายชนิดของสื่อ รูปแบบการนำเสนอ และประสิทธิภาพของการสื่อสารแนวคิดที่เป็นนามธรรม และการเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อข้อมูลใหม่ที่นำเข้ามาเกิดการเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่มีอยู่แล้ว

Show



เนื้อหา

การทำข้อมูลให้เป็นสารสนเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้งาน ปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความสามารถของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินการ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมและตรวจสอบข้อมูล การดำเนินการประมวลผลข้อมูลให้กลายเป็นสารสนเทศ  จนถึงขั้นตอนการดูแลรักษาสารสนเทศเพื่อการใช้งาน ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณและรูปแบบของข้อมูลที่มีความหลากหลาย แหล่งข้อมูลมีกระจัดกระจายไปทุกที่ รวมถึงความต้องการใช้สารสนเทศที่แตกต่างกัน 


          การใช้สารสนเทศและการสังเคราะห์เพื่อสร้างสารสนเทศโดยใช้กระบวนการของ Big 6 Skills ที่พัฒนามากจากการจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ หรือ Big 6 Skills พัฒนาโดย ไมเคิล ไอเซนเบอร์ก และโรเบิร์ต เบอโกวิทซ์ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนแก้ปัญหาโดยใช้สารสนเทศ  ซึ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการค้นหา รวบรวม สังเคราะห์ นำเสนอและประเมินผลสารสนเทศ  ต่างจากรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบอื่นๆ  แต่ละขั้น ดังแสดงในตารางต่อไปนี้


ขั้นตอนการแก้ปัญหา

เทคโนโลยี

1. ขั้นการนิยามภาระงาน 

(Task Definition)

ผู้เรียนอาจใช้ จดหมายอิเลคทรอนิกส์ (e-mail) การสนทนากลุ่มในอินเตอร์เน็ต (chat) การประชุมทางไกล (audio-, video-, web-conferencing) การส่งข้อความ (text messaging) ทวิตเตอร์ (twitter) หรือการติดต่อสื่อสารอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจปัญหาให้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการระดมสมอง นอกจากนี้ผู้เรียนซอฟต์แวร์สร้างผังกรอบเวลา แผนภูมิ หรือแผนที่ความคิด เพื่อวางแผนและจัดระบบปัญหาสารสนเทศที่ซับซ้อน

2. ขั้นการกำหนดยุทธศาสตร์การค้นหาสารสนเทศ

(Information Seeking Strategies)

1) ผู้เรียนเลือกและประเมินแหล่งสารสนเทศ ดังต่อไปนี้

-    แหล่งสารสนเทศอิเลคทรอนิกส์  เช่น ฐานข้อมูลบทความ สารานุกรมออนไลน์ แหล่งสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อาทิ เว็บไซต์ บล็อก เป็นต้น

-    แหล่งข้อมูลอื่นๆ เช่น  ห้องสมุด  ผู้เชี่ยวชาญ เอกสาร  หนังสือ เป็นต้น

2) ผู้เรียนกำหนดกลยุทธ์การค้นหาสารสนเทศที่ใช้ในการแก้ปัญหา

3. ขั้นการสืบค้นและเข้าถึงสารสนเทศ (Location and Access)

ผู้เรียนใช้ เสิร์ชเอนจิน (search engine) หรือโปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นหาข้อมูล รายการออนไลน์ (Online Catalogue) หรือเครื่องมือสำหรับการสืบค้นอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพื่อค้นหาแหล่งของข้อมูล และจำแนกข้อมูลที่อยู่ในแหล่งนั้นๆ

4. ขั้นการใช้สารสนเทศ (Use  of  Information) 


ผู้เรียนเรียกใช้  เก็บรวบรวม บันทึกข้อมูลสารสนเทศจากแหล่งข้อมูลที่ผู้เรียนได้ศึกษาในแหล่งนั้นๆ ในขั้นนี้ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล  บันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น การ Download  ข้อมูล การบันทึกข้อความหรือรูปภาพ    การอ่าน  การวาดภาพหรือการถ่ายภาพเพื่อบันทึกสารสนเทศ เป็นต้น

5. ขั้นการสังเคราะห์ข้อมูล

(Synthesis)


ผู้เรียนดำเนินการจัดหมวดหมู่ และนำเสนอสารสนเทศที่ได้ค้นคว้ามาโดยใช้โปรแกรมการสร้างสื่อ หรือโปรแกรมการนำเสนอที่เหมาะสม เช่น การนำเสนอโดยการใช้โปรแกรมประมวลคำ โปรแกรมฐานข้อมูลและโปรแกรมตารางคำนวณ  การนำเสนอผลงานด้วยโปรแกรมพรีเซนเตชั่น การสร้างโฮมเพจหรือการนำเสนอด้วยการจัดนิทรรศการ  สาธิตการทำงาน เป็นต้น

6. ประเมินผล

(Evaluation)

ผู้เรียนจะประเมินผลงานที่ได้ทำขึ้น และกระบวนการใช้เทคโนโลยีในการทำงาน ผลกระทบของเทคโนโลยี คุณภาพ ประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่ใช้ โดยผู้ประเมินอาจจะมีได้หลายคน  คือในขั้นตอนของการตรวจสอบผลงานและภาระงานที่รับผิดชอบ  ผู้สอนจะเป็นผู้ประเมินผล  ส่วนการประเมินกระบวนการทำงานให้ผู้เรียนประเมินตนเองว่ายังมีข้อบกพร่อง หรือไม่อย่างไร  ควรปรับปรุงในส่วนใดบ้าง  และการประเมินชิ้นงานอาจจะใช้เพื่อนในห้อง ผู้สอน หรือบุคคลอื่นร่วมประเมินผลงาน


ตาราง 4.1 ความสัมพันธ์ระหว่างการแก้ไขปัญหาโดยใช้สารสนเทศและเทคโนโลยี

          

          การใช้สารสนเทศ เป็นทักษะของการเข้าถึงเนื้อหาของสารสนเทศที่อยู่ในทรัพยากรสารสนเทศ ด้วยวิธีการใดๆ อาทิ อ่าน ฟัง ดู หรือการโต้ตอบ เป็นต้น แล้วเลือกเฉพาะเนื้อหาหรือสารสนเทศที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา วางแผน หรือตัดสินใจ ส่วน การสังเคราะห์ เป็นทักษะของการจัดการหรือการจัดหมวดหมู่สารสนเทศที่สกัดออกมาจากการใช้สารสนเทศที่ได้จากหลายแหล่งสารสนเทศ รวมไปถึงการขั้นตอนการนำเสนอผลของสารสนเทศที่ได้สังเคราะห์แล้ว


การเลือกใช้สารสนเทศที่ได้จากการค้นคว้าเพื่อแก้ปัญหาสารสนเทศต้องผ่านกระบวนการ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การประเมินสารสนเทศ (Evaluate) 2) การใช้สารสนเทศ (Use) 3) การสังเคราะห์ (Synthesis) มีรายละเอียดดังต่อไปนี้



1)     การประเมินสารสนเทศ (Evaluate Information)

การประเมินสารสนเทศ คือ การตรวจสอบว่าสารสนเทศที่ได้มานั้น สามารถตอบคำถามที่ตั้งไว้ได้ละเอียดครอบคลุมทุกประเด็น มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลและมีเอกสารอ้างอิงที่มีความน่าเชื่อถือเพียงใด


หลักการประเมินสารสนเทศ

                     หลักการประเมินสารสนเทศ ดังต่อไปนี้

1.      ประเมินความตรงกับความต้องการสารสนเทศ (Coverage and Relevance)

  โดยเลือกเรื่องที่ตรงกับความต้องการ ตัดทิ้งเรื่องที่ไม่ตรงกับความต้องการ ใช้เทคนิควิธีการ คือ การอ่านเบื้องต้น ได้แก่ การอ่านชื่อเรื่อง คำนำ หน้าสารบัญ หรือเนื้อเรื่องย่อๆ เพื่อพิจารณาว่ามีความสอดคล้องกับความต้องการสารสนเทศหรือไม่ 

2.      ประเมินความน่าเชื่อถือและความทันสมัยของสารสนเทศ (Reliable and Currency)

การพิจารณาว่าเป็นสารสนเทศที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ น่าเชื่อถือเพียงไร ซึ่งการประเมินความน่าเชื่อถือมีรายละเอียดที่ควรพิจารณา ได้แก่

                2.1   ประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งสารสนเทศ โดยพิจารณาว่าสารสนเทศนั้นได้มาจากแหล่งสารสนเทศใด โดยส่วนใหญ่แหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือนั้นจะเป็นแหล่งสารสนเทศสถาบัน  ส่วนแหล่งสารสนเทศอินเทอร์เน็ต จะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าหรือไม่มีความน่าเชื่อเลย เพราะเราต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองเนื้อหาเองว่าเนื้อหาจากเว็บไซต์ใดที่น่าเชื่อถือ

2.2   ประเมินความน่าเชื่อถือของ ทรัพยากรสารสนเทศ โดยพิจารณาว่า ทรัพยากรสารสนเทศหรือสารสนเทศนั้นๆ เป็นรูปแบบใด 

2.3   ประเมินความน่าเชื่อถือของ ผู้เขียน ผู้จัดทำ สำนักพิมพ์ โดยพิจารณาว่า ผู้เขียนมีคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ตรงหรือสอดคล้องกับเรื่องที่เขียนหรือไม่ รวมทั้งความน่าเชื่อถือผู้จัดทำ สำนักพิมพ์ที่มีประสบการณ์ในเนื้อหาเฉพาะด้าน 

2.4 ประเมินความทันสมัยของสารสนเทศ โดยหากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์พิจารณาความทันสมัย จาก วัน เดือน ปี ที่พิมพ์ หากเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พิจารณาจาก วัน เดือน ปีที่เผยแพร่ เป็นต้น

3. ประเมินระดับเนื้อหาของสารสนเทศ (Sources of Information)

การประเมินระดับเนื้อหาสารสนเทศจากแหล่งสารสนเทศ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่

3.1      สารสนเทศปฐมภูมิ (Primary Information) มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เนื่องจากเป็นสารสนเทศที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าโดยตรงของผู้เขียนและตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรก 

3.2      สารสนเทศทุติยภูมิ (Secondary Information)  เป็นการนำสารสนเทศปฐมภูมิมาเขียนใหม่ 

3.3      สารสนเทศตติยภูมิ (Tertiary Information) เป็นการชี้แนะแหล่งสารสนเทศ 2 ระดับแรก 

กรณีสารสนเทศที่สืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ต ในการประเมินสามารถพิจารณาได้จาก

1. ความเกี่ยวข้อง (Relevance) เป็นการพิจารณาว่าสารสนเทศนั้นมีความเกี่ยวข้อง หรือตรงกับหัวข้อที่ต้องการหรือไม่ ซึ่งอาจพิจารณาได้จากชื่อเรื่อง และคำสำคัญ

2. ความถูกต้อง (Accuracy) เป็นการตรวจสอบเนื้อหาของสารสนเทศที่ได้ว่ามีความถูกต้องหรือไม่

3. ความน่าเชื่อถือของผู้จัดทำ (Authority) เป็นการพิจารณาว่าผู้จัดทำหรือผู้เขียน มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในหัวข้อเรื่องนั้นๆ หรือไม่

4. ความทันสมัย (Currency) เป็นการพิจารณาถึงความทันสมัย หรือการปรับปรุงครั้งล่าสุด เ

2)     การใช้สารสนเทศ (Use of information)

การใช้สารสนเทศ หรือ Use  of  information หมายถึง การรับรู้สารสนเทศ โดยกระบวนการวิเคราะห์เพื่อแยกแยะสารสนเทศที่สำคัญและสอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการออกเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยให้สารสนเทศที่มีเนื้อหาเดียวกันหรือที่ค้นได้จากคำสำคัญเดียวกันอยู่ด้วยกัน

การใช้สารสนเทศ  เป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลังจากที่ผู้เรียนสามารถค้นหาและเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ต้องการแล้ว ผู้เรียนต้องสามารถที่จะอ่าน ดู ฟัง หรือโต้ตอบกับข้อมูล และตัดสินใจเลือกข้อมูลที่มีคุณค่าเหมาะสมกับปัญหาสารสนเทศหรือสถานการณ์เฉพาะ นอกจากนี้ผู้เรียนจะต้องดึงข้อมูลที่ต้องการใช้จากแหล่งข้อมูลด้วยการบันทึก ทำสำเนา การอ้างอิง ฯลฯ

     ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องตอบคำถาม ดังต่อไปนี้

1. สารสนเทศประเภทใดบ้างที่ได้มา

2. สารสนเทศนั้นตอบปัญหาสารสนเทศของเราได้หรือไม่

3. จะจดบันทึกสารสนเทศนั้นๆ อย่างไร

4. สารสนเทศนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

กระบวนการของการใช้สารสนเทศ

ทักษะของการใช้สารสนเทศ เป็นกระบวนการที่ต้องกระทำกับข้อมูลเพื่อพิจารณาสารสนเทศที่ต้องการ และคัดเลือกข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องออกมาใช้ได้ตรงกับที่ต้องการ ผู้เรียนจะต้องมีความสามารถดังนี้

1.       การรับรู้ข้อมูลในแหล่งสารสนเทศ (Engage the information in the source) เช่น การอ่าน การฟัง การเขียน การสัมผัส หรือการโต้ตอบกับแหล่งข้อมูล

2.       การสกัดข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากทรัพยากรสารสนเทศ (Extract relevant information from a source) เพื่อนําสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้ประโยชน์

          การใช้สารสนเทศ ประกอบด้วยกระบวนการต่างๆ ทั้งสิ้น 4 กระบวนการ


           1) รับรู้เนื้อหาของทรัพยากรสารสนเทศที่ผ่านการประเมินแล้วว่าสามารถนำมาใช้งานได้จริง การรับรู้สามารถทำได้หลายวิธีช่น

    การอ่าน ใช้รับสารสนเทศจากทรัพยากรตีพิมพ์ (Printed Materials)

    การดูและการฟัง ใช้รับสารสนเทศจากทรัพยากรไม่ตีพิมพ์ (Non-print Material)

  การอ่าน การดู การฟัง และการโต้ตอบ ใช้รับสารสนเทศจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Materials)

การใช้เทคนิคการอ่านเร็ว (Speed-reading Techniques) จะทำให้การรับสารสนเทศเพิ่มประสิทธิภาพขึ้น  ประกอบด้วย

    เทคนิคการอ่านข้าม (Skimming Reading) เป็นวิธีอ่านข้อความบางตอน ไม่ต้องอ่านรายละเอียดทั้งเรื่อง

    เทคนิคการอ่านผ่าน (Scanning Reading) เป็นการอ่านแบบกวาดสายตา เป็นวิธีการหาข้อมูลเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการ เช่น การอ่านเพื่อค้นหาชื่อในพจนานุกรม และการอ่านแผนที่ เป็นต้น

2) สกัดเนื้อหาของสารสนเทศที่สอดคล้องกับประเด็นปัญหา หรือ แนวคิดต่างๆ ที่ต้องการศึกษา

  ผู้เรียนต้องตัดสินใจเลือกข้อมูลที่มีคุณค่าเหมาะสมกับปัญหาสารสนเทศ หรือสถานการณ์เฉพาะที่ต้องการสารสนเทศ ผู้เรียนจะต้องดึงข้อมูลที่ต้องการใช้จากแหล่งข้อมูลด้วยการบันทึก ทำสำเนา การอ้างอิง ฯลฯ

 สารสนเทศที่ต้องการใช้ ต้องสอดคล้องตามที่ได้กำหนดความต้องการสารสนเทศในทักษะที่ 1 การนิยามภาระงาน (Task Definition)

ในขั้นนี้ผู้เรียนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล และบันทึกข้อมูลต่างๆ เช่น การ Download ข้อมูล การบันทึกข้อความหรือรูปภาพ การอ่าน การวาดภาพหรือการถ่ายภาพเพื่อบันทึกสารสนเทศ  เป็นต้น

3) บันทึกเนื้อหาในสื่อต่างๆ เช่น บัตรบันทึก คอมพิวเตอร์

การบันทึกเพื่อนำสารสนเทศจากแหล่งสารสนเทศใดๆ ไปใช้ประโยชน์ต่อ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ การอ้างอิงแหล่งที่มาของสารสนเทศ  โดยมีวัตถุประสงค์เมื่อนำไปใช้ประโยชน์ คือ

      เพื่อแสดงว่าสารสนเทศนั้นเชื่อถือได้ และสามารถพิสูจน์ยืนยันได้

      เป็นการให้เกียรติผู้เขียนแหล่งอ้างอิงนั้น (หลีกเลี่ยงการคัดลอกข้อเขียน)

      ลดการโต้เถียงอันเกิดจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน

      ช่วยให้ผู้อ่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลที่อ้างถึงได้

ประเภทของการอ้างอิงแหล่งที่มาของสารสนเทศ

      การอ้างอิงในเนื้อเรื่อง (In-text Citation) ได้แก่ การกล่าวถึงในข้อความสารสนเทศ (In-text Attribution) และ เชิงอรรถ (Footnote)

      การอ้างอิงท้ายเล่ม (Reference Citation)  ได้แก่ รายการเอกสารอ้างอิง (References List) หรือ บรรณานุกรม (Bibliography)

จริยธรรมในการใช้สารสนเทศ คือ การใช้สารสนเทศโดยชอบธรรมบนพื้นฐานของจริยธรรมทางสารสนเทศ เช่น การนำข้อความหรือแนวคิดของผู้อื่นมาใช้ในงานของตน จะต้องเขียนอ้างอิงถึงผลงานที่นำมาอ้างทุกครั้ง เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้เขียนเดิม อีกทั้งยังช่วยผู้อ่านในการติดตาม ค้นหารายการอ้างอิงที่ต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปได้

เทคโนโลยีที่ใช้ในบันทึกและอ้างอิงที่มาของสารสนเทศ ได้แก่

(1)    โปรแกรม Microsoft Office Word  ผู้เรียนสามารถบันทึกข้อมูลและสร้างบรรณานุกรมโดยอัตโนมัติตามรายละเอียดแหล่งข้อมูลที่สืบค้นได้ โดยใช้เมนูการอ้างอิง (References)

 (2)    โปรแกรมจัดการบรรณานุกรม (Reference Management Software)  ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้สำหรับการจัดการทางบรรณานุกรม เช่น การสืบค้น  การจัดเก็บ และการจัดการรูปแบบการลงรายการบรรณานุกรม หรือรายการอ้างอิงที่ผู้ใช้ได้ไปสืบค้นมาจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น จากฐานข้อมูลออนไลน์ หรือจากฐานข้อมูลของห้องสมุด (OPAC) โปรแกรมจัดการบรรณานุกรมสามารถนำเข้า (Import) รายการอ้างอิงเหล่านั้นมาไว้ได้โดยตรง  หรือสามารถถ่ายโอนข้อมูลโดยตรง (Direct Export) จากฐานข้อมูลออนไลน์เข้าสู่โปรแกรมได้ทันที รวมทั้งโปรแกรมจะจัดการรูปแบบรายการบรรณานุกรมตามที่เลือกไว้ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ APA, Chicago, MLA  และอื่นๆ อีกหลายหลากรูปแบบ ตัวอย่างโปรแกรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ EndNote และ Zotero เป็นต้น

- โปรแกรม EndNote

   EndNote เป็นโปรแกรมการจัดการทางบรรณานุกรมที่ให้บริการทั้งลักษณะการลงโปรแกรมใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และให้บริการบนเว็บ สามารถลงทะเบียนใช้งานที่ฐานข้อมูล ISI Web of Science ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดหาให้บริการในห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาที่สังกัดทั่วประเทศทั้ง 75 แห่ง

-    โปรแกรม Zotero

                  Zotero เป็นโปรแกรมจัดการทางบรรณานุกรม หรือที่เรียกว่า "Reference management" เหมือนกับ Endnote เป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่ใช้งานร่วมกับบราวเซอร์ Firefox เพื่อใช้จัดเก็บรายการบรรณานุกรมหรือเอกสารอ้างอิงของแหล่งสารสนเทศที่ค้นได้จากแหล่งข้อมูลต่างๆ และยังสามารถนำเข้าข้อมูลด้วยวิธีนำเข้าตรง (Manual) ได้ด้วย การนำเข้าข้อมูลและการสร้างรายการบรรณานุกรมและรายการอ้างอิงด้วย Zotero นั้น รองรับทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ ซึ่งทำได้ง่าย โดยสามารถแทรกรายการอ้างอิงในส่วนของเนื้อหาและรายการบรรณานุกรมท้ายเล่ม เข้าไปในไฟล์ วิทยานิพนธ์ รายงาน หรือบทความได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว

4)  นำเนื้อหาที่บันทึกมาจัดกลุ่มตามประเด็นแนวคิดเพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อหาที่จะนำเสนอต่อไป

              กระบวนการการใช้สารสนเทศ ในขั้นตอนนี้ ดำเนินการจัดกลุ่มเนื้อหาหลังจากที่รับรู้สารสนเทศเพื่อจับใจความสำคัญของเรื่อง พิจารณาเนื้อหาของสารสนเทศที่สอดคล้องกับประเด็นแนวคิดต่างๆ ที่ต้องการจะศึกษา และบันทึกสารสนเทศที่สอดคล้องกับเรื่องที่ต้องการ ได้แก่  (1) คำสำคัญหรือแนวคิด (2) แหล่งที่มาของข้อมูล เช่น ชื่อผู้แต่ง ชื่อหนังสือ ชื่อบทความ สถานที่พิมพ์ สำนักพิมพ์ ปีที่พิมพ์ และเลขหน้าของแหล่งข้อมูล เป็นต้น (3) ใจความหรือข้อความสำคัญ

   


3)     การสังเคราะห์ (Synthesis)

การสังเคราะห์ (synthesis) เป็นกระบวนการหรือผลของการนำเอาปัจจัยสองอย่างหรือมากกว่าที่แยกกัน โดยเฉพาะความคิด นำมารวมกันเข้าเป็นหนึ่ง ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นเป็นความรู้ใหม่ เครื่องมือใหม่ทางความคิด เช่น การรวมกันให้เป็นทฤษฎี ตัวอย่างการวิเคราะห์ เช่น การอ่านหนังสือ หรือบทความต่างๆ แล้ววิเคราะห์ว่าจาการอ่านมีอะไรที่เป็นส่วนสำคัญ และก็สามารถแบ่งส่วนความสำคัญของเนื้อหาที่อ่านได้  ตัวอย่างการสังเคราะห์ อาทิ การรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้ว มาสังเคราะห์ให้เหลือเพียงสิ่งที่สำคัญที่สุด เพียงประเด็นเดียวเท่านั้น

การสังเคราะห์สารสนเทศ จึงหมายถึง การกลั่นกรองและย่อความสารสนเทศในแต่ละเรื่อง หรือแต่ละแนวคิดที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว จากหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งแหล่งแล้วนำเสนอใหม่ ในรูปลักษณ์ที่มีการปรับเค้าโครงใหม่ทั้งหมด ซึ่งเค้าโครงใหม่ที่สร้างขึ้นมาต้องนำประเด็นที่มีความสัมพันธ์กันมาเชื่อมโยงกัน จากเรื่องที่กว้างไปยังเรื่องที่เฉพาะเจาะจง

          ในขั้นตอนนี้ผู้เรียนต้องตอบคำถาม ดังนี้

1. ประมวลสารสนเทศที่ได้ทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างไร

2. เขียนโครงร่างในการนำเสนออย่างไร

3. นำเสนอสารสนเทศ (ต่อผู้สอน) เพื่อตอบปัญหาสารสนเทศนั้นอย่างไร

4. ได้จดบันทึกแหล่งที่มาของสารสนเทศแต่ละชิ้น เพื่อนำมาเขียนบรรณานุกรมหรือไม่



กระบวนการของการสังเคราะห์สารสนเทศ

      การสังเคราะห์สารสนเทศ  เป็นการตีความสารสนเทศจากหลากหลายทรัพยากรสารสนเทศ ที่มีเนื้อหาเดียวกัน คล้ายคลึงกัน หรือเกี่ยวข้องกัน แล้วนำมาสรุปให้เป็นประเด็นเดียว หรือ คำตอบเพียงคำตอบเดียว

      วิธีการคือ การจัดกลุ่มสารสนเทศที่มีแนวคิดเดียวกันไว้ด้วยกัน  แล้วนำสารสนเทศที่มีแนวคิดเดียวกันนี้มาจัดกลุ่มอีกครั้ง เพื่อสร้างความสัมพันธ์ ตามลำดับชั้น จากนั้นนำแนวคิดต่างๆ ที่เราได้สร้างความสัมพันธ์ในแต่ละกลุ่มของแนวคิด มารวบรวมเป็นโครงสร้างใหม่ ในรูปของ โครงร่าง หรือ Outline โดยรวบรวมหัวข้อหรือประเด็นที่เหมือนกันไว้ด้วยกัน หรือตัดที่ซ้ำซ้อนออก เรียงลำดับขั้นตอนของหัวข้อหรือประเด็น

      สุดท้ายคือการประเมินโครงร่าง ที่ได้ทำขึ้น ว่าตอบคำถามในงานของเราได้ครบถ้วนหรือไม่ หากไม่ครบถ้วน ก็ต้องกลับไปเริ่มที่กระบวนการสืบค้นใหม่

ทักษะในขั้นนี้เป็นการรวบรวมจัดหมวดหมู่  เพื่อนำเสนอสารสนเทศที่ได้ค้นคว้ามาจำแนกพร้อมทั้งเตรียมการวางแผนเพื่อนำเสนอสารสนเทศที่ได้ค้นคว้า  สามารถนำเสนอได้หลายวิธี  เช่น การนำเสนอโดยการใช้โปรแกรมประมวลคำ โปรแกรมฐานข้อมูลและโปรแกรมตารางคำนวณ  การนำเสนอผลงานด้วยโปรแกรมพรีเซนเตชั่น การสร้างโฮมเพจหรือการนำเสนอด้วยการจัดนิทรรศการ  สาธิตการทำงาน เป็นต้น

ทักษะของการสังเคราะห์สารสนเทศนี้ ผู้เรียนจะมีความสามารถ 2 ประการ คือ 1) จัดหมวดหมู่สารสนเทศที่ได้จากแหล่งต่างๆ (Organize information from multiple sources) และ 2) วางแผนนำเสนอสารสนเทศ  (Present the information) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(1)    จัดหมวดหมู่สารสนเทศที่ได้จากแหล่งต่างๆ (Organize information from multiple sources) ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ อาทิ

·       การจัดแบ่งกลุ่มข้อมูล เป็นการแบ่งแยกกลุ่มข้อมูลเพื่อเตรียมไว้สำหรับการใช้งาน มีวิธีการที่ชัดเจน เช่น ข้อมูลในโรงเรียนมีการแบ่งเป็นแฟ้มประวัตินักเรียน และแฟ้มลงทะเบียน สมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองมีการแบ่งหมวดสินค้าและบริการเพื่อความสะดวกในการค้นหา  

·       การจัดเรียงข้อมูล เมื่อจัดแบ่งกลุ่มเป็นแฟ้มแล้ว ควรมีการจัดเรียงข้อมูลตามลำดับ ตัวเลข หรือตัวอักษร หรือเพื่อให้เรียกใช้งานได้ง่ายประหยัดเวลา ตัวอย่างการจัดเรียงข้อมูล เช่น การจัดเรียงบัตรข้อมูลผู้แต่งหนังสือในตู้บัตรรายการของห้องสมุดตามลำดับตัวอักษร การจัดเรียงชื่อคนในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ ทำให้ค้นหาได้ง่าย  

·       การสรุปผล ถ้าข้อมูลที่จัดเก็บมีเป็นจำนวนมาก จำเป็นต้องมีการสรุปผลหรือสร้างรายงานย่อ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ข้อมูลที่สรุปได้นี้อาจสื่อความหมายได้ดีกว่า เช่น สถิติจำนวนนักเรียนแยกตามชั้นเรียนแต่ละชั้น  

·       การคำนวณ ข้อมูลที่เก็บมีเป็นจำนวนมาก ข้อมูลบางส่วนเป็นข้อมูลตัวเลขที่สามารถนำไปคำนวณเพื่อหาผลลัพธ์บางอย่างได้ ดังนั้นการสร้างสารสนเทศจากข้อมูลจึงอาศัยการคำนวณข้อมูลที่เก็บไว้ด้วย

 

(2) วางแผนนำเสนอสารสนเทศ  (Present the information)

การนำเสนอสารสนเทศเพื่อการแก้ปัญหาสารสนเทศในขั้นตอนนี้ เป็นนำแนวคิดต่างๆ ที่เราได้สร้างความสัมพันธ์ในแต่ละกลุ่มของแนวคิด มารวบรวมเป็นโครงสร้างใหม่ในรูปของโครงร่าง (Outline) รวมถึงเลือกวิธีการนำเสนอข้อมูล เช่น การใช้โปรแกรมประมวลผลคำ โปรแกรมนำเสนอข้อมูล เป็นต้น

                    โครงร่าง (Outline) ของการนำเสนอสารสนเทศใดๆ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนสรุป ในส่วนเนื้อเรื่องแบ่งเป็นประเด็นต่างๆ โดยจัดลำดับให้เป็นระบบ ในการจัดลำดับสามารถจัดได้หลายแบบแล้วแต่เทคนิคการนำเสนอ อาทิ

1.       จัดลำดับจากเรื่องกว้างๆ หรือเรื่องทั่วไป ไปสู่เรื่องเฉพาะ

2.       จัดลำดับจากเรื่องเฉพาะไปสู่เรื่องกว้างๆ หรือเรื่องทั่วไป

3.       จัดลำดับตามความสำคัญ

4.       จัดลำดับตามเหตุการณ์หรือระยะเวลา

5.       จัดลำดับตามเหตุและผล

6.       จัดลำดับตามสถานที่หรือทิศทาง

ทั้งนี้ใน การจัดลำดับเนื้อเรื่องในโครงร่าง แต่ละประเด็นต้องมีน้ำหนักสมดุลกัน และการแตกเป็นประเด็นย่อย ต้องแตกเป็นลำดับชั้นอย่างเป็นระบบ ควรใช้ตัวเลขหรือตัวอักษรกำกับในแต่ละหัวข้อ



เทคโนโลยีที่ใช้เพื่อนำเสนอสารสนเทศ

เมื่อผู้เรียนดำเนินการรวบรวม จัดหมวดหมู่ จัดทำโครงร่างนำเสนอสารสนเทศ พร้อมทั้งเตรียมการวางแผนเพื่อนำเสนอสารสนเทศที่ได้มา สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการเลือกวิธีการนำเสนอสารสนเทศ ซึ่งสามารถนำเสนอได้หลายวิธี