การปกครองแบบเทศาภิบาล

การปกครองแบบเทศาภิบาล

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยได้ทรงยกเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหนายก และสมุหกลาโหม รวมทั้งจตุสดมภ์ด้วย ได้จัดระเบียบบริหารราชการออกเป็นกระทรวง ตามแบบอารยประเทศ และให้มีเสนาบดีเป็นผู้ว่าการแต่ละกระทรวง กระทรวงที่ตั้งขึ้นมีทั้งหมด 12 กระทรวง

                หลังจากจัดหน่วยบริหารส่วนกลาง โดยมีกระทรวงมหาดไทยในฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นศูนย์กลางอำนวยการปกครองประเทศและคุมหัวเมืองทั่วประเทศแล้วการจัดระเบียบการปกครองต่อมาก็จัดตั้งหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสภาพและฐานะเป็นตัวแทนหรือหน่วยงานประจำท้องที่ของกระทรวงมหาดไทยขึ้น อันได้แก่ การจัดการปกครองแบบเทศาภิบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นระบบการปกครองอันสำคัญยิ่ง ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนำมาใช้ปรับปรุงระเบียบบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาค ในสมัยนั้นการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นการปกครองส่วนภูมิภาคชนิดหนึ่ง ที่ส่วนกลางจัดส่งข้าราชการส่วนกลางออกไปบริหารราชการในท้องที่ต่างๆ โดยได้แบ่งการปกครองประเทศ เป็นขนาดลดหลั่นกันเป็นขั้นอันดับไป คือ เป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองถัดจากมณฑล คือเมือง (สมัยรัชกาลที่ 6 เรียกว่าจังหวัด) มีเจ้าเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เป็นผู้ปกครองเมืองแบ่งออกเป็นอำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครอง ทั้งสามส่วนนี้ปกครองโดยข้าราชการที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย อำเภอนั้นแบ่งออกเป็นตำบล มีกำนัน ซึ่งเป็นผู้ที่ผู้ใหญ่บ้านเลือกเป็นผู้ปกครองตำบล แบ่งออกเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในหมู่บ้านเป็นผู้ปกครอง

                ในปี พ.ศ. 2437 เป็นปีแรกที่ได้วางแผนงานจัดระเบียบการบริหารมณฑลแบบใหม่เสร็จ กระทรวงมหาดไทยได้จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น 3 มณฑล คือ มณฑลปราจีนบุรี มณฑลนครราชสีมา มณฑลพิษณุโลก (เมืองที่อยู่ในมณฑลนี้ได้แก่ เมืองพิจิตร เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก) และทรงโปรดเกล้าฯ ให้โอนหัวเมืองทั้งปวงซึ่งเยขึ้นกับกระทรวงกลาโหมและกระทรวงต่างประเทศมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเดียว จึงได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลราชบุรีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

                พ.ศ. 2438 ได้รวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลขึ้นอีก 2 มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า และได้แก้ไขระเบียบการจัดมณฑลฝ่ายทะเลตะวันตก คือ ตั้งเป็นมณฑลภูเก็ต ให้เข้ารูปลักษณะของมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง

                พ.ศ. 2493  ได้รวมหัวเมืองมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก 2 มณฑล คือ มณฑลนครศรีธรรมราชและมณฑลชุมพร

                พ.ศ. 2440 ได้รวมหัวเมืองมะลายูตะวันออกเป็นมณฑลไทรบุรี และในปีเดียวกันได้ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง

                พ.ศ. 2443 ได้เปลี่ยนแปลงสภาพของมณฑลเก่า ๆ ที่เหลืออยู่อีก 3 มณฑล คือ มณฑลพายัพ มณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล

                พ.ศ. 2447  ยุบมณฑลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย

                พ.ศ. 2449 จัดตั้งมณฑลปัตตานี และมณฑลจันทบุรี (มีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราด)

                พ.ศ. 2450  ตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

                พ.ศ. 2455  ได้แยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล มีชื่อใหม่ว่า มณฑลอุบลและมณฑลร้อยเอ็ด

                พ.ศ. 2458 จัดตั้งมณฑลมหาราษฎร์ขึ้น โดยแยกออกจากมณฑลพายัพ

ระบบมณฑลเทศาภิบาล คือระบบแบ่งเขตการปกครองส่วนภูมิภาคในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีการใช้มาจนถึงสมัยช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองประมาณ 7 ปี เป็นการเลียนแบบการปกครองของอังกฤษในพม่าและมาเลเซีย เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2440 โดยพระราชดำริของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มณฑลมีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง เจ้าเมืองไม่มีอำนาจที่จะปกครอง หน่วยการปกครองเรียงจากใหญ่ไปเล็กได้ดังนี้
มณฑลภาค → มณฑล → เมือง → อำเภอ → ตำบล → บ้าน
ใน พ.ศ. 2458 ดินแดนสยามมีมณฑลอยู่ 19 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 72 เมือง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำจึงทำให้หลายมณฑลถูกยุบรวมกันตั้งแต่ พ.ศ. 2468 ภายหลังจึงคงเหลืออยู่เพียง 14 มณฑล ได้แก่ กรุงเทพพระมหานคร มณฑลจันทบุรี มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ มณฑลนครศรีธรรมราช มณฑลนครราชสีมา มณฑลปราจีนบุรี มณฑลปัตตานี มณฑลพายัพ มณฑลพิษณุโลก มณฑลภูเก็ต มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลอุดรธานี ทั้งหมดถูกล้มเลิกไปในปี พ.ศ. 2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการบริหารราชการส่วนภูมิภาค พุทธศักราช 2476 ขึ้น และนับจากนั้น จังหวัดก็ได้กลายเป็นเขตการปกครองย่อยของประเทศไทยที่มีระดับสูงที่สุด