ตัวอย่าง การเขียน Personal Statement

Statement of Purpose(SOP) และ Personal Statement(PS) คืองานเขียนบรรยายเกี่ยวกับตัวผู้สมัครความยาวประมาณ 1 หน้า A4 เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการสมัครเรียนต่อ หลายคนอาจสับสนว่าทั้งสองแบบนี้ มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่าง และเราควรเขียนแบบไหนส่งให้มหาวิทยาลัย

Personal Statement 

Personal Statement คือ จดหมายแนะนำตัว ซึ่งสิ่งที่ควรเขียนในจดหมายแนะนำตัวควรจะครอบคลุมเนื้อหาดังต่อไปนี้

  • เหตุผลที่ทำให้สนใจเรียนในสาขาวิชานี้
  • กิจกรรมที่เกี่ยวข้องที่เคยทำ
  • บอกถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชา
  • เหตุผลในการสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนี้ ทำไมจึงเลือกสาขานี้ในมหาวิทยาลัยนี้
  • เมื่อเรียนจบแล้วจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างไร

Statement of Purpose

Statement of Purpose คือ บรรยายความสนใจในการศึกษาต่อในสาขาวิชานั้นๆ  ควรจะครอบคลุมเนื้อหาดังต่อไปนี้

  • โยงความสัมพันธ์การเรียนต่อจากระดับปริญญาตรีว่า เหตุใดถึงอยากศึกษาต่อในสาขานี้ในระดับปริญญาโท
  • อธิบายว่าประสบการณ์การทำงาน หรือกิจกรรมนั้นเกี่ยวข้องกับการศึกษาต่ออย่างไร
  • แสดงให้เห็นว่าความสามารถของเรานั้นเหมาะกับมหาวิทยาลัยอย่างไร ทำไมมหาวิทยาลัยนั้นจึควรรับเราเข้าศึกษาต่อ
  • ประกาศนียบัตร หรือความสามารถพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต่อ (หากมี)

ข้อควรระวังในการเขียน

ในการเขียนให้เน้นการเขียนเชิงบวก ตรงกับความจริง ห้ามโกหก และควรอุดรอยรั่วหรือจุดอ่อนของเรา(หากมี) ระวังไม่เขียนถึงข้อมูลทางด้านลบ และไม่เขียนข้อความซ้ำกับสิ่งที่เขียนไว้ในเรซูเม่

สุดท้ายควร Proofread ตรวจทานการสะกดคำและเช็คความถูกต้องตามหลักไวยากรณ์

เราควรส่งแบบไหนให้กับมหาวิทยาลัย

โดยทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยจะระบุใน entry requirements ว่าผู้สมัครต้องส่ง Personal Statement หรือ Statement of Purpose

น้องที่มีคำถามเพิ่มเติม พี่ๆ PIPP Education พร้อมให้ข้อมูลทุกหลักสูตรการเรียนต่อต่างประเทศแบบเจาะลึก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรียนต่อต่างประเทศ ฝึกงานต่างประเทศ และพูดคุยกับพี่ๆ PIPP Education ได้ผ่านช่องทางติดต่อที่แจ้งบนเว็บไซต์ค่ะ

ใครกำลังจะสมัคร UCAS ในอีกไม่กี่เดือนนี้ เขียน Personal Statement ไปถึงไหนแล้วครับ เชื่อสิว่าต้องมีบางคนยังไม่ได้เริ่มเขียน ถ้ายังไม่ได้เริ่มเขียน ก็เริ่มวันนี้เลยนะครับ อย่างที่บอกไปเสมอ ๆ ว่า Personal Statement มีน้ำหนักมาก ๆ สำคัญมาก ๆ บางคนชอบเถียงว่า Essay แค่ฉบับเดียว จะไปสำคัญอะไรหนักหนา ก็เอาเป็นว่ามีเด็ก ๆ ที่ได้ 12 A* ใน IGCSE และได้คะแนน 100 เต็ม 100 ในเกือบทุก unit ของ AS-level โดนมหาวิทยาลัยปฏิเสธมาแล้ว เพียงเพราะว่า Personal Statement ไม่ดีพอ

และแน่นอน หลาย ๆ คนจะพูดว่า “แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี” งั้นวันนี้ เรามาดูเทคนิคเริ่มเขียน Personal Statement สำหรับคนที่ยังไม่ได้เริ่มกันครับ จะได้เริ่มกันเสียทีนะ

คำเตือน ก่อนจะอ่านต่อไป !

สำหรับคนที่ยังไม่ชัดเจน ว่าอยากเรียนต่อด้านไหน จะเลือกคอร์สอะไรใน UCAS สิ่งที่ต้องรีบทำก่อนที่จะมาเขียน Personal Statement ก็คือไปหาตัวเองมาให้เจอก่อน เพราะว่า Personal Statement นั้นสามารถเขียนได้แค่ 1 ฉบับ และ 1 ฉบับนี้จะต้องโฟกัสแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เราสนใจจริง ๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยที่ได้อ่านจะรู้สึกได้ว่าเราไม่จริงจัง เราไม่มีความ Born to be ในสิ่งที่เราเลือก และ นั่นจะเป็นเหตุผลอันดับต้น ๆ ที่เราจะถูกปฏิเสธจากมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เพราะฉะนั้น ไปหาตัวเองมาให้เจอก่อน จะทำ Career Test จะอ่านหนังสือเพิ่มเติม จะฝึกงาน หรือจะอะไรก็รีบไปทำนะครับ

ขั้นตอนที่ 0 ตั้งความเข้าใจให้ถูกก่อนว่า Personal Statement คืออะไร

Personal Statement คือโอกาสแรกที่จะทำให้มหาวิทยาลัยเชื่อได้ว่า เรา Born to be ในสิ่งที่เราเลือกจริง ๆ เพราะฉะนั้นนอกจากการยกหลักฐานต่าง ๆ มาสนับสนุนแล้ว เราต้องแน่ใจด้วยว่าหลักฐานที่เรายกมาประกอบนั้นถูกเขียนในลักษณะที่จะสามารถโน้มน้าวให้เขาเชื่อได้ว่า เรานี่แหละใช่คนที่สมควรจะเรียนด้านนี้จริง ๆ เรานี่แหละใช่คนที่คุณต้องรับเราเข้าไปเรียนจริง ๆ เรานี่แหละคือคนที่ถ้าคุณไม่รับเข้าไปนะจะต้องเสียดายไปอีกหลายปีเลย

แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่การพยายามเขียนเพื่อยกตัวเองให้สูงขึ้น หรือดูน่าหมั่นไส้ หรือแม้กระทั่งดูขี้โม้จนเกินงาม มันคือการเขียนเล่าแบบเรียบ ๆ ธรรมดา แต่คนอ่านสัมผัสได้ว่าเรามีของดีจริง ๆ เรานี่แหละที่ใช่จริง ๆ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้มันมีความเป็นศิลปะอยู่ในตัวเอง ทัศนคติที่ถูกต้องในการเขียน Personal Statement ก็คือ เอาความจริงทั้งหมดที่น่าสนใจมาเล่าให้เขารู้จักตัวเราที่เป็นเราจริง ๆ ให้สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราเรียนรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราแบ่งปันใน Personal Statement นั้น เป็นตัวนำให้มหาวิทยาลัยรู้สึกว่า “คนนี้แหละ ที่เราต้องการ”

เมื่อตั้งความเข้าใจไว้ถูกต้องแล้ว เรามาเริ่มขั้นตอนที่ 1 กันครับ

ขั้นตอนที่ 1 ตอบได้ให้ว่า “ทำไม” ถึงอยากเรียนด้านนี้ แล้วเขียนมันลงไป

ส่วนใหญ่เรื่องว่า “ทำไม” ถึงอยากเรียนด้านนี้ มักจะถูกเขียนเป็น Paragraph แรกของ Personal Statement เนื่องจากมันเป็นตัวเปิดที่ดีครับ บางคนพยายามถามหาสูตรสำเร็จว่าต้องเขียนอย่างไรให้ชนะใจคนอ่านตั้งแต่ Paragraph แรก ก็ต้องบอกเลยว่าสูตรสำเร็จนั้นคงไม่มี ดีที่สุดคือ ไปหาเหตุผลจริง ๆ มาให้ได้ครับว่าเราอยากเรียนด้านนี้เพราะอะไร แล้วเขียนมันลงไป

แต่สิ่งที่จะแนะนำไว้ตรงนี้ก็คือ ถ้าเหตุผลนั้น ไม่ใช่เหตุผลที่มาจากตัวเราเองจริง ๆ ที่สนใจมาก ๆ หรือหลงใหลมาก ๆ ในสิ่งที่เราจะเลือก มันก็จะไม่ใช่เหตุผลที่ดีพอทันที ยกตัวอย่างเช่น การบอกว่าอยากเรียนสิ่งนี้เพราะคุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียน หรือ เพราะว่าตอนนี้มันเป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่นิยมนั้น มันเป็นการสะท้อนให้คนอ่านเห็นเลยว่าเราก็แค่ทำตามคนอื่น เราไม่ได้มีความเป็นตัวของตัวเองเลย แล้วแบบนี้เราจะ Born to be ได้อย่างไร หรือการเขียนว่าเลือกเรียนด้านนี้เพราะอาชีพนี้จะทำเงินได้เยอะจะมีรายได้ที่ดีนั้น แม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่มาจากความต้องการของตัวเอง แต่มันก็ไม่ได้น่าประทับใจเลยสักนิด เพราะนั่นไม่ใช่แก่นของการเรียนด้านนั้น ๆ จริง ๆ

Paragraph แรกนี้อาจจะเป็น Paragraph ที่ยากที่สุด เพราะฉะนั้น ค่อย ๆ list ออกมาก่อนก็ได้ครับว่าเหตุผลของเราคืออะไร แล้วค่อย ๆ ตกแต่งไปเรื่อย ๆ สุดท้ายนี่อาจจะเป็นส่วนสุดท้ายที่เขียนเสร็จ ก็ไม่ได้เสียหายอะไรครับ ไปดูขั้นตอนที่ 2 กันต่อเลย

ขั้นตอนที่ 2 List ออกมาทั้งหมดว่าชีวิตนี้ทำอะไรมาบ้าง เรียนรู้อะไรมาบ้าง ที่มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังจะไปเรียน

หลังจากเหตุผลที่ชัดเจนแล้ว มหาวิทยาลัยก็คงอยากจะถามว่า “ไหนล่ะ หลักฐาน ลองแสดงให้ดูหน่อยว่าคุณเหมาะสมกับสิ่งนี้อย่างไร”

เชื่อไหมครับว่า ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันที่จะเริ่มเขียน Personal Statement เนี่ย แต่ละคน ๆ ทำอะไรมาเยอะมาก เพียงแต่บางทีเราจะนึกมันไม่ค่อยออก เพราะว่าทั้งหมดนั้นมันอยู่ในหัว แล้วมันก็อยู่ในความคิดที่วุ่นวายยุ่งเหยิง เพราะฉะนั้น ให้เขียนมันออกมาครับ list ออกมาเป็นข้อ ๆ ก่อนก็ได้ว่าชีวิตนี้เราทำอะไรมาบ้าง เรียนรู้อะไรมาบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือ ขอให้มันเกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่เรากำลังจะสมัครเรียนครับ ซึ่งมันสามารถเขียนออกมาได้ในหลาย ๆ อย่างเลย ยกตัวอย่างเช่น

  • หนังสือที่เราอ่าน
  • งานวิจัย (research) ที่เราเคยอ่าน หรือ เคยทำ
  • กิจกรรมที่โรงเรียน
  • การประกวดแข่งขันต่าง ๆ
  • การฝึกงาน หรือ การดูงาน (work experience)
  • การเรียนในห้องเรียน
  • ฯลฯ

เอาจริง ๆ ไม่มีกฎตายตัวเลยว่ามันควรเป็นสิ่งใดหรือกิจกรรมประเภทใด ขอแค่มันมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังจะสมัครเรียนก็พอ ซึ่งตัวชี้วัดอีกอย่างว่ามันเกี่ยวข้องจริง ๆ หรือไม่คือ เราจะต้องไปหาข้อมูลมาก่อนครับว่า อาชีพที่เราอยากจะทำในอนาคตนั้น ต้องใช้ทักษะ (skill) อะไรบ้าง อันนี้ค้นหาจาก Google ง่าย ๆ ได้เลยครับ เช่น Skills needed for Engineering เราก็จะเจอบทความที่เกี่ยวกับทักษะที่คนจะไปเรียนด้าน Engineering ต้องใช้ อ่านหลาย ๆ บทความ ทำ list ออกมา แล้วเอามาจับคู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำมาว่ามันเกี่ยวข้องกันหรือตรงกันไหม

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญกว่าคำว่า “เราทำอะไรมาบ้าง” คือ “เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง” ยกตัวอย่างเช่น การเล่าว่าอ่านหนังสือกี่เล่ม ๆ ชื่ออะไรบ้าง ย่อมไม่น่าสนใจเท่ากับการเขียนลงไปว่า หนังสือแต่ละเล่มที่เราอ่านเราได้เรียนรู้อะไร มันจุดประกายอะไรให้เรา แม้แต่การฝึกงานเองก็เหมือนกัน บางคนใส่ชื่อที่ฝึกงานลงไปเป็นสิบ ๆ ที่ แต่ไม่ได้เขียนอะไรมากกว่านั้น ย่อมสู้คนที่อาจจะพูดถึงการฝึกงานแค่ 1-2 ที่ แต่อธิบายได้ว่าได้เรียนรู้อะไรจากตรงนั้นบ้าง ไม่ได้เลยแม้แต่น้อย

บางคนอาจสงสัยว่า แล้วกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะเลือกเรียนต่อล่ะ อย่างเช่น ถ้าชอบเล่นกีฬาเป็นตัวแทนโรงเรียน แม้มันจะไม่เกี่ยว แต่มันก็ดูดีมาก ๆ ควรจะเขียนลงไปไหม คำตอบก็คือ เราเขียนสิ่งเหล่านี้ลงไปได้ แต่น้ำหนักมันจะไม่เยอะ เพราะฉะนั้น อย่าเขียนเกิน 10% ของเนื้อหาทั้งหมดใน Personal Statement ครับ แม้มันจะทำให้ดูดี แต่ถ้ามันทำให้มหาวิทยาลัยเห็นไม่ได้ว่าแล้วมันเกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียนอย่างไร หรือมันแสดงไม่ได้ว่าเรา Born to be ในสิ่งที่ตัวเองจะเลือกอย่างไร มันก็ไม่มีประโยชน์ครับ

ขั้นตอนที่ 3 ลองเล่าแผนการในอนาคตซิ เห็นตัวเองกำลังทำอะไรในวันข้างหน้า

นอกจากเหตุผลว่าทำไมถึงอยากเรียน และหลักฐานว่าทำอะไรมาแล้วบ้างที่แสดงความ Born to be แล้ว มหาวิทยาลัยย่อมสนใจคนที่มีเป้าหมายว่า ในอนาคตคิดจะไปทำอะไรต่อ หากได้เข้าไปเรียนด้านนี้แล้วหรือเรียนจบไปแล้ว

อันนี้มันอาจจะย้อนกลับไปที่เหตุผลครับว่าเราอยากเรียนด้านนี้เพราะอะไร บางคนมีภาพอนาคตที่อยากจะได้รออยู่แล้ว และนั่นก็เป็นเหตุผลในตัวมันเอง ทีนี้ถ้าเรายังไม่มีภาพนั้น ก็ไม่เป็นไรครับ ให้เริ่มหาภาพนั้นทีละนิด ๆ ด้วยการอ่านให้มากขึ้น ค้นคว้าให้มากขึ้น ศึกษาชีวิตคนอื่น ๆ ที่เขาอยู่ในวงการนี้ให้มากขึ้น หรืออาจจะลองมองออกไปข้างนอกว่าโลกของเราทุกวันนี้กำลังมีปัญหาอะไร แล้วสิ่งที่เรากำลังจะเรียนหรือทำในอนาคตนั้นมันจะมีส่วนช่วยในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อเห็นความเชื่อมโยงนั้นแล้ว ลองดูสิว่าถ้าไปถึงวันนั้นจริง ๆ เราจะอยากทำสิ่งนั้นหรือไม่

คำแนะนำเพิ่มเติม คือให้หาเวลาหรือวันว่าง ๆ อยู่กับตัวเองคนเดียว ห่างจากโทรศัพท์มือถือและสิ่งที่จะทำให้เสียสมาธิทั้งหลาย นั่งผ่อนคลายสบาย ๆ แล้วค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ จินตนาการ บางทีเราอาจจะได้คำตอบบางอย่างก็ได้ครับว่าอนาคตเราจะไปทำอะไรต่อ

ขั้นตอนที่ 4 เอาทั้งหมดมารวมกัน แก้ไข แล้วส่งต่อให้คนอื่น

หลังจากตอบได้แล้วว่าทำไม รวบรวมหลักฐานทั้งหมดมาแล้ว รวมถึงคิดอนาคตเสร็จเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ได้เวลาเอามันมารวมกัน และขยายความจากแค่ list เป็นข้อ ๆ ให้กลายเป็น Paragraph และกลายเป็น Personal Statement จริง ๆ ซึ่งถ้าทำทั้ง 3 ขั้นตอนมาเป็นอย่างดี รับรองได้เลยว่าขั้นตอนนี้จะไม่ยากอย่างที่คิดเพราะมันแค่เป็นการขยายความสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วให้มันร้อยเรียงเป็นเรื่องราวก็เท่านั้นเอง

และสุดท้าย เราก็จะได้ First Draft ของ Personal Statement ซึ่งถือว่าเป็น draft ที่ยากที่สุดแล้ว หลังจากนี้คือการแก้ไขในเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องของภาษาที่ต้องปรับให้น่าอ่านขึ้น เชื่อมโยงขึ้น และในระหว่างนี้เราอาจเจอบางอย่างที่ขาดหายไป เช่น อยากเล่าบางเรื่องเพิ่ม ก็จะเป็นโอกาสให้เติมเข้าไปได้ หรืออยากตัดบางเรื่องออก ก็สามารถตัดออกได้เช่นกัน ที่สำคัญคือทุกครั้งที่แก้ไขอะไร ก็ให้อ่านให้ทั้งหมดอีกรอบเพื่อดูว่ามันไปในทำนองเดียวกันแล้วหรือยัง

และเราสามารถเอาสิ่งที่เราเขียนนี้ให้คนอื่น ๆ อ่านได้ เช่น คุณพ่อคุณแม่ ครู หรือแม้กระทั่งเพื่อน จริง ๆ คือใครก็ได้ แล้วลองให้เขาช่วยกันให้ความเห็นดู เราอาจจะได้ข้อมูลดี ๆ บางอย่างเพื่อปรับ Personal Statement ให้ดีขึ้นไปอีกก็ได้

สุดท้ายอย่าลืมขั้นตอนแรกสุดที่คุยกันไว้ ว่า Personal Statement นี้จะต้องอ่านแล้วทำให้รู้สึกได้ว่าเราคือคนที่ Born to be ด้านนี้จริง ๆ และสิ่งที่เราเขียนมันไม่ได้ยกตัวเองจนเกินไป รวมถึงในทางตรงข้ามคือก็ไม่ได้ดูถูกตัวเองจนเกินไป เป็นสิ่งที่เป็นความจริงที่น่าสนใจ และเป็นตัวเราเองที่เป็นตัวเองจริง ๆ ที่ไม่ได้ถูกปั้นแต่งขึ้นมาเพียงเพื่อจะเอาใจใครจนเกินงาม

ใครกำลังจะต้องทำ UCAS เร็ว ๆ นี้แล้วยังไม่ได้เขียน เริ่มเขียนได้แล้วนะครับ ช้ากว่านี้จะไม่ทันการเอา ส่วนเด็ก ๆ Year 12 เองก็เหมือนกัน อย่างที่เคยบอกเสมอว่าดีที่สุดในการเริ่ม Personal Statement คือต้น Year 12 นี่แหละ เพราะเขียนแล้วเราจะรู้ว่าเรายังขาดอะไรต้องทำอะไรเพิ่ม จะได้ไปหามาเติมในช่วง Year 12 อีกทั้งปี สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนเขียน Personal Statement ที่ดีที่สุดของตัวเองได้สำเร็จนะครับ