เรียงความ เรื่องความสามัคคีคือพลัง

"...ความสามัคคีนี้เป็นคุณธรรมสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งหมู่ชนอยู่รวมกันจำเป็นต้องมี ต้องถนอมรักษาและต้องนำมาใช้อยู่สม่ำเสมอ ถ้าแต่ละฝ่ายเข้ามาร่วมกันทำงานด้วยความตั้งใจดีด้วยความสามัคคี ความรู้ความสามารถ และด้วยความคิดที่สร้างสรรค์งานก็สำเร็จสมบูรณ์งดงามตามประสงค์ทุกอย่าง..."

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จออกมหาสมาคม

งานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2530

พระราชดำรัสนี้มีสาระสำคัญคือ ความสามัคคีเป็นคุณธรรมเกื้อหนุนค้ำจุนให้กิจการงานต่างๆ ที่ทำร่วมกันประสบผลสำเร็จตามความประสงค์ เกิดความเจริญก้าวหน้า เป็นคุณธรรมสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการถนอมรักษาและพัฒนาให้จำเริญงอกงามขึ้นท่ามกลางการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม

ความสามัคคีหมายถึงอะไร? มีความสำคัญอย่างไร? และประเทศไทยจำเป็นต้องมีความสามัคคีของคนในชาติหรือไม่?

ปัจจุบันมีการให้นิยามของคำว่า “ความสามัคคี” (Unity) เอาไว้ในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เช่น 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมาย ความสามัคคี ว่าหมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน ความปรองดองกัน 

พจนานุกรม อ๊อกซฟอร์ด แปลตามตัวอักษรภาษาไทยว่า ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียงกัน การรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

พจนานุกรม เคมบริดจ์ นิยามความสามัคคี หมายถึง ความเป็นหนึ่งเดียวกัน หรือ ความสมานฉันท์

พจนานุกรม อ๊อกซฟอร์ด แอดว้านส์เลิร์นเนอร์ ความสามัคคี หมายถึง ความสมานฉันท์และการทำงานร่วมกัน ความเป็นเอกภาพหนึ่งเดียวกัน

พจนานุกรม ลองแมน แปลตามตัวอักษรภาษาไทยว่า ความสามัคคี หมายถึง กลุ่มคนหรือประเทศที่เห็นพ้องหรือเป็นหนึ่งเดียวกัน

คำว่า ความสามัคคี มีรากศัพท์มาจากคำบาลีและสันสกฤต คำว่า สมะ คำบาลี หมายถึง ความสงบ ความราบคาบ คำว่า อัคคิ อัคคี คำบาลีและสันสกฤตใช้ อคฺคิ อคฺนิ หมายถึง ไฟ เมื่อนำทั้ง 2 คำมารวมกันจึงหมายถึง ไฟที่สงบ

โดยทั่วไป “ความสามัคคี” จึงให้ความหมายถึง การที่ทุกคนมีความพร้อมกาย พร้อมใจ และพร้อมความคิด เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่ทุกคนในสังคมต่างยอมรับว่า เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น หน่วยสังคมขนาดเล็ก ระดับครอบครัว ระดับองค์กร หรือขนาดใหญ่ระดับชุมชน ระดับประเทศ และระดับโลก หากขาดความสามัคคี ย่อมขาดพลังในการทำสิ่งต่าง ๆ และยิ่งหากปัญหาความขัดแย้งมีมาก ย่อมสามารถลุกลามไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด

ผลการรายงานของ World Development Report ที่ออกโดยธนาคารโลกเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมาระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ความรุนแรงเป็นสาเหตุ “หลัก” ของความยากจน ประเทศที่รักความสงบจะสามารถหนีออกจากความยากจนได้ แต่ประเทศที่มีสงครามกลางเมือง หรือ มีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างเชื้อชาติ หรือ มีคดีอาชญากรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก จะติดกับดักความยากจน 

ผลการรายงานดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานเชิงประจักษ์ชิ้นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันระหว่างปัญหาความขัดแย้งภายในกับระดับการพัฒนาประเทศ ซึ่งในที่นี้พบว่าประเทศใดก็ตามที่มีความขัดแย้งภายในสูง คนในชาติปราศจากความสามัคคีกันอย่างรุนแรง ย่อมยากที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีเสถียรภาพ มั่นคง และโดยส่วนใหญ่ประเทศในกลุ่มประเทศโลกที่สาม หรือ กลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country; LDC) มีลักษณะเช่นนี้ในประเทศ 

ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศและการขาดความสามัคคีของคนในชาติ มิได้ส่งผลกระทบเฉพาะกับกลุ่มประเทศโลกที่สาม หรือ ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดดังที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น ตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติยืนยันให้เห็นว่า ประเทศใดก็ตามที่มีปัญหาความขัดแย้งภายในไม่ว่าจะมากหรือน้อยย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยกันทั้งสิ้น อาทิ จากรายงานของสถาบันพัฒนาเกาหลี (Korea development institute) พบว่า การเดินขบวนประท้วง 11,036 ครั้ง ในปี ค.ศ. 2006 ส่งผลกระทบทำให้เกิดความสูญเสียที่สามารถคิดเป็นตัวเงิน (Social cost) มากถึง 5.6 - 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (เปรียบเทียบ 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.56 ของ GDP ประเทศเกาหลี ปี ค.ศ. 2006)

ในจำนวนนี้รวมถึงประเทศไทยเราด้วยเช่นกันที่นับตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา เราต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งและการขาดความสามัคคีของคนในชาติมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ และความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลทำให้การพัฒนาประเทศของไทยโดยรวมต้องหยุดชะงักเป็นบางช่วงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากประสบการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของไทย พบว่าโดยปกติแล้วความไม่สงบทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศประมาณร้อยละ 1-15 นั่นหมายความว่า หากประเทศไทยเราจมปลักอยู่กับปัญหาความขัดแย้งเรื่อยไป ย่อมเป็นอุปสรรคทำให้ยากที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ    

ผลกระทบอันเกิดจากความขัดแย้งและการขาดความสามัคคีกันของคนในชาตินี้ ด้านหนึ่งยังเป็นปัจจัยเสริมแรงที่ลดทอนศักยภาพทางการแข่งขันของประเทศไทยเราในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุน ทำให้ปัจจุบันเราต้องเขยิบร่นลงมาตามหลังอีกหลายประเทศในภูมิภาค เนื่องจากสูญเสียโอกาสทางด้านการลงทุนจากต่างชาติ อาทิ เวียดนาม มีนโยบายการค้าการลงทุนที่เอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติ การเมืองมีเสถียรภาพเปิดกว้างทางด้านนโยบายการค้าการลงทุน ขณะที่มาเลเซียกำลังจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อันเป็นผลมาจากความมีเสถียรภาพทางการเมือง เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาค 

นอกจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศดังที่กล่าวมาแล้ว อีกด้านหนึ่งประเทศไทยเรายังต้องเผชิญกับปัญหาสังคม อันเป็นผลมาจากการใช้ความสามัคคีแบบขาดหลักคิดพื้นฐานทางด้านคุณธรรมจริยธรรมกำกับ ก่อให้เกิดผลเสียหายโดยรวมแก่ประเทศชาติสังคม อาทิ การรวมกลุ่มนักศึกษาเปิดศึกยกพวกตีกัน สะกดรอยไล่ล่ากันอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย การรวมตัวกันกดดันเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองต้องการ มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง โดยปราศจากการคำนึงถึงความถูกต้องดีงาม ความสามัคคีเช่นนี้ แม้จะมีพลัง แต่หาได้สรรค์สร้างคุณูปการแก่สังคมแต่ประการใด

การขาดเสถียรภาพและคุณภาพความสามัคคีของคนในชาติเป็นหนึ่งในหลายๆ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างแท้จริง นอกเหนือไปจากสาเหตุสำคัญคือ การขาดการวางรากฐานปรัชญาการสร้างชาติในภาพรวมและในแต่ละด้าน แต่ละมิติ อย่างสมดุล ครบถ้วน ถูกต้อง เหมาะสม จึงส่งผลให้การพัฒนาประเทศขาดภาพอุดมคติที่ต้องการ ขาดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่พึงประสงค์ ทำให้ยากต่อการขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคงในระยะยาวแล้ว

ประเทศไทยเราจะสามารถออกจากวังวนของความขัดแย้งและเสริมสร้างความสามัคคีที่ดีงามของคนในชาติให้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

จากการเฝ้าสังเกตสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ประกอบกับการสังเกต การวิเคราะห์ ประมวลสิ่งต่าง ๆ ทำให้ผมค้นพบแนวความคิดที่เป็นข้อเท็จจริงว่า “ความสามัคคีที่มีพลัง” สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามและคุณูปการแก่สังคมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์นั้น จะต้องเป็นการอยู่ด้วยกันของคนในสังคมที่มีรากฐานความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์กันที่ตั้งอยู่บนฐานของความถูกต้องดีงาม เป็นตัวกำกับ ซึ่งผมบัญญัติศัพท์ขึ้นเองว่า “อารยสามัคคี”

อารยสามัคคี จึงหมายถึง ความสามัคคีที่ตั้งอยู่บนฐานความดีแท้ ความงามแท้ และความจริงแท้ เป็นตัวกำกับ

ความสามัคคีเช่นว่านี้ สามารถนำความสุขสงบผาสุกมาสู่สังคม ลดปัญหาความสับสนวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการอยู่ร่วมกัน เกิดพลังร่วมแรงร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการจัดการแก้ไขปัญหา ปฏิบัติภารกิจ และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม

เรียงความ เรื่องความสามัคคีคือพลัง

ความสามัคคีบนฐานความดี เป็นความสามัคคีที่กำกับด้วยความดีและความถูกต้อง มีเป้าหมายที่ดีงามเพื่อคุณประโยชน์ต่อตนเองและสังคมส่วนรวม ยึดมั่นในระบบคุณธรรม คนในสังคมใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มกำลัง เต็มศักยภาพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ด้วยจิตใจที่เสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติภารกิจอย่างมีเอกภาพ มิใช่การรวมตัวกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือ พวกพ้องโดยปราศจากการคำนึงถึงมิติผลกระทบในทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อองค์กร ชุมชน  สังคมส่วนรวม และประเทศชาติหรือ ด้วยจิตใจมุ่งร้าย ทำร้ายทำลาย สร้างความเดือนร้อนเสียหายให้กับผู้อื่น

ความสามัคคีบนฐานความดีนี้ หากเกิดมีขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคมย่อมส่งเสริมให้สังคมส่วนรวมเกิดความเจริญก้าวหน้า ภารกิจการงานสำเร็จผล สามารถขับเคลื่อนองค์กร ชุมชน  สังคมส่วนรวม และประเทศชาติ ให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ได้อย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง 

ตัวอย่างความสามัคคีบนฐานความดีในที่นี้ อาทิ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่เรียกได้ว่า “ดี” เนื่องจากว่ากิจกรรมนั้นมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และความเจริญก้าวหน้าของประชาชนและสังคมในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ เทคโนโลยี การเมืองการปกครอง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กฎหมาย การศึกษาและการเรียนรู้ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นต้น

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างการหลอมรวมพลังความสามัคคีบนฐานความดีของคนในชาติจากที่เคยแตกแยก แบ่งสีแบ่งฝ่าย แบ่งพรรคแบ่งพวกกัน ให้หันหน้าเข้าหากัน ช่วยเหลือเกื้อกูล ร่วมแรงรวมใจกัน โดยมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างเดียวกันคือ การนำพาประเทศชาติบ้านเมืองให้ผ่านพ้นวิกฤตที่เกิดขึ้นไปได้ด้วยดี 

ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น เราเห็นภาพประชาชนจำนวนมากช่วยกันบริจาคเงินทอง อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้ผู้ประสบภัย เกิดการร่วมมือร่วมใจของฝ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทหาร ตำรวจ พลเรือน องค์กรเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และอาสาสมัครจำนวนมาก ในที่นี้บ้างต้องเสียสละประโยชน์สุขและผลประโยชน์ส่วนตน ยินดีอดทนทำงานหนัก เพื่อรักษาประโยชน์สุขส่วนรวม ช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด จนเป็นเหตุทำให้มูลนิธิช่วยเหลือการกุศล หรือ ซีเอเอฟ (Charities Aid Foundation: CAF) จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศใจบุญอันดับ 9 ของโลกจากทั้งหมด 153 ประเทศ ขณะที่ผลของดัชนีย่อยพบว่า คนไทยบริจาคเงินเพื่อการกุศลมากเป็นอันดับ 1 ของโลก อันเป็นผลมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ด้วยเช่นกัน     

เรียงความ เรื่องความสามัคคีคือพลัง

ความสามัคคีบนฐานความงาม เป็นความสามัคคีที่มีความงดงามของการอยู่ร่วมกัน มิใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ขาดทิศทางและเป้าหมายร่วมกัน แต่เป็นการพร้อมใจประสานพลังการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างกลมกลืน และเพื่อวัตถุประสงค์ที่ดี คือ เต็มใจทุ่มเท เสียสละ เพื่อผู้อื่น หน่วยงาน องค์กร ชุมชน สังคม ประเทศชาติ การอยู่ร่วมกันและทำสิ่งต่าง ๆ ร่วมกันเป็นลักษณะสัญญาใจ ร่วมทุกข์ร่วมสุขช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จะบรรลุผลสำเร็จ ก่อเกิดเป็น “พลังทวีคูณ” ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นในระดับต่าง ๆ 

เราสามารถเห็นตัวอย่างความสามัคคีบนฐานความงามนี้ อาทิ กลุ่มฟุกุชิมะ 50 (Fukushima 50) วีรบุรุษเสี่ยงตาย 50 คน ประกอบด้วย ตำรวจ ทหาร นักดับเพลิง คนงานโรงงานไฟฟ้า ที่สลับสับเปลี่ยนเวรยามกันในการควบคุมดูแลการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี พวกเขาเหล่านี้พร้อมที่จะเสียสละชีวิตด้วยความสมัครใจ เพื่อปกป้องชีวิตของคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ ฟุกุชิมะในขณะที่ประสบภัยพิบัติสึนามิครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในห้าแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของโลกนับตั้งแต่ที่มีการบันทึกสมัยใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา ความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพในอนาคตหรืออาจส่งผลกระทบถึงชีวิต แต่พวกเขาเหล่านี้ก็ “พร้อมจะสละชีวิต” เพื่อภารกิจดังกล่าว

นอกจากนี้ ความสามัคคีของคนญี่ปุ่นยังสะท้อนให้เห็นผ่านทางการให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมเป็นอย่างมาก สมาชิกแต่ละคนจะกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยดูทิศทางและความคิดเห็นของกลุ่มเป็นสำคัญ ทุ่มเทอุทิศตัวทำงานเพื่อกลุ่มของตนเอง การทำงานโดยคำนึงถึงหมู่คณะเป็นหลักนี้พบเห็นได้จาก พนักงานของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเกือบร้อยละ 100 ใช้วันเวลาพักร้อนของตัวเองไม่ครบตามจำนวน ส่วนใหญ่แทบไม่ใช้สิทธิ์วันลาพักร้อนเลย เนื่องด้วยความคิดที่ว่า หากลาหยุดพักร้อนจะทำให้พนักงานคนอื่นที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องทำงานในส่วนของพวกเขาไปด้วยพร้อมกัน ทำให้พนักงานเหล่านี้จึงไม่ยอมลาพักร้อน จนกระทั่งบริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นต้องออกจดหมายเวียนประกาศขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนช่วยกันใช้สิทธิ์ลาพักร้อน มิฉะนั้นทางบริษัทจะต้องตกที่นั่งลำบาก เนื่องจากถูกกระทรวงแรงงานกระตุ้นเตือน พนักงานจึงยอมใช้สิทธิ์ลาพักร้อนของตนเอง

ความสามัคคีบนฐานความงามนี้จะเกื้อหนุนค้ำจุนให้กิจการงานที่ทำร่วมกันประสบความสำเร็จ ลดปัญหาความขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งไม่ลงรอยกัน เกิดการประสานจุดแกร่งและเสริมสร้างจุดอ่อนของกันและกัน เกิดความพร้อมเพรียงปรองดองกัน อันจะส่งผลที่ดีต่อการพัฒนาองค์กร ชุมชน สังคมส่วนรวม และประเทศชาติ

เรียงความ เรื่องความสามัคคีคือพลัง

ความสามัคคีบนฐานความจริง เป็นความสามัคคีที่คำนึงถึงความสมจริงสมจังในการอยู่ร่วมกันและการอยู่รอดของทุกฝ่าย มุ่งเพื่อให้ทุกฝ่ายชนะร่วมกัน (win-win) เกิดการกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทุกคนเกิดความพึงพอใจและบรรลุเป้าหมายของตน แต่ละฝ่ายยินดีที่จะใช้จุดแข็งเสริมจุดอ่อนของอีกฝ่าย โดยมีเอกภาพในเป้าหมายเดียวกัน ความสามัคคีเช่นนี้จะนำความยั่งยืนและดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ มั่นคง

ตัวอย่างความสามัคคีบนฐานความจริงดังกล่าวนี้ อาทิ แนวคิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public – Private Partnership: PPP) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานบริการสาธารณะของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับการลงทุน ความร่วมมือกันนี้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการและพัฒนากิจการสาธารณะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในโครงการสำคัญ ๆ เพื่อลดข้อจำกัดอันเกิดจากการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐในขณะที่ภาคเอกชนได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากความร่วมมือนี้ด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ การได้รับสัมปทานและการว่าจ้าง การเข้าถึงแหล่งกระแสเงินสดระยะยาวของรัฐบาล เป็นต้น 

ปัจจุบันมีการนำแนวคิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนดังกล่าวไปใช้กันอย่างแพร่หลายและหลากหลายรูปแบบ อาทิ รูปแบบภาคเอกชนเป็นผู้จัดสร้างสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการขึ้นมาใหม่ หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนถือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมกัน หรือ  รูปแบบภาคเอกชนเป็นผู้จัดสร้างสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการขึ้นมาใหม่ และโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้ภาครัฐเมื่อเสร็จสิ้นสัญญา เป็นต้น การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ PPP ยึดหลักคิดพื้นฐานการกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์และบรรลุเป้าหมายของตนเอง ส่งผลให้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างกันสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ มั่นคง และก่อเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด 

เรียงความ เรื่องความสามัคคีคือพลัง

ความสามัคคีบนฐานความจริง: ความสมดุลทางอำนาจ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ และความสมดุลทางสังคม

ความสามัคคีบนฐานความจริงต้องนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายชนะร่วมกัน (win - win) ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ เกิดความพึงพอใจจากการอยู่ร่วมกัน อันมีองค์ประกอบหลักสำคัญ 3 ประการ ประกอบด้วย ความสมดุลทางอำนาจ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ และความสมดุลทางสังคม โดยทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้เกิดมีขึ้นในสังคมการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ครบถ้วน เหมาะสม  

เรียงความ เรื่องความสามัคคีคือพลัง

ความสมดุลทางอำนาจ เป็นความสมดุลในศักยภาพการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง มีเสรีภาพ ไม่ถูกครอบงำ สัมพันธ์กันบนพื้นฐานความสมัครใจ แต่ละฝ่ายต่างมีคุณค่าเท่าเทียมกัน (Equal worth) ไม่มีใครถูกกดขี่ข่มเหง หรือ ทำให้เกิดความรู้สึกไร้อำนาจ หากสามารถสร้างสมดุลทางอำนาจได้อย่างเหมาะสมจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งในองค์กร ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ได้อีกทางหนึ่ง

ความสมดุลทางอำนาจนี้พบเห็นได้จากการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย (network) สมาชิกแต่ละคนมีคุณค่าเท่าเทียมกันในฐานะของ “หุ้นส่วน” (Partner) ของเครือข่าย เป็นการเน้นความสัมพันธ์ในแนวราบ (Horizontal relationship) ที่เท่าเทียมกันแทนการเน้นความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง (Vertical relationship) อาทิ หากการรวมตัวเป็นเครือข่ายเกิดขึ้นระหว่างรัฐกับชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐควรวางสถานะของตนเองเทียบเท่ากับประชาชนในฐานะของสมาชิกเครือข่าย มิใช่การวางตัวเป็นเจ้านายเหนือประชาชน ความสัมพันธ์บนคุณค่าที่เท่าเทียมกันนี้จะส่งเสริมให้การสร้างเครือข่ายมีความเข้มแข็ง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกถูกกดขี่หรือถูกครอบงำ  

ความสมดุลทางเศรษฐกิจ หรือ ความสมดุลทางด้านผลประโยชน์ สามารถจัดสรรผลประโยชน์ได้อย่างลงตัว ไม่มีใครถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ขาดภาวะสมดุลทางผลประโยชน์ ไม่สามารถเฉลี่ยแบ่งผลประโยชน์กันอย่างทั่วถึง อย่างสมเหตุสมผล ฝ่ายที่เสียประโยชน์ย่อมเรียกร้องต่อต้าน ตรงกันข้ามหากสามารถสร้างสมดุลทางผลประโยชน์ได้อย่างลงตัว ย่อมลดปัญหาความขัดแย้งลงได้ เกิดขวัญกำลังใจในการทำงานร่วมกัน 

เราสามารถเห็นตัวอย่างความสมดุลทางเศรษฐกิจนี้ อาทิ การสร้างกลไกเพื่อทำให้เกิดความเป็นธรรมในการกระจายหรือแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน โดยยึดตามผลงานเป็นหลักคือ ยิ่งผลงานดียิ่งมีค่าตอบแทนสูง มีโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพหน้าที่การงานมาก กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาและกำหนดค่าตอบแทนมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดความยุติธรรมหรือเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ความสมดุลทางเศรษฐกิจเช่นว่านี้ย่อมทำให้ทุกฝ่ายเกิดความพึงพอใจ ก่อให้เกิดความสุขสงบในการอยู่ร่วมกัน 

ตรงกันข้าม หากไม่สามารถทำให้ความสมดุลทางเศรษฐกิจดังกล่าวนี้เกิดมีขึ้นได้ในสังคมการอยู่ร่วมกัน อาจเป็นชนวนต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย สร้างเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เราสามารถพบเห็นกรณีดังกล่าวที่ว่านี้ อาทิ การนัดหยุดงานประท้วงเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างและผลตอบแทนของลูกจ้าง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ย่อยในสังคมประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องสิทธิและผลประโยชน์ของพวกพ้องตนเอง จนหลายครั้งนำสู่การชุมนุมประท้วงเรียกร้องที่ใช้ความรุนแรงก่อให้เกิดความวุ่นวายและกลายเป็นการก่อจลาจลในที่สุด เป็นต้น    

การสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจที่มีความสมจริงสมจังจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดการกระจายผลประโยชน์อย่างยุติธรรม เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง และรับผิดชอบต่อสาธารณะ เสริมสร้างความสุขสงบให้เกิดขึ้นในสังคมการอยู่ร่วมกัน

ความสมดุลทางสังคม หมายถึง สมดุลในพื้นที่ทางสังคม มี “ที่ยืน” ในตำแหน่งแห่งที่ที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ถูกกีดกัน หรือมีการใช้หลักปฏิบัติเงื่อนไขที่ทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ การปฏิบัติเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจ เกิดความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม และแน่นอนว่า ย่อมตามมาด้วยความขัดแย้งและการต่อต้าน

ยกตัวอย่าง ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนต้องการการยอมรับ ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันภายในองค์กร หากตั้งอยู่บนพื้นฐานการยอมรับให้เกียรติกัน ย่อมส่งเสริมให้บุคลากรได้รับการพัฒนา มีขวัญกำลังใจที่ดีในการทำงาน การยอมรับในที่นี้อาจแสดงออก อาทิ การมอบหมายงานใหม่ที่มีความท้าทายและมีความยากมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้บุคลากรเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความสำคัญในองค์กร การให้การยอมรับเพื่อนร่วมงานที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความแตกต่างทางด้านความคิด ความเชื่อ ศักยภาพ ความสามารถ ด้วยการให้ความเชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ ในการทำงานร่วมกัน และการเลื่อนตำแหน่งให้เติบโตในอาชีพหน้าที่การงาน ทำให้บุคลากรเกิดขวัญกำลังใจในการทำงาน ได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น เป็นต้น 

นอกจากนี้ การเสริมสร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการเสริมสร้างพลังความสามัคคีให้เกิดมีขึ้นท่ามกลางสังคมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง หากองค์กรมีความโปร่งใส บริหารงานด้วยความยุติธรรม ย่อมทำให้บุคลากรในองค์กรเกิดขวัญกำลังใจ เกิดความสุข ความพึงพอใจ เกิดการร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติงาน การสร้างความยุติธรรมในที่นี้อาจแสดงออก อาทิ การให้ความเป็นธรรมในการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ยึดผลงานเป็นที่ตั้ง ไม่มีอคติ พยายามให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เป็นต้น  

การสร้างความสมดุลทางสังคมดังกล่าวนี้ หากมีอย่างเพียงพอจะเสริมสร้างความสามัคคีให้มีความเข้มแข็ง เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน มีพลังขับเคลื่อนองค์กร ชุมชน  สังคมส่วนรวม และประเทศชาติ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

เรียงความ เรื่องความสามัคคีคือพลัง

กรอบคิดความสมดุล 3 ประการ อันประกอบด้วย ความสมดุลทางอำนาจ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ และความสมดุลทางสังคม  ดังที่กล่าวมานี้ สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ช่วยให้สามารถสร้างความสามัคคีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุดต่อสังคมการอยู่ร่วมกันของมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ย้อนกลับมาดูสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน ทั้งความสมดุลทางอำนาจ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ และความสมดุลทางสังคม คนแต่ละกลุ่มอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณค่าเท่าเทียมกัน คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นสรณะ ไม่มีใครถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่มีใครถูกกดขี่ ทุกคนต่างมีที่ยืนในตำแหน่งแห่งที่ที่มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี และยอมรับในกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน ความสมดุลเช่นว่านี้ย่อมเกื้อหนุนให้เกิดพลังความเป็นเอกภาพ ลดความรุนแรงอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบระหว่างกันอย่างเหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติและสังคมให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืน       

การจะพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองใดก็ตามจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางอยู่บนหลักความสามัคคีของคนในชาติที่ยึดผลประโยชน์ของสังคมและส่วนรวมเป็นสรณะ และประสานการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีเอกภาพ มีจิตใจทุ่มเทเสียสละ ร่วมทุกข์ร่วมสุขช่วยเหลือเกื้อกูล ยึดมั่นในระบบคุณธรรม และทำอย่างเต็มกำลัง เต็มศักยภาพ หากเป็นเช่นนี้ พลังทวีคูณของความสามัคคี ย่อมจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้เกิดความเจริญก้าวหน้าอย่างมีพลังมากขึ้น

ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องตระหนักและเห็นคุณค่าของความสามัคคี และใช้ความสามัคคีเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ เป็นภาพสังคมอุดมคติที่ต้องการร่วมกัน 

Post date: 

Wednesday, 9 April, 2014 - 14:42