เรียงความเรื่องพระมหากษัตริย์

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศในโลกที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองตั้งแต่สมัยสุโขทัยเรื่อยมาถึงปัจจุบันสมัยรัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของปวงชนชาวไทย ด้วยพระเมตตากรุณาและจากความช่วยเหลือของพระองค์ จึงทำให้ราษฎรของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดี 

ปวงชนชาวไทยทั่วทั้งสยามประเทศโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในสมัยสุโขทัยมีพ่อขุมรามคำแหงปกครองเหมือนพ่อปกครองลูก และในปัจจุบันนี้เช่นเดียวกันปวงชนชาวไทยก็มีพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่เป็นศูนย์รวมจิตใจ พระองค์ทรงเป็นพ่อหลวงของปวงชน ดิฉันคิดว่าชาวไทยทุกคนโชคดีที่เกิดมาเป็นพสกนิกรของพระองค์ พระองค์ได้ช่วยเหลือและเมตตาต่อพสกนิกรด้วยทั่วหน้าเหมือนสายฝนหลั่งจากฟ้าชโลมดิน นับตั้งแต่ดิฉันยังเยาว์วัย ดิฉันได้เห็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านของราษฎรทุกผู้ทุกนามสมัยก่อนเป็นอย่างไร ปัจจุบันฉันคงเห็นเป็นเช่นนั้น ชาวไทยได้เทิดทูนพระองค์โดยนำพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ประดับไว้บนหิ้งบูชาในบ้าน

นอกจากจะอ่านพระราชกรณียกิจของพระองค์จากหนังสือพิมพ์แล้ว ดิฉันชอบดูทีวีโดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวในพระราชสำนักและข่าวเนื่องในวโรกาสที่สำคัญ ๆ ทำให้ดิฉันได้เห็นพระจริยวัตรอันงดงาม และได้รับทราบว่าพระองค์ทรงเสด็จไปเยี่ยมราษฎรทั่วทั้งประเทศ ทำให้พระองค์ได้รับทราบปัญญาต่าง ๆ ของราษฏร พระองค์ทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริต่างๆ ของประเทศเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือราษฎร และแม้ว่าจะเป็นดินแดนที่ทุรกันดาร พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปและทุกครั้งที่เสด็จไปพระองค์จะมีแผนที่และกล้องถ่ายรูปไปด้วยเสมอ พระองค์ทรงมีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งสำคัญอีกอย่างซึ่งดิฉันมีความประทับใจคือ พระบรมราโชวาทที่พระองค์ได้พระราชทานเนื่องในวโรกาสต่าง ๆ เช่น พระราชทานแก่นิสิต นักศึกษา ในวันพระราชทานปริญญาบัตร เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้ตระหนักและนำความรู้ ความสามารถไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ และจากสภาพปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พระองค์ได้ให้แนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียงเพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทรงย้ำอยู่เสมอว่าการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนพึ่งพาตนเอง มีชีวิตความเป็นอยู่แบบพอมีพอกินโดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจที่วิกฤตในปัจจุบัน 

ด้วยเหตุนี้ทำให้ตัวดิฉันเองตระหนัก จะต้องขยันทำงานและเรียนหนังสือในเวลาเดียวกัน แม้ดิฉันจะเหน็ดเหนื่อยดิฉันก็ต้องอดทน ดิฉันคิดว่าถ้าเราขยันและอดทนในวันนี้ วันหนึ่งข้างหน้าชีวิตก็จะมีความสุข รายได้ที่ได้จากการทำงานส่วนหนึ่งจะต้องอดออมใช้จ่าย ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านได้ทรงงานหนักมาโดยตลอดทำให้ประเทศของเราได้รอดพ้นจากวิกฤตต่างๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่า เราในฐานะที่เป็นพสกนิกรของพระองค์ควรจะได้ยึดหลักพระบรมราโชวาทและแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ มายึดถือปฏิบัติให้เป็นกิจวัตร ดิฉันคิดว่าคนไทยเป็นผู้ที่โชคดีที่สุดที่มีพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ “ภูมิพลมหาราช” และดิฉันขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนกระทำความดีเพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน

                                                      "ขอพระองค์ทรงพระเจริญ"

แสดงเมื่อ วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 13:04:29

เรียงความเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดการป้องกันประเทศอย่างไรบ้าง”  ของ นิสิตจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย สำนวนที่ได้รับรางวัลจากเงินทุนพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ    ปิยมหาราชปดิวรัดา กับสำนวนที่ได้รับความชมเชย พ.ศ. 2477 (หน้า 1 – 7)

นายสิงโต  นีลัญชัย เรียบเรียง

เรียงความเรื่อง “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดการป้องกันประเทศอย่างไรบ้าง” ฉะบับรับรางวัลที่ 1

         พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันตติวงศ์เป็นพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 5 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2411 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453  สิริพระชนมายุได้ 58 พรรษา รวมเวลาที่ได้ทรงปกครองสยามประเทศ 42 ปีเศษ ซึ่งเป็นเวลานานกว่ากษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ทรงพระปรีชาสามารถในราชกิจน้อยใหญ่  ทรงดำเนินรัฐประศาสโนบาย ปกป้องไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในสยามรัฐให้ร่มเย็นเป็นสุขโดยถ้วนหน้า บ้านเมืองเจริญวัฒนาถาวรขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยอดยิ่ง และเป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติได้ส่วนหนึ่ง.

          บัดนี้ถึงวารดิถีคล้ายวันสวรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปิยมหาราชพระองค์นั้น จักได้บรรยายให้เห็นว่าพระองค์ได้ทรงจัดการป้องกันประเทศอย่างไรบ้าง พอเป็นเครื่องเฉลิมพระเกียรติและฉลองพระเดชพระคุณส่วนหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่พระองค์ได้ทรงพระอุตสาหะประสิทธิ์ประสาทไว้ให้แก่ประเทศชาติและราษฎร  ให้ได้รับความสุขความเจริญรรุ่งเรือง ดังมีข้อความให้ชาวเราทั้งหลายไว้เป็นที่รำลึก ต่อไปนี้

          ในรัชชกาลของพระองค์นับเป็นคราวสงบ  คงมีแต่การปราบปรามพวกโจรฮ่อ  อันมารบกวนปลายพระราชอาณาจักร์ ในมณฑลอุดรบ้างปราบปรามพวกโจรเงี้ยวในมณฑลพายัพบ้าง  ปราบจลาจลพวกผีบุญในมณฑลอิสาณบ้าง ฯลฯ  เพราะฉะนั้นราชการที่เกี่ยวกับต่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าอย่างอื่น ทั้งในยุคนี้อังกฤษก็ได้เมืองพม่าเข้ามาทุกทีจนทั่วทั้งประเทศ มีอาณาเขตต์ติดต่อกับรัฐสีมาอาณาจักรมากเข้า ฝ่ายฝรั่งเศสเล่าก็ได้เมืองญวน เมืองเขมร และเมืองตังเกี๋ยไว้ใต้อำนาจแผ่พรมแดนมาจดอาณาเขตต์ไทย แม้ว่าสองชาตินี้เป็นสัมพันธมิตรกับกรุงสยามมาก่อน หาได้เป็นศัตรูซึ่งหน้ากันไม่ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้นจะว่าเป็นการง่ายขึ้นก็หาได้ไม่  การระวังรักษาต่างกันไปคนละทางเมื่ออยู่ใกล้ข้าศึกก็ต้องคอยป้องกัน เมื่ออยู่ใกล้สัมพันธมิตรก็ต้องคอยรักษาน้ำใจ พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะดำเนินพระบรามราโชบายให้เจริญรอยสมเด็จพระบรมชนกนารถ ทรงรักษาราชการผ่อนหนักผ่อนเบา ถือเอาแต่สารประโยชน์เป็นใหญ่ ทรงสามารถระงับเหตุการณ์อันเกิดขึ้นอย่างที่เรียกว่าลิ้นกระทบกับฟังเสียได้ จึงรักษามิตรภาพให้ยั่งยืนตลอดมา

          ส่วนความสัมพันธ์กับนานาประเทศทั่วไป  พระองค์ได้ทรงทำพระราชไมตรีขึ้นใหม่อีหลายประเทศ ในครั้งนี้ได้ทรงแต่ราชทูตไปราชการในนานาประเทศด้วยก็มาก  และที่นานาประเทศส่งทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีด้วยก็มาก  อนึ่งในการประชุมเรื่องคิดจะรักษาความสงบในระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก  ประเทศสยามก็ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยผลแห่งการทำสัญญาทางพระราชไมตรีนั้น  ที่เป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศสยามก็คือ  พระราชอาณาจักรตั้งอยู่ในความสงบราบคาบไม่เสียบ้านเมืองที่เป็นขอบขัณฑ์ ในเวลาที่เมืองใกล้เคียงกันต้องเสียอย่างยังเยินจนสิ้นอำนาจ

          ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในพระราชกรณียกิจแห่งพระองค์พระปิยมหาราชเจ้า  ที่ได้ทรงคุ้มครองป้องกันพระราชอาณาจักร์ให้เกษมสวัสดิ์สถาวร  ในสมัยที่นครใกล้เคียงเกิดอุปัทวะล่มจมตกอยู่ในอำนาจของชาติอื่นไม่มีเหลือ พระองค์กลังทรงทำนุบำรุงให้เจริญมั่งคั่งสมบูรณ์สงบราบคาบ  ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์ภัย  ทั้งนี้ควรที่ชาวเราทั้งหลาย จะต้องระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้าฯ ให้จงหนัก

          แม้ว่าสมัยนั้นเป็นคราวสงบก็จริง  พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหาได้นิ่งนอนพระทัยในการที่จะคิดจัดการป้องกันพระราชอาณาจักร์ให้มั่นคงแข็งแรงดีขึ้นไม่  พระองค์ทรงเห็นว่าการทหารซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมืองควรจะได้รับการบำรุงให้สมแก่กาลสมัย  จึงใน พ.ศ.2428 ทรงพระราชดำริจัดการทหารบกทหารเรือให้เป็นระเบียบเรียบร้อย พ.ศ.2430 ได้ตราพระราชบัญญัติจัดการทหารขึ้น  กิจการก็ดำเนินดีโดยลำดับ พ.ศ.2437 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกระทรวงกลาโหมขึ้น  และได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร พ.ศ. 2448 ขึ้น

          ในรัชชกาลก่อน  การฝึกหัดทหารตามแบบอย่างของชาวยุโรปเพิ่งจัดขึ้นยังไม่แพร่หลาย การทหารจัดแยกกันเป็นกรม ๆ มีเจ้านายและข้าราชการซึ่งเป็นผู้ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นอิสสระแก่กัน ขึ้นต่อพระเจ้าแผ่นดิน  ครั้งนี้ได้โปรดให้ขยายการนั้นออกไปจัดวิธีเรียกคนเป็นทหารให้ทั่วถึงรวบรวมตั้งเป็นกรมทหารบทหารเรือฝึกหัดให้เข้าใจยุทธวิธี  แก้ไขหน้าที่ราชการฝ่ายทหารตามแบบเก่าให้เขาหากัน สระสมเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ ไว้ให้พอเพียง  เป็นธรรมเนียมมั่นคงสำหรับประเทศสืบไป ในครั้งนี้ได้เกิดมีกรมทหารเหล่าต่าง ๆ ขึ้นมากมาย  เป็นต้นว่ากรมทหารหน้า กรมทหารรักษาพระองค์ กรมทหารล้อมวัง กรมทหารฝีพาย กรมทหารม้า  กองช่างกองดับเพลิง  ในกรมกองต่าง ๆ เหล่านี้ มีนายทหารสัญญาบัตรเป็นผู้บังคับบัญชา มียศและตำแหน่งเรียกตามแบบอังกฤษ และเปลี่ยนเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์หลายอย่างให้เหมาะแก่กาลสมัย การปกครองและรูปการของกองทหารเรียบร้อยขึ้นเป็นลำดับ ต่อมา พ.ศ.2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเรียกนามกองทหารเป็นกรมโดยลำดับเลขทั่วไปกองทหารหน้าได้นามว่า “กรมทหารราบที่ 4”  ในปีเดียวกันนี้ได้โปรดให้จัดกองทหารบกตั้งขึ้นในมณฑลและจังหวัดต่าง ๆ เกือบทั่วถึง  เช่นกองทหารมณฑลราชบุรี เป็นต้น  เพื่อป้องกันข้าศึกศัตรูและพวกเหล่าร้ายซึ่งจะก่อกรรมทำเข็ญให้ราษฏรได้รับความเดือดร้อนด้วยประการต่าง ๆ

          ส่วนทางน้ำชายฝั่งทะเล ก็ทรงจัดการมอบให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงทหารเรือที่จะจัดการป้องกันศัตรูทางน้ำ  ทรงสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ ขึ้นที่แหลมฟ้าฝ่า และตกแต่งป้อมเดิมให้แข็งแรงขึ้นอีกหลายแห่ง จัดให้มีกองทัพเรือตั้งขึ้นประจำตามเมืองท่าและป้อมต่าง ๆ  ทรงสร้างเรือรบเรือลาดตระเวนขึ้นอีกหลายลำ สำหรับได้เดินตรวจราชการอยู่เป็นนิตย์ เพื่อเป็นการป้องกันบ้านเมืองมิให้ศัตรูเหล่าร้ายที่จะก่อการจลาจลเบียดเบียนอาณาประชาราษฎร์  ให้ได้รับความลำบากยากเข็ญ.

          เรือรบเหล่านี้ตกเข้ามาในรัชชกาลของพระองค์บ้าง ไม่ทันบ้างและที่ยังคงใช้ในราชการอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ก็มี ที่ชำรุดใช้การไม่ได้แล้วก็หลายลำ  เรือรบที่สร้างขึ้นใหม่ในรัชชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ เรือมุรธาวสิตสวัสดิ์  เรือหาญหักศัตรู  เรือต่อสู้ไพรีรณ  เรือพิทยัมรณยุทธ์  เรือวรารัตนพิไชย  เรือมกุฎราชกุมาร เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง  เรือมุรธาวสิตสวัสดิ์ (ลำที่สอง)  เรือราญรุกไพรี  เรือเสือทยานชล  เรือต่อรปิโด 1,2,3 และเรือสุริยมณฑล.

          ส่วนระเบียบการทหารเรือก็ทรงจัดให้เข้ารูปการกับของทหารบกนับเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นกว่าแต่กาลก่อน สรุปความว่าในรัชชกาลนี้ ราชการทหารบกทหารเรือเจริญขึ้นเป็นอันมาก  ที้งนี้เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า การทหารเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งของประเทศชาติ ดังจะได้เห็นจากพระราชดำรัสในที่ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น พระราชดำรัสตอบในการพระราชทานรางวัลนักเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ  เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2427 ความว่า  “...การทหารนั้น  เป็นการสำคัอัญที่จะได้ป้องกันรักษาบ้านเมือง ถ้าไม่มีทะแกล้วทหารให้แข็งแรงก็จะรักษาบ้านเมืองยาก...”

          นอกจากการทหารบกทหารเรือแล้ว  พระองค์ยังได้ทรงจัดการรักษาความสงบภายในประเทศ โดยโปรดให้จัดกรมกองตระเวนและกรมตำรวจภูธรขึ้น  มีหน้าที่รักษาท้องถิ่น เพื่อป้องกันอันตรายชีวิตและทรัพย์สมบัติของประชาชน ทำให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากโจรผู้ร้ายรบกวน

          ใน พ.ศ. 2450 การด่านทางที่ต่อเมืองทวาย ด่านทางปลายพระราชอาณาเขตต์สยาม ซึ่งติดต่อกับเมืองทวายของอังกฤษ คือ เมืองขึ้นของเมืองกาญจนบุรีและเมืองกำแพงเพ็ชร์   ในครั้งนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกองตำรวจภูธรขึ้นและจัดการบำรุงให้แข็งแรงกว่าแต่ก่อน พวกโจรพม่าและเงี้ยวซึ่งเคยมีชุมก็ลดน้อยลง.

          การคมนาคมก็นับว่าเป็นการจำเป็นอย่างหนึ่งในการป้องกันประเทศ คือถ้าการไปมาสะดวกและส่งข่าวได้ฉับไว  การป้องกันประเทศก็ทำได้ทันเวลาไม่สายเกินกาล ฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 5 จึงได้ทรงจัดการงานแผนกนี้ให้ดียิ่งขึ้นทันความต้องการ  มีการตัดถนนหนทาง สร้างทางรถไฟสายต่าง ๆ ตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขสร้างสายโทรเลขโทรศัพท์  สำหรับรับส่งข่าวได้ทันท่วงที.

          เมื่อได้ทรงบำรุงการทหารและการคมนาคมให้เจริญเรียบร้อยขึ้นเช่นนี้แล้ว จึงทรงพระราชดำริว่า  ถ้าประชาชนพลเมืองไม่มีกำลังร่างกายแข็งแรง มีโรคภัยเบียดเบียฬ  ก็จะไม่มีประโยชน์ในราชการทหารได้เต็มที่ พระองค์จึงทรงจัดการสุขาภิบาลขึ้นตามหัวเมืองต่าง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้มีพระราชบัญญัติสุขาภิบาลขึ้นเป็นหลักฐาน  และขยายการนี้ให้แพร่หลายไปตามสมควร ทรงตั้งเจ้าหน้าที่คอยตรวจการป้องกันบำบัดโรคภัย ตั้งโรงพยาบาลเป็นที่รักษาไข้เจ็บและส่งแพทย์ไปตามหัวเมืองต่าง ๆ โรคภัยไข้เจ็บก็ลดจำนวนลง ราษฎรมีกำลังร่างกายแข็งแรง  นับเป็นกำลังของประเทศส่วนหนึ่ง.

          ประพฤติเหตุทั้งปวงนี้เป็นเครื่องเชิดชู พระเกียรติคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช  อันควรนับว่าเป็นพระบรมมหากษัตริย์อันประเสริฐ เป็นที่รักยิ่งของชาวเขา พระองค์ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักร์  ให้มั่นคงสมบูรณ์ด้วยรัฐสมบัติ เกษมสวัสดิ์สถาพร  พิทักษ์ชนนิกรข้าขอบขัณฑสีมาให้อยู่เย็นเป็นสุขนิรทุกข์นิรภัย  บำบัดอันตรายภายในและภายนอกไม่ให้มีช่องที่จะบีฑา  รักษาความสงบให้เป็นไปโดยสามารถ  มีพระราชจรรยาเป็นเครื่องปรากฏพระเกียรติคุณโดยอเนกนัย  เป็นเครื่องตรึกใจชาวเราทั้งหลายให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ  จะลือเสียมิได้จนตราบเท่ากัลปาวสาน.