ข้อเสียของอากาศยานไร้คนขับ

อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน อาจเป็นของขวัญ หรือ ฝันร้าย ของผู้คนในยุคสมัยใหม่ได้พร้อมๆ กัน

อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ที่ล้ำสมัยขึ้นเรื่อยๆ ได้สร้างประโยชน์ให้กับนักวิทยาศาสตร์ ตำรวจ และภาคธุรกิจ แต่ในทางกลับกันราคาของโดรนที่ถูกลงและหาซื้อได้ง่ายนั้น อาจเป็นช่องทางในการผลิตอาวุธสังหารแบบเคลื่อนที่เร็วได้ด้วยเช่นกัน

เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับวงการตำรวจ โดย Larry Satterwhite จาก Houston Police Department ในรัฐเท็กซัส บอกว่า เทคโนโลยีรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และในฐานะตำรวจก็ต้องเล่นไล่จับกับเทคโนโลยีที่ใช้ในทางมิชอบในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับที่ Richard Lusk นักวิทยาศาสตร์จาก Oak Ridge National Laboratory บอกว่า มีหลายเหตุการณ์ที่ใช้โดรนขนส่งยาเสพติดและอาวุธปืนไปให้กับนักโทษในเรือนจำสหรัฐฯ หรือในตะวันออกกลางได้ใช้โดรนทิ้งระเบิดเข้าทำร้ายพลเมืองเลยก็มี

คุณ Richard ย้ำว่า แนวทางรับมือการโจมตีจากโดรน สามารถทำได้ด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทำลายระบบควบคุมระบบระบุพิกัดบนโลก หรือ GPS ที่อยู่ภายในโดรน และใช้คลื่นวิทยุรบกวนระบบการสื่อสารระหว่างโดรนและผู้ควบคุม

อย่างไรก็ตาม ในด้านมืดก็มีด้านสว่าง เพราะการก้าวเข้ามาของเทคโนโลยีโดรน อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยชีวิตผู้คนเอาไว้ได้เช่นกัน

อย่างอุตสาหกรรมเคมี ได้เลือกใช้อากาศยานไร้คนขับนี้เพื่อตรวจสอบโครงสร้างภายในและทำหน้าที่แทนมนุษย์ในงานที่เสี่ยงอันตราย ที่โรงกลั่นน้ำมัน Shell ใกล้กับเมือง Houston เริ่มใช้โดรนในงานเสี่ยงภัยแทนมนุษย์เมื่อปีก่อน

Gary Scheibe ตัวแทนจากโรงกลั่นน้ำมัน Shell บอกว่า ด้วยขนาดของโรงงานที่ใหญ่และสูงถึง 400 ฟุต การใช้โดรนช่วยบันทึกภาพโครงสร้างทั้งหมด และทำให้ทีมงานทราบสถานการณ์ได้สะดวกรวดเร็วกว่าการใช้เครื่องมืออื่นหรือพึ่งพามนุษย์

นอกจากโรงกลั่นน้ำมันแล้ว หน่วยงานบังคับใช้กฏหมายในสหรัฐฯหลายแห่ง ได้หันมาใช้เทคโนโลยีโดรนรูปแบบต่างๆ เช่น โดรนที่มีระบบตรวจจับอุณหภูมิเพื่อค้นหาเด็กที่หายตัวไป โดรนพร้อมระบบเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุในความมืด หรือโดรนที่มีเครื่องตรวจจับก๊าซมีเทน และเครื่องเอ็กซเรย์ เพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวน ค้นหา กู้ภัย รวมทั้งเคลียร์พื้นที่ถนนหนทางที่จราจรติดขัดจากอุบัติเหตุหรือปัญหาจราจรได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

หรือทางการทหารอาจมีการพัฒนาโดรนขนาดเท่าแมลงที่ใช้ตรวจสอบพื้นที่เข้าถึงได้ยาก

31 ตุลาคม 2559

โดย กุลธิดา เด่นวิทยานันท์

ดรน (Drone) หรือ ยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicles: UAVs) ถือเป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่กำลังถูกหลายฝ่ายจับตามองอยู่ในขณะนี้ เพราะทำหน้าที่ในการบังคับเครื่องบินแทนมนุษย์ ทั้งนี้ บทบาทของ โดรน หรือเรียกอีกอย่างว่า อากาศยานไร้คนขับ กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อรูปแบบการทำธุรกิจในวันนี้ ต่างจากอดีตที่โดรนถูกใช้ในการทหารและภารกิจป้องกันประเทศเป็นหลัก โดยผลการศึกษาของ PwC’s CEO pulse ที่ผ่านมาระบุว่า 64% ของผู้บริหารทั่วโลกเชื่อว่า ในอนาคตเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) จะยิ่งถูกนำมาผนวกอยู่ในรูปแบบการทำธุรกิจและถูกประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายครอบคลุมแทบทุกสายอุตสาหกรรม

ถ้าพูดกันตามภาษาชาวบ้านแล้ว โดรน คือ เครื่องบินอัตโนมัติที่เราเห็นคุ้นตาบนท้องฟ้าในเวลานี้  เช่น การใช้โดรนเพื่อบันทึกภาพหรือเหตุการณ์จากมุมสูง การสำรวจพื้นที่การเกษตรและชลประทาน การสำรวจท่อส่งก๊าซ การเก็บข้อมูลสภาพอากาศ สภาพการจราจร และการลำเลียงขนส่ง เป็นต้น ตามปกติหลักการทำงานของโดรนใช้เพื่อเป็นตัวตรวจจับ ขนส่ง วิจัย โจมตี ค้นหาและช่วยเหลือ โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Multirotor UAVs เป็นประเภทที่พบเห็นบ่อยมากที่สุด เคลื่อนตัวได้รวดเร็วและคล่องแคล่วเนื่องจากมีทั้งแบบ 4, 6 และ 8 ใบพัด ไม่ต้องใช้รันเวย์ในการบิน แต่มีข้อเสียคือ ขีดความเร็วของการบินน้อยกว่าโดรน
    ประเภทอื่นๆ จึงทำให้บินได้ช้ากว่า ในปีที่ผ่านมา โดรนประเภทนี้ครองส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 77%
  2. Fixed-wing drones มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับเครื่องบิน จึงต้องมีรันเวย์ ซึ่งโดรนประเภทนี้สามารถบินได้นานกว่าและเร็วกว่า เหมาะกับการใช้งานเพื่อสำรวจในพื้นที่กว้างใหญ่ แถมยังบรรทุกของหนักได้ในระยะไกล และใช้พลังงานน้อย
  3. Hybrid model (tilt-wing) สามารถบินได้เร็วกว่า ไกลกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบที่สอง แถมไม่ต้องใช้รันเวย์ แต่โดรนประเภทนี้มีอยู่น้อยในตลาดโลก

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปัจจุบัน โดรนถูกพัฒนาให้ใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและการบินสำรวจพื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่ที่ต้องการการตรวจสอบและดูแล นอกจากนี้ หลายคนอาจจะคุ้นตาและรู้จักโดรนเฉพาะด้านที่ใช้ในการถ่ายวีดิโอ สารคดี และบันทึกภาพที่มีความละเอียดสูง ยิ่งไปกว่านั้น โดรนยังมีความสามารถในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ภาพหรือข้อมูลนั้นๆ เช่น วิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental impacts) ในบริเวณนั้นๆ และยังวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ เป็นต้น

ด้วยประโยชน์ของโดรนที่มีมากมายมหาศาลนี่เอง ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกนำโดรนมาใช้งานในรูปแบบต่างๆ เช่น ใน สหราชอาณาจักรมีการใช้โดรนในอุตสาหกรรมระบบรถไฟในประเทศเพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงรางรถไฟฟ้าผ่านดิจิทัลและการวิเคราะห์แบบสามมิติ (3D) หรือบริษัทในญี่ปุ่นคิดค้นโดรนสำหรับการตรวจสอบและซ่อมแซมระบบโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เช่น สะพาน ทางเดินรถ โดยมีจุดเด่นในการบินราบไปกับในแนวเสาทำให้สำรวจและตรวจสอบความเสียหายได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ โดรนยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร ไม่ใช่เพียงแต่การหว่านเมล็ดพันธุ์แทนการใช้คนเท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบคุณภาพของพืชพันธุ์ ตรวจสอบการเพาะปลูก วิเคราะห์ดินและพื้นที่การเกษตร รวมไปถึงสำรวจหาพื้นที่ขาดน้ำด้วยระบบเซนเซอร์ได้อีกด้วย  ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ของโลกอย่าง Amazon ก็กำลังทดสอบเทคโนโลยีโดรนสำหรับใช้ขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าภายใต้ชื่อว่า Amazon Prime Air โดยต้องการร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าให้เหลือเพียง 30 นาทีหลังได้รับออเดอร์

คุณสมบัติที่โดดเด่นของโดรนที่สามารถทำงานแทนมนุษย์ในหลากหลายด้าน ทั้งสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ ประมวลผล อีกทั้งประหยัดเวลา และลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้โดรนเป็น 1 ใน 8 ของเทคโนโลยีสำคัญในอนาคตตามรายงาน The essential eight technologies ของ PwC ขณะที่การใช้งานของโดรนจะเป็นไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2558 ถึง 2563 อยู่ที่ 19% เทียบกับทางทหารมีเพียง 5% เท่านั้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจของ PwC’s Clarity from above ยังคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดของโดรนทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าจะสูงถึงกว่า 127,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4.4 ล้านล้านบาท นำโดยอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) จะมีมูลค่าโดรนสูงถึง 45,200 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือ การเกษตร (Agriculture) มูลค่า 32,400 ล้านดอลลาร์ และอันดับที่สามคือ การคมนาคมขนส่ง (Transport) มีมูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์

โดรนกู้ชีวิต

นอกเหนือจากการนำโดรนไปใช้ในธุรกิจแล้ว โดรนยังสามารถช่วยชีวิตมนุษย์ (Search and Rescue) ได้อีกด้วย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ นำโดรนมาใช้เพื่อขนส่งผลตรวจโรคเอดส์ (HIV test samples) ของเด็กทารกในพื้นทุรกันดารอย่างมาลาวี ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการตายของเด็กทารกที่ติดเชื้อเอดส์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก หรือในเยอรมนีได้พัฒนาและผลิตโดรน เพื่อขนส่งอุปกรณ์ช่วยชีวิตคนที่กำลังจมน้ำ ส่วนประเทศไทย เรามีการใช้โดรนในการตามหานักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ตกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าโดรนจะเป็นเทคโนโลยีสุดล้ำ แต่ความท้าทายสำคัญคือ การออกกฎหมายเกี่ยวกับการบังคับใช้โดรนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นขนาดของตัวเครื่อง การบังคับการบิน ใบอนุญาตนักบิน ประกันภัย เพราะจากรายงานของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ถึง มกราคม 2559 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการใช้โดรนทั้งหมดถึง 583 ครั้ง และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเพราะจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้โดรนเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีเช่นกัน โดยปัจจุบันโปแลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการใช้โดรนเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการฝึกอบรมนักบิน กฎสำหรับการบิน และประกันภัย และอื่นๆ ตามด้วยแอฟริกาใต้และสิงคโปร์

จากนี้ไปอีกไม่นาน ผู้เขียนเชื่อว่า จะมีอีกหลายประเทศเร่งร่างกฎระเบียบที่รัดกุมเพื่อให้โดรนเป็นเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลกเปลี่ยนธุรกิจ และช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์อย่างสมบรูณ์แบบในอนาคต