การสื่อสารและการนําเสนอ is2 pdf

การสื่อสารและการนําเสนอ is2 pdf
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2
การเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ

สาระสำคัญ ในการเขียนรายงานการศึกษาค้นค้วาทางวิชาการ จะต้องรู้หลักการในการเขียนรายงาน ส่วนประกอบ การใช้ภาษา การรวบรวมข้อมูล และการอ้างอิงทางบรรณานุกรม

1. หลักการเขียนรายงานทางวิชาการ   

ส่วนประกอบของรายงานทางวิชาการ เน้นในเรื่อง รูปแบบมาก    และแต่ละชนิดของรายงาน  ก็มีลักษณะพิเศษต่างกัน  แต่ก็มีรูปแบบมาตรฐานการรายงาน  ซึ่งอาจปรับปรุงเพิ่ม ลดได้  ตามลักษณะของรายงาน ดังนี้

ส่วนประกอบนำ  ยังไม่ใช่เนื้อหา แต่นำไปสู่เนื้อหา  ทำให้อ่านเนื้อหาได้สะดวก รวดเร็ว  มีส่วนประกอบตามลำดับดังนี้

1.  หน้าปก  (ปกนอก)

2.  หน้าชื่อเรื่อง  (ปกใน)

3.  คำนำ

4.  สารบัญ

5.  สารบัญตาราง

6.  สารบัญภาพประกอบ

ส่วนประกอบเนื้อเรื่อง     เป็นส่วนสำคัญที่สุดของรายงาน  มีสาระสำคัญของรายงานที่จะต้องให้รายละเอียด  แบ่งแยกเนื้อหาที่เขียนเป็นตอน  แต่ละตอนมีหลายบท  หรือแบ่งเป็น บท ๆ แบ่งอย่างมีระบบ ระเบียบ ตามลำดับ ให้สัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน   รายงานวิจัยเป็นรายงานทางวิชาการแบบหนึ่ง  มีรูปแบบโครงสร้างมาตรฐาน ที่นิยมนำไปใช้ในการเขียนรายงานทางวิชาการแบบอื่น ๆ   รายงานวิจัยมีโครงสร้างมาตรฐาน 5 บท  คือ

บทที่ 1  บทนำ

บทที่ 2  ผลการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 3  วิธีดำเนินการวิจัย

บทที่ 4  ผลการวิจัย

บทที่ 5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

นอกจากเนื้อหาล้วน ๆ ยังมีส่วนประกอบ ที่สำคัญของเนื้อเรื่อง   ได้แก่ การอ้างอิงจากการศึกษาค้นคว้า  แบบเชิงอรรถท้ายหน้า  หรืออ้างอิงแทรกในเนื้อหา   ข้อมูลสารสนเทศตารางประกอบ แผนภูมิ ภาพประกอบ

ส่วนประกอบท้าย   เป็นรายละเอียดเพิ่มเติมจากเนื้อเรื่อง  เช่น การอ้างอิงที่ไม่ได้ระบุไว้ในเชิงอรรถ ก็นำมาระบุไว้ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม รายละเอียดต่าง ๆ เช่น ตารางข้อมูลแผนงานโครงการ บันทึกประจำวัน สำหรับผู้สนใจรายละเอียด  นำไปไว้ในภาคผนวกท้ายเล่มส่วนประกอบท้าย ได้แก่ บรรณานุกรม  ภาคผนวก และอภิธานศัพท์

2. การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน

การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน  รายงานมีลักษณะเป็นงานเขียนที่เป็นงานเป็นการ ค่อนข้างจริงจัง หนักแน่น  ในการให้ความคิด ความรู้ มากกว่าเรียงความทั่วไปลักษณะการเขียน    จึงเป็นความเรียงร้อยแก้ว  ใช้ภาษาเขียน  ถูกต้องตามหลักวิชาการ  มีหลักฐาน ข้อเท็จจริงอ้างอิงประกอบ  จุดเริ่มต้นของการเขียน อยู่ที่ความคิด  ต้องเข้าใจความคิดของตนเอง ให้แจ่มแจ้งก่อน จึงจะสามารถเรียบเรียงทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้  สมรรถภาพทางความคิด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด และจะต้องนำความสามารถในเชิงภาษา มาเขียนถ่ายทอดเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามที่ต้องการ

ข้อความที่ใช้เขียน   แสดงความคิดเห็น ความรู้ และความรู้สึกในรายงาน  ไม่ต้องใช้สำนวนโวหารให้ไพเราะ    เพราะไม่ใช่งานประพันธ์  จึงควรใช้ภาษาตรงไปตรงมา  เรียบ ๆ เข้าใจง่าย ไม่อ้อมค้อม วกวน มีความกระชับ รัดกุม กระทัดรัด ชัดเจน ตามที่นิยมกันตามปกติ

ใช้ภาษาที่ถูกต้อง สุภาพ   ไม่ใช้คำที่อาจมีความหมายได้หลายประการ  พึงหลีกเลี่ยง การใช้ภาษาพูด ภาษาแสลง หรือภาษาตลาด  โดยเด็ดขาด  และควรหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาท้องถิ่นเพราะอาจมีความหมายต่างกันไป  เมื่อนำไปใช้ต่างถิ่น  ควรเลือกใช้ภาษาสามัญที่เข้าใจง่าย  ตัวสะกดการันต์ถูกต้อง  ถ้าไม่แน่ใจตรวจสอบให้ถูกต้องตาม  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับล่าสุด

ใช้สำนวนการเขียนของเราเอง  หลีกเลี่ยง การคัดลอก เลียนแบบ ผู้อื่น เว้นแต่เป็น  การอ้างอิงข้อความ มาใช้  ถ้าลอกมาทุกตัวอักษร ก็ใช้เครื่องหมายอัญประกาศกำกับ  การคัดลอกที่ไม่ใช่       การอ้างอิง เป็นการไม่ให้เกียรติเจ้าของผลงาน  และอาจถูกลงโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย  ไม่ใช้คำหรือสำนวนซ้ำซาก  ควรหาคำอื่นที่นำมาใช้แทนได้  โดยคำนึงถึงความจริงว่า  คำ คำหนึ่งย่อมเหมาะกับคำแวดล้อมอย่างหนึ่ง    เมื่อเปลี่ยนที่ไป    ก็ควรเลือกใช้คำที่เหมาะสมกว่า  เช่น คำว่า ผู้เรียน นักเรียน เด็กนักเรียน    ใช้คำธรรมดา  มากกว่าคำศัพท์ที่ไม่แพร่หลายซึ่งต้องแปล   การใช้คำศัพท์ที่ยังไม่แพร่หลาย  ต้องเขียนอธิบายไว้ในวงเล็บหลังคำศัพท์  ถ้าเป็นคำศัพท์ทางวิชาการ เป็นภาษาต่างประเทศ  ควรวงเล็บภาษาต่างประเทศกำกับไว้ เฉพาะการเขียนครั้งแรกเท่านั้น ถ้าเป็นคำที่ใช้แพร่หลายแล้ว  หรือเป็นคำใช้ทับศัพท์  ไม่ต้องวงเล็บภาษาต่างประเทศกำกับ  การใช้คำศัพท์  เช่น การใช้คำสุภาพ  คำราชาศัพท์  คำที่ใช้กับภิกษุ  ล้วนต้องเลือกใช้ให้ถูกต้อง ตามหลักการใช้ภาษา  และความนิยมในปัจจุบัน

ตัวอย่างการใช้คำศัพท์  เช่น

สไลด์   เปลี่ยนใช้    ภาพเลื่อน  ให้ถูกต้องตามศัพท์บัญญัติ

ตรรกวิทยา  (Logic)     มีวงเล็บภาษาอังกฤษต่อท้าย

ร้อยละ   ไม่ต้องวงเล็บ   (Percent)     เพราะใช้กันแพร่หลายแล้ว

ไม่ควรใช้  ศธ. หรือเขียนย่อว่า  กระทรวงศึกษา ฯ    แทน  ” กระทรวงศึกษาธิการ ” ไม่ควรใช้  ร.ร.  แทน โรงเรียน  ยกเว้นกรณีที่นิยมใช้แบบย่อ กันแพร่หลายแล้ว เช่น  พ.ศ. ส่วนคำที่เป็นชื่อเฉพาะ ให้เขียนสะกด การันต์ ตามของเดิม  จะถืออักขรวิธีในการเขียนคำทั่วไปเป็นหลักไม่ได้ เช่น นางสาวจิตต์ ไม่ต้องแก้เป็น นางสาวจิต

การใช้คำ  กับ  แด่  แต่  ต่อ   ให้ถูกต้อง  ตัวอย่าง เช่น

กับ ใช้กับสิ่งของหรือคนที่ทำกริยาเดียวกัน  เช่น ครูกับนักเรียนอ่านเอกสาร เด็กเล่นกับผู้ใหญ่

แด่ ต่อ ใช้กับกริยา  ให้ รับ บอก ถวาย ต่อบุคคลที่สมควร  เช่น   กล่าวรายงานต่อประธานถวายของแด่พระสงฆ์

แก่   ใช้เช่นเดียวกับ แด่ ต่อ แต่ใช้กับบุคคลทั่วไป เช่น  พระราชทานแก่ ให้แก่ บอกแก่แจ้งแก่

การใช้เครื่องหมายวรรคตอน เป็นสิ่งสำคัญ วรรคตอน เครื่องหมายต่าง ๆ ช่วยให้น่าอ่าน      การเว้นวรรคถูกต้อง จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ ถูกต้องรวดเร็ว ตรงตามที่ผู้เขียนต้องการ

เขียนเนื้อหาให้แจ่มแจ้งชัดเจน  มีการเน้น เนื้อหาที่สำคัญ โดยใช้ คำ วลี และข้อความที่สำคัญ ขึ้นต้นประโยค หรือจบประโยค กล่าวซ้ำ เพื่อให้ความสำคัญกับคำ ที่กล่าวซ้ำเปรียบเทียบ  เพื่อให้ข้อความชัดเจน  และให้รายละเอียดเป็นตัวอย่าง รูปภาพประกอบ ทำให้ชัดเจน เข้าใจง่าย  และถ้าต้องการให้มีผลในทางปฏิบัติ จะต้องใช้ ตัวอย่าง ข้อความ สนับสนุนหลักการแนวคิดที่เสนอ ให้ชัดเจนอย่างมีศิลปะในการเขียน

มีเอกภาพ ในการเสนอเนื้อหาทุกส่วนของรายงาน เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของการเขียน    มีสัมพันธภาพ ในการจัดลำดับเนื้อหา คือเขียนให้สัมพันธ์กัน  เช่น ตามลำดับเวลา ตามลำดับเหตุและผล  จัดลำดับ ระหว่าง หัวข้อใหญ่ หัวข้อย่อย  ระหว่างย่อหน้า  เรียงตามความสำคัญ หัวข้อที่สำคัญเท่ากัน หรือระดับเดียวกัน   เขียนให้ย่อหน้าเท่ากัน ตรงกัน ย่อหน้าหนึ่งควรมีใจความสำคัญเดียว

รายงานทางวิชาการ เน้นความจริง ความถูกต้อง ไม่ควรเขียนเกินความจริงที่ปรากฏ   รายงานตามข้อมูลที่พบ  ไม่ควรเขียนคำคุณศัพท์ เช่น  ดีมาก ดีที่สุด เหมาะสม  ดี โดยไม่มีข้อมูล หลักเกณฑ์ชัดเจน   แสดงถึงการวินิจฉัย ประเมินค่าเกินจริง ควรเสนอรายงานที่น้อยกว่าความเป็นจริง ดีกว่ารายงานที่เกินความจริง  วิธีที่ดีคือ การนำเสนอตัวเลข ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง (ข้อมูลเชิงประจักษ์)  มีผู้รู้แนะนำว่า  ” ให้ข้อมูลพูดออกมาเอง  ”

รายงานการศึกษาค้นคว้า เป็นความพยายามนำเสนอข้อมูลสำคัญ ๆ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจ และเข้าถึงได้ง่ายที่สุด บอกใจความที่เป็นแก่นของเรื่องราวตั้งแต่ต้น และบอกแนวทางแก้ปัญหาไว้เสียแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ผู้อ่านรับรู้ได้โดยง่าย หลักการเขียน เริ่มจากเนื้อหา โดยอธิบายถึงผลจากการศึกษาค้นคว้าแล้วโยงเรื่องไปสู่การสรุปความ การให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะ ต่อจากนั้นตัดทอนเฉพาะใจความสำคัญ เขียนสรุปรายงานฉบับย่อวางไว้หน้าแรกของรายงาน  การเน้นหรือกล่าวย้ำก็มี     ความจำเป็นและช่วยผู้อ่าน

คุณสมบัติของผู้เขียนรายงาน ที่จะช่วยให้รายงานมีคุณค่า ได้แก่ความรู้ทั่วไปในเรื่องที่เขียน   จะทำให้เตรียมการอย่างรอบคอบ  เขียนได้ครอบคลุม ต่อเนื่อง ชัดเจน  มีความสามารถในการวิเคราะห์ ให้คุณค่าข้อมูล อย่างแม่นตรงมีวิจารณญาณในการเลือกเสนอสิ่งที่สำคัญ  สามารถใช้เทคนิคผสมผสานความรู้  ประสบการณ์  ออกมาเป็นความคิด  แล้วถ่ายทอด ออกมาเป็นภาษาเขียน

3. การรวบรวมข้อมูลเพื่อเขียนรายงาน

หากแบ่งตามลักษณะข้อมูลจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ข้อมูลเอกสารและข้อมูลสนาม

  1) ข้อมูลเอกสาร (Documentary Data)  เป็นข้อมูลที่อยู่ในรูปเอกสาร และหลักฐานต่างๆ เป็นข้อมูลที่มีผู้ค้นคว้าและบันทึกไว้แล้ว ก่อนนำไปอ้างอิงนักศึกษา ควรพิจารณาว่าข้อมูลเหล่านั้นน่าเชื่อถือเพียงไรหนังสือนับเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ โดยทั่วไปหนังสือแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ หนังสืออ้างอิง และหนังสือประเภททั่วไป แต่หนังสือที่ใช้ในการทำรายงานมักเป็นหนังสือประเภททั่วไปหนังสืออ้างอิงเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง และมีลักษณะพิเศษ คือ มักจะเรียงลำดับเรื่อง และเสนอเรื่องอย่างเป็นระเบียบ ทำให้ผู้อ่านสามารถค้นคว้าและสะดวกและรวดเร็ว หนังสืออ้างอิงที่ควรรู้จัก มีดังนี้

– พจนานุกรม

– สารานุกรม

– อักขรานุกรม

– หนังสือประจำปี

– นามานุกรม

– ดรรชนี

– บรรณานุกรม

หนังสือทั่วไป เป็นหนังสือประเภทตำราหรือเอกสารที่ใช่เอกสารอ้างอิง หนังสือประเภทนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก วิธีง่ายที่สุดในการเลือกคืออ่านสารบัญว่าหนังสือเล่มนั้นมีประเด็นใดบ้าง ที่ตรงกับเนื้อหาที่ตนต้องการ

  2) ข้อมูลสนาม (Field Data)เป็นข้อมูลที่ผู้ทำรายงานได้มาจากการรวบรวมเองโดยตรง การรวบรวมข้อมูลนี้ทำได้หลายวิธี เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกต การให้กลุ่มเป้าหมายตอบแบบสอบถาม การทดลอง ฯลฯ ข้อมูลสนามนี้ผู้ทำรายงานควรพิจารณาเองว่าวิธีใดเหมาะสมที่สุดสำหรับรายงานเรื่องนั้น ๆ

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องจดบันทึกลงในกระดาษบันทึกข้อมูล การจดบันทึกนิยมจดใส่กระดาษแข็ง ขนาด 3 x  5″   หรือ 4 x 6″ หรือ 5 x 8″ โดยผู้จดบันทึกจะกำหนดหัวเรื่องไว้ที่มุมขวา และจัดเรียงตามโครงเรื่องของรายงาน ในส่วนต้นของบัตรบันทึกอาจจะไม่ลงรายการไว้ที่มุมขวา และจัดเรียงตามโครงเรื่องของรายงาน ในส่วนต้นของบัตรบันทึกอาจจะไม่ลงรายการทางบรรณนานุกรมอย่างสมบูรณ์ อาจใส่เฉพาะชื่อผู้เขียน ชื่อหนังสือ หรือเอกสารเลขหน้า การบันทึกข้อมูลควรย่อเอาแต่ละประเด็นสำคัญ หากข้อความใดกระชับดีแล้วอาจคัดลอกข้อความทั้งหมดลงมาใส่เครื่องหมาย “…” ไว้เป็นที่สังเกต

4. การอ้างอิงทางบรรณานุกรม

การอ้างอิงทางบรรณานุกรม หมายถึง รายการเอกสาร สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่ผู้ผลิตผลงานทางวิชาการใช้อ้างอิงในเอกสารผลงานของตน การแสดงรายการทางบรรณานุกรมไว้ที่ผลงานของท่านจึงนับเป็นการให้ความเคารพผล งานทางปัญญาที่ผู้อื่นได้แสดงไว้ อีกทั้งยังมีประโยชน์ในการแสดงที่มาที่ไปขององค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ ทำให้ผู้สนใจสามารถติดตามพัฒนาการของเรื่องนั้นได้ ในโอกาสหน้า

  1)  หลักการเลือกรูปแบบการเขียนบรรณานุกรม  รูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นสากล หรือนิยมใช้กันทั่วไป ซึ่งสามารถตัดสินใจเลือกโดยพิจารณาจากสาขาวิชาที่ท่านสังกัดอยู่แป็นแนวทาง เช่น

1) APA (American Psychological Association) เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในสาขาวิชา จิตวิทยา การศึกษา และสาขาสังคมศาสตร์อื่นๆ
2) AMA (American Medical Association) เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางชีววิทยา

3)  Chicago เป็น รูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในทุกสาขาวิชา นิยมใช้ในการลงรายการหนังสือ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ และเอกสารที่อ้างอิงเป็นเอกสารที่ไม่เป็นวิชาการมากนัก

4) MLA (Modern Language Association) หรือ เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในสาขาวิชา วรรณกรรม ศิลป และสาขามนุษยศาสตร์

5) Turabian เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่เป็นที่นิยมใช้ในสาขาวิชาทั่วไปในระดับวิทยาลัย/มหาวิทยาลัย

6) Vancouver เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมที่นิยมใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์และการแพทย์

        2)  การเขียนบรรณานุกรม ตามรูปแบบ AMA (American Medical Association)

เป็นรูปแบบการลงรายการทางบรรณานุกรมระบบนามปี  นิยมใช้ในสาขาวิชาแพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะทางชีววิทยาการอ้างอิงมีข้อกำหนดตามแหล่งที่มาของเอกสารที่นำมาใช้อ้างอิงดังนี้

การอ้างอิงจากบทความในวารสาร

            หมายเลขลำดับการอ้างอิง.  ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  ชื่อวารสาร.  ปีที่; ฉบับที่: เลขหน้า.

ตัวอย่าง

1.  Wilcox RV. Shifting roles and synthetic women in Star trek: the
next generation. Stud Pop Culture. 1991;13:53-65.

การอ้างอิงจากบทความในหนังสือพิมพ์

หมายเลขลำดับการอ้างอิง.  ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  ชื่อหนังสือพิมพ์.  เดือน วัน, ปี: เลขหน้า.

ตัวอย่าง

2.  Di Rado A. Trekking through college: classes explore modern
society using the world of Star trek. Los Angeles Times. March
15, 1995:A3.

การอ้างอิงจากบทความในฐานข้อมูล

หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์; ปีที่พิมพ์.  หมายเลขเอกสารที่ให้บริการในชื่อฐานข้อมูล.

            ตัวอย่าง

3.  Fuss-Reineck M. Sibling Communication in Star Trek: The Next
                         Generation: Conflicts Between Brothers. Miami, Fla: Annual Meeting
of the Speech Communication Association; 1993. ERIC Document
Reproduction Service ED364932.

การอ้างอิงจากบทความในหนังสือ           

หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อหนังสือ.  สถานที่พิมพ์: ปีที่พิมพ์.

ตัวอย่าง

4.  Okuda M, Okuda D. Star Trek Chronology: The History of the Future.
New York: Pocket Books; 1993.

การอ้างอิงจากบทความในหนังสือประเภทสารานุกรม        

หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  ใน: ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการอำนวยการ;  ชื่อบรรณาธิการ ,บรรณาธิการใหญ่; ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการบริหาร. ชื่อสารานุกรม.  ฉบับที่.  ครั้งที่พิมพ์.  สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์;  ปีที่พิมพ์:เลขหน้า.

ตัวอย่าง

5.  Sturgeon T. Science fiction. In: Lorimer LT, editorial director;
Cummings C, ed-in-chief; Leish KW, managing ed. The Encyclopedia
 Americana. Vol 24. International ed. Danbury, Conn: Grolier
Incorporated; 1995:390-392.

การอ้างอิงจากบท/ตอนในหนังสือ

                      หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อบทความ.  ใน: ชื่อบรรณาธิการ, บรรณาธิการ.  ชื่อหนังสือ.  สถานที่พิมพ์: สำนักพิมพ์;  ปีที่พิมพ์:เลขหน้า.

 ตัวอย่าง

6.  James NE. Two sides of paradise: the Eden myth according to Kirk
and Spock. In: Palumbo D, ed. Spectrum of the Fantastic. Westport,
Conn: Greenwood; 1988:219-223.

การอ้างอิงจากเว็บไซต์

หมายเลขลำดับการอ้างอิง. ผู้แต่ง.  ชื่อเรื่อง.  ชื่อเว็บไซต์.  ปีที่.   แหล่งที่มา:  URL.

ค้นเมื่อ วัน เดือน, ปี.

ตัวอย่าง

7.  Lynch T. DSN trials and tribble-ations review. Psi Phi: Bradley’s
Science Fiction Club Web site. 1996. Available at:
http://www.bradley.edu/campusorg/psiphi/DS9/ep
/503r.htm. Accessed October 8, 1997.

5. การดำเนินการเขียนรายงาน

รูปแบบการเขียนรายงาน

[รูปแบบรายงาน เอกสาร Word TH Saraban]

[รูปแบบรายงาน เอกสาร PDF]

[รูปแบบรายงาน เอกสาร Word Angsana New]

การสื่อสารและการนําเสนอ is2 pdf

* นักเรียนสามารถเข้ามาดาวน์โหลดตัวอย่าง รูปแบบเอกสาร เพื่อนำไปจัดทำรายงาน