ยกเลิกใบกํากับภาษี ข้อหารือ

เลขที่หนังสือ : กค0706/พ./830
วันที่ :
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจัดทำและส่งมอบใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินโดยวิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์
ข้อกฎหมาย : มาตรา 86/4 มาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)ฯ
ข้อหารือ : กลุ่มบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกได้มีการพัฒนากระบวนการทำงานเพื่อให้คุณภาพของการให้บริการแก่สมาชิกฯ สูงด้วยคุณภาพและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยการที่กลุ่มบริษัทฯ ได้พัฒนาระบบการสื่อสารออนไลน์ขึ้นเพื่อใช้ในการติดต่อระหว่างกลุ่มบริษัทฯ กับสมาชิก รวมทั้งได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้สมาชิกสามารถชำระเงินแบบออนไลน์และติดต่อกับกลุ่มบริษัทฯ ได้โดยตรงด้วยวิธีออนไลน์อีกด้วย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของขั้นตอนการติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างกลุ่มบริษัทฯ กับสมาชิกนั้น กลุ่มบริษัทฯ กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้ทางเลือกแก่สมาชิกในการรับใบแจ้งหนี้ ใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทางกลุ่มบริษัทฯ เชื่อว่าสมาชิกหลายรายสะดวกที่จะใช้วิธีการดังกล่าวมากกว่าและเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า กลุ่มบริษัทฯ จึงขออนุมัติให้กลุ่มบริษัทฯ จัดทำใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อที่กลุ่มบริษัทฯ จะสามารถให้บริการดังกล่าวแก่สมาชิกได้เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภคและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค ภาคธุรกิจ และประเทศชาติ
แนววินิจฉัย : กรณีกลุ่มบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกขออนุมัติจัดทำใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรายย่อยให้แก่บุคคลจำนวนมาก ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีกตามข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)ฯ ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 กลุ่มบริษัทฯ จึงมีสิทธิจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งมีรายการตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และส่งมอบเอกสารหลักฐานตามประมวลรัษฎากรดังกล่าวที่เป็นต้นฉบับให้แก่ผู้รับในรูปแบบกระดาษ แต่หากผู้รับบริการประสงค์จะได้ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร กลุ่มบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่ผู้รับบริการเรียกร้องพร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปในรูปแบบของกระดาษให้แก่ผู้รับบริการด้วย ทั้งนี้ ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545ฯ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2545
เลขตู้ :

เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ.7642
วันที่ : 10 พฤศจิกายน 2551
เรื่อง : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขออนุโลมให้ใช้ใบกำกับภาษีซื้อที่ระบุชื่อเดิมในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย : มาตรา 82/5(2) และมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัทฯ ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อต่อสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดระยอง และสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาปลวกแดง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 และได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อต่อการไฟฟ้าอำเภอปลวกแดง เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 บริษัทฯ ได้รับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าสำหรับเดือนมิถุนายน 2551 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 มีกำหนดชำระเงิน ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 โดยการไฟฟ้าอำเภอปลวกแดงจะออกใบกำกับภาษีให้ บริษัทฯ ในวันที่บริษัทฯ ชำระเงิน ซึ่งเป็นชื่อเดิมของบริษัทฯ เนื่องจากการไฟฟ้าอำเภอปลวกแดงมีข้อจำกัดในเรื่องขั้นตอนของระบบที่ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อของบริษัทฯ เป็นชื่อใหม่ได้ทันที บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ใบกำกับภาษีดังกล่าว บริษัทฯ นำมาใช้ในการคำนวณภาษี มูลค่าเพิ่มได้หรือไม่
แนววินิจฉัย           1. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อต่อหน่วยงานที่จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/6 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการ จดทะเบียนได้รับในชื่อเดิม ถือเป็นใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อของผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 86/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงต้องให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จัดทำ ใบกำกับภาษีดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง จึงจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ทั้งนี้ ตามข้อ11 ของคำสั่ง กรมสรรพากรที่ ป.86/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และ มาตรา 86/5 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะที่มีลักษณะแบบเต็มรูป ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2542
          2. กรณีบริษัทฯ ได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาปลวกแดง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 โดยได้แจ้งการเปลี่ยนแปลงชื่อต่อการไฟฟ้าอำเภอปลวกแดง เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2551 และบริษัทฯ ได้รับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าสำหรับเดือนมิถุนายน 2551 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 มีกำหนดชำระเงินภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 หากบริษัทฯ ได้รับใบกำกับภาษีที่ออกโดยการไฟฟ้าอำเภอปลวกแดง โดยระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ ย่อมถือเป็นใบกำกับภาษีที่ได้รับหลังจากการแจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาปลวกแดงแล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีดังกล่าวจึงเป็นภาษีซื้อต้องห้าม มิให้นำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องให้การไฟฟ้าอำเภอปลวกแดงดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้อง บริษัทฯ จึงจะนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณ ภาษีมูลค่าเพิ่มได้ การที่บริษัทฯ อ้างว่า การไฟฟ้าอำเภอปลวกแดง มีข้อจำกัดในเรื่องขั้นตอนของระบบที่ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อบริษัทใหม่ได้ทันที บริษัทฯ ย่อมขอให้การไฟฟ้า อำเภอปลวกแดงดำเนินการยกเลิกใบกำกับภาษีฉบับเดิมและจัดทำใบกำกับภาษีฉบับใหม่ที่ถูกต้องในภายหลังได้ จึงไม่อาจอนุโลมให้บริษัทฯ นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยการไฟฟ้า อำเภอปลวกแดงที่ระบุชื่อเดิมของบริษัทฯ มาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ร้องขอ
เลขตู้ : 71/36208