ช่วงทดลองงาน ลาออกได้เงิน ไหม

ลาออก จำเป็นไหมต้องบอกล่วงหน้า แล้วหากเราอยากออก จำเป็นไหม ต้องรอถึง 30 วัน? เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเรื่องที่คนทำงานหลายคนสอบถามกันเข้ามาหลายคน อาทิเช่น

เมื่อได้งานใหม่ ที่ใหม่เขาต้องการให้ไปเริ่มงานเร็วๆ หากเป็นแบบนี้ เราสามารถลาออกและไปได้เลยไหม?

หากเราต้องการจะลาออก หลังจากยื่นจดหมายลาออกก็แล้ว ทำไมต้องรอให้ครบ 30 วัน?

ถ้าต้องการลาออก แค่บอกปากปล่าวกับหัวหน้า ถือว่าแจ้งลาออกแล้ว ใช่หรือไม่?

หากเราลาออก แล้วอยู่ทำงานต่อไม่ครบ 30 วัน บริษัทสามารถหักเงินเรา หรือ ถือโอกาสไม่จ่ายเงินเรา ในส่วนที่เราทำงานไปแล้ว ได้หรือไม่?

หากเราออกก่อนครบ 30 วัน เราจะมีความผิดตามกฏหมาย เพราะบริษัท เขาขู่ว่าจะฟ้องร้องค่าเสียหายจากเรา ได้หรือเปล่า?

หรือ บริษัทฯ หรือ นายจ้าง มีสิทธิ ยับยั้ง หรือ ไม่อนุมัติให้เราออกได้ หรือไม่?

คำถามเหล่านี้ เป็นคำถามที่ถูกถามมาค่อนข้างบ่อย ซึ่งแน่นอนว่าก็เกิดจากความสงสัย และปนกับความไม่เข้าใจ รวมไปถึง พอโดนทางฝั่งนายจ้าง หรือ บริษัทเขาขู่ หรือ เอากฏหมายมาอ้าง ยิ่งทำให้เราเข้าใจผิดได้เช่นกัน

ดังนั้นในบทความนี้ เรามาทำความเข้าใจ ในเรื่องของการลาออก ที่ถูกต้องกัน

ลาออก จำเป็นไหมต้องบอกล่วงหน้า อย่างน้อย 30 วัน จริงหรือไม่?

สำหรับในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี ที่เราได้งานใหม่ หรือ เราอยากลาออก ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อันที่จริงแล้ว หากอ้างอิงตามกฎหมายแรงงาน เขาไม่ได้มีการกำหนดเอาไว้ว่า พนักงานจะต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนลาออกนานแค่ไหน? ยกตัวอย่างเช่น

สำหรับกรณีพนักงานประจำ

หมายถึง สัญญาจ้างของพนักงานประจำ ที่ไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าจะต้องทำงานนานแค่ไหน ดังนั้น ทั้งพนักงานและนายจ้าง ก็สามารถยกเลิกสัญญาได้ทั้งสองฝ่าย และ หากสัญญาของเราเป็นแบบนี้ เราก็สามารถลาออกเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ต้องการ

หากเรายื่นจดหมายลาออกวันศุกร์นี้ วันจันทร์หน้า เราไม่ต้องมาทำงานเลยก็ได้ ซึ่งหากเราทำแบบนี้จริงๆ นายจ้าง หรือ บริษัทฯ ก็ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายกับเราได้ ยกเว้นเสียแต่ว่า เราได้ไปสร้างความเสียหาย ให้แก่นายจ้าง ซึ่งอาจจะเป็นเหตุมาจากจงใจหรือประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรง (อ้างอิงตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 76)

แต่อย่างไรก็ตาม การลาออกแบบนี้ ไม่เป็นผลดีกับตัวเราเลย เพราะเป็นการแสดงออกถึงการไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่มีความรับผิดชอบ และ อาจจะเป็นการสร้าง หรือ ทิ้งภาระเอาไว้ให้คนอื่นๆ อีกด้วย การที่นายจ้าง หรือ บริษัทฯ ต้องการให้มีการบอกล่วงหน้าสัก 30 วัน ก็เพราะว่า เขาต้องการเวลาที่มากพอที่จะให้พนักงานที่จะลาออก ได้มีเวลาเคลียร์งานที่ค้างอยู่ มีเวลาพอที่จะส่งมอบงานให้คนอื่นต่อไป รวมไปถึงมีเวลาเพียงพอที่จะหาพนักงานมาทดแทน

ส่วนเรื่องระยะเวลาที่ว่าจะอยู่ทำต่อกี่วันก่อนที่จะไปนั้น พนักงานสามารถทำข้อตกลงกันกับหัวหน้าก็ได้ ซึ่งก็อาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ครบ 30 วันก็ได้ หากสามารถสะสาง เคลียร์งาน ได้จนครบถ้วนสมบูรณ์

ดังนั้น หากจะออกจริงๆ ก็ขอให้เข้าใจในมุมของนายจ้าง หรือ บริษัทฯ บ้าง ขอให้ลาออกอย่างมืออาชีพ ไม่ทิ้งปัญหา และไม่สร้างศัตรู เอาไว้จะดีกว่า เพราะอนาคต เราอาจจะต้องมาเจอกันอีกก็ได้

สำหรับกรณีพนักงานชั่วคราว

หมายถึง สัญญาจ้างของพนักงานที่มีการกำหนดระยะเวลาทำงานไว้ชัดเจน เช่น สัญญาจ้าง 6 เดือน สัญญาจ้าง 1 ปี เป็นต้น โดยถ้าเราทำงานจนครบกำหนดเวลา แล้วหลังจากนั้นเราจะไม่ไปทำงานเลยก็ได้ เพราะถือว่าหมดสัญญาแล้ว ทางนายจ้าง ไม่สามารถเอาผิดเราได้

แต่ถ้าเราลาออกก่อนครบกำหนดในสัญญา เราก็อาจจะต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับนายจ้าง หรือ บริษัทฯ คู่สัญญา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและรายละเอียดที่เราได้ทำสัญญากันเอาไว้ กรณีนี้ ต้องดูสัญญาให้ดี ก่อนที่จะลาออก เพราะ มันจะมีความเสียหาย และค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการลาออกก่อนครบสัญญา

บริษัทฯ หรือ นายจ้าง มีสิทธิ ยับยั้ง หรือ ไม่อนุมัติให้เราออกได้ หรือไม่?

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจเรื่องการลาออกที่ถูกต้องกันก่อน ก็คือ ต้องเป็นการยื่นจดหมายที่แสดงเจตจำนงค์ในการลาออกที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือเดี๋ยวนี้ เป็น Email ก็ได้ จะบอกเหตุผล หรือ ไม่บอกเหตุผลในการลาออกในจดหมายก็ได้ ดังนั้นจะบอกปากเปล่า ด้วยวาจาไม่เพียงพอ

ส่วนในเรื่องจดหมายลาออก ควรส่งให้ใครดี? หลักการที่ดี ก็ควรแจ้งและส่งให้หัวหน้าของเราโดยตรงก่อน แล้ว สามารถส่งสำเนา ต่อไปให้กับฝ่ายบุคคล กรณีเป็น Email ก็สามารถส่งจดหมายลาออกให้หัวหน้า และ CC ทางฝ่ายบุคคลก็ได้เช่นกัน

กรณีที่เรายื่นจดหมายลาออกแล้ว ตามกฏหมายถือว่าเราทำถูกต้อง และมีผลทันที โดยนายจ้าง หรือ บริษัทฯ จะไม่สามารถปฏิเสธการลาออกของเราได้ และ ถ้าเราได้มีการยื่นจดหมายลาออกที่เป็นลายลักษณ์อักษรเรียบร้อยแล้ว เราจะไม่มาทำงานตามวันที่แจ้งลาออกเลยก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องรออนุมัติ นายจ้าง หรือ บริษัทฯ เองก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาบังคับไม่ให้เราออกได้ด้วยเช่นกัน

สรุปก็คือ เราลาออกได้ โดยไม่ต้องรออนุมัติจากนายจ้างนั่นเอง

หากเราลาออก แต่ต้องการไปเลย หรือ อยู่ทำงานไม่ครบ 30 วัน นายจ้างมีสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างในส่วนที่เราทำงานไปแล้วได้หรือไม่?

กรณีนี้ หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือ เงินเดือน ในส่วนที่ลูกจ้างได้ทำงานไปแล้ว ถือว่ามีความผิด ทำผิดกฏหมาย เพราะนายจ้างไม่สามารถหักค่าจ้างในประเด็นนี้ ได้

อ้างอิงตามกฎหมายแรงงาน มาตรา 76 มีการระบุไว้ว่า ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

  1. ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
  2. ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน
  3. ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่น ที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือ หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียว โดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
  4. เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
  5. เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

การหักตาม (2) (3) (4) และ (5) ในแต่ละกรณีห้ามมิให้หักเกินร้อยละสิบ และจะหักรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามกำหนดเวลาการจ่ายตามมาตรา 70 เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

สรุปก็คือ เราลาออกได้ ถึงแม้จะอยู่ไม่ครบ 30 วัน นายจ้างก็ไม่มีสิทธิ ที่จะหักเงินค่าจ้างในส่วนที่เราได้ทำงานไปแล้วได้ นั่นเอง

อยู่ในช่วงทดลองงาน ลาออกได้ไหม?

กรณีนี้ เพิ่งเริ่มทำงาน และอยู่ในช่วงทดลองงาน ก็ยังสามารถลาออกได้ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นแจ้งการลาออกเป็น ลายลักษณ์อักษร ไม่ออกทันที ควรมีเวลาสะสางงาน หรือ อื่นๆ ก่อนที่จะไป เป็นต้น

บทสรุป

ถึงตรงนี้แล้วคงรู้แล้วว่า ลาออก จำเป็นไหมต้องบอกล่วงหน้า หากอยากออก จำเป็นไหม ต้องรอถึง 30 วัน?

หากใครโดนกระทำอย่างไม่เป็นธรรมจากนายจ้าง ก็สามารถติดต่สายด่วนแรงงาน 1546 เพื่อขอคำปรึกษา หรือ อาจจะให้เจ้าหน้าที่แรงงานเขาช่วยไกล่เกลี่ยให้ก่อน แต่หากนายจ้างยังไม่ทำให้ถูกต้อง ทางเจ้าหน้าที่แรงงานเขาก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการสวัสดิการแรงงานพิจารณาในขั้นตอนต่อไป

เรื่องของ กฎหมายแรงงาน เป็นเรื่องสำคัญ หากไม่อยากโดนเอาเปรียบ หรือ ไม่อยากทำผิดโดยไม่รู้หรือไม่เข้าใจ เราต้องศึกษาถึงเงื่อนไข และข้อกำหนดให้ละเอียดถี่ถ้วน มิฉะนั้น เราอาจจะต้องกลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์ และ อาจทำผิดกฏหมายได้

บทความอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฏหมายแรงงานสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ :

โดนสั่งย้าย โดนลดตำแหน่ง หมายความว่า ต้องการบีบให้เราลาออกเองใช่ไหม?