สังคมที่มีประชาชนประพฤติตนเป็นพลเมืองดี

บทบาทและหน้าที่ที่ควรจะมีของพลเมืองดี

สังคมที่มีประชาชนประพฤติตนเป็นพลเมืองดี

การที่ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้นั้น พลเมืองในประเทศต้องรู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง หากเราทุกคนทำหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าบ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน

พลเมืองที่ดี หมายถึง ผู้ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องทำและควรทำได้อย่างครบถ้วน สอดคล้องกับหลักธรรม วัฒนธรรม ประเพณีที่ได้กำหนดไว้ มีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ถือได้ว่า พลเมืองเป็นส่วนสำคัญของสังคม ทุกสังคมต่างต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า

วัตถุประสงค์ในการพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพที่ดี คือ

  1. ให้ทราบถึงบรรทัดฐานของสังคม
  2. รู้จักการปฏิบัติตนให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างราบรื่น
  3. ต้องเคารพกฎหมาย มีระเบียบวินัย ตามที่สังคมได้วางไว้
  4. ปรับทัศนคติและค่านิยมที่ดีในสังคม

ลักษณะของพลเมืองที่ดี คือ

  1. ต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน คือ ต้องมีความอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ เห็นความสำคัญในประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าของตนเอง
  2. ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะ คือ สามารถประพฤติ ปฏิบัติได้อย่างที่สังคมต้องการ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีเหตุผล

การปฏิบัติตนให้เป็นพลเมืองดีตามแนวทางประชาธิปไตยทำได้หลายด้านเช่น

  • ด้านสังคม พลเมืองที่ดีต้องแสดงความคิดเห็นอย่างเหมาะสมมีเหตุผล, รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น, ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมได้เป็นอย่างดี ร่วมพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า เสียสละเพื่อส่วนรวม
  • ด้านเศรษฐกิจ ต้องรู้จักประหยัด อดออม, มีความซื่อสัตย์สุจริต, ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ดำรงชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
  • ด้านการเมืองการปกครอง ต้องเคารพกฎหมายบ้านเมือง, ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น

หน้าที่ของพลเมืองดี ที่พึงปฏิบัติ คือ

  1. นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมให้มากกว่าประโยชน์ส่วนตน
  2. มีระเบียบ วินัย เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ด้วยความเรียบร้อย
  3. รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
  4. มีความอดทน สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีแม้ว่าจะต้องเหตุการณ์ที่สร้างความไม่พอใจก็ตาม
  5. รู้จักประหยัด อดออม ไม่ฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายยามจำเป็น ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
  6. มีน้ำใจนักกีฬา รู้จักการให้อภัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
  7. มีความซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา
  8. เคารพกฎหมายและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมได้เป็นอย่างดี
  9. มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี

ทุกสังคมต้องการพลเมืองที่ดี เพื่อที่จะสามารถนำพาความเจริญก้าวหน้ามาสู่สังคมและประเทศชาติได้อย่างมั่นคง เราควรเริ่มต้นจากการปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี โดยมีผู้ใหญ่ทำตัวเป็นแบบอย่าง เพราะเมื่อเด็กเติบโตขึ้น พวกเขาจะได้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพอย่างที่ทุกคนในสังคมต้องการ

หน่วยการเรียนรู้ที่ 1.2

พลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตยในสังคมไทย

สังคมที่มีประชาชนประพฤติตนเป็นพลเมืองดี

พลเมือง หมายถึง พละกำลังของประเทศ ซึ่งมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศนั่นเอง ต่างจากชาวต่างด้าวเข้าเมือง ชาวต่างประเทศนี้เข้ามาอยู่ชั่วคราว พลเมืองมีความหมายต่างจากบุคคล ซึ่งหมายถึง สิ่งซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศใด ย่อมหมายถึงบุคคลทั้งหลายที่มีสัญชาติของประเทศนั้น ๆ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น เมื่อกล่าวถึงพลเมืองของประเทศไทยย่อมหมายถึงคนทั้งหลายที่มีสัญชาติไทยตาม กฎหมายไทยพลเมืองของแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิและ หน้าที่ตามกฎหมายของประเทศนั้น บุคคลต่างสัญชาติที่เข้าไปอยู่อาศัยซึ่งเรียกว่าคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิเท่าเทียมกับพลเมือง และมีหน้าที่แตกต่างออกไป เช่น อาจมีหน้าที่เสียภาษี หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศบัญญัติไว้

        สิทธิ และหน้าที่เป็นสิ่งคู่กัน เมื่อมีสิทธิก็ต้องมีหน้าที่ พลเมืองของทุกประเทศมีทั้งสิทธิและหน้าที่ แต่จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้นและแน่นอนว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยประชาชนมีสิทธิมากกว่าการปกครองในระบอบอื่น เพราะมีสิทธิที่สำคัญที่สุด คือ สิทธิในการปกครองตนเอง

หน้าที่ของพลเมืองดี

พลเมืองดี หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองได้ครบถ้วน ทั้งกิจที่ต้องทำ และกิจที่ควรทำ

หน้าที่ หมายถึง กิจที่ต้องทำหรือควรทำ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ทำ หรือห้ามมิให้กระทำ ถ้าทำก็จะก่อให้เกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคมส่วนรวมแล้วแต่กรณี ถ้าไม่ทำหรือไม่ละเว้นการกระทำตามที่กำหนดจะได้รับผลเสียโดยตรง คือ ได้รับโทษ หรือถูกบังคับ เช่น ปรับ จำ คุก หรือประหารชีวิต เป็นต้น โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ต้องทำ ได้แก่ กฎหมาย เป็นต้น

        กิจที่ควรทำ คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ หรือละเว้นการกระทำ ถ้าไม่ทำหรือละเว้นการกระทำ จะได้รับผลเสียโดยทางอ้อม เช่น ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย ผู้กระทำกิจที่ควรทำจะได้นับการยกย่องสรรเสริญจากคนในสังคมโดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ควรทำ ได้แก่ วัฒนธรรม ประเพณี เป็นต้น

พลเมือง ดีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาติคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครู อาจารย์ มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามหลักจริยธรรม และหลักธรรมของศาสนา มีความรอบรู้ มีสติปัญญาขยันขันแข็ง สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

 พลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย

 ความหมายของ พลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตย พจนานุกรมนักเรียนฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคำต่าง ๆ ดังนี้

พลเมืองหมายถึง ชาวเมือง ชาวประเทศ ประชาชน

วิถีหมายถึง สาย แนว ทาง ถนน

ประชาธิปไตยหมายถึง แบบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่

ดังนั้นคำว่า พลเมืองดีในวิถีชีวิตประชาธิปไตยจึงหมายถึง พลเมืองที่มีคุณลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นผู้ที่ยึดมั่นในหลักศีลธรรมและคุณธรรมของศาสนา มีหลักการทางประชาธิปไตยในการดำรงชีวิต ปฏิบัติตนตามกฎหมายดำรงตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอันจะก่อให้เกิดการพัฒนาสังคมและประเทศชาติให้ เป็นสังคมและประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหลักการทางประชาธิปไตย

หลักการทางประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด ได้แก่

1) หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนหมายถึงประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ

2) หลักความเสมอภาค หมายถึง ความเท่าเทียมกันในสังคมประชาธิปไตย ถือว่าทุกคนที่เกิดมาจะมีความเท่าเทียมกันในฐานะการเป็นประชากรของรัฐ ได้แก่ มีสิทธิเสรีภาพ มีหน้าที่เสมอภาคกัน ไม่มีการแบ่งชนชั้นหรือการเลือกปฏิบัติ ควรดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่ข่มเหงรังแกคนที่อ่อนแอหรือยากจนกว่า

3) หลักนิติธรรม หมายถึง การใช้หลักกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน เพื่อความสงบสุขของสังคม

4) หลักเหตุผล หมายถึง การใช้เหตุผลที่ถูกต้องในการตัดสินหรือยุติปัญหาในสังคม

5) หลักการถือเสียงข้างมาก หมายถึง การลงมติโดยยอมรับเสียงส่วนใหญ่ในสังคมประชาธิปไตย ครอบครัว ประชาธิปไตย จึงใช้หลักการถือเสียงข้างมากเพื่อลงมติในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างสันติวิธี

6) หลักประนีประนอม หมายถึง การลดความขัดแย้งโดยการผ่อนหนักผ่อนเบาให้กัน ร่วมมือกันเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ หลักการทางประชาธิปไตยจึงเป็นหลักการสำคัญที่นำมาใช้ในการดำเนินชีวิตใน สังคม เพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมได้

 ความสอดคล้องของสถานภาพและบทบาทของบุคคลในวิถีชีวิตประชาธิปไตย

สถานภาพและบทบาทของบุคคลที่สอดคล้องกัน เช่น

1) พ่อ แม่ ควรมีบทบาทดังนี้

(1) รับผิดชอบในการอบรมสั่งสอนสมาชิกในครอบครัว
(2) ให้การศึกษาต่อสมาชิกของครอบครัว
(3) จัดสรรงบประมาณของครอบครัวให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจของสังคมและโลก
(4) ครองตนเป็นแบบอย่างที่ดีความรักต่อบุตร

2) ครู อาจารย์ ควรมีบทบาท ดังนี้

(1) ถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์โดยกระบวนการที่หลากหลายให้เหมาะสมกับความสามารถและความสนใจของนักเรียน
(2) ครองตนให้เหมาะสมและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์
(3) เป็นผู้เสียสละทั้งเวลาและอดทนในการสั่งสอนศิษย์ทั้งด้านความประพฤติและการศึกษา
(4) ยึดมั่นในระเบียบวินัย ตลอดจนปฏิบัติตามจรรยาบรรณครู

 3) นักเรียน ควรมีบทบาท ดังนี้

(1) ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรมและระเบียบของโรงเรียน
(2) รับผิดชอบต่อหน้าที่ในการศึกษาหาความรู้
(3) ให้ความเคารพต่อบุคคลที่อาวุโสโดยมีมารยาทที่เหมาะสมกับสถานการณ์
(4) รับฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนอย่างมีเหตุผล
(5) ขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
(6) เสริมสร้างความสามัคคีในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

คุณธรรมของการเป็นพลเมืองดี

1. การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
2. การมีระเบียบวินัยและรับผิดชอบต่อหน้าที่
3. รับฟังความคิดเป็นขอบกันและกันและเคารพในมติของเสียงส่วนมาก
4. ความซื่อสัตย์สุจริต
5. ความสามัคคี
6. ความละอายและเกรงกลัวในการกระทำชั่ว
7. ความกล้าหาญและเชื่อมั่นในตนเอง
8. การส่งเสริมให้คนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ

จริยธรรมของการเป็นพลเมืองดี

คุณธรรม จริยธรรม หมายถึง ความดีที่ควรประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ คุณธรรม จริยธรรมที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี ได้แก่

1) ความ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หมายถึง การตระหนักในความสำคัญของความเป็นชาติไทย การยึดมั่นในหลักศีลธรรมของศาสนา และการจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

2) ความมีระเบียบวินัย หมายถึง การยึดมั่นในการอยู่ร่วมกันโดยยึดระเบียบวินัย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม

3) ความกล้าทางจริยธรรม หมายถึง ความกล้าหาญในทางที่ถูกที่ควร

4) ความรับผิดชอบ หมายถึง การยอมเสียผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผู้อื่น หรือสังคมโดยรวมได้รับประโยชน์จากการกระทำของตน

5) การเสียสละ หมายถึง การยอมเสียผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อผู้อื่น หรือสังคมโดยรวมได้รับประโยชน์จากการกระทำของตน

6) การตรงต่อเวลา หมายถึง การทำงานตรงตามเวลาที่ได้รับมอบหมาย

 ความสำคัญของการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี

การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีของสังคม มีความสำคัญต่อประเทศ เช่น

1. ทำให้สังคมและประเทศชาติมีการพัฒนาไปได้อย่างมั่นคง

2. ทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

3. ทำให้เกิดความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ

4. สมาชิกในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีนั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่

แนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวโรงเรียนและชุมชนแนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นสมาชิกที่ดีมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

1. การเป็นสมาชิกที่ดีขอบครอบครัว

2. การเป็นสมาชิกที่ดีของโรงเรียน

3. การเป็นสมาชิกที่ดีของชุมชน

เมื่อทุกคนในสังคมไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ได้จะประสบความสำเร็จ

 การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี

 บุคคล จะเป็นพลเมืองดีของสังคมนั้น ต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ที่จะต้องปฏิบัติ และมุ่งมั่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ด้วยความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับหลักธรรม วัฒนธรรมประเพณี และรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ รวมทั้งบทบาททางสังคมที่ตนดำรงอยู่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และได้ประสิทธิผลทั้งในส่วนตนและสังคม เมื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ย่อมเกิดความภาคภูมิใจและ เกิดผลดีทั้งต่อตนเองและสังคม ด้วยการเป็นพลเมืองดีที่เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น มีความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนและสังคม มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างผาสุข
พลเมืองดี มีหน้าที่ต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. หน้าที่ของพลเมืองดีของสังคม หน้าที่ เป็นภารกิจที่บุคคลต้องกระทำเพื่อสร้างคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาเป็นคนและค่าของคนอยู่ที่การปฏิบัติหน้าที่ โดยมีความรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญ และต้องสอดคล้องกับบทบาททางสังคมที่แต่ละบุคคลดำรงอยู่ หน้าที่จึงเป็นภารกิจที่จะต้องกระทำเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่อย่างมีคุณค่า และเป็นที่ยอมรับของสังคม ซึ่งอาจเป็นหน้าที่ตามหลักศีลธรรม กฎหมาย หรือจิตสำนึกที่ถูกต้องเหมาะสม หน้าที่ที่เป็นภารกิจของพลเมืองดีโดยทั่วไปพึงปฏิบัติ มีดังนี้

 การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามหลักธรรม

การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามหลักธรรม เป็นหน้าที่ของพลเมืองดีพึงปฏิบัติ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1. จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม

จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม เป็นคำที่มักใช้ปะปนกัน หากจะพิจารณาความหมายของคำศัพท์ที่นำมาประกอบกันเป็นคำเหล่านี้ พอจะแยกได้ ดังนี้

จริยธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย

คุณธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

ศีลธรรม หมายถึง หลักในการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเสียหาย พร้อมกันนั้นก็สร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นด้วย  

จริยธรรม

คุณธรรม

ศีลธรรม

หลักการของกิริยาที่ควร ประพฤติทำให้สังคมอยู่ด้วยกันโดยสงบ

หลักการที่ดีมีประโยชน์ที่สังคมเห็นว่าเป็นความดีความงาม

ความเป็นปกติหรือการรักษากาย วาจา ใจให้เป็นปกติ ไม่ทำชั่วหรือเบียดเบียนผู้อื่น

เช่น - อยู่ในระเบียบวินัย - ตรงต่อเวลา
- มีความรับผิดชอบ - ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
- ไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย

เช่น - ซื่อสัตย์ - สุจริต
- มีเมตตา - เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
- เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

เช่น - ห้ามพูดเท็จ ให้พูดแต่ความจริง
- ห้ามเสพของมึนเมา ให้มีสติอยู่เสมอ
- ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ให้มีความเมตตากรุณา

 ความสำคัญของจริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม

มนุษย์นับว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และมีความสำคัญมากที่สุดในโลก เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สามารถเรียนรู้และรับการฝึกอบรมสั่งสอนจนสามารถนำความรู้ที่ได้รับมาสร้างสรรค์สิ่งต่างๆที่เป็นคุณประโยชน์ต่อโลกได้ ในการเรียนรู้และการฝึกอบรมเพื่อสะสมประสบการณ์ชีวิต มนุษย์ควรได้รับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมไปด้วยพร้อมๆกัน เพราะคุณธรรมจริยธรรมมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคนเป็นอย่าง มาก อาจสรุปความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมได้ดังนี้ คือ

1. ช่วยให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่นและสงบสุข ไม่พบอุปสรรค

2. ช่วยให้คนเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา ไม่เผลอตัว ไม่ลืมตัว จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งใดก็จะระมัดระวังตัวอยู่เสมอ

3. ช่วยสร้างความมีระเบียบวินัยให้แก่บุคคลในชาติ

4. ช่วยควบคุมไม่ให้คนชั่วมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่น นับว่าเป็นคุณแก่สังคม เพราะนอกจากจะเป็นตัวอย่างโดยการชี้นำทางอ้อมแล้ว ยังจะออกปากแนะนำสั่งสอนโดยตรงได้อีกด้วย

5. ช่วยให้มนุษย์นำความรู้และประสบการณ์ ที่ร่ำเรียนมาสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่า

6. ช่วยควบคุมการเจริญทางด้านวัตถุและจิตใจของคนให้เจริญไปพร้อม ๆ กัน

7. ช่วยสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้มนุษย์

ความสำคัญของคุณธรรม และจริยธรรมที่กล่าวมานี้ ประเด็นที่สำคัญก็คือ สามารถลดปัญหา และขจัดปัญหาที่จะเกิดขึ้นแก่บุคคล สังคม และประเทศชาติได้ เมื่อทุกคนประพฤติปฏิบัติตนดีแล้ว อุปสรรค ศัตรู ภัยอันทราย ก็จะหมดสิ้นไป ผู้คนมีแต่ความรักต่อกัน สังคมมีแต่ความสงบ และประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง


ลักษณะของจริยธรรม คุณธรรม

คุณธรรมและจริยธรรม คือ สิ่งที่เป็นความดีควรประพฤติปฏิบัติ เพราะจะนำความสุข ความเจริญ ความมั่นคงมาสู่ประเทศชาติ สังคม และบุคคล คุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญ ๆ มีดังต่อไปนี้

1. ความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศ ชาติ นับว่ามีพระคุณอย่างมหาศาล เพราะเป็นสถานที่ ที่เราทุกคนอยู่อาศัยอย่างผาสุกตั้งแต่เกิดจนตาย ให้เราได้ประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิต ให้เราได้ภาคภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรีที่มีชาติเป็นของตนเอง ไม่เป็นทาสใคร เราต้องมีความซื่อสัตย์ต่อชาติ รักและหวงแหน ยอมสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อให้ชาติเป็นเอกสารสืบไป ป้องกันไม่ให้ผู้ใดมาทำลาย ปกป้องชื่อเสียงไม่ให้ใครมาดูแคลน และประพฤติตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาติบ้านเมือง ศาสนา เป็นที่พึ่งทางกายและทางจิตใจ ทำให้มนุษย์ดำรงชีพร่วมกันในสังคมอย่างมีสันติสุข เรามีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนาให้มั่นคงสถาพรสืบต่อไป ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา สร้างและบูรณะ ศาสนาสถาน ฟังธรรม และปฏิบัติธรรมอยู่เป็นนิจ ประพฤติต่อผู้อื่นด้วยความสุจริตทั้ง กาย วาจา และใจ องค์พระมหากษัตริย์ ทรงเป็นศูนย์รวมของชาวไทยทั้งประเทศ พระองค์ทรงเป็นผู้นำและผู้ปกป้องชาติและศาสนา ทรงบำบัดทุกข์และบำรุงสุข ให้แก่ราษฎรด้วยความเสียสละในทุก ๆ ด้าน เราต้องเทิดทูนพระองค์ไว้สูงสุด รับใช้สนองพระมหากรุณาธิคุณอย่างเต็มความสามารถ ประพฤติตนเป็นคนดีไม่เป็นภาระแก่พระองค์ และถ้ามีความจะเป็นแม้ชีวิตของเราเองก็สามารถจะถวายพลีชีพได้ เพื่อความเป็นปึกแผ่น และยั่งยืนของสถาบันพระมหากษัตริย์

2. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ หมาย ถึง การปฏิบัติกิจการงานของตนเอง และที่ได้รับมอบหมายด้วยความมานะพยายาม อุทิศกำลังกาย กำลังใจอย่างเต็มความสามารถ ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยจนงานประสบความสำเร็จตรงตามเวลา บังเกิดผลดีต่อตนเองและส่วนรวม ทั้งนี้รวมไปถึงการรับผิดเมื่องานล้มเหลว พยายามแก้ไขปัญหาและอุปสรรคโดยไม่เกี่ยงงอนผู้อื่น

3. ความมีระเบียบวินัย หมาย ถึง การเป็นผู้รู้และปฏิบัติตามแบบแผนที่ตนเอง ครอบครัว และสังคมกำหนดไว้ โดยที่จะปฏิเสธไม่รับรู้กฎเกณฑ์หรือกติกาต่าง ๆ ของสังคมไม่ได้ คุณธรรมข้อนี้ต้องใช้เวลาปลูกฝังเป็นเวลานาน และต้องปฏิบัติสม่ำเสมอจนกว่าจะปฏิบัติเองได้ และเกิดความเคยชิน การมีระเบียบวินัยช่วยให้สังคมสงบสุขบ้านเมืองมีความเรียบร้อย เจริญรุ่งเรือง

4. ความซื่อสัตย์ หมาย ถึง การปฏิบัติตน ทางกาย วาจา จิตใจ ที่ตรงไปตรงมา ไม่แสดงความคดโกงไม่หลอกลวง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ลั่นวาจาว่าจะทำงานสิ่งใดก็ต้องทำให้สำเร็จเป็นอย่างดี ไม่กลับกลอก มีความจริงใจต่อทุกคน จนเป็นที่ไว้วางใจของคนทุกคน

5. ความเสียสละ หมายถึง การปฏิบัติตนโดยอุทิศกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมด้วยความตั้งใจจริง มีเจตนาที่บริสุทธิ์ คุณธรรมด้านนี้เป็นการสะสมบารมีให้แก่ตนเอง ทำให้มีคนรักใคร่ไว้วางใจ เป็นที่ยกย่องของสังคม ผู้คนเคารพนับถือ

6. ความอดทน หมายถึง ความเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคใด ๆ มุ่งมั่นที่จะทำงานให้บังเกิดผลดีโดยไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน ความอดทนมี 4 ลักษณะ คือ

- อดทนต่อความยากลำบาก เจ็บป่วย ได้รับทุกขเวทนาก็ไม่แสดงอาการจนเกินกว่าเหตุ

- อดทนต่อการตรากตรำทำงาน ไม่ทอดทิ้งงาน ฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบผลสำเร็จ

- อดทนต่อความเจ็บใจ ไม่แสดงความโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท อดทนต่อคำเสียดสี

- อดทนต่อกิเลส คือ ไม่อยากได้ของผู้อื่นจนเกิดทุกข์ ไม่ตอบโต้คนอื่นที่ทำให้เราโกรธ และไม่ลุ่มหลงในสิ่งที่จะพาเราไปพบกับความเสียหาย

7. การไม่ทำบาป หมาย ถึง การงดเว้นพฤติกรรมที่ชั่วร้าย สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นเพราะเป็นเรื่องเศร้าหมองของจิตใจ ควรงดเว้นพฤติกรรมชั่วร้าย 3 ทาง คือ

- ทางกาย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทุจริต ไม่ลักขโมย ไม่ผิดประเวณี

- ทางวาจา เช่น ไม่โกหก ไม่กล่าวถ้วยคำหยาบคาย ไม่ใส่ร้าย ไม่พูดเพ้อเจ้อ

- ทางใจ เช่น ไม่คิดเนรคุณ ไม่คิดอาฆาต ไม่คิดอยากได้

8. ความสามัคคี หมายถึง การที่ทุกคนมีความพร้อมกาย พร้อมใจ และพร้อมความคิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ โดยไม่มีการเกี่ยงงอนหรือคิดชิงดีชิงเด่นกัน ทุกคนมุ่งที่จะให้สังคมและประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง มีความรักใคร่กลมเกลียวกันด้วยความจริงใจ ความไม่เห็นแก่ตัว การวางตนเสมอต้นเสมอปลายก็หมายถึงความสามัคคีด้วย


การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวัฒนธรรมไทย

วัฒนธรรม คือ แบบแผนการกระทำ หรือผลการกระทำที่พัฒนาจากสภาพเดิมตามธรรมชาติให้ดีงามยั่งยืนจนเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม

ตัวอย่าง แบบแผนการกระทำ เช่น กิริยา มารยาท การพูด การแต่งกาย การรับประทานอาหาร เป็นต้น ส่วนผลจากการกระทำ เช่น เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น

วัฒนธรรมการไหว้ เป็นวัฒนธรรมภายนอกที่มัก ได้รับการตอบสนองจากผู้ได้รับด้วยการไหว้ตอบนอกจากนี้ ยังมีวัฒนธรรมไทยอื่นๆ ที่งดงาม เช่น การกราบ การแต่งกายแบบไทยในโอกาสต่าง ๆ การทำบุญ ตักบาตร ฯลฯ

การปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามประเพณีไทย

ขนบธรรมเนียมประเพณี คือ สิ่งที่ปฏิบัติสืบทอดสืบทอดกันมาและถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามของแต่ละสังคมอาจเหมือนกัน คล้ายกัน หรือแตกต่างกันก็ได้ และสิ่งที่ดีงามของสังคมหนึ่งเมื่อเวลาผ่าน ไปสังคมนั้นอาจเห็นเป็นสิ่งไม่ดีงามก็ได้

วัฒนธรรมและประเพณีไทย เป็นกิจกรรมที่สืบทอดมายาวนานและสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งดีควรอนุรักษ์ไว้

การเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมไทยและสังคมโลก การที่บุคคลจะเป็นสมาชกที่ดีของสังคมไทยและสังคมโลก จะต้องคำนึงถึงสถานภาพ บทบาท สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี

2. หน้าที่ของพลเมืองดีของสังคมตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กล่าวถึงหน้าที่ของชนชาวไทยตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งทุกคนจะต้องรักษาและปฏิบัติตามจะหลีกเลี่ยงมิได้ พอสรุปได้ดังนี้

การรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

1. การรักษาชาติ บุคคล มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 66 เมื่อคนไทยมีหน้าที่รักษา ก็ต้องดูแล และป้องกันชาติ มิให้ผู้ใดใช้ข้ออ้างใด ๆ เพื่อแบ่งแยกแผ่นดินไทย ด้วยเหตุผลทางการเมือง การปกครอง หรือศาสนา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า "ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้" ดังนั้น ผู้ใดจะมาชักจูง โน้มน้าวเราด้วยเหตุผลใดๆ ถือว่าเป็นผู้ทำลายประเทศชาติ คนไทยทุกคนมีหน้าที่รักษาชาติให้มีเสถียรภาพ มั่นคงถาวรและเป็นเอกภาพตลอดไป

2. การรักศาสนา เนื่องจากประเทศไทยให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและสามารถประกอบพิธีกรรมตามศาสนาได้ พระมหากษัตริย์ คือ ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาในประเทศไทย รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่เราทุกคนต้องรักษาไว้ซึ่งศาสนา ซึ่งน่าจะหมายถึงการบำรุงรักษาและเสริมสร้างศรัทธาเพื่อให้ศาสนาคงอยู่คู่ บ้านเมืองและเป็นหลักยึดเหนี่ยวในด้านคุณธรรมสืบไป

3. การรักษาพระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ภารกิจ นี้เป็นหน้าที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยทุกคน เพราะประเทศไทยดำรงอยู่ได้และคนไทยอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขยืนยงมาทุกวันนี้ ด้วยพระบารมีของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ปกอยู่เหนือเกล้าฯ ชาวไทยทุกคนเพราะแต่ละพระองค์จะครองราชย์สมบัติ ดูแลบ้านเมืองอยู่ได้นานกว่าประมุขที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งมีความรู้สึกผูกพัน ตั้งแต่โบราณกาลถึงปัจจุบัน ย่อมจารึกอยู่ในดวงใจของชาวไทยทั้งประเทศ ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ที่คนไทยต้องดูแลรักษาและเทิดทูนสถาบันและองค์พระมหา กษัตริย์ไว้ด้วยชีวิต อีกทั้งต้องป้องกันภัยพาลอันเกิดจากวาจาหรือความคิดที่ไม่สุจริตทั้งปวง การปกครองของไทยจึงเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขที่ แน่วแน่มั่นคงเพราะพระองค์ คือ สัญลักษณ์แห่งคุณธรรมและสันติสุข

การปฏิบัติตามกฎหมาย บุคคลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้กว้าง ๆ แต่มีความหมายครอบคลุมกฎหมายทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเอกชน มหาชน หรือกฎหมายระหว่างประเทศรวมทั้งกฎหมายระดับต่าง ๆ เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง เป็นต้น เมื่อเราต้องเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับกฎหมายใด ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนั้นๆ อย่างเคร่งครัด เพราะกฎหมายแต่ละฉบับนั้นได้มีการร่างและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาอย่าง เปิดเผยต่อสาธารณชน จึงเป็นหน้าที่ของชาวไทยทุกคนที่จะต้อง

ศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องกฎหมาย เพื่อไม่ให้เสียเปรียบหรือได้รับโทษโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  บุคคล มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การใช้สิทธิเลือกตั้งมีทั้งในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย คือ ระบอบการ ปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ที่ถือเสียงข้างมากเป็นสำคัญแต่ก็เคารพสิทธิเสรีภาพของเสียงข้างน้อย ในระบอบประชาธิปไตยจึงมีการเลือกตั้งผู้แทนไปปฏิบัติหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งอาจจะเป็นการเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นสมาชิก สภานิติบัญญัติ หรืออาจเป็นการเลือกผู้แทนไปเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารโดยตรงก็ได้ แล้วแต่รูปแบบการปกครองของแต่ละประเทศ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจึงถือเป็นกิจกรรมที่จำเป็นอย่างหนึ่งในการปกครองตามระบอบ ประชาธิปไตย การได้มีโอกาสใช้สิทธิในการเลือกตั้งจึงเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนที่อยู่ ในประเทศประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำคัญคือ การเลือกตั้ง ดังนั้น ประชาชนควรภาคภูมิใจที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยเสรี ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของคนไทย บุคคลใดที่ไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันสมควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้ง ได้ย่อมเสียสิทธิตามกฎหมาย

แนวทางการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย

1)  ด้านสังคม ได้แก่                           

                    1. การแสดงความคิดอย่างมีเหตุผล

                    2. การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

                    3. การยอมรับเมื่อผู้อื่นมีเหตุผลที่ดีกว่า

                    4. การตัดสินใจโดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

                    5. การเคารพระเบียบของสังคม

                    6. การมีจิตสาธารณะ คือ การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม และรักษาสาธารณสมบัติ

2) ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่

                    1. การประหยัดและอดออมในครอบครัว

                    2. การซื่อสัตย์สุจริตต่ออาชีพที่ทำ

                    3. การพัฒนางานอาชีพให้ก้าวหน้า

                    4. การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

                    5. การสร้างงานและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเพื่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก

                    6. การเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคที่ดี มีความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในอุดมการณ์ที่ดีต่อชาติเป็นสำคัญ

3)  ด้านการเมืองการปกครอง ได้แก่

                    1. การเคารพกฎหมาย

                    2. การยอมรับฟังความคิดเห็นของทุกคน

                    3. การยอมรับในเหตุผลที่ดีกว่า

                    4. การซื่อสัตย์ต่อหน้าที่โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน

                    5. การกล้าเสนอความคิดเห็นต่อส่วนรวม กล้าเสนอตนในการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทน

ราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา

                    6. การทำงานที่รับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ เต็มเวลา