การจ ดต งศาลและว ธ พ จารณาคด ปกครอง ม.75 4

คดีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาดในเนื้อหาแห่งคดีและคดีถึงที่สุดแล้วนั้น หากมีเหตุที่เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ในเหตุใดเหตุหนึ่ง คู่กรณีหรือบุคคลภายนอกที่มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดีดังกล่าว สามารถมีคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ได้ หากผู้ขอไม่ทราบถึงเหตุนั้น ๆ ในการพิจารณาครั้งที่แล้วมา โดยที่มิใช่ความผิดของผู้ขอ ซึ่งเหตุที่ว่านั้นมีอยู่ทั้งหมด 4 เหตุด้วยกันดังนี้

เหตุแรก ศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้น เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

เหตุที่สอง คู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกนั้น มิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหรือได้เข้ามาแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในการดำเนินกระบวนพิจารณา

เหตุที่สาม มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม

เหตุที่สี่ คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ทำขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใด และต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญซึ่งทำให้ผลแห่งคำพิพากษาหรือคำสั่งขัดกับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

ที่ผ่านมา... ได้มีคู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้ยื่นคำขอใช้สิทธิดังกล่าวต่อศาลปกครองอยู่ไม่น้อย... ซึ่งมีทั้งที่ศาลรับคำขอไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษาตัดสินต่อไปและที่ศาลไม่อาจรับคำขอไว้พิจารณาด้วยเหตุที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 75 ดังกล่าว

สำหรับกรณีที่ศาลปกครองรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของคู่กรณีไว้พิจารณา ก็เช่นในคดีโครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียคลองด่านซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำพิพากษาตัดสินคดีดังกล่าวไปแล้ว แต่ต่อมาคู่กรณีได้ยื่นคำขอต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 ด้วยเหตุแรก คือเนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

โดยอ้างว่ามีหลักฐานใหม่คือคำพิพากษาในคดีอาญาซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คำพิพากษาของศาลแขวงดุสิตและคำพิพากษาของศาลอาญา ที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินโครงการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองกลางได้รับคำขอดังกล่าวไว้พิจารณาเนื่องจากเป็นไปตามเงื่อนไข และได้มีคำพิพากษาตัดสินใหม่แล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา และขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด เนื่องจากคู่กรณียื่นอุทธรณ์คำพิพากษา

อย่างไรก็ตาม... ยังมีหลาย ๆ กรณีที่มีการยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ แต่เป็นการขอใช้สิทธิที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขมาตรา 75 วรรคหนึ่ง คือมิใช่คดีที่ “ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว” ซึ่งหมายความว่า การใช้สิทธิดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยโดยพิจารณาเกี่ยวกับเนื้อหาของคดีที่พิพาทโดยได้มีคำพิพากษาตัดสินและคดีได้ถึงที่สุดแล้วนั่นเอง

ดังนั้น กรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาเพราะเหตุเกี่ยวกับเงื่อนไขการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เช่น ความเป็นผู้เดือดร้อนเสียหาย อำนาจศาล ระยะเวลาการฟ้องคดี ซึ่งถือว่าศาลยังมิได้เข้าไปพิจารณาในเนื้อหาของคดีนั้น ๆ เช่นนี้แล้ว... ย่อมไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดแล้ว

คู่กรณีจึงไม่อาจขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ เช่นในคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ คผ. 70/2560 ซึ่งคู่กรณีได้ยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ อันเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ด้วยเหตุที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว โดยข้อเท็จจริงใหม่ที่อ้างนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับวันที่ถือว่ารู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีที่จะส่งผลให้ผู้ฟ้องคดียังมีสิทธิฟ้องคดีได้ภายในระยะเวลา

โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา ด้วยเหตุผลว่าคำวินิจฉัยของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุดในคดีเดิมนั้น เป็นแต่เพียงการพิจารณาเรื่องเงื่อนไขในการฟ้องคดีว่าศาลปกครองจะมีอำนาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้หรือไม่ และได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากเป็นการฟ้องคดีเมื่อพ้นระยะเวลาตามกฎหมาย ซึ่งศาลยังมิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเนื้อหาแห่งคดี จึงมิใช่กรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 75 วรรคหนึ่งแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ขอถอนฟ้องในคดีเดิมไปและต่อมาได้มาขอให้ศาลพิจารณาคดีเดิมใหม่อีกครั้ง ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 307/2559 โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศไทย ต่อมาเกิดอุทกภัยเป็นเหตุให้หนังสือเดินทางสูญหาย จึงได้ไปยื่นคำขอให้ออกหนังสือรับรองว่า

หนังสือเดินทางฉบับที่สูญหายเป็นของผู้ฟ้องคดี แต่เจ้าหน้าที่มิได้ดำเนินการ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอให้ ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าเป็นการถอนฟ้องโดยผิดหลงเพราะเกิดจากความไม่เข้าใจเอกสารที่ผู้ถูกฟ้องคดียื่นต่อศาล

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า การที่ศาลปกครองชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีถอนฟ้องตามที่มีการยื่นขอถอนฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองเสร็จเด็ดขาดในประเด็นพิพาทที่ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องต่อศาล จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลปกครองจะรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ ตามนัยมาตรา 75 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า การยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องเกิดจากความไม่เข้าใจอันเป็นเหตุที่กระทำไปโดยผิดหลงนั้น เห็นว่าเมื่อศาลวินิจฉัยว่าคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ของผู้ฟ้องคดีไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดและศาลไม่อาจรับคำขอดังกล่าวไว้พิจารณาได้แล้ว อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจมีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลเป็นประการอื่นได้

จะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของมาตรา 75 ดังกล่าว ต้องการให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณีในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาตัดสินในเนื้อหาที่เป็นประเด็นแห่งคดีไปแล้ว โดยหากต่อมาปรากฏเหตุใดเหตุหนึ่งในสี่ประการดังที่ได้นำเสนอไว้แล้วในตอนต้นของบทความ คู่กรณีหรือผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำขอให้ ศาลพิจารณาคดีใหม่ได้ ฉะนั้นกรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง ซึ่งยังมิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในเนื้อหาหรือประเด็นของคดี จึงไม่เข้าตามเงื่อนไขที่จะนำคดีมาขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ได้

อย่างไรก็ตาม... การยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ จะต้องกระทำภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุซึ่งอาจขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดในเนื้อหาของคดีนะคะ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355 และสามารถศึกษาอุทาหรณ์เรื่องอื่น ๆเพิ่มเติมได้ที่ www.admincourt.go.th)