การโทรศ พท ไปสว สโทรศ พท ม อถ อ

ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชั้น 3 อาคารเฉลิมพระบารมี 110 ถ.อินทวโรรส ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 โทร : 053-935537

ประวัติความเป็นมาของหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือด

ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานศัลยกรรมทุกสาขา เพื่อให้เป็นเลิศทั้งทางวิชาการ และงานบริการที่ทันสมัยแก่ชุมชนในภาคเหนือ โดยจะเห็นได้จากการส่งแพทย์ไปฝึกอบรมในสาขาศัลยกรรมแขนงต่าง ๆ ในต่างประเทศ เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ประจำในภาควิชา นอกจากนี้ยังได้รับศัลยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในงานศัลยกรรมเฉพาะทางจากต่างประเทศ เข้ามาเป็นอาจารย์ในภาควิชาเพิ่มเติมอีกด้วย

สำหรับงานศัลยศาสตร์ทรวงอกนั้นในระยะแรกๆ ศัลยแพทย์ผู้ทำงานด้านนี้ได้แก่ นายแพทย์ พงษ์ศิริ ปรารถนาดี จนถึงปี พ.ศ. 2512 ภาควิชาศัลยศาสตร์ได้รับอาจารย์ 2 ท่านที่ได้รับการฝึกอบรมทางด้านศัลยศาสตร์ทรวงอกจากต่างประเทศ ได้แก่นายแพทย์ทรงวุฒิ สรสุชาติ และนายแพทย์ถนอมพันธ์ ทรงธนศักดิ์ ในขณะเดียวกันนายแพทย์เกษม วัฒนชัย (แพทย์เชียงใหม่รุ่น 4) อายุรแพทย์โรคหัวใจ นายแพทย์ชาลี พรพัฒน์กุล (แพทย์เชียงใหม่รุ่น 2) และ นายแพทย์ธรรมเนียม วะสีนนท์ (แพทย์เชียงใหม่รุ่น 5) กุมารแพทย์โรคหัวใจเด็ก ซึ่งสำเร็จการฝึกอบรมจากต่างประเทศ ได้กลับมาทำงานในภาควิชาอายุรศาสตร์ และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ทำให้คณะแพทยศาสตร์เกิดความพร้อมที่จะเริ่มให้บริการงานทางศัลยกรรมหัวใจ

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2512 จึงได้เริ่มทำการผ่าตัดหัวใจชนิดปิด [closed heart surgery] โดยเป็นการผ่าตัดทั้งโรคหัวใจแต่กำเนิด [PDA, systemic–pulmonary shunt ในผู้ป่วย tetralogy of Fallot] และโรคหัวใจรูมาติกของลิ้นหัวใจไมตรัล [closed mitral valvotomy ในผู้ป่วย mitral stenosis] และได้ทำผ่าตัดหัวใจชนิดปิดต่อเนื่องกันมาตลอดจนถึงปี พ.ศ. 2517 นายแพทย์ชำนาญ คงถาวร (แพทย์เชียงใหม่รุ่น 2) ซึ่งจบการฝึกอบรมทางศัลยกรรมทรวงอกจากสหรัฐอเมริกา ได้กลับมาเป็นอาจารย์ในภาควิชาศัลยศาสตร์ ได้เป็นผู้ทำการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดเป็นครั้งแรก โดยทำการผ่าตัดใส่ลิ้นหัวใจเทียม และผ่าตัดแก้ไขโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด แต่เนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคในการทำผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดมาก ทำให้ได้มีการทำผ่าตัดไปเพียง 3 รายเท่านั้น

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 นายแพทย์ชำนาญ คงถาวรได้ลาออกจากราชการ และเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้การผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดยุติลง แต่ยังคงทำการผ่าตัดหัวใจชนิดปิดตลอดมา สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดชนิดเปิดได้ส่งไปทำผ่าตัดที่ศูนย์ผ่าตัดหัวใจในกรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2531 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดนโยบายให้ภาควิชาศัลยศาสตร์และภาควิชาวิสัญญีวิทยา จัดตั้งทีมงานเพื่อทำการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยประกอบด้วยศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ บุคคลากรผู้ควบคุมเครื่องปอด-หัวใจเทียม และได้จัดส่งทีมงานนี้ไปฝึกอบรมที่ศูนย์ผ่าตัดหัวใจที่กรุงเทพมหานคร และ ต่างประเทศ จนสามารถเริ่มต้นทำการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดรายแรก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 โดยนายแพทย์ถนอมพันธ์ ทรงธนศักดิ์ ได้ทำผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจไมตรัล โดยใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม จากนั้นได้ทำผ่าตัดต่อเนื่องตามมาอีกหลายราย เพื่อพูนทักษะของทีมงานที่ทำงานร่วมกันในการทำผ่าตัดหัวใจ

ในปี พ.ศ. 2534 ศัลยแพทย์ในทีมงานผ่าตัดหัวใจได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยต้นปี พ.ศ. 2534 ภาควิชาศัลยศาสตร์ได้รับโอน นายแพทย์สวัสดิ์ อัศวปิยานนท์ จากหน่วยงานศัลยกรรมหัวใจ โรงพยาบาลราชวิถี มาช่วยราชการในงานศัลกรรมผ่าตัดหัวใจ และได้ทำผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจไมตรัล เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 จากนั้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2534 ภาควิชาศัลยศาสตร์ ได้รับนายแพทย์วีระชัย นาวารวงศ์ (แพทย์เชียงใหม่รุ่น 14) ซึ่งสำเร็จการฝึกอบรมสาขาศัลยกรรมทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือดจากสหรัฐอเมริกา และได้ทำงานเป็นอาจารย์แพทย์อยู่ที่สหรัฐอเมริกาอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง เข้ามาเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทรวงอก หัวใจและหลอดเลือด โดยได้เริ่มทำผ่าตัดบายพาสเส้นเลือดหัวใจ [CABG] เป็นรายแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2535

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2534 นายแพทย์ศุภชัย เชื้อรัตนพงษ์ ผู้ที่ภาควิชาศัลยศาสตร์จัดส่งไปรับการฝึกอบรมในสาขาศัลยกรรมทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือด ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สำเร็จการฝึกอบรม และได้กลับมาเป็นอาจารย์อยู่ในสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือด ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2535 หน่วยงานศัลยศาสตร์ทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือด ได้รับอนุมัติจากราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ให้เปิดหลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ทรวงอกขึ้น โดยได้รับนายแพทย์สุรินทร์ วรกิจพูนผล เป็นแพทย์ประจำบ้านคนแรก และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ ทรวงอก หัวใจ และหลอดเลือด ในปี พ.ศ. 2537

ในด้านการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านหลักสูตรศัลยศาสตร์ทรวงอก ทางหน่วยได้ขยายศักยภาพการฝึกอบรมจากปีละ 1 ตำแหน่ง เพิ่มเป็น 3 ตำแหน่งในปัจจุบัน ด้านการบริกาทางหน่วยได้พัฒนาศักยภาพด้านการบริการให้ครอบคลุมเรื่อยมา นอกจากากรผ่าตัดหัวใจแบบเปิดทุกประเภทและทุกวัยแล้ว ยังมีการรักษาที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้นได้แก่ การผ่าตัดโรคหัวใจเด็กที่ซับซ้อน การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ การผ่าตัดหัวใจผ่านแผลขนาดเล็ก การใส่เส้นเลือดเทียม (เริ่ม พ.ศ. 2550) และการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านทางสายสวน (เริ่ม พ.ศ. 2560) ภายในห้องผ่าตัดอัจฉริยะ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนงานที่จะทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในอนาคตอีกด้วย นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2533 จนถึงปัจจุบันได้ให้บริการผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้วประมาณ 12,000 ราย โดยเริ่มต้นจาก 50 – 100 รายต่อปี และเพิ่มจำนวนขึ้น ปัจจุบันได้ให้บริการผ่าตัดประมาณ 700 – 800 รายต่อปี

สำหรับงานด้านศัลยศาสตร์เฉพาะทางโรคปอดนั้น หลังจากที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการปรับโครงสร้างหน่วยเฉพาะทางต่าง ๆ ในภาควิชาเมื่อปี 2551 ได้มีการแยกหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก ทำหน้าที่เฉพาะเกี่ยวกับการผ่าตัดอื่นในทรวงอก นอกเหนือจากหัวใจและหลอดเลือด เริ่มแรกมีคณาจารย์ ได้แก่ นายแพทย์ วัฒนา ขัติพิพัฒนพงษ์ และ นายแพทย์ สมเจริญ แซ่เต็ง ภายหลังจากที่ นายแพทย์วัฒนา เกษียณอายุราชการ ได้รับคณาจารย์เพิ่มได้แก่ ดร.นายแพทย์ อภิชาต ตันตระวรศิลป์ ในปี พ.ศ. 2553 และ นายแพทย์ โสภณ ศิวชาต ในปี พ.ศ. 2558 โดยรับผิดชอบทั้ง การเรียนการสอน การทำวิจัย การฝึกอบรม และ การบริการการรักษา เช่นกัน มีการผ่าตัดทางทรวงอกประมาณ 300–400 รายต่อปี การผ่าตัดที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เช่น การผ่าตัดช่องปอดผ่านแผลเล็กโดยใช้กล้องช่วยในการมองเห็น (Video–Assisted Thoracotomy / VATS) เป็นต้น ณ ปัจจุบัน มีคณาจารย์รวม 3 ท่าน โดยมี นายแพทย์ สมเจริญ แซ่เต็ง เป็นหัวหน้าหน่วย

พันธกิจของหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก หัวใจและหลอดเลือด

พันธกิจ 1

  1. สร้างศัลยแพทย์ทรวงอก ที่มีมาตรฐาน ทั้งทางด้านวิชาการควบคู่ไปกับความสามารถทางหัตถการ สามารถที่จะรองรับการทำงานในอนาคต ทั้งในระบบมหาวิทยาลัย และระบบสาธารณสุขได้ ตลอดจน มีคุณธรรมและจริยธรรมอันดีของวิชาชีพ
  2. ร่วมสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถพื้นฐาน ในการวินิจฉัยและดูแลพื้นฐานเบื้องต้น แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางศัลยกรรมทรวงอก

พันธกิจ 2

  1. ทำให้เกิดงานวิจัยอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการต่อยอดความรู้และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  2. สร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่นำไปประยุกต์ใช้ต่อการพัฒนาการรักษาผู้ป่วยทั้งในระดับบุคคลและในระดับนโยบายสุขภาพองค์รวมให้ดียิ่งขึ้น

พันธกิจ 3

  • สามารถให้บริการการรักษาพยาบาลด้านศัลยกรรมทรวงอกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการในทุกระดับ ทั้งระดับปฐมภูมิ (Primary care) ระดับทุติยภูมิ (Secondary care) และระดับตติยภูมิ (Tertiary care) เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์ให้คำปรึกษารับส่งต่อผู้ป่วย รวมถึง ช่วยผ่าตัดรักษานอกสถานที่แก่ โรงพยาบาลใกล้เคียง หรือโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ร้องขอ