การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

การมีบัญชีเงินฝากถือเป็นหนึ่งในบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ เพราะการมีบัญชีเงินฝากไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การออมในรูปแบบหนึ่ง ยังเป็นประตูในการเข้าถึงบริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอสินเชื่อ การโอน/รับเงิน หรือการชำระเงิน เป็นต้น การเข้าถึงบัญชีเงินฝากหรือความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในบทความนี้เราจะนำเสนอมุมมองเชิงลึกของพฤติกรรมการออมของคนไทยที่ได้จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของเงินฝากรายบัญชีจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Protection Agency: DPA) ที่ครอบคลุมกว่า 80 ล้านบัญชี

ข้อมูลล่าสุดของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าคนไทยสามารถเข้าถึงบริการเงินฝากและ/หรือบัญชี mobile money ได้ในสัดส่วนที่สูงเทียบเท่ากับประเทศพัฒนา โดยสูงเป็นอันดับที่ 20 ของโลก และเป็นอันดับ 6 ในเอเซีย (รองจาก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และมาเลเซีย) (WB, 2017) สัดส่วนของคนไทยหรือครัวเรือนไทยที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปี (IMF, 2019 และ BOT, 2018) แต่สัดส่วนการออมต่อรายได้ของครัวเรือนไทยกลับมีแนวโน้มลดลง (SES, 2017) ซึ่งภาวะการออมที่ลดลง อาจส่งผลให้ครัวเรือนมีสภาพคล่องไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้จ่ายหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (shock) รวมถึงรองรับในวัยหลังเกษียณ อันเป็นหนึ่งในสาเหตุของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมาการศึกษาเรื่องการออมส่วนใหญ่ใช้ข้อมูลสำรวจรายครัวเรือน ซึ่งอาจมีข้อดีตรงที่สามารถครอบคลุมการออมทุกประเภททั้งสินทรัพย์ทางการเงินและไม่ใช่ทางการเงินของแต่ละครัวเรือนได้ แต่จำนวนกลุ่มตัวอย่างของข้อมูลสำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มของประเทศ รวมถึงข้อมูลสำรวจเป็นข้อมูลที่ครัวเรือนตัดสินใจตอบเอง หรือ self-reporting ซึ่งอาจมีหลายเหตุผลที่ทำให้ข้อมูลจากการสำรวจไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ข้อมูลสถิติขนาดใหญ่จาก DPA ที่ครอบคลุมเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศและมีรายละเอียดในระดับบัญชีและผู้ฝากเงิน จึงเข้ามาเติมเต็มองค์ความรู้และน่าจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์ออมที่ถูกต้องและในเบื้องลึกขึ้น รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดเชิงนโยบายได้

ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์จาก DPA

ข้อมูลเชิงสถิติของ DPA เป็นข้อมูลรายบัญชีเงินฝากที่สถาบันการเงินที่ได้รับการคุ้มครองรายงานมาที่ DPA ในการศึกษานี้ เราใช้ข้อมูลล่าสุดของ DPA โดย ณ มิถุนายน 2560 DPA มีปริมาณเงินฝากรวมทั้งสิ้น 12 ล้านล้านบาท มีบัญชีเงินฝากกว่า 80.2 ล้านบัญชี ของผู้ฝากเงินบุคคลธรรมดา 37.9 ล้านคน จากสถาบันการเงิน 34 แห่ง (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศ สาขาของธนาคารต่างประเทศ บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกแห่ง)

จุดเด่นของข้อมูลชุดนี้นอกจากจะเป็น administrative data ที่ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบแล้ว ข้อมูลนี้ยังครอบคลุมผู้ฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดทั่วประเทศและครอบคลุม 72% ของเงินฝากในระบบทั้งหมด ข้อมูลนี้ยังครอบคลุมทุก ๆ บัญชีเงินฝากของผู้ฝากแต่ละรายกับทุกธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต่างจากข้อมูลของสถาบันการเงินที่ใดที่หนึ่ง ที่จะเห็นเฉพาะข้อมูลเงินฝากของสถาบันเดียว ข้อมูลนี้ยังมีความละเอียดในระดับรายบัญชี ในสามมิติหลัก ได้แก่

  1. รายละเอียดประเภทเงินฝากและสถาบันการเงิน
  2. รายละเอียดผู้ฝาก โดยเฉพาะอายุ เพศ และรหัสไปรษณีย์ที่อยู่
  3. ปริมาณเงินฝาก

แต่จุดด้อยของข้อมูลชุดนี้ก็คือเป็นข้อมูลเพียง ณ เดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งหากสถานการณ์ออมของคนบางกลุ่มมีลักษณะเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล (seasonality) เช่น เกษตรกร ก็อาจไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ออมของคนกลุ่มนี้ในภาวะปกติได้ ประกอบกับข้อมูลชุดนี้ไม่ครอบคลุมเงินฝากของทุกประเภทสถาบันการเงินในระบบ (เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) สถาบันการเงินกึ่งในระบบ และนอกระบบ (อาทิ สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มออมทรัพย์) จึงควรใช้ความระมัดระวังในการตีความในมิติของการออม เนื่องจากอาจไม่สามารถสะท้อนการออมในรูปเงินฝากของคนไทยได้ทั้งหมด รวมถึงการออมในรูปแบบอื่นด้วย

ในบทความนี้ Lamsam et al. (forthcoming) จะเปิดมุมมองเชิงลึกของพฤติกรรมการออมของคนไทย โดยใช้ข้อมูลเงินฝากรายบัญชีจาก DPA ซึ่งมีความละเอียดในระดับผู้ฝากเงินและรายบัญชี ทำให้สามารถเห็นพอร์ตเงินฝากของแต่ละผู้ฝากได้ รวมถึงครอบคลุมผู้ฝากทั่วประเทศ บทความนี้มุ่งเน้นตอบคำถาม 2 ข้อหลัก ๆ คือ (1) คนไทยกลุ่มต่าง ๆ มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์กันมากน้อยแค่ไหน และ (2) พฤติกรรมการออมในรูปแบบเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของคนไทยเป็นอย่างไร (มีกี่บัญชี ใช้บัญชีอะไร กับสถาบันการเงินใด) และมีนัยเชิงนโยบายอย่างไรบ้าง

ความกระจุกตัวของเงินฝากธนาคารพาณิชย์

เราพบว่าเงินฝากมีการกระจุกตัวสูง ในรูปที่ 1a เราเรียงลำดับผู้ฝากแต่ละรายตามปริมาณเงินฝากและเส้นสีกรมท่าแสดงค่าสะสมของสัดส่วนเงินฝากของผู้ฝากแต่ละรายต่อเงินฝากในระบบทั้งหมดจากคนที่มีเงินฝากน้อยที่สุดไปสู่คนที่มีเงินฝากมากที่สุด และพบว่า ผู้ฝากรายใหญ่สุด 10% มีเงินฝากรวมถึง 93% ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด

นอกจากนี้ผู้ฝากรายใหญ่สุด 10% ยังมีการกระจายตัวของเงินฝากสูงเมื่อเทียบกับผู้ฝากในกลุ่ม decile อื่น รูปที่ 1b ฉายภาพการกระจายตัวของเงินฝากในแต่ละกลุ่ม decile ของผู้ฝาก โดยเรียงลำดับผู้ฝากแต่ละรายตามปริมาณเงินฝากจะได้ 10 กลุ่ม decile จากคนที่มีเงินฝากน้อยที่สุด (decile 1) ไปยังคนที่เงินฝากมากที่สุด (decile 10) จากรูปจะเห็นได้ว่าผู้ฝาก decile 5 (มีเงินในบัญชีระหว่าง 1,081.1–3,142.2 บาท) มีค่ากลางเงินฝากที่ 1,992.1 บาท ขณะที่ผู้ฝาก decile 10 (เงินในบัญชี > 173,944.2 บาท) มีค่ากลางเงินฝากที่ 483,132.5 บาท

รูปที่ 1 การกระจุกตัวของเงินฝากธนาคาร

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

บัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ กว่า 80 ล้านบัญชีอยู่ที่ใครบ้าง

ในภาพรวม คนไทยกว่าครึ่ง (56.04%) มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่มีเงินในบัญชีน้อย โดยครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท เรายังพบว่า 32.8% ของผู้ฝาก (หรือ 12.2 ล้านคน) มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนที่มีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท ขณะเดียวกันมีเพียง 0.2% ของผู้ฝากที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้ ความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์มีความแตกต่างทั้งในมิติของอายุ พื้นที่และระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

เราพบว่ากลุ่มที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์มากที่สุดคือกลุ่มวัยเริ่มทำงาน มีน้อยในกลุ่มวัยเด็ก และมีเกือบครึ่งในกลุ่มวัยหลังเกษียณ รูปที่ 2 ฉายภาพความแตกต่างของความเป็นเจ้าของบัญชีของกลุ่ม decile และสถานการณ์เงินฝากตามอายุ โดย 80% ของกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน (21–35 ปี) จะมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่มีเพียง 10–30% ของกลุ่มคนวัยเด็ก (อายุ 15–18 ปี) ที่มีบัญชีและครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนดังกล่าวก็มีเงินในบัญชีไม่ถึง 2,000 บาท การมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์น้อยในเด็กอาจเป็นผลมาจากการที่เด็กส่วนใหญ่มักเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน (ซึ่งไม่รวมอยู่ในข้อมูลชุดนี้)

นอกจากนี้เรายังพบว่าจำนวนเงินในบัญชีมีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ คนที่มีอายุมากจะมีปริมาณเงินในบัญชีมากกว่าคนที่อายุน้อย โดยคนวัยหลังเกษียณมีค่ากลางเงินฝากในบัญชีต่อรายที่ 7,445 บาทเทียบกับกลุ่มคนที่มีอายุน้อย (อายุ 15–25 ปี) ที่มีประมาณ 947 บาท

รูปที่ 2 ความแตกต่างตามอายุของความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากและสถานการณ์เงินฝาก

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

สัดส่วนของผู้หญิงไทยที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชายไทย และผู้หญิงก็มีเงินในบัญชีเงินฝากมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าในเกือบทุกช่วงอายุ ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ที่ผู้ชายจะมีเงินฝากมากกว่าผู้หญิง (1.3 เท่าในกรณีชาวอังกฤษ (NEST, 2018) หรือ 2.2 เท่ากรณีชาวอเมริกัน (Fed, 2017)) จากรูปที่ 3 เราเห็นถึงความแตกต่างของสัดส่วนความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากและยอดเงินฝากในบัญชีระหว่างผู้หญิงและผู้ชายไทย โดยกว่าครึ่งของผู้หญิง (55.5%) จะเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก และมีมากถึง 88.5% ในผู้หญิงอายุ 25 ปี ขณะที่สัดส่วนของผู้ชายมีไม่ถึงครึ่ง (48.1%) ที่มีบัญชีเงินฝาก และมากสุดในช่วงอายุ 23 ปี ที่ 77%

ทั้งนี้ ผู้หญิงยังมียอดเงินฝากสูงกว่าของผู้ชาย โดยผู้หญิงมีค่ากลางเงินฝากต่อรายอยู่ที่ 4,407 บาท สูงกว่าเงินฝากในบัญชีของผู้ชายกว่าสองเท่า (ซึ่งอยู่ที่ 2,524 บาท) ในเกือบทุกช่วงอายุและตั้งแต่ในวัยเด็ก ซึ่งอาจสะท้อนถึงความมีวินัยทางการเงิน หรือ ทักษะการบริหารจัดการเงินของผู้หญิงที่มีมากกว่าผู้ชายตั้งแต่ยังเล็ก และสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการดูแลการเงินของครัวเรือน จึงอาจทำให้ผู้หญิงมีเงินในบัญชีมากกว่าผู้ชาย

รูปที่ 3 ความแตกต่างตามอายุของความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากและสถานการณ์เงินฝากระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

ในเชิงพื้นที่เราก็พบความแตกต่างของความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ โดยคนที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์มากที่สุดคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะที่ภาคใต้มีบัญชีน้อยที่สุด รูปที่ 4a แสดงให้เห็นว่ากว่า 80% ของคนกรุงเทพมหานครและชุมชนเมืองจะมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่คนในชนบทและบางจังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี) ภาคเหนือ (ตาก แม่ฮ่องสอน) ภาคอีสาน (บึงกาฬ) ไม่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนในชนบทส่วนใหญ่จะมีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ สถาบันการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบ เช่น สหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น

ความแตกต่างของการมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของคนในแต่ละภูมิภาค ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงความต้องการและความจำเป็นของผู้ฝากแต่ละกลุ่ม รวมถึงความทั่วถึงของปริมาณสาขาของธนาคารพาณิชย์ โดยเราพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างจำนวนสาขาและความเป็นเจ้าของบัญชี กล่าวคือ หากภูมิภาค/จังหวัดใดมีจำนวนสาขา ธนาคารพาณิชย์ มาก ก็จะมีจำนวนประชากรที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์สูงเช่นกัน (รูป 4b)

รูปที่ 4 ความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากรายจังหวัด และความสัมพันธ์กับปริมาณสาขาของ ธพ.

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

คนภาคอีสานมีเงินฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์น้อยที่สุด ขณะที่คนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีเงินฝากสูงสุด โดยสูงกว่าคนภาคอีสานถึง 6.4 เท่า และคนภาคอื่น 3.6 เท่า รูปที่ 5 ฉายภาพความแตกต่างของเงินฝากต่อคนในระดับรหัสไปรษณีย์และรายจังหวัด เราพบว่าคนที่มีเงินในบัญชีสูงสุดส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ค่ากลางเงินฝากต่อรายอยู่ที่ 10,442 บาท) และชุมชนเมืองของหัวเมืองใหญ่ (เช่น ภูเก็ต สมุทรสงคราม ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่) ขณะเดียวกันคนภาคอีสาน (โดยเฉพาะบึงกาฬ หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ สุรินทร์ บุรีรัมย์) และบางจังหวัดของชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี) มีเงินในบัญชีน้อยที่สุดซึ่งมีไม่เกิน 1,400 บาท ความแตกต่างของเงินในบัญชีของคนในแต่ละภูมิภาคอาจสะท้อนถึงความแตกต่างของอาชีพในเชิงพื้นที่ และความจำเป็นในการใช้เงิน เช่น ในเดือนมิถุนายนที่เรามีข้อมูลอาจเป็นเดือนที่เกษตรกรต้องใช้เงินเพื่อทำเกษตรกรรม จึงอาจทำให้ข้อมูลการออมของคนกลุ่มนี้ต่ำไปได้

รูปที่ 5 ค่ากลางเงินฝากในบัญชีต่อราย ตามพื้นที่

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

หากเปรียบเทียบกับค่าครองชีพรายเดือน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น) เราพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ (58%) มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายค่าครองชีพรายเดือน โดยเฉพาะคนภาคอีสาน ที่ 2 ใน 3 ของคนภาคอีสานมีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายค่าครองชีพรายเดือนที่ 6,345 บาท ขณะที่สัดส่วนของคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายค่าครองชีพอยู่ที่ 44%

รูปที่ 6 ฉายภาพการกระจายตัวของเงินฝากในภาคกลาง เหนือ อีสาน และกรุงเทพมหานคร โดยแต่ละจุดแทนผู้ฝาก 100 ราย ซึ่งจุดสีแดง (น้ำเงิน) คือกลุ่มผู้ฝากรายใหญ่ (เล็ก) ที่สุด 10% และจุดสีเทาคือกลุ่ม 80% ที่เหลือ รูปที่ 6 แสดงให้เห็นว่าผู้ฝากรายใหญ่สุด 10% มักอยู่ที่ชุมชนเมืองในจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ที่มีผู้ฝากรายใหญ่สุด 1% จำนวนมาก) ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น ซึ่งจะเห็นจำนวนจุดสีแดงในปริมาณมากเมื่อเทียบกับจุดสีอื่น ๆ เช่นเดียวกับผู้ฝากรายเล็กสุด 10% ซึ่งมักกระจุกในภาคอีสาน และชุมชนเมืองของจังหวัดใหญ่ ๆ ข้างต้นด้วยเช่นกัน

รูปที่ 6 การกระจายตัวของเงินฝากรายพื้นที่

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

ทั้งนี้ในมิติของอายุ เราพบว่าผู้ฝากรายใหญ่สุด 10% มักเป็นกลุ่มคนวัยใกล้เกษียณและหลังเกษียณ ในทางกลับกันกลุ่มผู้ฝากรายเล็กสุด 10% มักกระจุกในกลุ่มเด็กและกลุ่มคนเริ่มทำงาน (15–25 ปี) และบางส่วนในวัยหลังเกษียณ

สะท้อนพฤติกรรมการออมของคนไทยผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์

เราพบว่า คนไทยมีบัญชีธนาคารพาณิชย์อย่างแพร่หลายแต่อาจไม่ได้หมายความว่าออม โดยกว่าครึ่งของคนไทยมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ และครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีเงินในบัญชีไม่เกิน 3,142.2 บาท

ผู้ฝากเกือบทั้งหมดจะมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และผู้ฝากส่วนใหญ่ (88%) จะฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เท่านั้น รูปที่ 7 จำแนกพฤติกรรมการฝากเงินตาม combination ของประเภทบัญชีเงินฝากที่ผู้ฝากแต่ละคนมี เราพบว่า 97.3% ของผู้ฝากมีบัญชีออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์จึงถือเสมือนเป็นบัญชีขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน เช่นเดียวกับผู้ฝากในประเทศอื่น ๆ เว้นแต่ในประเทศอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ที่พบว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่มีบัญชีกระแสรายวัน (checking account หรือ current account) มากกว่าครัวเรือนที่มีบัญชีออมทรัพย์ นอกจากนี้ ผู้ฝากยังนิยมฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่

รูปที่ 7 สัดส่วนของผู้ฝากและปริมาณเงินฝากในระบบ จำแนกตาม combination ของประเภทบัญชีเงินฝากที่ใช้

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

ครึ่งหนึ่งของผู้ฝากจะมีเพียง 1 บัญชีเงินฝาก และใช้ 1 สถาบันการเงิน โดยมีเพียง 5% ของผู้ฝากที่มีมากกว่า 5 บัญชี ขณะเดียวกันก็มีไม่ถึง 1% ของผู้ฝากที่ฝากกับสถาบันการเงินมากกว่า 5 แห่ง และโดยเฉลี่ยคนไทยจะมี 2.2 บัญชีเงินฝาก และฝากกับสถาบันการเงิน 1.7 แห่ง

พฤติกรรมการฝากเงินของคนไทยยังมีความแตกต่างทั้งในมิติเชิงอายุและพื้นที่ รูปที่ 8 แสดงพฤติกรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ ตามจำนวนบัญชีเงินฝาก (โดยรูปที่แสดงพฤติกรรมของคนกลุ่มต่าง ๆ ตามจำนวนสถาบันการเงินที่ใช้มีลักษณะไม่แตกต่างจากรูปที่ 8) เราพบว่า

  1. ผู้ฝากรายใหญ่ส่วนใหญ่มักจะมีหลายบัญชีเงินฝากและใช้หลายสถาบันการเงิน (โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่) ขณะที่ผู้ฝากรายเล็กส่วนใหญ่จะมี 1 บัญชีและใช้ 1 สถาบันการเงิน
  2. ผู้ฝากวัยทำงานส่วนใหญ่ (60%) จะมีหลายบัญชีและใช้สถาบันการเงินหลายแห่งแต่มีไม่ถึง 10% ในกรณีของผู้ฝากที่มีอายุน้อย (อายุ 15–18 ปี)
  3. ผู้ฝากผู้หญิงจะมีหลายบัญชีและใช้หลายสถาบันการเงินมากกว่าผู้ฝากผู้ชาย และ
  4. กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและชุมชนเมืองมีสัดส่วนของผู้ฝากที่มีหลายบัญชีและใช้หลายสถาบันการเงินมากกว่าภูมิภาคอื่น โดยมีผู้ฝากถึง 7.3% ในชุมชนเมืองที่มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 5 บัญชี เปรียบเทียบกับ 3% ในชนบท

รูปที่ 8 จำนวนบัญชีเงินฝากตามอายุ พื้นที่ และ decile

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

เมื่อพิจารณาพอร์ตเงินฝากของผู้ฝากแต่ละราย เราพบว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เป็นบัญชีมหาชนที่ใช้โดยคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ขณะที่บัญชีเงินฝากประจำจะพบมากในกลุ่มวัยหลังเกษียณ รูปที่ 9 แสดงสัดส่วนของผู้ฝากตาม top 10 บัญชีเงินฝาก และแสดงให้เห็นว่าผู้ฝากส่วนใหญ่จะมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มากกว่า 1 บัญชี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ฝากอายุ 20–40 ปี จะมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์คนละ 2–4 บัญชี แต่จะไม่ค่อยมีบัญชีเงินฝากประจำ เรายังพบว่าสัดส่วนของผู้ฝากที่มีบัญชีเงินฝากประจำทยอยเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ฝากอายุ 45 ปีขึ้นไป และมีมากถึง 20% ในกลุ่มวัยหลังเกษียณ ทั้งนี้ พฤติกรรมการมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หลายบัญชีอาจสะท้อนถึงความจำเป็นเพื่อใช้ในการบริหารจัดการเงิน หรือความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมทางการเงินกับหลายสถาบันการเงิน เป็นต้น

รูปที่ 9 สัดส่วนของผู้ฝากตาม top 10 บัญชีเงินฝาก

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

เงินส่วนใหญ่ของผู้ฝากทุกกลุ่ม (ทุกวัย ทุกเพศ ทุกภูมิภาค) จะอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เฉลี่ยประมาณ 93.3% ของเงินในพอร์ตของผู้ฝาก และมีเพียง 6.3% ที่อยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ จากรูปที่ 10 เราจะเห็นความแตกต่างของการจัดสรรเงินในพอร์ตของผู้ฝากแต่ละกลุ่มตามประเภทบัญชีเงินฝาก และพบว่า (1) เงินส่วนใหญ่ของผู้ฝากจะอยู่ในบัญชีออมทรัพย์ มีเงินเพียงส่วนน้อยของผู้ฝากที่อยู่ในบัญชีเงินฝากประจำ (2) สัดส่วนของเงินในบัญชีเงินฝากประจำทยอยเพิ่มขึ้นในบางกลุ่มผู้ฝาก (ได้แก่ ผู้ฝากรายใหญ่สุดคนในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและชุมชนเมือง รวมถึงคนวัยหลังเกษียณและผู้ฝากผู้หญิง) แม้แต่พอร์ตของผู้ฝากรายใหญ่สุด ก็ยังมีเงินในบัญชีเงินฝากประจำเพียง 22% (3) คนภาคอีสานและกลุ่มผู้ฝากที่มีอายุน้อย (15–25 ปี) มีส่ดส่วนของเงินในบัญชีเงินฝากประจำน้อยสุดเพียง 1.6–3.9%

จากพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า คนไทยฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคารพาณิชย์กันเพื่ออะไร แล้วทำไมเราถึงไม่นำเงินไปฝากไว้ในบัญชีที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า หรือนำไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นหรือสินทรัพย์รูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

รูปที่ 10 สัดส่วนเฉลี่ยของเงินฝากรายคนแบ่งตามประเภทเงินฝาก จำแนกตามอายุ พื้นที่ และ decile

การฝากเง นก บธนาคารพาณ ชย ม ข อด อย างไรบ าง

ที่มา Lamsam et al. (forthcoming)

ข้อสรุปและนัยเชิงนโยบาย

บทความนี้ใช้ข้อมูลเชิงสถิติจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ครอบคลุมผู้ฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดทั่วประเทศและมีความละเอียดในระดับบัญชีเงินฝาก มาพยายามเข้าใจสถานการณ์การออมของคนไทย ซึ่งเราสามารถสะท้อน 2 ประเด็นชวนคิด คือ

  1. ถึงแม้ว่าคนไทยสามารถเข้าถึงบริการเงินฝาก และมีบัญชีเงินฝากกันได้อย่างแพร่หลาย แต่ยังมีระดับการออมในบัญชีเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ หลักฐานเชิงประจักษ์นี้แสดงให้เห็นว่านโยบายที่จะส่งเสริมการออมต้องไม่หยุดแค่การส่งเสริมการเข้าถึงบริการเงินฝาก (ซึ่งทำได้มีประสิทธิภาพแล้ว เช่น ความทั่วถึงของสาขาธนาคาร การให้บริการบัญชีเงินฝากพื้นฐาน (basic account) การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์อย่าง e-KYC หรือ national digital ID เป็นต้น) เท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่กระตุ้นพฤติกรรมการออม ความตระหนักและความเข้าใจถึงความสำคัญของการออม งานวิจัยในต่างประเทศหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้วิธีทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาสร้างแรงจูงใจในการออม
  2. คนไทยส่วนใหญ่ยังคงฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แทนการฝากเงินในบัญชีประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า และผู้ฝากบางกลุ่มก็ยังคงเก็บเงินในปริมาณมากในบัญชีเงินฝากที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ หลักฐานเชิงประจักษ์นี้อาจสะท้อนถึงการที่ผู้ฝากให้ความสำคัญในบางคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ความยืดหยุ่นหรือสภาพคล่อง หรือการขาดความตระหนักรู้ถึงผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์การเงินอื่น ๆ หรือการขาดความรู้ในการบริหารจัดการเงิน ดังนั้นการออกแบบผลิตภัณฑ์การออมที่ตรงตามความต้องการทางการเงินของผู้ออมกลุ่มต่าง ๆ ประกอบกับการส่งเสริมความรู้ทางการบริหารจัดการเงินและผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้แก่ผู้ฝาก ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมการออมที่มีประสิทธิภาพให้กับคนไทย

เอกสารอ้างอิง

Bank of Thailand (2018). Financial Access Survey of Thai Households 2018.

Deuflhard, F., Georgarakos, D. and Inderst, R. (2015). Financial literacy and savings account returns. ECB Working Paper Series 1852

Federal Reserve (2017). 2016 Survey of Consumer Finances (SCF).

FDIC (2018). National Survey of Unbanked and Underbanked Households.

IMF (2019). Financial Access Survey

Lamsam, A., S. Chantarat, R. Boonlert, S. Choedpasuporn (forthcoming). Understanding Saving Behavior Through 80 Million Deposit Accounts in Thailand. PIER Discussion Paper Forthcoming.

National Statistical Office (2017). The 2017 Household Socio-E​conomic Survey.​​​​​​

NEST and Vanguard (2018). How the UK Saves 2018: Member Experience from the National Employment Savings Trust (NEST)

World Bank (2017). The Global Findex Database 2017.

ข้อสงวน

บทความ บทวิเคราะห์ หรืองานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีสิทธิแต่ผู้เดียวในทรัพย์สินทางปัญญาของรายงานฉบับนี้ และขอสงวนลิขสิทธิ์ในข้อมูลที่ปรากฏในเอกสารนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ประโยชน์ ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง ทำให้ปรากฏหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าด้วยประการใด ๆ ซึ่งข้อมูลในเอกสารนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นการล่วงหน้า นอกจากนี้ การกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าในบทความ บทวิเคราะห์ งานวิจัย ในเอกสารหรือการสื่อสารอื่นใด จะต้องกระทำโดยถูกต้องและไม่เป็นการก่อให้เกิดการเข้าใจผิด หรือความเสียหายแก่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมทั้งต้องรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และต้องอ้างอิงถึงฉบับและวันที่ในเอกสารฉบับนี้โดยชัดแจ้ง