Unesco ยกย องหลวงป ม นยกย องเป นบ คคลสำค ญของโลก

Unesco ยกย องหลวงป ม นยกย องเป นบ คคลสำค ญของโลก
26 พ.ย.62-นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมใหญ่สมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 40 มีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองในวาระครบรอบบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในวาระปี 2563-2564 โดยเป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยได้รับการยกย่องบุคคลสำคัญของโลก 2 รายการ ได้แก่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้รับยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาสันติภาพ ในวาระครบรอบ150 ปีชาตกาล (20 มกราคม 2563) เสนอโดยกรมการศาสนา และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในวาระครบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ (2 สิงหาคม 2464) เสนอโดยมหาเถรสมาคม (มส.)

นายอิทธิพล กล่าวว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นพระมหาเถระที่คนไทยทั้งประเทศเคารพนับถือ จนปรากฏเด่นชัด ทั้งในขณะที่ท่านยังมีชีวิตดำรงอยู่และละสังขารขันธ์ไปแล้ว คุณความดีที่ท่านได้มีคุณูปการต่อทั้งสถาบันศาสนา ชาติ และพระมหากษัตริย์ ขณะที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีพระคุณูปการทั้งด้านการศาสนา การบริหารการจัดการคณะสงฆ์ และการศึกษาของประเทศชาติ ทรงเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ทรงพัฒนาหลักสูตรนักธรรม ทั้งยังทรงมีพระนิพนธ์ด้านวิชาการทั้งภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ ปรากฎทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ทางคณะสงฆ์คณะธรรมยุต และมูลนิธิมหามกุฏฯ ทั้งนี้ ในการประกาศยกย่องให้พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นบุคคลสาคัญของโลก กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมหาเถรสมาคม หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน จัดกิจกรรมเพื่อเชิดชูเกียรติคุณ และเผยแผ่ คุณงามความดีและวัตรปฏิบัติอันงดงามให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชน ซึ่งจะส่งผลให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติ

ด้านวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่มั่นเคยพำนักจำพรรษานั้น พระธรรมธัชมุนี เจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามฯ กล่าวว่า วัดปทุมวนารามมีความผูกพันกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในฐานะที่เคยสถานที่ที่จำพรรษา ทั้งนี้ในขณะจำพรรษาที่วัดปทุมวนารามฯนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มอบมรดกธรรมชิ้นสำคัญไว้คือ ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ ซึ่งเป็นธรรมบรรยายลายมือของพระอาจารย์มั่น ซึ่งเป็นหลักฐานลายมือเพียงชิ้นเดียวที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน และในวาระที่องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม นั้น วัดปทุมวนารามฯ จะจัดกิจกรรมร่วมเฉลิมฉลองตลอดทั้งปี 2563 อาทิ พิธีสวดมนต์ทำวัตรบูชาพระรัตนตรัย , การจัดนิทรรศการตามรอยประวัติ , การจัดปฏิบัติธรรมฟังพระธรรมเทศนาจากพระเถระผู้สืบสานปณิธานและปฏิปทาพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต , การจัดพิมพ์หนังสือเป็นธรรมวิทยาทานต่างๆ การจัดสร้างรูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รุ่น 150 ปี ชาตกาลฯ เพื่อเป็นศาสนวัตถุที่ระลึกในงาน , การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่ กุฏิบูรพาจารย์หลังเดิมที่พระอาจารย์มั่น เคยพักจำพรรษา โดยจะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเพื่อศึกษาเรียนรู้ประวัติและข้อธรรมของพระอาจารย์มั่นในวันที่ 20 ม.ค.2563 เป็นต้นไป รวมทั้งการจัดสร้างคีตธรรมการกุศล ชุดมั่นคงในธรรม โดยศิลปินจิตอาสากลุ่มบัวลอย เพื่อ สืบสานมรดกธรรมของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ให้ดำรงอยู่แก่อนุชนคนรุ่นใหม่ต่อไป โดยสามารถติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพระอาจารย์มั่นนี้ได้ที่สำนักงานวัดปทุมวนาราม และช่องทางแฟนเพจ วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร

องค์กรยูเนสโก ยกย่อง 20 บุคคลสำคัญของไทยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก มีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระองค์แรก

องค์กรยูเนสโก ยกย่อง 20 บุคคลสำคัญของไทยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก มีสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระองค์แรก

บุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ ของไทยที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งครอบคลุม 5 สาขาหลักของยูเนสโกนั้น เริ่มจากพุทธศักราช 2505 เป็นต้นมา มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระองค์แรก และมีคนไทยได้รับการยกย่อง

หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน มีบุคคลสำคัญของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องรวมทั้งสิ้น 20 คน ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลทุกระดับชั้น ครอบคลุมใน 5 สาขาหลัก ตามคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ที่ยูเนสโกกำหนด โดยเรียงลำดับปีที่ได้รับการยกย่อง ดังนี้

1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่ได้รับเกียรติจากยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก เนื่องในโอกาสฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2505

2.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์

ทรงได้รับการยกย่อง เนื่องในโอกาสฉลองวันประสูติครบ 100 พรรษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2506

3. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

ทรงได้รับการยกย่องจากยูเนสโก เป็นบุคคลสำคัญของโลก สาขาวรรณกรรม เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 200 พรรษา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2511

4. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า” ยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรม เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 พรรษาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524

5.สุนทรภู่ กวีเอกครั้งรัชกาลที่ 2

ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม เนื่องในโอกาสฉลองวันเกิดครบ 200 ปี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 นับเป็นสามัญชนคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้

6. ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน (ยง เสถียรโกเศศ) นักปราชญ์และนักวัฒนธรรมสำคัญของไทย

ยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ ชาตกาล 100 ปี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2531

7. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

ทรงเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่ได้รับการถวายพระเกียรติจากยูเนสโก ประกาศให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 200 ปีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2533

8. พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

เป็นคนไทยที่ยูเนสโกยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมระดับโลก เนื่องในวาระฉลองวันประสูติครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2534

9.สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

ทรงได้รับการถวายพระสมัญญา “พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย” เมื่อปี 2535 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์การแพทย์ การพยาบาลและการสาธารณสุข เนื่องในวาระฉลองครบรอบ 100 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535

10.เมื่อปี 2539 เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี

ยูเนสโกได้ประกาศ ยกย่องและร่วมฉลองในวาระมงคลดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539

11.สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ทรงได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ : การพัฒนามนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวาระฉลองวันพระราชสมภพครบ 100 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2543

12.ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

ยูเนสโกประกาศให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านส่งเสริมสันติภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตย เนื่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2543

13.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา “พระปิยมหาราช” ทรงได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การพัฒนาสังคม เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพครบ 150 พรรษา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546

14. หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

บุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม (วรรณคดี) และการสื่อสาร เนื่องในโอกาสฉลองวันเกิดครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2546

15.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ทรงได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องในโอกาสฉลองวันพระราชสมภพ 200 พรรษา ในวันที่ 18 ตุลาคม 2547

16.นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือนามปากกาว่า “ศรีบูรพา” นักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์มีชื่อของไทย

ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และสื่อสารมวลชน เนื่องในโอกาสครบรอบชาตกาล 100 ปี ในวันที่ 20 เมษายน 2554 นับเป็นคนไทยลำดับที่ 20 นับเป็นเกียรติประวัติแก่ประเทศไทยอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง