Woman with a Flower วิเคราะห์

นับแต่โบราณนานมา น้ำตา ความเศร้าโศก ความเจ็บปวดทุกข์ยาก และโศกนาฏกรรมของมนุษย์มักเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีให้ศิลปินหยิบเอามาทำงานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเจ็บปวดเศร้าโศกของผู้หญิง มองย้อนกลับไปถึงผลงานชิ้นเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ อย่าง ปิเอต้า (Pietà) ของมีเกลันเจโล (Michelangelo) ประติมากรรมแกะสลักรูปพระแม่มารีตระกองกอดพระศพของพระเยซูที่เพิ่งลงจากกางเขน เป็นผลงานประติมากรรมที่ถือกันว่างดงามที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของผู้หญิงกับน้ำตาและความเศร้าโศก พวกเธอถูกนำเสนอในฐานะประจักษ์พยานแห่งความรุนแรงน่าสยดสยองที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ภาพของผู้หญิงที่กำลังร้องไห้ ถูกนำเสนออย่างแพร่หลายในประวัติศาสตร์ศิลปะตลอดมา

Woman with a Flower วิเคราะห์

ปาโบล ปิกัสโซ: The Weeping Woman (1937) สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพจาก https://www.pablopicasso.org/the-weeping-woman.jsp

หนึ่งในตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดของภาพผู้หญิงร้องไห้ ก็คือภาพวาดของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อย่าง ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) อย่าง The Weeping Woman (1937) ซึ่งเป็นภาพวาดที่ต่อเนื่องจากผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง Guernica(1937)

ภาพวาด The Weeping Woman หรือ ผู้หญิงร่ำไห้ ที่มีเนื้อหามืดหม่นเศร้าโศกภาพนี้ ถูกแสดงออกอย่างขัดแย้งด้วยการใช้สีสันสดใสฉูดฉาด ในสไตล์ศิลปะแบบคิวบิสม์ (Cubism) ที่แสดงรูปทรงของใบหน้าและมือที่บิดเบี้ยว แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย และหลอมรวมเข้ากับผ้าเช็ดหน้าชุ่มน้ำตาในมือของเธอ ขับเน้นให้ความเศร้าโศกของผู้หญิงในภาพดูรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

เป็นที่รู้กันดีว่าปิกัสโซเป็นศิลปินเจ้าชู้ มากรักหลายใจ แถมตัวเขาเองก็มีพฤติกรรมการกดขี่ทางเพศต่อผู้หญิงอย่างร้ายกาจ หลักฐานหนึ่งก็คือภาพวาดผู้หญิงร่ำไห้ภาพนี้ ซึ่งเป็นภาพวาดของ ดอร่า มาร์ (Dora Maar) ช่างภาพ จิตรกร และกวีสาวชาวฝรั่งเศส เธอพบปิกัสโซในปีค.ศ. 1936 และเป็นช่างภาพเพียงคนเดียวที่ปิกัสโซอนุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพเขาขณะกำลังวาดภาพ Guernicaในสตูดิโอ หลังจากนั้นเธอก็กลายเป็นเมียน้อยของปิกัสโซ่ ตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1936 ถึงค.ศ. 1944 ช่วงที่มีความสัมพันธ์กัน ปิกัสโซวาดภาพเธอเอาไว้หลายภาพ ในขณะเดียวกันเขาก็ทรมานและย่ำยีเธอต่างๆ นานา จนต้องหลั่งน้ำตาด้วยความชอกช้ำระกำทรวงเสมอ ปิกัสโซกล่าวถึง ดอร่า มาร์ ว่า

“สำหรับผม เธอเป็นผู้หญิงเจ้าน้ำตา ตลอดเวลาหลายปีที่ผมวาดรูปเธอในรูปร่างบิดเบี้ยว ผมไม่ได้วาดเธอด้วยความซาดิสม์ หรือความพึงพอใจ ผมแค่เคารพภาพลักษณ์ของเธอที่แสดงตัวตนออกมาให้ผมเห็น มันเป็นความจริงอันเที่ยงแท้ ไม่ปรุงแต่งผิวเผิน สำหรับผม ดอร่ามักจะเป็นผู้หญิงเจ้าน้ำตา… และนั่นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะผู้หญิงเป็นเครื่องจักรสำหรับความทุกข์ทรมาน”

แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยความที่ภาพวาดนี้ถูกวาดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองของสเปน ที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ก็ทำให้ยากจะปฏิเสธว่ามันมีนัยยะต่อต้านสงครามเช่นเดียวกับภาพวาด Guernica ซึ่งตัว ดอร่า มาร์ เองก็ไปปรากฏอยู่ในภาพวาด Guernica เป็นตัวละครแม่ที่อุ้มศพลูกในอ้อมแขนพลางร่ำไห้ปิ่มจะขาดใจ

Woman with a Flower วิเคราะห์

ปาโบล ปิกัสโซ: Guernica(1937) สีน้ำมันบนผ้าใบ, ภาพจาก https://www.pablopicasso.org/guernica.jsp

ซึ่งปิกัสโซกล่าวถึงนัยยะของภาพวาดผู้หญิงร่ำไห้ว่า “ภาพวาดของ ดอร่า มาร์ ภาพนี้ ไม่ได้เป็นภาพวาดของตัวเธอที่ดิ้นรนต่อสู้กับความเศร้าโศกอันไม่สามารถต้านทานได้ของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว หากแต่เป็นภาพวาดที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงโดยทั่วไปมากกว่า เหล่าบรรดาผู้หญิงที่สูญเสียสามี พ่อ พี่ชาย และลูกๆ ไปในสงคราม พวกเธอเหล่านั้นถูกทิ้งไว้เพียงลำพังกับความเศร้าโศกในบ้านที่ว่างเปล่า ลวดลายเส้นตรงดิ่งของวอลเปเปอร์ที่อยู่ข้างหลังเธอในภาพไม่ต่างอะไรกับซี่กรงของห้องขัง เธอกำลังติดกับ ไม่สามารถทำอะไรให้โลกนี้ได้อีก พลังเพียงอย่างเดียวที่เธอมี คือพลังในการร้องไห้ เช่นเดียวกับภาพแม่ที่โอบกอดลูกที่ตายในภาพ Guernica พวกเธอสิ้นหวังอย่างแท้จริง”

พลังของการร้องไห้เพื่อต่อต้านสงครามเช่นนี้ ยังถูกนำเสนอในผลงานของศิลปินหญิงชาวเยอรมัน เคเธอร์ โคลวิตซ์ (Käthe Kollwitz) ผู้สำรวจประเด็นของความยากจน ความตาย โหดร้ายทารุณของสงคราม และแสดงการประท้วงต่อต้านความอยุติธรรมในสังคมด้วยการเปิดเผยถึงความโศกเศร้าในงานศิลปะของเธอออกมาได้อย่างทรงพลัง

ดังเช่นในภาพ Woman with a Dead Child (1903) ภาพพิมพ์โลหะ (etching) ที่แสดงออกถึงความรู้สึกโศกเศร้าของผู้เป็นแม่ที่สูญเสียลูกไปในสงครามได้อย่างลึกซึ้ง ตัวโคลวิตซ์เองสูญเสียลูกชายไปในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และจมอยู่ในห้วงของความทุกข์เศร้าเป็นเวลายาวนาน หลังจากนั้นเธอสร้างผลงานประติมากรรม The Grieving Parents (1925) ตั้งในสุสานที่เบลเยียม ซึ่งเป็นเสมือนอนุสาวรียที่อุทิศให้กับลูกของเธอ และเหล่าบรรดาลูกของพ่อแม่ที่สูญเสียลูกๆ ไปในสงครามนั่นเอง

Woman with a Flower วิเคราะห์

รอย ลิคเทนสไตน์: Drowning Girl (1963), สีน้ำมันและสีพอลิเมอร์บนผ้าใบ, ภาพจาก https://www.moma.org/learn/moma_learning/lichtenstein-drowning-girl-1963

น้ำตาของอิสตรี ยังถูกนำมาใช้ในงานศิลปะอันฉูดฉาดบาดตาแห่งวัฒนธรรมสมัยนิยมอย่าง ป๊อปอาร์ต (Pop Art) ดังเช่นในผลงานของ รอย ลิคเทนสไตน์ (Roy Lichtenstein) ศิลปินป็อปอาร์ตคนสำคัญ ผู้หยิบเอาภาพจากหนังสือการ์ตูนและเทคนิคในระบบอุตสาหกรรมการพิมพ์มาใช้ทำงานศิลปะอันเปี่ยมสไตล์ เตะตา น่าดึงดูดใจ เขามักจะนำเสนอผู้หญิงที่กำลังร้องไห้ โดยได้แรงบันดาลใจจากความคิดที่ว่าผู้หญิงถูกครอบงำโดยผู้ชาย เขามักจะวาดภาพผู้หญิงที่กำลังตกอยู่ในห้วงขณะของความสับสันและเศร้าโศกในใจ หนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดของเขาคือ Drowning Girl (1963) ที่เป็นภาพของผู้หญิงกำลังจมอยู่ในทะเลคลั่ง และหลั่งน้ำตา ประกอบคำพูดเชิงตัดพ้อถึงผู้ชายของเธอ ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงความหมกมุ่นของลิคเทนสไตน์ในวัฒนธรรมสมัยนิยม ซึ่งเรามักจะพบเห็นในละครน้ำเน่าทั้งหลาย ด้วยเนื้อหาของงานที่แฝงอารมณ์เชิงขบขัน ว่าผู้หญิงในภาพกำลังตระแหน่แง่งอน ยอมจมน้ำดีกว่าที่จะขอความช่วยเหลือจากคู่รักของเธอ ในแง่หนึ่ง ทางเลือกของเธอกลายเป็นวีรกรรมสำหรับเพศหญิง ที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากเพื่อนเพศชายที่ควบคุมบงการเธอ ภาพวาดนี้ทำให้เราเข้าใจถึงพลังของการยอมพลีชีพของผู้หญิงคนนี้ พลังแห่งน้ำตาของความสิ้นหวัง ในภาพวาดนี้ ลิคเทนสไตน์แสดงให้เห็นถึงทั้งพลัง และความขาดไร้พลังของเพศหญิง ที่ต้องพึ่งพาเพศชายในการดำรงชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน เธอก็มีเสรีภาพที่จะเลือกชะตากรรมของตนเอง ด้วยการปฏิเสธความช่วยเหลือจากพวกเขา

น้ำตาของผู้หญิง ยังไปปรากฏอยู่ในผลงานรางวัล Turner ในปี 1998 ของศิลปินชาวอังกฤษ คริส โอฟิลี (Chris Ofili) แห่งกลุ่ม YBAs (Young British Artists)  อย่าง No Woman No Cry (1998) โอฟิลีโด่งดังอย่างอื้อฉาวจากผลงานภาพวาดพระแม่มารีผิวดำ ในสไตล์ศิลปะแอฟริกัน ภาพวาดของเขาภาพนี้ หยิบเอาชื่อของเพลงเอกของ บ็อบ มาร์เลย์ มาตั้งเป็นชื่อภาพ และได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ปิเอต้าแห่งยุคสมัยใหม่’ เป็นภาพวาดของผู้หญิงผิวดำที่กำลังร้องไห้ น้ำตาร่วงหล่นหยดลงมาจากใบหน้า เธอไม่มีผ้าเช็ดหน้าเหมือนกับผู้หญิงในภาพของปิกัสโซ เพราะน้ำตาของเธอไม่ใช่ความอ่อนแอน่าอับอายที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น หากแต่เป็นพลังและความเข้มแข็งของเธอเอง ผู้หญิงในภาพวาดนี้คือ โดรีน ลอว์เรนซ์ (Doreen Lawrence) แม่ของ สตีเฟน ลอว์เรนซ์ (Stephen Lawrenc) วัยรุ่นผิวดำที่ถูกฆาตกรรมจากการเหยียดสีผิวในลอนดอน ซึ่งคดีก็ไม่ได้รับการสอบสวนอย่างเป็นธรรม จนก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงประเด็นการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติในหน่วยงานตำรวจอังกฤษ ผลงานชิ้นนี้ของโอฟิลีเองก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความตื่นตัวในวงกว้างเพื่อรื้อฟื้นคดีนี้ รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับการเหยียดสีผิว ไม่เพียงแค่ในสังคม หากแต่รวมถึงในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

ถึงแม้โดรีนกำลังร้องไห้ในภาพวาด แต่เธอก็ไม่ได้อับอายหรือจมอยู่กับความเศร้าโศก หากแต่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ตัวภาพประดับและวางอยู่บนขี้ช้าง ที่นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ที่สดุดีต่อรากเหง้าแห่งความเป็นแอฟริกันของโดรีนและลูกชายแล้ว มันยังเป็นการแสดงความปรารถนาที่จะแปรเปลี่ยนสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัว (อันเป็นสัญลักษณ์ของการที่ลูกชายเธอถูกฆาตกรรมด้วยความรุนแรง) ให้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เธอใช้เป็นพลังในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียม เช่นเดียวกับน้ำตาของเธอที่ไม่ได้หลั่งออกมาเพื่อเรียกร้องความเห็นใจ หากแต่เป็นสัญลักษณ์ของพลังและความเข้มแข็งที่จะเผชิญหน้าโศกนาฎกรรมและความอยุติธรรมมากกว่า

นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์เศร้าแล้ว น้ำตายังเป็นสัญลักษณ์ของความปลาบปลื้มปีติสุขในศิลปะได้เช่นกัน ดังเช่นในผลงานของ มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović) ศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ (performance artist) ชาวเซอร์เบียน ฉายา ‘Grandmother of Performance Art’ ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแสดงสดที่ท้าทายขีดจำกัดความอดทนของร่างกายและจิตใจตัวเองมากว่าสี่ทศวรรษ

ในผลงาน The Artist is Present (2010) ผลงานศิลปะแสดงสดในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ด้วยการนั่งอย่างนิ่งงันบนเก้าอี้ ฝั่งตรงข้ามเป็นเก้าอี้ว่างตั้งรอให้ผู้ชมเข้ามานั่ง จ้องตาเธออย่างเงียบๆ ทีละคน เป็นระยะเวลาเกือบสามเดือน แปดชั่วโมงต่อวัน ที่เธอต้องนั่งจ้องตากับผู้ชมที่ต่อคิวเข้ามานั่งประสานตากับเธอ ในระหว่างนั้น ผู้ชมหลายคนสะเทือนอารมณ์จนหลั่งน้ำตาไหลพรากออกมาไม่หยุด จากการแค่จ้องตากับเธอ

ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากความเชื่ออันยาวนานของเธอเกี่ยวกับการสำรวจประสบการณ์และความสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างศิลปินและผู้ชม

“ฉันเองก็คิดไม่ถึงว่าจะมีใครมาเสียเวลากับการแค่นั่งจ้องตากับฉันเฉยๆ แบบนี้ แต่กลับกลายเป็นว่าในการแสดงครั้งนั้น เก้าอี้ไม่เคยว่างเลย มีคนเข้าแถวรอที่จะมานั่งมากมาย ฉันประหลาดใจมากที่พบว่า มนุษย์เรามีความต้องการในการสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กันมากแค่ไหน”

และในการแสดงครั้งนี้เธอก็ต้องประหลาดใจอีกครั้ง จากการที่ อูไลย์ (Ulay) ศิลปินผู้เป็นอดีตคู่รักและคู่หูผู้เคยทำงานศิลปะร่วมกับเธอมาอย่างยาวนานมาปรากฏตัวเป็นหนึ่งในผู้ชม นั่งบนเก้าอี้จ้องตากับเธออย่างเงียบๆ เป็นเวลา 5 นาที อย่างซาบซึ้ง จนทำให้เธอรู้สึกท่วมท้นจนต้องหลั่งน้ำตาออกมาแทน มารีนากล่าวถึงหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแสดงสดชิ้นนี้ของเธอว่า

“ตอนที่ฉันทำงาน Rhythm 0* ฉันต้องการสำรวจว่า ถ้าคุณเปิดโอกาสให้สาธารณชนทำอะไรกับคุณก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ พวกเขาจะฆ่าคุณไหม? ซึ่งฉันพบว่าพวกเขาสามารถฆ่าคุณได้จริงๆ อีกสามสิบกว่าปีต่อมา ฉันทำงาน The Artist Is Present ที่ฉันนั่งจ้องตากับผู้ชมเงียบๆ โดยไม่ทำอะไรเลย ฉันพบว่าหลายคนที่นั่งจ้องตากับฉันรู้สึกท่วมท้นตื้นตันจนต้องหลั่งน้ำตาออกมา ในตอนนั้นเองที่ฉันตระหนักว่า ความแตกต่างระหว่างผลงานสองชิ้นนี้ ก็คือการเลือกใช้เครื่องมือนั่นเอง นับตั้งแต่นั้นมา แทนที่ฉันจะทำงานที่กระตุ้นเร้าจิตสำนึกอันเลวร้ายของผู้คน ฉันก็จะเลือกที่จะทำงานที่ยกระดับจิตใจของพวกเขาแทน และนั่นเป็นสิ่งที่ฉันพยายามทำจวบจนถึงทุกวันนี้”

อ่านแล้วคงพอจะเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมว่า ในโลกศิลปะ น้ำตา ไม่ได้เป็นแค่น้ำตาธรรมดา หากแต่เป็นวัตถุดิบอันทรงคุณค่าสำหรับการทำงานศิลปะเพียงไร?

อ้างอิงข้อมูลจาก

www.hasta-standrews.com

www.theartstory.org

en.wikipedia.org

www.moma.org

บทสัมภาษณ์ มารินา อบราโมวิช โดยผู้เขียน adaybulletin.com

You might also like

Share this article