ผู้ใดมีความสำคัญมากที่สุดในการผลิตสินค้าและบริการ

ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ รัฐบาลในประเทศต่างๆ มักจะเน้นนโยบายและมาตรการที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทางด้านอุปสงค์ เพื่อกระตุ้นความเจริญเติบโตและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง และการค้าต่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลต่ออุปสงค์มวลรวม ซึ่งมีตัวแปรที่สำคัญคือ การบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ตลอดจนส่งเสริมให้มีอุปสงค์ต่อสินค้าออกมากขึ้น และการกีดกันการนำเข้าด้วยมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น

ความหมายอีกอย่างหนึ่งของการจัดการทางด้านอุปสงค์คือ การใช้วิธีการหรือมาตรการทางด้านอุปสงค์เพื่อทำให้มีการใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในการใช้น้ำมันหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ อาจใช้มาตรการทางด้านราคาและการให้ข่าวสารข้อมูลแก่ผู้บริโภคเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลืองอย่างประหยัด

อย่างไรก็ตาม ในประเทศต่างๆ ก็มีนโยบายและมาตรการทางด้านอุปทาน เช่น การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่นโยบายด้านอุปทานมักถูกมองว่าเป็นนโยบายที่ไม่อาจเห็นผลได้ชัดเจนในระยะเวลาสั้นและไม่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่ต้องประเชิญอยู่ในขณะใดขณะหนึ่งได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนั้น โยบายทางด้านอุปทาน ก็ไม่ได้รับการพิจารณามากนักในวิชาหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไป แม้เศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานจะมีการศึกษากันในวิชาเฉพาะในแขนงต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรมนุษย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม แต่แนวคิดและข้อสรุปของเศรษฐศาสตร์อุปทานนี้ มักไม่มีการนำมาเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ เช่น ปัญหาเงินเฟ้อ การกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาการว่างงาน

สำหรับนักการเมืองที่มีส่วนในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ก็มักจะเน้นนโยบายและมาตรการที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าของประเทศที่เผชิญอยู่ โดยมักจะละเลยการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การสร้างสิ่งสาธารณูปโภค ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างสมรรถภาพทางเศรษฐกิจของประเทศทางด้านอุปทานในระยะยาว ก็มักนำมาใช้เพื่อการกระตุ้น
อุปสงค์ทางด้านการลงทุนและการส่งเสริมการจ้างงาน คืออาศัยการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคมากระตุ้นอุปสงค์มวลรวมโดยมุ่งหวังที่จะทำให้มีการบริโภคและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ในหลายประเทศถึงกับมีการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคบางอย่างที่ไม่มีความจำเป็น หรือมีประโยชน์ใช้สอยไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ทุ่มเทลงไป

การสร้างความสามารถทางเศรษฐกิจการด้านอุปทานบางอย่าง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจต้องใช้เวลานานพอควรจึงเห็นผลได้ชัดเจน ผู้บริหารเศรษฐกิจที่เป็นนักการเมืองซึ่งมุ่งหวังที่จะได้คะแนนเสียงจากประชาชน จึงมักไม่ให้ความสนใจ เพราะไม่สามารถที่จะแสดงผลงานได้ในช่วงเวลาที่ตนมีส่วนในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอยู่

ในแวดวงวิชาการ แม้มีผู้เห็นความสำคัญของเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทาน แต่ก็ยังไม่มีการพัฒนาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ทางด้านนี้อย่างเป็นระบบ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับการส่งเสริมการบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายของรัฐบาล ที่มีความสำคัญต่อความเจริญเติบโตและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานที่มีการกล่าวขวัญกันมาก คือ การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในสมัยประธานาธิบดีเรแกน (Ronald Reagan) ของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งมีการใช้นโยบายที่เรียกกันว่า เศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทาน (supply-side economics) หรือเศรษฐศาสตร์ของเรแกน (Reaganomics) ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การลดภาษีให้แก่สถานประกอบการและปัจเจกบุคคล และการลดกฎระเบียบและขั้นตอนในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาล
เรแกนเชื่อว่าการใช้นโยบายและมาตรการทางด้านอุปทาน สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งการลดปัญหาเงินเฟ้อและการลดอัตราการว่างงาน เพราะเชื่อว่าการเก็บภาษีในอัตราสูง จะเป็นการบั่นทอนกำลังใจของธุรกิจและประชาชน การลดภาษีและกฎระเบียบในการทำธุรกรรม ทำให้เกิดผลดีต่อการลดภาวะเงินเฟ้อและเพิ่มการจ้างงาน เมื่อมีการลดอัตราภาษีและลดขั้นตอนในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจก็จะมีการลงทุนมากขึ้น คนทำงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระก็ยินดีที่จะทำงานมากขึ้น ทำให้มีสินค้าและบริการมาก ราคาสินค้าก็จะไม่แพงเพราะมีการผลิตในปริมาณมากขึ้น การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจจะมีมากขึ้น คนทำงานก็จะมีรายได้มากขึ้นและมีอำนาจซื้อสูงขึ้น การใช้ในโยบายทางด้านอุปทานนี้จึงสามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อและการว่างานได้ ทั้งยังไม่ทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะแม้มีอัตราภาษีลดลง แต่รัฐบาลก็เก็บภาษีได้มากขึ้นเพราะเมื่อมีการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น เงินภาษีที่เก็บได้ก็ย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาของรัฐบาลเรแกน แม้ไม่ทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาเกิดการถดถอย แต่ก็สร้างปัญหาหลายประการตามมา เพราะการลดภาษีขนานใหญ่ในขณะที่ไม่ได้ลดการใช้จ่ายของรัฐบาล (ทั้งยังมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายทางด้านการป้องกันประเทศ) มีผลทำให้รัฐบาลอเมริกาต้องมีการขาดดุลในงบประมาณ และต้องทำการกู้เงินจากตลาดเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยในอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ การสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยมีผลทำให้เงินทุนจากประเทศต่างๆ ไหลเข้าสู่อเมริกาเป็นจำนวนมากเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ย การไหลเข้าของเงินทุนแม้มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจในอเมริกา แต่ก็มีผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์เพิ่มสูงขึ้นมามาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันในช่วงเวลานั้น อเมริกาจึงต้องประสบกับสภาวะที่เรียกว่า "ขาดดุลคู่ขนาน" (twin deficits) คือ มีการขาดดุลทั้งในงบประมาณและดุลการค้า

หลังจากยุคประธานาธิบดีเรแกน ในอเมริกาก็ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานอีก แม้บรรดานักการเมืองของพรรครีพับริกัน (Republican Party) ยังเชื่อในทฤษฎีการลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการเสนอให้ลดอัตราภาษีลงมาหลายครั้ง และในปัจจุบันประธานาธิบดีทรัมป์ (Donald Trump) ก็มีการลดอัตราภาษีลงมาขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

เศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานได้มีการกล่าวขวัญกันอีกครั้งหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อประเทศจีนซึ่งเวลานี้เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก มีการใช้นโยบายเศรษฐกิจที่มีการเน้นปัจจัยทางด้านอุปทาน

เศรษฐกิจจีนมีการเจริญเติบโตในอัตราที่สูงมากเป็นเวลานานหลายทศวรรษ ในระหว่างปี ค.ศ. 1980-2010 เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนได้ชะลอตัวลงไปมาก คือมีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 6-7 ต่อปี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการ ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าของเงินหยวน ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกของจีน การรักษาอัตราความเจริญเติบโตในระดับร้อยละ 10 ต่อปี อย่างแต่ก่อนทำได้ยากขึ้นเมื่อฐานเศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่ขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องประสบกับข้อจำกัดจากค่าจ้างแรงงานและปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่มีราคาสูงขึ้น ประเทศจีนจึงต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจในขั้นต่อไปก็ทำได้ด้วยความยากลำบาก

รัฐบาลจีนจึงเห็นว่า ประเทศจีนควรมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยหันมาส่งเสริมความต้องการการบริโภคภายในประเทศ การพัฒนาเมือง และการส่งเสริมกิจกรรมในภาคบริการ ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนมีการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจทางด้านอุปทาน (supply-side structural reform)

สาระสำคัญของเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานของจีน มีความแตกต่างจากนโยบายทางเศรษฐกิจที่ใช้ในอเมริกาในทศวรรษ1980 ซึ่งมุ่งที่จะให้มีการเจริญเติบโตและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยการลดภาษีและลดกฎระเบียบในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจจีนมีปัญหาที่แตกต่างกัน มีการชะลอตัวลงไปบ้าง และเงินเฟ้อก็มีระดับต่ำ แต่จีนมีความจำเป็นในการปรับปรุงสร้างฐานเศรษฐกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพื่อให้สภาวะทางด้านอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการมีความสมดุลย์มากขึ้น

โดยสรุป การปรับปรุงสร้างเศรษฐกิจทางด้านอุปทานของจีน ก็คือการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในเวลานี้ ทั้งการมีกำลังผลิตที่ล้นเกิน มีสินค้าที่ไม่สามารถระบายออกสู่ตลาดจำนวนมาก ภาคธุรกิจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้สินในระดับสูง ในขณะเดียวกันในบางท้องที่ ก็มีอุปทานของสินค้าและบริการ สิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

นักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารของรัฐบาลจีนอธิบายว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทางด้านอุปทานมีภารกิจอยู่ 5 ด้าน ที่เรียกว่า "3 ขจัด 1 ลด 1 เสริมเติม" คือ

1. ขจัดกำลังการผลิตที่ล้นเกิน

2. ขจัดสินค้าคงคลังหรือสินค้าที่มีการตกค้างอยู่มาก

3. ขจัดภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและรัฐบาลท้องถิ่น

4. ลดต้นทุนการผลิตและการจำหน่ายสินค้าและบริการ และ

5. เสริมเติมสิ่งที่ยังมีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

  1. การขจัดอุปทานส่วนเกิน ปัญหาของเศรษฐกิจจีนคือมีสินค้าและบริการที่ล้นเกินอยู่มากในบางภาคเศรษฐกิจ เช่น เหล็ก ถ่านหิน แผนพลังงานแสงอาทิตย์ และบ้านพักที่อยู่อาศัย จากที่มีอุปทานส่วนเกิน ทำให้วิสาหกิจจำนวนมาก มีการใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำ จึงต้องขจัดอุปทานที่ล้นเกินในภาคธุรกิจเหล่านี้
  2. การขจัดสินค้าคงคลัง เมื่อสินค้าขายไม่ออก ก็ย่อมมีสินค้าที่ตกค้างอยู่มาก จึงตั้งมุ่งขจัดสิ่งที่ยังตกค้างอยู่ให้หมดสิ้นไป
  3. การขจัดภาระหนี้สิน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภาคธุรกิจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจรวมทั้งรัฐบาลท้องถิ่นในประเทศจีน มีภาระหนี้สินอยู่มากเนื่องจากระบบการเงินมีการปล่อยกู้ให้แก่วิสาหกิจที่ประสบกับภาวะขาดทุน การให้กู้ของระบบธนาคารมีส่วนทำให้ให้วิสากิจที่ประสบกับการขาดทุนสามารถอยู่ต่อไปได้ แต่ก็มีหนี้สินพอกพูน ในปัจจุบันในประเทศจีนมีวิสาหกิจหลายแห่งที่กลายเป็น "วิสาหกิจผีดิบ"ที่อยู่ได้ด้วยการอุดหนุนของรัฐบาลและเงินกู้ของธนาคาร จึงต้องมีมาตรการที่จะขจัด "วิสาหกิจผีดิบ"เหล่านี้ออกจากระบบเศรษฐกิจ หรือไม่ก็มีการเยียวยาให้
    "ผีดิบ" ฟื้นคืนชีพขึ้นมาโดยไม่ต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาลและระบบธนาคาร การขจัดการพยุงหรือการเกื้อหนุนวิสาหกิจและรัฐบาลท้องถิ่น จึงเป็นนโยบายที่สำคัญส่วนหนึ่งของการปรับปรุงสร้างทางด้านอุปทาน
  4. การลดต้นทุน ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญมากของการปรับโครงสร้างทางด้านอุปทาน วิธีการที่สำคัญคือการส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกิดใหม่ และปรับปรุงอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ภารกิจการลดต้นทุนนี้มีความสำคัญต่อการเพิ่มอุปทานของสินค้าและบริการ ซึ่งส่งผลต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางและระยะยาว
    นอกจากการลดต้นทุนการผลิตแล้ว การลดต้นทุนยังหมายรวมถึงการลดต้นทุนในระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ค่าโลจิสติกส์และค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า อัตราภาษีและกฎระเบียบ ตลอดจนการกำกับควบคุมของหน่วยงานในภาครัฐฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นต้นทุนในระบบเศรษฐกิจที่นอกเหนือจากต้นทุนการผลิตโดยตรง
  5. การเสริมสร้างสิ่งที่ยังขาดแคลนอยู่ สร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน เช่น ปรับปรุงบริการการศึกษา สาธารณสุข ผลิตสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ยากจนและผู้สูงอายุ

นโยบายทางด้านอุปทานต่างๆ ของจีนมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และมีความเชื่อมโยงกับนโยบายทางด้านอุปสงค์ด้วย การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทานและอุปสงค์นั้น มิได้หมายความว่า เราจำเป็นต้องเลือกนโยบายในด้านใดด้านหนึ่ง หรือเน้นหนักไปในด้านใดด้านหนึ่ง แต่เราอาจดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทานและอุปสงค์พร้อมพร้อมกันไปได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานที่ดำเนินการในประเทศจีนในปัจจุบัน และที่มีการใช้ใน สหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 ยังไม่ใช่เศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานที่มีแนวคิดที่มีการพิจารณาถึงสภาพและปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทานที่มีการครอบคลุมอย่างรอบด้าน และยังไม่อาจถือว่าเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่สมบูรณ์

ส่วนต่อไปจะกล่าวถึง ความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจทางด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ และองค์ประกอบต่างๆ ของนโยบายเศรษฐกิจตั้งด้านอุปทาน

. ความสัมพันธ์ระหว่างอุปทานกับอุปสงค์

นโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจด้านอุปสงค์และอุปทานมีส่วนสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เมื่อมีการผลิตสินค้ามากขึ้น ย่อมต้องมีการใช้ทรัพยากรและมีการจ้างงานมากขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าจะผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ก็ต้องมีความต้องการปัจจัยการผลิตมากขึ้น และเมื่อมีการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น หากอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าและบริการนั้นนั้นมิได้เพิ่มขึ้น ราคาของสินค้าและบริการที่ผลิตได้นั้นก็จะลดลง ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนมีความสามารถในการบริโภคสินค้าและบริการในปริมาณที่มากขึ้น หรือมีกำลังซื้อที่สูงขึ้น แต่ก็ไม่สร้างแรงจูงใจในการผลิต และอาจส่งผลทำให้การผลิตลดลงในรอบต่อไป

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทาน หากทำได้สำเร็จ จะมีผลดีต่อการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ตลอดจนส่งผลต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ หากสินค้าและบริการที่ล้นเกินมีการลดลง การผลิตมีการใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และมีสินค้าและบริการใหม่เกิดขึ้น ก็ย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี หากปราศจากการตอบสนองทางด้านการบริโภค หรือสินค้าที่ผลิตออกมาได้นั้นไม่มีผู้ใดมีความต้องการ หรือมีความต้องการไม่มาก สินค้าและบริการที่ผลิตออกมาใหม่ก็ไม่สามารถจะขายได้หรือขายได้ไม่หมด ในทางตรงกันข้าม หากอุปสงค์ที่มีต่อสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาใหม่มีมาก ก็จะมีผลกระตุ้นให้มีการผลิตมากขึ้น เมื่อสินค้าและบริการมีการผลิตมากขึ้น และประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการสิ่งที่ผลิตออกมานั้นมากขึ้น ทั้งผู้ประกอบการและคนงานที่ผลิตสินค้าและบริการเหล่านั้นก็จะมีรายได้มากขึ้น ซึ่งก็มีผลต่อการกระตุ้นการบริโภคการลงทุนและการส่งออกในระลอกต่อไป

ในวิชาเศรษฐศาสตร์ อุปทานและอุปสงค์จึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่นำเสนอโดย Jean-Baptiste Say ในศตวรรษที่ 19 กล่าวว่า อุปทานจะเป็นตัวสร้างอุปสงค์ขึ้นมาเอง (กฎของเซย์ Say's law) กล่าวคือ เมื่อมีการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ก็จะมีการใช้ทรัพยากรและมีการจ้างงานมากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งทำให้เขามีความต้องการสินค้าและบริการมากขึ้น อุปทานเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น อุปสงค์เพิ่มขึ้น จึงทำงานกันในลักษณะวงจรทำให้เศรษฐกิจ มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจด้านอุปทานและอุปสงค์ จึงไม่ได้หมายความว่า เราจำเป็นต้องเลือกด้านใดด้านหนึ่ง หรือเน้นหนักไปทางใดทางหนึ่ง หากควรพิจารณาร่วมกันและดำเนินการควบคู่กันไปทั้งสองด้าน

แม้นโยบายที่เรียกกันว่านโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทานด้วยกันเอง ก็สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ตัวอย่างเช่น นโยบายและมาตรการการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทางด้านอุปทานของรัฐบาลจีนในการลดกำลังการผลิตที่ล้นเกิน และการลดสินค้าคงคลัง ก็สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อเสริมสร้างสิ่งที่ยังมีอยู่ไม่เพียงพอ เช่น การสร้างถนนหนทางในเขตชนบทที่อยู่ห่างไกล การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านสาธารณสุขที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนสูงอายุ ต้องใช้วัสดุก่อสร้าง ในการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งมีผลต่อการลดความล้นเกินของสินค้าบางอย่าง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ แผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ นโยบายการเสริมสร้างสิ่งที่ยังมีอยู่ไม่เพียงพอกับนโยบายลดผลผลิตที่ล้นเกิน จึงสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้

การขจัดภาระหนี้สินของวิสาหกิจและการลดการปล่อยกู้ให้แก่ภาคเศรษฐกิจที่มีภาระหนี้สินมาก ก็มีผลทำให้สถาบันการเงินสามารถหันมาให้เงินกู้แก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการผลิตสินค้าใหม่ การวิจัยและพัฒนา และการสร้างผู้ประกอบการใหม่มากขึ้น

นโยบายของรัฐบาลจีนในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนโยบาย "หนึ่งแถบหนึ่งทาง" (one-belt one-road) ซึ่งมุ่งที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของประเทศจีนกับประเทศต่างๆ และในโยบาย "ผลิตในประเทศจีนปี2025" (made in China 2025) ซึ่งมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า ก็สามารถสนับสนุนนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทางด้านอุปทานของรัฐบาลจีน เพราะมีผลทำให้สินค้าจีนที่ล้นเกินบางอย่าง สามารถระบายออกสู่ต่างประเทศได้สะดวกขึ้น และทำให้ประเทศจีนมีความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเท็คได้มากขึ้น

. องค์ประกอบของเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทาน

ส่วนประกอบที่สำคัญของเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานก็คือ การลดต้นทุน นอกจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการแล้ว ยังมีต้นทุนอื่นๆ เช่น ต้นทุนการขนส่งและการจำหน่ายสินค้า ต้นทุนที่มีต่อสถานประกอบการและคนงานทางด้านภาษีอากร และต้นทุนที่เกิดจากกฎหมายและกฎระเบียบที่ควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเอกชน ซึ่งเป็นต้นทุนในระบบเศรษฐกิจที่นอกเหนือจากต้นทุนการผลิตโดยตรง

สิ่งสำคัญของนโยบายเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างสินค้าและบริการใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศได้ ในการนี้ การพัฒนาและการปรับปรุงเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ในโลกปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาเทคโนโลยี และการรู้จักนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตสินค้าและบริการเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มีการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการสร้างสถาบัน สิ่งสาธารณูปโภค และกำลังคนที่สามารถเกื้อหนุนการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ด้วยเหตุนี้ สถาบัน สิ่งสาธารณูปโภค และกำลังคนจึงล้วนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทาน

อย่างไรก็ตาม นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มุ่งส่งเสริมความเจริญเติบโตและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ก็มีความสำคัญและไม่ควรถูกละเลย นอกจากโยบายการเงิน การคลัง และนโยบายการค้าต่างประเทศแล้ว นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีความสำคัญต่อทางด้านอุปทานคือ นโยบายส่งเสริมความเจริญของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งภาคการเกษตร อุตสากรรม และบริการ การดำเนินนโยบายการพัฒนาภาคเศรษฐกิจเหล่านี้ สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทาน ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นในยุคที่วิทยาศาสตร์และเทคโนยี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

กล่าวโดยสรุป นโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในระยะปานกลางและในระยะยาว ต่างกับนโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปสงค์ ซึ่งโดยทั่วไป มักจะใช้ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจในระยะสั้นหรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง นโยบายเศรษฐกิจทางด้านอุปทานอาจครอบคลุมส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้ คือ:

ก. โครงสร้างสถาบันในความหมายกว้าง ซึ่งรวมถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง กฎหมายและกฎระเบียบ ตลอดจนทำเนียมประเพณี และความคิดของคนในสังคม และสถาบันในความหมายแคบ เช่น สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย และสถาบันการส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและกิจการบริการต่างๆ

ข. การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก

ค. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ง. การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการทั้งในภาครัฐและภาคประชาชน

จ. การปรับโครงสร้างในภาคเศรษฐกิจต่างๆ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้การบริหารเศรษฐกิจทางด้านอุปทานประสบความสำเร็จอย่างหนึ่งคือ การปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือวิถีความคิด (mindset) ของผู้มีส่วนในการบริหารเศรษฐกิจ และของประชาชนในประเทศในทุกภาคส่วน หากรัฐบาลและประชาชนไม่ตระหนักถึงข้อจำกัดที่เป็นสิ่งขัดขวางความเจริญของประเทศ และไม่พยายามเปลี่ยนแปลงความคิดของตนเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางด้านอุปทานหรืออุปสงค์ ก็ไม่สามารถจะประสบกับความสำเร็จได้

นโยบายการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้านอุปทานของประเทศจีน แม้มีสาระครอบคลุมที่กว้างขวางกว่านโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีเรแกนในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ในทศวรรษ1980 แต่ก็ยังไม่อาจถือได้ว่า เป็นเศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เศรษฐศาสตร์ทางด้านอุปทานยังต้องมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่สถานการณ์เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน จำเป็นต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของนโยบาย โดยดำเนินนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ของประเทศ ไม่ควรเร่งรีบจนเกินไป แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป นโยบายต่างๆ ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

หมายเหตุ: ติดตามบทความอาจารย์สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย เพิ่มเติมได้ที่
"เศรษฐศาสตร์ชาวบ้าน" (Layman's Economics)
"มรดกวัฒนธรรมจีน" (Chinese culture heritage)