ตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผนมีใครบ้าง

หากอธิบายขยายความอีกว่า “ความนิยม” ที่ส่งผลให้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนครองใจคนยิ่งกว่านิทานเรื่องอื่นๆ นั้น ปัจจัยสำคัญที่สร้างความนิยมหรือความไม่ “จืด” ให้แก่เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็คือลักษณะของตัวละครต่างๆ ที่มีความสมจริง มีหลายมิติ มีเลือดเนื้อ มีชีวิต มีลมหายใจราวกับจำลองลักษณะของคนรอบตัวที่ผู้อ่านผู้ฟังประสบพบเห็นได้ในชีวิตจริง

นอกจากตัวละครเอก ได้แก่ ขุนแผน ขุนช้าง และนางวันทองเป็นตัวละครชูโรงแล้ว ตัวละครรองลงมาไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระพันวสา นางเทพทอง นางทองประศรี นางศรีประจัน นางสายทอง นางลาวทอง นางบัวคลี่ นางศรีมาลา นางสร้อยฟ้า และพระไวย ล้วนมีบทบาทโลดแล่นอยู่ในเนื้อเรื่องเป็นที่ซาบซึ้งตรึงใจคนอ่านคนฟังเช่นเดียวกับตัวละครเอกอย่างปฏิเสธไม่ได้

กล่าวเฉพาะตัวละครที่มีบทบาทเป็น “แม่” ได้แก่ นางเทพทอง แม่ของขุนช้าง นางทองประศรี แม่ของพลายแก้ว หรือขุนแผน และนางศรีประจัน แม่ของนางพิมพิลาไลย หรือนางวันทอง จะเห็นว่าตัวละครแม่เหล่านี้ เป็นตัวละครหญิงที่สร้างสีสันความมีชีวิตชีวาให้แก่เนื้อเรื่องขุนช้างขุนแผนจนไม่อาจมองข้ามไปได้เลย ที่น่าสนใจที่สุด กวีผู้รจนาเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนได้บรรยายลักษณะนิสัย พฤติกรรม ความคิดของนางเทพทอง นางทองประศรี และนางศรีประจันไว้อย่างสมจริงมากที่สุด ดังที่ ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร กล่าวว่า

“ลักษณะนิสัยของหญิงทั้งสามคนนี้มีลักษณะสมจริงมากที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าสตรีทั้งสามเป็นแบบฉบับโดยสรุปจากสตรีวัยกลางคนทั่วไปในสังคมชาวไทยสมัยนั้น” [2]

ยิ่งไปกว่านั้น กวีสร้างลักษณะนิสัย และพฤติกรรมของพวกนางทั้ง 3 คนโดยมีเอกลักษณ์แตกต่างกันด้วย ผู้ที่ได้อ่านได้ฟังบทเสภาเรื่องนี้จึงเห็นถึงลักษณะความเป็นแม่ที่แตกต่างกัน ดังนี้

ตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผนมีใครบ้าง
“นางศรีประจัน แม่นางพิมพิลาไลย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐

ในกรณีนางเทพทอง นางแสดงออกถึงความรังเกียจและมองลูกของตนว่าอัปรีย์จัญไรด้อยค่านับตั้งแต่ยังไม่เกิด ความเกลียดชังลูกฝังแน่นอยู่ในใจนางเทพทองตลอดมา อีกทั้งยังยกปมด้อยของขุนช้างมากล่าวย้ำอยู่เสมอ หากเทียบบทบาทความเป็นแม่ระหว่างนางเทพทอง นางทองประศรี และนางศรีประจัน นางเทพทองเป็นตัวอย่างแม่ที่บกพร่องในการอบรมเลี้ยงดูลูกได้ชัดเจนที่สุด

ในกรณีนางทองประศรี นางเป็นแม่ที่น่าชื่นชมยกย่อง นางได้ให้ความรักแก่พลายแก้วเท่าที่ผู้เป็นแม่จะมอบให้ได้ รวมทั้งนางยังวางแผนอนาคตให้แก่ลูกด้วย นางกระตุ้นให้ลูกเห็นความสำคัญของการศึกษาเล่าเรียน อันจะเกิดคุณในภายภาคหน้า ขณะเดียวกันความทรหดอดทนของนางทองประศรีก็เป็นตัวอย่างให้ลูกได้เรียนรู้วิถีชีวิตของนางได้อย่างงดงาม

ในกรณีนางศรีประจัน นางเป็นแม่ผู้ที่เห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง แม้จะรักลูกมิได้รังเกียจลูกเช่นนางเทพทอง แต่นางได้ละเลยที่จะให้ความรักความผูกพันแก่ลูก และให้ความเข้าใจลูก ในบางเวลานางศรีประจันก็ขาดสติยั้งคิดและทำร้ายความรู้สึกของลูกอย่างรุนแรงมากที่สุด อนึ่ง ในกรณีนางศรีประจันนั้น ผู้เขียนจะได้วิจารณ์อย่างละเอียดในตอนต่อไป

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าบทบาท พฤติกรรม และลักษณะนิสัยของตัวละครแม่เหล่านี้มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะพวกนางมีอิทธิพลต่อชีวิตของลูก กำหนดพฤติกรรมและนิสัยต่างๆ ให้แก่ลูกตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งขุนช้าง ขุนแผน และนางวันทองจะมีพฤติกรรมดีชั่วน่าชื่นชมหรือน่าประณามเพียงไรนั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูของพวกนางทั้ง 3 คนนั่นเอง ที่น่าสลดหดหู่ใจยิ่งนัก ในบางครั้งความเป็นแม่ยังนำพาให้ลูกพบกับโศกนาฏกรรมต่างๆ หนักหนาจนถึงขั้นผลักให้ลูกพบอวสานแห่งชีวิตอย่างน่าสะเทือนใจอีกด้วย [3]

บทความนี้ผู้เขียนจึงมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ตัวละครผู้เป็นแม่ของนางวันทอง คือ “นางศรีประจัน” โดยพิจารณาจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ฉบับตรวจสอบชำระโดยหอพระสมุดวชิรญาณ[4] ซึ่งองค์การค้าของคุรุสภาพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2546 ผู้เขียนเห็นว่านางศรีประจัน เป็นตัวละครเอกฝ่ายหญิงที่สร้างสีสันความมีชีวิตชีวาให้แก่บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นอย่างมาก ตัวละครตัวนี้ยังไม่มีนักอ่านหรือนักวิจารณ์วรรณคดีหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์มากนัก ทั้งที่กวีสร้างนางศรีประจันให้มีความสลับซับซ้อนของความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่ย้อนแย้งระหว่างบทบาทแม่กับบทบาทหญิงร้ายอยู่ในตัว

เพราะฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะตัวละคร นางศรีประจัน จึงไม่เพียงเป็นการ “ชวนอ่าน” วรรณคดีมรดกขุนช้างขุนแผนอย่างละเอียดทุกซอกทุกมุม แต่ยังเป็นการ “ชวนคิดวิจารณ์” ลักษณะของตัวละคร อันจะทำให้เกิดข้อถกเถียงและอภิปรายศึกษาต่อเนื่องได้เพิ่มมากขึ้น

พื้นหลังชีวิตนางศรีประจัน

กวีผู้รจนาเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวถึงพื้นหลังชีวิตนางศรีประจันตั้งแต่เริ่มเรื่อง จะเห็นได้ว่านางศรีประจันปลูกเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านพี่เลี้ยง เมืองสุพรรณบุรี นางศรีประจันมีน้องสาวชื่อนางบัวประจัน คำกลอนเสภาบรรยายความว่านางบัวประจันเป็นคนที่มีฝีปากจัดจ้าน ได้ผัวชื่อนายโชดคง บ้านเดิมอยู่ที่บางเหี้ย และชอบขโมยควายของคนอื่นเป็นประจำ ส่วนนางศรีประจันนั้นแต่งงานอยู่กินกับพันศรโยธา ทั้งคู่ต่างขึ้นชื่อว่าเป็นเศรษฐีแห่งตำบลบ้านพี่เลี้ยง

เมื่อนางศรีประจันตั้งครรภ์นั้น นางฝันเป็นมงคลอันประเสริฐ “ว่าพระพิษณุกรรม์เหาะดั้นฟ้า ถือแหวนประดับมาสวมนิ้วนาง แล้วก็กลับสถานพิมานมาศ” ความฝันของนางศรีประจันเป็นฝันที่สร้างความสุขเบิกบานใจให้แก่นางเป็นอันมาก ดังที่พันศรโยธาทำนายฝันไว้ว่า “ได้แหวนประดับลูกจะเป็นหญิง รูปร่างงามจริงตะละแกล้งสรร ด้วยเป็นแหวนของพระพิษณุกรรม์ จะเป็นช่างใครนั้นไม่ทันเลย” นางศรีประจันเมื่อได้ฟังคำทำนายจากปากผัว  นางหัวเราะร่า เพราะนางปรารถนาอยู่แล้วที่จะมีลูกไว้เชยชม ดังที่นางปรารภกับผัวว่าหากนางมีลูกเป็นของตนแล้ว จะไม่อุ้มลูกคนอื่นอีกเลยให้คนเขานินทากัน ซึ่งคำทำนายฝันของพันศรโยธาก็ถือว่าแม่นยำราวกับตาเห็น เพราะนางศรีประจันเกิดตั้งครรภ์ขึ้นจริง

ตลอดเวลาที่นางตั้งครรภ์เป็นเวลา 10 เดือนนั้น นางศรีประจันมีแต่ความรื่นเริงบันเทิงใจ คำกลอนเสภากล่าวว่าลูกที่นางคลอด “เป็นหญิงโสภาน่าเอ็นดู” พร้อมทั้งเป็นที่รักใคร่น่าเอ็นดูของพ่อแม่และปู่ย่าตายาย เมื่อลูกสาวอายุได้ 5 ขวบ ก็ยิ่งมีรูปร่างหน้าตาน่าชื่นชม ลูกสาวของนางศรีประจันและพันศรโยธา ชื่อว่า “พิมพิลาไลย” ดังที่กลอนเสภาพรรณนาไว้ว่า “รูปกายงามยิ่งพริ้งเพรา ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแม้น อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา ผมสลวยสวยขำงามเงา ให้ชื่อเจ้าว่าพิมพิลาไลย” นางพิมพิลาไลยหรือที่กวีเรียกสั้นๆ ว่านางพิม เป็น “นางเอก” ของบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน นางพิมเติบโตมาในวัยใกล้เคียงกับขุนช้าง และพลายแก้ว ตัวละครทั้งสามนับว่าเป็นเพื่อนเกลอกันมาตั้งแต่วัยเด็ก และมีชีวิตที่เกี่ยวพันกันมาโดยตลอด นางพิมมิใช่มีรูปร่างหน้าตาผมเผ้าที่งดงามเพียงอย่างเดียว แต่นางมีความสามารถในเรื่องเย็บปักถักร้อยด้วย ดังที่กวีกล่าวว่าตั้งแต่นางพิมอายุน้อยก็มีฝีมือในด้านนี้ไม่มีใครจะเทียบได้ ขณะเดียวกันนางพิมก็เป็นลูกสาวที่นางศรีประจันและพันศรโยธารักปานแก้วตาดวงใจ ดังที่กวีกล่าวว่า “แม่พ่อก็รักดังดวงตา เลี้ยงมามิได้เป็นอันตราย”

ตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผนมีใครบ้าง
“นางพิมพิลาไลย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐

อนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ลักษณะพฤติกรรมของนางพิมก็เข้ากันได้ดีกับสำนวนสุภาษิตแต่ครั้งโบราณที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” เพราะนางพิมจัดเป็นผู้หญิง “ปากจัด” มาแต่ตั้งเด็ก ดังเห็นได้ว่าในยามเด็กเวลานางพิมโมโหขุนช้าง นางจะด่าเจ็บแสบไปถึงทรวง ข้อนี้เองนางพิมน่าจะซึมซับเลียนแบบพฤติกรรมมาจากนางศรีประจันผู้เป็นแม่นั่นเอง

พื้นหลังชีวิตนางศรีประจันดังที่กวีวาดภาพไว้ จะเห็นว่าชีวิตของนางดูเหมือนราบรื่นมากกว่าหญิงชาวบ้านคนอื่นๆ กล่าวคือ ในเรื่องความเป็นอยู่ นางศรีประจันมิได้เดือดเนื้อร้อนใจอยู่แล้ว ในด้านฐานะทางสังคมของนางนั้น นางศรีประจันมั่งมีอยู่ในระดับแถวหน้าแห่งตำบลบ้านพี่เลี้ยง นางมีเหล่าข้าทาสบริวารไว้ใช้สอยจำนวนมาก มีไร่ฝ้ายไว้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ภายในครัวเรือน เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมภายในครัวเรือนขนาดย่อมๆ รายได้อีกส่วนหนึ่งภายในครอบครัวก็มาจากการที่พันศรโยธาเดินทางไปค้าขายยังต่างถิ่น อีกทั้งนางศรีประจันก็ใช่จะอยู่ตามลำพัง นางมีลูกสาวอันแสนรักอีกด้วย

แต่เนื่องจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นวรรณคดีชั้นครู กวีแสดงความเป็นไปในชีวิตของตัวละครได้อย่างสมจริง ชีวิตตัวละครมีทั้งสุขและทุกข์ วงล้อของชีวิตเผชิญกับโชคชะตาที่ไม่อยู่ภายใต้อำนาจมนุษย์[5] ชีวิตนางศรีประจันจึงประสบทั้งความสุขกับความทุกข์สลับหมุนเวียนกันไป ความทุกข์ที่บีบคั้นจิตใจนางศรีประจันอย่างยิ่งยวด เป็นเหตุการณ์ที่นางพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน นั่นก็คือ พันศรโยธามาด่วนตายจากนางไป

เรื่องราวตอนนี้กวีบรรยายไว้เพียงสั้นๆ โดยกล่าวว่าพันศรโยธาเดินทางไปค้าขายกับพวกละว้า ครั้นกลับมาถึงบ้านก็ล้มป่วยเป็นไข้เจ็บหนัก นางศรีประจันมีหน้าที่ปฐมพยาบาลพันศรโยธาจนอ่อนอกอ่อนใจ พออาการผัวดีขึ้นแล้วก็กลับมาเป็นซ้ำอีกอยู่เรื่อยไป ยิ่งนานวันเข้าปีศาจร้ายที่สิงร่างพันศรโยธาก็สำแดงอาการแปลกประหลาดต่างๆ นานา “ให้อยากหมูเนื้อวัวอั่วพล่า ยัดคำโตโตโม้เต็มประดา แลบลิ้นปลิ้นตาเจียนบรรลัย” นางศรีประจันมิรู้จะทำอย่างไรจึงคิดจะไปนิมนต์สมภารมาดูอาการผิดปกติของผัว แต่ก็สายเสียแล้ว ยังไม่ทันนิมนต์สมภารมาดูอาการผัว พันศรโยธาก็สิ้นใจไปก่อน คำกลอนเสภาขุนช้างขุนแผนให้ภาพนางศรีประจันในภาวะความโศกเศร้าไว้อย่างสะเทือนอารมณ์ ดังที่ว่า “แต่ก่อนร่อนชะไรไปร้อยทิศ พ่อยังครองชีวิตมาเห็นหน้า ครั้งนี้ชะล่าใจให้มรณา ตั้งแต่จะลับตาไปทุกวัน”

น่าสังเกตว่าเรื่องราวตอนที่พันศรโยธาตายนี้ฝังอยู่ในใจของนางศรีประจันตลอดเวลา ดังเห็นได้ว่าในเวลาต่อมาเมื่อนางพิมเติบโตเป็นสาวแล้วเกิดป่วยหนักจนพร่ำเพ้อราวกับคนเสียสติ นางศรีประจันก็จดจำเหตุการณ์ที่พันศรโยธามีอาการคล้ายกันกับนางพิม จนหลงคิดไปว่าผีพันศรโยธามาเข้าสิงลูกสาว และอีกเหตุการณ์หนึ่ง เมื่อนางวันทองสลบไปในขณะที่ไปดูต้นโพธิ์เสี่ยงทาย เพราะแผนลวงของขุนช้าง ในครั้งนั้นนางศรีประจันก็หวนคิดถึงพันศรโยธา โดยนางพร่ำเพ้อว่าจะตายตามผัวไปแล้ว แต่ก็หวาดวิตกต่างๆ นานา เลยไม่อาจฆ่าตัวตายได้

อนึ่ง ในช่วงระยะเวลาที่พันศรโยธาตายนั้น นางเทพทองก็เพิ่งสูญเสียขุนศรีวิชัย เพราะถูกโจรรุมฆ่าอย่างเหี้ยมโหด นางศรีประจันจึงปรึกษากับนางเทพทองถึงเรื่องการจัดงานศพพันศรโยธากับขุนศรีวิชัยให้เรียบร้อยไปพร้อมกัน โดยนำศพไปจัดการตามพิธีที่วัดเขา งานศพของพันศรโยธาและขุนศรีวิชัยมีความยิ่งใหญ่โอ่อ่าสมกับฐานะเศรษฐีแห่งเมืองสุพรรณ และนับตั้งแต่พันศรโยธาสิ้นใจไปนั้น นางศรีประจันจึงรับภาระหน้าที่เป็น “เสาหลัก” ของครอบครัวแทนพันศรโยธาไปโดยปริยาย

ขณะที่นางศรีประจันทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัวตลอดมานั้น นางไม่ได้รับรู้ถึงความคิดและความปรารถนาในใจนางพิมเลย นางพิมซึ่งกำลังเติบโตเข้าสู่วัยแตกเนื้อสาว โดยธรรมชาติจึงย่อมมีความปรารถนาในเรื่องคู่ครองตามกลไกธรรมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างนางพิมกับเณรแก้วนั้น นางศรีประจันไม่เคยรับรู้ถึงความเป็นไปของคู่หนุ่มสาวคู่นี้ที่พัฒนาความสัมพันธ์ทีละน้อยๆ จนกลายเป็นความรักอันแน่นแฟ้น เหตุการณ์ที่นางศรีประจันไม่ได้นึกถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกสาวนั้น จะเห็นได้จากเหตุการณ์ 2 เหตุการณ์

ตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผนมีใครบ้าง
“พลายแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖

เหตุการณ์แรก ในคราวงานบุญเทศน์มหาชาติที่วัดป่าเลไลยก์ นางศรีประจันรับเป็นเจ้าภาพกัณฑ์มัทรี นางศรีประจัน นางพิม นางสายทอง และข้าทาสบริวารต่างพากันไปฟังเทศน์กัณฑ์มัทรี ในเวลานั้นสมภารมีเกิดอาพาธ เณรแก้วจึงต้องทำหน้าที่ขึ้นเทศน์กัณฑ์มัทรีแทนพระอาจารย์ ความสัมพันธ์ระหว่างนางพิมกับเณรแก้ว โดยเฉพาะการแสดงออกด้วยกิริยาของคู่หนุ่มสาวคู่นี้ เป็นอาการของวัยหนุ่มสาวที่กระหายในรสรัก ยิ่งอาการของนางพิมที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่า “อายหน้าก้มนิ่งอยู่ในที” และความศรัทธาในกระแสเสียงของเณรแก้วที่ไพเราะจับจิตจับใจจนถึงกับ “นางพิมเปลื้องผ้าทับทิมพลัน” นางศรีประจันก็ไม่ได้เฉลียวใจกับอาการสะเทิ้นเขินอายของนางพิมแต่อย่างใด

นางศรีประจันมานึกขึ้นได้ก็ตอนที่เถ้าแก่ของนางทองประศรี กล่าวถึงคุณสมบัติของพลายแก้วเมื่อครั้งเป็นเณรซึ่งเทศน์กัณฑ์มัทรีได้ไพเราะหนักหนา เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็อยู่ในสายตาของคนโดยมากที่เห็นนางพิมเกิดศรัทธาปสาทะอย่างยิ่ง จนเปลื้องผ้าสไบของนางเพื่อบูชากัณฑ์เทศน์

และเหตุการณ์ตอนที่ 2 นางพิมอ้างกับนางศรีประจันว่าจะไปเก็บฝ้ายในไร่และไปคุมงานแทนบ่าวไพร่ เพราะนางเห็นคนงานที่ไร่ฝ้ายยักยอกจำหน่ายฝ้ายซื้อขายกินกันเล่นเป็นเวลานานแล้ว นางศรีประจันก็หลงเชื่อคำพูดนางพิมพาลด่าบ่าวไพร่เสียๆ หายๆ แล้วให้ลูกสาวไปคุมงานในไร่ฝ้าย ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นแผนของนางสายทองที่นัดหมายให้เณรแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย เพื่อให้หนุ่มสาวได้พลอดรักสมใจอยากกันนั่นเอง

นางศรีประจันไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับนางพิม โดยเฉพาะในวัยที่บุตรสาวเริ่มมีพัฒนาการความเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์ ความห่างเหินของแม่ลูกคู่นี้ ทำให้นางศรีประจันไม่ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในเรื่องความรักกับนางพิมตั้งแต่เริ่มต้น นางศรีประจันเปิดโอกาสให้นางพิมได้เลือกชายหนุ่มที่นางหมายปองโดยอิสระ ซึ่งผู้ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนางพิมไม่ใช่นางศรีประจัน แต่เป็นนางสายทอง นางศรีประจันมอบหมายให้นางสายทองเป็นพี่เลี้ยงนางพิมอยู่ใกล้ชิดกันมาตั้งแต่นางพิมยังเป็นเด็ก

ดังนั้น นางสายทองจึงเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นพี่สาวผู้ชักจูงน้องสาวไปในทางที่เห็นชอบ เป็นผู้ที่คอยดูแล ให้คำปรึกษา และวางแผนให้นางพิมได้สมรักกับเณรแก้วทุกประการ นางสายทองจึงเป็นผู้เดียวที่นำพาชีวิตนางพิมไปสู่โลกของความรักอันลุ่มหลงนี้ ส่วนนางศรีประจันเข้ามากำหนดชีวิตนางพิมก็ในตอนที่นางพิมจะต้องออกเรือนเป็นฝั่งเป็นฝาไปแล้ว ด้วยเหตุที่นางศรีประจันไม่เข้าใจถึงความปรารถนาในหัวใจนางพิมตั้งแต่แรกเริ่ม

อาจกล่าวได้ว่า การที่นางศรีประจันเข้ามากำหนดชีวิตรักของนางพิมจนเป็นปมปัญหายุ่งเหยิงได้ก่อเกิดโศกนาฏกรรมความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในครอบครัวของนางเองในเวลาต่อมา…

ตัวละครเรื่องขุนช้างขุนแผนมีใครบ้าง
“แต่งงานขุนช้างกับนางวันทอง” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องขุนช้างขุนแผนที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗

อ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้จากบทความ “วิจารณ์ชีวิตนางศรีประจัน : สีสันตัวละครแม่ในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” โดย นิพัทธ์ แย้มเดช ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2561


เชิงอรรถ :

[1] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ตำนานเสภา,” ใน เสภาขุนช้างขุนแผน เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2546), น. [2-3].

[2] ศักดา ปั้นเหน่งเพ็ชร. คุณค่าเชิงวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน. (วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517), น. 200.

[3] วิไลลักษณ์ ทองช่วย. สถานภาพและบทบาทของแม่ที่ปรากฏในวรรณคดีไทย. (วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาษาไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, 2535), น. 75.

[4] บทเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ หรือที่นิยมเรียกในปัจจุบันว่า เสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เป็นตัวบทเสภาที่ผ่านการตรวจสอบชำระเป็นครั้งแรก โดยจัดพิมพ์เผยแพร่ใน พ.ศ. 2460 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ทรงใช้เวลาตรวจสอบชำระเสภาขุนช้างขุนแผนจนเสร็จสมบูรณ์ในเวลาเพียง 2 ปี ในถ้อยแถลงว่าด้วยการตรวจสอบชำระบทเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ จะเห็นได้ว่าอาศัยต้นฉบับในการตรวจสอบชำระ 4 ฉบับ ได้แก่ 1. ฉบับที่ได้มาจากในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นฝีมืออาลักษณ์ครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 2. ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ซึ่งเป็นฉบับในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 3. ฉบับหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เขียนเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 1231 4. ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เขียนเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 1231 อนึ่ง ก่อนหน้าที่หอพระสมุดวชิรญาณจะพิมพ์บทเสภาที่ตรวจสอบชำระนี้นั้น ใน พ.ศ. 2515 หมอสมิธได้พิมพ์บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนขึ้นเป็นครั้งแรก เพียงแต่ยังไม่มีความสมบูรณ์ เพราะ “เหตุที่มีผู้แก้ไขด้วยไม่รู้ราคาสำนวนเดิม” กล่าวได้ว่าการตรวจสอบชำระโดยหอพระสมุดวชิรญาณ ได้ใช้วิธีการเทียบเคียงกับต้นฉบับตัวเขียนหลายสำนวน ทั้งตัดออก แต่งเพิ่ม และพิมพ์บทเสภาที่ไม่เคยพิมพ์มาก่อนรวมไปด้วย ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าบทเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วจนเป็นแบบฉบับมาตรฐานของการ “รักษาหนังสือกลอนที่เป็นอย่างดีในภาษาไทยไว้ให้ถาวร” ดูใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “ว่าด้วยการชำระหนังสือเสภา,” ใน เสภาขุนช้างขุนแผน เล่ม 1. น. [27-28]; รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. สืบสานสร้างสรรค์วรรณศิลป์. (กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์, 2553), น. 22.

[5] เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. วรรณกรรมเอกของไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552), น. 62.

หมื่นหาญขุนช้างขุนแผนคือใคร

นายเดชกระดูกดำ มีตำแหน่งเป็นหมื่นหาญ ซึ่งอยู่ในชั้นหมื่นประทวน โดยเจ้าเมืองเป็นผู้ตั้งให้ ฉะนั้นจึงไม่ได้เป็นโจรเหมือนนายจันศร เพียงแต่เป็นผู้มีอิทธิพลมากในท้องถิ่นจนทางราชการต้องยอมรับ มีลักษณะคล้ายๆ สก. หรือ สจ. หรือ อบต. ในปัจจุบันนี้

เรื่องขุนช้างขุนแผนพลายงามเป็นบุตรของใคร

พลายงาม (ขุนช้างขุนแผน) ม พลายงามเป็นบุตรของขุนแผนกับนางวันทอง นางวันทองคลอดพลายงามที่บ้านขุนช้าง ตอนแรกขุนช้างรักพลายงามเลี้ยงดูอย่างดี เมื่อพลายงามอายุได้ ๙ ขวบ ขุนช้างก็แน่ใจว่าพลายงาม ไม่ใช่ลูกของตน จึงลวงพลายงามไปเที่ยวป่าแล้วทำร้ายจนสลบ ขุนช้างเข้าใจว่าพลายงามตาย จึงเอาขอนไม้ทับร่างไว้ ผีพรายช่วยไว้ได้ นางวันทอง ...

ตอนขุนช้างถวายฎีกา ตัวละครใดเด่นสุด

ตอนขุนช้างถวายฎีกา เป็นตอนที่สำคัญและโดดเด่นยิ่งตอนหนึ่งเพราะ นางวันทองซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องได้ถูกเจ้าชีวิตคือ สมเด็จพระพันวษาทรงตัดสินให้ประหารชีวิต ซึ่งจะนำไปสู่จุดสุดยอดของเรื่อง (climax)

ตัวละครในเรื่องวันทองมีใครบ้าง

รายชื่อนักแสดง เรื่อง วันทอง.
ดาวิกา โฮร์เน่ รับบท วันทอง.
ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ รับบท ขุนแผน.
ชาคริต แย้มนาม รับบท ขุนช้าง.
กฤษกร กนกธร รับบท พลายงาม/พระไวย.
ลัลณ์ลลิน เตจะสา เวศซ์ รับบท บัวคลี่.
เรวิญานันท์ ทาเกิด รับบท ลาวทอง.
ภัณฑิลา วิน ปานสิริธนาโชติ รับบท น้อย.
อริศรา วงษ์ชาลี รับบท สายทอง.