สงครามครั้งใดมีความสำคัญที่สุดในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

เหตุการณ์สำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ

สมัยรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่แรกตั้งใน พ.ศ.  2325 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 200 ปีเศษ มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.              สงครามเก้าทัพ พ.ศ. 2328

สงครามเก้าทัพเป็นสงครามใหญ่ครั้งแรกภายหลังพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้เพียง 3 ปี ในสงครามนี้ข้าศึกได้ยกกำลังพลประมาณ 144,000 คน เพื่อพิชิตไทยให้ได้ ถ้าเราพ่ายแพ้ก็ยากที่จะฟื้นตัวขึ้นมาได้อีก  ดังนั้นสงครามครั้งนี้จึงมีความสำคัญมากต่ออนาคตของเมืองไทย

สงครามเก้าทัพเรียกตามจำนวนกองทัพที่พระเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่า จัดแบ่งกำลังทหารเป็น 9 ทัพ เพื่อมาโจมตีไทยโดย ทัพที่ 1 โจมตีทางปักษ์ใต้  ทัพที่ 2  โจมตีเมืองราชบุรีลงไปทางใต้  ทัพที่ 3 โจมตีลำปางและหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมา  ทัพที่ 4 ถึง ทัพที่ 8 มุ่งโจมตีกรุงเทพฯ โดยยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พระเจ้าปะดุงเป็นแม่ทัพคุมทัพที่ 8 ซึ่งเป็นทัพหลวงมีกำลังมากที่สุดถึง 50,000 คน และทัพที่ 9  โจมตีเมืองตาก กำแพงเพชรลงมา  แผนการรบของพระเจ้าปะดุง คือ โจมตีไทยทางเหนือ ทางตะวันตก และทางใต้พร้อมกัน โดยมีเป้าหมายหลักคือ กรุงเทพฯ ให้ทัพที่ 3 และทัพที่ 2 ยกมาบรรจบกับทัพที่ 4 ถึงทัพที่ 8 เพื่อโจมตีกรุงเทพฯ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบข่าวศึก จึงทรงปรึกษาวางแผนการต่อต้านข้าศึกและรวมไพร่พลได้ประมาณ 70,000 คน ซึ่งน้อยกว่ากำลังทหารของพม่ากว่าครึ่งหนึ่ง กำลังไพร่พลของไทยแม้จะน้อยกว่าทหารพม่า แต่ก็มีประสบการณ์และมีความกล้าหาญ เพราะรบชนะมาตลอดในสมัยธนบุรี อีกทั้งมีแม่ทัพที่ทรงพระปรีชาสามารถ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอนุชาธิราช คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

แผนการรบของไทย คือ ต่อต้านทัพพม่าทางด้านที่สำคัญก่อน โดยจัดทัพเป็น 4 ทัพ โดยให้ทัพที่ 1 ยกไปต่อต้านพม่าทางเหนือที่เมืองนครสวรรค์ ทัพที่ 2 ยกไปต่อต้านพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ซึ่งเป็นด่านสำคัญ มีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ ทัพที่ 3 ยกไปต่อต้านพม่าที่ราชบุรี ทัพที่ 4 เป็นทัพหนุนคอยช่วยเหลือการศึกด้านที่หนัก มีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นจอมทัพ

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพไปทางเมืองกาญจนบุรี ตั้งทัพอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า เชิงเขาบรรทัดสกัดกั้นไม่ให้ทัพพม่ายกลงมาจากภูเขา เพื่อไม่ให้ทัพพม่าลงมาหาเสบียงอาหารได้ นอกจากนี้ยังจัดกำลังไปตัดการลำเลียงเสียงอาหารของพม่า นอกจากนั้นยังลวงพม่าโดยถอนกำลังออกในเวลากลางคืน ครั้นรุ่งเช้าก็ให้ทหารเดินเข้ามา เสมือนว่ามีกำลังเพิ่มเติมเข้ามาเสมอ เมื่อทำให้กองทัพพม่าขาดแคลนเสบียงอาหาร และครั่นคร้ามกองทัพไทยมากแล้ว จึงโจมตีทัพที่ 4 และทัพที่ 5 ของพม่า และได้ชัยชนะโดยง่าย พระเจ้าปะดุงเห็นว่าถ้าสู้รบต่อไปคงไม่ชนะไทยจึงยกทัพกลับ

สำหรับการโจมตีไทยทางด้านอื่นปรากฏว่าทางด้านเหนือพระยากาวิละ เจ้าเมืองลำปางต่อต้านพม่าไว้ได้ แต่หลายเมืองไม่มีกำลังพอพม่าจึงตีได้หัวเมืองหลายเมืองจนถึงเมืองพิษณุโลก เมื่อเสร็จศึกทางด่านพระเจดีย์สามองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยทัพที่ไปต่อต้านพม่าทางภาคเหนือ ทัพไทยสามารถขับไล่ทัพพม่าออกไปได้ รวมทั้งทัพพม่าที่ล้อมเมืองลำปางด้วย

ส่วนทางปักษ์ใต้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพลงไปช่วย แต่ก่อนที่จะเสด็จลงไปถึง ทัพพม่าได้โจมตีเมืองถลาง ซึ่งในเวลานั้นเจ้าเมืองถึงแก่กรรมยังไม่มีการตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ แต่ชาวเมืองได้รวมกำลังคนต่อสู้ โดยมีคุณหญิงจัน ภรรยาเจ้าเมืองที่ถึงแก่กรรมและนางมุกน้องสาว เป็นหัวหน้า ซึ่งสามารถต่อต้านพม่าไว้ได้ หลังเสร็จศึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกษัตรีย์ (หรือท้าวเทพสตรี) นางมุกเป็นท้าวศรีสุนทรแต่งตั้งถือเป็นวีรสตรีของไทย นอกจากนี้ ทัพพม่าบางส่วนสามารถตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ และยกลงไปตีเมืองสงขลา เจ้าเมืองและกรมการเมืองพัทลุงทราบข่าวจึงหลบหนีเอาตัวรอด แต่พระมหาช่วย ภิกษุที่ชาวเมืองนับถือมากได้ชักชวนชาวเมืองให้ต่อสู้สกัดทัพพม่าไว้ได้ เมื่อกองทัพของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยกลงไปช่วย ได้สู้รบกับทัพพม่าที่เมืองไชยา ทัพพม่าแตกพ่ายไป สำหรับพระมหาช่วยต่อมาได้ลาสิกขาบทและเข้ารับราชการทรงตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ กรมการเมืองพัทลุง

หลังจากพ่ายแพ้ไทยกลับไป พระเจ้าปะดุง ได้รวบรวมกำลังตีไทยในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2329 โดยครั้งนี้ได้รวมกำลังเป็นทัพใหญ่ทัพเดียว พร้อมจัดหาเสบียงอาหารให้บริบูรณ์ ยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แล้วตั้งทัพที่ท่าดินแดง เมืองกาญจนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดห้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพหน้า พระองค์เป็นแม่ทัพหลวง ทัพทั้งสองไปโจมตีทัพพม่าพร้อมกัน สู้รบกันเพียง 3 วัน ทัพพม่าก็แตกพ่ายไป

สงครามเก้าทัพและสงครามที่ต่อเนื่อง คือ สงครามท่าดินแดง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อไทย ดังนี้

1. เป็นสงครามใหญ่ที่ข้าศึกมีกำลังมากกว่าไทยถึง 2 เท่าเศษ แต่ไทยมีชัยชนะต่อข้าศึกอย่างงดงาม โดยเปลี่ยนยุทธวิธีจากการตั้งรับที่ราชธานี เป็นไปตั้งรับที่เขตชายแดน ชัยชนะในสงครามดังกล่าวทำให้ข้าศึกไม่ได้ยกกองทัพใหญ่มาโจมตีราชธานีของไทยอีกเลย และไทยได้ตอบโต้ไปโจมตีข้าศึกในเวลาต่อมา

2.  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแสดงพระราชปณิธานในการปกครองประเทศให้เห็นอย่างชัดเจนว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก                               ยอยกพระพุทธศาสนา

จะป้องกันขอบขัณฑสีมา                   รักษาประชาแลมนตรี”

หมายถึงจะทรงอุปถัมภกหรือทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ป้องกันบ้านเมือง ทำให้ราษฎร และขุนนางทั้งหลายร่มเย็นเป็นสุข ซึ่งเวลาต่อมาได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่สำคัญ คือ ทรงสังคายนาพระไตรปิฎกให้มีความถูกต้อง ทรงปกป้องและขยายพระราชอาณาเขต ทรงชำระกฎหมายตราสามดวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในบ้านเมือง ทรงฟื้นฟูพระราชประเพณีและทรงบำรุงอักษรศาสตร์ จนทำให้ราษฎรทั้งหลายมีขวัญและกำลังใจดีในการประกอบอาชีพ มีชีวิตอย่างปลอดภัย ประเทศมีความมั่นคงและรุ่งเรืองสืบต่อมา

2.              การทำสนธิสัญญาเบาว์ริง พ.ศ. 2398

การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2398 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความสำคัญต่อไทย คือ เป็นการเปิดกว้างประเทศไทย ทำให้ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ทำให้ไทยเริ่มการปรับปรุงประเทศให้เป็นแบบสากล สนธิสัญญาเบาว์ริงก่อให้เกิดผลดีทางเศรษฐกิจในระยะสั้นๆ แต่ทำให้ไทยถูกจำกัดในเรื่องสิทธิการเก็บภาษีขาเข้า เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเรื่องคนในบังคับต่างชาติ

ในสมัยรัตนโกสินทร์ไทยเริ่มทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับชาติตะวันตก คือ อังกฤษในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2369 โดยเป็นสนธิสัญญาที่เท่าเทียมกันไม่มีชาติใดเสียเปรียบต่อกัน ต่อมาใน พ.ศ. 2385 อังกฤษทำสนธิสัญญาหนานจิง (หรือนานกิง)กับจีน อังกฤษได้สิทธิพิเศษในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คือคนในบังคับอังกฤษเมื่อทำผิดไม่ต้องขึ้นศาลและถูกลงโทษตามกฎหมายจีน และข้อกำหนดอัตราภาษีขาเข้าที่ต่ำและชัดเจน ซึ่งต่อมากำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 อังกฤษจึงต้องการปรับปรุงสนธิสัญญากับไทยให้ทำเหมือนอย่างจีน

สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2375 ก็ต้องการปรับปรุงสนธิสัญญากับไทยเหมือนกัน จึงได้ส่งทูตเข้ามาเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญาทางพระราชไม่ตรีในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอมเพราะทรงเห็นว่าสนธิสัญญาที่มีอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ต่อมาอังกฤษได้ส่งทูตเข้ามาขอแก้ไขสนธิสัญญาอีกแต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงยินยอมเช่นกัน

การที่ไทยไม่ยินยอมแก้ไขสนธิสัญญาทำให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่พอใจ จนคิดจะใช้กำลังบีบบังคับไทยเช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาใช้กำลังทางเรือไปบีบบังคับญี่ปุ่นจนสำเร็จมาแล้ว (สหรัฐอเมริกาใช้กำลังทางเรือบังคับญี่ปุ่นให้เปิดประเทศ และทำสนธิสัญญาคานากาวะ (Kanagawa) เมื่อ พ.ศ. 2397)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเมื่อ พ.ศ. 2394 ทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องยินยอมตามข้อเรียกร้องของชาติตะวันตก จึงทรงติดต่อกับเซอร์ จอห์น เบาว์ริง(Sir John Bowring) ข้าหลวงอังกฤษประจำเกาะฮ่องกง ผู้ซึ่งจะเป็นราชทูตมาเจรจาไขสนธิสัญญากับไทยว่ายินดีที่จะแก้ไขสนธิสัญญา แต่ขอเวลาให้งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จสิ้นก่อน  และขอทราบความต้องการของอังกฤษในการแก้ไขสนธิสัญญา เพื่อไทยจะได้ปรึกษาเป็นการภายในก่อน การแก้ไขสนธิสัญญาก็จะทำได้เร็วขึ้น

เซอร์ จอห์น เบาว์ริง เดินทางเข้ามาถึงเมืองไทยในปลายเดือนมีนาคม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และทรงตั้งคณะกรรมการเพื่อเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงธิราชสนิทเป็นประธาน ทำกันที่พระราชวังเดิม คือ พระราชวังเก่าของพระเจ้าตากสินมหราราช การเจรจาสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และมีการลงนามในสนธิสัญญาในต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2398

สนธิสัญญาเบาว์ริง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไทย ดังนี้

1.         เป็นการเริ่มต้นการค้าเสรีในประเทศไทย ซึ่งทำให้ต่างชาติเข้ามาค้าขายเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก จนทำให้ผู้คนภายในประเทศมีฐานะดีขึ้นกว่าเดิม

2.        ข้าวกลายเป็นสินค้าสำคัญของไทย จนกระทั่งปัจจุบัน

3.        ไทยเข้าสู่สังคมนานาชาติ มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น วัฒนธรรมไทยมีการปรับตัวให้เหมาะสมมีการรับวัฒนธรรมและวิทยาการของชาติตะวันตกเข้ามามากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผลเสียของสนธิสัญญาเบาว์ริงก็มีเหมือนกัน ดังนี้

1.        ไทยถูกจำกัดการเก็บภาษีขาเข้าที่อัตราร้อยละ 3

2.         เรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและคนในบังคับ ทำให้ประเทศตะวันตกชักชวนคนชาติเอเชียไปจดทะเบียนเป็นคนในบังคับ กฎหมายไทยจึงไม่สามารถควบคุมคนเหล่านั้นได้

ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ได้ทรงพยายามเจรจากับชาติตะวันตกเพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาและประสบผลสำเร็จในบางส่วน พระมหากษัตริย์ในสมัยต่อมาทรงพยายามดำเนินงานต่อ จนประสบผลสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2481 ทำให้ไทยสามารถเพิ่มอัตราภาษีได้และสิทธิสภาพนอกอาณาเขตรวมทั้งปัญหาคนในบังคับจึงสิ้นสุดลง

3.              วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 คือ เหตุการณ์ที่ร้ายแรงจากการที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบที่ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ พ.ศ. 2436 ต่อมาได้ประกาศปิดอ่าวไทย และยื่นข้อเรียกร้องจากไทย ทำให้ไทยยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเสียค่าปรับถึง 3 ล้านฟรังก์ หรือประมาณ 1,605,000 บาท นับเป็นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงมากในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สืบเนื่องจากการขยายอำนาจของชาติตะวันตกในยุคจักรวรรดินิยมโดยฝรั่งเศสหลังจากได้เวียดนามและเขมรส่วนนอกหรือเขมรด้านตะวันออกแล้ว ก็พยายามที่ยึดครองลาว ซึ่งในเวลานั้นเป็นประเทศราชของไทย เพื่อหวังใช้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านลาวเป็นเส้นทางไปสู่จีนซึ่งเป็นตลาดการค้าที่สำคัญ

วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 เริ่มมีความรุนแรงตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2436 เมื่อฝรั่งเศสส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเชียงแตง (สตรึงเตร็ง) ทางใต้ของเมืองจำปาศักดิ์ และเมือคำมวน (คำม่วน) ใกล้เมืองนครพนม ซึ่งเป็นของไทย จนมีการสู้รบกัน ระหว่างนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเตรียมการป้องกันประเทศ ทรงเร่งรัดการก่อสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าโดยทรงบริจาคเงิน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท ) เป็นค่าใช้จ่ายและซื้ออาวุธสำหรับป้อม เพื่อเป็นการรักษาเอกราชของชาติ ดังที่มีพระราชปณิธานว่า “ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด ชีวิตฉัน (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น”

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2436  รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือโกแมต (Comete) และเรือแองกองสตังต์ (Inconstant) โดยมีเรือชองแบปตีสเซ (Jean Baptiste Say หรือ J.B. Say) เป็นเรือนำร่อง เพื่อมาสมทบกับเรือ  ลูแตง (Lutin) ซึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว รัฐบาลคัดค้านเรื่องนี้เพราะเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศทั้งสองที่อนุญาตให้มีเรือรบเข้ามาจอดได้เพียงลำเดียว รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งระงับ แต่ผู้บังคับการเรือรบทั้งสองอ้างว่าได้รับคำสั่งให้นำเรือรบทั้งสองลำให้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ในตอนเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม เวลา 18 นาฬิกาเศษ เรือฝรั่งเศสทั้ง 3 ลำ ได้เข้ามาใกล้ป้อมพระจุลจอมเกล้า ปืนที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นปืนใหญ่สมัยใหม่ได้ยิงเตือนแต่เรือรบฝรั่งเศสไม่ยอมหยุดและยิงตอบโต้ ผลการสู้รบเรือนำร่องของฝรั่งเศสถูกยิงเกยตื้น ทหารเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 3 นาย ทหารไทยเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 41 นาย แต่เรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำ สามารถแล่นขึ้นมาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้ ในวันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีประกาศว่า “อย่าได้ตื่นตกใจว่าจะมีการรบพุ่ง รัฐบาลได้เตรียมการป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรแล้ว อีกทั้งมีการเจรจากับฝรั่งเศส ทั้งที่กรุงปารีสและกรุงเทพฯ ด้วย”

ทางฝ่ายไทยได้ประท้วงรัฐบาลฝรั่งเศสและเรียกร้องให้ถอนเรือรบออกไป แต่รัฐบาลฝรั่งเศสได้สั่งให้นายออกัสต์ ปาวี (August Pavie) ทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ยื่นคำขาดต่อไทยว่าไทยต้องสละสิทธิ์ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พร้อมกับรื้อถอนด่านในบริเวณดังกล่าว ลงโทษผู้ที่ต่อสู้กับฝรั่งเศส จ่ายค่าปรับไหมและค่าทำขวัญเป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์ และต้องตอบคำขารดภายใน 48 ชั่วโมง

รัฐบาลไทยพยายามขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จึงตอบคำขาดในวันที่ 22 กรกฎาคม  พ.ศ. 2436 โดยยินยอมและโต้แย้งบางประเด็น เช่น เงินค่าปรับไหม และค่าทำขวัญน่าจะเกินความเป็นจริง ส่วนที่เกิดไทยควรจะได้คืน

ฝรั่งเศสไม่พอใจคำตอบของไทย ถือว่าไทยปฏิเสธคำขาด ดังนั้นจึงตัดความสัมพันธ์ทางการทูตในวันที่ 26 กรกฎาคม ฝรั่งเศสได้ถอนเรือรบทั้ง 3 ลำออ และไปยึดเกาะสีชัง ประกาศปิดอ่าวไทยโดยให้เวลา 3 วัน สำหรับเรือต่างๆ ที่จะถอนสมอออกไป ครั้งถึงวันที่ 29 กรกฎาคม ฝรั่งเศสได้ขยายพื้นที่การปิดล้อมเพิ่มขึ้น สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ ดังนั้นไทยจึงแจ้งให้ฝรั่งเศสทราบว่าจะรับคำขาด เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยและชาวต่างประเทศ แต่ฝรั่งเศสยังเรียกร้องเพิ่มเติมว่าจะยึดปากน้ำและจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะถอนกำลังที่อยู่ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงจนหมดสิ้น

เมื่อไทยยอมรับข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การปิดล้อมปากน้ำจึงยุติลงในต้นเดือนสิงหาคม  ฝรั่งเศสได้ถอนกำลังไปยึดเมืองจันทบุรี โดยประจำอยู่ที่แหลมสิงห์ หลังจากนี้เป็นการเจรจาทางการทูตและมีการลงนามในสนธิสัญญาไทย – ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436  ณ  ที่ทำการราชวัลลภ ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1.             ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง รวมทั้งเกาะในแม่น้ำให้ฝรั่งเศส

2.             ไทยจะไม่สร้างด่าน ค่าย ที่อยู่ของทหารในเขต 25 กิโลเมตร บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง

3.             ฝรั่งเศสจะตั้งกงสุลในที่ใดๆ ก็ได้ เช่น ที่นครราชสีมา  เป็นต้น

อนึ่งไทยยังต้องจ่ายเงินประกันค่าปรับไหมและค่าทำขวัญตามคำขาดของฝรั่งเศสเป็นเงิน 3 ล้านฟรังก์ (ค่าปรับไหมและค่าทำขวัญ 2 ล้านฟรังก์) ซึ่งรัฐบาลไทยจ่ายเป็นเงินสดและผ่านธนาคารปลายทาง (ธนาคารเมืองไซ่ง่อน) รวมเป็นเงิน 1,605,235 บาท 2 อัฐ

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาเพิ่มเติมว่าผู้ที่ต่อสู้กับทหารฝรั่งเศส ซึ่งหมายถึง พระยอดเมืองขวาง (ยำ  ยอดเพ็ชร) จะต้องถูกนำตัวขึ้นศาล และทนายฝรั่งเศสจะอยู่ที่จันทบุรีจนกว่าไทยจะปฏิบัติตามหนังสือสัญญาได้ครบถ้วน แต่ปรากฏว่าเมื่อไทยปฏิบัติตามหนังสือสัญญาได้ครบถ้วน ฝรั่งเศสก็ยังไม่ถอนกำลังออกจากจันทบุรี จน พ.ศ. 2446 จึงถอนตัวออกแต่ไปยึดเมืองตราดแทน โดยไทยต้องเสียดินแดนเพิ่มเติม คือ มโนไพร จำปาศักดิ์ และหลวงพระบาง ฝรั่งเศสยึดเมืองตราดจนถึง พ.ศ. 2449 จึงถอนตัวออกโดยที่ไทยต้องยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้เป็นการแลกเปลี่ยน

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ได้คุมคามอำนาจอธิปไตยของไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 จนถึง พ.ศ. 2449 วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1.         ทำให้ไทยเสียดินแดนหลายครั้ง รวมทั้งเสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส กล่าวกันว่าเงินที่จ่ายเป็นค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศสนั้น คือ เงินถุงแดง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้เพื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉิน

2.         ไทยยังคงรักษาเอกราชไว้ได้ และเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่ไทยใช้นโยบายทางการทูตแบบผ่อนหนักเป็นเบา และยอมเสียส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้

3.         ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความจำเป็นยิ่งขึ้นที่จะต้องเสด็จประพาสประเทศในทวีปยุโรป เพื่อแสวงหาพันธมิตร ช่วยค้ำประกันเอกราชของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสทวีปยุโรปครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2440 ซึ่งเป็นผลดีต่อไทยมาก เพราะพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียได้สนับสนุนการรักษาเอกราชของไทยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงศึกษาและทอดพระเนตรความเจริญของประเทศต่างๆ ซึ่งทรงนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศไทย และยกเลิกธรรมเนียมที่ล้าสมัย

4.              ไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามโลกเกิดขึ้น 2 ครั้ง และไทยก็เกี่ยวข้องทั้ง 2 ครั้ง คือ ในสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457 – 2461) ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะหลังๆ ของสงคราม โดยส่งทหารไปร่วมรบในทวีปยุโรป แต่ยังไม่ทันได้ร่วมรบ สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็สงบลง ในสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482 – 2488) มีผลต่อไทยโดยตรงและไทยเกี่ยวข้องตั้งแต่ระยะแรกๆ ของสงครามแม้ว่าไทยจะไม่ใช่สมรภูมิที่สำคัญ แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านทวีปเอเชียก็มีผลต่อไทยมาก

สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านทวีปเอเชียมีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ คือ สงครามแปซิฟิก เพราะเกิดในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก  สงครามมหาเอเชียบูรพา  เพราะญี่ปุ่นมีการตั้งวงไพบูลย์ร่วมมหาเอเชียบูรพา โดยมีการรณรงค์ตามคำขวัญว่า ทวีปเอเชียสำหรับชาวเอเชีย เพื่อขับไล่มหาอำนาจชาติตะวันตอกออกไปจากทวีปเอเชีย

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. 2482 โดยไทยประกาศตนเป็นกลาง แต่ทางด้านทวีปเอเชียสงครามเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2484 จากการที่ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbour) เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก ในวันที่ 7 ธันวาคม (ตามเวลาท้องถิ่นในฮาวาย) และในวันเดียวกันนั้น   (แต่เป็นวันที่ 8 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่นในไทย) ญี่ปุ่นได้โจมตีดินแดนอีกหลายแห่ง เช่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ไทย ด้วย

ในกรณีของไทย ญี่ปุ่นส่งทหารเข้ามาโจมตีหลายที่ เช่น ที่บางปู (สมุทรปราการ) นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ซึ่งทหาร ตำรวจ และประชาชนได้สู้รบอย่างกล้าหาญ แต่ในวันนั้นเอง จอมพล ป.  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ยุติการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น โดยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นยกผ่านไปโจมตีพม่าและมลายู (มาเลเซีย) ได้ 3 วันต่อมาญี่ปุ่นได้เสนอไทยทำสัญญาเป็นพันธมิตร ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 พร้อมประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ในวันที่ 25 มกราคม  พ.ศ. 2485 อังกฤษกับประเทศเครือจักรภพบางประเทศประกาศสงครามกับไทย แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกาศสงครามตอบ

การที่รัฐบาลไทยประกาศสงครามต่อฝ่ายสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศสำคัญของฝ่ายพันธมิตร ทำให้คนไทยบางส่วนทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ ไม่เห็นด้วย จึงได้รวมกำลังจัดตั้งเป็นขบวนการเสรีไทย เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

ขบวนการเสรีไทย มีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ในประเทศไทย มีหัวหน้า คือ หลวงประดิษฐ-  มนูธรรม (ปรีดี  พนมยงค์) ในต่างประเทศมีทั้งในสหรัฐอเมริกาหัวหน้า  คือ ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน ดี. ซี. ในอังกฤษมี ม.จ. สุภสวัสดิ์สนิท  สวัสดิวัฒน์  นายป๋วย  อึ้งภากรณ์  เป็นกำลังสำคัญ ผู้ที่รวมในขบวนการเสรีไทยมีทั้งข้าราชการ นักศึกษาในต่างประเทศจำนวนหนึ่ง

สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในวันที่ 15 สิงหาคม  พ.ศ. 2488  โดยญี่ปุ่นประกาศยอมจำนน หลังจากสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่น 2 ลูก ที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ในวันถัดมา คือ วันที่ 16 สิงหาคม  รัฐบาลไทยได้ “ประกาศสันติภาพ” ถือเป็นวันสิ้นสุดสงครามในประเทศไทย

ประเทศไทยเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ 3 ปีครึ่ง ระหว่างนี้กรุงเทพฯ ถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายพันธมิตรหลายครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เช่น สะพานพระราม 6 โรงไฟฟ้าวัดเลียบ บ้านเรือนของราษฎร ผู้คนชาวกรุงเทพฯ บางส่วนต้องอพยพไปต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย ภาวะสงครามยังทำให้เกิดความขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค เช่น ข้าว เสื้อผ้า ยารักษาโรค อย่างไรก็ดีความเสียหายที่ไทยได้รับถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่ามีน้อยมาก

สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังนี้

1.          การดำเนินนโยบายลู่ตามลม ทำให้ประเทศไทยและคนไทย สูญเสียในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินน้อย นับเป็นการดำเนินงานทางการทูตที่สำคัญ

2.         ขบวนการเสรีไทยได้รับการยกย่องว่า “เป็นขบวนการของคนไทยที่มีความรักชาติ” มุ่งกอบกู้อธิปไตยของชาติ ขบวนการเสรีไทยช่วยให้ประเทศไทยไม่ถูกกำหนดว่าเป็นฝ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

3.         ทำให้ประเทศไทยมีความผูกพันและดำเนินนโยบายเสรีนิยมคล้อยตามสหรัฐอเมริกา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จากการที่สหรัฐอเมริกาไม่ถือว่าไทยเป็นประเทศคู่สงคราม และสนับสนุนไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้การผูกมิตรไมตรีอย่างแน่นแฟ้นกันในหลายๆ ด้านกับสหรัฐอเมริกา ทำให้วัฒนธรรมอเมริกันหลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยและมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง

เมืองไทยสมัยรัตนโกสินทร์ มีพัฒนาการทางด้านต่างๆ มากขึ้น โดยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เป็นการฟื้นฟูประเทศให้เหมือนเมื่อครั้งบ้านเมืองดี  คือ ทำให้บ้านเมืองเหมือนสมัยอยุธยา ทั้งรูปแบบการปกครอง สังคม วัฒนธรรม ต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4  มีการเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง และเมื่อจักรวรรดินิยมตะวันตกคุกคามก็เริ่มมีการปฏิรูปประเทศให้เป็นแบบสมัยใหม่ในหลายๆ ด้าน ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองไทยกลายเป็นพระเทศสมัยใหม่มีอาณาเขตที่ชัดเจนภายใต้การปกครองของส่วนกลาง มีความผูกพันร่วมกันทั้งทางภาษาและประวัติศาสตร์ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ ไทยสามารถรักษาเอกราชไว้ได้เพียงชาติเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาการที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งของสมัยรัตนโกสินทร์ คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนกระทั่งปัจจุบัน อย่างไรก็ดีสถาบันกษัตริย์ก็ยังเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของคนไทยเหมือนเช่นเดิม

สงครามครั้งสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือข้อใด

สงครามเก้าทัพ เป็นสงครามครั้งแรกระหว่างอาณาจักรพม่ากับอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ตรงกับรัชกาลพระเจ้าปดุงและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สงครามเก้าทัพ ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า–สยาม

สงครามครั้งสำคัญช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์มีชื่อว่าอะไร

ภาคที่ 1 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก -- สงครามครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สงคราม 9 ทัพ -- ครั้งที่ 2 ยึดปัตตานี สงครามต่อเนื่องจากคราศึกเก้าทัพ -- ครั้งที่ 3 พม่ากลับมาใหม่ในสงคราม "ท่าดินแดง" -- ครั้งที่ 4 รบพม่าที่ลำปางและป่าซาง -- ครั้งที่ 5 ไทยรุกพม่าที่เมืองทวาย -- ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2334 ปราบกบฏรายา ...

สงครามสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่รัตนโกสินทร์ส่งกองทัพไปตีเมืองประเทศราชคือข้อใด

สงครามตีเมืองทวาย (สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3) สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จไปตีเมืองทวายซึ่งตั้งแข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยาและทรงได้รับชัยชนะ

สงครามระหว่างไทยกับพม่าครั้งใดสำคัญที่สุด

สงครามครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงธนบุรี ก็คือสงครามครั้งที่ อะแซหวุ่นกี้ เป็นแม่ทัพเข้ามาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ เรื่องราวในสงครามครั้งนี้เล่าขานกันมาก ก็เรื่องที่อะแซหวุ่นกี้ขอพักรบดูตัวเจ้าพระยาจักรี แม่ทัพไทย ทั้งยังทำนายไว้ว่าต่อไปจะได้เป็นกษัตริย์