ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการบรรยายมากที่สุด คืออะไร

การสอนแบบบรรยาย

ความหมาย

การบรรยาย คือ กระบวนการที่ผู้สอนใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด โดยการเตรียมเนื้อหาสาระ แล้วบรรยาย คือ พูด บอก เล่า อธิบายเนื้อหาสาระหรือสิ่งที่ต้องการสอนแก่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนซักถามแล้วประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง

การบรรยายเป็นวิธีถ่ายทอดความรู้ที่ใช้กันมานานในการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาเนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก สามารถสอนหรือบรรยายให้ผู้ฟังได้ทีละมากๆ โดยทั่วไปจะใช้ในกรณีที่ต้องการนำเสนอความรู้ครั้งละมากๆ โดยใช้เวลาไม่มากนักจึงจัดเป็นวิธีสอนที่ประหยัดเวลาในการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี วิธีนี้จะเหมาะสมมากหากผู้บรรยายมีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีความรู้ในเนื้อหานั้นเป็นพิเศษ และต้องการให้ผู้ฟังได้คำอธิบายขยายความ หรือแนวคิดที่แปลกใหม่เป็นข้อมูลที่หาอ่านจากเอกสารทั่วไปไม่ได้

ความมุ่งหมายของวิธีสอนแบบบรรยาย

1. เป็นการสอนที่เน้นเนื้อหาสาระที่นำเสนอโดยครูผู้สอน ผู้บรรยายจะเสนอปัญหาวิธีการต่างๆในการแก้ปัญหา และสรุปด้วยว่าวิธีการใดเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดตามหลักการ

2. เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้หลายๆแนวคิดก่อนที่จะสรุปเป็นข้อคิดหรือทางเลือกที่เหมาะสม

วัตถุประสงค์

1. เพื่อผู้เรียนที่มีจำนวนมากได้เรียนเนื้อหาสาระความรู้ที่มีจำนวนมากในเวลาที่จำกัด

2. เพื่อให้ความรู้ ประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียน ซึ่งค้นหายากหรือเป็นประสบการณ์เฉพาะของผู้สอนเอง

3. เพื่อช่วยนำทางในการศึกษาด้วยตนเอง

4. เพื่อช่วยสรุปประเด็นสำคัญ

องค์ประกอบสำคัญของการสอน

1. มีเนื้อหาสาระ หรือ ข้อความรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้

2. มีการบรรยาย (พูด บอก เล่า อธิบาย)

3. มีผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดจาการบรรยาย

ลักษณะสำคัญของการสอนแบบบรรยาย

1. ผู้สอนเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียน โดยการบอก เล่า หรืออธิบาย

2. ผู้เรียนเป็นฝ่ายฟัง อาจมีการจดบันทึกสาระสำคัญในขณะฟังบรรยายและอาจมีโอกาสถาม หรือแสดงความคิดเห็นบ้าง ถ้าผู้สอนเปิดโอกาส

3. มุ่งถ่ายทอดความรู้ และ/หรือ มุ่งเร้าความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ขั้นตอนการสอน

เพื่อให้การสอนแบบบรรยายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สอนควรมีการดำเนินการเป็น 3ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียม ขั้นบรรยาย และขั้นสรุปและประเมิน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. ขั้นเตรียม

การเตรียมการเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าผู้สอนเตรียมการไว้ดีก่อนสอนก็เท่ากับการสอนครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง ในขั้นหนึ่งควรมีการวางแผนและเตรียมการสอนในสิ่งต่อไปนี้

1.1 พิจารณาและกำหนดจุดประสงค์ของการเรียนการสอนแต่ละครั้งให้ชัดเจน

1.2 ศึกษาภูมิหลังของผู้เรียน เกี่ยวกับความรู้ ความสามารถ ความต้องการและความสนใจแล้วนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณาวางแผนการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

1.3 ศึกษา ค้นคว้าในเรื่องที่จะบรรยายให้กว้างขวาง จากตำรา วารสาร แหล่งวิทยาการที่เชื่อถือได้ รวมทั้งประสบการณ์ของตนเองมาผสมผสานกัน

1.4 พิจารณาเชื่อมโยงของพื้นฐานความรู้ที่จำเป็นของผู้เรียนที่ต้องรู้มาก่อนการฟังบรรยาย

1.5 กำหนดเค้าโครง จัดลำดับขั้นตอนของเนื้อหาเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ดีที่สุด

1.6 เตรียมภาษา หรือคำอธิบายที่ใช้ในการบรรยายเพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจง่าย

1.7 เตรียมหาสิ่งที่จะช่วยให้การบรรยายมีรสชาติ เช่น เกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้อง การอุปมา อุปไมย ข้อมูลสถิติที่สำคัญ ผลการวิจัยหรือการค้นพบใหม่ๆ ตัวอย่าง และคำถามต่างๆ ที่จะให้ประกอบการบรรยาย

1.8 เตรียมสื่อต่างๆ ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้เรียนในการบรรยาย เช่น รูปภาพของจริง วีดิทัศน์ สไลด์ แผ่นโปร่งใส หรือการนำเสนอด้วยคอมพิวเตอร์

1.9 วางแผนการจัดแบ่งเวลากับเนื้อหาให้พอดีกัน

1.10 ทดลองหรือซักซ้อมก่อนทำ การสอนจริงเพื่อให้เกิดความมั่นใจและแก้ไขข้อบกพร่อง

1.11 เตรียมวิธีการประเมินผลที่จะใช้ เช่น การสังเกต การใช้คำถาม การใช้แบบทดสอบซึ่งต้องเตรียมไว้ให้พร้อมล่วงหน้า

1.12 ก่อนเวลาบรรยายควรตรวจสอบความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ สื่อต่างๆ ว่าพร้อมจะใช้งานหรือไม่

2. ขั้นบรรยาย

ในการบรรยายให้มีประสิทธิภาพ มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้สอนดังนี้

2.1 ทำตัวให้มีชีวิตชีวา แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น และความจริงจังของผู้สอน

2.2 ควบคุมอารมณ์ไม่ให้ตื่นเต้น ประหม่า หรือเครียด ควรแสดงความเป็นกันเองยิ้มแย้ม แจ่มใสกับผู้เรียน

2.3 พูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ โดยใช้เสียงที่ดังพอที่ทุกคนจะฟังได้ยินอย่างฟังชัดเจน มีความชัดถ้อยชัดคำ ไม่เร็วหรือช้าเกินไป มีการแปรเปลี่ยนน้ำเสียงและจังหวะในการพูดเพื่อเน้นจุดสำคัญเพื่อให้มีความน่าสนใจ

2.4 ใช้สายตามองผู้เรียนให้ทั่วขณะบรรยาย เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญกับผู้เรียนและเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี นอกจากนี้ยังเป็นการสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนว่ายังมีความสนใจในการเรียนอยู่หรือไม่ ทั้งนี้จะต้องไม่มองเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ควรมองให้ทั่ว

2.5 ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการบรรยายเนื้อหาทันที ควรเริ่มด้วยการเชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียนเข้ากับเรื่องที่จะสอนเสียก่อน โดยใช้เทคนิคที่เหมาะสม เช่น การยกเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง การตั้งคำถามนำให้คิด เป็นต้น

2.6 ควรบอกเค้าโครงของเรื่องที่จะบรรยาย และบอกจุดประสงค์ของบทเรียนให้ผู้เรียนทราบก่อน

2.7 ดำเนินการบรรยายตามลำดับเนื้อหาที่เตรียมการไว้

2.8 ควรหลีกเลี่ยงการบรรยายล้วนๆ ควรมีการถามคำถามระหว่างการบรรยาย ซึ่งอาจเป็นคำถาม

ใน 2 ลักษณะ คือ คำถามแบบที่ผู้สอนถามคำถามแล้วหยุดให้คิดชั่วขณะแล้วผู้สอนช่วยตอบปัญหานั้นเอง และคำถามที่ผู้สอนถามและให้ผู้เรียนตอบ ซึ่งคำถามแบบหลังนี้นอกจากจะกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดหาคำตอบแล้ว คำตอบที่ได้รับจะเป็นข้อมูลย้อนกลับและเป็นการประเมินอย่างไม่เป็นทางการอีกด้วย

2.9 เปิดโอกาสให้ผู้เรียนถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ได้เรียน

2.10 ควรใช้เทคนิคการสอนกลุ่มย่อยและเทคนิคอื่นๆ เช่น การระดมความคิด(Brainstorming) การอภิปรายกลุ่มย่อยที่เรียกว่า Buzz Group หรือการอภิปรายแบบหนึ่งต่อหนึ่งเป็นต้น

2.11 การใช้สื่อประกอบ เช่นใช้แผ่นใส ภาพ สไลด์ เทปเสียง วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

2.12 การใช้การทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เห็นความสามารถของตนในเรื่องนั้น

3. ขั้นการปาฐกถา

ครูเป็นผู้บรรยายให้นักเรียนฟัง นักเรียนฟังครูแล้วจดบันทึกเพื่อให้เป็นที่สนใจ ครูควรใช้วัสดุอุปกรณ์ประกอบการสอนและมีการซักถามสลับไปด้วย พร้อมทั้งแทรกสิ่งที่ขำขันเข้าไปด้วยเพื่อให้เกิดความสนุกสนาน

4. ขั้นการติดตาม

เมื่อครูสอนจบบทเรียน ครูจะสรุปบทเรียนให้นักเรียนฟังเป็นข้อๆ แล้วเขียนสาระสำคัญบนกระดานดำให้นักเรียนอ่านพร้อมกัน หรือ จดบันทึกเอาไว้ จากนั้นก็ให้มีการอภิปรายการซักถาม การสาธิต การลงมือปฏิบัติและการทำแบบฝึกหัด เป็นต้น ในชั้นนี้เราดูถึงความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก

5. ขั้นสรุปและประเมินผล

ในการบรรยายแต่ละครั้ง ผู้สอนควรมีการสรุปสาระสำคัญของสิ่งที่ได้สอนหรือบรรยายไปโดยอาจนำเสนอบทสรุปในรูปของข้อความสั้นๆ หรือการใช้ผังมโนทัศน์ (Concept Map) ของเรื่องนั้นก็ได้ นอกจากนี้ยังควรมีการประเมินผลการสอน

วิธีการในการบรรยายอาจแบ่งแยกได้เป็น 3 รูปแบบตามลักษณะของการเสนอเรื่องดังนี้

1. การบรรยายที่เป็นลักษณะของการเน้นปัญหา

2. การบรรยายที่เป็นลักษณะของการให้ข้อคิดเห็น ผู้บรรยายจะเสนอข้อคิดหรือความคิดเห็นหลายๆ แนวทาง

3. การบรรยายในลักษณะที่เน้นการเสนอเนื้อหาความรู้ เป็นการบรรยายในชั้นเรียนทั่วไป

การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน

ก่อนยุติการบรรยายฯ ผู้บรรยายควรสรุปสาระสำคัญของการบรรยายและควรเปิดโอกาสให้ผู้ซักถาม หรือเปิดอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ต่อจากนั้นควรมีการทดสอบการเรียนในเรื่องที่บรรยายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การสุ่มถามผู้เรียน หรือการให้ทำแบบทดสอบ เป็นต้น

ข้อดีของการสอนแบบบรรยาย

1. ประหยัดเวลา เพราะสามารถใช้กับผู้เรียนได้จำนวนมาก

2. ผู้สอนสามารถนำความรู้ที่เป็นจุดเด่นจากตำราหลายๆ เล่มมาประมวล บูรณาการไว้ด้วยกันในการบรรยาย

3. สำหรับเนื้อหายุ่งยากและซับซ้อน ผู้เรียนได้ฟังบรรยายแล้วจะเข้าใจง่ายกว่าไปศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง ซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่า และอาจไม่เข้าใจ

4. ผู้เรียนได้ฟังความคิดเห็นหรือข้อชี้แนะจากผู้สอนที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่าทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะเรียนดีขึ้น

5. ดำเนินการสอนได้รวดเร็ว

6. ผู้เรียนไม่ต้องทำงานมาก รับรู้เรื่องราวได้โดยตรง

7. เหมาะสมกับเนื้อหาที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน

8. ฟังการบรรยายก็เข้าใจง่ายกว่าค้นหาเอง

ข้อจำกัดของการสอนแบบบรรยาย

1. ถ้าใช้บ่อยๆ โดยไม่พิจารณาความเหมาะสม อาจทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย เพราะผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย

2. ไม่เอื้อต่อการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ซึ่งเป็นความสามารถทางปัญญาชั้นสูง

3. ไม่ค่อยเกิดการพัฒนาด้านเจตคติและทักษะพิสัย

4. เป็นการสอนที่เน้นครูหรือผู้สอนเป็นศูนย์กลาง

5. ความรู้ที่ได้รับจากการฟังเพียงอย่างเดียวอาจลืมง่าย เป็นความทรงจำที่ไม่ถาวร

6. ผู้สอนต้องรู้จักการสร้างบรรยากาศด้วยวาทศิลป์ เพื่อมิให้ผู้ฟังสูญเสียความสนใจ

7. ครูควรแสดงท่าทางประกอบการเคลื่อนไหวบ้างพอสมควรอย่าให้มากเกินไป

8. ครูควรบรรยายจากข้อมูลไปหาข้อสรุปหรือกฎเกณฑ์จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาทางด้านความคิดเป็นอย่างมาก

9. ควรมีการซักถามเด็กบ้างระหว่างที่บรรยายเช่น ให้ช่วยออกความคิดเห็นต่างๆ เป็นต้น

10. เสียงดังชัดเจนมีการเน้นสูงต่ำเป็นจังหวะ

11. ใช้ภาษาและคำพูดง่ายๆ ให้เด็กฟังแล้วเข้าใจ

12. ครูควรใช้รูปภาพหรือวัสดุอื่นประกอบคำอธิบาย

13. เป็นวิธีการสอนผู้เรียนมีบทบาทน้อยจึงทำให้ผู้เรียนขาดความสนใจในการบรรยาย

14. เป็นวิธีการสอนที่ไม่สามารถสนองตอบความต้องการและความแตกต่างระหว่างบุคคล

บรรณานุกรม

จำเนียร ศิลปวานิช. (2538). หลักและวิธีสอน. กรุงเทพมหานคร : เจริญรุ่งเรืองการพิมพ์.

ทิศนา แขมมณี. (2544). 14 วิธีสอนสำหรับครูมืออาชีพ . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย.