ภาษาภาพที่พบในชีวิตประจําวัน มีอะไรบ้าง

มนุษย์เราค่อย ๆ เรียนรู้วิธีการใช้ภาษาเพื่อ การสื่อสารในชีวิตประจำวัน มาทีละเล็กทีละน้อยตามความจำเป็น ของชีวิตและมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และพัฒนาขึ้นตามลำดับ ทั้งภาษาถ้อยคำและภาษา ที่ไม่ใช่ถ้อยคำการใช้ภาษา ในชีวิตประจำวันย่อมมีความแตกต่างกัน ไปบ้างตามกาลเทศะ บุคคล อาชีพ เพศ วัย สภาพทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำ วิธีการเรียบเรียงถ้อยคำ และการเลือกใช้ถ้อยคำ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ มีสิทธิผลทำให้เกิดความแตกต่าง ทำให้เกิดภาษากลุ่มย่อย ๆ ขึ้น แต่อย่างไร ก็ตามไม่ว่าผู้ใช้ภาษา จะอยู่ในสังคมใด ก็ต้องเรียนรู้วิธีการใช้ภาษาของคนในสังคมนั้นให้เข้าใจ ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้ภาษาสื่อสาร ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาษากลุ่มย่อย ๆ ต่าง ๆ มีดังนี้

     ภาษาถิ่น เป็นภาษาย่อยที่ใช้พูดจากันในท้องถิ่นต่าง ๆ  ซึ่งเกิดจากการใช้ภาษาเพื่อการสื่อความหมาย  ความเข้าใจกันระหว่างผู้คนที่อาศัยอยู่ตามท้องถิ่นนั้น ๆ   ซึ่งอาจจะแตกต่างไปจากมาตรฐาน หรือภาษาที่คนส่วนใหญ่ของแต่ละประเทศใช้กัน  และอาจจะแตกต่างจากภาษาในท้องถิ่นอื่นทั้งทางด้านเสียง คำและ การใช้คำ  ภาษาถิ่น เป็นภาษาที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งถ้อยคำ 

และสำเนียง  ภาษาถิ่นจะแสดงถึงเอกลักษณ์  ลักษณะความเป็นอยู่  และวิถีชีวิตของผู้คน ในท้องถิ่นของแต่ละภาค ของประเทศไทย  บางทีเรียกว่า ภาษาท้องถิ่น   และหากพื้นที่ของผู้ใช้ภาษานั้นกว้างก็จะมีภาษาถิ่นหลากหลาย  และมีภาถิ่นย่อย ๆ ลงไปอีก   เช่นภาษาถิ่นใต้  ก็มีภาษาสงฃลา  ภาษานคร  ภาษาตากใบ  ภาษาสุราษฎร์  เป็นต้น   ภาษาถิ่นทุกภาษาเป็นภาษาที่สำคัญในสังคมไทย เป็นภาษาที่บันทึกเรื่องราว ประสบการณ์ และวัฒนธรรมทุกแขนงของท้องถิ่น เราจึงควรรักษาภาษาถิ่นทุกถิ่นไว้ใช้ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นสมบัติมรดกของชาติต่อไป  ซึ่งภาษาถิ่นจะเป็นภาษาพูด  หรือภาษาท่าทางมากกว่าภาษาเขียนภาษาถิ่นของไทยจะแบ่งตาม ภูมิศาสตร์หรือท้องถิ่นที่ผู้พูดภาษา นั้นอาศัยอยู่ในภาค ต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 4  ถิ่นใหญ่ ๆ  คือ ภาษาถิ่นกลาง  ภาษาถิ่นเหนือ  ภาษาถิ่นอีสานและภาษาถิ่นใต้

  ภาษามาตรฐาน เป็น ภาษาถิ่นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาษาที่ถูกต้องเหมาะสม ทั้งการพูดและการเขียน ถือเป็นภาษากลางที่ใช้ติดต่อสื่อสารเข้าใจกันทั้งประเทศด้วยสำนวน และสำเนียงเดียวกัน ใช้ติดต่อสื่อสารในวงราชการ สถานศึกษาและสถาบันสำคัญในสังคม ในสถานการณ์ ที่เป็นทางการ ภาษาถิ่นที่ได้รับการยอมรับ ให้เป็นภาษามาตรฐานนั้น มักจะเป็นภาษาถิ่นที่ใช้ติดต่อสื่อสาร กันอยู่ในเมืองหลวงของประเทศ ดังเช่น ภาษามาตรฐานของไทยก็ คือ ภาษาถิ่นกรุงเทพมหานคร  ภาษามาตรฐานมีลักษณะดังนี้


        1)  เป็นภาษาที่ได้รับการเลือกเฟ้น ภาษามาตรฐานเป็นภาษาถิ่นที่ได้รับการเลือกเฟ้น 
จากภาษาถิ่นของบุคคลในถิ่นที่มีบทบาทในการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมแล้วยกระดับ มาตรฐาน ให้ทุกคนใช้เหมือนกันและเข้าใจตรงกัน นอกจากนี้ภาษาถิ่นนั้นจะต้องมี ลักษณะผสมผสาน เอาลักษณะ ของภาษาถิ่นอื่น ๆ ไว้ด้วย 

                2)  เป็นภาษาที่ได้รับการรวบรวมหลักเกณฑ์ระเบียบของภาษาไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นักวิชาการจะต้อง จัดทำพจนานุกรมและตำราหลักภาษาไว้เป็นหลักในการตรวจสอบ และผู้ใช้ยอมรับ ในหลักของภาษา มีการสอน ให้ผู้ใช้ ้รู้หลักเกณฑ์การเขียน การอ่านให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

        3)  เป็นภาษาที่ใช้ได้ทุกวงการและทุกสาขาอาชีพ เป็นภาษาที่คนหลายกลุ่มหลายหน้าที่นำไปใช้ได้ และผู้ใช้ภาษา เข้าใจตรงกันทั้งการพูดและการเขียน เช่น ในศาล ในรัฐสภา ในวงการศึกษา วิทยาศาสตร์ การเมืองการปกครอง วิชาการแขนงต่าง ๆ ศิลปกรรม ดนตรีนาฏศิลป์ วรรณคดี และวรรณกรรม เป็นต้น

        4)  เป็นภาษาที่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของสังคม และเทคโนโลยี มีการเพิ่มคำด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การทับศัพท์ การประสมคำ หรือบัญญัติศัพท์ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ในการใช้และสามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย

                        5)  เป็นภาษาที่เป็นที่ยอมรับของคนถิ่นอื่นว่าเป็นภาษาประจำชาติเป็นภาษาที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่าง จากภาษาถิ่นทั่วไป เป็นเอกลักษณ์ของชาติ สร้างความภูมิใจแก่คนในชาติ

  ภาษาเฉพาะวงการ  เป็นภาษาย่อยที่เกิดจากการใช้ภาษาสื่อสารตามกลุ่มสังคม ตามหน้าที่การงาน หรืออาชีพของผู้ใช้ภาษา การติดต่อสื่อสารของบุคคลที่อยู่ในวงการเดียวกัน หรืออาชีพเดียวกัน มักจะใช้ถ้อยคำภาษาที่มีลักษณะเฉพาะวงการหรือเฉพาะกลุ่มของตนเอง เช่น ภาษาวัยรุ่น  ภาษากีฬา ภาษาการเมือง ภาษากฎหมาย ภาษาธุรกิจ ภาษาโฆษณา เป็นต้น ซึ่งแต่ละบุคคลจะเลือกใช้ถ้อยคำ  ตามความเหมาะสมตามสถานการณ์และบทบาทหน้าที่ของตน ซึ่งถ้อยคำเฉพาะวงการจะใช้สื่อสาร ทำความเข้าใจกันได้ดีในวงการเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน