เจดีย์ที่ ใหญ่ที่สุดในเนปาล มี จุดเด่น อย่างไร

Art & living

มองเนปาลผ่านประวัติศาสตร์ศิลปะ

นอกเหนือจากภาพ ดวงตา จากเจดีย์สวยัมภูนาถ แล้ว ยังมีภาพอาคารหลังคาซ้อนกันที่เรียกว่า เทคะ ที่นักออกแบบนิยมนำมาใช้ในยามที่ต้องสื่อถึง เนปาล

นอกเหนือจากภาพ ดวงตา จากเจดีย์สวยัมภูนาถ หรือ เจดีย์มีตา แล้ว ยังมีภาพอาคารหลังคาซ้อนกันที่เรียกว่า เทคะ ที่นักออกแบบนิยมนำมาใช้ในยามที่ต้องการสื่อความหมายถึง เนปาล
ไม่เพียงแต่ เจดีย์มีตา ยังมี เทคะ ดูรบาร์ ที่ปรากฏอยู่ในเมืองโบราณภักตะปุระ ปาฏัน และกาฐมาณฑุ ส่วนหนึ่งของมรดกโลกที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.9 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน
สัญลักษณ์ และสถาปัตยกรรมเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไร และมีปริศนาอะไรที่ซ่อนอยู่ในนั้น
กรุงเทพวันอาทิตย์ ชวนคุณถอดรหัสเนปาลผ่านประวัติศาสตร์ศิลปะไปกับ รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

ดูรบาร์ และ เทคะ
         ดูรบาร์ สแควร์ เป็นคำที่พบบ่อยที่สุดในข่าวความเสียหายของมรดกโลกในเนปาล ทั้งในเมืองโบราณอย่าง ภักตะปุระ ปาฏัน และกาฐมาณฑุ
รศ.ดร.เชษฐ์ ให้คำจำกัดความของ "ดูรบาร์"ว่า เป็นลานหน้าพระราชวัง ซึ่งทำหน้าที่เป็นท้องพระโรง หรือ สถานที่สำหรับกษัตริย์เสด็จออกมาเพื่อให้ข้าราชบริพารและประชาชนได้เข้าเฝ้า นอกจากลานพระราชวังแล้ว ดูรบาร์ยังรวมถึงวัดและตลาดที่อยู่รวมกันในบริเวณนี้ด้วย
        "ดูรบาร์ ของเนปาลไม่เพียงแต่มีลักษณะเฉพาะตัว ยังเป็นแหล่งรวมสถาปัตยกรรมเนปาลที่มีความหลากหลายมากที่สุด สถาปัตยกรรมหลายอย่างมีเฉพาะที่เนปาลเท่านั้น เช่น ทรงเทคะ - อาคารที่เป็นหลังคาลาดซ้อนชั้น ถามว่าหลังคาลาดซ้อนชั้นที่อื่นมีมั้ย มี แต่ที่ไม่เหมือนใครคือ ของเนปาลมีเท้าแขน เท้าแขนลักษณะนี้ที่อินเดียไม่มี"
           สถาปัตยกรรมทรงเทคะ มีลักษณะเป็นอาคารสูงมีหลังคาซ้อนชั้นกันหลายชั้น มีทั้งแผนผังที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้า
           "ที่พระราชวังพสันตปุระ ในเมืองกาฐมาณฑุ จะมีหอคอยทรงเทคะ 4 หอคอยด้วยกัน แต่ละหอคอยไม่เหมือนกันเลย เหตุการณ์แผ่นดินไหวทำให้ยุบตัวลงมาจาก 4 ชั้น เหลือ 2 ชั้น ถ้ากลับไปดูวีดิโอที่มีคนถ่ายจะเห็นภาพการยุบตัวของอาคารทรงเทคะในดูรบาร์ สแควร์ที่กาฐมาณฑุยุบตัวลงมา และมีอาคารเทคะอีกหลังที่เมืองภัคตะปุระยุบตัวลงมาเหมือนกัน"

เทคะ - หน้าเขา
          อาคารทรงสูงหลังคาลาด สร้างด้วยอิฐและไม้ เป็นเสมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าความเป็นมาของผู้คน ต้นไม้ ภูเขา ดิน ฟ้า อากาศ และ น้ำ
        "สถาปัตยกรรมเนปาลนิยมเครื่องไม้ เป็นอาคารที่มีหลังคาลาด เพราะว่าดินแดนในหิมาลัยนิยมสร้างอาคารหลังคาลาดเพื่อไล่หิมะและฝน ให้ลงไปเร็วที่สุด"
         ผู้เชี่ยวชาญศิลปะเนปาลกล่าวว่า ดินแดนในหิมาลัยมีอาคารอยู่ 2 สกุล ได้แก่ สกุลหน้าเขา กับ สกุลหลังเขา
         "สกุลหน้าเขา คือ นิยมสร้างอาคารหลังคาลาด เพื่อไล่หิมะและฝน ข้างหน้าเขามีต้นสนเยอะ จึงสร้างด้วยไม้
สกุลหลังเขา เป็นส่วนที่ฝนไม่ตก จะสร้างเป็นหลังคาตัดแบบศิลปะทิเบต ข้างหลังเขาต้นไม้ไม่โต ภูมิอากาศแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย อาคารจึงก่อด้วยอิฐเป็นหลัก
         สถาปัตยกรรมสะท้อนความเป็นอยู่ของมนุษย์ สะท้อนภูมิศาสตร์ และภูมิอากาศ เพราะภูเขาหิมาลัยบังฝน ฝนจึงตกบริเวณหน้าเขาเยอะ จึงมีต้นไม้ ฝนไม่ข้ามไปทิเบตเพราะว่าหิมาลัยบัง เมื่อไม่มีฝนจึงไม่มีไม้ ไม่มีไม้อาคารจึงต้องสร้างด้วยอิฐ เป็นเหตุผลที่เชื่อมโยงกัน
พอเราไปทำความเข้าใจหิมาลัย เราจึงเข้าใจลักษณะชุมชนหน้าเขาที่อยู่กระจายตั้งแต่เนปาลถึงอินเดียถึงหิมาลจันประเทศเป็นอาคารไม้หมด เป็นชุดความคิดเดียวกัน"

ประติมากรรมดุร้าย
        นอกจากเทคะแล้ว "เท้าแขน" หรือ ประติมากรรมไม้แกะสลักที่ใช้ค้ำยันอาคารในศิลปะเนปาลยังมีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร กล่าวคือ นิยมแกะสลักเป็นรูปบุคคลมีหลายหน้า หลายมือ มีเครื่องประดับมากมาย และที่สำคัญมักจะอยู่ในอาการดุร้าย สิ่งเหล่านี้ อธิบายไปถึงอิทธิพลทางศาสนา ความเชื่อ และศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย สมัยปาละ
        ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล อธิบายถึงพุทธศาสนาในสมัยปาละ (ในหนังสือ ศิลปะอินเดีย) ความว่า "เป็นพุทศาสนาลัทธิตันตระซึ่งกลายมาจากลัทธิมหายานโดยผสมความเชื่อในลัทธิฮินดูเข้าไปปะปนสถาปัตยกรรมที่สําคัญคือมหาวิทยาลัยนาลันทาซึ่งเป็นศูนย์กลางการสอนพุทธศาสนาลัทธิตันตระในแคว้นเบงคอลส่วนประติมากรรมมีทั้งภาพสลักจากศิลาและหล่อจากสําริดทั้งทางพุทธศาสนาและตามคติแบบฮินดูประติมากรรมสลักจากศิลาในสมัยนี้แบ่งออกเป็น 3 ยุคคือ
        ยุคแรกพุทธศตวรรรษที่ 14-15 มีพระโพธิสัตว์และ พระพุทธรูปทรงเครื่อง
        ยุคสองพุทธศตวรรษที่ 16-17 พระพุทธรูปทรงเครื่องมากขึ้น สร้างตามคตินิยมลัทธิตันตระ
        ยุคที่สามยุคราชวงศ์เสนะ พุทธศตวรรษที่ 18 นับถือศาสนาฮินดูจึงเป็นยุคของประติมากรรมแบบฮินดู ศิลปะแบบปาละเสนะได้แพร่หลายไปยังที่ต่าง ๆ เช่น ประเทศเนปาล"
        ด้วยเหตุนี้เอง ประติมากรรมทางพุทธศาสนา และ ฮินดู จึงมีความใกล้ชิดกันมากในเนปาล
รศ.ดร.เชษฐ์ เพิ่มเติมว่า "ในช่วงศิลปะปาละนั้น ศาสนาฮินดูอยู่ในช่วงตันตระ นิยมเทพดุร้าย เวทมนตร์คาถา ปราบภูตผีปีศาจที่หมายถึงความชั่วร้าย และพุทธก็เป็นตันตระ ประติมากรรมบางทีเหยียบสัตว์ เหยียบศพ กำลังเต้นอยู่บนศพ มีหลายหน้าหลายมือ
        ทางหิมาลัย พุทธกับฮินดูจะอยู่คู่กัน โดยเฉพาะเนปาลอยู่อย่างสันติสุขถึงขั้นที่ว่าบางคนแยกไปออกว่าตัวเองเป็นพุทธหรือฮินดู เพราะในคนเดียวกันไหว้ทั้งพระและพระอิศวร
พระพุทธเจ้า พระศิวะ ต่างเป็นเทพเจ้า นักท่องเที่ยวไปเยือนเนปาลจะพบว่าสองศาสนาอยู่ด้วยกัน เช่นเดียวกับภาพแกะสลักเรื่องกามสูตร ของฮินดูถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะการร่วมเพศถือเป็นหน้าที่หนึ่งของคฤหัสถ์ ในช่วงชีวิต 4 ช่วงของคนฮินดู เราเรียกว่าอาศรม 4 ช่วงที่ 2 คือ คฤหัสถ์ ต้องแต่งงาน ร่วมเพศ และมีลูก จึงมีตำราเกี่ยวกับการร่วมเพศ ถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ประติมากรรมการร่วมเพศจึงมาปรากฏอยู่ในวัด
ซึ่งจะขัดแย้งจากความคิดทางพุทธซึ่งพระต้องสละจากเรื่องเพศ เรื่องเพศจึงถูกปฏิเสธจากศาสนาพุทธโดยสิ้นเชิงในที่นี้คือ พุทธแบบเถรวาท เราจึงรู้สึกแปลกใจที่เห็นเรื่องเพศอยู่ในวัด"

เจดีย์มีตา
        ภาพดวงตาที่ปรากฏอยู่บนเจดีย์สวยัมภูนาถ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของศิลปะเนปาล ดวงตาที่มีอยู่ทั้ง 4 ทิศนั้น มีความหมายอย่างไร
        ตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายาน พระอาทิพุทธ คือ พระพุทธเจ้าองค์สูงสุด
      "เจดีย์สวยัมภูนาถเป็นภาพปรากฏของพระอาทิพุทธ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าที่ไม่มีรูปจึงแสดงองค์ในรูปของสถูป แสดงเป็นหน้าทั้ง 4 ดวงตามองไปทั้ง 4 ทิศ คือ จักรวาล หมายถึง ทรงอยู่ทุกที่ทรงเห็นทุกอย่างในจักรวาล สัญลักษณ์นี้ มีรูปตา พอดีจมูกเขียนเหมือนเครื่องหมายคำถามในปัจจุบัน ยิ่งสื่อทางสัญลักษณ์แบบปัจจุบันเข้าไปอีก" จึงเป็นเหตุที่คนรุ่นปัจจุบันนิยมนำรูปลักษณ์มาใช้

ภัคตะปุระ ปาฏัน และ กาฐมาณฑุ
        3 นครรัฐที่รุ่งเรืองในช่วงเวลาเดียวกัน ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกเช่นกัน และได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดไม่น้อยไปกว่ากัน
        "ความสำคัญของเมืองโบราณเริ่มที่ภัคตะปุระเป็นเมืองแรก ต่อมาลูกหลานแยกออกมาตั้งเมืองปาฏัน และกาฐมาณฑุ กลายเป็น 3 นครรัฐร่วมสมัยและอยู่ในราชวงศ์มัลละเหมือนกัน แต่แก่งแย่งชิงดีกัน นอกจากการสงครามแล้ว การสร้างดูรบาร์สแควร์ก็มีการแข่งกันด้วย
        จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ พระเจ้าปฤถิวีนารายณ์ชาห์ กษัตริย์แห่งราชวงศ์กูรข่า (พุทธศตวรรษที่ 24) เสด็จมาล้มล้างราชวงศ์มัลละทั้ง 3 เมือง รวมเนปาลเป็นหนึ่งเดียวแล้วตั้งเมืองหลวงที่กาฐมาณฑุจนถึงทุกวันนี้"

        องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ระบุว่า มรดกโลก 7 แห่งในหุบเขากาฐมาณฑุเสียหายในระดับแตกต่างกันไป ขณะที่ทางการเนปาลเผยว่า 90 % ของสิ่งก่อสร้างในมรดกโลกเสียหายยับเยิน
        เป็นความจริงที่น่าเศร้า ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ดร.เชษฐ์ มองว่า
        "มีแนวโน้มสร้างใหม่แน่นอน เหตุผลคือ 1 มีรูปถ่ายเก่า 2 มียูเนสโก 3 มีเงินทุน 4 มีช่างฝีมือ ครบองค์ประกอบหมด ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวรัฐบาลเนปาลไม่ปล่อยหรอกครับ เพราะรายได้หลักของเขาคือการท่องเที่ยว ถ้าไม่สร้างใหม่จะปล่อยให้กลายเป็นแท่นเปล่าๆ ก็รู้สึกไม่ดี ถ้าไม่สร้างคนรุ่นเราจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่ได้เห็น ความรู้ทั้งหมดก็จบ
เท่าที่ติดตามข่าวตอนนี้เขารวบรวมวัสดุออกมาวางเป็นกองๆ มีแนวโน้มการเก็บของที่ยังใช้ได้ไปประกอบใหม่ แต่ผนังอาคารเป็นอิฐคงต้องก่อใหม่ อาจต้องคิดเรื่องโครงสร้างใหม่เพื่อป้องกันแผ่นดินไหวในอนาคต ผมเชื่อว่าการฟื้นฟูมรดกโลกจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนด้วยความร่วมมือของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปนิกผู้ศึกษาด้านโบราณสถาน รวมทั้งช่างฝีมือ แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร"

         ข่าวล่าสุดอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการบินพลเรือนเนปาลกล่าวว่า มีปัญหา 2 ประการ ประการแรกคือ งบประมาณในการบูรณะสูงมาก ประการที่สองคือ เนปาลขาดแคลนเทคโนโลยีและกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญ
          ตัวแทนยูเนสโกในเนปาลขอให้ประชาคมโลกช่วยเหลือด้านการบูรณะสถานที่มรดกโลกจำนวนมากที่เสียหาย คาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าทศวรรษและอาจกินเวลานานหลายทศวรรษ ขึ้นกับความช่วยเหลือจากนานาชาติ เพราะหากมีเงินและกำลังคนเข้ามาช่วยเหลือมากเท่าไหร่ก็จะช่วยให้งานบูรณะเดินหน้าได้เร็วขึ้นเท่านั้น