ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

โดยเฉพาะในส่วนงบประมาณการรักษาและฟื้นฟูร่างกายจากอาการเจ็บป่วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนอกจากชุมชนและครอบครัวต้องปรับตัวแล้ว นโยบายที่มีคุณภาพของภาครัฐก็เป็นสิ่งจำเป็นในการบริหารจัดการให้ประเทศเข้าสู่โอกาสใหม่ของเศรษฐกิจอายุวัฒน์ และได้รับประโยชน์จากการเป็นสังคมสูงวัยที่มีสุขภาพที่ดีื ทั้งกายและใจ

โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปส่งผลให้ความจำเป็นที่ต้องบริโภคสินค้าและบริการด้านสุขภาพมีสูงขึ้น ถึงแม้จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการบริโภค จนไม่สามารถเกื้อหนุนผู้สูงวัยได้ ผู้สูงวัยจึงต้องถ่ายโอนสินทรัพย์มาใช้เพื่อดำรงชีวิต เพื่อแก้ปัญหานี้ “การออมเงินก่อนเข้าวัยเกษียณอายุ ” จึงมีความสำคัญและเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องช่วยส่งเสริมให้ประชากรไทยเริ่มดูแลสุขภาพกายและสุขภาพทางการเงินตั้งแต่อายุ 30 ปี

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ทั้งการบริโภค การออมและการลงทุน การคลังของประเทศ ไปจนถึงภาคการผลิตที่ได้รับผลโดยตรงจากการลดลงของกำลังแรงงานและการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอุปสงค์ในประเทศ ทำให้ภาครัฐควรต้องมีการวางแผนนโยบายอุตสาหกรรมและการลงทุนที่สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ในส่วนการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะเกิดขึ้น ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มสตรี และกระตุ้นให้มีการเพิ่มผลิตภาพในการผลิตโดยการปรับปรุงทุนมนุษย์ (Human capital) เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการนำเครื่องจักรเข้ามาร่วมใช้ในการผลิตมากขึ้น

* สรุปและเรียบเรียงจาก สมประวิณ มันประเสริฐ (2010) การศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อแบบแผนการบริโภคของครัวเรือนไทย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (ศศิเพ็ญ ภูวพานิช: สรุปและเรียบเรียง)

1.    บทนำ

ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยมีสัดส่วนของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปต่อประชากรทั้งประเทศมากกว่าร้อยละ 10 มาตั้งแต่ปี 2548 และในอีกแค่ 20 ข้างหน้าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 25 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยผลของการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรย่อมจะมีผลกระทบทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องของสังคมผู้สูงอายุไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยแต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในโลก ที่เห็นได้ชัดคือในประเทศที่พัฒนาแล้วในซีกโลกตะวันตกและประเทศญี่ปุ่น ในปัจจุบันแม้แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือแม้แต่ในประเทศจีนซึ่งมีประชากรจำนวนมหาศาล ก็ต้องเผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าภาวะความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมผู้สูงอายุซึ่งวัดจากสัดส่วนของผู้สูงอายุนั้น ประเทศไทยจะเป็นรองก็แต่เพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น  

Policy Brief ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเมื่อประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยมีประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกเป็นสถานการณ์ทางด้านประชากรของไทยและแนวโน้มในอนาคต ส่วนที่สองเป็นการศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรต่อเศรษฐกิจไทยในเชิงมหภาค และในส่วนที่สามจะเป็นการมองผลกระทบต่อแรงงานและภาคการผลิตของประเทศ สำหรับส่วนสุดท้ายจะเป็นส่วนที่ว่าด้วยข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

 

2.    สถานการณ์ด้านประชากรของประเทศไทย 

โครงสร้างทางด้านประชากรของประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่โครงสร้างอายุประชากรมีลักษณะรูปร่างคล้ายปิรามิดฐานกว้าง มาเป็นรูปทรงคล้ายรูปหกเหลี่ยมในปัจจุบันที่มีสัดส่วนของประชากรวัยกลางคนค่อนข้างสูง โดยสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรก็เนื่องมาจากอัตราการเกิด(birth rate) ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราการเจริญพันธุ์ (total fertility rate) ที่อยู่ต่ำกว่าระดับทดแทน ขณะที่อัตราการเสียชีวิตลดต่ำลงเนื่องจากการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข แนวโน้มที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นจะส่งผลให้ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรทั้งหมดของประเทศหรือคิดเป็นจำนวนกว่า 17.7 ล้านคนจะเป็นประชากรสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 

การลดลงของอัตราการเกิดในช่วงก่อนประกอบกับจำนวนประชากรที่เข้าสู่การเป็นประชากรสูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้น จะทำให้สัดส่วนของผู้ที่อยู่นอกวัยทำงานต่อจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยระหว่าง 15-59 ปีหรืออัตราการพึ่งพิงของประชากร (dependency ratio) โดยรวมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.4 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 38.6 ในปี 2573 โดยเป็นสัดส่วนการพึ่งพิงของกลุ่มประชากรสูงอายุถึงร้อยละ 11.9 และร้อยละ 25.1 ตามลำดับ หรืออีกนัยหนึ่งคือในปี 2573  จะมีผู้สูงอายุ 1 คนต่อประชากรวัยแรงงานจำนวน 4 คน จาก 10 คนในปัจจุบัน ซึ่งหมายความว่าประชากรวัยทำงานจะต้องรับภาระที่มากขึ้นในการดูแลผู้สูงอายุ 

ทั้งนี้ จากตัวเลขการคาดประมาณประชากรโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หากดูตามโครงสร้างอายุของประชากร (แผนภาพที่ 1) จะพบว่าในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรในไทยที่อยู่ในช่วงวัยที่เป็นวัยแรงงานจะเริ่มลดจำนวนลง โดยสัดส่วนของประชากรวัยแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2573 จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 61.4 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 67.6 นอกจากนี้ การชะลอตัวของการทดแทนของประชากรวัยเด็กรุ่นก่อนที่เติบโตขึ้นมาแทนที่กลุ่มที่พ้นวัยทำงานไปยังทำให้อายุเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงานมีวัยที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (labour participation rate) ของประเทศให้มีแนวโน้มลดลงได้เนื่องจากหลายสาเหตุ เช่น การเกษียณก่อนอายุ ปัจจัยทางด้านสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งทำให้กำลังแรงงานที่มีอายุมากทำงานน้อยลงหรือเลิกทำงานไป    

1 จากข้อมูล World data Bank (The World Bank) อัตราการเกิดและอัตราการเจริญพันธุ์ในไทยในปี 1960 อยู่ที่ 43.6 คนต่อประชากร 1,000 คน และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ ขณะที่ตัวเลขสถิติในปี 2008 ลดลงมาอยู่ที่ 14.5 คนต่อประชากร 1,000 คน และร้อยละ 1.8 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อัตราการเกิดและอัตราการเจริญพันธุ์ในไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แต่สูงกว่าในสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่การขยายตัวของประชากรเป็นผลมาจากการย้ายถิ่นเป็นหลัก

3.    ผลต่อเศรษฐกิจในเชิงมหภาค

 การเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างประชากรในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำมีผลต่อการเติบโตของรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) โดยจะทำให้จีดีพีต่อหัวของคนในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ถ้ามองผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การที่ประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุจะมีผลในทางลบต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจากการลดลงของกำลังแรงงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ โดยภาวะการขาดแคลนแรงงานจะทำให้ค่าแรงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและก่อให้เกิดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อได้   

ทางด้านอุปสงค์ ความสัมพันธ์ระหว่างการเป็นสังคมผู้สูงอายุกับระดับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคครัวเรือนขึ้นอยู่กับรายได้ของบุคคลเป็นหลัก ดังนั้นในสังคมที่ผู้สูงอายุจำนวนมากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพและมีฐานะยากจนซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย การบริโภคของประเทศในอนาคตก็มีโอกาสที่จะชะลอตัวลงได้ ในเรื่องของการบริโภค นอกจากระดับของการใช้จ่ายที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรนี้แล้ว สภาพสังคมที่มีผู้สูงอายุอยู่เป็นจำนวนมากยังมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบของการบริโภคโดยรวมให้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากรูปแบบของการใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุมีความแตกต่างจากรูปแบบการใช้จ่ายของกลุ่มผู้บริโภควัยอื่น ที่เห็นได้ชัดคือ การอุปโภคบริโภคสินค้าและบริการที่มีความเกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมและการทำงาน เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน เสื้อผ้ารองเท้า มีแนวโน้มที่จะลดลงในกลุ่มครัวเรือนผู้สูงอายุ ในขณะที่การใช้จ่ายภายในบ้านและรายจ่ายเกี่ยวกับสุขภาพและการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงตามสภาวะสังคมสูงวัยนี้จะส่งผลต่อไปถึงรูปแบบการผลิตและการค้าของประเทศอีกด้วย ตัวอย่างเช่น รายจ่ายด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอาจทำให้ไทยต้องนำเข้าเวชภัณฑ์จากต่างประเทศมากขึ้นในอนาคต เป็นต้น

ในระยะยาว ประเทศที่มีภาวะสังคมชราภาพมีความเสี่ยงที่จะประสบกับภาวะการออมและการลงทุนในประเทศที่ลดต่ำลง เนื่องจากกลุ่มประชากรที่เกษียณหรือเลิกทำงานแล้วจะใช้จ่ายจากการออมสะสม ทำให้ระดับการออมภาคครัวเรือนและการลงทุนของประเทศได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ จากรายงานการสำรวจประชากรสูงอายุในไทยเมื่อปี 2550 พบว่าแหล่งที่มาของรายได้/ทรัพย์สินของผู้สูงอายุร้อยละ 31.7 มาจากเงินออม แต่ถึงแม้ว่าร้อยละ 68.7 ของผู้สูงอายุจะมีการเก็บออมทั้งในรูปของตัวเงินและทรัพย์สิน แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาจมีการออมที่ไม่เพียงพอสำหรับการดำรงชีพ เพราะเมื่อยิ่งอายุมากขึ้นเงินออมที่มีอยู่ก็จะถูกใช้ไปเรื่อยๆ จนลดลงหรือหมดไป  

ด้านการคลังซึ่งเกี่ยวข้องกับรายรับและรายจ่ายภาครัฐ สังคมที่มีจำนวนประชากรพ้นวัยทำงานและเข้าสู่วัยชรามากขึ้นจะทำให้ฐานภาษีของประเทศให้มีฐานที่แคบลง ส่งผลต่อการจัดเก็บรายรับจากภาษีเงินได้ของภาครัฐ ขณะที่ในสังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐมีความต้องการใช้จ่ายมากขึ้นโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาล การเพิ่มสวัสดิการ และเงินสงเคราะห์ให้แก่ผู้สูงอายุ ซึ่งรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้อาจนำไปสู่การขาดดุลงบประมาณและการสะสมหนี้สาธารณะได้ ดังที่ปรากฏในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก ซึ่งสังคมผู้สูงอายุทำให้ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายทางด้านการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและสวัสดิการเพื่อดูแลประชากรที่สูงขึ้นตามไปด้วย สำหรับประเทศไทย แม้ว่าปรากฏการณ์แรงกดดันทางด้านการคลังอันเนื่องมาจากสังคมผู้สูงวัยอาจยังไม่เป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้ เนื่องจากรายรับจากภาษีเงินได้ยังสามารถเติบโตได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำนวนของประชากรวัยทำงานในประเทศ แต่ในระยะยาวภาครัฐอาจต้องคำนึงถึงเรื่องนี้และเตรียมรับมือกับความท้าทายในการจัดการด้านการคลัง เพื่อรักษาความยั่งยืนและเสถียรภาพทางด้านการคลังของประเทศ  

 

2 อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน คือ สัดส่วนของกำลังแรงงานรวมต่อจำนวนประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป

3 ข้อมูลจากงานศึกษาของ สมประวิณ มันประเสริฐ (2010)  

 

4.    สังคมผู้สูงอายุและนัยต่อภาคการผลิต 

ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุต่อภาคการผลิตของประเทศอาจแบ่งออกได้เป็น 2 ทาง คือ ทางด้านอุปทานและด้านอุปสงค์ ทางด้านอุปสงค์นั้น นอกจากระดับของรายจ่ายเพื่อการบริโภคที่ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของผู้สูงอายุแล้ว รูปแบบของการบริโภคในสังคมผู้สูงอายุเองก็จะเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย เนื่องจากปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อแบบแผนการบริโภคและการใช้จ่ายของคน คือ วัยของผู้บริโภค โดยประชากรในแต่ละช่วงอายุและในแต่ละรุ่นมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการและมีรสนิยมที่แตกต่างกันออกไป

ในงานของ สมประวิณ มันประเสริฐ (2010) ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนของการบริโภคในสังคมผู้สูงวัย พบว่าในปี 2573 สัดส่วนของการบริโภคสินค้าในครัวเรือนบางประเภทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นและบางประเภทมีแนวโน้มลดลง โดยมีรายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 1 นอกจากนี้การเป็นสังคมผู้สูงวัยยังทำให้เกิดส่วนเพิ่มในการบริโภคสินค้าและบริการกลุ่มที่เป็นการใช้จ่ายในครัวเรือน ได้แก่ เครื่องเรือนและค่าใช้จ่ายในบ้าน และที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าและบริการที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบความต้องการสินค้าของครัวเรือนจะส่งสัญญาณไปถึงภาคการผลิตและการจ้างงานในสาขานั้นๆ 

 

ตารางที่1 : เปรียบเทียบรูปแบบการบริโภคของครัวเรือนไทยในปี 2551 และปี 2573

ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ที่มา: สมประวิณ มันประเสริฐ (2010)

ทางด้านอุปทาน การเป็นสังคมผู้สูงอายุอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต เนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำและการชราภาพของแรงงานจะทำให้กำลังแรงงานในอนาคตมีจำนวนที่ลดลง และยิ่งประชากรมีอายุมากขึ้นเลยวัยกลางคนก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานน้อยลง ทั้งนี้ ในกลุ่มของผู้สูงวัยจากสถิติมีเพียงร้อยละ 37.9 ของประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ยังอยู่ในกำลังแรงงานและส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุเพศชาย

ตารางที่ 2: อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานในไทย ปี 2551

ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ที่มา: ILO, LABORSTA Database

หากจำแนกตามภาคเศรษฐกิจ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคการเกษตร รองลงมา คือ ภาคการค้า (การขายส่งและขายปลีก), ภาคบริการ เช่น งานซ่อมแซมสิ่งของเครื่องใช้ไปจนถึงการทำงานในโรงแรมและภัตตาคาร และภาคการผลิต ตามลำดับ โดยสถานภาพการทำงานของผู้สูงอายุมากกว่าครึ่งเป็นการประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างหรืออาชีพอิสระ รองลงมา คือ ช่วยเหลือกิจการในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ขณะที่แค่ประมาณร้อยละ 15 ของผู้สูงอายุมีสถานะเป็นลูกจ้าง

เมื่อเปรียบเทียบกับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยปัจจุบันซึ่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีสัดส่วนที่สูงในจีดีพีและการส่งออกของประเทศ โดยหลายอุตสาหกรรมเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (labour-intensive industries) เช่น อุตสาหกรรมอาหาร, เฟอร์นิเจอร์, เสื้อผ้า, อัญมณี ภาวะการขาดแคลนแรงงานและแนวโน้มค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจทำให้อุตสาหกรรมเหล่านี้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้ ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์, เคมีภัณฑ์ ที่ไทยต้องพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อุตสาหกรรมเหล่านี้แม้ว่าจะมีความต้องการใช้แรงงานในการผลิตในสัดส่วนที่น้อยกว่า แต่ปัจจัยแรงงานและค่าจ้างยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่บริษัทข้ามชาติพิจารณาเวลาที่ต้องเลือกตั้งฐานการผลิตในประเทศใดประเทศหนึ่ง

 

5.    ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย

จำนวนและสัดส่วนของประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในไทยอาจนำมาซึ่งปัญหาและความท้าทายทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือ โดยในการแก้ไขปัญหาแนวโน้มการลดลงของกำลังแรงงานในประเทศ ภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของประชากรในกลุ่มประชากรสูงวัยโดยเฉพาะในสตรี โดยการทำให้ระบบการจ้างงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น  จุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานและการสร้างโอกาสให้กับผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องการมีงานทำเพื่อเป็นรายได้ในการเลี้ยงชีพ เช่น ในส่วนของการจ้างงานภาคราชการควรมีการขยายเพดานการเกษียณอายุให้มีขอบเขตที่ครอบคลุมกับกลุ่มลูกจ้างหลายกลุ่มขึ้น เป็นต้น 

สำหรับในส่วนของภาคเอกชนซึ่งพนักงานที่มีอายุมากอาจได้รับแรงกดดันให้เลิกทำงานก่อนวัยเกษียณโดยเหตุผลอาจเนื่องมาจากสภาพการทำงานหรือเป็นเพราะฐานเงินเดือนที่สูงซึ่งทำให้บริษัทมีความสนใจที่จะจ้างพนักงานรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ ผู้จ้างควรปรับเปลี่ยนมุมมองต่อการจ้างงานของคนกลุ่มนี้โดยควรมองผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าแทนที่จะเป็นต้นทุนขององค์กรแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งภาครัฐสามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้โดยการใช้มาตรการทางภาษีหรือการให้เงินอุดหนุนเพื่อจูงใจในการจ้างงานและกระตุ้นให้มีการฝึกอบรมพัฒนาทักษะแรงงานเช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเงิน บัญชี และทักษะใหม่อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง 

ภาครัฐควรมีการปรับนโยบายอุตสาหกรรมและการลงทุนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและทิศทางของการพัฒนาประเทศในระยะยาวเพื่อทดแทนการการชะลอตัวของการเติบโตของกำลังแรงงานในประเทศในอนาคต ควรมีการส่งเสริมอย่างจริงจังให้เกิดการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมและบริการ เพิ่มผลิตภาพในการผลิต (productivity) โดยการสนับสนุนการนวัตกรรมและเทคโนโลยี การใช้เครื่องจักรและการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ 

ภาครัฐต้องมีการจัดระบบสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพเพื่อดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การจัดสรรงบประมาณจึงต้องทำอย่างรอบคอบ ถึงกระนั้นก็อาจมีความจำเป็นที่จะต้องมีการขึ้นภาษีในอนาคตเพื่อไม่ให้เกิดการขาดดุลงบประมาณเป็นระยะยาวซึ่งอาจมีผลต่อเสถียรภาพทางการคลัง นอกจากนี้ ในส่วนของการออม ควรมีการส่งเสริมการออมของประชากรทั้งในและนอกระบบประกันสังคมในอัตราที่มากขึ้น สำหรับแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรและแรงงานรับจ้างนอกระบบซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ ควรต้องมีการนำเข้ามารวมอยู่ในระบบและจัดการให้ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการเช่นเดียวกัน

ท้ายสุดเพื่อเป็นยับยั้งการเป็นสังคมผู้สูงอายุในอัตราเร่งที่รุนแรงมากขึ้น จะต้องเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศ โดยควรที่จะมีนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้ครอบครัวมีบุตรมากขึ้น เช่น การใช้มาตรการทางภาษีหรือการให้เงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและการศึกษาของเด็ก เป็นต้น

 

 

เอกสารอ้างอิง

สมประวิณ มันประเสริฐ (2010) การศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อแบบแผนการบริโภคของครัวเรือนไทย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

Henry, Ken (2004) The Economic Impact of Australia’s Aging Population, SAIS Review 24(2): 81-92. School of Advanced International Studies (SAIS), USA. 

Tyers, Rod (2005) Ageing and Slower Population Growth: Effects on Global Economic Performance. Paper presented at the Expert Meeting on Long Term scenarios for Asia’s Growth and Trade, ADB, 10-11 November 2005

Vodopivec, M. and Arunatilake, Nisha (2008) The Impact of Population Aging on the Labor Market: The Case of Sri Lanka. IZA Discussion Paper No. 3456, Institute for the Study of Labor (IZA), Germany.  

 

 

 

แผนภาพที่ 1: เปรียบเทียบโครงสร้างประชากรไทยจำแนกตามกลุ่มอายุและเพศ

                                                                                 2551                                                  2553

ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

                                                                           หญิง           ชาย                                 หญิง       ชาย

 

แผนภาพที่ 2: อัตราการพึ่งพิงของประชากร

ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหมายเหตุ: * และสถิติตั้งแต่ปี 2552 เป็นตัวเลขคาดการณ์ภายใต้สมมติฐานอัตราการเจริญพันธุ์ของประชากรอยู่ในระดับกลาง อ้างอิงจากรายงาน “การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย 2543-2573” จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ