พรหมจารี ในอาศรม 4 ของศาสนาพราหมณ์ ฮินดู หมายถึงอะไร *

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

      ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูเป็นศาสนาเก่าแก่ที่เกิดขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ คือบริเวณที่เป็นที่ตั้งของอินเดียปัจจุบัน มีความเป็นมาและพัฒนาการยาวนานหลายพันปี และไม่อาจสืบค้นได้ว่าผู้ใดเป็นศาสดา

      ในระยะแรก ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูมิได้เป็นศาสนา มีชื่อเรียกว่า “สนาตนธรรม” หมายถึงธรรมอันไม่รู้เสื่อมสูญ และในกาลต่อมาเรียกว่า “ศาสนาพราหมณ์” อันหมายถึงคำสอนของพราหมณ์ ซึ่งเป็นวรรณะสูงสุดในศาสนา มีหน้าที่ติดต่อกับพรหมคือพระผู้เป็นเจ้า และเป็นผู้รักษาพระเวท จึงถือว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในเชิงโครงสร้างสังคมด้วย ครั้นเวลาผ่านไป ศาสนาพราหมณ์ได้ปฏิรูปหลักคำสอน รวมทั้งนำความเชื่อหลากหลายจากท้องถิ่นต่าง ๆ รวมทั้งปกรณัมเทพเจ้าหลายองค์มาผสมผสาน และได้เรียกคำสอนว่า “ฮินดูธรรม” แล้วจึงเรียกว่า “ศาสนาฮินดู” ในที่สุด ศาสนาพราหมณ์และศาสนาฮินดูเป็นสายพัฒนาการที่ต่อเนื่องกัน ปัจจุบันในประเทศไทยจึงมักเรียกรวมกันว่า “ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู”

หลักธรรมของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู

      ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูมีหลักธรรมอันหลากหลายและยากจะสรุปรวมให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปได้เพราะพัฒนามาจากรากเหง้าแห่งศรัทธาจากหลากหลายท้องถิ่นและหลายยุคสมัยผสมผสานกัน ภายในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูจึงแตกออกเป็นหลายสำนักคิด ทว่าสำนักคิดที่จะจัดเข้าในกลุ่มปรัชญาฝ่ายฮินดูจะมีความเชื่อตรงกันในหัวข้อต่างๆต่อไปนี้

  1. พระเวทเป็นคัมภีร์ศรุติ อันเป็นสัจธรรมที่มีอยู่แล้วโดยไม่มีผู้แต่งขึ้น เป็นปราณของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเหล่าฤษีในอดีตสดับด้วยความหยั่งรู้จากภายใน จึงมีความศักดิ์สิทธิ์และถูกต้อง รวมทั้งเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าดำรงอยู่และเป็นผู้สร้างจักรวาล
  2. มีหลักความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการและท้องถิ่น แรกเริ่มเดิมทีบูชาเพียงเทพโบราณ เช่น พระอัคนี พระวรุณ พระอินทร์ ฯลฯ ต่อมาจึงพัฒนาหลักศรัทธาเป็นเทพเจ้าสูงสุดสามองค์ที่เรียกว่า ตรีมูรติ คือพระวิษณุ พระศิวะ และพระพรหม รวมทั้งเทพองค์อื่นอีกหลายองค์ ซึ่งบ้างก็มีที่มาจากเทพโบราณประจำท้องถิ่น เช่น พระคเณศ พระการติเกยะ พระกฤษณะ พระราม พระแม่ปารวตี พระแม่สรัสวดีเป็นต้น ผู้นับถือจะสวดสรรเสริญและประกอบพิธีกรรมบูชาเทพองค์นั้น ๆ ตามหลักที่กำหนดไว้ในคัมภีร์พระเวท
  3. เชื่อเรื่องกรรม การเวียนว่ายตายเกิด และโมกษะ โดยเชื่อว่ากรรมดีจะส่งผลดี ให้ไปเกิดยังภพภูมิที่ดี ส่วนกรรมชั่วก็จะส่งผลตรงกันข้าม ทำให้ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนในชาติต่อไป การจะหลุดพ้นจากวงจรดังกล่าว จะต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุโมกษะ เพื่อกลับไปรวมกับตัวตนสูงสุดแห่งสกลจักรวาลที่เรียกว่า ปรมาตมัน ซึ่งเป็นอนันตสภาวะ
  4. เชื่อเรื่องวรรณะ กล่าวคือ มนุษย์จะถูกจำแนกออกเป็นสี่วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร ซึ่งมาจากส่วนต่าง ๆ กันของพระพรหม แต่ละวรรณะมีหน้าที่แตกต่างกัน จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ควรแก่วรรณะของตน และไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน พราหมณ์มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมและสอนพระเวท กษัตริย์มีหน้าที่ปกป้องดินแดน แพศย์มีหน้าที่ผลิตและค้าขายสินค้า ส่วนศูทรมีหน้าที่รับใช้ 

หลักธรรมสำคัญของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู มีโดยสังเขปต่อไปนี้

หลักปรมาตมันและโมกษะ

      คำว่า “ปรมาตมัน” หมายถึงอาตมันหรือตัวตนสูงสุด มีชื่อเรียกอื่นอีก เช่น พรหมัน ปุรุษะ คือพลังธรรมชาติแห่งสกลจักรวาล เป็นปฐมชีพ เป็นจุดกำเนิดแห่งสิ่งทั้งมวล เป็นอมตะ ไม่มีจุดสิ้นสุด และไม่ถูกจำกัดด้วยร่างกาย (ศรีริน)

      “ชีวาตมัน” หมายถึงชีพของคนและสัตว์ที่แตกออกจากปรมาตมัน มีการเวียนว่ายตายเกิด ถูกจำกัดด้วยร่างกาย และเมื่อร่างกายแตกสลาย ชีพนั้นก็เข้าสู่ร่างกายในชาติใหม่ ประดุจบุคคลผู้ผลัดเสื้อผ้าเก่าไปสวมเสื้อผ้าใหม่ ทั้งนี้ หากบุคคลประพฤติดี ก็จะได้กำเนิดที่ดีในชาติต่อไป เช่นไปเกิดในวรรณะพราหมณ์ ในตระกูลสูง และหากบุคคลประพฤติชั่ว ก็จะได้กำเนิดที่ทราม เช่น ไปเกิดในตระกูลต่ำหรือแม้แต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน

      การจะหลุดพ้นวงจรเวียนว่ายตายเกิดนี้ บุคคลพึงปฏิบัติเพื่อให้บรรลุ “โมกษะ” หรือนิรวาณ คือการพ้นจากกรรมที่เป็นเครื่องร้อยรัดอาตมันกับสงสารวัฏ กลับเข้าสู่ปรมาตมัน อยู่ในศานติชั่วนิรันดร์

หลักอาศรม ๔

      คำว่าอาศรมหมายถึงที่อยู่อาศัยหรือที่พักพิง ในที่นี้หมายถึงขั้นตอนของชีวิตในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ ขั้น ดังนี้

  • พรหมจารี ช่วงเวลา ๒๕ ปีแรกของชีวิต ซึ่งจะใช้ในการศึกษาเล่าเรียนวิชาตามวรรณะของตนโดยเฉพาะเด็กชายผู้เกิดในตระกูลพราหมณ์จะได้รับสายยัญชโยปวีต และจะต้องละเว้นการยุ่งเกี่ยวกับเพศตรงข้าม ประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด
  • คฤหัสถ์ ช่วงอายุ ๒๕ ปีจนถึง ๕๐ ปี เป็นช่วงที่จะต้องครองเรือน แต่งงาน มีบุตร และช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพหรือกระทำหน้าที่ตามวรรณะของตน
  • วานปรัสถ์ ช่วงอายุ ๕๐ ปีจนถึง ๗๕ ปี เป็นช่วงสละการครองเรือน ออกไปแสวงหาความสงบในป่า ถือสันโดษ เป็นนักพรตตามแต่ลัทธิที่ตนเองนิยมนับถือ หรือมิฉะนั้นก็ต้องบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม
  • สันยาสี ช่วงอายุ ๗๕ ปีเป็นต้นไป เป็นช่วงละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิต แสวงหาโมกษะคือการหลุดพ้นแต่เพียงสถานเดียว

หลักปุรุษารถะ

      โดยศัพท์มาจาก ปุรุษ + อรรถ หมายถึงประโยชน์ ๔ ประการที่พึงประสงค์ในชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ

  • อรรถ คือการแสวงหาความมั่งคั่งเพื่อให้ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
  • กามคือการแสวงหาความสุขทางโลกตามภาวะผู้ครองเรือน เพื่อการปกครองครอบครัว
  • ธรรมคือคุณธรรมที่เนื่องด้วยการดำรงชีวิตเพื่อความเป็นระเบียบแบบแผนอันดี
  • โมกษะคือการหลุดพ้นจากทุกข์ สู่ความสุขอันเป็นนิรันดร์ โดยกลับเข้ารวมกับปรมาตมัน โมกษะอาจบรรลุได้ด้วยหนทางดังต่อไปนี้
    • ชญาณโยคะจากความรู้แจ้ง คือการบำเพ็ญตบะจนเข้าถึงความรู้ขั้นสูง
    • กรรมโยคะ จากการปฏิบัติ คือกระทำตามหลักคำสอน และบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือผู้อื่น
    • ภักติโยคะจากความภักดี คือความอุทิศกายใจมั่นคงต่อพระเจ้าอย่างปราศจากข้อสงสัย

สำนักปรัชญาต่าง ๆ ฝ่ายฮินดู

      อนึ่ง นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ปรัชญาฝ่ายฮินดู คือฝ่ายที่นับถือพระเวทได้แตกแขนงออกไปเป็นสำนักต่างๆ อีกมากมาย อาจแบ่งเป็นสำนักใหญ่ ๆ ๖ สำนักดังต่อไปนี้

  1. นยายะ เชื่อว่าก่อตั้งโดยมหาฤษีเคาตมะ เป็นปรัชญาสัจนิยมฝ่ายตรรกะ ซึ่งเน้นการใช้ตรรกะในการพิสูจน์หาเหตุผล มีทรรศนะทางอภิปรัชญาคล้ายปรัชญา ไวเศษิกะ มีความเชื่อว่าจุดหมายปลายทางของมนุษย์คือการรู้แจ้งตนและการหลุดพ้นทั้งปวง นั่นคือแยกอาตมันจากรูป เข้าสู่สภาวะแห่งโมกษะ
  2. ไวเศษิกะ เกิดจากฤษีกณาทะ มีความใกล้เคียงกับปรัชญานยายะ คือเป็นปรัชญาสัจนิยมเหมือนกัน แต่เน้นการพัฒนาด้านอภิปรัชญาและภววิทยา ในขณะที่สำนักนยายะเน้นด้านตรรกศาสตร์และญาณวิทยา ปรัชญาสำนักนี้อธิบายความมีอยู่ของสิ่งต่าง ๆ และอาตมันไว้อย่างละเอียด
  3. สางขยะ เชื่อว่าเกิดจากฤษีกบิล เป็นปรัชญาสัจนิยมและทวินิยม โดยมีหลักอภิปรัชญาสำคัญที่ว่าด้วยสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ เพียงสองสิ่งเท่านั้น คือบุรุษ ซึ่งเป็นสภาพอันเที่ยงแท้และไม่มีการเปลี่ยนแปลง กับประกฤติ ซึ่งเป็นสภาพอันแปรเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และสิ่งที่สำนักนี้แสวงหาคือการที่บุรุษหลุดพ้นจะประกฤติดังกล่าวมานี้
  4. โยคะก่อตั้งโดยอาจารย์ปตัญชลี เป็นสำนักที่เน้นการบำเพ็ญเพียรทางจิตเพื่อให้บรรลุถึงสภาพที่บุรุษแยกออกจากประกฤติ ปรัชญาโยคะมีความสัมพันธ์กับปรัชญาสางขยะอย่างใกล้ชิด แต่ปรัชญาโยคะเน้นการปฏิบัติเป็นหลัก ในภควัทคีตาเรียกควบคู่กันว่า “สางขยโยคะ”
  5. มีมางสา เชื่อว่าก่อตั้งโดยท่านไชมินิ เป็นสำนักที่ให้ความเคารพยกย่องพระเวทและเน้นหนักเรื่องพิธีกรรม โดยเชื่อว่าการสวดมนตร์และการประกอบยัชญ์ที่ถูกต้องสมบูรณ์จะพาไปสู่สุคติโลกสวรรค์ อันเป็นดินแดนแห่งบรมสุข และเชื่อถือว่าวิญญาณมีความเที่ยงแท้ถาวร และสวรรค์นรกหรือทวยเทพก็มีอยู่จริง ๆ
  6. เวทานตะเป็นระบบปรัชญาที่สนใจความสัมพันธ์ระหว่างชีวะกับพรหมัน และอธิบายความมีอยู่ของโลกนี้ในฐานะเป็นสิ่งเดียวกับพรหมัน และมีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการแสดงสภาพของพรหมัน ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากปรัชญาสำนักอื่น ๆ ที่มองโลกนี้ว่าเป็นของมีอยู่จริง ๆ พระพรหมสร้างขึ้นจริง ๆ และแยกจากตัวตนของผู้สร้าง สำนักที่มีชื่อเสียงที่สุดในระบบเวทานตะคือสำนักอไทวตเวทานตะที่ก่อตั้งโดยศังกราจารย์
        ปัจจุบันศาสนาพราหมณ์ - ฮินดูนั้น ถือได้ว่าเป็นศาสนา ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศอินเดีย และมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวไทยอย่างใกล้ชิด

หลักอาศรม ๔ ของศาสนาพราหมณ์

อาศรมในศาสนาฮินดูหมายถึงระยะของชีวิต 4 ระยะซึ่งมีระบุไว้ในเอกสารยุคโบราณและยุคกลางของฮินดู อาศรมทั้งสี่ระยะได้แก่ พรหมจรรยะ, คฤหัสถะ, วานปรัสถะ และ สันยาสะ

หลักธรรมเรื่อง "อาศรม 4" มีความสำคัญอย่างไร

หลักอาศรม 4 หมายถึง ขั้นตอนการดำเนินชีวิตของชาวฮินดู เพื่อยกระดับชีวิตให้สูงขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน พรหมจารี ขั้นแรกของชีวิต เป็นวัยที่ต้องศึกษาเล่าเรียน ู คฤหัสถ์ เป็นชีวิตของผู้ครองเรือน วานปรัส เป็นช่วงเวลาที่กระทำประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ คือ การออกบวช สู่ป่าเพื่อฝึกจิตให้บริสุทธิ์

วัยออกบวชเพื่อหาจุดมุ่งหมายในศาสนาพราหมณ์

สันยาสี (โมกษะ) เป็นระยะเวลาของการสละชีวิตคฤหัสถ์ของ ผู้ครองเรือน เพื่อเข้าป่าออกบวช เพื่อจุดหมายสูงสุดของชีวิต คือ โมกษะ โดยจะต้องมีศรัทธา และแก่กล้าถึงกับเสียสละทุก อย่าง ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลา 76-100 ปี

มีหน้าที่ต้องศึกษาเล่าเรียนตรงกับวัยใดในหลักอาศรม 4

หลักอาศรม ๔ ๑) พรหมจรรย์ เป็นวัยศึกษาเล่าเรียน ผู้ชายที่อยู่ในวัยรุ่นจะต้องออกจากบ้านไปอยู่ศึกษา วิชาการจากอาจารย์ คอยปฏิบัติรับใช้อาจารย์พร้อมทั้งเรียนวิชาที่เหมาะกับวรรณะของตน ๒) คฤหัสถ์ เป็นวัยครองเรือนโดยการแต่งงานและตั้งครอบครัว ในขั้นนี้บุคคลต้องประกอบ อาชีพเลี้ยงครอบครัว และสะสมทรัพย์สมบัติไว้ตามความสามารถ