สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีลักษณะอย่างไร

  • ​ไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565
  • อีก 9 ปีถัดไปจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper-Aged Society) ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น
  • 80% ของประชากรสูงอายุ จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีระดับกลางลงล่าง
  • แต่ค่าใช้จ่ายจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งประเด็นปลายเปิดอยู่ที่ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงกับความเจ็บป่วย
  • สุดท้าย เราอาจต้องเตรียมทำงานนานขึ้น...หากออมไม่พอใช้​
  • ไทย...กับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอดในอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น

    นับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2564 เรียกได้ว่า ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ (Aging Society) หรือมีสัดส่วนจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ มากกว่า 7% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยในปี 2564 ประชากรไทยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 12.8% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด มากเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น ​


​​

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีลักษณะอย่างไร

ไปข้างหน้า ไทยถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นแตะ 14% ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 เป็นอย่างเร็ว เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10 ของประชากร 1,000 คน หรือมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี ตามการแต่งงานที่ช้าและความไม่ต้องการมีบุตรที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จำนวนการเกิดก็เริ่มมีอัตราที่ติดลบหรือหดตัวลงแล้ว ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากจำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว ไทยน่าจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเข้าหา 20% โดยใช้เวลาเพียง 9 ปีหลังการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ระยะเวลา 11 ปี

ประชากรสูงอายุส่วนใหญ่...ไม่รวย ขณะที่ ค่าครองชีพเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า 5%

​ท่ามกลางสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์และแบบสุดยอด ประกอบกับภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังโควิด-19 ในกรอบ 2.5-4.0% ต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จำนวนประชากรสูงอายุไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับปานกลางขึ้นบน น่าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 20% ของจำนวนประชากรสูงอายุทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกกว่า 80% อาจมีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับปานกลางลงล่าง ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรืออาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน สาเหตุจากการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกายและความเจ็บป่วยจากโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-Communicable Diseases) เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ ปอดอักเสบ เป็นต้น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในบางคน ก็อาจเจ็บป่วยหลายๆ โรคพร้อมกันด้วย 

​​

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีลักษณะอย่างไร

จากการประเมินมิติด้านจำนวน รายได้และค่าใช้จ่ายข้างต้น ไม่เพียงสะท้อนว่า ในที่สุดแล้วอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ต่อประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) 100 คนของไทย จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยขยับเข้าหาระดับ 30 สำหรับการเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด เทียบกับที่อยู่ที่ระดับใกล้ 20 ในช่วงของการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ และหากเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนที่ยังมีระดับที่ต่ำกว่าไทยอยู่มาก ก็นับว่าเป็นแรงกดดันพอสมควรสำหรับเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย เพราะหมายความว่า ครอบครัวลูกหลานหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุอาจเผชิญความท้าทายด้านกำลังซื้อที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกรณีผู้สูงอายุบางส่วนที่อาจจะไม่มีครอบครัวลูกหลานหรือผู้ดูแล ก็คงจำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการหรืองบประมาณของภาครัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้สามารถดำรงชีพได้ จึงอาจกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอื่นๆ 

ถ้าไม่ทำงานนานขึ้น...ก็ต้องเก็บออมล่วงหน้าให้พอ 

จากทิศทางดังกล่าว เป็นไปได้ว่าหลังจากนี้อายุการทำงานของประชากรไทยอาจมีแนวโน้มที่จะมากกว่า 65 ปี เพราะจำเป็นที่จะต้องมีรายได้มากพอสำหรับการยังชีพหลังเกษียณ ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อวิวัฒนาการและเทคโนโลยีอาจทำให้อายุขัยของคนยาวนานขึ้นกว่าอดีต เพียงแต่ว่า การที่จะหางานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงเมื่อเวลาผ่านไป คงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยเช่นกัน

​หากมองแล้วว่าการหางานในวันเกษียณคงยาก...สิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้คือสะสมเงินออมให้เพียงพอ ซึ่งแต่ละเดือนจะต้องเตรียมมากน้อยแค่ไหนสำหรับแต่ละคนนั้น ก็ขึ้นกับว่าเราอยากใช้ชีวิตสุขสบายเพียงใด โดยขั้นต่ำที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ที่ 350,000 บาทต่อคนต่อปี ทอนมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ประมาณ 29,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งถือว่าไม่มากนักสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง ขณะที่ หากต้องการความมั่นคงและการใช้ชีวิตที่สุขสบายเพิ่มขึ้น อาทิ รองรับค่าใช้จ่ายด้านความเจ็บป่วยโรคร้ายแรง (กรณีที่ไม่ได้มีสวัสดิการอื่นๆ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้) ใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทาง ทานข้าวนอกบ้านได้บ่อยๆ รวมถึงมีการท่องเที่ยวตามที่ต้องการนั้น คงต้องจบลงด้วยการเพิ่มเงินออมล่วงหน้า ขณะที่อย่าลืมว่า...การเก็บสะสมเงินออมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูง (แต่ยังปลอดภัยเงินต้น) ก็ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคลด้วย

Scan QR Code

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มีลักษณะอย่างไร

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น