ต่างชาติเปิดบริษัทในไทยใช้เอกสารอะไรบ้าง

สำหรับชาวต่างชาติที่สนใจเริ่มธุรกิจในประเทศไทย การเข้าใจข้อมูลและกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจดทะเบียนเพื่อเริ่มธุรกิจที่อาจดูซับซ้อนและใช้เวลาค่อนข้างมาก แต่หากมีการเตรียมพร้อมที่ดี และได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การเปิดบริษัทสำหรับชาวต่างชาติก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไป

เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศไทยทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาสนใจลงทุนในไทยเพื่อมองหาตลาดใหม่ๆ ประเทศไทยมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ แรงงานที่มีทักษะสูง ฐานความต้องการของผู้บริโภคที่ค่อนข้างกว้าง และมีนโยบายรัฐที่สนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ ดังนั้นการประกอบธุรกิจในไทยจึงมีทั้งข้อดี และสร้างโอกาสมากมายให้แก่นักลงทุน 

เพื่อช่วยให้ชาวต่างชาติที่สนใจสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายขึ้น เราได้รวบรวมขั้นตอนและข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์เอาไว้ด้านล่างนี้

1. เข้าใจกฎหมายควบคุมธุรกิจต่างชาติ และบริษัทสัญชาติไทย

พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นประมวลกฎหมายหลักที่ควบคุมธุรกิจที่ดำเนินโดยชาวต่างชาติในไทย โดยมีบางประเภทธุรกิจที่ชาวต่างชาติไม่สามารถดำเนินการได้ภายใต้พ.ร.บ.ดังกล่าว

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว:

พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวระบุรายการประเภทธุรกิจที่สงวนไว้ให้แก่บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงของประเทศ และบางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบริการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะช่วยให้ชาวต่างชาติสามารถดำเนินธุรกิจบางประเภทที่โดยปกติแล้วเป็นธุรกิจต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถจดทะเบียนธุรกิจที่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของหุ้นทั้งหมด หรือมากกว่า 49% ได้ ทั้งนี้ กระบวนการยื่นคำร้องและพิจารณาใช้เวลานาน และต้องเตรียมเอกสารค่อนข้างมาก

การส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการการสนับสนุนพิเศษจากทางรัฐบาลคือการยื่นขอบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ หากบริษัทต่างชาติใดมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่บีโอไอระบุไว้ จะสามารถยื่นคำร้องนี้เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษต่างๆ เช่น การมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของบริษัท 100% การยกเว้นภาษีบางประเภท และการสนับสนุนด้านใบอนุญาตการทำงาน รวมถึงวีซ่าสำหรับผู้เข้ามาทำงานในไทย เป็นต้น ทั้งนี้ บีโอไอมีมาตรฐานการคัดเลือกที่ค่อนข้างเข้มงวด และการพิจารณาอาจใช้เวลานาน นอกจากนี้บริษัทที่ได้รับเลือกแล้วจะต้องยื่นส่งรายงานแสดงสถานะการประกอบธุรกิจให้กับบีโอไออย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ได้รับการส่งเสริมต่อไป 

แล้วอะไรคือการประกอบธุรกิจภายใต้บริษัทสัญชาติไทย?

เนื่องจากการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือการขอรับบัตรส่งเสริมจากทางบีโอไอมีความซับซ้อน ทางเลือกที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เลือกที่จะดำเนินการคือการจดทะเบียนธุรกิจภายใต้บริษัทสัญชาติไทย โดยรูปแบบการจดทะเบียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ บริษัทจำกัด ถึงแม้ว่าการดำเนินธุรกิจสัญชาติไทยจะหมายความว่าผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ต้องเป็นคนไทย (สัดส่วนอย่างน้อย 51%) แต่ก็มีข้อดีหลายประการ และมีกระบวนการที่ซับซ้อนน้อยกว่ามาก

นอกจากนี้ บริษัทสัญชาติไทยจะไม่ถูกจำกัดในเรื่องของประเภทธุรกิจที่ห้ามดำเนินการโดยชาวต่างชาติ แม้จะมีชาวต่างชาติถือหุ้นอยู่ในบริษัทด้วยก็ตาม เนื่องจากบริษัทสัญชาติไทยไม่ได้ถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

นอมินีชาวไทย และระเบียบการควบคุม

ชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยมาเป็นระยะเวลาหนึ่งอาจจะคุ้นหูกับคำว่า ผู้ถือหุ้นนอมินีคนไทย กันมาบ้าง แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับคำนี้ การเข้าใจความหมายและมุมมองทางกฎหมายของคำว่านอมินีจะเป็นประโยชน์กับคุณ 

การถือหุ้นสำหรับนอมินี จะเป็นการถือหุ้นแค่ในนามเท่านั้น หมายความว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือความสำคัญใดๆต่อการประกอบธุรกิจของบริษัท หากอ้างอิงจากพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว นอมินีชาวไทยคือบุคคลสัญชาติไทยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบริษัทในฐานะผู้ถือหุ้น เพียงแต่เป็นการถือหุ้นแทนชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของธุรกิจตัวจริงเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาการใช้นอมินีชาวไทยช่วยให้ชาวต่างชาติหลายคนสามารถเป็นเจ้าของบริษัทและประกอบธุรกิจที่จัดตั้งเป็น บริษัทจำกัด สัญชาติไทยโดยมีอำนาจในการบริหารเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดภายใต้กฎหมายไทย

2. เลือกรูปแบบการจัดตั้งบริษัทที่ตรงกับความต้องการของคุณ

การจัดตั้งบริษัทในไทยมีหลายรูปแบบ และก่อนที่ชาวต่างชาติจะเริ่มดำเนินการจดทะเบียนบริษัท จะต้องเลือกรูปแบบการจัดตั้งเสียก่อน ด้านล่างนี้จะอธิบายการจัดตั้งบริษัทในแต่ละรูปแบบ

บริษัทจำกัด

บริษัทจำกัด มี 2 ประเภท ประกอบด้วยบริษัทเอกชนจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งบริษัทเอกชนจำกัดเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ ในการจัดตั้งบริษัทเอกชนจำกัดจะต้องมีผู้ถือหุ้น และผู้ก่อการอย่างน้อย 3 คน โดยภาระรับผิดชอบของผู้ถือหุ้นจะถูกจำกัดตามมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบตามที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น และการจัดตั้งบริษัทในรูปแบบนี้ ชาวต่างชาติจะเป็นเจ้าของหุ้นได้เพียงไม่เกิน 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยหุ้นที่เหลือจะต้องถือโดยบุคคลสัญชาติไทย ซึ่งผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะต้องถือหุ้นอย่างน้อยหนึ่งหุ้น ซึ่งแต่ละหุ้นจะต้องมีมูลค่าเท่านั้น และจะต้องมีการชำระค่าหุ้น 25% ของมูลค่าหุ้นทั้งหมดเป็นอย่างต่ำ 

ความแตกต่างระหว่างบริษัทเอกชนจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัดคือ บริษัทมหาชนจำกัดสามารถขายหุ้นของบริษัทแก่สาธารณะชนได้ผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่การจัดตั้งบริษัทมหาชนมีเงื่อนไขค่อนข้างมาก และมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด

กิจการเจ้าของคนเดียว

ธุรกิจที่จัดตั้งในรูปแบบกิจการเจ้าของคนเดียว จะต้องมีเจ้าของและผู้ประกอบการเพียงบุคคลเดียวเท่านั้น แม้ว่ากระบวนการจัดตั้งในรูปแบบนี้จะไม่ค่อยยุ่งยากมากนัก แต่ภาระผูกพันและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการไม่ได้มีการจำกัดเอาไว้ ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบต่อภาระและหนี้สินที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว หากเลือกจัดตั้งกิจการในรูปแบบนี้ เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นในระดับหนึ่งอาจเป็นเรื่องยากที่บุคคลเพียงคนเดียวจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ทั้งนี้ ไม่ใช่บุคคลทุกสัญชาติที่จะสามารถจัดตั้งกิจการเจ้าของคนเดียวได้ และบางประเภทธุรกิจก็ไม่สามารถดำเนินการภายใต้รูปแบบกิจการนี้ได้

ห้างหุ้นส่วน

ตามกฎหมายประเทศไทย การจัดตั้งกิจการในรูปแบบห้างหุ้นส่วนมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน (ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) และห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งความแตกต่างระหว่างห้างหุ้นส่วนแต่ละประเภทคือขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ

  • ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน คือห้างหุ้นส่วนที่เจ้าของกิจการแต่ละคนจะต้องรับผิดชอบต่อภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการทั้งหมด แม้ว่าการจัดตั้งกิจการในรูปแบบนี้จะไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายเนื่องจากไม่มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่หุ้นส่วนทั้งหมดจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อหนี้สินของห้างหุ้นส่วนที่จัดตั้งขึ้นมา
  • ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน (ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล) ถือเป็นห้างหุ้นส่วนที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ที่เจ้าของกิจการจะต้องจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ภาระผูกพันของนิติบุคคลจะแยกออกจากเจ้าของกิจการ และนิติบุคคลนั้นจะมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบเฉกเช่นเดียวกับบริษัทที่จดทะเบียน
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด ถือเป็นนิติบุคคล และจะต้องมีการจดทะเบียนกับหน่วยงานที่มีอำนาจ โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหุ้นส่วน 2 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีภาระความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน
    • หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด คือ หุ้นส่วนหนึ่งคนหรือมากกว่ามีภาระผูกพันที่จำกัดไว้ตามจำนวนที่ได้ลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น  หุ้นส่วนประเภทนี้ไม่มีสิทธิในการแทรกแซงการบริหารกิจการของห้างหุ้นส่วน
    • หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด คือ หุ้นส่วนหนึ่งคนหรือมากกว่ามีภาระผูกพันที่ไม่จำกัดตามจำนวนที่ลงทุน และจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อหนี้สินของห้างหุ้นส่วน หุ้นส่วนประเภทนี้จะมีอำนาจในการบริหารกิจการ

เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงมีหน้าที่ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเช่นเดียวกับบริษัทจำกัด แต่จะไม่ได้รับประโยชน์อื่นๆเหมือนกับบริษัทจำกัด ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติจึงไม่นิยมจัดตั้งกิจการในรูปแบบห้างหุ้นส่วนเท่าไรนัก 

สำนักงานผู้แทน

สำนักงานผู้แทนถือเป็นบริษัทต่างชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแก่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ หรือบริษัทในเครือเดียวกันในประเทศอื่นๆ การจัดตั้งประเภทนี้ไม่ได้แพร่หลายในหมู่นักลงทุนต่างชาติมากเท่าไหร่ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการดำเนินกิจการหลายอย่างที่สำนักงานผู้แทนไม่สามารถทำได้ โดยจุดประสงค์หลักของสำนักงานผู้แทนคือการแสวงหาและวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดให้กับบริษัทแม่ และไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจทางการค้าใดๆ

สำนักงานสาขา

สำนักงานสาขาถือเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งสิ่งที่ทำให้สำนักงานสาขาต่างจากสำนักงานผู้แทนคือ สำนักงานสาขาสามารถดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ เช่น การซื้อมาขายไป และการให้บริการอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าการบริหารและดำเนินงานของสำนักงานสาขาจะขึ้นอยู่กับสำนักงานใหญ่ และสำนักงานใหญ่จะต้องร่วมรับผิดชอบต่อหนี้สินต่างๆที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของสำนักงานสาขาด้วย

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาขาต้องได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างถูกต้องภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ดังนั้น หากสำนักงานสาขาต้องการดำเนินธุรกิจที่อยู่ในรายการธุรกิจต้องห้ามสำหรับชาวต่างชาติ สำนักงานสาขานั้นจะต้องยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วย

3. จดทะเบียนธุรกิจ

เมื่อชาวต่างชาติตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกจัดตั้งกิจการในรูปแบบใด ขั้นตอนต่อไปคือการจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในกรณีของกิจการเจ้าของคนเดียว หรือห้างหุ้นส่วนประเภทต่างๆนั้น มีกระบวนการจัดตั้งที่ไม่ซับซ้อนเท่าไหร่ เมื่อเทียบการจดทะเบียนบริษัทเอกชนจำกัด ซึ่งชาวต่างชาติอาจต้องการความช่วยเหลือและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

ด้านล่างนี้เป็นขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทจำกัด ที่ชาวต่างชาติควรศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจดทะเบียน

i.) การจองชื่อนิติบุคคล

การจองชื่อนิติบุคคลสามารถทำได้ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือยื่นแบบฟอร์มจองชื่อด้วยตนเองที่สำนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ผู้เริ่มก่อการบริษัทสามารถจองชื่อได้มากที่สุด 3 ชื่อ ซึ่งจะต้องเป็นชื่อที่ไม่เหมือนกับบริษัทอื่นๆ จากนั้นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการเลือกชื่อที่เหมาะสมที่สุดตามกฎระเบียบเพื่ออนุมัติ โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-3 วันทำการ และชื่อที่ได้รับอนุมัติจะสามารถนำไปยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับอนุมัติ

ii.) การจัดเตรียมเอกสาร และจัดให้มีการชำระค่าหุ้น

เอกสาร และข้อมูลสำคัญที่ต้องเตรียมมีดังนี้:

  • หนังสือบริคณห์สนธิ ประกอบด้วย
    • ชื่อบริษัทที่ได้รับอนุมัติ 
    • สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่
    • วัตถุประสงค์ของบริษัท
    • ทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้น
    • ชื่อ ที่อยู่ อายุ อาชีพ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นทั้ง 3 คน 
    • ชื่อ ที่อยู่ และอายุของพยานทั้ง 2 คน 
  • ข้อบังคับบริษัท
  • แบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนบริษัทที่เซ็นโดยกรรมการผู้มีอำนาจ
  • รายชื่อผู้ถือหุ้น และใบหุ้นที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหมด
  • สำเนารายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท
  • แผนที่ของสำนักงานใหญ่
  • สำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการและผู้ก่อการทุกคน 

ก่อนการยื่นขอจดทะเบียนบริษัท จะต้องมีการเรียกชำระค่าหุ้นอย่างน้อย 25% ของทุนจดทะเบียน และในกรณีที่บริษัทต้องการขอใบอนุญาตทำงานให้กับพนักงานต่างชาติในอนาคต จะต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 2 ล้านบาทต่อพนักงานต่างชาติหนึ่งคน

4. จดทะเบียนภาษี และใบอนุญาตอื่นๆ

เมื่อชาวต่างชาติได้จัดตั้งบริษัทสำเร็จแล้ว ยังคงมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่ควรพิจารณาก่อนเริ่มดำเนินกิจการ ในฐานะนิติบุคคล บริษัทจะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งบริษัทสามารถใช้เลขทะเบียนนิติบุคคลที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทได้ แต่ในกรณีของภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น บริษัทจำเป็นจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น 

ในส่วนของใบอนุญาตอื่นๆที่อาจต้องใช้ จะขึ้นอยู่กับประเภทกิจการของบริษัท เช่น หากกิจการของบริษัทมีการนำเข้าสินค้าเพื่อมาจำหน่ายในประเทศไทย บริษัทนั้นจะต้องยื่นขอใบอนุญาตนำเข้า/ส่งออกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติที่กำลังพิจารณาเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทย มีรายละเอียดมากมายที่จะต้องทำความเข้าใจ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ภูมิทัศน์ทางธุรกิจ และเงื่อนไขด้านกฎหมายต่างๆ ดังนั้น การได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน จะทำให้การจัดตั้งบริษัทของชาวต่างชาติในไทยไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป กรุณาติดต่อเราเพิ่มสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Category: กฎหมายธุรกิจ

ต่างชาติเปิดบริษัทในไทยใช้เอกสารอะไรบ้าง

About the Author (Author Profile)

สยาม ลีเกิ้ล เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยทนายความผู้มีประสบการณ์ทั้งกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานในประเทศไทยนี้ให้บริการทางกฎหมายอย่างครอบคลุมต่อลูกความท้องถิ่นและต่างประเทศสำหรับคดีความ เช่น คดีแพ่งและอาญา ข้อพิพาททางแรงงาน คดีทางการค้า การหย่า การรับเป็นบุตร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ฉ้อโกง และคดีเกี่ยวกับยาเสพย์ติด ความเชี่ยวชาญอีกด้านหนึ่งของสำนักงานคือ บริการเกี่ยวกับกฎหมายบริษัท เช่น การจดทะเบียนบริษัท และการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย กฎหมายครอบครัว ทรัพย์สิน และการสืบสวนส่วนบุคคล

ต่างชาติเปิดบริษัทในไทยได้ไหม

กรณีผู้ประกอบการชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะประเภทบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือประเภทนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ต้องการประกอบการในไทย นั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อ ได้รับอนุญาตประกอบการในไทย หรือได้รับยกเว้นให้ประกอบการได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต จากกองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ต่างด้าวเปิดบริษัทได้ไหม

สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเปิดบริษัทในไทยนั้น สามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% แต่หากชาวต่างชาติต้องการเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทในการลงนามเอกสารต่างๆ ต้องแสดงบัญชีเงินฝาก เป็นจำนวนเงินที่สมดุลกับจำนวนเงินลงทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว แต่หากไม่ต้องการจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม ก็ไม่ต้องแสดงบัญชีเงินฝากใดๆ เพียงเท่า ...

จดทะเบียนบริษัทต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจํากัด 1. คําขอจดทะเบียนบริษัทจํากด ั(แบบ บอจ.1) 2. แบบคํารับรองการจดทะเบียนบริษัทจํากดั 3. รายการจดทะเบียนจัดตัง ้(แบบ บอจ.3) 4. รายละเอียดกรรมการ (แบบ ก.) 5. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) 6. สําเนาหนังสือนัดประชุมตังบริษัท ้ 7. สําเนารายงานการประชุมตังบริษัท

ต่างด้าวจดทะเบียนพาณิชย์ได้ไหม

ผู้ประกอบการเป็นชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้แต่ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และ/หรือ หนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ เบอร์โทร 02 5474425-6.