เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

วิศวกรไฟฟ้าจะแบ่งออกเป็น 3 สาย สายแรกจะเป็นวิศวกรไฟฟ้ากำลังจะดูแลเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าว่าจะผลิตอย่างไร ส่งจ่ายมายังผู้ใช้งานทั่วไปด้วยวิธีไหน สายที่สองคือวิศวกรไฟฟ้าควบคุมจะเป็นวิศวกรที่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้งานเครื่องจักร การควบคุมมอเตอร์ การโปรแกรม และสายสุดท้าย คือ วิศวกรไฟฟ้าสื่อสาร จะเป็นวิศวกรที่มีความรู้เกี่ยวกับการส่งสัญญาณ

เป้าหมายของวิศวกรไฟฟ้ากำลังก็คือ การทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัยและมีเสถียรภาพ (ไม่ดับบ่อย) โดยเราจะดูแลว่าจะผลิตไฟฟ้าอย่างไร จะขนส่งไฟฟ้าอย่างไรต้องปรับแรงดันให้สูงขนาดไหน ฯลฯ

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

เนื่องจากไฟฟ้าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ ดังนั้น การทำงานกับไฟฟ้าขั้นตอนแรกจึงต้องเป็นการตรวจสอบว่าเราดับไฟแล้วหรือยัง ถ้าเป็นเสาไฟฟ้าใหญ่ๆ เขาจะมีสวิตช์ที่เรียกว่า สวิตช์ใบมีด (drop out fuse) เมื่อเราตัดกระแสไฟแล้วเราจึงจะขึ้นไปทำงานกับมันได้ และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วเราก็สับสวิต์เพื่อจ่ายไฟคืน

ส่วนถ้าเป็นการตรวจสอบการทำงาน เราจะต้องตรวจสอบในตอนใช้งานปกติ โดยใช้อุปกรณ์ เช่น Themoscan ที่เหมือนกล้องส่องความร้อนใช้เพื่อดูว่ามีจุดไหนที่ร้อนผิดปกติบ้าง

ส่วนที่ท้าทายที่สุดของอาชีพนี้ ก็คือ การทำงานแข่งกับเวลา เพราะเวลาที่เราเข้าไปซ่อมบำรุงในบริเวณนั้นจะต้องดับไฟ ซึ่งคนทั่วไปก็ต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงาน ขายของ ฯลฯ พอเราต้องดับไฟเพื่อซ่อมบำรุงเขาก็จะรู้สึกสูญเสีย ดังนั้นเราเลยต้องทำงานแข่งกับเวลา

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

วิศวกรจะรู้ว่าทำอย่างไรให้ถูกต้องและปลอดภัย แต่เราไม่สามารถทำเองได้ทั้งหมด เราจะมีช่างไฟฟ้าที่เป็นผู้ที่ทำงานได้รวดเร็วและเรียบร้อย โดยก่อนจะเริ่มงานจะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างหัวหน้างาน ก็คือวิศวกรกับช่างที่อยู่ในการควบคุมของเรา

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

วิศวกรไฟฟ้ามีทั้งที่ทำงานในหน่วยงานรัฐและในโรงงานเอกชน โดยในภาครัฐก็จะมี 3 หน่วยงานใหญ่ๆ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง

แต่ถ้าในโรงงานเอกชน ก็จะมีโรงงานทั่วไป ที่เข้าต้องใช้เครื่องจักรใช้ไฟฟ้าในการผลิตสินค้า เขาก็จะมีวิศวกรไฟฟ้าประจำอยู่ตามโรงงานเพื่อทำหน้าที่ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงงาน

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

การทำงานเกินเวลาเป็นเรื่องปกติเลยของวิศวกรไฟฟ้า บางครั้งเราทำงานมาทั้งวันแต่ผลลัพธ์คือเราจ่ายไฟคืนให้โรงงานไม่ได้ ตรงนี้ถ้าเรารอให้ถึงวันรุ่งขึ้น โรงงานต้องเสียรายได้ไปหลายแสน หลายล้าน เราต้องแก้ปัญหา ทำให้ไปกลับคืนมาเร็วที่สุด ทางโรงงานหรือลูกค้าไม่ยอมแน่ถ้าเราทิ้งงานหลังหมดเวลางาน ถ้าวันรุ่งขึ้นแก้ไม่ได้อีกจะทำยังไง เขาจะต้องเสียรายได้เยอะมาก

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

บุคลิกของคนที่น่าจะเหมาะกับอาชีพนี้ คือ ต้องลุย ต้องอดทน ลุยก็คือกล้าไปในนิคมอุตสาหกรรม ต้องเจอหน้างานหลายๆรูปแบบ ถ้าโรงงานสะอาดก็โชคดีหน่อย หน้างานสกปรกก็ต้องลุย จะมาคอยรักสวยรักงามไม่ได้ อดทนคือต้องทำงานภายใต้ความกดดันได้ ทั้งจากทางลูกค้าและหัวหน้าเราเองในบริษัท อีกอย่างที่ต้องมีคือความละเอียดรอบคอบ ต้องคอยคิดว่าทุกขั้นตอนในการทำงานสามารถทำให้ผู้ประกอบงานได้รับบาดเจ็บได้หรือไม่ ตรงนี้สำคัญมาก

ความรู้ที่จำเป็นต้องใช้หากเทียบกับวิชาที่เรียนในม.ปลาย วิชาชีววิทยาจะไม่ได้ใช้ ส่วนเคมีมีอยู่บ้าง แต่ที่ใช้หลักๆ คือฟิสิกส์ โดยจะเป็นแขนงฟิสิกส์เรื่องไฟฟ้า และคณิตศาสตร์ที่นำมาใช้

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

อย่างแรกก็ให้เงินแน่นอน สองคือให้ความภูมิใจ มันไม่ใช่ทุกคนนะที่จะเป็นวิศวกรไฟฟ้าได้ ต้องเรียน ต้องทำงานอย่างอดทน เพราะถึงเรียนจบมาเข้าไปทำงานแล้วรู้ว่ามันไม่ใช่ผันตัวไปทำอาชีพอื่นก็มี มีไม่กี่คนที่เรียนมาแล้วทำงานไปจนถึงบั้นปลายชีวิต 

อีกอย่างคือแนวทางการใช้ชีวิต เราเอาสิ่งที่ทำงานเกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่เสี่ยง รู้ว่าอะไรที่สามารถทำให้เราเกิดอุบัติเหตุอันตรายได้ อย่างการเปลี่ยนหลอดไฟอาจจะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่การขึ้นที่สูงก็ต้องใช้บันได บันไดที่เองมาใช้เราต้องดูสภาพสมบูรณ์ ถ้าขึ้นไปแล้วบันไดสภาพไม่สมบูรณ์เราก็สามารถตกลงมาบาดเจ็บได้ การขึ้นไปถ้าเราไม่สวมแว่นตา เราก็อาจจะโดนฝุ่นเข้าตา ถ้าเป็นฝุ่นปกติก็โชคดีไป แต่ถ้าฝุ่นที่เป็นอันตรายก็ต้องเข้าโรงพยาบาล มันสอนเรื่องการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยด้วย

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

ถ้าเป็นการเติบโตในแนวดิ่งก็จะมุ่งไปที่การไฟฟ้า งานที่การไฟฟ้าก็จะมั่นคง เงินเดือนในปีแรกๆ อาจจะไม่สูงมาก แต่มันเป็นการเพิ่มขึ้นที่คงที่ กว่าจะเกษียณก็ได้หมื่นปลายๆ เกือบแสนแน่นอน 

ถ้าไม่ทำงานที่การไฟฟ้า ทำงานที่โรงงานจะได้ผลตอบแทนดีกว่า แต่คนจ้างก็จะไม่ใช่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าของโรงงานอาจจะเป็นคนญี่ปุ่น อเมริกัน น้อยโรงงานจะมีเจ้าของเป็นคนไทย เวลาเขาจ้างจะเป็นสัญญา อาจจะได้ผลตอบแทนเยอะจริง แต่มาเป็นแบบกี่ปีก็ว่าไป พอหมดสัญญาก็ต้องหางานใหม่ ข้อเสียคือเวลาอายุเริ่มเยอะ เราไปหางานใหม่ เราก็ต้องเรียกค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แต่บางทีทางโรงงานให้เราไม่ได้ เขาสู้จ้างวิศวกรจบใหม่ดีกว่า 

อีกประเภทคือออกมาทำงานของตัวเอง เปิดบริษัทของตัวเอง แต่ข้อเสียของมันก็คือเราต้องหางานเอง ไม่มีใครมาหางานให้เรา เราต้องไปติดต่อลูกค้าเอง เป็น High Risk, High Return อยู่ที่เราต้องการแบบไหน ถ้าชอบความเสี่ยง ความท้าทาย ก็เปิดบริษัทเอง ชอบทำงานมั่นคงก็เลือกเข้าการไฟฟ้า ถ้าอยากมีเงินเดือนสูงแต่ไม่ต้องมากนักก็เข้าโรงงานอุตสาหกรรม

เรียนวิศวะไฟฟ้าต้องเจออะไรบ้าง

ต้องเรียนวิศวกรรมไฟฟ้ามาถึงจะทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าได้ แต่จบวิศวกรรมไฟฟ้ามา ไม่จำเป็นต้องทำเกี่ยวกับวิศวกรรมไฟฟ้า อาจจะไปทำงานบริหารก็ได้ เราอาจจะไม่ได้ลงไปหน้างานเอง แต่มาบริหารลูกน้อง หรือทีมงานให้ลงไปอยู่หน้างาน อาชีพอื่นๆเราก็ไปทำได้ 

หรือหากเราสนใจเวลาเราไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้า ก็พยายามอ่านพวกคู่มือซักนิด เพราะในคู่มือจะบอกหลายอย่างเกี่ยวกับไฟฟ้า เวลาพี่เรียนมาแล้วไปทำงาน ก็ไม่รู้หรอกว่าอุปกรณ์อะไรใช้งานยังไง เพราะมันค่อนข้างจะต่างกัน แต่ถ้าอยากหาความรู้เพิ่มเติมที่ไม่ได้มาจากวิชาเรียน ลองอ่านพวกคู่มือ และสเป็กการใช้งานของมัน ซึ่งตรงนั้นจะเป็นพื้นฐาน เป็นความรู้เพิ่มเติมได้

แหล่งความรู้อื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าสนใจแขนงไหน ถ้าเป็นไฟฟ้ากำลัง ที่เป็นแหล่งเลยก็จะเป็นการไฟฟ้าทั้งสามองค์กร เขาจะมีเอกสารต่างๆที่เป็นมาตรฐาน เพราะส่วนใหญ่ต้องทำงานเกี่ยวกับมาตรฐานอยู่แล้ว อีกที่นึงก็จะเป็น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เขาก็จะมีข้อมูลมาตรฐานต่างๆเกี่ยวกับไฟฟ้า อันนี้จะมีมาตรฐานของประเทศไทยก็คือ มอก. และของต่างประเทศด้วย ถ้าสำหรับนักศึกษา สามารถหาอ่านได้ตามร้านหนังสือทั่วไปเลย ถ้าเข้าไปที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือวิศวกรรมสถาน จะเป็นเนื้อหาที่ต้องมีพื้นฐานมาก่อนถึงจะเข้าใจ ถ้าเป็นนักศึกษาหาจากหนังสือตามร้านหนังสือก็น่าจะพอ

*ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ พี่ต้นแบบอาชีพ ในกิจกรรม “ฟักฝันเฟส 2017” ปี พ.ศ. 2560