ปัญหาที่เด็กและเยาวชนประพฤติตนไม่เหมาะสมเกิดจากปัญหาอะไรบ้าง

ความเห็นและข้อเสนอแนะ
เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขพฤติกรรมเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
กรณีศึกษานักเรียนอาชีวศึกษา
1. ความเป็นมา
เด็กและเยาวชนถือได้ว่าเป็นอนาคตที่สำคัญของชาติ เพราะจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า แต่ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปัญหาเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก อาทิเช่น การทะเลาะวิวาท การมั่วสุมทางเพศ ติดยาเสพติด อาชญากรรม เป็นต้น จนถึงขนาดที่มีการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว เพื่อบำบัดฟื้นฟูเยาวชนที่กระทำความผิด แต่ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ นอกจากบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้เท่านั้น ซึ่งขณะนี้ปรากฎว่ายังมีปัญหาการทะเลาะวิวาทอยู่เป็นประจำส่งผลเสียหายต่อชีวิต ครอบครัว และทรัพย์สิน การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเด็กและเยาวชนที่ต้นเหตุจะต้องป้องกันและแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างในภาพรวมทั้งระบบ โดยไม่แยกการแก้ไขในส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ จะทำให้การป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิดยากที่จะประสบความสำเร็จได้
สำหรับการแก้ไขพฤติกรรมเยาวชนที่เสียงต่อการกระทำความผิดนั้น พบว่ากรณีนักเรียนอาชีวศึกษาประสบกับปัญหามากมาย เนื่องจากนักเรียนอาชีวศึกษายังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ขาดการยั้งคิด อารมณ์ร้อน และมักจะตัดสินการกระทำด้วยความรุนแรง ดังที่เห็นได้จากการที่นักเรียนอาชีวศึกษายกพวกทำร้ายกันระหว่างโรงเรียน ซึ่งเป็นรายงานข่าวจากสื่อมวลชนมาโดยตลอด และนับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างก็พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงได้จัดทำการศึกษาและจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “แนวทางการแก้ไขพฤติกรรมเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด กรณีนักเรียนอาชีวศึกษา” เพื่อให้สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้ใช้เป็นแนวทางแก้ไขพฤติกรรมเยาวชน โดยเฉพาะนักเรียนอาชีวศึกษาที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปปรับปรุง แก้ไข และบูรณาการให้นักเรียนอาชีวศึกษาเติบโตเป็นอนาคตที่ดีของชาติต่อไป
2. การดำเนินการของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
คณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการศึกษาดังนี้คือ
ศึกษาข้อมูล กฎหมาย ระเบียบ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมที่เกิดจากนักเรียนอาชีวศึกษา และจัดสัมมนา โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานของภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน อาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันรับฟังปัญหาและหาทางแก้ไข โดยนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาข้อมูล และความคิดเห็นที่ได้จากการสัมมนา มาประมวลและสังเคราะห์ แล้วจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “แนวทางการแก้ไขพฤติกรรมเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด กรณีนักเรียนอาชีวศึกษา” ฉบับนี้ขึ้นเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
3. สาเหตุและปัญหาที่นักเรียนอาชีวศึกษามีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
พฤติกรรมของเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด โดยเฉพาะนักเรียนอาชีวศึกษา นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น สามารถสรุปปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญดังนี้
1. สภาพครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้มีสภาวะวิกฤตของครอบครัวที่กระทบต่อความเป็นปกติสุขของสมาชิกในครอบครัว การทำหน้าที่ของครอบครัวในการจัดการกับปัญหา ครอบครัวไม่สามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ขาดการดูแลให้ความรัก และเอาใจใส่ รวมถึงการปล่อยปละละเลยจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ทำให้เด็กและเยาวชนมีปัญหา
2. สภาพทางสังคมซึ่งมีแหล่งอบายมุขอยู่มากมาย ไม่เข้มงวดกวดขันสถานบริการ ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษาเกิดการมั่วสุม นำไปสู่พฤติกรรมที่เป็นปัญหา
3. ความผูกพันระหว่างนักเรียนกับอาจารย์ในสถาบันการศึกษามีน้อยมาก ทำให้ขาดการอบรมสั่งสอน ตลอดจนรุ่นพี่ของนักเรียนอาชีวศึกษามีส่วนสำคัญในการยั่วยุให้เกิดปัญหา ทำให้นักเรียนที่หลงผิดเกิดความฮึกเหิม และกระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง
4. นักเรียนอาชีวศึกษาขาดการเรียนรู้ ซึ่งประกอบด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเองและการเรียนรู้จากสื่อ โดยเฉพาะที่สำคัญขาด ความยั้งคิดหรือความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ ในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การแสดงออกทางสังคมที่ต้องการให้สังคมให้ความสนใจ
5. การขาดทักษะทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่สามารถเลือกคบเพื่อนที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรม ที่ดี เช่น มีค่านิยมทำตามรุ่นพี่ ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษาถูกชักจูงให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้
6. ผู้ใหญ่ที่แวดล้อมไม่ได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิดอย่างจริงจัง
7. นักเรียนอาชีวศึกษาถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ด้อยค่าทางสังคม ทำให้มีความรู้สึกกดดัน จนนำไปสู่พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
8. การบรรจุหลักสูตรศีลธรรมและจริยธรรมในสถานศึกษามีน้อยเกินไป ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษาอาจมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
9. สภาพทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดวิกฤติทางสังคม อาจเกินวิสัยของพ่อแม่ ผู้ปกครองจะอบรมให้เด็กและเยาวชนอยู่ในโอวาทได้
10. คุณภาพของครูที่มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเสี่ยงต่อการกระทำความผิด เช่น การขาดทักษะการเรียนการสอนที่จะสื่อให้นักเรียนอาชีวศึกษามีคุณธรรม จริยธรรม และการขาดทัศนคติที่ดีที่ถูกต้องของครู อาจารย์ ในการดำเนินชีวิต ทำให้นักเรียนอาชีวศึกษาเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบ
11. อิทธิพลของสื่อมวลชน ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่นำเสนอต่อประชาชน ทำให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมความรุนแรงที่เกินขอบเขต
ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ “แนวทางแก้ไขพฤติกรรมเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด กรณีนักเรียนอาชีวศึกษา”
ปัญหาของเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษา ที่นับวันจะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลเสียต่อครอบครัว ชีวิต ทรัพย์สิน และประเทศชาติ คณะทำงานสาธารณสุขและการพัฒนาคุณภาพชีวิต สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญในปัญหาดังกล่าว จึงจัดทำเป็นข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขพฤติกรรมเยาวชนที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด กรณีนักเรียนอาชีวศึกษา โดยได้เสนอแนะแนวทางแก้ไข ที่สำคัญแบ่งได้เป็น 2 ประการคือ การป้องกันและการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางสังคมทั้งระบบให้มีลักษณะบูรณาการ และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้ง ๒ ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน และระยะต่อไป สรุปได้ดังนี้
ก. การป้องกันและแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางสังคมทั้งระบบให้มีลักษณะบูรณาการ
1. ครอบครัว ครอบครัวเป็นหน่วยสังคมแรกที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกระทำความผิดของนักเรียนอาชีวศึกษา ครอบครัวต้องให้ความรักและความเอาใจใส่ต่อนักเรียนอาชีวศึกษา โดยภาครัฐต้องให้ความรู้และฝึกอบรมพ่อแม่หรือให้ความช่วยเหลืออื่นๆ จัดสถานที่หรือกิจกรรมสำหรับครอบครัว เช่น สวนหย่อม ป่าชุมชน ค่ายครอบครัว วนอุทยาน พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์ ลานดนตรี ลานคนเมือง เป็นต้น พัฒนาและจัดหาสื่อหรือสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ส่งเสริมความเข้าใจในครอบครัว ให้ความรู้ตามอัธยาศัยแก่เด็กและครอบครัว ส่งเสริมสนับสนุนให้การศึกษาแก่พ่อ แม่ ผู้ปกครองไม่ให้มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการเลี้ยงดูบุตร โดยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมีทักษะการเลี้ยงดูลูกและอบรมสั่งสอนลูกด้วยความรักและเข้าใจ ไม่ปล่อยปละละเลยเด็ก หรือไม่อบรมสั่งสอนลูก เพื่อให้ครอบครัวมีความสมบูรณ์สุข และป้องกันปัญหาครอบครัวแตกแยก
2. สถานศึกษา สถานศึกษาเปรียบเสมือนเป็นพ่อแม่คนที่สองของเด็กและเยาวชน รัฐควรให้ความเอาใจใส่แก่สถานศึกษา ด้วยการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ ให้นักเรียนอาชีวศึกษามีความรู้คู่คุณธรรม โดยเน้นด้านวิชาการและการปฏิบัติไปพร้อมกัน เพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เป็นการนำความรู้ที่ได้รับจากการศึกษานำไปพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ในการจัดระบบงานดังนี้
2.1 การจัดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับเด็ก
จากสภาพปัญหาที่ไม่เพียงแต่มีการยกพวกทำร้ายกันระหว่างเด็กต่างโรงเรียนเท่านั้น ในแต่ละโรงเรียนเองยังมีเด็ก ก่อการทะเลาะวิวาท การข่มขู่ การข่มเหงรังแกกัน เช่น เด็กนักเรียนใหม่ถูกเด็กนักเรียนเก่ารังแก หรือเด็กที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นๆมักจะถูกล้อเลียนถูกข่มเหงรังแก หากพิจารณาสาเหตุที่ทำให้เด็กทะเลาะกันข่มเหงรังแกกัน เป็นเพราะเด็กขาดทักษะในการจัดการปัญหาและขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเอง ดังนั้นโรงเรียนควรมีกิจกรรม ที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะการสร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ การเข้าใจกัน ความสามัคคี เช่นกิจกรรมพี่ช่วยน้องในช่วงเปิดเทอม การมีเพื่อนคู่หู ( Buddy ) โดยจับคู่เด็กที่มีความแตกต่างกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้เด็กเรียนเก่งคู่กับเด็กเรียนไม่เก่ง เด็กแข็งแรงคู่กับเด็กอ่อนแอ กิจกรรมค่ายลูกเสือ กีฬาสี ในปัจจุบันงานกีฬาสีกลายเป็นเรื่องแพ้ชนะ การใช้ความรุนแรงต่อกันมากกว่าสามัคคีช่วยเหลือกัน ชุมนุมต่างๆ การฝึกทักษะให้เด็กรู้จักจัดการปัญหาและควบคุมอารมณ์ตนเอง
2.2 การจัดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับเด็กนักเรียน
กิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ควรเสริมสร้างการสื่อสารแบบ 2 ทาง ระหว่างครูกับเด็ก และครูควรมีทักษะในการประเมินสภาวะเด็ก ประเมินความต้องการของเด็ก อีกทั้งควรมีความรู้และทักษะในการแทรกแซงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็ก ทักษะในการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งนี้เมื่อครูทราบสภาพปัญหา สาเหตุของปัญหาแล้วครูสามารถเข้าไปแทรกแซงจัดการปัญหาและให้บริการแก่เด็กได้ ตรงตามความต้องการจำเป็นของเด็ก
2.3 การจัดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ปกครองและครู
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและครูเป็นสิ่งที่สำคัญ ในการช่วยกันดูแลและคุ้มครองเด็ก แต่ปัจจุบันพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะโยนบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเด็ก ให้เป็นบทบาทของโรงเรียน ส่วนโรงเรียนเห็นว่าเป็นบทบาทของผู้ปกครอง
แนวทางในการสร้างความสัมพันธ์ เช่น จัดพบปะผู้ปกครองเทอมละ 1 ครั้ง (พบเป็นการส่วนตัว) โดยนำเอาปัญหาของเด็กมาคุยกันและร่วมกันหาทางออก ร่วมกับผู้ปกครองในการกำหนดกฎเกณฑ์ความปลอดภัยสำหรับเด็กทั้งที่บ้านและโรงเรียน จัดเวทีแลกเปลี่ยนหรือจัดกิจกรรมที่เน้นการสื่อสารระหว่างกัน จัดอบรมผู้ปกครองให้มีความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องทักษะการเลี้ยงดูและพัฒนาการของเด็ก
3. หน่วยงานภาครัฐ ถึงแม้ว่าจะมีการปฏิรูประบบราชการแล้วก็ตาม แต่การทำงานของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเด็ก และเยาวชน ยังขาดการประสานงานและเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่อง เช่น หน่วยงานรัฐบางแห่งที่ดูแลเรื่องปัญหายาเสพติด ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ทำให้ไม่มีการวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ ขาดแนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหา กล่าวคือหน่วยงานภาครัฐควรกำหนดตำแหน่งและลักษณะงาน สนับสนุนให้บุคลากรมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนได้ เช่น การมีหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในระดับกรม ในการดำเนินงานพัฒนา(โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคม) คุ้มครอง แก้ไขปัญหา และบำบัดฟื้นฟู เด็กและเยาวชน ให้บริการอย่างครบวงจรแก่เด็ก เยาวชนและครอบครัว
4. สังคม โดยทั่วไปสังคมมักจะมีทัศนคติว่า เด็กและเยาวชนที่มีปัญหาจะต้องได้รับการลงโทษ เช่น ส่งเข้าสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ทำให้เด็กและเยาวชนมีปัญหาความกดดัน และอาจก่อให้เกิดปัญหาได้อย่างไม่จบสิ้น ดังนั้น สังคมจึงควรเข้าใจเด็ก โดยเฉพาะสื่อมวลชนต้องเป็นสื่อกลางในการเสนอข่าว เพื่อให้คนในสังคมมีความรู้สึกที่ดีในตัวเด็กและไม่ควรนำเสนอข่าวที่เน้นความรุนแรงจนทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ และควรเพิ่มสถานที่ออกกำลังกายหรือสวนสาธารณะ กีฬา สันทนาการและกิจกรรมต่างๆทางสังคมเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาตนเอง สามารถใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญสังคมไม่ควรมองเด็กและเยาวชนเหล่านี้ว่ามีปัญหา แต่สังคมควรตระหนักว่าเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาพฤติกรรม มาจากสาเหตุที่สังคมแวดล้อมของเด็กและเยาวชนเหล่านี้ เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเช่นที่ว่านี้ จึงควรแก้ไขที่ต้นเหตุที่แท้จริงของปัญหา
ข. การป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน และระยะต่อไป
1. การป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน
1.1 ครอบครัว
1) ควรส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง โดยบิดามารดาควรเข้าใจสภาพวัยรุ่น และเป็นที่ปรึกษาเมื่อมีปัญหา สอดส่องดูแลความประพฤติอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนเสี่ยงต่อการกระทำความผิด และให้เด็กและเยาวชนรู้จักการใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ช่วยลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การทะเลาะวิวาท เป็นต้น
2 ) ควรมีจัดพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ระหว่างครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักเรียน เพื่อให้ทราบข้อมูลที่แท้จริง เพื่อหาทางแก้ไขไม่ให้มีการทะเลาะวิวาท หรือมีพฤติกรรมอื่นที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
3) เมื่อมีปัญหาที่นักเรียนเกิดการทะเลาะวิวาท ครอบครัว โดยเฉพาะ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรร่วมมือในการแก้ไขปัญหา และติดตามผลการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
4) ให้มีการช่วยเหลือพ่อ-แม่ เช่น การให้การฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพ่อ-แม่ กับเด็ก เพื่อให้ครอบครัวมีความอบอุ่น
5) ให้มีการใช้มาตรฐานขั้นต่ำของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เช่น มีการจัดทำคู่มือการเลี้ยงดูเด็ก การจัดฝึกอบรมทักษะในการเลี้ยงดูเด็กให้แก่พ่อแม่ เป็นต้น
6) ให้มีกองทุนเพื่อสนับสนุนครอบครัวเช่นเดียวกับกองทุนคุ้มครองเด็ก เพื่อให้เด็กและเยาวชน ดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม มีพฤติกรรมที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม
1.2 สถานศึกษา
1) ควรกำหนดให้สถานศึกษาในระดับอาชีวศึกษา ใช้เครื่องแบบนักเรียน เครื่องแต่งกาย ให้เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนทะเลาะวิวาทกัน
2) สถานศึกษาต้องมีมาตรการในการป้องกันการทะเละวิวาท และสามารถนำไปปฎิบัติได้ เช่น การหักคะแนนเมื่อกระทำความผิด ตลอดจนมีบริการให้คำปรึกษาแนะนำการดำเนินชีวิต ให้ความรู้ ให้ความสำคัญ แก่นักเรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น โดยเป็นลักษณะกิจกรรมเข้าค่ายฝึกอบรม ในสถาบันการศึกษา หรือระหว่างสถาบันการศึกษา หรือระหว่างหน่วยงานอื่น เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดความคุ้นเคย รู้จักกัน มีจิตใจที่ดี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นประโยชน์ต่อสังคม
3) ควรปรับปรุงมาตรฐานการรับนักเรียนอาชีวศึกษาของสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานศึกษา โดยต้องคำนึงถึงพฤติกรรมของนักเรียนก่อนที่จะรับเข้าศึกษา
4) สถานศึกษาควรให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงโทษทางกฎหมาย การคำนึงความรับผิดชอบชั่วดีแก่นักเรียนอาชีวศึกษา
5) ในสถานศึกษาควรมีนักจิตวิทยา หรือครูสอนจิตวิทยาที่สามารถให้คำปรึกษาในด้านต่างๆให้แก่นักเรียนอาชีวศึกษา
6) ควรบรรจุหลักสูตรศีลธรรม จริยธรรม เพื่ออบรมสั่งสอนความประพฤติของนักเรียนอาชีวศึกษา ให้กระทำตนเป็นพลเมืองดี
7) สถานศึกษาควรส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวศึกษาสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
8) สร้างค่านิยมให้สถานศึกษาที่สอนในระดับอาชีวศึกษา มีความเป็นเลิศทางวิชาการ
1.3 มาตรการการป้องกันและแก้ไขลงโทษนักเรียนอาชีวศึกษาที่กระทำความผิด
1) ควรหามาตรการป้องกันไม่ให้นักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท เช่น ให้สถานศึกษาจัดให้มีการปฐมนิเทศ ติดตามกลุ่มนักเรียนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง และให้นักเรียนรับรู้ถึงบทลงโทษ และผลที่ได้รับจากการกระทำความผิด โดยให้ปรึกษาทั้งรายกลุ่ม และรายกรณี
2) สถานศึกษาและหน่วยงานภาครัฐ ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ให้นักเรียนรับทราบถึงโทษ และการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำความผิด
3) ควรมีกิจกรรมร่วมกันระหว่างสถานศึกษา นักเรียน ในแต่ละแห่งเพื่อลดความขัดแย้งในสถานศึกษา
4) ควรเปิดเวทีการมีส่วนร่วมให้เด็กและเยาวชนได้ดูแลตนเอง โดยให้ผู้ใหญ่จัดหาอุปกรณ์และสถานที่ให้
5) ควรมีมาตรการลงโทษนักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ อย่างจริงจัง และไม่ให้เกิดการลอกเลียนแบบ
6) การลงโทษนักเรียนที่ทะเลาะวิวาท ควรให้ทำงานชดใช้สังคม เช่น ซ่อมเครื่องยนต์ บูรณะซ่อมแซมอาคารสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น
7) ควรเข้มงวดกวดขันให้สถานที่บางแห่งที่เด็กและเยาวชน ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเข้าไปใช้บริการ เช่น แหล่งบันเทิงในเวลากลางคืน หรือสถานบริการที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด
8) หน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่เกี่ยวข้องต้องควบคุมนักเรียนไม่ให้มีการทะเลาะวิวาท โดยให้ถือว่าเป็นนโยบายระดับชาติ
2. การแก้ไขในระยะต่อไป
1) รัฐควรศึกษากฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ที่ไม่มีกลไกให้เกิดผลในทางปฏิบัติ เพื่อสามารถปรับปรุงกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งเหล่านี้ ให้มีผลในการแก้ไขป้องกันการเกิดเหตุทะเลาะวิวาท เช่น กฎกระทรวง เพื่อพัฒนาหรือคุ้มครองเด็กและเยาวชน
2) รัฐควรเป็นแกนนำให้มีการอบรม สัมมนาในแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา และผลที่ได้จากการสัมมนาต้องมีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
3) รัฐควรสนับสนุนเรื่องการวิจัยเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษา
4) ควรให้ครู ชุมชน ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมกัน ในการพัฒนาหรือคุ้มครองเด็กและเยาวชน
5) ควรจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหรือคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น เช่น การฝึกวิชาทหารรักษาดินแดน ให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันได้รับการฝึก เพื่อสร้างระเบียบวินัย ความรับผิดชอบแก่ตนเอง
จัดโครงการผู้นำเยาวชนรักชาติ โดยเป็นกิจกรรมเข้าค่าย มีกองทัพเป็นผู้รับผิดชอบ และกระทรวงศึกษาธิการ หรือปราชญ์ชาวบ้าน ควรมีบทบาทในการพิจารณาหลักสูตรร่วมกับกองทัพด้วย
6) ควรมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่บุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กในลักษณะเช่นเดียวกับใบอนุญาตว่าความของทนายความ เพื่อให้สภาของผู้ประกอบวิชาชีพมีบทบาทกำกับดูแลและพัฒนามาตรฐานในการให้บริการแก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว
7) การแก้ไขพฤติกรรมเด็กและเยาวชนควรแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ครอบครัว และตัวนักเรียนโดยบูรณาการเป็นภาพรวม แล้วแก้ไขทั้งระบบ และให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
7.1 จัดทำฐานข้อมูลเพื่อทราบข้อเท็จจริง เช่น การจำแนกปัญหา สาเหตุ และพฤติกรรมเด็ก สถิติ ข้อมูล พื้นที่แนวโน้มที่เกิดความรุนแรง ความต้องการของตลาดแรงงานที่ต้องการรับนักศึกษาอาชีวศึกษา เป็นต้น
7.2 ปฏิรูประบบอาชีวศึกษา โดยการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และติดตามประเมินผล ตลอดจนถึงการฝึกงานเพื่อประกอบอาชีพในทางสุจริตได้ต่อไป เช่น ขอความร่วมมือจากสถานประกอบการรับเด็กเข้าฝึกงาน และเพิ่มสวัสดิการให้แก่ครู อาจารย์ในระดับอาชีวศึกษา เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจเป็นต้น
7.3 จัดหาสถานที่ใช้ในการออกกำลังกายหรือกิจกรรมนันทนาการต่างๆ เช่น กิจกรรมการสร้างสรรค์สังคม ตามที่นักเรียนอาชีวศึกษามีความสนใจ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง
7.4 ส่งเสริมการทำสื่อ ส่งเสริมจริยธรรมและคุณธรรม เผยแพร่ให้เด็กและเยาวชนมี “สติ” ก่อนที่จะตัดสินใจในการกระทำที่อาจจะส่งผลต่อความรุนแรงได้
7.5 ส่งเสริมให้มีโครงการบำเพ็ญประโยชน์ของนักเรียนอาชีวศึกษาในสถานที่ต่างๆ
7.6 ส่งเสริมให้สถานประกอบการเปิดโอกาสให้แก่นักเรียนอาชีวศึกษาเข้าทำงานในสถานประกอบการต่างๆนอกเวลาเรียน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคม
8) ผู้ใหญ่ต้องวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กและเยาวชนได้ประพฤติและปฏิบัติตาม และผู้ใหญ่ควรส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยอยู่ภายในกรอบที่ดีของสังคม
9) ปลูกฝังทัศนคติ ค่านิยมรูปแบบใหม่ให้นักเรียนอาชีวศึกษามุ่งกระทำความดี จะได้รับคำชมเชยจากสังคม
10) รัฐต้องเร่งดำเนินการในเรื่องของการศึกษาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 43 และมาตรา 81 ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
ที่มา: สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
www.nesac.or.th, โทร.02-612-9222 ต่อ 118, 119 โทรสาร.02-612-6918-9

ปัญหาของเยาวชนมีอะไรบ้าง

นำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขวิกฤตของเยาวชนในปัจจุบัน.
การจับมือ กอด จูบ สัมผัสร่างกาย อื่นๆ.
ไปเที่ยวผับ ไนต์คลับ คาราโอเกะ.
ดูภาพยนตร์โป๊.
อยู่ด้วยกันสองต่อสอง ในบรรยากาศโรแมนติก.
ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทำให้มึนเมาและขาดความยับยั้งชั่งใจ.
การข่มขืนและลวนลามทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ.

นักเรียนคิดว่าปัญหาการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด *

เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดส่วนใหญ่ นอกจากมีสาเหตุทางด้านครอบครัว และเศรษฐกิจแล้ว ส่วนใหญ่ยังมีสาเหตุจากการถูกชักชวนจากเพื่อน และการเรียนรู้อาชญากรรมจากเพื่อนและ สื่อมวลชนต่างๆ ประกอบอีกด้วย

ปัญหาด้านใดเกี่ยวกับเด็กที่พบเจอในสังคมปัจจุบัน

1) ปัญหาด้านยาเสพติด พบว่า เด็กและเยาวชนมีการเสพยาบ้า สารระเหย กัญชา และ 4X100. 2) ปัญหาด้านพฤติกรรม ได้แก่ ความฟุ้งเฟ้อ การแต่งกาย ติดเกม ขาดวินัย ความรับผิดชอบ ไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง ขาดความร่วมมือกับชุมชน ไม่มีพลังเยาวชน และขาดจิตสำนึก

เด็กไทยมีปัญหาอะไรบ้าง

ปัญหาด้านสวัสดิภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เด็กไทยต้องเผชิญ เด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่ขาดการคุ้มครองสิทธิ ยังมีเด็กด้อยโอกาสและเด็กในภาวะยากลำบากอีกจำนวนมาก เช่น เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กพิการ เด็กเร่ร่อน เด็กยากจน เด็กชนกลุ่มน้อย และเด็กที่ถูกนำไปขายบริการทางเพศ เป็นต้น สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวมีมากขึ้น ...