ละครสร้างสรรค์มีประโยชน์และคุณค่าอย่างไร

ในขณะที่การแสดงบทบาทสมมติ (Role  Play) ในการเล่นของเด็กๆ โดยทั่วไปนั้นเป็นไปแบบไร้กฏเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นการเล่นแบบเสรีตามใจชอบ  จึงเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ จะเปลี่ยนการเล่นแบบหนึ่งไปสู่อีกแบบหนึ่ง  หรือบางครั้งก็ดูเหมือนว่าเด็กๆ เล่นเรื่องเดิมซ้ำๆ กัน แต่ไม่มีการดำเนินเรื่องที่ชัดเจน  บ่อยครั้งที่การเล่นสมมติเป็นเพียงกิจกรรมสมมติที่เลียนแบบสิ่งที่พวกเขาได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน  แต่ไม่มีการพัฒนาในเชิงเนื้อเรื่อง เนื้อหา หรือตัวละคร ดังนั้น หากผู้ใหญ่สามารถที่จะจัดประสบการณ์ในการเล่นสมมติของเด็กให้กลายเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ด้วย  ก็นับได้ว่าผู้ใหญ่ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวของเขาเอง

 

ละครสร้างสรรค์ (Creative Drama)  เป็นรูปแบบการเล่นสมมติที่ได้ผ่านกระบวนการจัดเตรียมข้อมูลและวางแผนการเล่นให้เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของผู้ร่วมกิจกรรมเป็นอย่างดี  เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมสามารถรับประโยชน์สูงสุดจากการเล่นโดยที่ยังรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติของ

“การเล่น” เอาไว้เป็นอย่างดี กล่าวคือการเล่นละครสร้างสรรค์นั้นไม่เหมือนกับการแสดงละครเวที  ไม่ได้เป็นไปเพื่อสนองความต้องการของกลุ่มผู้ชม และไม่ได้เป็นการแสดงเพื่ออวดฝีมือ  แต่การเล่นละครสร้างสรรค์นั้นจะต้องเล่นในสถานที่ที่ผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกปลอดภัย ไม่เครียด

ไม่กังวลใจ และสามารถแสดงออก (ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน)  อย่างเสรี โดยมุ่งประโยชน์ไปที่พัฒนาการของผู้ร่วมกิจกรรมเป็นหลัก จึงอาจกล่าวได้ว่ากิจกรรมและละครสร้างสรรค์นั้นเป็นการเล่นบทบาทสมมติในแบบที่ไม่เป็นทางการ  แทนที่จะมีนักแสดง แต่กลับมีผู้ร่วมกิจกรรม (Participants) แทนที่จะมีผู้กำกับการแสดงแต่กลับมีผู้นำกิจกรรม  (Leader) (หรือครู) ที่ช่วยอำนวยความสะดวก (Facilitate) ในกระบวนการทั้งหมด

 

บางครั้ง  ละครสร้างสรรค์ก็ใช้  “เรื่อง”  หรือ   “นิทาน”  เป็นจุดเริ่มสำหรับการแสดงเพราะใน  “เรื่อง”  ที่ดีนั้น  จะต้องมีโครงสร้างของเรื่องที่ดีด้วย  นั่นก็คือมีการดำเนินเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ  ซึ่งช่วยเป็นกรอบสำหรับการแสดงที่มีทิศทางและมีความหมาย  แต่บางครั้งละครสร้างสรรค์ก็เริ่มจากแรงจูงใจอื่นๆ  เช่น  ข้อเท็จจริง  รูปภาพ  วัตถุสิ่งของ  เสียงต่างๆ  ดนตรี  บทเพลง  บทกวี  ปริศนาคำทาย  หรือธรรมชาติรอบๆ  ตัว  แต่ไม่ว่าจะเริ่มต้นมาจากอะไร  ผู้นำกิจกรรมจะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยการให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ทำการสำรวจข้อมูล  วินิจฉัยข้อมูล  ตั้งคำถาม  แสวงหาคำตอบ  ทดลองสมมติฐานด้วยประสบการณ์สมมติ  แสดงออกทางความคิดด้วยกาย  วาจา  ใจ  จนกว่าจะค้นพบคำตอบ  ที่เชื่อมโยงกับความเข้าใจโลกและชีวิต  โดยมีผู้นำกิจกรรมหรือครูผู้เป็นเสมือนพี่เลี้ยงในการตั้งคำถามและให้ความสะดวกในการเรียนรู้สำหรับผู้ร่วมกิจกรรม

 

แม้ว่ากิจกรรมบางอย่างที่ใช้ในละครสร้างสรรค์อาจมีส่วนคล้ายกับการฝึกหัดสำหรับนักแสดงอยู่บ้าง แต่จุดหมายของละครสร้างสรรค์กลับไม่ได้เป็นไปเพื่อฝึกให้ผู้ร่วมกิจกรรมไปเป็นนักแสดง  เทคนิคที่ใช้ในละครนั้น เป็นเทคนิคที่เกิดจากการใช้ “ธรรมชาติ” ที่อยู่ภายในความเป็นมนุษย์เป็นที่ตั้ง  ดังนั้นหากผู้จัดประสบการณ์การเรียนรู้มีความเข้าใจในธรรมชาติของกลุ่มเป้าหมาย  (ผู้ร่วมกิจกรรม) เป็นอย่างดี ก็จะสามารถใช้เทคนิคและวิธีการของละครสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มพูนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้หลายกลุ่ม  แม้ว่าเราจะพบเห็นการใช้กิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อเด็กและวัยรุ่นเป็นหลัก  และเอกสารฉบับนี้ก็มุ่งเน้นที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ที่ทำงานกับเด็กและเยาวชนเป็นหลัก  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ากิจกรรมละครสร้างสรรค์นั้นเหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนเท่านั้น  แท้จริงแล้ว การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (Experiential Learning) ในรูปแบบของละครสร้างสรรค์เป็นวิธีการที่สอดคล้องต่อธรรมชาติของการเรียนรู้ในมนุษย์ทุกคน  ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ บุคคลพิเศษ (ที่มีความพิการ) หรือแม้แต่ผู้สูงวัย  เพราะเป็นการเรียนรู้ที่ต้องใช้ทักษะทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการใช้ร่างกาย  (ในการสร้างท่าทาง การเคลื่อนไหว การขีดเขียน  การผลิตอุปกรณ์ประกอบการแสดง)  การสื่อสารด้วยภาษา (ทั้งการฟังและการพูด) การใช้สติปัญญา (ในการแก้ไขปัญหา)  การใช้ทักษะสัมพันธ์ (ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น) การใช้ความรู้สึกและจินตนาการ  (ในการทำความเข้าใจกับความรู้ใหม่ที่เชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม)

 

การเล่นและการประเมินผลการเล่น  เป็นขั้นตอนที่ควบคู่กันเสมอในละครสร้างสรรค์ การประเมินผลช่วยให้เด็กคิดอย่างมีวิจารณญาณ  เด็กๆ อาจจะอยากเล่นละครสร้างสรรค์เรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วแต่เป้าหมายในการเล่นซ้ำของเด็กนั้นแตกต่างจากการฝึกซ้อมการแสดงในละครเวที  ในขณะที่การฝึกซ้อมละครเวทีนั้นมุ่งเน้นความสมบูรณ์แบบหรือความลงตัวในตัวผลงาน  (Product) แต่ในละครสร้างสรรค์นั้นเด็กๆ อาจเปลี่ยนหรือสลับบทบาทกันโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความสมบูรณ์แบบของการแสดง  หรือในบางครั้งอาจจะมีการใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดงหรือเครื่องแต่งกายอยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้เกิดการแสดงแบบละครเวทีที่เป็นทางการ  องค์ประกอบทางเทคนิคของละครเวที เช่น ฉาก แสง เสียง การแต่งหน้า และเครื่องแต่งกายนั้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับกิจกรรมละครสร้างสรรค์

 

ในแต่ละครั้งที่เด็กๆ  เล่นละครสร้างสรรค์นั้น  ย่อมหมายถึงการที่พวกเขาได้ทำความเข้าใจกับเหตุการณ์  กับความคิดและการแสดงออกของตัวละครให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นและเด็กๆ  ก็พยายามทำการเล่นของตัวเองให้ดีขึ้นไปเป็นลำดับ  ดังนั้นการเล่นละครสร้างสรรค์จึงมีจุดมุ่งหมายไปที่การพัฒนาตัวผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่าในตัวผลงานละคร

สมาคมการละครเพื่อการศึกษาประเทศสหรัฐอเมริกา  (American Alliance for Theatre and Education) ได้ให้นิยามของละครสร้างสรรค์ในปี  ค.ศ. 1996 ว่า

 

“ละครสร้างสรรค์ (Creative Drama)  หมายถึง รูปแบบของละครชนิดหนึ่งที่เกิดจากการด้นสด (Improvisation) การไม่พยายามอวดผู้ชม  (Non-Exhibitional) และการใช้กระบวนการเรียนรู้ (Process-Centered) โดยมีผู้นำ  (หรือครู) เป็นผู้ช่วยชี้นำให้ผู้ร่วมกิจกรรม (เช่น เด็ก) ได้ใช้จินตนาการเพื่อเล่นบทบาทสมมติเพื่อสะท้อนถึงประสบการณ์ของมนุษย์  ผู้นำทีมที่ช่วยเหลือและผู้ชี้นำให้ผู้ร่วมกิจกรรมนั้นสำรวจข้อมูล พัฒนาวิธีการแสดงออก  เพื่อสื่อสารความคิด และความรู้สึก โดยการใช้ละครซึ่งเกิดจากการด้นสดด้วยท่าทางและคำพูดเพื่อที่จะค้นหาความหมาย  หรือสัจธรรมอันเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต”

 

กิจกรรมในละครสร้างสรรค์นั้นเป็นกระบวนการ  (Process)  ที่มีขั้นตอน  การทำกิจกรรมโดยให้ผู้ร่วมกิจกรรมเป็นศูนย์กลางนั้น  มักจะเริ่มต้นจากสิ่งที่ผู้เรียนมีความรู้หรือคุ้นเคยอยู่แล้ว  จากนั้นผู้นำจึงจะจัดประสบการณ์เชื่อมโยงจากสิ่งที่ผู้ร่วมกิจกรรมรู้จักอยู่แล้วไปสู่การเรียนรู้ใหม่ๆ  ที่กว้างขึ้นและลึกซึ้งขึ้น  และมุ่งหวังที่จะพัฒนาการทำงานของสมองทั้งสองซีก

 

ดังนั้น โดยภาพรวมนั้นละครสร้างสรรค์มักจะเริ่มด้วยการใช้ประสบการณ์จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 (Sensory Recall) ใช้ความทรงจำ (Memory Recall) นำไปสู่จินตนาการ(Imagination)  และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งนำไปสู่การสวมบทบาทสมมติ (Role  Play) ภายใต้สถานการณ์และกติกาที่ตกลงร่วมกัน ก่อให้เกิดการแสดงในแบบด้นสด  (Improvisation) ซึ่งต้องใช้จิตนาการผนวกกับการใช้ปฏิภาณ จนกระทั่งนำไปสู่ความเข้าใจในสถานการณ์นั้นๆ  มากขึ้นในที่สุด กระบวนการประเมินผลในตอนท้ายนั้นก็จะช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณและไม่ว่าเป้าหมายในการจัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์ในแต่ละครั้งเป็นอย่างไรก็ตาม  สิ่งหนึ่งที่ผู้นำกิจกรรมควรจะต้องทำก่อนเริ่มกิจกรรมในแต่ละแผนการสอนเสมอในขั้นตอนแรกก็คือ  การเตรียมความพร้อม หรือวอร์มอัพ (warm-up) ร่างกายและจิตใจเป็นขั้นตอนสำคัญมากที่จะเริ่มกิจกรรมหลักอื่นๆ  ผู้สอนไม่ควรมองข้ามความสำคัญของขั้นตอนนี้ ตัวอย่างกิจกรรมเตรียมความพร้อม  หรือกิจกรรมวอร์มอัพ เช่น การเดิน การวิ่งเบาๆ การยืดเส้นยืดสายแบบง่ายๆ  หรือเป็นการเล่นเกมต่างๆ เช่น “ชื่อนี้มีท่า” “ถุงเท้าเรียกชื่อ” “ลมเพลมพัด”  “นางฟ้าอยากได้” “หุ่นชัก” ฯลฯ

 

เมื่อเตรียมความพร้อม  อบอุ่นร่างกายเสร็จแล้ว  จึงจะตามด้วยกระบวนการต่อไปนี้  คือ  กิจกรรมจูงใจ  (Motivation)  กิจกรรมเตรียมทักษะละคร  (Pre-Drama)  และกิจกรรมละคร  (Drama  Playing)  และตามด้วยการประเมินผล  (Evaluation)  ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

 

กิจกรรมจูงใจ (Motivation) หมายถึง  การใช้คำถามหรือสื่อประเภทต่างๆ ในการกระตุ้นความสนใจของผู้ร่วมกิจกรรมเพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความต้องการที่จะเรียนรู้  หรือทำความเข้าใจกับประเด็นที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมา ขั้นตอนในการสร้างแรงจูงใจนี้  อาจจะเริ่มต้นด้วยการถามคำถามที่เร้าปฏิกิริยาการตอบสนอง เพื่อดึงดูดให้ผู้ร่วมกิจกรรมนี้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรกเริ่ม จากนั้นผู้นำกิจกรรมอาจจะนำเสนอข้อมูลที่จะจำเป็นต่อการแสดงละครในช่วงท้าย  “ข้อมูล” ที่ว่านี้ หมายถึง สื่อที่สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่จะนำไปสู่การอภิปราย  หรือการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ สื่อที่ว่ามีหลายรูปแบบ เช่น  เกม นิทาน บทกวี บทเพลง วีดีทัศน์ บทสัมภาษณ์ ข่าวสาร บทความ เรื่องสั้น  ภาพจำลอง แผนผัง ฯลฯ ผู้นำต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเองว่า จะใช้ข้อมูลและเวลาเท่าไร  และอย่างไร เพื่อที่จะเป็นการปูพื้นฐานและสร้างแรงจูงใจในการแสวงหาคำตอบให้กับผู้ร่วมกิจกรรมให้ได้มากที่สุด

สรุป กิจกรรมจูงใจ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

 

1. กิจกรรมเคลื่อนไหว (Movement  and Game) ได้แก่

– ท่าใบ้ (Pantomime)

– การเคลื่อนไหวสร้างสรรค์  (Creative Movement)

– การเล่นเกม  (Game)

– การทำท่าทางการเคลื่อนไหวประกอบจังหวะดนตรีหรือเพลง  (Movement with Music and Song)

 

2. การใช้ภาษา (Language or Word  Game)

– การถามคำถาม

– การเล่านิทาน  (Story Telling) ด้วยเทคนิคต่างๆ

– การร้องเพลง  (Songs)

– การอ่านบทกลอน  คำสุภาษิต คำร้องในการละเล่น (เช่น ยาสีฟันคอลเกต วิเศษนิยม ยาอมโอเล่…)

– การใช้คำปริศนาคำทาย  (Riddles)

3. การใช้สื่อต่างๆ

– การใช้หุ่น

– การใช้อุปกรณ์ประกอบการแสดง

– การใช้หนังสือ สิ่งพิมพ์

– การใช้ภาพแบบต่างๆ  (เช่น ภาพเขียน ภาพถ่าย ภาพแผ่นพับ ภาพแขวน ฯลฯ)

– การใช้สื่อวีดิทัศน์

การฝึกความพร้อมก่อนแสดงละคร (Pre-Drama)  จากการที่ผู้นำกิจกรรมมีความคุ้นเคยกับระดับพัฒนาการของผู้ร่วมกิจกรรมมาเป็นอย่างดีแล้วนั้น  ทำให้ผู้นำกิจกรรมเข้าใจในจุดแข็ง จุดอ่อน และความสามารถของผู้ร่วมกิจกรรมได้ดีพอใช้  ก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนในการแสดงละครนั้น ผู้นำกิจกรรมวางแผนไว้ว่าจะให้ผู้ร่วมกิจกรรมเตรียมตัวในเรื่องใดบ้าง  เช่น การวอร์มอัพ (Warm-up) ร่างกาย การทำความเข้าใจกับละครที่จะแสดง  การจัดเตรียมพื้นที่สำหรับแสดง การคัดเลือกผู้แสดง ตลอดจนการฝึกซ้อมบทบาทในบางตอนตามความจำเป็น  การที่ผู้นำกิจกรรมจะแลเห็นว่าควรเตรียมความพร้อมผู้ร่วมกิจกรรมอย่างไรบ้างนั้น  ผู้นำกิจกรรมจำเป็นต้องจินตนาการไปล่วงหน้าให้เห็นภาพของการแสดงละครในห้อง ทำกิจกรรมนั้นภายในระยะเวลาและองค์ประกอบทางเทคนิคที่จำกัด ความสามารถที่จะจินตนาการไปได้ล่วงหน้านี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง  เพราะจะช่วยให้ผู้นำกิจกรรมตัดสินใจว่า จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับผู้ร่วมกิจกรรมอย่างไรบ้าง  เพื่อให้พวกเขาได้แสดงละครที่ใช้การด้นสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายตามประสงค์

ละครสร้างสรรค์มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

ละครสร้างสรรค์ช่วยให้เด็กๆได้เรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก การแก้ปัญหาและความสัมพันธ์ความเกี่ยวข้องกับผู้อื่น ประสบการณ์ที่ได้จากการแสดงการเล่นละคร ทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตนเองและมีพัฒนาการด้านความคิดและ จินตนาการมากยิ่งขึ้น สิ่งที่พิเศษที่สุดของละครสร้างสรรค์ คือ การไม่มีผิดไม่มีถูก ไม่มีคำตอบไหนเป็นคำตอบที่ “ ...

ละครมีประโยชน์อย่างไร

ซึ่งข้อดีของละคร มีดังนี้ 1. มีทั้งแสง สี เสียง และภาพเคลื่อนไหวประกอบดนตรี ท าให้ประทับใจและจดจ า 2. สามารถเร่งเร้าความสนใจของผู้ชมได้ตลอดเวลาที่ภาพยนต์ฉายอยู่ 3. สามารถสอดแทรกความคิดเห็น และเป็นสื่อในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติพฤติได้ง่าย 4. สามารถเสนอภาพในอดีตที่เราไม่สามารถย้อนกลับไปชมได้อีก 5. ใช้เทคนิคสร้างเหตุการณ์ ...

จุดมุ่งหมายสำคัญของละครสร้างสรรค์คืออะไร

ละครสร้างสรรค์เป็นละครที่ใช้ในการศึกษา ไม่ได้มุ่งเน้นความบันเทิง แต่มุ่งเน้นด้าน กระบวนการที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ของแผนการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ สามารถ นำมาใช้ในการพัฒนาทักษะของผู้เรียนได้เป็นอย่างดีที่สุดวิธีหนึ่ง อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักแนว ทางการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่ ...

ละครสร้างสรรค์มีกี่ประเภท อะไรบ้าง

ละครสร้างสรรค์ คือ ละครนอกรูปแบบที่ไม่ต้องการเวทีสำหรับแสดงและไม่ต้องการผู้ชม เป็นการนำเอาละครมาใช้ประกอบการศึกษาในห้องเรียน มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความสามารถของเด็กแต่ละคนในชั้นหรือในกลุ่มไปในทางที่ตนถนัด ประเภทของละครสร้างสรรค์แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ละครใบ้ ละครหุ่น ละครปริศนา และการแสดงบทบาทสมมติ