โครงการระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยโดยสังเขป

(1) ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ธำรงสัมพันธภาพ อันอบอุ่นมานานยาวกว่า 600 ปี มิตรภาพระหว่างประเทศทั้งสอง แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในระยะหลัง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้จัดงานฉลองครบรอบ 120 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต

 

(2) ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยดำรงความสัมพันธ์ฉันมิตรมาเป็นเวลายาวนานโดยมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศเป็นพื้นฐาน นอกจากนั้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศก็เติบโตแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวกิจการของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยนับแต่ทศวรรษ 60 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระแสการลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามามากสืบเนื่องจากพื้นฐานอัตราแลกเงินเยนที่แข็งขึ้นในตอนปลายทศวรรษ 80

 

(3) ก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นมียอดมูลค่าการค้า การลงทุน และความช่วยเหลือกับประเทศไทยสูงเป็นอันดับแรก  แม้ว่ามีวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น แต่ปริมาณการค้าก็ยังคงอยู่ในอันดับที่สอง นอกจากนี้จำนวนบริษัทซึ่งเป็นสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ก็มีมากกว่า 1,100 แห่ง และการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงสูงถึงร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในประเทศไทย ตลอดจน ประมาณครึ่งหนึ่งของยอดเงินกู้ที่บริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยกู้นั้นเป็นเงินกู้จากธนาคารของญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งสรุปได้ว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจก็มีการพึ่งพาซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก

 

(4) ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยกำลังสร้างสรรค์ความเป็นหุ้นส่วนในด้านการทูตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตัวอย่างเช่น ในระดับภูมิภาค ประเทศญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือแก่โครงการลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนในระดับโลกยังให้การสนับสนุน ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการคนใหม่ในการเลือกตั้งผู้อำนวยการองค์การค้าโลกหรือ WTO

 

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ

(1) ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทยได้ตระหนักใหม่ว่าทั้งสองประเทศมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันในด้านเศรษฐกิจ ตามประสบการณ์วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540  บริษัทญี่ปุ่นไม่ลดและถอยตัวอย่างขนานใหญ่ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม บริษัทจากยุโรปหรือสหรัฐฯ ถอยการลงทุนระยะสั้นอย่างรวดเร็ว บริษัทญี่ปุ่นได้รักษาการให้กู้เงินและอัดฉีดเงินทุนให้บริษัทเครือข่ายหรือสาขาต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้มีส่วนช่วยทำให้สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

 

(2) โดยคำนึงถึงความสัมพันธฉันมิตรอันยั่งยืนและการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างสองประเทศ เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นจึงให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยอย่างกว้างขวาง อาทิเช่น ความช่วยเหลือด้านการเงินจำนวน 4 พันล้านดอลล่าร์ผ่าน IMF  การให้กู้เงินเยนรวมถึงโครงการมิยะซะวะ  การให้เงินสินเชื่อของธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งญี่ปุ่น (ปัจจุบันคือ JBIC จากการรวมกันระหว่างธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งญี่ปุ่นกับ OECF) การให้การรับประกันการค้า ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า และความร่วมมือด้านวิชาการ เป็นต้น ความช่วยเหลือเหล่านี้มีมูลค่าสูงมากกว่า 14,000 ล้านดอลล่าร์  ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับแรกในหมู่ประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย

 

การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนของบุคคลสำคัญ

(1) วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมพระราชพิธีศพสมเด็จพระราชชนนีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น และทรงเป็นพระราชอาคันตุกะพระองค์เดียวจากต่างประเทศที่ทรงได้เข้าร่วมงานพิธี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2544 เจ้าชายอากิชิโนและเจ้าหญิงคิโกะ เสด็จมาประเทศไทยเพื่อทรงรับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อทรงรับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยกักคุชูอิน และในเดือนตุลาคม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นด้วย

 

(2) ในด้านการแลกเปลี่ยนการเยือนของระดับผู้นำประเทศ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2542   นายเคอิโซ โอบุชิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสการมาเยือนประเทศอาเซียน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี โอบุชิ ยังได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 10 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2543  ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย และดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมงานศพอดีตนายกรัฐมนตรี เคอิโซ โอบุชิ ในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน และยังเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งก่อนการประชุมสุดยอด Kyusu-Okinawa Summit ในฐานะเจ้าภาพการประชุม UCTAD X และประธาน ASEAN การเยี่ยมเยือนกันและกันของผู้นำของสองประเทศดังกล่าวนี้ ได้กระชับสัมพันธภาพไทย-ญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

(3) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2544 ในโอกาสนี้ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิ จากนั้นได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคะอิซุมิ และเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการที่นายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคะอิซุมิ เป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวสุนทรพรจน์ในงานสัมมนาว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย และยังได้เดินทางเยือนจังหวัดโออิตะเพื่อเยี่ยมชมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นด้วย

การเยี่ยมเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูง ได้กระชับสัมพันธภาพไทย-ญี่ปุ่น ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตลอดมา ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ก็มีการขยายตัวของการลงทุนของญี่ปุ่น ในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทย มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศไทย โดยมากจึงได้ยุติลง อย่างไรก็ดีประเทศไทย ยังคงเป็นประเทศ ผู้รับสำคัญที่สุดรายหนึ่ง ของความช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาทางการ (โอดีเอ) (Official Development Assistance - ODA) ของรัฐบาลญี่ปุ่น ในด้านความช่วยเหลือทางเทคนิค และความช่วยเหลือ เกี่ยวกับเงินกู้เงินเยน

โดยรวมแล้ว คนไทยมีความรู้สึกที่ดีกับญี่ปุ่นจากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ("ASEAN Study V") ที่จัดทำในเดือนเมษายน พ.ศ.2540 โดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ปรากฎว่า คนไทยร้อยละ 98 เห็นว่าญี่ปุ่นคือมิตรประเทศ ความเห็นเช่นนี้ ส่งให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่หนึ่งของประเทศ ที่มีทัศนะที่ดีต่อญี่ปุ่น นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2540 ประเทศญี่ปุ่นให้การสนับสนุนประเทศไทย ทั้งในระดับรัฐบาลและภาคธุรกิจ และก็ประจักษ์ชัดว่าคนไทยชื่นชมการสนับสนุนของญี่ปุ่น

ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีคนญี่ปุ่นหรือนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยเข้าไปพัวพันในคดีอาชญากรรมใด ๆ แต่เมื่อจำนวนคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น  คดีความที่มีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้เสียหายรวมถึงคดีมโนสาเร่ เช่น การถูกลักขโมย การถูกฉ้อโกง เป็นต้น ก็เพิ่ม ประมาณงานของแผนกกงสุล สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในการดูแลคนญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาในประเทศไทย เช่น อุบัติเหตุ การตาย และเจ็บป่วยก็มีมากขึ้น

 

ความสัมพันธ์ทางการทูตและสนธิสัญญา

ความสัมพันธ์ทางการทูตและสนธิสัญญา

(ก)   สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430

 

(ข)   สนธิสัญญา ข้อตกลงทวิภาคี (ในวงเล็บคือวันเดือนปีที่มีผลบังคับใช้)
      ข้อตกลงทางการบิน (วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2496)
      ข้อตกลงทางวัฒนธรรม (วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2498)
      ข้อตกลงทางการพาณิชย์ (วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501)
      ข้อตกลงทางภาษี (วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 แก้ไขปรับปรุงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533)
      ข้อตกลงในการส่งอาสาสมัครร่วมมือเยาวชน (วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2524)
      ข้อตกลงความร่วมมือทางเทคโนโลยี (วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524)
      ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA:Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) (วันที่1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550)