องค์การระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง

องค์การระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง

จากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามนุษยชาติมีความสัมพันธ์ระหว่างกันหลากหลายรูปแบบ ความสัมพันธ์นี้บางครั้งก็เป็นความร่วมมือ บางครั้งก็มาในรูปแบบของความขัดแย้งในด้านต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ และบ่อยครั้งที่รอยร้าวเล็ก ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหล่านี้ได้บานปลาย กลายเป็นสงครามหรือความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายและโศกนาฏกรรมอันใหญ่หลวง และเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต องค์การระหว่างประเทศจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนและช่วยเหลือประเทศสมาชิกในด้านต่าง ๆ

องค์การระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง

รูปที่ 1: เมืองฮิโรชิมาหลังเหตุการณ์ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ “Little Boy” โดยเครื่องบิน “Elona Gay” ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2488 (ขอบคุณภาพจาก Everett Historical)

สำหรับประเทศไทยก็มีการร่วมมือเพื่อการแลกเปลี่ยนและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกเช่นกัน วันนี้บทเรียนออนไลน์จาก StartDee จึงอยากพาเพื่อน ๆ ไปดูจุดเริ่มต้นขององค์การระหว่างประเทศ 2 องค์การด้วยกัน ได้แก่ องค์การสหประชาชาติหรือ The United Nations (UN) และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “อาเซียน (ASEAN)” นั่นเอง

องค์การสหประชาชาติ: The United Nations (UN)

องค์การระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง

รูปที่ 2: ธงประดับตราสัญลักษณ์ขององค์การสหประชาชาติ (ขอบคุณภาพจาก Luketaibai)

หลังการยุติของสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติจึงถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4 ข้อด้วยกันคือ

  1. เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
  2. เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประชาชาติทั้งปวงโดยยึดหลักสิทธิอันเท่าเทียม
  3. เพื่อบรรลุถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ และด้านสิทธิมนุษยชน
  4. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานของประชาชาติทั้งหลาย

สำหรับการดำเนินงาน องค์การสหประชาชาติมีองค์กรที่เป็นเสาหลักอยู่ทั้งหมด 6 องค์กร ได้แก่

  1. สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
  2. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
  3. คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
  4. สำนักเลขาธิการสหประชาชาติ
  5. ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
  6. คณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ (ยุติการปฏิบัติงานแล้ว)

ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติมีประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เลขาธิการคนปัจจุบันคือนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) ซึ่งถือว่าเป็นเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนที่ 9 (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560)

องค์การระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง

รูปที่ 3: สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ขอบคุณภาพจาก Osugi)

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) นับเป็นสมาชิกลำดับที่ 55 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีบทบาทด้านสันติภาพและความมั่นคงโดยส่งทหารไปปฏิบัติการในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ติมอร์ตะวันออก (พ.ศ. 2542 - 2549) อิรัก (พ.ศ. 2534 - 2546) บุรุนดี (พ.ศ. 2548 - 2549) เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังให้ความร่วมมือด้านสังคมและมนุษยธรรมด้วยการช่วยเหลือผู้อพยพ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ นอกจากนี้ไทยยังให้ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่า ยกเลิกสารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลก และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด 

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน: Association of Southeast Asian Nations (ASEAN)
องค์การระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง

รูปที่ 4: ตราสัญลักษณ์อาเซียน (ขอบคุณภาพจาก Julia Sanders)

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) ย่อมาจาก Assocation of Southeast Asian Nations ก่อตั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 ซึ่งในปีนั้นสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความตึงเครียดจากความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางการเมืองสองค่าย และความขัดแย้งเกี่ยวกับความต้องการดินแดนของประเทศต่าง ๆ จึงเกิดการตกลงความร่วมมือกันในภูมิภาคและมีการลงนามในปฏิญญากรุงเทพ ฯ ร่วมกันของสมาชิกทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งอยู่ 7 ข้อหลัก คือ

  1. ส่งเสริม ความเจริญเติบโต ทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคม และวัฒนธรรม
  2. ส่งเสริม การมีเสถียรภาพ สันติภาพ และความมั่นคงของภูมิภาค 
  3. ส่งเสริม ความร่วมมือ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมถึงด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ และการบริหาร 
  4. ส่งเสริม ความร่วมมือ ซึ่งกันและกันในการฝึกอบรมและการวิจัย 
  5. ส่งเสริม ความร่วมมือ ในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการค้า การคมนาคม การสื่อสาร และปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต
  6. ส่งเสริมการ มีหลักสูตรการศึกษา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
  7. ส่งเสริม ความร่วมมือ กับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ 

จึงถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกอาเซียนกลุ่มแรก โดยเข้าร่วมและลงนามในปฏิญญากรุงเทพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา เมียนมา บรูไน ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ของอาเซียนอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และมีนายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย (Dato Paduka Lim Jog Hoi) ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอาเซียนคนที่ 14 (เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561) อาเซียนมีประชาคมที่เป็นเสาหลักอยู่ทั้งหมด 3 ประชาคม ได้แก่ 

  1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political - Security Community: ASC)
  2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
  3. ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio - Cultural Community: ASCC)

ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลังจากเข้าร่วมอาเซียน เช่น การเปิดศูนย์ความร่วมมืออาเซียน- ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรและความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน การส่งเสริมบทบาทของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนในภูมิภาค และการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลในเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น

นอกจากองค์การระหว่างประเทศก็ยังมีความร่วมมือระหว่างประเทศและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจด้วย และแม้จะมีจุดเริ่มต้นและรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน แต่เพื่อน ๆ จะเห็นว่าจุดประสงค์หลักขององค์การระหว่างประเทศก็คือการดำรงไว้ซึ่งความสงบ สันติภาพ และความมั่นคงระหว่างประเทศสมาชิกนั่นเอง

อ่านบทเรียนนี้จบแล้ว ไปอ่านบทเรียนออนไลน์วิชาสังคมศึกษากันต่อได้ที่บทเรียน องค์ประกอบของแผนที่ และ แผนที่เฉพาะเรื่อง หรือจะดาวน์โหลดแอป StartDee มาใช้ก็ได้นะ คลิกที่แบนเนอร์ด้านล่างเลย

องค์การระหว่างประเทศ มีอะไรบ้าง