การเดิน จงกรม และการนั่งสมาธิ ไป ประยุกต์ใช้ในชีวิต ประ จํา วัน

การเดินจงกรมนั้น มีความสำคัญเป็นอับดับสอง เมื่อเทียบกับการนั่งสมาธิที่รองลงมาเป็นอันดับสาม เป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจคนเรารู้สึกสงบ เกิดปัญญา ลดความคิดฟุ้งซ่าน ในการเดินจงกรมมีอยู่หลายระยะ ตั้งแต่ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 6 แต่วันนี้เราจะมาดูวิธีการเดินจงกรม 6 ระยะ อันเป็นที่นิยมมากกว่าในการปฏิบัติ ส่วนการที่จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเรานั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักที่ถูกต้องดังนี้

หลักปฏิบัติในการเดินจงกรม

1.ยืนตัวตรง หลังตรง หน้ามองตรง

2.เท้าไม่ชิดหรือห่างเกินไป ควรอยู่ในลักษณะที่พอดี คือไม่ชิด และไม่ห่างเกินไป

3.ทอดสายตาไปห่างจากปลายเท่าประมาณ 4 ศอก โดยเก็บเปลือกตาด้วยการหุบตาลงครึ่งหนึ่ง หากไม่หุบเปลือกตาลงครึ่งหนึ่ง จะทำให้มองเห็นได้ไกลไป ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้จิตคิดฟุ้งซ่านได้ง่าย

4.ก่อนเริ่มเดินจะต้อง “เก็บมือไว้ด้านหน้า” ค่อยๆ ยกมือมาผสานไว้ด้านหน้า โดยใช้คำว่า “ยกหนอ” หรือ “เคลื่อนหนอ” แล้วจึงเคลื่อนที่ให้เป็นธรรมชาติที่สุด

5.เวลาปล่อยมือก็เช่นเดียวกัน ให้ค่อยๆ ปล่อยมือออกทีละข้างอย่างช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเก็บมือหรือท่าเก็บมือแบบกอดอก

วิธีการเดินจงกรม 6 ระยะ

ในขณะที่ยืนอยู่ให้ท่องในใจว่ายืนหนอ 3 ครั้ง ก่อนที่จะค่อยๆ ยกส้นเท้าขึ้นโดยที่ปลายเท้ายังแตะพื้นอยู่ (ยกหนอ) จากนั้นให้ยกเท้าขึ้นออกจากพื้น (ยกหนอ) เคลื่อนไปข้างหน้าโดยที่เท้ายังไม่แตะพื้น (ย่างหนอ) ลดระดับเท้าให้ต่ำลงก่อนแตะพื้น (ลงหนอ) ให้ใช้ปลายเท้าแตะกับพื้นโดยยังไม่ลงส้น (ถูกหนอ) จากนั้นกดส้นเท้าลงกับพื้น (กดหนอ) แล้วจึงทำซ้ำเมื่อเดินก้าวถัดไป ดูตัวอย่างจังหวะการเดินจากด้านล่างนี้

  • 1.ยืนหนอ ยืนหนอ ยืนเหนอ
  • 2.ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ (ขยับเท้าซ้าย)
  • 3.ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ (ขยับเท้าขวา)
  • 4.เมื่อจะหันหลังกลับให้ หยุดหนอ ยืนหนอ ยืนหนอ ยืนหนอ ยืนหนอ กลับหนอ กลับหนอ กลับหนอ หยุดหนอ
  • 5.ทำซ้ำตั้งแต่ขั้นตอนแรกวนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหยุดเดินจงกรม

ความสำคัญของการกำหนดรู้

การกำหนดรู้หรือการท่องในใจ เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่รู้สึกไขว้เขว้ในขณะเจริญสติ โดยปล่อยให้ความคิดเป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น อย่างเช่นการใช้คำว่า ยุบหนอ พองหนอ หรือ ยืนหนอ ยกหนอ ฯลฯ ประโยชน์ของการกำหนดรู้แบบนี้คือ

  • 1.ทำให้เกิดสมาธิ
  • 2.ป้องกันไม่ให้จิตใจฟุ้งซ่าน
  • 3.ทำให้รู้เท่าทันต่อสิ่งที่ปรากฎ

วิธีควบคุมอารมณ์

เมื่อนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมอยู่ เมื่อมีอารมณ์เป็นตัวแทรกเข้ามา จะทำให้จิตของเราเสียการควบคุม ให้หยุดเดินและคิดในใจตามสิ่งที่ปรากฎ เช่น เกิดความง่วงให้คิดว่า “ง่วงหนอๆๆ” รู้สึกเบื่อให้คิดว่า “เบื่อหนอๆๆ” เมื่อจิตเริ่มคิดฟุ้งซ่านให้คิดในใจว่า “ฟุ้งหนอๆๆ” ด้วยการทำแบบนี้จะการบอกทบทวนตัวเองให้มีสติ ไม่ให้หลงไปกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ช่วยให้ผู้ปฏิบัติสามารถกลับมาเจริญสติทำlสมาธิได้อีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อใดที่เกิดอารมณ์ขึ้นอีก ก็ให้ใช้วิธีควบคุมแบบเดิมจัดการ

เดินจงกรมมีประโยชน์อย่างไร

นอกจากในเรื่องของการฝึกสมาธิ หรือเป็นวิธีเจริญสติแล้ว การเดินจงกรมยังมอบประโยชน์ให้อีกหลายอย่างแก่ผู้ที่ปฏิบัติอีกด้วย เช่น

  • 1.การเดินจงกรมช่วยให้ฝึกความอดทนของร่างกาย สามารถเดินทางได้ไกลยิ่งขึ้น
  • 2.มีจิตใจที่อดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด
  • 3.เป็นวิธีที่ช่วยให้ย่อยอาหารหลังรับประทาน
  • 4.สมาธิจากการเดินจงกรมสามารถติงอยู่ได้นาน
  • 5.มีสุขภาพจิตและร่างกายที่แข็งแรง

คำถามที่ ๕๖

เดินจงกรมสำคัญอย่างไร ต้องทำร่วมกับการนั่งสมาธิหรือไม่

คำตอบ

    ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินจงกรม การเดินจงกรมเป็นวิธีเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาเหมือนกับการนั่งสมาธิ แต่การเดินจงกรมจะเหมาะสมในโอกาสต่างๆ ที่เรานั่งไม่ได้ หรือนั่งไม่สะดวก หรือมีโรคประจำตัว นั่งยากหรือนั่งไม่ได้นาน เรามีทางเลือก ก็เดินจงกรมแทน แต่ถ้าอยากปฏิบัติอย่างเข้มข้นและได้ผล ต้องปฏิบัติต่อเนื่องนานๆ หน่อย อย่างเช่นที่เราปฏิบัติตั้งแต่เช้าจนถึง ๓-๔ ทุ่ม ถ้าเราเอาแต่นั่งอย่างเดียว คงจะไม่ต่อเนื่องเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าสามารถนั่งชั่วโมง ๒​ ชั่วโมง จากนั้นถ้าไม่เดินแล้วต้องหยุดพักผ่อน การเดินจงกรมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการปฏิบัติ แล้วก็เหมาะสมในโอกาสที่เราเหน็ดเหนื่อย

    ยกตัวอย่างเช่น ตอนกลางคืนกลับจากทำงาน ถ้าต้องไปนั่งสมาธิภาวนาอาจจะง่วง เราเดินจงกรมดีกว่า นอกจากนั้นแล้วจริตนิสัยคนเราไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะรู้สึกว่าการเจริญสติทำจิตใจให้สงบเกิดปัญญาจะง่ายกว่าในขณะที่เดินจงกรม เพราะฉะนั้นเราอาจจะเดินมากกว่านั่งก็ได้ ถ้าเราเดินในจังหวะที่ธรรมดาๆ อย่างที่เดินกันทุกวันนี้ สมาธิที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้นาน นานกว่าตอนนั่ง แล้วเป็นสติเป็นสมาธิที่ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย การเดินจงกรมเรามีการเคลื่อนไหว เราลืมตารับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมในระดับหนึ่ง มันไม่นิ่งทีเดียวเหมือนตอนนั่ง

    การฝึกสติในอิริยาบถเดินนั้นจะมีประโยชน์มากต่อการทำสติในชีวิตประจำวัน เช่น เราต้องการเดินจากบ้านนั้นไปบ้านนี้ เดินขึ้นบันไดลงบันได เป็นต้น ถ้าเราชินกับการทำสมาธิในอิริยาบถเดิน เราก็สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม หลักการก็คล้ายกับตอนนั่ง ต้องให้จิตมีหลักที่จะอยู่เหนืออำนาจของนิวรณ์ให้ได้ ซึ่งเราเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเครื่องกำหนดของจิต ก่อนที่จิตจะปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นที่เกาะ เป็นเครื่องระลึกของสติเครื่องรู้ของจิตเสียก่อน เรื่องการเลือกเครื่องกำหนดของจิตระหว่างการเดินมีให้เลือกมาก อย่างเช่น ความรู้สึกในฝ่าเท้าหนึ่ง คำบริกรรมพุทโธหนึ่ง การบริกรรมคำอื่น อย่างเช่น อัฐิ เป็นต้น มีการผสมกันบ้าง อย่างเช่น กำหนดความรู้สึกในฝ่าเท้า ในส้นเท้าโดยเอาพุทโธช่วยกำกับสติให้อยู่ตรงนั้น อัฐิก็เช่นเดียวกัน อัฐิซึ่งมีความหมายว่ากระดูกก็พยายามทำความรู้สึกในโครงกระดูกของตัวเองขณะที่เดิน จากนั้นก็ใช้คำบริกรรมแผ่เมตตา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีจุดประสงค์ให้จิตใจปล่อยวางความฟุ้งซ่านความปรุงแต่งต่างๆ ให้รวมเป็นผู้รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ในปัจจุบัน เมื่อจิตใจของเราสงบแล้วไม่ว่าในอิริยาบถนั่งหรือเดิน เราเจริญปัญญาต่อไป

    การเจริญปัญญาขอแนะนำ ๒​ วิธี

    วิธีที่ ๑ จิตใจที่สงบแล้วไม่ต้องกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนตอนที่เราเริ่มฝึก ตอนนี้เราสักแต่ว่ารับรู้ต่อไตรลักษณ์ที่กำลังปรากฏอยู่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมอารมณ์ กาย เวทนา จิต ธรรม รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วแต่จะเรียกก็เป็นชื่อของสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ไม่ต้องตั้งชื่อก็ได้ไม่ต้องไปจัดหมวดหมู่ ให้เรารู้เพียงแต่ว่ามันเกิดแล้วดับ นี่ความเกิดดับเป็นอารมณ์ ถ้าเราถนัดในการพิจารณาเรื่องอนัตตา เราก็พยายามอยู่กับความเป็นอนัตตาของสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่

    วิธีที่ ๒ คือเราเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของกายมาพิจารณา อ่านบทสวดมนต์อาการ ๓๒ ไล่ไปจนกระทั่งเจอข้อใดข้อหนึ่งที่รู้สึกว่าใช่ รู้สึกพอจะพิจารณาได้ และเมื่อจิตใจสงบแล้วเราก็ยกข้อนั้น จะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แล้วแต่ เอาขึ้นมาพิจารณา คือคิดพยายามมองภาพ พยายามคิดในความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เราใช้กุศโลบายต่างๆ เพื่อให้ความเป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตาชัดขึ้น ไม่ว่าเราจะพิจารณาความเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน หรือเราจะตั้งใจให้เห็นส่วนใดส่วนหนึ่งของกายว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

    ถ้าจิตใจเริ่มจะปรุงแต่ง เริ่มจะคิดนอกเรื่อง การพิจารณาไม่ได้อยู่กับสิ่งที่เราตั้งใจจะพิจารณา เราต้องกลับไปอยู่กับอารมณ์กรรมฐานเดิม เพราะการที่จิตใจไม่อยู่กับการพิจารณาเป็นเครื่องบอกแล้วว่าสมาธิไม่พอ ถ้ากำลังสติ กำลังสมาธิไม่พอ เรากลับไปทำความสงบต่อไป จนกระทั่งรู้สึกว่าจิตใจมีกำลังพอแล้วค่อยเอาต่อ

    อย่างไรก็ตาม เราไม่จำเป็นต้องห่วงว่าจิตใจเริ่มสงบแล้วแต่ไม่ได้พิจารณาอะไร ยังไม่ได้เกิดปัญญาอะไร คือก่อนอื่นเราต้องทำสมาธิของเราให้หนักแน่น ให้มั่นคงพอสมควร อย่าเพิ่งใจร้อน ในระยะสั้นเราอาจจะรู้สึกว่ารีบไปพิจารณาเหมือนกับได้กำไรทันตาเห็น แต่ในระยะยาวการให้ความสำคัญ ให้เวลากับการเจริญสมาธิ ให้มีกำลังมากขึ้นมันก็จะมีประโยชน์ต่อปัญญา ทำให้การพิจารณาของเราคล่องแคล่วและเจาะลึกกว่าจิตใจที่มีกำลังสมาธิน้อย

หนังสือ “คลายปม ๑” พระอาจารย์ชยสาโร