การใช้หลักจิตวิทยาในการจัดการเรียนการสอนนิสิตคิดว่ามีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร จงอภิปราย

การเรียนรู้ของผู้เรียนให้เกิดประสิทธิภาพอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือบรรยากาศในชั้นเรียน เพราะถ้าผู้เรียนมีความสุข อบอุ่นใจ สนุกสนาน มีความปลอดภัยทางจิต ปราศจากความกดดันต่างๆ มีสัมพันธภาพที่ดีกับครู กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ย่อมส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตน บรรยากาศในชั้นเรียนที่กล่าวถึงเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยาที่มีความละเอียดอ่อนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความจริงใจ การมีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพประจำตัว ท่าทีการสื่อสารทั้งทางวาจาและภาษากาย รวมทั้งมนุษยสัมพันธ์ ตลอดจนการเข้าใจปัญหาของผู้เรียน ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนทั้งสิ้น

จิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน

การรับรู้เป็นกระบวนการแปลความหมายระหว่างประสาทสัมผัสกับระบบประสาทของมนุษย์ที่ใช้อวัยวะรับสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้ส่วนของประสาทสัมผัสในอวัยวะนั้นส่งผลเชื่อมโยงไปยังสมองและสมองจะถอดรหัสนั้นไปยังระบบประสาททำให้เกิดการรับรู้และรู้สึกจิตวิทยาการรับรู้เป็นเหตุการณ์ความรู้สึกที่เป็นผลจากกิจกรรมของเซลล์สมองเป็นลักษณะหนึ่งของจิตแต่ไม่ใช่จิตทั้งหมด

จิตวิทยาการเรียนรู้

การเรียนรู้เกิดจากการรับรู้ของระบบประสาทและการแปลรหัสการรับรู้ให้สมองสั่งการความรู้สึกใดที่สมองได้บันทึกและจดจำไว้จะเรียกว่าประสบการณ์เมื่ออวัยวะสัมผัสต่อสิ่งเดิมอีกจะเกิดการระลึกได้องค์ประกอบของการเรียนรู้

  1. สติปัญญาของผู้รับรู้ถ้าสติปัญญาดีจะเรียนรู้ได้เร็ว
  2. ความตั้งใจในกิจกรรมที่ผู้รับรู้สัมผัส
  3. ความสนใจการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งนั้น
  4. สภาพจิตใจของผู้รับรู้ในขณะนั้น

พฤติกรรมการเรียนรู้

จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้แบ่งเป็น3กลุ่ม

  1. พุทธนิยม หมายถึงการเรียนรู้ในด้านความรู้ความเข้าใจ
  2. จิตพิสัย หมายถึงการเรียนรู้ด้านทัศนคติค่านิยมความซาบซึ้ง
  3. ทักษะพิสัย หมายถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับการกระทำหรือปฏิบัติงานการเรียนรู้กับการเรียนการสอนในการสอนที่ดีผู้สอนจำเป็นต้องนำทฤษฎีการเรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุจุดประสงค์ในการเรียนรู้ซึ่งสามารถกระทำได้หลายสถานการณ์เช่น

1) การมีส่วนร่วมในการรับรู้โดยให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดและไตร่ตรอง

2) การทราบผลย้อนกลับการให้ผู้เรียนได้รับทราบผลของการทำกิจกรรมต่างๆ

3) การเสริมแรงทำให้ผู้เรียนมีความภาคภูมิใจ

4) การเรียนรู้ตามระดับขั้นโดยจัดความรู้จากง่ายไปยาก.

จิตวิทยาพัฒนาการ

เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่มุ่งศึกษามนุษย์ทุกวัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตในทุกๆด้านทั้งด้านการเจริญเติบโตทางร่างกายความคิดอารมณ์ความรู้สึกเจตคติพฤติกรรมการแสดงออกสังคมบุคลิกภาพตลอดจนสติปัญญาของบุคคลในวัยต่างกันเพื่อให้ทราบถึงลักษณะพื้นฐานความเป็นมาจุดเปลี่ยนจุดวิกฤตในแต่ละวัย

การรับรู้และการเรียนรู้

การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งเนื่องมาจากประการณ์หรือการฝึกหัดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นมีลักษณะค่อนข้างถาวร

หลักของการเรียนรู้มี 3 รูปแบบคือ

  1. การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก (classical conditioning) เป็นการทดลองโดยใช้สัตว์เป็นตัวทดลองมีผงเนื้อและกระดิ่งเป็นสิ่งเร้าจะใช้กระดิ่งเป็นตัววางเงื่อนไขจึงเรียกกระบวนการนี้ว่าการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก
  2. การวางเงื่อนไขในมนุษย์วัตสันและเรย์นอร์ได้ร่วมกันวางเงื่อนไขกับคนซึ่งเป็นการทดลองที่มีชื่อเสียงมากตามแนวคิดของวัตสันเขาเห็นว่าการเรียนรู้คือการนำเอาสิ่งเร้าไปผูกพันกับการตอบสนองและการตอบสนองที่คนเรามีติดตัวมาก็คืออารมณ์เช่นกลัวโกรธรักดังนั้นเขาจึงศึกษาการวางเงื่อนไขเกี่ยวกับความกลัวของเด็กการทดลองได้กระทำกับเด็กคนหนึ่งชื่ออัลเบิร์ต (Albert) มีอายุ 11 เดือน
    โดยปกติเด็กคนนี้ไม่รู้จักกลัวสัตว์ใดๆ เลยและชอบเล่นตุ๊กตาที่ทำด้วยผ้าสำลีเป็นขนปุกปุยต่อมาวัตสันนำเอาหนูขาวที่มีขนปุกปุยน่ารักมีความเชื่องกับคนมาให้เด็กคนนี้ดูพอเด็กเห็นก็พอใจอยากเล่นจึงคลานเข้าไปจับต้องและเล่นกับหนูขาวจนเป็นที่พอใจแล้ววัตสันก็นำหนูขาวออกไปครั้นต่อมาวัตสันนำเอาหนูขาวมาให้เด็กคนนี้ดูอีกเมื่อเด็กเห็นก็ดีใจรีบคลานเข้าไปจะจับหนูขาวพอเข้าไปใกล้กำลังเอื้อมมือจะจับวัตสันก็เคาะเหล็กทำให้เกิดเสียงดังเด็กจึงตกใจกลังร้องไห้ไม่กล้าจับหนูขาววัตสัตได้ทดลองในลักษณะนี้ประมาณ 5 ครั้ง ติดกัน ทุกครั้งเด็กจะร้องไห้และตกใจกลัวในที่สุดก็เกิดกลังหนูขาวซึ่งเพียงแต่เห็นหนูขาวอยู่ไกลๆ ก็ร้องไห้เสียแล้วนั่นเป็นการแสดงให้เห็นว่าเด็กกลัวหนูขาวเพราะถูกวางเงื่อนไข
  3. การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (operant conditioning) สกินเนอร์และธอร์นไดค์เป็นผู้นำที่สำคัญและในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกของพาฟลอฟธอร์นไดค์ได้ศึกษาถึงความสามารถในการคิดและหาเหตุผลของสัตว์ทำให้เขาค้นพบหลักการเรียนรู้แบบการกระทำซึ่งสกินเนอร์ก็ได้ให้ความสนใจในแนวคิดนี้และได้ให้ชื่อว่าการวางเงื่อนไขแบบการกระทำการศึกษาในตอนแรกได้ศึกษากับแมวสุนัขและลิงแต่ที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันดีเป็นการศึกษากับแมวโดยเขาจะจับแมวที่กำลังหิวใส่กรงใบหนึ่งที่เขาสร้างขึ้นมากรงนั้นมีชื่อว่ากรงประตูกล (Puzzle Box) ซึ่งที่กรงจะมีเชือกและลวดสปริงผูกติดต่อกับแผ่นไม้เล็กๆ ถ้าบังเอิญไปกดแผ่นไม้เล็กๆนี้จะทำให้เกิดกลไกการดึงทำให้ประตูเปิดออกได้การทดลองของเขาจะเริ่มโดยจับแมวที่กำลังหิวใส่ไว้ในกรงและข้างๆ กรงด้านนอกจะมีปลาดิบวางไว้ไม่ไกลพอที่แมวจะมองเห็นได้ถนัดในการทดลองสองสามครั้งแรกแมวซึ่งหิวมีอาการงุ่นง่านเพื่อหาทางออกไปกินปลามันปฏิบัติการตอบสนองมากมายโดยวิ่งไปหลักกรงหน้ากรงเอาอุ้งเท้าเขี่ยเอาสีข้างถูกรงแต่ทั้งหมดก็เป็นไปด้วยการเดาสุ่มจนกระทั่งบังเอิญแมวไปถูกแผ่นไม้เล็กๆ นั้นทำให้ประตูเปิดออกแมวจึงได้กินปลาดิบ

จิตวิทยาการรับรู้การเรียนรู้และจิตวิทยาพัฒนาการการรับรู้

เป็นกระบวนการแปลความหมายระหว่างประสาทสัมผัสกับระบบประสาทของมนุษย์ที่ใช้อวัยวะรับสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้ส่วนของประสาทสัมผัสในอวัยวะนั้นส่งผลเชื่อมโยงไปยังสมองและสมองจะถอดรหัสนั้นไปยังระบบประสาททำให้เกิดการรับรู้และรู้สึก

ความสำคัญของการประยุกต์ใช้จิตวิทยาการศึกษาในการเรียนการสอนของครู

คือศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียนในสภาพการเรียนการสอนหรือในชั้นเรียนเพื่อค้นคิดทฤษฎีและหลักการที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาและส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพนอกจากนี้จิตวิทยาการศึกษายังมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาการสร้างหลักสูตรและการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคลครูอาจารย์จำเป็นจะต้องมีความรู้พื้นฐานทางจิตวิทยาการศึกษาเพื่อจะได้เข้าใจพฤติกรรมของผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้ตลอดจนแก้ปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนดังนั้นในเรียงความบทนี้ผมจึงอยากจะพูดถึงจิตวิทยาการศึกษาระดับพื้นฐานที่ได้เรียนมาในภาคการศึกษานี้ในฐานะนิสิตคณะครุศาสตร์ที่จะต้องจบการศึกษาออกไปเป็นครู

จิตวิทยาการศึกษาจะช่วยให้ครูอาจารย์มีความเข้าใจตัวในตัวผู้เรียนอย่างแจ่มแจ้งเข้าใจธรรมชาติของพวกเขาความคิดจิตใจและความต้องการของพวกเขาเข้าใจว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมสำหรับพวกเขาเข้าใจว่าอะไรจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการศึกษาของพวกเขาหรือสามารถกล่าวอย่างง่ายๆ ว่าจิตวิทยาการศึกษาทำให้ครูอาจารย์มีจิตวิทยาในการสอน

หากครูผู้สอนมีจิตวิยาในการสอนเขาย่อมรู้ว่าการบังคับให้ผู้เรียนเรียนโดยไม่เข้าใจเหตุผลว่าทำไมต้องเรียนจะทำให้พวกเขาเข้าใจบทเรียนเพียงผิวเผินแต่ความเข้าใจที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้เรียนเกิดความใฝ่รู้และพยายามเข้าใจด้วยตนเองจากตรงนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าครูอาจารย์จำเป็นต้องทำให้ผู้เรียนเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเรียนวิชานั้นๆและทำให้นักเรียนเห็นคุณค่าของความรู้และความสัมพันธ์ของความรู้นั้นๆที่มีต่อการดำเนินชีวิตหากครูผู้สอนเข้าใจทฤษฎีพัฒนาการและทฤษฎีบุคลิกภาพของผู้เรียนในวัยต่างๆตั้งแต่วัยแรกเกิดวัยอนุบาลประถมฯมัธยมฯจนถึงอุดมศึกษาจะทำให้ครูผู้สอนรู้วิธีการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับบุคคลแต่ละวัยตามพัฒนาการทางร่างกายความคิดจิตใจอารมณ์และสังคมของผู้เรียนได้และด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในด้านนี้จะทำให้ครูอาจารย์สามารถเล็งเห็นศักยภาพที่แฝงเร้นอยู่ภายในตัวผู้เรียนและช่วยผลักดันให้ผู้เรียนสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองได้และสามารถให้คำแนะนำที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเขาได้จริงและถ้าหากครูอาจารย์สามารถล่วงรู้ถึงสิ่งที่เป็นเหมือนปุ่มสตาร์ทของผู้เรียนและสามารถทำให้ปุ่มสตาร์ทนี้ทำงานได้มันจะเป็นแรงขับเคลื่อนผู้เรียนให้มุ่งไปในหนทางที่เขาใฝ่ฝันด้วยพลังจากภายในตัวของเขาเองตลอดจนการประพฤติตนของครูเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่นักเรียนซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่าการสอนด้วยคำพูด

นอกจากมีความเข้าใจพัฒนาการของเด็กวัยต่างๆแล้วครูผู้สอนจะต้องรู้ถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและกลุ่มทั้งทางด้านระดับเชาวน์ปัญญาความคิดสร้างสรรค์เพศสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งนักจิตวิทยาได้คิดวิธีการวิจัยที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นตัวแปรที่สำคัญในการเลือกวิธีสอนและในการสร้างหลักสูตรที่เหมาะสมครูที่ใช้วิธีการเดียวกับผู้เรียนทุกคนเปรียบเสมือนหมอที่จ่ายยาตัวเดียวกันแก่คนไข้ทุกคนที่มารับการรักษาโดยไม่คำนึงถึงโรคประจำตัวหรือประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและมีอาการแพ้ยาย่อมไม่เหมือนผู้ป่วยทั่วๆไปฉันใดผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก็ย่อมแตกต่างจากผู้เรียนทั่วๆไปฉันนั้นและการที่หมอเปิดเผยความลับของคนไข้ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เช่นไรการที่ครูอาจารย์ตำหนิปมด้อยของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก็ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เช่นกัน

ประการต่อมาคือทฤษฎีการเรียนรู้หากครูผู้สอนเข้าใจวิธีการเรียนรู้การจดจำการทำความเข้าใจการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ตลอดจนองค์ประกอบต่างๆที่จะมีส่วนช่วยในการเรียนรู้ของผู้เรียนสิ่งเหล่านี้ย่อมมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนอย่างไม่ต้องสงสัยสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้สอนเข้าใจว่าความรู้นั้นจะไม่เกิดจากการสอนของผู้สอนหากแต่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียนเพราะถ้าผู้สอนตั้งใจสอนแต่ผู้เรียนไม่เกิดการเรียนรู้ก็ย่อมไร้ประโยชน์ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้เรียนพยายามเรียนรู้ด้วยตนเองการเก็บเล็กผสมน้อยของข้อมูลที่เขาค้นหาและประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอจะตกผลึกเป็นองค์ความรู้ได้แม้ว่าครูจะไม่ได้สอนเลยก็ตามสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้สอนเข้าใจว่าการจับเด็กมานั่งในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ เพียงอย่างเดียวเป็นเวลาเกือบยี่สิบปีไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในโลกที่กว้างและกลมได้

ทฤษฎีการสอนและเทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จิตวิทยาการศึกษากล่าวถึงซึ่งมีความสำคัญและมีประโยชน์ไม่แพ้ทฤษฎีการเรียนรู้และพัฒนาการในการช่วยครูอาจารย์เกี่ยวกับการเรียนการสอนในปัจจุบันครูผู้สอนจำเป็นต้องมีทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสอนเพื่อทำสิ่งที่เข้าใจได้ยากให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเช่นการฉายภาพสไลด์และการเปิดวีดีทัศน์เป็นต้นนอกจากนี้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยังช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนสื่อสารกันได้สะดวกมากและมีประสิทธิภาพมากขึ้นและยังช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงช่องทางในการแสวงหาความรู้มากขึ้นอีกด้วย

หลักการสอนและวิธีสอนนักจิตวิทยาการศึกษาได้เสนอหลักการสอนและวิธีการสอนตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่แต่ละท่านยึดถือเช่นหลักการสอนและวิธีสอนตามทัศนะนักจิตวิทยาพฤติกรรมนิยมปัญญานิยมและมนุษย์นิยมหลักการเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากในการกำหนดกรอบและทิศทางของการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนหลักพฤติกรรมนิยมจะช่วยให้ครูอาจารย์รู้วิธีสังเกตพัฒนาการต่างๆของนักเรียนนักศึกษาได้ส่วนหลักปัญญานิยมจะช่วยให้ครูอาจารย์เข้าใจกระบวนการคิดจดจำและเข้าใจของนักเรียนนักศึกษาและหลักมนุษย์นิยมจะช่วยให้ครูอาจารย์มีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียนและช่วยในการปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตใจที่งดงามและมีความเมตตาต่อผู้อื่น

หลักการวัดผลและประเมินผลการศึกษาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จิตวิทยาการศึกษาต้องการให้ผู้ทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้จะช่วยให้ครูผู้สอนรู้วิธีการประเมินผลที่มีความถูกต้องแม่นยำทำให้ทราบว่าการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพหรือไม่หรือผู้เรียนได้สัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์เฉพาะของแต่ละวิชาหรือไม่เพราะถ้าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงก็จะเป็นผลสะท้อนว่าการจัดการเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพ

1. หลักการสอนและวิธีการสอน

จิตวิทยาการเรียนการสอนเป็นศาสตร์อันมุ่งศึกษาการเรียนรู้และพฤติกรรมของผู้เรียนในสถานการณ์การเรียนการสอนพร้อมทั้งหาวิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน

ความรู้ที่อยู่ในขอบข่ายการเรียนการสอน

1. ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์

2. หลักการของการเรียนรู้และการสอนประกอบด้วยทฤษฎีการเรียนรู้และการเรียนรู้ชนิดต่างๆ

3. ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีผลต่อการเรียน

4. การนำเอาหลักการและวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาการเรียนการสอน

จุดมุ่งหมายของการนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน

  • ประการแรกมุ่งพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในสถานการณ์การเรียนการสอน
  • ประการที่สองนำเอาองค์ความรู้ข้างต้นมาสร้างรูปแบบเชิงปฏิบัติเพื่อครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

หลักการสำคัญ

  1. มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน
  2. มีความสามารถในการประยุกต์หลักการจิตวิทยาเพื่อการเรียนการสอน
  3. มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่
  4. มีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียน

ความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอน

  • ทำให้รู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียน
  • ทำให้เข้าใจพัฒนาการบุคลิกภาพบางอย่างของผู้เรียน
  • ทำให้ครูเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล
  • ทำให้ครูทราบว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียนเช่นแรงจูงใจความคาดหวังเชาวน์ปัญญาทัศนคติ ฯลฯ
  • ทำให้ครูทราบทฤษฎีหลักการเรียนรู้รวมทั้งหลักการสอนและวิธีการสอน
  • ทำให้ครูวางแผนการสอนได้อย่างเหมาะสม
  • ทำให้ครูจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนได้สอดคล้องกับพัฒนาการรวมทั้งสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการปกครองชั้นเรียน

2. การสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอน

  • บรรยากาศในการเรียนการสอน
  • บรรยากาศในชั้นเรียน

บรรยากาศ หมายถึง ความรู้สึกหรือสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว ส่วนคำว่าสภาพแวดล้อม หมายถึง สภาวะต่างๆ ที่แวดล้อมมนุษย์อยู่ สภาวะดังกล่าวเป็นสภาวะของสิ่งต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติและสังคมที่อยู่รอบๆ ตัวมนุษย์ มีทั้งที่ดีและไม่ดี ดังนั้น บรรยากาศจัดการเรียนการสอนเป็นสภาพแวดล้อมอย่างหนึ่งและเป็นที่ยอมกรับกันว่าบรรยากาศที่ดีเป็นผลมาจากการจัดสภาพแวดล้อมที่ดีในขณะเดียวกันสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นผลมาจากการมีบรรยากาศที่ดีด้วยเช่นกัน

บรรยากาศในชั้นเรียน หมายถึง สภาพแวดล้อมทางการเรียนในชั้นเรียน ซึ่งไม่ใช่สภาพแวดล้อมทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงระดับของอารมณ์และความรู้สึกด้วย (Good 1976 : 106) ส่วนสภาพแวดล้อมการเรียนการสอน หมายถึง สภาวะที่อยู่รอบตัวผู้สอนและผู้เรียน ซึ่งเกื้อหนุนให้ผู้เรียนและผู้สอนทำงานด้วยกันมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน สื่อสารระหว่างกันจนเกิดบรรยากาศการเรียนการสอนที่ดี

โดยความสำคัญของสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในชั้นเรียน ซึ่งสภาพแวดล้อมการเรียนการสอนจะเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของปฏิสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นในห้องเรียน รวมทั้งเป็นตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ถ้าสภาพแล้วล้อมดีจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง และส่งผลต่อพัฒนาการของผู้เรียนในด้านต่างๆ เช่น อารมณ์ สังคม เป็นต้น

การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน

บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความสนใจใคร่รู้ใคร่เรียนให้แก่ผู้เรียน ชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันและกัน ย่อมเป็นแรงจูงใจภายนอกที่กระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียน รักการอยู่ร่วมกันในชั้นเรียน และช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความประพฤติอันดีงามให้แก่นักเรียน นอกจากนี้การมีห้องเรียนที่มีบรรยากาศแจ่มใส สะอาด สว่าง กว้างขวางพอเหมาะ มีโต๊ะเก้าอี้ที่เป็นระเบียบเรียบร้อย มีมุมวิชาการส่งเสริมความรู้ มีการตกแต่งห้องให้สดใส ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ส่งผลทำให้ผู้เรียนพอใจมาโรงเรียน เข้าห้องเรียนและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ดังนั้น ผู้เป็นครูจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ความสำคัญ ประเภทของบรรยากาศ หลักการจัดบรรยากาศในชั้นเรียนและการจัดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีลักษณะตามที่หลักสูตรได้กำหนดไว้

ความหมายของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน

การจัดบรรยากาศในชั้นเรียน หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอน เพื่อช่วยส่งเสริมให้กระบวนการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสร้างความสนใจใฝ่รู้ ใฝ่ศึกษา ตลอดจนช่วยสร้างเสริมความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน

ความสำคัญของการจัดบรรยากาศในชั้นเรียน

จากการสำรวจเอกสารงานวิจัย (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531: ค) ได้ค้นพบว่าบรรยากาศในชั้นเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความสนใจในบทเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น การสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ที่ครูให้ความเอื้ออาทรต่อนักเรียน ที่นักเรียนกับนักเรียนมีความสัมพันธ์ฉันท์มิตรต่อกันที่มีระเบียบ มีความสะอาด เหล่านี้เป็นบรรยากาศที่นักเรียนต้องการ ทำให้นักเรียนมีความสุขที่ได้มาโรงเรียนและในการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ถ้าครูผู้สอนสามารถสร้างความรู้สึกนี้ให้เกิดขึ้นต่อนักเรียนได้ ก็นับว่าครูได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาเยาวชนของประเทศชาติให้เติบโตขึ้นอย่างสมบรูณ์ทั้งทางด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคม โดยแท้จริง ดังนั้น การสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งประมวลได้ดังนี้

  1. ช่วยส่งเสริมให้การเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่น ห้องเรียนที่ไม่คับแคบจรเกินไป ทำให้นักเรียนเกิดความคล่องตัวในการทำกิจกรรม
  2. ช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีงามและความมีระเบียบวินัยให้แก่ผู้เรียน เช่น ห้องเรียนที่สะอาด ที่จัดโต๊ะเก้าอี้ไว้อย่างเป็นระเบียบ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน นักเรียนจะซึมซับสิ่งเหล่านี้ไว้โดยไม่รู้ตัว
  3. ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้เรียน เช่น มีแสงสว่างที่เหมาะสม มีที่นั่งไม่ใกล้กระดานดำมากเกินไป มีขนาดโต๊ะและเก้าอี้ที่เหมาะสมกับวัย รูปร่างของนักเรียนนักศึกษา ฯลฯ
  4. ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างความสนใจในบทเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดมุมวิชาการต่าง ๆ การจัดป้ายนิเทศ การตกแต่งห้องเรียนด้วยผลงานของนักเรียน
  5. ช่วยส่งเสริมการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม เช่น การฝึกให้มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การฝึกให้มีอัธยาศัยไมตรีในการอยู่ร่วมกัน ฯลฯ
  6. ช่วยสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนและการมาโรงเรียน เพราะในชั้นเรียนมีครูที่เข้าใจนักเรียน ให้ความเมตตาเอื้ออารีต่อนักเรียน และนักเรียนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การจัดบรรยากาศในชั้นเรียนจะช่วยส่งเสริมและสร้างเสริมผู้เรียนใน

ด้านสติปัญญา ร่างกาย อารมณ์ และสังคมได้เป็นอย่างดี ทำให้นักเรียนเรียนด้วยความสุข รักการเรียน และเป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ในที่สุด

บรรยากาศที่พึงปรารถนาในชั้นเรียน

ในการจัดการเรียนการสอน ผู้สอนต่างปรารถนาให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนดำเนินไปอย่างราบรื่น และผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตร บรรยากาศในชั้นเรียนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้ความปรารถนานี้เป็นจริง พรรณี ชูทัย (2522 : 261 – 263)

กล่าวถึงบรรยากาศในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการสอน จัดแบ่งได้ 6 ลักษณะ สรุปได้ดังนี้

  1. บรรยากาศที่ท้าทาย (Challenge) เป็นบรรยากาศที่ครูกระตุ้นให้กำลังใจนักเรียนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการทำงาน นักเรียนจะเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและพยายามทำงานให้สำเร็จ
  2. บรรยากาศที่มีอิสระ (Freedom) เป็นบรรยากาศที่นักเรียนมีโอกาสได้คิด ได้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่มีความหมายและมีคุณค่า รวมถึงโอกาสที่จะทำผิดด้วย โดยปราศจากความกลัวและวิตกกังวล บรรยากาศเช่นนี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ ผู้เรียนจะปฏิบัติกิจกรรมด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้สึกตึงเครียด
  3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ (Respect) เป็นบรรยากาศที่ครูรู้สึกว่านักเรียนเป็นบุคคลสำคัญ มีคุณค่า และสามารถเรียนได้ อันส่งผลให้นักเรียนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองและเกิดความยอมรับนับถือตนเอง
  4. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น (Warmth) เป็นบรรยากาศทางด้านจิตใจ ซึ่งมีผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูมีความเข้าใจนักเรียน เป็นมิตร ยอมรับให้ความช่วยเหลือ จะทำให้นักเรียนเกิดความอบอุ่น สบายใจ รักครู รักโรงเรียน และรักการมาเรียน
  5. บรรยากาศแห่งการควบคุม (Control) การควบคุมในที่นี้ หมายถึง การฝึกให้นักเรียนมีระเบียบวินัย มิใช่การควบคุม ไม่ให้มีอิสระ ครูต้องมีเทคนิคในการปกครองชั้นเรียนและฝึกให้นักเรียนรู้จักใช้สิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างมีขอบเขต
  6. บรรยากาศแห่งความสำเร็จ (Success) เป็นบรรยากาศที่ผู้เรียนเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จในงานที่ทำ ซึ่งส่งผลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้น ผู้สอนจึงควรพูดถึงสิ่งที่ผู้เรียนประสบความสำเร็จให้มากกว่าการพูดถึงความล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่สิ่งที่ล้มเหลว เพราะการที่คนเราคำนึงถึงแต่ความล้มเหลวจะมีผลทำให้ความคาดหวังต่ำ ซึ่งไม่ส่งเสริมให้การเรียนรู้ดีขึ้น

บรรยากาศทั้ง 6 ลักษณะนี้ มีผลต่อความสำเร็จของผู้สอนและความสำเร็จของผู้เรียนผู้สอนควรสร้างให้เกิดในชั้นเรียน

ประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียน

สุมน อมรวิวัฒน์ (2530 : 13) ได้สรุปผลการวิจัยเรื่องสภาพในปัจจุบันและปัญหาด้านการเรียนการสอนของครูประถมศึกษาไว้ สรุปได้ว่า บรรยากาศในชั้นเรียนต้องมีลักษณะทางกายภาพที่อำนวยความสะดวกต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สร้างความสนใจใฝ่รู้และศรัทธาต่อการเรียน นอกจากนี้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มนักเรียนและระหว่างครูกับนักเรียน ความรักและศรัทธาที่ครูและนักเรียนมีต่อกัน การเรียนที่รื่นรมย์ปราศจากความกลัวและวิตกกังวล สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนได้ดี ดังนั้นจึงสามารถแบ่งประเภทของบรรยากาศในชั้นเรียนได้ 2 ประเภทคือ

  1. บรรยากาศทางกายภาพ
  2. บรรยากาศทางจิตวิทยา

บรรยากาศทั้ง 2 ประเภทนี้ มีส่วนส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งสิ้น

  1. บรรยากาศทางกายภาพ (Physical Atmosphere)
  2. บรรยากาศทางกายภาพหรือบรรยากาศทางด้านวัตถุ หมายถึง การจัดสภาพแวดล้อมต่าง ๆ

ภายในห้องเรียนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย น่าดู มีความสะอาด มีเครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้การเรียนของนักเรียนสะดวกขึ้น เช่น ห้องเรียนมีขนาดเหมาะสม แสงเข้าถูกทาง และมีแสงสว่างเพียงพอ กระดานดำมีขนาดเหมาะสม โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัยนักเรียน เป็นต้น

บรรยากาศทางจิตวิทยา (Psychological Atmosphere)

บรรยากาศทางจิตวิทยา หมายถึง บรรยากาศทางด้านจิตใจที่นักเรียนรู้สึกสบายใจ มีความอบอุ่น มีความเป็นกันเอง มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และมีความรักความศรัทธาต่อผู้สอน ตลอดจนมีอิสระในความกล้าแสดงออกอย่างมีระเบียบวินัยในชั้นเรียน

การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ

การจัดบรรยากาศทางด้านกายภาพ เป็นการจัดวัสดุอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน รวมตลอดไปถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เสริมความรู้ เช่น ป้ายนิเทศ มุมวิชาการ ชั้นวางหนังสือ โต๊ะวางสื่อการสอน ฯลฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ทำให้เกิดความสบายตา สบายใจ แก่ผู้พบเห็น ถ้าจะกล่าวโดยละเอียดแล้ว การจัดบรรยากาศทางด้ายกายภาพ ได้แก่ การจัดสิ่งต่อไปนี้

1. การจัดโต๊ะเรียนและเก้าอี้ของนักเรียน

1.1 ให้มีขนาดเหมาะสมกับรูปร่างและวัยของนักเรียน

1.2 ให้มีช่องว่างระหว่างแถวที่นักเรียนจะลุกนั่งได้สะดวก และทำกิจกรรมได้คล่องตัว

1.3 ให้มีความสะดวกต่อการทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายเปลี่ยนรูปแบบที่นั่งเรียน

1.4 ให้มีรูปแบบที่ไม่จำเจ เช่น อาจเปลี่ยนเป็นรูปตัวที ตัวยู รูปครึ่งวงกลม หรือ เข้ากลุ่มเป็นวงกลม ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอน

1.5 ให้นักเรียนที่นั่งทุกจุดอ่านกระดานดำได้ชัดเจน

1.6 แถวหน้าของโต๊ะเรียนควรอยู่ห่างจากกระดานดำพอสมควร ไม่น้อยกว่า 3 เมตร ไม่ควรจัดโต๊ะติดกระดานดำมากเกินไป ทำให้นักเรียนต้องแหงนมองกระดานดำ และหายใจเอาฝุ่นชอล์กเข้าไปมาก ทำให้เสียสุขภาพ

2. การจัดโต๊ะครู

2.1 ให้อยู่ในจุดที่เหมาะสม อาจจัดไว้หน้าห้อง ข้างห้อง หรือหลังห้องก็ได้ งานวิจัยบางเรื่องเสนอแนะให้จัดโต๊ะครูไว้ด้านหลังห้องเพื่อให้มองเห็นนักเรียนได้อย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตาม การจัดโต๊ะครูนั้นขึ้นอยู่กับรูปแบบการจัดที่นั่งของนักเรียนด้วย

2.2 ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งบนโต๊ะและในลิ้นชักโต๊ะ เพื่อสะดวกต่อการทำงานของครู และการวางสมุดงานของนักเรียน ตลอดจนเพื่อปลูกฝังลักษณะนิสัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่นักเรียน

3. การจัดป้ายนิเทศ

ป้ายนิเทศไว้ที่ฝาผนังของห้องเรียน ส่วนใหญ่จะติดไว้ที่ข้างกระดานดำทั้ง 2 ข้าง ครูควรใช้ป้ายนิเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน โดย

3.1 จัดตกแต่งออกแบบให้สวยงาม น่าดู สร้างความสนใจให้แกนักเรียน

3.2 จัดเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับบทเรียน อาจใช้ติดสรุปบทเรียน ทบทวนบทเรียน หรือเสริมความรู้ให้แก่นักเรียน

3.3 จัดให้ใหม่อยู่เสมอ สอดคล้องกับเหตุการณ์สำคัญ หรือวันสำคัญต่าง ๆ ที่นักเรียนเรียนและควรรู้

3.4 จัดติดผลงานของนักเรียนและแผนภูมิแสดงความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนจะเป็นการให้แรงจูงใจที่น่าสนใจวิธีหนึ่ง

แนวการจัดป้ายนิเทศ

เพื่อให้การจัดป้ายนิเทศได้ประโยชน์คุ้มค่า ครูควรคำนึงถึงแนวการจัดป้ายนิเทศในข้อต่อไปนี้

1. กำหนดเนื้อหาที่จะจัด ศึกษาเนื้อหาที่จะจัดโดยละเอียด เพื่อให้ได้แนวความคิดหลัก หรือสาระสำคัญ เขียนสรุป หรือจำแนกไว้เป็นข้อ ๆ

2. กำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดโดยคำนึงถึงแนวความคิดหลักสาระสำคัญของเรื่องและคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายว่าต้องการเขารู้อะไร แค่ไหน อย่างไร

3. กำหนดชื่อเรื่อง นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ดู ชื่อเรื่องที่ดีต้องเป็นใจความสั้น ๆ กินใจความให้ความหมายชัดเจน ท้าทาย อาจมีลักษณะเป็นคำถามและชี้ให้เห็นวัตถุประสงค์ในการจัดแผ่นป้าย

4. วางแผนการจัดคล่าว ๆ ไว้ในใจ ว่าจะใช้วัสดุอะไรบ้าง แล้วจึงช่วยกันจัดหาสิ่งเหล่านั้น อาจเป็นรูปภาพ แผนภาพ ภาพสเก็ตซ์ ของจริง หรือจำลอง การ์ตูน เท่าที่พอจะหาได้

5. ออกแบบการจัดที่แน่นอน โดยคำนึงถึงสิ่งที่มีอยู่ โดยสเก็ตซ์รูปแบบการจัดลงบนกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายแผ่นป้าย ว่าจะวางหัวเรื่อง รูปภาพ และสิ่งต่าง ๆ ในตำแหน่งใด คำบรรยายอยู่ตรงไหน ใช้เส้นโยงอย่างไรจึงจะน่าสนใจ ควรออกแบบสัก 2 – 3 รูแบบ แล้วเลือกเอารูปแบบที่ดีที่สุด

6. ลงมือจัดเตรียมชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้มีขนาดและอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขึ้นแสดงบนแผ่นป้ายได้อย่างเหมาะสม หัวเรื่องจะใช้วิธีใด ภาพต้องผนึกไหม คำบรรยายจะทำอย่างไร เตรียมให้พร้อม

7. ลงมือจัดจริงบนแผ่นป้ายตามรูปแบบที่วางไว้ อาจทดลองวางบนพื้นราบในพื้นที่เท่าแผ่นป้ายก่อน เพื่อกะระยะที่เหมาะสมก่อนนำไปใช้จริง

4. การจัดสภาพห้องเรียน ต้องให้ถูกสุขลักษณะ กล่าวคือ

4.1 มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีหน้าต่างพอเพียง และมีประตูเข้าออกได้สะดวก

4.2 มีแสงสว่างพอเหมาะ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนอ่านหนังสือได้ชัดเจน เพื่อเป็นการถนอมสายตา ควรใช้ไฟฟ้าช่วย ถ้ามีแสงสว่างน้อยเกินไป

4.3 ปราศจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียง กลิ่น ควัน ฝุ่น ฯลฯ

4.4 มีความสะอาด โดยฝึกให้นักเรียนรับผิดชอบช่วยกันเก็บกวาด เช็ดถู เป็นการปลูกฝังนิสัยรักความสะอาด และฝึกการทำงานร่วมกัน

5. การจัดมุมต่าง ๆ ในห้องเรียน ได้แก่

5.1 มุมหนังสือ ควรมีไว้เพื่อฝึกนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมให้นักเรียนอ่านคล่อง ส่งเสริม การค้นคว้าหาความรู้ และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ครูควรหาหนังสือหลาย ๆ ประเภท ที่มีความยากง่าย เหมาะสมกับวัยของนักเรียนมาให้อ่าน และควรหาหนังสือชุดใหม่มาเปลี่ยนบ่อย ๆ การจัดมุมหนังสือควรจัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเพื่อสะดวกต่อการหยิบอ่าน

5.2 มุมเสริมความรู้กลุ่มประสบการณ์ต่าง ๆ ควรจัดไว้ให้น่าสนใจ ช่วยเสรมความรู้ ทบทวนความรู้ เช่น มุมภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา มุมความรู้ข่าว เหตุการณ์ ฯลฯ

5.3 มุมแสดงผลงานของนักเรียน ครูควรติดบนป้ายนิเทศ แขวนหรือจัดวางไว้บนโต๊ะ เพื่อให้นักเรียนเกิดความภูมิใจในความสำเร็จ และมีกำลังใจในการเรียนต่อไป อีกทั้งยังสามารถแก้ไขพัฒนาผลงานของนักเรียนให้ดีขึ้นโดยลำดับได้อีกด้วย

5.4 ตู้เก็บสื่อการเรียนการสอน เช่น บัตรคำ แผนภูมิ ภาพพลิก กระดาษ สี กาว ฯลฯ ควรจัดไว้ให้เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน สะดวกต่อการหยิบใช้ อุปกรณ์ชิ้นใดที่เก่าเกินไปหรือไม่ใช้แล้วไม่ควรเก็บไว้ในตู้ให้ดูรกรุงรัง

5.5 การประดับตกแต่งห้องเรียน ครูส่วนใหญ่มักนิยมประดับตกแต่งห้องเรียนด้วยสิ่งต่าง ๆ เช่น ม่าน มู่ลี่ ภาพ ดอกไม้ คำขวัญ สุภาษิต ควรตกแต่งพอเหมาะไม่ให้ดูรกรุงรัง สีสันที่ใช้ไม่ควรฉูดฉาด หรือใช้สีสะท้นแสง อาจทำให้นักเรียนเสียสายตาได้ การประดับตกแต่งห้องเรียน ควรคำนึงถึงหลักความเรียบง่าย เป็นระเบียบ ประหยัด มุ่งประโยชน์ และสวยงาม

5.6 มุมเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาด ตลอดจนชั้นวางเครื่องมือเครื่องใช้ของนักเรียน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน แก้วน้ำ กล่องอาหาร ปิ่นโต ฯลฯ ควรจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ และหมั่นเช็ดถูให้สะอาดเสมอ

การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยา

การจัดบรรยากาศทางด้านจิตวิทยาหรือทางด้านจิตใจ จะช่วยสร้างความรู้สึกให้นักเรียนเกิดความสบายใจในการเรียน ปราศจากความกลัวและวิตกกังวล มีบรรยากาศของการสร้างสรรค์เร้าความสนใจ ให้นักเรียนร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยความสุข นักเรียนจะเกิดความรู้เช่นนี้ ขึ้นอยู่กับ “ครู” เป็นสำคัญ ในข้อเหล่านี้

  1. บุคลิกภาพ
  2. พฤติกรรมการสอน
  3. เทคนิคการปกครองชั้นเรียน
  4. ปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียน

แต่ละข้อมีรายละเอียดดังนี้

บุคลิกภาพของครู

สภาพบรรยากาศของห้องเรียนมีส่วนสัมพันธ์กับบุคลิกภาพของครู ครูที่มีบุคลิกภาพดี เช่น การแต่งกาย การยืน การเดน ท่าทาง น้ำเสียง การใช้คำพูด การแสดงออกทางสีหน้า แววตา เหมาะสมกับการเป็นครู จะช่วยส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ได้ดี บุคลิกภาพของครูมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียน ดังนี้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน. 2531 : 8, 13)

บุคลิกของครูสรุปย่อได้ 3 ประเภทคือ

  • ครูประเภทที่ 1 จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย นักเรียนและครูจะยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้รู้จักทำงานร่วมกัน รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง มีเหตุมีผล นักเรียนจะรู้สึกสบายใจในการเรียน เป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
  • ครูประเภทที่ 2 จะสร้างบรรยากาศแบบเผด็จการ นักเรียนไม่ได้แสดงความคิดเห็น ครูจะเข้มงวด ครูเป็นผู้บอกหรือทำกิจกรรมทุกอย่าง นักเรียนไม่มีโอกาสคิด หรือทำกิจกรรมที่ต้องการ นักเรียนจะรู้สึกเครียดอึดอัด นักเรียนจะขาดลักษณะการเป็นผู้นำ ขาดความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
  • ครูประเภทที่ 3 จะสร้างบรรยากาศแบบตามสบาย เป็นบรรยากาศที่น่าเบื่อหน่าย นักเรียนย่อท้อ สับสนวุ่นวาย ขาดระเบียบวินัย ไม่มีความคงเส้นคงวา ครูไม่สามารถควบคุมชั้นเรียนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยได้ เป็นบรรยากาศที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี

จากครูทั้ง 3 ประเภทที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า ครูประเภทที่ 1 มีลักษณะความเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย ก็จะสร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตย ทำให้นักเรียนรู้สึกสบายใจที่จะเรียน มีความกระตือรือร้นในการเรียนมากกว่าประเภทอื่น ๆ บุคลิกภาพของครูจึงมีส่วนสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้อย่างมาก

3. พฤติกรรมของครูและบรรยากาศของห้องเรียน

พฤติกรรมของครูกับการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

กระบวนการทางจิตวิทยาที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เกิดประสิทธิภาพอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือบรรยากาศในชั้นเรียน เพราะถ้าผู้เรียนมีความสุข อบอุ่นใจ สนุกสนาน มีความปลอดภัยทางจิต ปราศจากความกดดันต่างๆ มีสัมพันธภาพที่ดีกับครู กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ย่อมส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตน บรรยากาศในชั้นเรียนที่กล่าวถึงเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยาที่มีความละเอียดอ่อนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความจริงใจ การมีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพประจำตัว ท่าทีการสื่อสารทั้งทางวาจาและภาษากาย รวมทั้งมนุษยสัมพันธ์ ตลอดจนการเข้าใจปัญหาของผู้เรียน ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนทั้งสิ้น ดังนั้นครูซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ด้วยการสนใจศึกษาความรู้จากหลักการ เทคนิคและกระบวนการทางจิตวิทยา เพื่อนำมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจผู้เรียน รวมทั้งการฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถสื่อสารความต้องการ ความรู้สึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลดีต่อการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

บรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนมีลักษณะอย่างไร

บรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนต้องเป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง ยอมรับและส่งเสริมความสำคัญของผู้เรียน ให้ความรู้สึกเป็นอิสระและได้ใช้ความสามารถของผู้เรียนมาเป็นประโยชน์ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ท่าทีและพฤติกรรมของครูจะต้องแสดงให้เห็นว่า มีความตระหนักในความรับผิดชอบที่มีต่อผู้เรียน ยกย่อง ยอมรับนับถือ ให้เกียรติและสนใจปัญหาของผู้เรียนอย่างจริงใจ เป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าการตอบสนองความต้องการของครูผู้สอนแต่ฝ่ายเดียว

บรรยากาศในชั้นเรียนสำคัญอย่างไร?

บรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี เป็นสิ่งที่จะเอื้ออำนวยและส่งเสริมประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียน จึงควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้

  • ด้านพัฒนาการเรียนรู้

การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของครูผู้สอนว่าจะสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เป็นไปในลักษณะใด ครูผู้สอนจะเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปในภาวะที่พึงประสงค์ได้ก็ต่อเมื่อครูได้ตระหนักในความสำคัญของการใช้ห้องเรียนให้เป็นสถานที่ปฏิบัติการทดลอง พัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทักษะ ค่านิยมของผู้เรียน พยายามสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมให้กิจกรรมของกระบวนการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ สนุกสนานกับการเรียน มีชีวิตชีวาในการเรียนมากกว่าที่จะเป็นผู้คอยรับคำสั่ง ฟังและจดตามเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นบรรยากาศที่ไม่ท้าทายแล้ว ยังก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่น่าสนใจ

  • ด้านตัวผู้เรียน

บรรยากาศในชั้นเรียนที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จักตนเอง ด้านความสนใจ ความถนัด ความสามารถ เป็นโอกาสให้ได้ฝึกปฏิบัติ การควบคุมตนเอง การมีความสามารถพิจารณาเลือกสรรวิธีการในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม การที่ครูยอมรับนับถือให้เกียรติผู้เรียนในฐานะบุคคล มีเจตคติที่ดีและมีความจริงใจต่อผู้เรียน ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนยอมรับนับถือในตัวครูผู้สอนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของครูผู้สอนไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ค่านิยม ปรัชญา อุดมคติของครูที่แตกต่างกัน จะมีอิทธิพลและส่งผลต่อผู้เรียนให้แตกต่างกันด้วย เช่น ผู้สอนที่ชอบวางอำนาจ ก้าวร้าว ชอบลงโทษ ติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ผู้เรียน บรรยากาศในชั้นเรียนก็จะเป็นไปในทางลบ และจะนำมาซึ่งความล้มเหลวในการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์

การนำแนวคิดด้านจิตวิทยาพัฒนาการมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็นับว่าสำคัญ โดยพิจารณาความเหมาะสมของระดับพัฒนาการในกลุ่มผู้เรียน ครูควรคำนึงถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้มีความสมดุลสอดคล้องกับระดับความสามารถและพัฒนาการของผู้เรียนที่จะนำไปสู่ความรับผิดชอบ การช่วยตนเอง ความสนใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้สำเร็จ มีความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม มีพัฒนาการที่ดีตามวัยและประสบความสำเร็จในที่สุด

จากการศึกษาโดยใช้กระบวนการทางสังคมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและฝึกอบรมเด็กของพ่อแม่ พบว่า การฝึกอบรมมีส่วนช่วยส่งเสริมแนะแนวทางต่อครูผู้สอนในการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดชั้นเรียน พ่อแม่ที่อบรมเลี้ยงดูลูกโดยให้ความรักและความอบอุ่น มีเหตุมีผล จะมีส่วนเสริมสร้างเด็กให้มีการพัฒนาและการปรับตัวได้เป็นอย่างดี การที่ครูผู้สอนตระหนักรู้ถึงการยอมรับนับถือผู้เรียน ตามที่เขาควรจะเป็นในแต่ละบุคคล รวมทั้งการควบคุม การบังคับ การเรียกร้อง ความมั่นคง การยืดหยุ่น ด้วยการปรับสิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างมีเหตุผลและเหมาะสม จะนำไปสู่การพัฒนาวุฒิภาวะของผู้เรียนได้อย่างดี และพฤติกรรมของผู้เรียนจะเป็นไปในทางบวกมากกว่าการเน้นพฤติกรรมการเรียนการสอน ที่เข้มงวดและการทำโทษ ดังนั้นการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี จะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้พัฒนาพฤติกรรมตนเองในด้านต่างๆ อีกด้วย

บรรยากาศในชั้นเรียนขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปการเรียนการสอนมีองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกัน 3 ประการคือ ครูผู้สอน ผู้เรียน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน

ครูผู้สอน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการจัดการเรียนการสอน เพราะจะเป็นผู้กำหนดบรรยากาศเกี่ยวกับการเรียนการสอนแต่ละครั้งให้เป็นไปในลักษณะอย่างไร

ผู้เรียน มีส่วนต่อบรรยากาศในชั้นเรียนด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นความสนใจ ท่าทีของการแสดงพฤติกรรม แรงจูงใจ ความร่วมมือ การมีวินัย ความเชื่อมั่น การเห็นคุณค่าของตนเอง ตลอดจนการเคารพให้เกียรติผู้อื่นโดยเฉพาะกับครู เป็นผลมาจากการที่เด็กได้รับและเห็นตัวอย่างจากบุคคลแวดล้อมและที่สำคัญคือจากพฤติกรรมของครูที่มีต่อตัวเขาในขณะที่อยู่ในชั้นเรียน หรือเป็นผลมาจากบรรยากาศในชั้นเรียนนั่นเอง ซึ่งทั้งครูและผู้เรียนมีส่วนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน ตามที่กล่าวแล้ว ถ้าครูมีความสามารถในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน มีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรมและการสื่อสารที่เหมาะสม มีคุณภาพ เสมอต้นเสมอปลาย ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ดีต่อครู การเรียนรู้เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนจะนำมาซึ่งความร่วมมือ ความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน อันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก บรรยากาศในชั้นเรียนย่อมราบรื่น

จากองค์ประกอบทั้ง 3 จะเห็นว่า ครูผู้สอนเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี จึงจะขอเน้นไปที่ตัวครูผู้สอนเป็นสำคัญ

ลักษณะของครูผู้สอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เป็นไปได้ด้วยดีและมีประสิทธิภาพ มีหลายประการ เช่น มีความรู้ลุ่มลึกในเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างชัดเจน สามารถนำความรู้นั้นมาถ่ายทอดได้ มีเจตคติที่ดีต่อการสอน ซึ่งหมายถึงมีความปรารถนาดีต่อผู้เรียน รักวิชาที่สอนและรักการสอน มีความรู้สึกอยากสอน ส่วนองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ผู้สอนจะขาดไปเสียไม่ได้นอกเหนือจากความรู้ความสามารถในการสอนแล้ว ครูจะต้องมีความเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้เรียนไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยวาจาและท่าทีต่อผู้เรียน ปฏิบัติต่อผู้เรียนด้วยความรู้สึกใกล้ชิด มีความห่วงใยผู้เรียน ยอมรับผู้เรียนอย่างที่เขาเป็น พยายามส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน มีความสุขในการเรียน ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น

ครูต้องใช้ห้องเรียนเป็นสถานที่ปฏิบัติการสำหรับผู้เรียนเกี่ยวกับการพัฒนา และค้นพบตนเอง เป็นสถานที่ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ห้องเรียนควรจะมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ทางบวกเพื่อพัฒนาตนเอง ให้มีทรรศนะอันกว้างไกลต่อสังคมที่ผู้เรียนพบปะและอาศัยอยู่ การส่งเสริมบรรยากาศเหล่านี้ให้เกิดขึ้นนั้น ผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือในความสามารถของผู้เรียนในฐานะเป็นบุคคล มีความรู้สึกไวต่อความคิดของผู้เรียน มีความกระตือรือร้นพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้เรียนให้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดของแต่ละบุคคล

ครูผู้สอนต้องปฏิบัติอย่างไร?

สิ่งที่ครูผู้สอนต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ได้แก่

  1. การยอมรับผู้เรียนในฐานะบุคคล

การที่ผู้สอนตระหนักว่าผู้เรียนแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตน การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องแสดงออกทางด้านการปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำ ซึ่งแสดงให้เห็นการยอมรับนั้นด้วย บรรยากาศแห่งความไว้วางใจ คือ การให้ความอบอุ่นและความจริงใจระหว่างครูและศิษย์ เน้นให้ผู้เรียนแต่ละคนพยายามค้นคว้าความจริงได้ด้วยตนเอง การค้นพบลักษณะเฉพาะของตนเองในวิถีทางที่ควรเป็น ถ้าบรรยากาศในห้องเรียนที่มีแต่การแข่งขัน ความก้าวร้าว ความกดดัน มีอคติ การเอารัดเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ทางลบที่จะไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ไม่พัฒนาความรู้ความสามารถ การรู้จักแก้ปัญหา การเลือก การตัดสินใจ ความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง รวมทั้งการไม่รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองและการช่วยตัวเอง ดังนั้น ครูผู้สอนจะต้องแสดงพฤติกรรมที่มีความอบอุ่นเป็นตัวแทนของกลุ่มเพื่อนและสังคม พฤติกรรมของครูจัดเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ตระหนักและรับรู้ว่า เขาได้รับการยอมรับที่เต็มไปด้วยความรักใคร่ชอบพอ เสริมสร้างการตอบสนองความต้องการที่จะนำไปสู่การพัฒนาลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่า จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ครูผู้สอนจึงต้องมีความอดทน ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้เรียนอยู่เสมอ

  1. การสื่อสารแบบเปิด

เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ในการที่จะคิด วิเคราะห์ เลือกสรรที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง การสนับสนุนและพัฒนาตัวผู้เรียนที่จะเป็นตัวเองนั้น สิ่งจำเป็นพื้นฐานประการแรกคือ การสื่อสารแบบเปิดที่อยู่ในบรรยากาศของการยอมรับเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล อารมณ์ ความรู้สึก ค่านิยม พฤติกรรมและแนวคิดของแต่ละบุคคลที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน รวมทั้งการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ บรรยากาศในชั้นเรียนที่ตอบสนองประสบการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้จากเนื้อหาสาระ กระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถพัฒนาตนเองได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนครูผู้สอนส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นถึงผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนหรือสาระความรู้ มากกว่าด้านความรู้สึก ค่านิยมที่ควรจะปลูกฝังและพัฒนาให้ผู้เรียน บรรยากาศในการเรียนเช่นนั้นอาจจะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย มีความกดดัน ไม่สนุกกับบทเรียน และส่งผลให้ไม่ชอบวิชาที่เรียนนั้นได้ในที่สุด

  1. การตระหนักถึงสิ่งต่อไปนี้อยู่เสมอ ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน สิ่งที่ครูต้องตระหนักถึง ได้แก่

3.1 การร่วมมือและการแข่งขันของผู้เรียนภายในชั้นเรียน ประกอบด้วย

3.1.1 บรรยากาศที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนร่วมมือกันแก้ปัญหา

3.1.2 การให้แรงเสริมหรือรางวัล

3.1.3 บรรยากาศที่ผู้เรียนต่างร่วมมือกัน จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากกว่าในบรรยากาศที่มีการแข่งขันกัน ผู้เรียนที่เรียนอ่อน ปานกลาง จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการร่วมมือกับผู้เรียนอื่นๆ ส่วนผู้เรียนที่เรียนดีจะมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้อื่น

3.2 ลักษณะพฤติกรรมและบุคลิกภาพของครูผู้สอนจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

3.3 มีความร่วมมือระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียนโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การเรียนเป็นหลักสำคัญ

3.4 ความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนที่มีต่อกลุ่มเพื่อน ครูผู้สอน และโรงเรียนของผู้เรียน

จะเห็นว่าผู้สอนเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลและส่งผลต่อการเรียนของผู้เรียนทั้งทางด้านความรู้ ความสามารถ คุณลักษณะและค่านิยม เป็นการช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทรรศนะอันกว้างไกล

บรรยากาศในชั้นเรียนจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยา ซึ่งผู้สอนเป็นผู้มีส่วนกำหนดให้มีขึ้น หรือบรรยากาศทางกายภาพและทางสังคม ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ครูจะต้องคำนึงถึงด้วย เพราะจะสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อกระบวนการเรียนการสอนให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เทคนิคการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา

วิธีการทางจิตวิทยาที่ครูต้องเข้าใจและควรเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ฝึกฝนตนเองให้สามารถ และมีทักษะในการปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่ว จนเป็นธรรมชาติของนิสัยประจำตนอย่างกลมกลืนได้แก่เรื่องต่อไปนี้

1. บรรยากาศแห่งความใกล้ชิด

ผู้เรียนทุกคนมีความต้องการที่จะได้รับการสัมผัสแตะต้องและความเอาใจใส่หรือความสนใจจากครูผู้สอนรวมทั้งเพื่อนๆ ในชั้นเรียน และทุกๆ คนมีความต้องการที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ความต้องการเหล่านี้เป็นความต้องการทั้งทางกายและทางจิตใจ การกระทำใดๆ ก็ตามจะเป็นตัวบ่งชี้ที่แสดงความสนใจให้ปรากฏต่อผู้อื่น ผู้เรียนบางคนอาจต้องการความเอาใจใส่นี้มากกว่าคนอื่น เพื่อช่วยให้เขารู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางด้านจิตใจ ซึ่งครูผู้สอนอาจพิจารณาให้ความเอาใจใส่นี้ในรูปของการสัมผัสแตะต้องทางกายโดยตรง หรือในรูปแบบของสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเอาใจใส่เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกใกล้ชิด เช่น การมอง การยิ้มให้ การสบตา การใช้คำพูด การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางหรือด้วยการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการแสดงให้ผู้เรียนรู้สึกสัมผัสและรับรู้ว่ามีความใกล้ชิด ได้รับความเอาใจใส่จากครูผู้สอน การเอาใจใส่ทางบวกที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน ก็จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ดีมีชีวิตชีวา กระฉับกระเฉง และรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ เป็นการเพิ่มพูนความรู้สึกทางด้านดีให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรับรู้ของผู้เรียนอย่างน่าพึงพอใจ ความรู้สึกที่ตามมาก็คือความรู้สึกปรารถนาดีและความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และผู้อื่น ถ้าครูผู้สอนให้ความสนใจสิ่งเหล่านี้อย่างจริงใจ และควบคู่ไปกับการเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่กระทำเกินกว่าปกติธรรมดาก็จัดเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้มาก ดังนั้นสิ่งที่ครูผู้สอนควรปฏิบัติ คือ

1.1 การแสดงท่าทีและกิริยาที่งดงามต่อกัน การเริ่มต้นแบบไทยโดยการกล่าวทักทาย การยิ้ม และท่าทีที่เป็นมิตร

1.2 การให้คำพูดที่ดีๆ ใช้ภาษาสุภาพ อ่อนโยนซึ่งกันและกันจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าครูผู้สอนมีความปรารถนาดี

1.3 ต้องมีความตั้งใจที่จะมีความคิดในสิ่งที่ดีงามต่อกัน มีความปรารถนาดีที่จะเกื้อกูลกันเสมอ อันมาจากส่วนลึกของจิตใจ

1.4 ต้องไม่ทำตนเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ พึงระลึกอยู่เสมอว่า บางสิ่งบางอย่างนั้นบุคคลอื่นอาจจะประพฤติปฏิบัติได้ แต่เรากระทำไม่ได้เพราะเราเป็นครู มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดี ไม่หลงตัวเอง อย่าลืมว่าบุคลิกภาพไม่ได้หมายถึงความหล่อหรือความงาม แต่หมายถึงภาพที่ประทับใจผู้เรียน

1.5 มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการสร้างสายใยแห่งไมตรีจิตที่ดีต่อกัน พร้อมที่จะช่วยผู้เรียนเสมอ

1.6 มีความยืดหยุ่นในด้านความคิดเห็น เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียน ดังนั้นการออมชอมกันบ้างในด้านความคิดเห็น เป็นสิ่งที่จะเสริมสร้างบรรยากาศในการเรียนที่น่าสนใจ

2. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น

ครูผู้สอนจะต้องไม่ลืมว่าความอบอุ่นทางจิตใจเป็นความรู้สึกพื้นฐานของผู้เรียนที่มีอิทธิพลและจะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูผู้สอนมีความเข้าใจผู้เรียน มีความเป็นมิตร ช่วยชี้แนะเกี่ยวกับการเรียนการสอนอย่างมีระบบเป็นขั้นตอน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้รู้สึกอยากเรียน รักการเรียน รักวิชาที่เรียน รวมทั้งรักเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วย

3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ

การยอมรับผู้เรียนอย่างที่เขาเป็น และตระหนักถึงลักษณะเฉพาะ ข้อดีข้อจำกัดของแต่ละบุคคล รวมทั้งภูมิหลังของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน เมื่อครูให้ความนับถือผู้เรียน หมายถึงว่าครูมีความสนใจที่จะส่งเสริมให้บุคคลนั้นได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาด้วยตัวเองและด้วยวิธีการของเขาเอง การยอมรับนับถือต้องไม่เป็นการเห็นแก่ได้ ไม่ฉกฉวยโอกาสหรือการเอาเปรียบจากผู้เรียน การที่ครูเห็นคุณค่าในตัวผู้เรียนว่าเป็นบุคคลที่สำคัญมากกว่าการเรียนการสอนนั้น เพราะว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันรวมทั้งเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วย ครูผู้สอนควรตระหนักดีว่าการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนนั้น จะช่วยให้ผู้เรียนยอมรับนับถือตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้เรียนต่อไป สิ่งที่ครูควรพัฒนาตนเองคือ ทักษะในการแสดงออกในการยอมรับ ซึ่งมี 3 ประการ ดังนี้

3.1 การฟังด้วยความเข้าใจ เป็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนด้วยความตั้งใจ ถ้าครูผู้สอนมิได้เข้าใจว่าผู้เรียนนั้นกำลังพูดว่าอะไร ครูก็คงไม่สามารถตอบสนองในทางยอมรับได้ นอกจากนั้น การรับฟังยังเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ และการให้ความสนใจเรื่องราวนั้นๆ การสื่อความหมายก็จะกระทำได้อย่างอิสระ และมีความไว้วางใจในตัวผู้รับฟังมากขึ้น

3.2 การแสดงถึงความอบอุ่นและความนิยมชมชอบ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความอบอุ่นใจเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาทางด้านจิตใจ ทั้งยังก่อให้เกิดความมั่นใจและความรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น การกระตุ้นหรือสนับสนุนความคิดของผู้เรียน กระทำได้โดยการแสดงความรู้สึกนิยมชมชอบอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนนั้นรู้สึกว่าสามารถจะแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่ รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและแสดงออกอย่างจริงใจในการที่จะเป็นตัวของเขาเอง การให้ความอบอุ่นและสนับสนุนเช่นนี้ มิได้หมายความว่าครูผู้สอนจะต้องเห็นด้วยกับการกระทำของผู้เรียนทุกประการ ดังนั้น ครูควรจะเข้าใจว่า การเห็นด้วย ต่างกับการยอมรับ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ครูไม่จำเป็นต้องให้สมาชิกในชั้นเห็นด้วยกับการกระทำของครูผู้สอนหรือสมาชิกในกลุ่มโดยปราศจากเหตุผล ซึ่งบรรยากาศของความเป็นมิตรที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น เมื่อสมาชิกในกลุ่มเต็มใจที่จะบอกถึงพฤติกรรมที่เขาไม่เห็นด้วยนั้น ในลักษณะที่การยอมรับกันยังคงมีอยู่ นั่นคือการแสดงความไม่เห็นด้วยในความคิดเห็นหรือการกระทำ แต่มิได้หมายความว่าไม่ยอมรับในบุคคลนั้น

3.3 การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น จะทำให้สมาชิกในกลุ่มแสดงออกได้อย่างเปิดเผย เพราะเขารู้สึกว่ามีผู้สนับสนุนเขา การสื่อความหมายให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเขาเป็นที่ยอมรับ จะทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้น การยอมรับนี้ ถ้าผู้สอนทำให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วเพียงใด ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้เรียนให้แสดงออกมากขึ้นเพียงนั้น

สรุป ครูที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำหลักจิตวิทยามาใช้ในการทำความเข้าใจ ความต้องการของผู้เรียน ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ตอบสนองผู้เรียนได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม มีทักษะในการสื่อสารและสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมสร้างบรรยากาศที่ดีในการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียนให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นครูที่ประสบความสำเร็จในการสอน จึงมักมาจากครูที่ประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน

4. เทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการปกครองชั้นเรียน

การควบคุมห้องเรียน

ความสนใจของคนทั่วไปเกี่ยวกับความสำคัญของการปกครองชั้นเรียนได้รับการกระตุ้นเมื่อ คูนิน (Kounin,1970)ได้เขียนสรุปเทคนิคต่างๆ เหล่านี้ไว้ในหนังสือของเขา ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการปกครองชั้นเรียน ซึ่งได้มีหลายประเทศได้นำเอาเทคนิคของเขาไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน หรือแม้กระทั่งการควบคุมห้องเรียน

เทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมชั้นเรียน สรุปใจความได้ดังนี้

1. แสดงให้นักเรียนรู้ว่า ครูร่วมรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขั้นในห้องเรียน

ครูแสดงให้นักเรียนเห็นว่า ครูพร้อมที่จะร่วมรับรู้กับการทำกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน ครูประเภทนี้จะสามารถ ปกครองชั้นเรียนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวินัย ซึ่งจะต่างจากครูที่เข้าห้องมาเพื่อทำหน้สที่สอน ไม่ใคร่ให้ความสนใจกับความเป็นไปในชั้นเรียน ครูประเภทหลังนี้จะก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมได้โดยง่าย

2. มีความสามารถที่จะจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันได้

โดยปกติในขณะที่สอน ครูส่วนใหญ่มักจะตั้งหน้าตั้งตาสอน หากพบว่าเด็กบางคนซึ่งนั่งหลังชั้นเล่นกันหรือรังแกกัน ครูก็มักจะหันไปจัดการกับคู่กรณี โดยปล่อยเด็กทั้งชั้นชั่วครู่ทำให้เด็กส่วนใหญ่เบื่อหรือไม่ก็หันไปเล่น หรือแกล้งกันKounin ได้ให้ข้อคิดว่า ครูที่สามารถปกครองชั้นเรียนได้ดี คือครูที่สามารถจัดการกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันได้ โดยไม่ต้องปล่อยเด็กทั้งชั้นตามลำพัง ดังเช่นในกรณีตัวอย่างเช่นที่กล่าวมา ในขณะที่ครูกำลังสอนอ่าน ครูก็สามารถจัดการกับนักเรียนที่ก่อกวนความสงบของห้องเรียนได้ โดยที่อาจจะเรียกให้ตอบ หรือถามคำถามว่า ขณะนี้อ่านถึงไหนแล้ว เป็นต้น แล้วก็ดำเนินการสอนไปได้ตามปกติ โดยที่เด็กทั้งชั้นไม่เกิดความรู้สึกว่าถูกรบกวน

3. พยายามดำเนินกิจกรรมในการเรียนการสอนให้มีความต่อเนื่อง

ไม่กระโดดข้ามไปข้ามมา ในหลายๆ ครั้งจะพบว่าตัวครูเองเป็นผู้ก่อให้เกิดปัญหาระเบียบวินัยในห้องเรียนเพราะครูไม่สามารถจัดกิจกรรมให้มีความต่อเนื่องราบเรียบ แต่ว่ากระโดนข้ามไปข้ามมา เช่น ในขณะที่สอน ครูหันไปพบว่ามีนักเรียนบางคนทำอะไรไม่เหมาะสม ก็เริ่มบ่น หรือดุ เช่น ลมเอาดินสอมา หรือ วางของไม่ถูกที่ ฯลฯ หรือในขณะที่สอน ครูอาจจะให้ความสนใจกับนักเรียนบางคน แทนที่จะให้กับทั้งกลุ่ม ลักษณะเช่นนี้ของครูก่อให้เกิดการรบกวนในการทำกิจกรรม เพราะไปดึงความสนใจของนักเรียน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางระเบียบวินัยตามม

เพื่อเป็นการช่วยเหลือการทำของของครู ครูควรจะได้วิเคราะห์การดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเองเป็นประจำว่าได้ทำกิจกรรมใดบ้างที่จะก่อให้เกิดปัญหาในชั้นเรียนตามมา เช่น

1. การเปลี่ยนกิจกรรมในขณะที่สอน โดยหันไปดุ หรือบ่นนักเรียน หรือพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียน แต่บังเอิญอยู่ในความสนใจของครู

2. ดำเนินกิจกรรมข้ามไปข้ามมา

3. ให้ความสนใจ หรือให้คำแนะนำกับนักเรียนบางคน ทั้งๆ ที่ควรจะให้เป็นกลุ่มได้

จากเทคนิคที่ โคนิน (Kounin) กล่าวไว้ สรุปได้ว่า นักเรียนจะให้ความสนใจ และให้ความร่วมมือในการเรียนการสอนเป็นอย่างดี ถ้าการดำเนินกิจกรรมของครูเป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบเรียบ

4. พยายามกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนมีส่วนร่วม แม้ว่าจะกำลังช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ครูจะพบว่าในขณะที่ครูให้ความช่วยเหลือนักเรียนบางคนจะทำให้ส่วนที่เหลือเกิดความเบื่อ และไม่กระตือรือร้นต่อการเรียนเท่าที่ควร ซึ่ง Kounin ได้ให้ข้อเสนอแนะเพือกระตุ้นให้นักเรียนทุกคนเกิดความสนใจ แม้ว่าครูจะกพลังช่วยเหลือนักเรียนเป็นบางคนด้วยวีการดังต่อไปนี้

4.1 ใช้การถามคำถาม แล้วหยุดสักครู่เพื่อให้ทุกคนคิดหาคำตอบแล้วจึงเรียกให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ตอบคำถามนั้น หลังจากนั้นสุ่มเรียกให้นักเรียนตอบต่อไปเรื่อยๆทำให้นักเรียนไม่ทราบว่าใครจะต้องเป็นผู้ตอบคำถามเป็นคนต่อไป ถ้าคิดว่ามีนักเรียนบางคนขาดความมั่นใจ กลัวการถูกเรียกให้ตอบ ครูพยายามถามคำถามที่ง่าย ๆเพื่อให้นักเรียนได้หรือพยายามหลีกเลี่ยงการถามคำถาม

4.2 ถ้าครูให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งไปทำเลขบนกระดาน ครูให้นักเรียนคนอื่น ๆ ทำข้อเดียวกันไปพร้อมๆกันในสมุดของตนเอง แล้วสุ่มถามคำตอบจากนักเรียน 2-3 คน เพื่อเปรียบเทียบกันคำตอบบนกระดาน

4.3 ถ้างานที่ให้ทำมีความยาว และค่อนข้างยุ่งยากซับซ้อน ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ช่วยกันทำ โดยอาจจะแบ่งเป็นตอนๆ สำหรับนักเรียนชั้นประถม ถ้าเป็นการอ่านทีมีความยาวก็ให้ช่วยกันอ่านคนละประโยคต่อๆกันไป

5. ใช้เทคนิคการเรียนรู้หลายรูปแบบ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียนโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา สำหรับนักเรียนในระดับมัธยม วิธีการนี้ไม่ใคร่เหมาะ เพราะนักเรียนในวัยนี้สนใจที่จะศึกษา ค้นคว้าในเรื่องที่ซับซ้อน ฉะนั้น การเปลี่ยนเทคนิควิธีการบ่อยๆ จะเป็นการรบกวน

6. ให้ครูตระหนักถึงท่าทีของกลุ่มที่มีต่อคำตำหนิตำเตียนที่มีต่อคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ (ripple effect) ดังนั้นเมื่อครูวิจารณ์พฤติกรรมของนักเรียนคนใดคนหนึ่ง ครูต้องแน่ใจว่าเป็นการวิจารณ์เฉพาะพฤติกรรม ไม่ใช่วิจารณ์บุคคลิกภาพ หรือลักษณะนิสัยของผู้นั้น และสิ่งสำคัญที่ครูต้องระวัง คือ การที่ครูพยายามหลีกเลี่ยงการระเบิดอารมณ์โกรธ ถ้าครูท่านใดทำเช่นนั้นก็จะเป็นการช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาต่างๆ ของนักเรียนซึ่ง Kounin ได้เสนอแนะวิธีที่จะจัดการกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของนักเรียนดังนี้

6.1 ครูจะต้องชี้ให้ชัดว่า ใครคือผู้ทำผิด และให้ระบุถึงพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับให้ชัดเจน เช่น ชาลีอย่าโยนหนังสือให้สุดาซิคะ

6.2 ครูให้คำแนะนำซึ่งมีลักษณะที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เหมาะสมต่อไป เช่น ชาลีเก็บหนังสือไว้บนชั้นให้เรียบร้อยนะ

6.3 อธิบายเหตุผลให้นักเรียนฟังว่า เหตุใดจึงต้องหยุดการกระทำพฤตกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ชาลีโยนหนังสือเช่นนั้น จะทำให้หนังสือขาด คนอื่นๆ ก็จะไม่มีอ่าน และครูก็ไม่มีเงินจะซื้อใหม่

6.4 ครูจะต้องไม่แสดงความเป็นคนเจ้าอารมณ์ หรือไม่ให้เกียรติ หรือพูดจาดูถูกนักเรียน ตลอดจนการไม่ลงโทษอย่างรุนแรง Kounin สรุปว่า ปฏิกิริยาที่รุนแรงไม่สามารถช่วยพัฒนาหรือปรับปรุงพฤติกรรมที่มีปัญหาของนักเรียนได้ เพราะความโกรธ และการตำหนิอย่างรุนแรงจะทำให้นักเรียนเกิดความเครียดเพราะความไม่พึงพอใจ

6.5 ให้ครูสนใจกับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ไม่ใช่สนใจกับบุคลิกภาพ เช่น นักเรียนอย่าผลักเพื่อนซิค่ะ เพราะจะทำให้เพื่อนล้มและเจ็บ ซึ่งจะดีกว่าการที่จะพูดว่า เธอเป็นคนเหลวไหล ไม่มีหัวคิด การทำเช่นนี้ทำให้ครูและเพื่อๆ ไม่ชอบเธอ

จากผลงานวิจัยของนักจิตวิทยา มหาวิทยาแท็กซัส และจากผลงานวิจัยของนักจิตวิทยาบางคน เช่น Brophy (1979) และ Good (1982) พบว่า

1. นักเรียนที่อยู่ในชั้นเรียนที่มีการควบคุมชั้นเรียนที่ดี จะเป็นผู้รู้ถึงความคาดหวังของครูที่มีต่อคน และพร้อมที่จำทำตามความคาดหวังนั้นๆ

2. นักเรียนมีความกระตือรือร้นในการเรียน และในการร่วมกิจกรรม

3. การเรียนเป็นไปด้วยดี ไม่เสียเวลา ไม่สับสน และไม่มีการก่อกวน

4. นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียน บรรยากาศในชั้นเรียนมีลักษณะผ่อนปรนไม่ตึงเครียด เป็นบรรยากาศที่รื่นรมย์

5. ข้อเสนอแนะการวิเคราะห์เทคนิคที่จำเป็นนำมาใช้ในการปกครองชั้นเรียน

1) แสดงให้นักเรียนเห็นถึงความเชื่อมั่นในตนเองของครู ตลอดจนการเตรียมพร้อมสำหรับการเริ่มบทเรียนในวันแรก

ครูทุกคนตระหนักดีว่าชั่วโมงแรกเป็นชั่วโมงที่สำคัญ โดยเฉพาะคนที่เริ่มงานใหม่เป็นชั่วโมงที่นักเรียนมีความกระตือรือร้น มีความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ารู้ว่าเป็น ครูใหม่ ถ้าผู้เป็นครูเกิดความกลัว และไม่เชื่อมั่นในตนเอง ก็จะเริ่มตกอยู่ในความลำบากในการทำงานต่อเมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น บรรยากาศในชั้นเรียนจึงจะเริ่มดีขึ้น

Kounin ได้แสนอวิธีที่จะพบกับนักเรียนในชั่วโมงแรกดังนี้ ให้ครูแจกกระดาษขนาด4/6 นิ้ว ให้นักเรียนทุกคน พร้อมทั้งให้เขียนชื่อ นามสกุล และชื่อที่อยากให้เรียก งานอดิเรก และกิจกรรมที่ชอบ ตลอดจนประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น (สำหรับนักเรียนในชั้นประถมศึกษาที่ยังเขียนชื่อไม่ได้ ให้ใช้วิธีพูดคุย) ในขณะที่นักเรียนกำลังเขียน ครูก็ได้มีโอกาสสังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคล การที่ครูได้มีโอกาสทำความรู้จักกับนักเรียนเป็นรายบุคคล ช่วยให้เกิดความคุ้นเคยได้เร็ว และไม่ตื่นเต้นหรือประหม่าในเวลาสอน

2) ให้คิดว่าจะวางแผนอย่างไรกับการปกครองชั้นเรียนในแต่ละวัน และจะพูดอะไรกับนักเรียนในช่วงเวลา 2-3 นาที ของวันแรก

ครูที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ จะแสดงให้นักเรียนรับรู้ตั้งแต่ชั่วโมงแรกว่าครูรู้วิธีที่จะควบคุมชั้นเรียนอย่างไร สื่อให้นักเรียนรู้ว่าครูต้องการความร่วมมือ เพื่อแสดงให้นักเรียนเห็นว่า ครูมีความมั่นใจ และมีความสามารถ

3) สร้างกฎระเบียบในชั้นเรียน และกระตุ้นให้นักเรียนสนใจ

ครูส่วนใหญ่มักจะบอกให้นักเรียนทราบถึงกฎระเบียบตั้งแต่วันแรก บางคนเขียนไว้บนกระดาน หรือครูบางคนพูดให้นักเรียนฟัง แต่วิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

Kounin ได้เสนอวิธีที่ดีกว่า คือ การกระตุ้นให้นักเรียนช่วยกันออกกฎระเบียบต่างๆให้นักเรียนทุกคนได้ทำความเข้าใจกับกฎระเบียบนั้น ครูสามารถที่จะทำให้กฎระเบียบนั้นๆ เป็นที่พึงปรารถนา และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ถ้าครูให้นักเรียนได้ร่วมกันอภิปรายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎระเบียบนั้นๆ

4) เริ่มต้นชั่วโมงแรกด้วยการให้งานที่มีความชัดเจน ซึ่งสามารถปฏิบัติได้

บอกให้นักเรียนรับทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง บอกให้ทราบถึงเงื่อนไขหรือกฎเกณฑ์ที่จะใช้ในการประเมินความสำเร็จ ให้งานที่นักเรียนสามารถทำเสร็จได้ภายในชั่วโมง ในระดับประถมศึกษาควรจะให้งานซึ่งสามารถช่วยให้นักเรียนได้ทบทวนความรู้ที่ผ่านมาในชั้นเรียนก่อน สำหรับในระดับมัธยมศึกษาให้งานที่ไม่ต้องมีความยาวมากนัก และไม่ต้องเกี่ยวข้องกับวิชาการมากนัก

สรุป

จิตวิทยาการเรียนการสอนเป็นศาสตร์อันมุ่งศึกษาการเรียนรู้และพฤติกรรมของผู้เรียนในสถานการณ์การเรียนการสอน พร้อมทั้งหาวิธีที่ดีที่สุดในการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน

ความรู้ที่อยู่ในขอบข่ายการเรียนการสอน

  1. ความรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์
  2. หลักการของการเรียนรู้และการสอนประกอบด้วยทฤษฎีการเรียนรู้และการเรียนรู้ชนิดต่างๆ
  3. ความแตกต่างระหว่างบุคคลที่มีผลต่อการเรียน
  4. การนำเอาหลักการและวิธีการเรียนรู้ไปใช้ในการ แก้ปัญหาการเรียนการสอน

จุดมุ่งหมายของการนำจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอน

ประการแรก มุ่งพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ในสถานการณ์การเรียนการสอน

ประการที่สอง นำเอาองค์ความรู้ข้างต้นมาสร้างรูปแบบเชิงปฏิบัติเพื่อครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

หลักการสำคัญ

1. มีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอน

2. มีความสามารถในการประยุกต์หลักการจิตวิทยาเพื่อการเรียนการสอน

3. มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่

4. มีเจตคติที่ดีต่อผู้เรียน

ความสำคัญของจิตวิทยาการเรียนการสอน

  • ทำให้รู้จักลักษณะนิสัยของผู้เรียน
  • ทำให้เข้าใจพัฒนาการบุคลิกภาพบางอย่างของผู้เรียน
  • ทำให้ครูเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล
  • ทำให้ครูทราบว่ามีองค์ประกอบใดบ้างที่มีผลกระทบต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียนเช่น แรงจูงใจ ความคาดหวัง เชาวน์ปัญญา ทัศนคติ ฯลฯ ทำให้ครูทราบทฤษฎี หลักการเรียนรู้ รวมทั้งหลักการสอนและวิธีการสอน
  • ทำให้ครูวางแผนการสอนได้อย่างเหมาะสม
  • ทำให้ครูจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนได้สอดคล้องกับพัฒนาการ รวมทั้งสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่เอื้อต่อการปกครองชั้นเรียน

อ้างอิง

  1. กันยา สุวรรณแสง. (2540). จิตวิทยาทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร รวมสาส์น
  2. ประสาท อิสรปรีดา. (2538). สารัตถะจิตวิทยาการศึกษา. มหานสารคาม.โครงการตำรามหาวิทยาลัย มหาสารคาม.
  3. สุรางค์ โค้วตระกูล. (2556). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพมหาคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  4. แสงเดือน ทวีสิน. (2554). จิตวิทยาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร:ไทยเส็ง.
  5. พรรณี ช. เจนจิต. (2545). จิตวิทยาการเรียนการสอน.พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : เมธีทิปส์.
  6. รศ.ดร.พรรณีชูทัยเจนจิต. (2550). จิตวิทยาการเรียนการสอน. พิมพ์ครั้งที่5 สำนักพิมพ์ศูนย์ส่งเสริมวิชาการกรุงเทพ.
  7. ที่มา https://www.gotoknow.org/posts/205143 วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558
  8. ที่มา http://bunmamin25385.blogspot.com/ วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558
  9. ที่มา http://www.fityatulhaq.net/forum/index.php?topic=2355.0 วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2558