ข้อคิด จากเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะ ห มังกุ ห นิง

ข้อคิด จากเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะ ห มังกุ ห นิง

เพื่อน ๆ เคยได้ยินสำนวน ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ ไหม แล้วรู้ความหมายและที่มาของสำนวนนี้    หรือเปล่า สำนวนนี้หมายถึงคนที่เคยว่ากล่าวคนอื่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ตัวเองกลับเป็นเช่นนั้นเสียเอง และแน่นอนตามชื่อ วรรณคดีไทยซึ่งเป็นที่มาของสำนวนนี้ก็คือ ‘อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง’ นั่นเอง ที่มาของสำนวนนี้จะเป็นอย่างไร เนื้อเรื่องอิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิงจะสนุกสนานเข้มข้นแค่ไหน วันนี้ StartDee จะพาทุกคนไปดู !

นอกจากบทความนี้ StartDee ยังมีบทเรียน ‘อิหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง’ ในรูปแบบแอนิเมชันสุดสนุกด้วย ดาวน์โหลดแอป StartDee ให้พร้อม แล้วไปเรียนกับคุณครูไตเติ้ลได้เลย

ข้อคิด จากเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะ ห มังกุ ห นิง

ความเป็นมาและจุดมุ่งหมายในการแต่ง เรื่อง อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง

หากเพื่อน ๆ สังเกตจากชื่อก็น่าจะเดาได้ว่าอิเหนาไม่ใช่วรรณคดีไทยแท้ เพราะอิเหนาเป็นวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘ชวา’ หรือประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ‘อิเหนา’ เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่มีเค้าโครงมาจากพงศาวดารของชาวชวา ถูกแต่งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ‘อิเหนา’ กษัตริย์ชวาที่เชี่ยวชาญทั้งการรบ การปกครอง และได้สร้างความเจริญให้แก่ชวาเป็นอย่างมาก ชาวชวาจึงถือว่าอิเหนาเป็นวีรบุรุษและผู้มีฤทธิ์ ตามพงศาวดารเรียกอิเหนาว่า ‘ปันจี อินู กรัตปาตี’ (Punji Inu Kartapati) หรือเรียกสั้น ๆ ว่าปันหยี เรื่องราวของอิเหนาจึงถูกเล่าสืบต่อกันมาจนกลายเป็นนิทานที่เต็มไปด้วยอิทธิปาฏิหาริย์

อิเหนาเริ่มเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่าว่าพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้แก่ เจ้าฟ้าหญิงกุณฑล และเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ  ทรงไฟัง ‘นิทานปันหยี’ ซึ่งนางข้าหลวงจากปัตตานีเล่าถวาย เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองจึงนำเค้าโครงเรื่องมาแต่งเป็นบทละคร โดยเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงนิพนธ์บทละครเรื่องดาหลัง (อิเหนาใหญ่) ส่วนเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎทรงนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนา (อิเหนาเล็ก) และเมื่อเสียกรุงอยุธยา ต้นฉบับบทละครเรื่องอิเหนาทั้งสองก็หายไป ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประพันธ์บทละครอิเหนาขึ้นใหม่ 

จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ทรงมีพระราชประสงค์ให้ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทยที่เสื่อมโทรมขึ้นมาอีกครั้ง จึงโปรดเกล้าให้กวีแต่งละครใน* ขึ้นมาหลายเรื่อง เช่น อุณรุท ดาหลัง และอิเหนา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ได้พระราชนิพนธ์อิเหนาสำหรับบทละครใน ลักษณะคำประพันธ์เป็นรูปแบบกลอนบทละคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความบันเทิงแก่ข้าราชบริพารและประชาชน ดังในตอนท้ายของบทพระราชนิพนธ์ที่กล่าวว่า...

อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง        
สำหรับงานการฉลองกองกุศล
ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์               
แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไปฯ
หากพระองค์ทรงพิภพปรารภเล่น          
ให้รำเต้นเล่นละครคิดกลอนใหม่
เติมแต้มต่อติดประดิษฐ์ไว้                   
บำรุงใจไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

จึงสรุปได้ว่าจุดมุ่งหมายในการแต่งอิเหนาคือ เพื่อให้เป็นบทละครใน สำหรับเล่นเพื่อสร้างความบันเทิงแก่ข้าราชบริพารและประชาชน และผู้แต่งอิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิงที่เพื่อน ๆ ได้เรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ก็คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) นั่นเอง

*ละครใน คือ ละครร้องรำในราชสำนัก เดิมทีใช้ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน แต่ภายหลังได้ปรับเปลี่ยนให้ใช้ผู้แสดงชายได้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ บทละครที่ใช้แสดงละครในมีเพียง ๔ เรื่องเท่านั้น ได้แก่ อิเหนา ดาหลัง รามเกียรติ์ และอุณรุท

ตัวละคร เรื่องอิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง

เนื้อเรื่องของอิเหนาเล่าถึง ‘ราชวงศ์อสัญแดหวา’ ท้าวปะตาระกาหรา ต้นราชวงศ์อสัญแดหวามีพระราชโอรส ๔ พระองค์ คือ ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ทุกพระองค์ต่างเป็นกษัตริย์ปกครองนคร ๔ นครตามชื่อของตนเอง ราชวงศ์อสัญแดหวาถือเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในดินแดนชวาเนื่องจากสืบเชื้อสายมาจากเทวดา โดยตัวละครของราชวงศ์นี้จะใช้คำนำหน้าว่า 'ระเด่น' ส่วนราชวงศ์อื่น ๆ ที่มียศต่ำกว่าจะใช้คำนำหน้าว่า 'ระตู'

ข้อคิด จากเรื่องอิเหนา ตอนศึกกะ ห มังกุ ห นิง

เส้นตรง = ความสัมพันธ์ทางสายเลือด เส้นประ = ความสัมพันธ์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด

วงศ์เทวัญ (ราชวงศ์อสัญแดหวา)

ราชวงศ์อสัญแดหวาสืบเชื้อสายมาจากท้าวปะตาระกาหลาซึ่งเป็นเทวดา* ท้าวปะตาระกาหลามีพระราชโอรส ๔ พระองค์ คือ ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ทุกพระองค์ต่างเป็นกษัตริย์ปกครองนคร ๔ นครตามชื่อของตนเอง เนื่องจากเป็นวงศ์เทวัญที่สืบเชื้อสายมาจากเทวดา ราชวงศ์อสัญแดหวาจึงเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในดินแดนชวาทั้งในด้านเกียรติยศและศักดิ์ศรี สังเกตว่าตัวละครของราชวงศ์นี้จะใช้คำนำหน้าว่า ‘ระเด่น’ ส่วนราชวงศ์อื่นๆ ที่มีศักดิ์ต่ำกว่าจะใช้คำนำหน้าว่า ‘ระตู’ 

*ถึงจะเป็นเทวดา แต่ท้าวปะตาระกาหลาก็มีบทบาทในเส้นเรื่องอิเหนาเยอะมาก (หลัก ๆ จะเป็นการสั่งสอนอิเหนาเมื่อทำไม่ถูกต้อง) เช่น เมื่ออิเหนาปฏิเสธการแต่งงานกับบุษบา ท้าวปะตาระกาหลาก็โขมยรูปวาดบุษบาไปไว้กลางป่า และแปลงร่างเป็นกวางทองเพื่อล่อวิหยาสะกำให้มาพบรูปวาด เมื่ออิเหนาลักพาตัวบุษบาไปไว้ในถ้ำ ท้าวปะตาระกาหลาก็ไม่พอใจที่อิเหนาทำไม่ถูกต้อง จึงบันดาลให้เกิดลมหอบ พรากบุษบาไปจากอิเหนา เป็นต้น

  • เมืองกุเรปัน

ปกครองโดยท้าวกุเรปัน เบื้องต้นท้าวกุเรปันและลิกูมีโอรสชื่อกะหรัดตะปาตี (เป็นพี่ชายต่างแม่ของอิเหนา) ต่อมาท้าวกุเรปันก็มีโอรสกับประไหมสุหรี (นิหลาอรตา) อีกสองคน คนแรกคือ ‘อิเหนา’ ซึ่งเป็นหนุ่มรูปงาม เจ้าชู้ คารมดี มีความสามารถในการรบ อิเหนามี ‘กริชเทวา’ อาวุธวิเศษคู่กายที่ท้าวปะตาระกาหลา (ปู่) ประทานให้ตอนเกิด ชื่ออื่น ๆ ของอิเหนา เช่น ระเด่นมนตรี มิสาระปันหยี (เป็นชื่อในวงการโจรป่า) นอกจากนี้อิเหนายังมีน้องสาวชื่อวิยะดา (เกนหลง) อีกคนหนึ่งด้วย โดยท้าวกุเรปันได้หมั้นหมายอิเหนาไว้กับบุษบาแห่งเมืองดาหา และหมั้นหมายวิยะดาไว้กับสียะตราแห่งเมืองดาหาตามธรรมเนียมของวงศ์เทวัญ

  • เมืองดาหา

ปกครองโดยท้าวดาหา ซึ่งท้าวดาหาและประไหมสุหรี (ดาหราวาตี) มีธิดาองค์โตผู้เลอโฉมคือบุษบา (อุณากรรณ) และสียะตรา (ย่าหรัน) เป็นโอรสคนเล็ก ในอิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิงนี้ เมื่อมีศึกชิงตัวบุษบามาประชิดเมือง ท้าวดาหาได้ขอความช่วยเหลือจากวงศ์เทวัญทั้ง ๓ เมือง ให้มาช่วยรบ อิเหนาจึงต้องยกทัพมาช่วยท้าวดาหา (อา) เพราะถ้าไม่ยกทัพมาช่วยอา ท้าวกุเรปันขู่ว่าจะตัดพ่อตัดลูกทันที

  • เมืองกาหลัง

ปกครองโดยท้าวกาหลัง ท้าวกาหลังมีธิดาสองคนคือสะการะหนึ่งหรัดและบุษบารากา* ในศึกกะหมังกุหนิงครั้งนี้ ท้าวกาหลังไม่มีโอรสจึงส่งตำมะหงงและดะหมังซึ่งเป็นเสนาบดีตำแหน่งใหญ่มาช่วยรบแทน

*ภายหลังบุษบารากาได้คู่กับกะหรัดตะปาตีแห่งเมืองกุเรปัน และสะการะหนึ่งหรัดคู่กับสุหรานากงแห่งเมืองสิงหัดส่าหรี

  • เมืองสิงหัดส่าหรี

ปกครองโดยท้าวสิงหัดส่าหรี ท้าวสิงหัดส่าหรีและประไหมสุหรีมีโอรสคือสุหรานากง และมีธิดาคือจินดาส่าหรี

วงศ์ระตู (ราชวงศ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่วงศ์เทวัญ)
  • เมืองหมันหยา

เมืองหมันหยาเป็นวงศ์ระตูที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวงศ์เทวัญมากที่สุด เพราะนิหลาอรตา ประไหมสุหรีแห่งเมืองกุเรปัน (แม่ของอิเหนา) เป็นธิดาของท้าวหมันหยาองค์ก่อนหน้า ส่วนดาหราวาตีประไหมสุหรีแห่งเมืองดาหา ​(แม่ของบุษบา) ก็เป็นธิดาของท้าวหมันหยาเช่นกัน ต่อมาท้าวหมันหยาองค์ปัจจุบันและประไหมสุหรีมีโอรสคือดาหยัน และมีธิดาคือ ‘จินตะหราวาตี’ ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับอิเหนา เมื่อพระอัยยิกา (ยาย) ผู้เป็นพระมารดาของนิหลาอรตาสิ้นพระชนม์ อิเหนาจึงต้องมางานพระเมรุที่เมืองหมันหยา และได้พบกับจินตะหราวาตีในตอนนี้เอง 

  • เมืองกะหมังกุหนิง

ระตูกะหมังกุหนิงผู้ครองเมืองกะหมังกุหนิงมีโอรสหัวแก้วหัวแหวนองค์หนึ่งคือ ‘วิหยาสะกำ’ ระตูกะหมังกุหนิงรักลูกชายมาก ๆ รู้ว่าการออกศึกครั้งนี้อาจถึงตาย แต่เพื่อความต้องการของลูกชายก็ยอมออกรบ ระตูกะหมังกุหนิงมีพี่น้องที่มาช่วยทำศึกในครั้งนี้คือระตูปาหยัง และระตูปาหมัน

  • เมืองจรกา

ปกครองโดยระตูจรกาผู้มีหน้าตาอัปลักษณ์ แต่จรกาก็ยังใฝ่ฝันอยากมีมเหสีที่งดงามหมดจด ถึงขั้นสั่งให้จิตรกรออกเดินทางวาดภาพสาวงามทั่วแผ่นดินชวามาให้ตนเลือก จนจรกาได้เห็นรูปวาดของบุษบาก็หลงใหลคลั่งใคล้จนสิ้นสติ และขอให้ระตูล่าสำผู้เป็นพี่ไปช่วยสู่ขอบุษบาทันที

  • เมืองปักมาหงัน

ปกครองโดยระตูปักมาหงัน ระตูปักมาหงันมีธิดาคือมาหยารัศมี (ซึ่งได้เป็นมะเดหวีฝั่งซ้ายของอิเหนาในเวลาต่อมา) และโอรสคือสังคามาระตา สังคามาระตาสนิทกับอิเหนามากราวกับเป็นพี่น้องร่วมสายเลือด ซึ่งในศึกกะหมังกุหนิงครั้งนี้สังคามาระตาก็มาช่วยอิเหนาออกรบ และเป็นผู้สังหารวิหยาสะกำ

เรื่องย่อ อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง 

ในแผ่นดินชวา มีกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่สืบเชื้อสายมาจากวงศ์เทวัญ (เทวดา) ๔ พระองค์ ได้แก่ ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา ท้าวกาหลัง และท้าวสิงหัดส่าหรี ทุกพระองค์ต่างเป็นกษัตริย์ปกครองนคร ๔ นครตามชื่อของตนเอง ท้าวกุเรปันมีโอรสรูปงามนามว่า ‘อิเหนา’ ส่วนท้าวดาหาก็มีพระธิดาคือ ‘บุษบา’ ผู้ทรงโฉม ตามประเพณีของกษัตริย์วงศ์เทวัญ ท้าวกุเรปันและท้าวดาหาจึงตุนาหงัน (หมั้นหมาย) อิเหนาและบุษบาไว้ตั้งแต่เกิด

แต่เมื่ออิเหนาโตเป็นหนุ่มอายุ ๑๕ ปีก็ไปพบรักกับจินตะหราวาตี ธิดาของท้าวหมันหยาที่พบในงานพระเมรุของพระอัยยิกา (ยาย) อิเหนาคลั่งไคล้นางจินตะหราวาตีมากจนไม่ยอมกลับบ้านกลับเมือง รวมถึงปฎิเสธการหมั้นหมายกับนางบุษบาด้วย ท้าวดาหาจึงโกรธมากและประกาศว่าจะยกบุษบาให้ใครก็ได้ที่มาสู่ขอ เมื่อระตูจรกาได้ทราบข่าวจึงให้ระตูล่าสำ พี่ชายของตนไปสู่ขอนางบุษบา ท้าวดาหาก็ต้องยกให้แม้จะไม่เต็มใจนักเพราะจรกานั้นรูปชั่วตัวดำ แต่ในขณะเดียวกัน ‘วิหยาสะกำ’ โอรสของท้าวกะหมังกุหนิงตามกวางทอง (องค์ปะตาระกาหลาแปลง) ได้พบรูปวาดของนางบุษบา (เป็นภาพที่องค์ปะตาระกาหลาจงใจให้ภาพที่จรกาสั่งให้ช่างวาดภาพไปวาดนั้นปลิวมาตกในป่าภาพหนึ่งจากภาพที่วาดไว้ 2 ภาพ) ขณะออกประพาสป่าและหลงใหลในตัวบุษบาเป็นอย่างมาก ท้าวกะหมังกุหนิงจึงไปสู่ขอนางบุษบาจากท้าวดาหา แต่ก็ถูกปฎิเสธเนื่องจากท้าวดาหายกนางบุษบาให้จรกาไปแล้ว ท้าวกะหมังกุหนิงโกรธมากจึงยกทัพมาล้อมกรุงดาหาเพื่อชิงตัวนางบุษบา ท้าวดาหาจึงได้ขอความช่วยเหลือจากท้าวกุเรปัน ท้าวกาหลัง ท้าวสิงหัดส่าหรี และจรกาให้ยกทัพมาช่วยกันรบ ท้าวกุเรปันสั่งให้อิเหนามาช่วยรบที่กรุงดาหาและเป็นที่มาของ อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง ที่เราเรียนกันในบทเรียนนั่นเอง

ซึ่งในท้ายที่สุดอิเหนาก็ยกทัพมากับกะหรัดตะปาตี (พี่ชายคนละแม่) ทำให้ท้าวดาหาดีใจมากเพราะเชื่อมั่นว่าอิเหนาต้องรบชนะ แต่ด้วยความที่อิเหนาเคยทำให้ท้าวดาหาโกรธเรื่องปฏิเสธการแต่งงานกับบุษบาจนทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นมา อิเหนาจึงตัดสินใจสู้รบให้ชนะก่อนแล้วค่อยเข้าไปเฝ้าท้าวดาหา เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงยกทัพมาใกล้ดาหาก็เกิดการต่อสู้กับกองทัพของอิเหนา ในที่สุดสังคามาระตาก็สังหารวิหยาสะกำ ส่วนอิเหนาสังหารท้าวกะหมังกุหนิงตายในสนามรบด้วยกริชเทวา 

แต่เรื่องวุ่นวายก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเมื่ออิเหนารบชนะก็ได้เข้าเฝ้าท้าวดาหาและได้พบกับนางบุษบา อิเหนาเมื่อได้พบนางบุษบาก็หลงรักนางทันทีและรู้สึกเสียดายมาก จากที่ก่อนหน้านี้อิเหนามีความเห็นว่า ความหลงใหลในตัวบุษบาของจรกาและวิหยาสะกำนั้นนำไปสู่การสู้รบแย่งชิงนางบุษบา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย แต่เมื่อได้พบนางบุษบาอิเหนาก็กลับหลงรักนางเสียเอง แถมยังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้นางบุษบามาครองจนนำไปสู่ความวุ่นวายต่าง ๆ และเหตุการณ์นี้ก็เป็นที่มาของสำนวน ‘ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง’ ที่เราได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ นั่นเอง

รู้หรือไม่ ตอน กษัตริย์ชวากับมเหสีทั้ง ๕ (ตำแหน่ง)

กษัตริย์ชวาในยุคนั้นจะมีมเหสีทั้งหมด ๕ องค์ ๕ ตำแหน่งเรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ ประไหมสุหรี มะเดหวี มะโต ลิกู และเหมาหลาหงี ซึ่งจุดนี้ ๕ ตำแหน่งก็ดูเหมือนจะเยอะมากพอแล้ว แต่อิเหนาของเราไม่พอจ้า เพราะกว่าเรื่องราวจะจบ อิเหนาได้ครองเมืองครองรักกับบุษบา อิเหนาก็ได้ภรรยารวมทั้งหมด ๑๐ คน ซึ่งวิธีแก้ปัญหาตำแหน่งไม่พอแบบสวย ๆ ก็คือ… แบ่งเป็นฝั่งซ้ายฝั่งขวามันซะเลย โดยรายนามมเหสีทั้ง ๑๐​ ตามตำแหน่งฝั่งซ้ายและขวามีดังนี้

ตำแหน่งมเหสีฝั่งซ้าย ตำแหน่งมเหสีฝั่งขวา
ประไหมสุหรี = บุษบา ประไหมสุหรี = จินตะหรา
มะเดหวี = มาหยารัศมี มะเดหวี = สะการะวาตี
มะโต = บุษบากันจะหนา มะโต = บุษบาวิลิศ
ลิกู = อรสานารี ลิกู = ระหนากะระติกา
เหมาหลาหงี = หงยาหยา เหมาหลาหงี = สุหรันกันจาส่าหรี

กลอนบทละครวรรคทองของอิเหนา

บทละครเรื่องอิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) นั้นมีวรรคทองที่น่าศึกษาอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น

    แล้วว่าอนิจจาความรัก พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะเชี่ยวเป็นเกลียวไป ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา
สตรีใดในพิภพจบแดน ไม่มีใครได้แค้นเหมือนอกข้า
ด้วยใฝ่รักให้เกินพักตรา จะมีแต่เวทนาเป็นเนืองนิตย์
โอ้ว่าน่าเสียดายตัวนัก เพราะเชื่อลิ้นหลงรักจึงช้ำจิต
จะออกชื่อหรือชั่วไปทั่วทิศ เมื่อพลั้งคิดผิดแล้วจะโทษใคร
เสียแรงหวังฝังฝากชีวี พระจะมีเมตตาก็หาไม่
หมายบำเหน็จจะรีบเสด็จไป ก็รู้เท่าเข้าใจในทำนอง
ด้วยระเด่นบุษบาโฉมตรู ควรคู่ภิรมย์สมสอง
ไม่ต่ำศักดิ์รูปชั่วเหมือนตัวน้อง ทั้งพวกพ้องสุริย์วงศ์พงศ์พันธุ์
โอ้แต่นี้สืบไปภายหน้า จะอายชาวดาหาเป็นแม่นมั่น
เขาจะค่อนนินทาทุกสิ่งอัน นางรำพันว่าพลางทางโศกา

เริ่มด้วยบทโศกของจินตะหราวาตี เมื่ออิเหนาต้องจากเมืองหมันหยาไปรบในศึกชิงตัวบุษบา อิเหนาก็มาบอกลาจินตะหรา นางจึงเศร้าสร้อยเสียใจและเริ่มตัดพ้ออิเหนา ในกลอนบทนี้จินตะหราคร่ำครวญถึงความรักของตน โดยเปรียบเทียบความรักกับสายน้ำ นางกล่าวว่าความรักช่วงที่จีบกันใหม่ ๆ ก็เปรียบเหมือนสายน้ำเชี่ยว แต่เมื่อสายน้ำไหลผ่านไปแล้วก็ไม่ไหลย้อนกลับมาอีก เหมือนช่วงนี้ที่ความรักจากพี่อิเหนาเริ่มจะหมดโปรโมชัน นางผิดเองที่คิดผิดไปหลงรักและเชื่อใจอิเหนา จากนั้นจึงตัดพ้อว่าตนเองเป็นเพียงธิดาของวงศ์ระตูซึ่งต่ำศักดิ์กว่าวงศ์เทวัญ ไม่คู่ควรเท่าอิเหนากับบุษบา ถ้าไม่หวังสูงมากก็คงไม่เจ็บปวดอย่างนี้ และทิ้งท้ายว่าต่อไปนี้คงจะต้องอายชาวดาหาแน่ ๆ ทุกคนคงจะนินทาว่านางแย่งอิเหนามาจากบุษบาแล้วสุดท้ายก็โดนทิ้ง บทดราม่ามาก ๆ กวีโวหาร ที่ใช้ในบทนี้จึงเป็นสัลลาปังคพิไสย (บทโศก) และพิโรธวาทัง (บทตัดพ้อ) นั่นเอง

     ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่
เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
นางนวลจับนางนวลนอน เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
จากพรากจับจากจำนรรจา เหมือนจากนางสการะวาตี
แขกเต้าจับเต่าร้างร้อง เหมือนร้างห้องมาหยารัศมี
นกแก้วจับแก้วพาที เหมือนแก้วพี่ทั้งสามสั่งความมา
ตระเวนไพรร่อนร้องตระเวนไพร เหมือนเวรใดให้นิราศเสน่หา
เค้าโมงจับโมงอยู่เอกา เหมือนพี่นับโมงมาเมื่อไกลนาง
คับแคจับแคสันโดดเดี่ยว เหมือนเปล่าเปลี่ยวคับใจในไพรกว้าง
ชมวิหคนกไม้ไปตามทาง คะนึงนางพลางรีบโยธี

กลอนอีกบทที่น่าสนใจคือ ‘บทชมดง’ ของอิเหนาบทนี้ ขณะที่อิเหนาเดินทัพไปรบก็ได้พบธรรมชาติในป่า มีทั้งนก ทั้งต้นไม้ แต่ไม่ว่าอิเหนาจะพบเจออะไรก็ไม่วายคิดถึงนาง ๆ ที่จากมาตามประสาคนมีความรัก โดยกลอนบทนี้มีการใช้กวีโวหารแบบเสาวรจนีย์ หรือบทชมความงามของธรรมชาติ มีการใช้โวหารภาพพจน์คือการอุปมา เปรียบเทียบธรรมชาติที่พบเห็นกับเรื่องราวความรักของตน การเล่นคำพ้องรูปพ้องเสียงของชื่อนก ชื่อพรรณไม้ คำนามและคำกริยาอื่น ๆ ดังนี้

บรรทัดที่ ชื่อนก ชื่อต้นไม้ คำนามและคำกริยาอื่น ๆ ที่พ้องกับชื่อนกหรือชื่อต้นไม้
เบญจวรรณ (น. นกแก้วขนาดโตมีหลายสี) วัลย์ (น. เถาวัลย์ ไม้เถา) วัน (น. วันที่)
นางนวล (น. นกนางนวล เป็นนกขนาดกลาง) - นวล (น. ผู้หญิง)
จากพราก (น. เป็ดพม่า เป็นนกเป็ดน้ำขนาดใหญ่) จาก (น. ต้นจาก เป็นพืชตระกูลปาล์ม) จาก (ก. ลาจาก พลัดพราก)
แขกเต้า (น. นกแขกเต้า) เต่าร้าง (น. ต้นเต่าร้าง เป็นพืชตระกูลปาล์ม) ร้าง (ก. ลาจาก)
แก้ว (น. นกแก้ว) แก้ว (น. ต้นแก้ว) แก้ว (น. หญิงอันเป็นที่รัก)
ตระเวนไพร (น. นกตระเวนไพร) - เวร (น. คำแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต)
เค้าโมง (น. นกเค้าโมง) โมง (น. ต้นไม้ชนิดหนึ่งอยู่ตามป่า ใช้นํ้าเปลือกแช่ปูนขาวทำให้ปูนแข็ง) โมง (น. วิธีนับเวลาตามประเพณีในเวลากลางวัน)
คับแค (น. นกคับแค เป็นนกเป็ดนํ้าที่เล็กที่สุดในประเทศไทย) แค (น. ต้นแค) -

นอกจากนี้กลอนบทดังกล่าวยังมีการแทรกชื่อนาง ๆ อันเป็นที่รักของอิเหนาไว้อย่างเนียน ๆ ด้วย เช่น สามสุดา แก้วพี่ทั้งสาม ซึ่งหมายถึงจินตะหรา สการะวาตี และมาหยารัศมีนั่นเอง

คำศัพท์น่าสนใจในเรื่องอิเหนา

เนื่องจากเป็นวรรณคดีที่ได้รับอิทธิพลมาจากพงศาวดารชวา คำศัพท์หลาย ๆ คำในเรื่องจึงเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาชวาและภาษามลายูด้วย ไม่ใช่ คำไทยแท้ แต่อย่างใด ซึ่งหลายคำก็ยังใช้อยู่บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันจนหลายคนคิดว่าเป็นภาษาไทยมาตลอด ในอิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิงจะมีคำศัพท์คำไหนน่าสนใจบ้าง ไปดูกันเลย

คำศัพท์ ความหมาย
กระยาหงัน  สวรรค์ มาจากคำว่า ‘กะยางัน’ ซึ่งเป็นภาษามลายู
กะระตะ กระตุ้นให้ม้าเดินหรือวิ่ง มาจากคำว่า gértak ในภาษาชวา
ดะหมัง มาจากภาษาชวา แปลว่า เสนา ดะหมังเป็นตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ เทียบได้กับขุนนางฝ่ายมหาดไทย 
ตุนาหงัน หมั้นหมาย (เพื่อแต่งงาน) มาจากคำว่า tunangan ที่แปลว่าคู่หมั้นในภาษาชวาและมลายู
บุหรง  นก (ภาษาชวา)
ประเสบัน, ประเสบันอากง หมายถึงตำหนักหรือวังลูกหลวงในภาษาชวา
ระเด่น โอรสหรือธิดาของกษัตริย์เมืองใหญ่ (ภาษาชวา)
ระตู คำเรียกเจ้าเมืองที่ไม่ใช่วงศ์เทวัญ เจ้าเมืองน้อย (ภาษาชวา)
อะหนะ ลูก น้อง เป็นคำเรียกแสดงความรู้สึกรักและเอ็นดู มาจากคำว่า anak ที่แปลว่า ‘ลูก’ ในภาษาชวา (ใช้ได้ทั้งลูกคนและลูกสัตว์)

บทละครเรื่องอิเหนามีการดำเนินเรื่องที่สนุก ตื่นเต้นและน่าติดตามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฉากที่มีการแสดงอารมณ์ความรู้สึก ฉากการสู้รบก็เขียนได้ดี ชวนให้ผู้อ่านเห็นภาพตามไปด้วยได้ และแม้จะมีเค้าเรื่องมาจากนิทานพื้นเมืองชวา แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมของบ้านเมืองและรสนิยมของคนไทย ถ้าอยากรู้ว่าเรื่องอิเหนามีธรรมเนียมและประเพณีอะไรบ้าง ต้องไปติดตามกันต่อในแอปพลิเคชัน StartDee นะ

จริง ๆ แล้วอิเหนาเป็นวรรณดีขนาดยาว และยังมีเรื่องราวให้เราได้ติดตามกันอีกหลายตอนมาก ๆ แต่บทที่เพื่อน ๆ ต้องเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ เรียนก็มีเพียงเท่านี้ StartDee หวังว่าทุกคนจะนำความรู้นี้ไปใช้ทำข้อสอบได้ (ลองทำข้อสอบได้ที่นี่) ส่วนเพื่อน ๆ คนไหนที่อยากอ่านบทเรียนสนุก ๆ แบบนี้อีก คลิกไปอ่าน โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน ลิลิตตะเลงพ่าย และ บทละครพูดคำฉันท์ เรื่องมัทนะพาธา ต่อได้เลย หรือจะดูวิดีโอบทเรียนนี้ใน Youtube ของ StartDee ก็ได้เช่นกัน

ขอบคุณข้อมูลจาก:

ธีรศักดิ์ จิระตราชู (ครูหนึ่ง)

Reference:

https://writer.dek-d.com/biw18940/writer/viewlongc.php?id=972189&chapter=11

http://www.sriyapai.ac.th/2014/wp-content/uploads/2019/03/อิเหนาตอนศึกกระหมังกุหนิง.pdf

ได้ข้อคิดอะไรบ้างจากเรื่องอิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิง

๑. ความกล้าหาญ ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อข้าศึกศัตรู.
๒. ความรักในศักดิ์ศรี.
๓. รักษาคำสัตย์.
๔. การรู้จักให้อภัย.
๕. ควรรู้จักแยกแยะให้ออกระหว่างความรักกับความหลงใหล.

ข้อคิดที่ได้จากการอ่าน เรื่อง อิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง คืออะไร บอกมาเป็นข้อๆ

แนวคิด เรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูก รักและตามใจทุกอย่าง แม้นกระทั่วตัวตายก็ยอม

เรื่องอิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิงมีรูปแบบอย่างไร

ลักษณะคำประพันธ์ กลอนบทละคร ซึ่งเป็นกลอนประเภทกลอนขับร้องที่มีการบังคับคำนำเช่นเดียวกับกลอนเสภา กลอนสักวา กลอนดอกสร้อย แต่กลอนบทละครบังคับคำนำที่นับเป็น 1 วรรคได้ คณะ วรรคนี่งมี ๖ – ๘ คำ แบ่งเป็น ๔ วรรค และบังคับเสียงวรรณยุกต์ในวรรคเพื่อความไพเราะในการแต่งและอ่านทำนองเสนาะดังนี้

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องอิเหนาคืออะไร

๑. การเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ จากในวรรณคดีเรื่องอิเหนานั้น เราได้ข้อคิดเกี่ยวกับการเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ ไม่รู้จักระงับความอยากของตน หรือพอใจในสิ่งที่ตนมีแล้ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา และคนอื่นๆ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ดังเช่นในตอนที่อิเหนาได้เห็นนางบุษบาแล้วเกิดหลงรัก อยาก ...