เพลงสรรเสริญพระบารมีถูกยกเลิกไม่ใช้เป็นเพลงประจําชาติ เพราะเหตุใด

เพลงสรรเสริญพระบารมี: ย้อนเหตุการณ์ยืน-ไม่ยืนในโรงหนัง หลังนายกฯ ปลุกใจให้ "กล้าหาญที่จะยืน"

27 สิงหาคม 2019

ปรับปรุงแล้ว 12 พฤศจิกายน 2021

เพลงสรรเสริญพระบารมีถูกยกเลิกไม่ใช้เป็นเพลงประจําชาติ เพราะเหตุใด

ที่มาของภาพ, Getty Images

สิบกว่าปีที่แล้ว มีกระแสรณรงค์ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม" หลังจากนักศึกษาคนหนึ่งถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเพราะไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้ประเด็นนี้กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งเมื่อเขาบอกนักศึกษาหลักสูตรป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ว่าให้มีความกล้าหาญในการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์

ระหว่างกล่าวเปิดหลักสูตร วปอ. รุ่นที่ 64 เมื่อวานนี้ (11 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า "ต้องฝากในเรื่องของการยืนในห้องชมภาพยนตร์...พูดง่าย ๆ คนอยากยืน ไม่กล้ายืน เราต้องกล้าหาญในการที่จะยืน ผมเข้าใจนะ ไม่ได้บังคับ แต่เราเป็นครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวเดียวกันที่ต้องทำประเทศชาติให้ยั่งยืน"

  • เพลงสรรเสริญพระบารมี : คนดูหนังจำนวนหนึ่งร่วมกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์"
  • ธงชัย วินิจจะกูล มองทะลุประวัติศาสตร์ “ราชาชาตินิยม” และ “ผี” ในการเมืองไทย
  • 100 ปี ธงชาติไทย: ย้อนประวัติเพลงชาติไทยที่เคียงคู่โบกสะบัดธงไตรรงค์

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพูดกับนักศึกษา วปอ. ในพิธีเปิดหลักสูตร ซึ่งเปิดให้สื่อมวลชนเข้าฟังด้วย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์เริ่มเปลี่ยนไป คือมีผู้ชมภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยที่ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่ทางโรงภาพยนตร์เปิดก่อนเริ่มฉายหนัง

เมื่อเร็ว ๆ นี้บีบีซีไทยได้เข้าไปสังเกตการณ์บรรยากาศในโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ซีเนม่าพบว่า ขณะเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้น มีทั้งผู้ที่ยืนและไม่ยืนถวายความเคารพในสัดส่วนที่เกือบจะเท่ากัน บางคนลุก ๆ นั่ง ๆ คล้ายไม่แน่ใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเพลงดังขึ้น

ความเคลื่อนไหวเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เข้มข้นขึ้น อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นายกฯ หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพูด

บีบีซีไทยสำรวจข้อกฎหมายและเหตุการณ์น่าสนใจเกี่ยวกับการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ในช่วงที่ผ่านมา

2550: โชติศักดิ์ vs นวมินทร์

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีโรงภาพยนตร์ได้กลายเป็นการกระทบกระทั่งและเป็นคดีความเมื่อนายนวมินทร์ วิทยกุล ได้ขว้างปาสิ่งของใส่นายโชติศักดิ์ อ่อนสูงและเพื่อน ด้วยความไม่พอใจที่ทั้งสองไม่ยืนขึ้นระหว่างการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2550

นายโชติศักดิ์และเพื่อนได้ยื่นฟ้องนายนวมินทร์ในข้อหาทำร้ายร่างกาย หมิ่นประมาทและดูหมิ่นซึ่งหน้า ขณะที่นายนวมินทร์ก็ยื่นฟ้องนายโชติศักดิ์ด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า ท้ายสุดพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องนายนวมินทร์ในข้อหาทำร้ายร่างกายและหมิ่นประมาท ขณะเดียวกันก็มีคำสั่งไม่ฟ้องนายโชติศักดิ์ในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วย โดยอัยการให้เหตุผลว่า การไม่ยืนแสดงความเคารพระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี แม้จะเป็นกิริยาที่ไม่อยู่ในบรรทัดฐานที่ประชาชนทั่วไปต้องปฏิบัติ แต่ไม่อาจชี้ชัดได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

กรณีของนายโชติศักดิ์ ทำให้เกิดการรณรงค์ภายใต้สโลแกน "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม" เพื่อเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงและการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง

2562: ดาราหนุ่มเผยแพร่คลิปคนไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ

เดือน ส.ค. 2562 นายสราวุธ มาตรทอง นักแสดงหนุ่มได้บันทึกภาพชายคนหนึ่งที่ไม่ยืนถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์กรุ๊ป และนำคลิปไปเผยแพร่ทางอินสตาแกรม พร้อมเขียนข้อความแสดงความไม่พอใจต่อพฤติกรรมดังกล่าว

ต่อมาทางเพจของโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ฯ ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือนว่า การถ่ายภาพหรือวิดีโอในโรงภาพยนตร์ถือเป็นความผิด มีโทษจำคุก 6 เดือน-4 ปี และปรับตั้งแต่ 1-8 แสนบาท

ต่อมามีผู้ใช้บริการโรงภาพยนตร์ส่งข้อความไปสอบถามเพจเฟซบุ๊กทางการของโรงภาพยนตร์ 2 ค่ายใหญ่ คือ เครือเมเจอร์ฯ และเครือเอสเอฟ (SF Cinema) ว่ามีมาตรการอย่างไรกับผู้ที่ไม่ลุกขึ้นยืนระหว่างเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยได้รับคำตอบจากแอดมินเพจโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ว่าไม่ได้มีการบังคับให้ยืน ขณะที่เพจโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์กรุ๊ป (Major Group) ตอบว่าให้ลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะยืน "ออกมารอด้านนอกก่อน" พร้อมกับยืนยันว่ามาตรการนี้ "ยึดตามหลักกฎหมาย"

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว บีบีซีไทยได้ติดต่อไปยังฝ่ายสื่อสารองค์กรของเอสเอฟฯ และ เมเจอร์ฯ แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลโดยให้เหตุผลว่าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของเมเจอร์ฯ ยืนยันว่าบทสนทนากับลูกค้าทางเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ที่มีการเผยแพร่นั้น เป็นข้อความที่แอดมินเพจเป็นผู้ตอบจริง

กิจกรรม "Not Stand at Major Cineplex"

ข้อถกเถียงเรื่องการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีที่กลับมาอีกครั้งจากการโพสต์คลิปของนักแสดงหนุ่ม ทำให้นักกิจกรรมด้านการเมืองและสิทธิเสรีภาพกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นแอดมินเพจ "นักการมีม" จัดกิจกรรม "Not Stand at Major Cineplex" เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2562 โดยมีการนัดหมายทางเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้คนที่ไปชมภาพยนตร์ไม่ลุกขึ้นยืนระหว่างการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์

แอดมินเพจ "นักการมีม" ผู้ริเริ่มกิจกรรมดังกล่าวให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า กิจกรรมนี้เป็นเพียงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาร่วมจริง เขาเพียงต้องการจุดประเด็นให้คนพูดคุยในเรื่องนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปสู่ความตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในทุกประเด็นในสังคม

"การที่เรารวมตัวกันไปสัก 50 คน แล้วไม่ยืนพร้อมกันผมไม่คิดว่ามันจะมีผลอะไร เพราะมันไม่ได้ผิดกฎหมายและก็คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะจริง ๆ แล้วประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่ยืนไม่ยืน มันเป็นเรื่องที่ไกลกว่านั้นเยอะ" แอดมินเพจ "นักการมีม" กล่าวกับบีบีซีไทยโดยขอไม่เปิดเผยชื่อ

เขาระบุว่า วัตถุประสงค์ของกิจกรรมนี้ คือเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีพื้นที่แสดงออกทางความคิดโดยไม่ถูกปิดกั้น และเรื่องการไม่ยืนในโรงภาพยนตร์เป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ของการรณรงค์ในเรื่องนี้

วันที่จัดกิจกรรม บีบีซีไทยเดินทางไปสังเกตการณ์ที่โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ฯ ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งพบว่า เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้น ได้มีผู้ชมภาพยนตร์ประมาณ 5 คน ที่นั่งกระจัดกระจายกันไม่ลุกขึ้นยืน พนักงานจึงเดินเข้าไปขอความร่วมมือให้ยืนขึ้นเพื่อแสดงความเคารพ โดยส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ แต่มีชาย 1 คนที่ยังคงนั่งอยู่จนเพลงจบ ทำให้ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปยืนข้าง ๆ

ขณะที่ด้านนอกโรงภาพยนตร์มีตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย ยืนคุยกับผู้ชมภาพยนตร์กลุ่มหนึ่งเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับการยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี

กิจกรรมครั้งนั้นสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุรุนแรงหรือการดำเนินคดี

เดือน ก.ย. 2562: #แบนเมเจอร์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

หลังกิจกรรม "Not Stand at Major Cineplex" ผ่านพ้นไปได้ไม่นาน หญิงสาวคนหนึ่งโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์เล่าเหตุการณ์ที่เธอถูกเชิญออกจากโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ฯ เพราะไม่ลุกยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ

หญิงสาวคนนี้เล่าว่าขณะที่เธอนั่งอยู่ระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้น พนักงานหญิงของเครือเมเจอร์ฯ ได้เดินตรงมาหาและเชิญเธอออกไปยืนข้างนอก เธอปฏิเสธและเลือกที่จะยืนอยู่ตรงบันไดใกล้ที่นั่งพร้อมกับเอ่ยถามพนักงานหลายครั้งว่า การเชิญออกเป็นนโยบายของบริษัทใช่หรือไม่

เมื่อถูกถามซ้ำ ๆ พนักงานจึงตอบเธอว่านี่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน เป็นวัฒนธรรม พอเพลงจบ เธอจึงได้รับอนุญาตให้กลับไปนั่งที่เดิม

  • เพลงสรรเสริญพระบารมี : เบื้องหลังความคิดสาววัย 27 ปีที่ถูกเชิญออกจากโรงหนังเพราะไม่ยืนแสดงความเคารพ

ข้อความของเธอถูกรีทวีตมากกว่า 56,000 ครั้งในเวลาไม่นาน ส่งผลให้แฮชแท็ก #แบนเมเจอร์ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์

ต่อมาเครือเมเจอร์ กรุ๊ปได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2562 ชี้แจงว่า บริษัทฯ ไม่มีนโยบายเชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์

"กรณีพบเห็นผู้ไม่ลุกยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ทางบริษัทจะขอความร่วมมือให้ลุกยืนเพื่อถวายความเคารพ ซึ่งถือปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่จะไม่มีการเชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์แต่ประการใด เพราะบริษัทไม่มีนโยบายให้เชิญลูกค้าออกจากโรงภาพยนตร์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของท่านลูกค้า จึงเรียนมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง" เครือเมเจอร์ กรุ๊ป ชี้แจงบนหน้าเฟซบุ๊ก

กฎหมายว่าอย่างไร

ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรม ซึ่งออกภายใต้ พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485 โดยมาตรา 6 (3) ของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ระบุว่า บุคคลทุกคนจักต้องเคารพเพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงเคารพอื่น ๆ ซึ่งบรรเลงในงานทางราชการ งานสังคมหรือในโรงมหรสพ

ต่อมา พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2486 ได้กำหนดบทลงโทษว่า ผู้ใดฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มาของภาพ, Getty Images

บีบีซีไทยได้สอบถามไปยังกลุ่มนิติการ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บังคับใช้ พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับคำยืนยันว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมไม่มีผลบังคับใช้แล้วหลังจากที่มีการยกเลิก พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 และประกาศใช้ พ.ร.บ. วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 แทน

"พ.ร.บ.วัฒนธรรมฯ ปี 2485 ถูกยกเลิกไปแล้วครับ ปัจจุบันใช้ พ.ร.บ.วัฒนธรรมฯ 2553 ที่เน้นการส่งเสริมทางวัฒนธรรมเท่านั้น" เจ้าหน้าที่กลุ่มนิติการระบุ ซึ่งหมายความว่าปัจจุบันไม่มีบทลงโทษนี้แล้ว

ผศ.สาวตรีให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ ไม่ควรถูกตีความว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

"มันเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่า การไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญเป็นการดูหมิ่นท่าน หรือว่าเป็นการใส่ความ หรืออาฆาตมาดร้ายท่าน (การไม่ยืนระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมี) ไม่ควรถูกตีความไปไกลขนาดนั้น"

ผศ. สาวตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 นั้นมีโทษสูง คือ จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ดังนั้นการตีความว่าการกระทำใดเข้าข่ายความผิดนี้หรือไม่จึงต้องทำอย่างระมัดระวังและเคร่งครัด

เรื่องน่ารู้ของเพลงสรรเสริญพระบารมี

บทความเรื่อง "เพลงสรรเสริญพระบารมี: ปฐมบทว่าด้วยการเมืองของการถวายความจงรักภักดี (2445-2483)" ที่ตีพิมพ์ในวารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 ธันวาคม 2547 ระบุว่า เพลงสรรเสริญพระบารมี แต่เดิมนั้นเป็นเพลงประจำตัวของพระมหากษัตริย์สมัยครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต่างกับในปัจจุบันที่เพลงสรรเสริญพระบารมี มีลักษณะที่เน้นการเมืองมวลชน กลายเป็นเพลงของ "พสกนิกร"

เพลงสรรเสริญพระบารมีมีเค้าโครงมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะพบเพลงที่มีลักษณะคล้ายเพลงสรรเสริญพระบารมีอยู่ก่อนแล้ว ใช้บรรเลงเวลาพระมหากษัตริย์เสด็จลงท้องพระโรงและเสด็จขึ้น มีชื่อเรียกว่า "สรรเสริญนารายณ์" แต่ในบ้างแหล่งระบุชื่อเพลงว่า "เสด็จออกขุนนาง"

ที่มาของภาพ, Getty Images

ในอดีตแต่เพลงสรรเสริญพระบารมีถูกใช้ในฐานะเพลงชาตินั้น เริ่มปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยใช้เพลง "God Save the King" ซึ่งเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี และใช้เพลงชาติของอังกฤษบรรเลงเป็นเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์ ตามแบบอย่างการฝึกทหารของอังกฤษ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เพลงสรรเสริญพระบารมีไม่ได้ใช้ในฐานะเพลงชาติอีกต่อไป แต่ยังคงใช้ในฐานะของเพลงถวายความเคารพแด่องค์พระมหากษัตริย์