บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง

บทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครอง

บทบาทที่ดีของพ่อแม่ต่อลูกวัยรุ่น

               การเลี้ยงดูลูกวัยรุ่นจะมีความแตกต่างจากวัยเด็ก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งทางด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ และสติปัญญา พ่อแม่หรือผู้ปกครองหลายๆ คนอาจเกิดความกังวลในการเลี้ยงดู หรือมองว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก วันนี้เราจึงอยากให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองมาทำความเข้าใจบทบาทของพ่อแม่ที่มีต่อลูกวัยรุ่นกัน

  1. ให้ความรัก ความอบอุ่น

เด็กทุกคนต้องการความรัก ความอบอุ่น และการดูแลใส่ใจจากพ่อแม่ พ่อและแม่ที่ให้ความรักความอบอุ่น และคอยดูแลเอาใจใส่ลูกของตนเองอย่างใกล้ชิด และเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก เมื่อลูกเติบโตขึ้นมาจึงทำให้ลูกมีพฤติกรรมการเลียนแบบสิ่งที่ดีๆ ของพ่อและแม่ และความรักของพ่อแม่จะส่งผลให้เด็กรับรู้คุณค่าในตัวเอง (self esteem) ได้เช่นกัน ถ้าพ่อแม่ได้ให้คุณค่าในตัวลูกด้วยความรักและความใส่ใจ การเป็นคนที่ถูกรักจะทำให้ลูกรับรู้ถึงการมีคุณค่าของตัวเอง

  1. เข้าใจอารมณ์ของลูก

วัยรุ่นเป็นวัยที่อารมณ์อ่อนไหวง่ายและไม่คงที่ หรือในบางครั้งอาจมีอารมณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากวัยก่อนๆ เด็กเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองและมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น อาจมีความรู้สึกขัดแย้งกับผู้ใหญ่หรือพ่อแม่อยู่เสมอ หากพ่อแม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของวัยรุ่น ให้โอกาสเด็กได้แสดงความคิดเห็น มีการสื่อสารที่ดีต่อกัน ก็จะทำให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้วิธีการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง

  1. ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน

การที่พ่อแม่ให้เวลาลูกไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยหรือการทำกิจกรรมใดๆ จะช่วยเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตัวเองของลูกได้เช่นกัน เพราะการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนจากคนรอบข้างโดย “การใช้เวลากับคนใกล้ชิดมากขึ้น” คนใกล้ชิดถือเป็นบุคคลสำคัญในชีวิตที่สามารถช่วยสนับสนุน เป็นกำลังใจ ตลอดจนเสริมสร้างความมั่นใจและการเห็นคุณค่าในตัวเองได้ด้วย

  1. ปลูกฝังนิสัยที่ดีให้ลูก

ช่วงวัยนี้จะมีความสนใจในเรื่องปรัชญาชีวิต เด็กจะเริ่มคิดถึงหลักของศีลธรรมจรรยา จะทำอะไรก็เริ่มมีกฎเกณฑ์ มักจะมีอุดมคติ หรือสุภาษิตประจำตัว และเป็นวัยที่มีความเชื่อเป็นของตัวเอง พ่อแม่จึงควรปลูกฝังนิสัยที่ดีให้ลูก โดยการรับฟังความคิดเห็นและสนับสนุนความคิดที่ดีของลูก และแสดงความคิดเห็นหรือความเชื่อของตนเองให้ลูกได้รับฟัง โดยเป็นการแนะนำที่ไม่ใช่การทำให้เด็กรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้มีความคิดเหมือนผู้ใหญ่

  1. ให้อภัย ชมเชย ปกป้องรักษา

วัยรุ่นเป็นวัยของการค้นหาตัวเอง ค้นหาศักยภาพ ความเชื่อหรือทัศนคติที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเอง และมีความเชื่อมั่นในเรื่องต่างๆ ที่เป็นไปอย่างรุนแรง จึงอาจเกิดการลองผิดลองถูก หรือใช้วิธีการหลายๆ อย่างในการค้นหา ซึ่งจะมีทั้งสิ่งที่เด็กทำได้ดีและสิ่งที่ผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ถ้าสิ่งไหนที่เด็กทำได้ดี พ่อแม่ควรชื่นชม ให้แรงใจและสนับสนุนลูก ชื่นชมในพฤติกรรมของลูก ไม่เพียงแต่ความสำเร็จเท่านั้น เช่น หากลูกสอบได้คะแนนดี ให้ชื่นชมในความตั้งใจอ่านหนังสือ ตั้งใจเรียน มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ก็คือให้ชื่นชมในพฤติกรรมที่ทำให้ลูกประสบความสำเร็จ เพราะจะทำให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่เด็กพยายามทำมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และหากสิ่งที่เด็กทำ ไม่ได้ทำให้ประสบความสำเร็จ เด็กก็จะยอมรับและให้ความสำคัญกับการกระทำทั้งหมดที่นอกเหนือจากความสำเร็จ และนอกจากการชื่นชมแล้ว ถ้าเด็กทำสิ่งใดผิดพลาด การให้อภัยก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับเด็กได้ หากพ่อแม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ตัวเด็กเองก็จะยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ไม่เก็บมาเป็นความเครียด และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น

  1. เป็นตัวแบบที่ดี

ในวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้น และเกิดขึ้นได้กับวันรุ่นทุกคน ไม่ว่าจะเลียนแบบคนที่ตัวเองชื่นชอบ เช่น ไอดอล หรือศิลปิน แต่คนที่เด็กมักจะเลียนแบบมากที่สุดก็คือพ่อแม่ เพราะพ่อแม่เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดลูกมากที่สุด ซึ่งการเลียนแบบนี้จะเลียนแบบได้ทั้งพฤติกรรมที่ดีและไม่ดีของพ่อแม่ ดังนั้นพ่อและแม่จึงต้องระมัดระวังทั้งด้านการกระทำและคำพูดเมื่ออยู่ต่อหน้าลูก ถ้าเป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูก พฤติกรรมของลูกก็จะมีแนวโน้มที่ดีตามไปด้วย

  1. ติดตามข่าวสาร

ความสนใจของวัยรุ่นมีความหลากหลาย เช่น อาชีพ การศึกษา กิจกรรม ศิลปะ ดนตรี สุขภาพ และเพศ ดังนั้นการติดตามข่าวสารต่างๆ จะทำให้พ่อแม่เข้าใจและรู้จักลูกมากยิ่งขึ้น และถ้าพ่อแม่ให้ความสนใจหรือสนับสนุนในสิ่งที่ลูกสนใจ ก็จะทำให้เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวเอง และกล้าที่จะเรียนรู้ความสนใจนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่

  1. สอนให้ลูกคิดวิเคราะห์

วัยรุ่นมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา เริ่มคิดเหมือนผู้ใหญ่ ก็คือมีความคิดเจริญมากขึ้น สนใจแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพูนความสามารถ มีการวิเคราะห์และสังเคราะห์สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น แต่วัยรุ่นอาจจะยังขาดการคิดที่รอบครอบ ขาดความยั้งคิดหรือไตร่ตรอง ดังนั้นพ่อแม่ควรสอนให้ลูกคิดวิเคราะห์

  1. สอนให้ลูกเคารพตนเองและผู้อื่น

การเคารพตัวเองและผู้อื่นจะนำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นและการมีทักษะทางสังคมที่ดี ในช่วงวัยรุ่นถือว่าเป็นช่วงที่มีจำนวนความสัมพันธ์มากที่สุดถ้าเทียบกับวัยอื่น ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยให้เด็กได้รับการสนับสนุนทางสังคม หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ป้องกันผลกระทบของความเครียด และการเคารพตัวเองและผู้อื่น ยังทำให้เพิ่มการเห็นคุณค่าในตัวเองอีกด้วย ซึ่งการเห็นคุณค่าในตัวเองจะส่งผลต่อความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิตของเด็ก รวมถึงการรับมือกับอารมณ์และสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

  1. เป็นเพื่อนกับลูก

วัยแห่งการลองผิดลองถูก สงสัยใคร่รู้ หรือการค้นหาตัวเองของวัยรุ่นนี้ ทำให้เด็กต้องการที่ปรึกษา และพ่อแม่ที่จะเป็นที่ปรึกษาให้ลูกได้ ต้องทำให้ลูกรู้สึกถึงความไว้เนื้อเชื่อใจ การรับฟัง และการไม่ตัดสินว่าความคิดเห็นของลูกเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูก ลองทำตัวเป็นเพื่อลูกที่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันได้โดยปราศจากการตัดสิน เด็กก็จะเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่มากขึ้น

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้าน มีความคิดเห็น และความเชื่อเป็นของตัวเองที่อาจจะไปขัดแย้งกับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง แต่หากเราทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงนี้ และมีบทบาทที่เหมาะสมกับลูกวัยรุ่น การเลี้ยงดูลูกวัยรุ่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป

อธิญา ยุทธนาศาสตร์

นิสิตสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ข้อมูลอ้างอิง

  • สภาพจิตใจของวัยรุ่น https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06062014-0847
  • Self Esteem การเห็นคุณค่าในตัวเองที่สร้างได้ : https://www.pobpad.com/self-esteem-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%AD
  • ชมลูกอย่างไรให้ได้ผลดี ไม่มีหลงตัวเอง : https://th.theasianparent.com/watch-children-effectively-narcissism
  • พัฒนาการด้านต่างๆของวัยรุ่น : https://sites.google.com/site/6032040038thaksakarphathna/phathnakar-dan-tang-khxng-way-run
  • http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=593