โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขที่ 196 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทรศัพท์ 0 2561 2445 ต่อ 704,705,710
อีเมล :

โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

“มีคนเอาที่มาให้อยู่อำเภอปักธงชัย...บอกว่าทำอะไรก็ได้...

จึงจะทำโครงการสาธิตทฤษฎีใหม่ ในที่ที่เหลือส่วนหนึ่งจะทำการเพาะปลูกแบบชาวบ้านแบบไม่ได้ส่งเสริม

หมายความว่าใช้น้ำฝน ใช้ธรรมชาติแต่อีกส่วนหนึ่งจะทำแบบทฤษฎีใหม่ที่ขุดสระ

และแบ่งเป็นส่วนที่จะปลูกข้าว ปลูกไม้ยืนต้น ปลูกพืชสวน”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ที่ดินดังกล่าว นางจรรยา ปั้นดี และนางสมควร มณีสุริยา ได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวาย ตั้งอยู่ที่ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา จำนวนเนื้อที่ 29 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินดังกล่าว เพื่อจัดทำโครงการสาธิต “ทฤษฎีใหม่” (แบบบ้านนา) ขนาดเล็ก เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว พึ่งพาตนเองได้แบบพออยู่พอกิน สมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัด ไม่อดอยาก และเลี้ยงตนเองได้ตามหลักปรัชญาของ “เศรษฐกิจพอเพียง”

“ทฤษฎีใหม่” คือ แนวทางหรือหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรินี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่มักประสบปัญหาทั้งภัยธรรมชาติและปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบต่อการทำการเกษตร ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะเรื่องของการขาดแคลนน้ำโดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากเกินไป ด้วยหลักการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็กออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน รวมถึงมีการคำนวณโดยใช้หลักวิชาการเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียงต่อการเพาะปลูกได้อย่างเหมาะสมตลอดปี

ณ โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครราชสีมาแห่งนี้ ได้แบ่งพื้นที่ตามแนวทางของทฤษฎีใหม่ เป็น 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 แบ่ง 30% ของพื้นที่ เป็นแปลงนาข้าว ปลูกข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และหลังเก็บเกี่ยวข้าว จะได้ดำเนินการปลูกพืชหลังนาอายุสั้น เพื่อหมุนเวียนและบำรุงดิน เช่น ถั่วเขียว ถั่วลิสง และข้าวโพดหวานฝักสด

ส่วนที่ 2 แบ่ง 30% ของพื้นที่ปลูกไม้ผล โดยแบ่งออกเป็น 2 แปลง แปลงแรกปลูกไม้ผลหลัก ได้แก่ มะม่วง มะขาม กระท้อนและส้มโอ แปลงที่สองปลูกไม้ผลรอง ได้แก่ ฝรั่ง น้อยหน่า และกล้วยน้ำว้า รวมถึงมีการปรับโครงสร้างดินด้วยหญ้าแฝก เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร

ส่วนที่ 3 แบ่ง 30% ของพื้นที่ ขุดสระน้ำ เลี้ยงปลากินพืชชนิดต่าง ๆ เพื่อจำหน่ายและบริโภค ใช้วัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ฟางข้าว เศษหญ้า ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพน้ำและเป็นอาหารปลา ริมขอบบ่อปลูกพืชผัก พืชสมุนไพร ไม้ผล ไม้ยืนต้น เพื่อการบริโภคและจำหน่าย

ส่วนที่ 4 พื้นที่อีก 10% เป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ดเทศ หมูหลุม วัว เลี้ยงกบและปลาดุกในบ่อดิน รวมถึงปลูกพืชสมุนไพร และพืชผักสวนครัว

นอกจากนี้ทางโครงการฯ ได้ดำเนินการในส่วนของการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการทำนาแบบดั้งเดิมตามวิถีชาวบ้าน และขยายผลพัฒนาเป็นแหล่งฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรและผู้ที่สนใจ สามารถเข้ามาศึกษาวิธีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตน ให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างถูกวิธี ซึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ จะช่วยให้สามารถทำการเพาะปลูกในฤดูแล้งที่มีน้ำน้อยได้ และในปีที่ฝนตกตามฤดูกาลมีน้ำตลอดทั้งปี ทฤษฎีใหม่ก็จะทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

โครงการสาธิตทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปักธงชัย จ.นครราชสีมา จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ใด